สภารับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ กยศ. ฉบับใหม่ ด้านทวิตเตอร์ผุดแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ สะท้อนปัญหาผู้กู้ยืม

ที่ประชุมสภามีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือร่างกฎหมาย กยศ. ฉบับ ครม. พร้อมเตรียมตั้ง กมธ. พิจารณาศึกษาและแก้ไขร่างกฎหมายเพิ่มเติม ด้าน ส.ส.ประชาธิปัตย์เห็นพ้อง ครม. ชี้ ร่างกฎหมาย กยศ. ฉบับใหม่ช่วยเพิ่มโอกาสการศึกษา ขณะที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ส่งเสียงสะท้อนผ่านแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ ถูกบังคับทำกิจกรรมจิตอาสาหลายชั่วโมงแลกสิทธิกู้เงิน เบียดบังเวลาเรียน

26 ม.ค. 2565 มติชนออนไลน์รายงานว่าวันนี้ (26 ม.ค. 2565) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือร่างกฎหมาย กยศ. ในวาระรับหลักการ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกเลื่อนการพิจารณาจากกำหนดเดิมในสัปดาห์ที่แล้วเนื่องจากมีปัญหาองค์ประชุมล่ม แต่ในวันนี้ไม่มีปัญหาการนับองค์ประชุม การอภิปรายจึงเป็นไปอย่างราบรื่น

เมื่อ ส.ส. อภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมแสดงตนเป็นองค์ประชุมทั้งหมด 329 เสียง โดยมีเสียงส.ส.ฝ่ายค้าน ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมด้วย ก่อนที่ประชุมจะลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ด้วยคะแนน 345 ต่อ 0 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 2 โดยหลังจากร่างกฎหมายผ่านขั้นรับหลักการแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 35 คน ขึ้นมาพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป เมื่อ กมธ. พิจารณาเสร็จแล้วจะนำร่างกฎหมายนั้นมายื่นต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในขั้นลงมติ

ด้านไทยรัฐออนไลน์และผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันว่าระหว่างการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา จิตภัสร์ กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่ากองทุนนี้เกิดขึ้นในปี 2538 โดยชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และได้รับการผลักดันจนเป็นกฎหมาย พ.ร.บ.กองทุน กยศ. ในปี 2541 โดยมีการจัดสรรงบประมาณ 4,000 ล้านบาท ตลอด 26 ปีที่ผ่านมา มีเงินทั้งหมดที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ 675,000 ล้านบาทที่นักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัยพ์กว่า 6 ล้านคน สามารถเข้าถึงกองทุนนี้

ทั้งนี้ในปี 2564 มีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในระบบของแต่ละปีถึง 40,000 ล้านบาท ทำให้นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนสามารถกู้ยืมได้หมดทุกคน จึงเป็นที่มาที่ต้องปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. เพิ่มโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาที่ขาดแคลนโอกาสกู้ยืมค่าเรียนในสาขาพิเศษได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการแข่งขันภายในประเทศ โดยคณะกรรมาธิการกองทุนสามารถจัดสรรงบได้เลย
  2. หากนักเรียนที่กู้ยืมไปแล้วเรียนดีและมีความประพฤติดี กรรมาธิการกองทุนก็สามารถเสนอเปลี่ยนหนี้เป็นทุนได้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แก่เยาวชนคนอื่นๆ ที่สนใจด้านการศึกษาในอนาคต
  3. กรรมาธิการกองทุน สามารถมอบทุนเรียนในสาขาที่ไม่จำเป็นที่ต้องอยู่ในสถานศึกษา เช่น ในปัจจุบันนี้มีหลายหลักสูตรรระยะสั้นต่างๆ ก็สามารถที่จะร่วมกองทุนนี้ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังให้ความสำคัญเรื่องการจัดการบริหารที่ดีเพื่อลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้กับผู้กู้ยืม เช่น ลดขั้นตอนเอกสารและไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน หรือแม้แต่การชำระหนี้ที่ง่ายขึ้น เพื่อเปิดโอกาสปรับโครงสร้างหนี้หรือปรับลดดอกเบี้ยได้ตลอดถ้าคุณสมบัติเข้าหลักเกณฑ์ โดยที่ผ่านมามีสถานการณ์โควิด-19 กระทบกับนักเรียนและระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จะขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่ออนาคตของเยาวชนไทยที่สมควรได้รับโอกาสด้านการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเต็มที่

ร่าง พ.ร.บ.ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ มีเนื้อหาว่าอย่างไร

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่าธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยกำหนดให้คณะกรรมการ กยศ. อาจ 'ให้ทุน' การศึกษาแทนการ 'ให้กู้ยืม' เพื่อการศึกษาได้ ในกรณีที่สาขาวิชาขาดแคลน หรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ กยศ. ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและการชำระเงินคืน กยศ. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ซึ่งจะขยายโอกาสในการเข้าถึงเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และปรับเปลี่ยนการดำเนินงานของกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีความคล่องตัวยิ่งขึ้น รวมทั้งยังจะมีกลไกให้ผู้กู้ยืมสามารถชำนะเงินคืนกองทุนได้มากขึ้น

สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 เพิ่มนิยาม "นักเรียน/นักศึกษาและสถานศึกษา รองรับการศึกษาในรูปแบบที่แตกต่าง รวมทั้งเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ให้ คณะกรรมการ กยศ. อาจให้ทุนการศึกษาแทนการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้" รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติคณะกรรมการ กยศ. เพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจให้คณะอนุกรรมการฯ กำหนดลักษณะของนักเรียนหรือนักศึกษา ซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์โดยให้คำนึงถึงรายได้และรายจ่ายของครอบครัว ว่าเพียงพอต่อการให้การศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษามากน้อยเพียงใด พร้อมแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการชำระเงินคืน กยศ. เช่น วิธีการผ่อนชำระและระยะเวลาการผ่อนชำระเงินคืนกองทุนให้ยืดหยุ่นขึ้น ผู้กู้ยืมเงินมีสิทธิเลือกชำระเงินกู้ยืมคืนทั้งจำนวนหรือผ่อนชำระได้ รวมทั้งให้คณะกรรมการ กยศ. สามารถกำหนดมาตรการจูงใจเพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือชำระหนี้ครบถ้วนรวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ วิธืการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้เงินกู้ยืมและการชำระเงินคืนกองทุน เช่น ผู้กู้ยืมสามารภกู้ยืมเงินโคยไม่ต้องมี ผู้ค้ำประกัน (ผู้ค้ำประกันเฉพาะที่จำเป็น) ลำดับการตัดชำระเงิน โดยเรียงจาก เงินต้น ดอกเบี้ย และเงินเพิ่ม ปรับรูปแบบการผ่อนชำระที่ยืดหยุ่น อาจเป็นรายเดือน รายไตรมาส รายปี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้มากยิ่งขึ้น

ต่อมา วันที่ 22 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวอิศรารายงานเนื้อหาสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ให้กู้งืมเงินเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ โดยแบ่งเนื้อหาสำคัญของร่างกฎหมายใหม่ออกเป็น 4 เรื่องหลัก ได้แก่

  1. การแก้ไขนิยามคำว่า "นักเรียนหรือนักศึกษา" และ "สถานศึกษา" ให้ครอบคลุมและรองรับการศึกษารูปแบบอื่นๆ ที่แตกต่างจากการศึกษาหลักสูตรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทำให้ผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรอาชีพหรือหลักสูตรเพื่อการยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ สามารถขอเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้
  2. ให้อำนาจคณะกรรมการ กยศ. และคณะอนุกรรมการในการกำหนดคุณลักษณะของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ขอกู้ยืม โดยต้องพิจารณาทั้งรายรับและรายจ่ายของครอบครัวตลอดปี หากคำนวณรายรับแบบหักรายจ่ายแล้วพบว่ารายได้สุทธิของครอบครัวต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่านักเรียนหรือนักศึกษาผู้นั้นเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และสามารถขอกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการ กยศ. ยังสามารถ "ให้ทุนการศึกษา" แทนการ "ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา" แก่นักเรียน/นักศึกษาที่ต้องการศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลนหรือสาขาวิซาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ
  3. เพิ่มความคล่องตัวในการทำงานแก่สำนักงาน กยศ. โดยทำข้อตกลงด้านการทำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษา มีอำนาจสั่งการให้เผยแพร่สถิติ ‘การมีงานทำ-ประเภทงาน’ หลังผู้กู้จบการศึกษา ยกเลิกผู้ค้ำประกันเงินกู้แต่เปลี่ยนใบใช้ใบรับรองค่าใช้จ่ายจากสถาบันการศึกษาแทน
  4. ปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ใหม่ เช่น การปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือไม่เกินปีละ 2% จากเดิมที่กำหนดดอกเบี้ยอยู่ที่ปีละไม่เกิน 7.5% ห้ามคิดดอกเบี้ยทบต้น ขยายขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้ไม่เกิน 15 ปี เพิ่มความยืดหยุดให้นายจ้างสามารถหักเงินลูกหนี้ กำหนดคุณลักษณะที่ทำให้หนี้ระงับไป 

โซเชียลผุดแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ บังคับเก็บ ชม.กิจกรรมอาสา ทำผู้กู้เงินเรียนเครียดหนัก

แม้ว่าสภาจะรับพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ฉบับใหม่ที่เสนอโดย ครม. แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางส่วนได้ออกมาโพสต์ข้อความพร้อมติดแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ ระบุว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้นักเรียน/นักศึกษาที่กู้ยืมเงิน กยศ. รู้สึกลำบากใจและสร้างภาระในการเรียน คือ การทำกิจกรรมจิตสาธารณะไม่ต่ำกว่าปีละ 36 ชั่วโมง มิเช่นนั้นแล้วจะไม่สามารถกู้ยืมเงินต่อได้ในปีถัดไป

เงื่อนไขของผู้ขอกู้ยืมเงิน กยศ. ในปัจจุบัน นอกจากจะกำหนดคุณลักษณะด้านทุนทรัพย์ของครอบครัวและความสามารถในการชำระหนี้แล้ว ยังกำหนดให้ผู้กู้ต้องทำกิจกรรมจิตสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในระหว่างปีการศึกษา เพื่อขอกู้ยืมเงินในปีการศึกษาถัดไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดเกลาจิตใจให้มีความเมตตากรุณา มีความเสียสละและมีจิตสาธารณะ โดยกำหนดชั่วโมงสำหรับผู้ขอกู้ยืมเงินแต่ละกลุ่ม ดังนี้

  1. กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายใหม่ ไม่กำหนดจำนวนชั่วโมง
  2. กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเปลี่ยนระดับการศึกษา ไม่กำหนดจำนวนชั่วโมง
  3. กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินรายเก่าเลื่อนชั้นปีทุกระดับการศึกษา กำหนดจำนวนไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ผู้กู้ยืมสามารถทำกิจกรรมจิตสาธารณะได้ โดยบันทึกการเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมที่ทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะ ในแบบฟอร์มตามที่กองทุนกำหนด และลงลายมือชื่อผู้รับรองการทำกิจกรรม ได้แก่ หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และ ผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย โดยใช้เป็นหลักฐานในการยื่นขอกู้ยืมในปีถัดไป

ผู้สื่อข่าวประชาไทตรวจสอบข้อความในแฮชแท็ก #จิตอาสากยศ พบว่าข้อความส่วนใหญ่ในแฮชแท็กดังกล่าวเป็นการโฆษณารับทำกิจกรรมจิตอาสา โดยคิดค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง เพื่อแลกกับการที่ผู้กู้ไม่ต้องลงทะเบียนเข้าไปทำกิจกรรมจิตอาสาด้วยตนเอง ซึ่งในเว็บไซต์ของ กยศ. ได้ระบุว่า "เนื่องจากในขณะนี้ มีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลแอบอ้างกระทำการออกใบรับรองการทำกิจกรรมจิตสาธารณะให้แก่นักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืม โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผ่านทางเว็บไซต์หรือทางออนไลน์ กองทุนจึงขอเรียนแจ้งให้ผู้กู้ยืมและสถานศึกษาทราบว่า กองทุนไม่มีนโยบายสนับสนุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกเก็บเงินจากนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมที่ทำกิจกรรมจิตสาธารณะในทุกกรณี" แสดงให้เห็นว่าทาง กยศ. รับทราบปัญหาการเรียกเงินเงินและรับจ้างทำกิจกรรมจิตอาสา แต่ยังไม่มีการออกมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ในแฮชแท็กดังกล่าวยังมีผู้สอบถามปัญหาหรือวิธีการเก็บชั่วโมงกิจกรรมจิตอาสา รวมถึงมีผู้วิจารณ์การทำกิจกรรมดังกล่าวว่าส่งผลกระทบต่อผู้กู้ซึ่งมีภาระหน้าที่การเรียนที่ต้องรับผิดชอบ โดยส่วนหนึ่งมองว่าจำนวนชั่วโมงกิจกรรมจิตอาสานั้นมากเกินไป และเบียดบังเวลาเรียน ในขณะที่บางส่วนมองว่ากิจกรรมนี้ไม่จำเป็น เพราะผู้กู้ต้องหาเงินมาชำระหนี้คืนอยู่แล้วเมื่อเรียนจบ ไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมจิตอาสาทดแทนเพราะไม่ใช่การขอทุนการศึกษา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท