Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วัฒนธรรมป๊อปคืออะไร จะแปลตามตัวอักษรว่าวัฒนธรรม (อันเป็นที่นิยมของ) ประชาชนก็ได้ แต่ผมคิดว่าจะพลาดความหมายสำคัญๆ ไปเป็นอันมาก ดังเช่นละครชาตรีนั้นเป็นวัฒนธรรมป๊อปหรือไม่? ผมคิดว่าโดยตัวของมันเองนั้นไม่ใช่ แต่ละครชาตรีเป็นที่นิยมของเจ้า (พ่อหรือแม่) ดังนั้นจึงยังมีการแสดงอยู่ตามศาลเจ้าสืบมาจนทุกวันนี้ การบูชาหรือแก้บนเจ้าด้วยละครชาตรี เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป๊อปแน่ แต่จะเรียกละครชาตรีว่าเป็นวัฒนธรรมป๊อปด้วย ดูจะฝืนๆ ไปหน่อย

วัฒนธรรมชาวบ้านและวัฒนธรรมพื้นบ้านก็ไม่ใช่วัฒนธรรมป๊อป

ประชาชนมีวัฒนธรรมของตนเองแน่ และแตกต่างจากวัฒนธรรมราชสำนักหรือของชนชั้นสูงอย่างชัดเจน (แม้อาจจะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน) แต่ผมไม่อยากนับวัฒนธรรมประชาชนที่เคยมีมาในอดีตสังคมไทยว่าเป็นวัฒนธรรมป๊อป เพราะมักเป็นที่นิยมเฉพาะถิ่น ถึงมี “แฟน” กว้างใหญ่ไพศาลอย่างไร ก็ยังเฉพาะถิ่นอยู่นั่นเอง เอาโนราไปแสดงในอีสานก็คงไม่มีใครดู หรือเอาหมอลำไปร้องในภาคใต้ ก็ไม่มีใครดูเหมือนกัน อย่างน้อยก็เพราะฟังกันไม่รู้เรื่อง

นอกจากเฉพาะถิ่นแล้ว ส่วนใหญ่ของการแสดงของประชาชนเหล่านี้ ยังทำเฉพาะฤดูเสียอีก นั่นคือหมดฤดูทำนาแล้ว ถึงเดือนบุญเดือนกุศล ถึงมีการแสดงกันเสียที คงจะตั้งแต่ปลายอยุธยาลงมาเท่านั้น ที่เริ่มมี “งานหา” หรืองานจ้างให้ศิลปินประชาชนเหล่านี้ได้แสดงนอกฤดูได้ แต่ก็จำกัดเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เช่น อยุธยา หรือบางกอกเท่านั้น ที่มีคนนอกภาคเกษตรอยู่อาศัยจำนวนมากพอ

ปัจจุบันเราเรียกวัฒนธรรมประชาชนที่มีมาในอดีตเหล่านี้ว่าวัฒนธรรมพื้นบ้าน อันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม อีกส่วนหนึ่งคือวัฒนธรรมราชสำนัก สองอย่างนี้รวมกันเป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งก็น่าประหลาดอยู่ เพราะทั้งสองอย่างเป็นวัฒนธรรมที่ประชาชนในชาติไม่สู้จะปฏิบัติหรือใช้ประโยชน์…สะท้อนความพิกลพิการของ “ชาติ” ราชการไทย ที่ไม่มีความเป็นประชาชาติเอาเลย

ดังนั้น วัฒนธรรมป๊อปจึงเป็นวัฒนธรรมที่ประชาชนปฏิบัติและใช้ประโยชน์ในชีวิตอยู่มากที่สุด จนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องนิยามความเป็นไทย (ปัจจุบัน) เสียยิ่งกว่าโขน, ปี่พาทย์ หรืออิเหนา

