ชาวเน็ตจีนโวย หนังเรื่อง Fight Club ถูกแก้ตอนจบในสตรีมจีน เป็นแบบใหม่

ชาวเน็ตจีนโวยหนัก หลังภาพยนตร์ดังเรื่อง ‘Fight Club’ กำกับโดย เดวิด ฟินเชอร์ ถูกแก้ฉากจบในบริการสตรีมมิงจีนเป็นแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และคุณค่าของรัฐบาลปักกิ่ง ด้านผู้เชี่ยวชาญเผยสะท้อนความไม่มั่นคงของสังคมแดนมังกร

(คำเตือน ข่าวนี้มีการสปอยเนื้อหาภาพยนตร์)

ฉากภาพยนตร์ Fight Club (ที่มา 20 Century Fox)

ชาวเน็ตในจีนที่เคยดูต้นฉบับโวย หลัง Fight Club หรือชื่อไทย ‘ไฟท์คลับ ดิบ ดวล ดิบ’ ภาพยนตร์ชื่อดังกำกับโดยเดวิด ฟินเชอร์ ซึ่งออกฉายในปี 1999 (พ.ศ. 2542) ถูกแก้ตอนจบในบริการสตรีมของประเทศจีน ให้ตำรวจเป็นฝ่ายชนะ โชว์ผลงานจับโจร และส่งโจรเข้าโรงพยาบาลบ้าได้อย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญเผยการแก้ตอนจบสะท้อนความกลัวที่เกิดจากความไม่มั่นคงของสังคมจีนและกังวลอยู่เสมอว่าชนชั้นนำมีศัตรู

สำหรับตอนจบของภาพยนตร์ต้นฉบับ ตัวละครที่แสดงโดยเอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง ได้ทำการฆ่าตัวตนอีกคนในจินตนาการของเขาที่ชื่อว่า ไทเลอร์ เดอร์เดน ซึ่งแสดงโดยแบรด พิตต์ และหลังจากนั้นก็จะเห็นฉากระเบิดของตึกอาคารหลายแหล่ง

ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นสารที่เป็นใจความสำคัญของภาพยนตร์ กล่าวคือ แผนการทำลายล้างอารยธรรมสมัยใหม่มาถึงแล้ว แต่ 20 ปีผ่านไป สารเกี่ยวกับอนาธิปไตยและการต่อต้านทุนนิยมของภาพยนตร์กลับถูกแก้ไขในประเทศจีน ให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของจีนมากขึ้น

ในบริการสตรีมภาพยนตร์ของ Tencent Video ของจีน พบว่า ตอนจบของภาพยนตร์ถูกดัดแปลงออกไป กล่าวคือ แม้ว่าตัวละครผู้เล่าเรื่องจะยังคงฆ่าเดอร์เดนอยู่ แต่ฉากระเบิดตึกกลับถูกแทนที่ด้วยจอดำพร้อมกับข้อความเขียนว่า “ตำรวจรู้เกี่ยวกับแผนทั้งหมดอย่างรวดเร็ว และจับกุมอาชญากรทั้งหมดในทันที และประสบความสำเร็จในป้องกันการระเบิด”

ฉากจบที่ถูกดัดแปลงในภาพยนตร์เรื่อง 'Fight Club' (จากทวิตเตอร์ @Lulamaybelle)
 

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า ‘ไทเลอร์ เดอร์เดน’ ซึ่งเป็นจินตนาการของตัวละครผู้เล่าเรื่อง ถูกส่งไปยัง “โรงพยาบาลคนโรคจิต” เพื่อทำการรักษาทางจิตวิทยาและได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา การดัดแปลงตอนจบดังกล่าวถูกสังเกตเห็นโดยผู้ชมชาวจีน และมีการพูดถึงในทวิตเตอร์ในเวลาต่อมา ก่อให้เกิดความสับสนและการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้ชม

“นี่มันน่าโกรธเกินไปแล้ว” คอมเมนต์หนึ่งแสดงความคิดเห็นใน Tencent Video  

“Fight Club ใน Tencent Video บอกเราว่า พวกเขาไม่เพียงแต่ลบหลายฉากออกเท่านั้น แต่ยังเพิ่มเรื่องเข้าไปในพล็อตด้วย” ผู้ใช้คนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ใน Weibo แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน

