Skip to main content
sharethis

หลักฐานใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ เผยให้เห็นบทบาทของอังกฤษในการผลิตโฆษณาชวนเชื่อ จนนำมาสู่การสังหารหมู่คอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

แผ่นพับโฆษณาชวนเชื่อให้ต่อต้านคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย เมื่อปี ค.ศ. 1965 หรือ พ.ศ. 2508 (ภาพจาก wikicommon)

เมื่อปีที่แล้ว (2564) คอลัมภ์ ‘The Observer’ ของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน เปิดเผยวิธีการที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษปล่อยโฆษณาชวนเชื่อแบบโกหกแหล่งที่มาในทศวรรษที่ 1960 เพื่อยุยงให้ชาวอินโดนีเซีย "ตัดมะเร็งคอมมิวนิสต์ออกไป" จากสังคม

มีการประเมินว่าประชาชนกว่า 5 แสนคนที่มีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซียเสียชีวิตจากการสังหารหมู่ในช่วง ค.ศ. 1965-1966 สำหรับการโฆษณาชวนเชื่อแบบโกหกแหล่งที่มาที่รัฐบาลอังกฤษใช้ในการสังหารหมู่นี้ เรียกอีกอย่างปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อแบบดำ ซึ่งต่างจากการโฆษณาชวนเชื่อแบบเทาที่ปกปิดแหล่งที่มา และการโฆษณาชวนเชื่อแบบขาวที่ไม่ปกปิดแหล่งที่มา 

เอกสารใหม่ที่เพิ่งถูกเปิดเผยออกมาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติของอังกฤษ เผยให้เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการโฆษณาชวนเชื่อเคยลักลอบส่งแผ่นพับที่มีเนื้อหายั่วยุ เพื่อชี้นำขบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียให้ฆ่า ดร.ซูบันดริโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซียในขณะนั้น โดยอ้างว่าชาวจีนในอินโดนีเซียควรได้รับความรุนแรงแบบที่เหมาะสมกับคนกลุ่มดังกล่าว

ในขณะนั้น อังกฤษต้องการให้กองทัพอินโดนีเซีย และกลุ่มติดอาวุธต่างๆ โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ของประธานาธิบดีซูการ์โน เนื่องจากประธานาธิบดีซูการ์โน และ ดร.ซูบันดริโอ ถูกมองว่าใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซีย และรัฐบาลจีนแดง มากเกินไป นอกจากนี้ อังกฤษยังต้องการยุติ “การเผชิญหน้า” ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้ทหารชั้นผู้น้อยและกลุ่มการเมืองต่างๆ ของซูการ์โน และซูบันดริโอ ลุกขึ้นต่อต้านสหพันธรัฐมาเลเซีย

ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ขณะอ่านคำประกาศเอกราช เมื่อ 17 ส.ค. 1945 (พ.ศ. 2488) (ภาพจาก wikipedia)

แผ่นพับที่เพิ่งมีการค้นพบใหม่ ซึ่งมีการผลิตตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา พุ่งเป้าโจมตีไปที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศที่มาจากฝ่ายซ้าย และยังย้ำให้กลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ฆ่า ดร.ซูบันดริโอ อย่างสม่ำเสมอ โดยบอกว่าเขาเป็น “ไก่หนุ่ม” ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของซูการ์โน และบอกด้วยว่า “กองทัพยังถอนขนของไก่หนุ่มตัวนี้ออกมาได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้น ยังไม่ได้เหน็บปีกของมัน” วิธีแก้ไขคือจะต้อง “บีบคอ” ไก่ตัวนี้ “เพื่อให้ประชาชนอินโดนีเซียแซ่ซ้องยินดี”

นอกจากนี้แล้ว แผ่นพับอีกหลายร้อยแผ่นยังถูกส่งไปยังกลุ่มมุสลิมต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยอ้างว่าสายลับของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนจะเข้ายึดอินโดนีเซียด้วย หลังการรัฐประหารที่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในเหตุการณ์มีการลักพาตัวและสังหารนายพล 6 คน และกองทัพอ้างว่าเป็นฝีมือของฝ่ายคอมมิวนิสต์ รัฐบาลอังกฤษ แผ่นพับระบุว่า “เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้” ที่ “คนจีนไม่รู้อิโหน่อิเหน่จำนวนมากจะต้องพบความทุกข์จากผลที่ตามมา” และแม้ว่า “เราจะเกลียดชังความเดือดดาลแบบไม่บันยะบันยัง” ต่อชาวจีนในอินโดนีเซีย แต่ “เรารู้ดีว่าส่วนใหญ่แล้วมันเป็นความผิดของพวกเขาเอง” 

นอกจากแผ่นพับแล้ว รัฐบาลอังกฤษเยังขียนสคริปให้กับรายการวิทยุสยองขวัญ โดยเล่าเรื่องราวของนายพลที่เสียชีวิตและศพถูกทิ้งลงไปในบ่อน้ำ ในบทพูด นายพลที่เสียชีวิตเหล่านี้ตะโกนว่า “หนอนอาจจะกินเนื้อเน่าของเรา แต่เสียงของเรากลายเป็นเสียงแห่งสามัญสำนึกของประเทศนี้แล้ว” นอกจากนี้ พวกเขายังกรีดร้องด้วยว่า “โอ้ ซูบันดริโอ แกไม่คิดเหรอว่าเชือกแขวนคอเป็นทางออกที่ง่ายเกินไปสำหรับคนอย่างแก”