แต่นิยามอย่างนี้ก็ยังอาจทำให้ไขว้เขวได้ แบบแผนการปฏิบัติหรือศิลปะบางอย่างอาจเป็นที่นิยมชั่วครั้งชั่วคราว ใครๆ ก็พูดถึง แต่ไม่นานคนก็ลืมไปหรือเลยไปเรื่องอื่น อย่างนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมป๊อป (ในความหมายที่ผมอยากจะนำมาคุย) ฉะนั้น จึงควรเสริมด้วยคุณสมบัติของป๊อปอีกบางอย่าง

วัฒนธรรมป๊อปเป็นวัฒนธรรมที่เพิ่งเกิดใหม่ไม่นานมานี้เอง และไม่ว่าจะป๊อปไทยหรือป๊อบฝรั่งญี่ปุ่นเกาหลีอะไรก็แล้วแต่ ล้วนกำเนิดขึ้นได้ เพราะเงื่อนไขทางสังคมบางอย่างซึ่งเพิ่งอุบัติขึ้นในโลกหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้งนั้น (หรือถ้าพูดอย่างฮอบสบอมคือ หลังการปฏิวัติแฝด คือปฏิวัติฝรั่งเศสและอุตสาหกรรม) เงื่อนไขเหล่านี้มีความสำคัญมาก ไม่ใช่เพียงเพราะมันทำให้เกิดวัฒนธรรมป๊อป แต่มันกำหนดลักษณะพื้นฐานของวัฒนธรรมป๊อป และกำหนดให้วัฒนธรรมใดที่ไม่ตั้งอยู่บนเงื่อนไขทางสังคมเหล่านี้ จะไม่มีทางเอาชนะวัฒนธรรมป๊อปได้เลย

ผมจึงอยากพูดถึงเงื่อนไขเหล่านี้บางอย่าง

การปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้ “ชนชั้นเวลาว่าง” ลดลงทั้งจำนวนและอำนาจ กำลังที่จะอุปถัมภ์และกำกับวัฒนธรรมจึงลดลงไปด้วย ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องศิลปะโดยทั่วไปเท่านั้น แต่รวมถึงแฟชั่น, รสชาติอาหาร, ภาษา, ธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ฯลฯ ด้วย การอุปถัมภ์ตกมาอยู่ในมือของ “ตลาด” อันเป็นพื้นที่ของคนชั้นกระฎุมพีซึ่งมีกำลังซื้อเป็นผู้ควบคุม และเพราะตลาดเป็นตัวทำเงิน วัฒนธรรมที่สามารถรับการอุปถัมภ์ของตลาดได้ จึงต้องเป็นวัฒนธรรมที่ทำกำไรได้มาก นั่นคือตลาดนั้นต้องใหญ่ ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งกำไร ดังนั้น จึงกำหนดให้วัฒนธรรมต้องเข้าถึงคนที่มีกำลังซื้อส่วนใหญ่ นั่นคือวัฒนธรรมป๊อป

บางคนจึงกล่าวว่าวัฒนธรรมป๊อปเป็นการทำให้ศิลปะและวัฒนธรรม “ง่าย” ลง เพื่อให้เหมาะแก่การบริโภคของคนส่วนใหญ่ในตลาด ถ้า “ง่าย” หมายความแต่เพียงว่า วัฒนธรรมป๊อปปลดเปลื้องตนเองจาก “ขนบ” อันสลับซับซ้อนที่เคยเป็นตัวกำหนดความหมายแก่วัฒนธรรมต่างๆ มาก่อน ก็ใช่เลย แต่ถ้า “ง่าย” หมายความว่า คนส่วนใหญ่หยาบกระด้างทางรสนิยมเกินกว่าจะรับหรือใช้วัฒนธรรมอันสูงส่งที่เคยมีมาก่อน จึงไม่อาจรับความหมายของ “ขนบ” ทางวัฒนธรรมที่ละเมียดละไมได้ นั่นก็เห็นจะไม่ใช่แล้วล่ะครับ

แต่คำอธิบายที่แย้งกันสุดขั้วทั้งสองก็เคยใช้มาแล้วทั้งคู่

วัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือศิลปะ ล้วนมีความหมายที่สื่อกันระหว่างคนในวัฒนธรรมนั้นทั้งสิ้น และล้วนสื่อกันได้ด้วย “ขนบ” หรือแบบแผนซึ่งรับรู้เข้าใจกัน เช่น ยกมือไหว้กันมิได้หมายถึงท้าชก แต่เป็นการทักทายกัน รวมไปถึงการยอมรับสถานภาพทางสังคมของกันและกันไปด้วย ดนตรีสะเทือนใจผู้ฟังได้ก็เพราะรับรู้ขนบทางดนตรีบางอย่าง จึงสามารถปล่อยอารมณ์ไปตามการเล่นของนักดนตรี จนบางครั้งก็รู้สึก “มันพ่ะย่ะค่ะ” ร่วมไปกับนักดนตรีด้วย

“ขนบ” ของวัฒนธรรมชนชั้นเวลาว่างถูกพัฒนาให้สลับซับซ้อนและยากจะเป็นที่รับรู้เข้าใจของคนอื่นๆ ตรงกันข้าม สามัญชนพูดอะไรออกมาคำเดียว เขาก็รู้ไปถึงโคตรเหง้าของเราแล้ว เพราะ “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” ศิลปะของชนชั้นเวลาว่างก็เช่นเดียวกัน ย่อมตั้งอยู่บนขนบที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างสลับซับซ้อนเพื่อสื่อความหมายหรือแม้แต่ความรู้สึกที่คนทั่วไปอาจไม่รู้สึก

แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า ขึ้นชื่อว่าวัฒนธรรมย่อมมีความหมายทั้งนั้น และอย่างไรเสียก็ต้องใช้ขนบเพื่อสื่อความหมายนั้น วัฒนธรรมป๊อปก็มีขนบของตนเอง บางส่วนอาจสัมพันธ์สืบเนื่องกับขนบเก่าของชนชั้นเวลาว่างด้วย ขนบดังกล่าวนี้ขยายตัวไปยังหมู่ชนกว้างขวางทั่วทั้งสังคม ไม่ใช่เพราะมัน “หยาบ” หรือไม่ประณีต แต่เพราะอานุภาพของสื่อมวลชนซึ่งแตกแขนงขยายตัวขึ้นอย่างมโหฬารหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นต้นมา (หนังสือพิมพ์ รายวัน เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส) สื่อมวลชนพร้อมรับใช้วัฒนธรรมป๊อป เพราะมันเพิ่มยอดขายของสื่อ

ลักษณะที่เป็นสินค้าของวัฒนธรรมป๊อป บังคับให้วัฒนธรรมป๊อปต้องข้ามชาติข้ามวัฒนธรรม วัฒนธรรมป๊อปจึงมีความเป็นสากลส่วนหนึ่ง แม้ไม่ปฏิเสธว่าส่วนที่เป็นลักษณะเฉพาะท้องถิ่นก็มีอยู่ด้วย ฉะนั้น การรับวัฒนธรรมป๊อปที่มีกำเนิดจากวัฒนธรรมอื่นมาสร้างสรรค์ในท้องถิ่นของตนเอง จึงเป็นปรากฏการณ์ปรกติธรรมดา ใครที่บอกว่าของไทยก็มี ทำไมต้องเอาของฝรั่งหรือญี่ปุ่นเข้ามาเผยแพร่ ดูจะมาจากความคิดที่ผิดยุคผิดสมัยไปแล้ว ในฐานะสินค้า วัฒนธรรมป๊อปต้องตกอยู่ภายใต้คำบัญชาของตลาดเสมอ หากสิ่งที่นำเข้ามาไม่เป็นที่นิยมของคนไทย มันก็หายไปเอง ตรงกันข้าม ถ้าเป็นที่นิยมของคนไทย ในที่สุดมันก็เป็น “ไทยๆ” ไปเอง

