Skip to main content
sharethis

ทวิตเตอร์สั่งระงับบัญชีผู้ใช้และแฮชแท็กกว่า 300 รายการที่พบว่าละเมิดกฎเกี่ยวกับการสแปมและปั่นข่าว โดยบัญชีเหล่านี้เชื่อมโยงกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีของ ‘เฟอร์ดินาน บองบอง มาร์กอส จูเนียร์’ ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลจากแคนาดา ชี้ ฟิลิปปินส์คือสวรรค์ของข่าวปลอม ขณะที่สำนักข่าว Rappler เผย ‘ดูเตอร์เต’ สร้างข่าวปลอมอย่างน้อย 12 ครั้ง จ้างเอเจนซี่ให้ดาราช่วยแชร์เพียบ

27 ม.ค. 2565 ที่ฟิลิปปินส์ ทวิตเตอร์สั่งระงับบัญชีผู้ใช้และแฮชแท็กกว่า 300 รายการ หลังตรวจสอบแล้วพบว่ามีการละเมิดกฎเกี่ยวกับการสแปมและปั่นข่าว โดยบัญชีเหล่านี้เชื่อมโยงกับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีของ ‘เฟอร์ดินาน บองบอง มาร์กอส จูเนียร์’ ลูกชายของอดีตเผด็จการเฟอร์ดินาน มาร์กอส ผู้พ่อซึ่งถูกโค่นล้มในการปฏิวัติประชาชน พ.ศ. 2529

แม้ว่าอดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการมาร์กอสผู้พ่อจะถูกโค่นล้มอำนาจและเสียชีวิตไปแล้ว แต่ปัจจุบัน ตระกูลมาร์กอสยังเป็นหนึ่งในครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดและมีอิทธิพลมากที่สุดในการเมืองฟิลิปปินส์ มีตำแหน่งหน้าที่ทั้งในวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และผู้ว่าการจังหวัดต่างๆ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ล่าสุด มาร์กอส จูเนียร์ หรือที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกติดปากว่า บองบอง มาร์กอส วัย 64 ปี กลายเป็นตัวเต็งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่กำลังจะมาถึงในเดือน พ.ค. 2565

ทวิตเตอร์ใช้ทั้งการตรวจสอบโดยมนุษย์และเทคโนโลยีต่างๆ ในการตัดสินใจระงับบัญชีและแฮชแท็กกว่า 300 รายการ พร้อมระบุว่าการสอบสวนยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ โฆษกของทวิตเตอร์ระบุว่า “เรายังคงระมัดระวังเกี่ยวกับการระบุตัวตนและกำจัดข้อมูลการรณรงค์หาเสียงที่น่าสงสัย ซึ่งพุ่งเป้าไปยังบทสนทนาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง”

วิค โรดริเกส หัวหน้าผู้ช่วยของบองบอง มาร์กอส ออกมาแถลงชื่นชมผลงานดังกล่าวของทวิตเตอร์ แต่เน้นย้ำว่าบัญชีทั้งหมดไม่จำเป็นต้องเป็นของผู้สนับสนุนบองบอง มาร์กอสเสมอไป “เราขอชื่นชมทวิตเตอร์ที่เฝ้าระวังการปั่นข้อมูล การสแปม และความพยายามอื่นๆ ในการกำหนดบทสนทนาของสาธารณะในแพลตฟอร์มอย่างใกล้ชิด” โรดิเกส กล่าว

แม้บองบอง มาร์กอส จะเป็นปกปักษ์กับฝ่ายผู้มีอำนาจในรัฐบาลปัจจุบันหลายคน แต่เขาก็มีฐานเสียงเป็นชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากที่อาศัยอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยฐานเสียงเหล่านี้เป็นผู้ใช้โซเชียลมีเดียกลุ่มใหญ่ในฟิลิปปินส์ และการใช้โซเชียลมีเดียของคนกลุ่มนี้ จากความเห็นของหลายฝ่าย พบว่าอาจทำให้เกิดการหลอกลวงเพื่อครอบงำบทสนทนาของสาธารณชนบนโซเชียลมีเดีย

ทวิตเตอร์แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่าบริษัทจะขยายฟีเจอร์เพื่อให้ผู้ใช้สามารถปักธงเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด โดยตั้งเป้าเริ่มจากประเทศฟิลิปปินส์ บราซิล และสเปน

ขณะเดียวกัน สำนักข่าว Rappler ของฟิลิปปินส์รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าผู้สนับสนุนของบองบอง มาร์กอส พยายามครอบงำบทสนทนาในฟิลิปปินส์ผ่านการสมัครบัญชีผู้ใช้จำนวนมากภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน ทวิตเตอร์ทราบเรื่องแล้วพร้อมระบุว่าบัญชีผู้ใช้ส่วนใหญ่จาก 300 รายการถูกนำออกก่อนหน้านี้แล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการดำเนินงานประจำวัน

ทวิตเตอร์ระบุว่าการแชร์เนื้อหาทางการเมืองและการรวมคนให้มาแชร์เนื้อหาทางการเมืองผ่านแฮชแท็กยังไม่ใช่การละเมิดกติกาของชุมชน แต่มีข้อยกเว้นว่าการแชร์เนื้อหาต้องไม่มาจากบัญชีปลอม ระบบอัตโนมัติ หรือถูกจ้างมาให้แชร์ ซึ่งปัจจุบันยัง “ไม่มีหลักฐานแน่ชัด” เกี่ยวกับกิจกรรมในลักษณะดังกล่าว ขณะนี้จึงยังคงทำได้แค่ระงับการเข้าถึงบัญชีไว้ก่อน

สวรรค์ของข่าวปลอม

สำนักข่าว Rappler ซึ่งก่อตั้งโดยมาเรีย เรซซา นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2564 ให้ข้อมูลบริบทเพิ่มเติมว่าปัจจุบันความกังวลเกี่ยวกับการแชร์ข่าวปลอมบนโซเชียลมีเดียกำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี และประชาชนชาวฟิลิปปินส์กำลังให้ความสนใจมากขึ้นว่าจะจัดการกับข่าวปลอมอย่างไร ขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีกำลังใกล้เข้ามา

คริสโตเฟอร์ วายลี ที่ปรึกษาด้านข้อมูลสัญชาติแคนาดา ผู้เปิดโปงการทุจริตของบริษัทเคมบริดจ์ อะนาลิติกา ซึ่งเคยแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา และการลงประชามติว่าด้วยการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) เคยบอกกับ Rappler ว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่เหมาะกับการทดลองเทคโนโลยีเพื่อหลอกลวงและควบคุมบทสนทนาของสาธารณะอย่างมาก เนื่องจากการปกครองของกฎหมายน่ากังขา มีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นปริมาณมาก และนักการเมืองทุจริต

แม้จะมีความพยายามในแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังกล่าวโดยเจ้าของแพลตฟอร์ม เช่น เฟซบุ๊กและยูทูบ เพราะความพยายามในการกดดันของนักข่าว ภาคประชาสังคม และนักตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระ แต่ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่ามาตรการต่างๆ ของเจ้าของแพลตฟอร์มยังไม่เพียงพอ และวิธีการในการเผยแพร่ข่าวปลอมในโซเชียลมีเดียยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัญหาในฟิลิปปินส์ที่มีการพูดถึงอย่างหนาหู คือเครือข่ายปฏิบัติข้อมูลข่าวสารของโรดริโก ดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน ซึ่งกุข่าวปลอมใหญ่ๆ ขึ้นมาแล้วอย่างน้อย 12 ครั้ง เมื่อต้นปีที่แล้วมีรายงานว่าในปี 2560-2561 บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงและโซเชียลอินฟลูเอนเซอร์ในฟิลิปปินส์ได้รับเงินตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านเปโซ เพื่อแชร์ข่าวปลอมจากเครือข่ายสนับสนุนประธานาธิบดีทั้งโดยตั้งใจและโดยไม่ตั้งใจ

สำหรับเงินดังกล่าวได้รับการจ่ายมาจากบริษัททวินมาร์ค มีเดีย เอนเทอร์ไพรส์ โดยเรื่องนี้สำนักข่าว Rappler ระบุว่ามีเอกสารภายในเป็นหลักฐานยืนยัน แม้เฟซบุ๊กจะแบนบริษัทนี้ไปแล้ว แต่บริษัททวินมาร์ค มีเดีย เอนเทอร์ไพรส์ก็ยังคงปฏิบัติการในลักษณะนี้ต่อไป ขณะที่บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงและโซเชียลอินฟลูเอนเซอร์จำนวนหนึ่งยังคงเป็นกระบอกเสียงให้กับข่าวปลอม และโครงข่ายที่ว่านี้อาจถูกนำมาใช้ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ด้วย

หนึ่งในประเด็นที่เป็นปัญหาอย่างมากในระดับโลกคือข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีน สำนักข่าว NBC ระบุว่า Institute for Strategic Dialogue วิเคราะห์วิดีโอข่าวปลอมเกี่ยวกับวัคซีนในแอปพลิเคชัน TikTok พบว่าวิดิโอเพียง 124 คลิปมียอดผู้ชมกว่า 20 ล้านครั้ง และมีปฏิกริยาในรูปของการกดไลก์ คอมเมนต์ และแชร์กว่า 2 ล้านครั้ง เพราะใน TikTok ผู้ใช้มักจะนำแทร็กเสียงที่ได้รับความนิยมมาผลิตวิดีโอเผยแพร่ซ้ำ ทำให้ข่าวปลอมแพร่กระจายรวดเร็วอย่างมาก

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net