ทันทีหลังเกิดความพยายามในการรัฐประหาร พล.อ.ซูฮาร์โต ก็ได้เข้าควบคุมกองทัพอินโดนีเซียและดูแลการสังหารหมู่ที่ดำเนินการโดยกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์ หนึ่งเดือนถัดจากนั้น พล.อ.ซูฮาร์โต จากกลุ่มฝ่ายขวาที่สนับสนุนฝ่ายประเทศตะวันตกก็ยึดอำนาจจากประธานาธิบดีซูการ์โนที่ล้มป่วย และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีรักษาการใน ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) และเป็นประธานาบดีอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา ระบอบเผด็จการของซูฮาร์โตคงอยู่เรื่อยมาอีกกว่า 32 ปี 

เลนาห์ ซูเซียนตี สมาชิกกรรมการของทาพอล องค์กรสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซีย ระบุว่า บิดาของเขาถูกจับกุมและกักขังในระหว่างการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ “ชุมชนชาวจีนทั้งหมดในซูคาบูมีเผชิญกับความทุกข์ยากมาเป็นเวลานาน” ซูเซียนตี กล่าว พร้อมระบุว่า “พวกเขาหวาดกลัวที่จะพูดอะไรและต้องทนกับรังแก ข่มขู่ และปฏิบัติอย่างเลวร้ายจากคนอื่นในสังคมอย่างเงียบๆ พวกเขาตกเป็นเป้าหมายอย่างง่ายดายเพราะถูกมองว่าเป็น ‘คอมมิวนิสต์’” 

ซอ เจียน มาร์ชิ่ง ปัจจุบันเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย SOAS ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ บอกว่า บิดาของเธอก็ถูกทารุณกรรมและจำคุกเป็นเวลา 2 ปีครึ่งเช่นเดียวกัน เพราะกองทัพสงสัยว่า เขาเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซีย โดยการพุ่งเป้าไปยังชุมชนชาวจีนใน ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) “มีส่วนอย่างมากในการทำให้ความหวาดระแวงและเลือกปฏิบัติต่อชาวจีนและคนที่ไม่ใช่ชาวจีนในอินโดนีเซียยังคงดำเนินอยู่เรื่อยมา ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงควรออกมาขอโทษโดยเร็วที่สุด”

เมื่อ ต.ค.ปีที่แล้ว (2564) คอลัมน์ The Observer ของเดอะการ์เดียน เปิดเผยหลักฐานมัดตัวว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษแอบปล่อยโฆษณาชวนเชื่อแบบโกหกแหล่งที่มาในทศวรรษที่ 1960 การโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ถูกโกหกว่ามาจากกลุ่มชาตินิยมอินโดนีเซียที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ ที่จริงแล้วการโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการทำสงครามจิตวิทยาของกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษที่ทำงานจากกระท่อมตากอากาศอย่างสะดวกสบายในสิงคโปร์ ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยข่าวกรอง MI6 ที่ผ่านมา กระทรวงต่างประเทศปฏิเสธว่าไม่ได้ส่วนพัวพันในการฆาตกรรมเหล่านี้มาเป็นเวลากว่า 50 ปี

เมื่อการสังหารหมู่เริ่มต้นขึ้นในเดือน ต.ค. 1965 หรือ พ.ศ. 2508 แผ่นพับของอังกฤษเรียกร้องให้ “พรรคคอมมิวนิสต์ และองค์กรคอมมิวนิสต์ทั้งหมด” ต้อง “ถูกกำจัด” พร้อมเตือนว่า ชาติจะตกอยู่ในอันตราย “ตราบใดที่ผู้นำคอมมิวนิสต์ยังคงมีอยู่แพร่หลาย และสมาชิกยังได้รับอนุญาตให้อยู่ต่อไปโดยไม่ถูกลงโทษ”

จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตกว่า 500,000 คน และแหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่า ตัวเลขอาจสูงถึง 3,000,000 คน คนเหล่านี้รวมถึงชาวจีนหลายคนซึ่งถูกฆ่าโดยชาวมุสลิม และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ 

สตีป แอลสตัน จากองค์กรทาพอล (Tapol) ระบุเมื่อวันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า องค์กรของเขา “รู้สึกตกใจอย่างมากที่รัฐบาลอังกฤษมีส่วนร่วมในการรณรงค์ข้อมูลเท็จเพื่อยุยงปลุกปั่นให้ใช้ความรุนแรง จากหลักฐานเหล่านี้ รัฐบาลอังกฤษต้องเริ่มการสอบสวนโดยคณะกรรมการอิสระในทันทีให้แล้วเสร็จภายใน 18 เดือน” 


แปลและเรียบเรียงจาก

https://www.theguardian.com/world/2022/jan/23/uks-propaganda-leaflets-inspired-1960s-massacre-of-indonesian-communists?CMP=fb_gu&utm_medium=Social&utm_source=Facebook&fbclid=IwAR341ZmiZY5S8Snr3ErKV8rnv8TBaElaKue4Dr4gvjmvrjjE6HgPMydnwLc#Echobox=1642952706

https://en.wikipedia.org/wiki/Black_propaganda

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net