การผลิตแบบทุนนิยมไม่ได้ทำให้สินค้าเพิ่มขึ้นอย่างเหลือคณานับเท่านั้น แต่มันทำให้คนหลากหลายกลุ่มต้องพบปะและร่วมงานกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม จำเป็นต้องมีแบบแผนความสัมพันธ์ทางสังคมที่รองรับการติดต่อสื่อสารอย่างกว้างขวาง ข้ามความแตกต่างเฉพาะกลุ่มไปเป็นธรรมดา วัฒนธรรมป๊อปเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ได้อย่างดี ผมเชิญฝรั่งไปกินอาหารไทย แต่ก็กินกันด้วยมารยาทโต๊ะอาหารของฝรั่ง ซึ่งก็กลายเป็นมารยาทบนโต๊ะอาหารของไทยไปด้วย ต่างฝ่ายต่างจับความหมายของการเลี้ยงอาหารครั้งนั้นกันได้

การผลิตแบบทุนนิยมยังทำให้การใช้เวลาของคนเปลี่ยนไปด้วย ทุกคนมี “เวลาว่าง” ทุกวัน (คือเวลานอกโรงงาน) ไม่เฉพาะแต่หลังฤดูเก็บเกี่ยวเกี่ยวเท่านั้น วัฒนธรรมป๊อปเข้ามาตอบสนองเวลาว่างที่กระจายไปอย่างกว้างขวางแก่คนจำนวนมากตรงนี้ แตกต่างจากการเล่นเพลงเรือที่ต้องรอหน้าน้ำหลังเกี่ยวข้าวแล้วลูกเดียว

เพราะเป็นสินค้า วัฒนธรรมป๊อปจึงมีลักษณะประชาธิปไตยอยู่ด้วย ตลาดเคารพเงินแต่เพียงอย่างเดียว กำเนิด, ตำแหน่งราชการ, สถานภาพทางสังคม, รูปร่างหน้าตา, ชื่อเสียงเกียรติยศ ฯลฯ มีความหมายน้อยหรืออาจไม่มีเลยในหลายกรณี ด้วยเหตุดังนั้นวัฒนธรรมป๊อปจึงแพร่หลายได้รวดเร็วกว้างขวางอย่างไม่มีอะไรขวางกั้น หรือถึงถูกขวางกั้นจากรัฐสมัยใหม่ ก็มักขวางได้อย่างไม่ค่อยเป็นผลนัก

วัฒนธรรมป๊อปจึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลแก่รัฐที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ทั้งๆ ที่รัฐเหล่านั้นก็ยอมจำนนต่อตลาดมามากแล้ว แต่วัฒนธรรมเป็นฐานของอำนาจที่เด็ดขาดยิ่ง (กว่าเศรษฐกิจ, กำลังทหาร, รัฐธรรมนูญ หรือการเมือง เสียอีก) และวัฒนธรรมป๊อปเป็นวัฒนธรรมของตลาดโดยแท้ รัฐไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลย วัฒนธรรมป๊อปจึงเป็นสิ่งน่าระแวงแก่อำนาจรัฐ บางรัฐพยายามสู้กับตลาดของวัฒนธรรมป๊อปมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ไว้ผมยาว, รองเท้าแตะ, กางเกงยีนส์, เพลงเพื่อชีวิต, เสื้อสายเดี่ยว, เพลงบางเพลง, หนังสือบางเล่ม ฯลฯ แล้วก็แพ้ทุกเรื่อง แพ้ทันทีหรือแพ้ในระยะยาวก็ตาม

โดยไม่ทันต้องลงมือปฏิวัติ วัฒนธรรมป๊อปก็สั่นคลอนระบบช่วงชั้นที่มีมาแต่เดิมอย่างถึงรากถึงโคนแล้ว ระบบช่วงชั้นใหม่ถูกสถาปนาขึ้นแทน “ดารา” อาจเป็นชนชั้นสูงสุดของระบบนี้ อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน เคยตั้งข้อสังเกตว่า เจ้านายในยุโรปมักแสวงหาหรือรักษาความเด่นของตนไว้ด้วยการเกาะเกี่ยวกับดารา ผมเข้าใจเอาเองว่า หากไม่ทำอย่างนั้นแล้วพยายามสร้างความเด่นให้ตนเองในวัฒนธรรมป๊อปก็จะกลายเป็นตัวตลกไป

วัฒนธรรมป๊อปมีความสำคัญในโลกปัจจุบันเห็นปานฉะนี้ เราทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ล้วนถูกแวดล้อมด้วยวัฒนธรรมป๊อปมากบ้างน้อยบ้างทั้งสิ้น ผมคิดว่าอย่างน้อยก็เกินครึ่งหนึ่งของประสบการณ์ของแต่ละคนขึ้นไป แต่ผมเดาว่า เพราะอานุภาพแฝงของวัฒนธรรมป๊อปในการ “พลิกแผ่นดิน” มีมากดังที่กล่าวแล้ว มันจึงเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษาน้อย และไม่เคยถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งชาติ (ไทย)

ตลอดหลักสูตรการศึกษาจนถึงจบมัธยม ไม่มีอะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อปโดยตรงเลย หากจำเป็นต้องกล่าวถึงเช่นการลอยกระทง ก็เมินสายตาจากพิธีกรรมที่ทำกันอย่างกว้างขวางในวัฒนธรรมป๊อปของปัจจุบันไปเสีย ใครๆ ก็รู้ว่าเราไม่ได้ลอยกระทงอย่างเดียวกับที่นางนพมาศ – ไม่ว่าจะมีชีวิตในสมัยสุโขทัยจริงหรือไม่ – ทำแล้ว แต่เขาทำอะไรกัน มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง และเกี่ยวข้องอย่างไร ฯลฯ ในพิธีกรรมลอยกระทงที่จัดกันทั่วประเทศในทุกวันนี้ กลับไม่เป็นที่สนใจของระบบการศึกษาเลย

ในระดับอุดมศึกษา จะมีวิชาที่อาจนำไปสู่การศึกษาระดับลึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อปหรือไม่อย่างไร ผมไม่ทราบ แต่เท่าที่มีงานวิจัยที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อปในระดับบัณฑิตศึกษาคงไม่มากนัก (เท่าที่ผมทราบโดยไม่ได้ลงมือสำรวจจริงจัง)

แต่งานวิชาการเกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อปไทยก็พอมีอยู่ เป็นบทความในวารสารศิลปวัฒนธรรมบ้าง เป็นงานวิชาการที่ฝรั่งทำไว้บ้าง (เช่น ว่าด้วยเพลงลูกกรุง-ลูกทุ่ง, ละครทีวี, ภาพยนตร์, อิทธิพลของป๊อปเกาหลี, สำนวนภาษาวัยรุ่น ฯลฯ) หากพิจารณาจากเนื้อหาของงานวิชาการเหล่านี้ ก็ต้องถือว่าเป็นเพียงส่วนเสี้ยวนิดเดียวของวัฒนธรรมป๊อปไทย ผมก็ได้แต่หวังว่า หากสำนึกถึงความสำคัญของวัฒนธรรมป๊อปมีในหมู่คนไทยกว้างขวางขึ้น “ตลาด” ของงานวิชาการเกี่ยวกับวัฒนธรรมป๊อปก็จะกว้างขึ้นตามไปด้วย และคงมีงานวิชาการจากศาสตร์แขนงต่างๆ ออกมาให้เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับป๊อปไทยและสังคมไทยได้มากขึ้น

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_507411

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net