“ฉันยอมให้ Tencent ถอดภาพยนตร์ออกไปเลยยังดีซะกว่า สิ่งที่คุณกำลังโฆษณาชวนเชื่ออยู่นี้ไม่ใช่ ‘พลังงานเชิงบวก’ เลย คุณพยายามเปลี่ยนตอนจบไปเพื่ออะไร” ผู้ชมอีกท่านหนึ่งแสดงความเห็นใน Douban 

สำนักข่าวเดอะการ์เดียน ให้ข้อมูลบริบทเพิ่มเติมว่า การเซ็นเซอร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศจีนแต่อย่างใด เนื่องจากสื่อผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมมักถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมคุณค่าทางสังคมต่างๆ อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสม บางครั้งทำในระดับที่เลวร้ายอย่างมาก โดยเฉพาะกับสื่อผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
 
ดร.ฮาว วี อึง อาจารย์ด้านภาพยนตร์และสื่อจีนจากมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ ระบุว่า “ภาพยนตร์ Fight Club เวอร์ชันใหม่ของจีนทำให้อำนาจกลับไปอยู่ในมือของตำรวจ และสื่อนัยถึงตอนจบแบบอุดมคติที่สอดคล้องกับวาทกรรมของรัฐบาลจีน ที่ซึ่งความสัมพันธ์แบบต่างพึ่งพาระหว่างตำรวจและรัฐเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว”

“การทำแบบนี้เป็นเรื่องที่พบได้แพร่หลายในละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ของจีน ซึ่งเป็นภาพแทนของอาชญากรรมและความรุนแรง” ดร. ฮาว วี อึง กล่าว พร้อมระบุว่า “ที่ตลกร้ายก็คือ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการบังคับใช้การเซ็นเซอร์คือความกลัวทางประวัติศาสตร์ต่อความไม่มั่นคงของสังคมจีน และการตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่ามีภัยคุกคามต่อกลุ่มผู้มีอำนาจเดิม”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์แบบอุดมคติระหว่างวัฒนธรรม ตลาด และประชากรอย่างต่อเนื่อง เมื่อ ธ.ค.ปีที่แล้ว (2564) สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแดนมังกร เรียกร้องให้ศิลปินชาวจีนเสริมความภาคภูมิใจ​ในวัฒนธรรม และผลิตผลงานเพื่อส่งเสริม “อำนาจทางวัฒนธรรมแบบสังคมนิยม”

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25 ม.ค. 65) กรมการปกครองพื้นที่ไซเบอร์ของรัฐบาลปักกิ่ง ประกาศว่ากำลังริเริ่มโครงการรณรงค์ส่งเสริมเว็บ “สะอาด” ที่จะใช้เวลาแรมเดือนเพื่อสร้างบรรยากาศออนไลน์ที่เป็น “อารยะและดีต่อสุขภาพ” เพื่อต้อนรับวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ 

ในช่วงหลายปีที่มา ความพยายามลักษณะนี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อพฤติกรรมของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายชาวตะวันตกในตลาดผู้บริโภคของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตัวอย่างเช่น สตูดิโอหลายแห่งในฮอลลีวูดมักปล่อยภาพยนตร์เวอร์ชันทางเลือกออกมา เพื่อหวังให้ผลงานสามารถเผยแพร่สู่สายตาผู้ชมนับล้านในจีนได้โดยไม่ถูกเซ็นเซอร์จากรัฐบาลปักกิ่ง 

ในปี พ.ศ. 2562 ฉากต่างๆ ของภาพยนตร์ “Bohemian Rhapsody” ที่พูดถึงเพศวิถีของเฟรดดี เมอร์คิวรี ถูกตัดออกทั้งหมดเมื่อเข้าฉายในประเทศจีน ทั้งที่ฉากดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในอัตชีวประวัติของนักร้องนำชื่อดังระดับโลกของวงควีนส์

ขณะที่ 'ชัค พอลาห์นิก' (Chuck Palahniuk) นักข่าวอิสระชาวสหรัฐฯ และผู้แต่งนิยายเรื่อง 'Fight Club' ซึ่งภายหลังถูกนำมาทำเป็นหนัง โพสต์ข้อความบนหน้าทวิตเตอร์หลังมีข่าวว่าจีนดัดแปลงตอนจบของภาพยนตร์ว่า "นายเห็นนี่รึยัง? นี่มันโคตรวิเศษไปเลย ทุกคนได้ฉากจบอย่างมีความสุขในจีน!" 

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Fight Club gets a new ending in China - and the authorities win

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท