Skip to main content
sharethis

กมธ.แรงงาน ส.ว.จัดสัมนาออนไลน์ผู้สูงอายุกับงานที่มีคุณค่าในยุคโควิดเพื่อพัฒนาโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุ

คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ร่วมกับศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาฯศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายเปิดเวทีสัมมนาผ่านระบบออนไลท์ซึ่งเป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุข ในประเด็น”ผู้สูงอายุกับงานที่มีคุณค่าในยุคโควิด 19″ เพื่อพัฒนาโอกาสการทำงานของผู้สูงอายุโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ covid-19 รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายของทุกภาคส่วนเกี่ยวกับแรงงานผู้สูงอายุ

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบซึ่งจากสถานการณ์ covid-19 ทำให้ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบการสัมนาในครั้งนี้ จะทำอย่างไรในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มโอกาสในการทำงานให้กับผู้สูงอายุ

ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ทำงาน อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบจึงจำเป็นจะต้องหาแนวทางให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบ ขณะเดียวกันในเรื่องของทักษะและเทคโนโลยีถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะต้องทำให้กลุ่มผู้สูงอายุมีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ควบคู่กับการพัฒนาทักษะในด้านแรงงานซึ่งในปัจจุบันระบบเทคโนโลยีถือว่ามีความสำคัญกับการทำงานอย่างมาก

พร้อมกันนี้จะต้องมีการปรับประเภทงานให้มีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุ ส่วนเรื่องของกฎระเบียบและข้อกฎหมายนั้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯจะเร่งผลักดันและศึกษาว่าจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานหรือกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ

ขณะนายจรินทร์ จักกะพาก ประธานคณะอนุ กรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน วุฒิสภา ระบุว่าการพัฒนาผู้สูงอายุสิ่งสำคัญจะต้องส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความมั่นคงในชีวิต ส่งเสริมการออมและเตรียมความพร้อมเรื่องการทำงาน การพัฒนาทักษะและการคุ้มครองสวัสดิการในการทำงาน โดยปัจจัยสำคัญคือต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการกำหนดเป้าหมายร่วมกันในการทำงานสุดท้ายคือการสร้างความเข้มแข็งในระดับพื้นที่และชุมชน ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดจากเวทีสัมมนาจะส่งไปยังรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 28/1/2565

ลูกจ้าง "เดอะวัน ประกันภัย" ร้องถูกลอยแพ-ยังไม่ได้เงินชดเชย

27 ม.ค. 2565 ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีกลุ่มลูกจ้างและพนักงานของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เดินทางไปรวมตัวกันเพื่อร้องเรียนขอค่าชดเชย หลังบริษัทปิดไปเกือบ 2 เดือน แต่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย

ตัวแทนกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม ที่นำลูกจ้างบริษัทดังกล่าวมาเรียกร้องในวันนี้ กล่าวว่า มีพนักงานได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างในครั้งนี้ 300 กว่าคน โดยกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ซึ่งมีสถานะนายจ้างในขณะนี้ ต้องจ่ายเงินค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ให้กลุ่มลูกจ้างดังกล่าว รวม 82 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ระยะเวลาดำเนินการภายใน 30 วัน หลังมีการติดป้ายประกาศการชดเชยเงินดังกล่าวในวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่วันนี้กลุ่มดังกล่าวจะปักหลักค้างคืนจนกว่าได้รับคำตอบเรื่องค่าชดเชยจากบอร์ด คปภ. เนื่องจากพนักงานหลายคนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก

“เดือดร้อนมาก บางคนต้องตกงานตอนอายุ 50 กว่าปี ไม่ทันได้ตั้งตัว”

บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาจากการรับประกันภัย COVID-19 ประเภท "เจอ จ่าย จบ" จนกระทั่งอัตราการขอเรียกประกันจากสถานการณ์ COVID-19 ของประชาชนเพิ่มสูงจนกระทบฐานะการเงินของบริษัท ทำให้ผู้ถือหุ้นตัดสินใจไม่เพิ่มทุน ทาง คปภ.จึงมีคำสั่งให้หยุดรับประกันภัยชั่วคราว และเร่งแก้ไขฐานะการเงิน

กระทั่ง รมว.คลัง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ หลังจากพบว่ามีฐานะทางการเงินไม่มั่นคง มีสินทรัพย์ไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งไม่มีเจตนาที่จะแก้ไขฐานะการเงิน และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า โดยหลังปิดตัวไปก็ทำให้กลุ่มลูกจ้างได้รับผลกระทบจากค่าชดเชยการถูกเลิกจ้างและลอยแพ

ที่มา: Thai PBS, 27/1/2565

รัฐบาลซาอุฯ สุดเซอร์ไพรส์ 'สุชาติ' โชว์รูปพ่อครั้งไปใช้แรงงานเมื่อ 37 ปีที่แล้ว

26 ม.ค 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความว่า "เมื่อ 37 ปีก่อน พ่อผมไปขายแรงงานที่ประเทศ ซาอุดิอาระเบีย ส่งเงินมาให้ผมเรียนจนจบการศึกษา กระทั่งวันนี้ ผมได้ไปเยือนซาอุฯ ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน"

"ก่อนหน้านี้ผมเคยเล่าไปแล้วว่า บ้านผมมีฐานะยากจนพอสมควร จึงทำให้คุณพ่อผม ต้องตัดสินใจไปทำงานกรรมกร ขายแรงงานที่ซาอุดิอาระเบีย ตอนผมอายุ 11 ขวบ เมื่อปี พ.ศ.2528 และส่งเงินทางโทรเลขกลับมาให้คุณแม่ทุกๆเดือน ....ในครั้งนั้น พ่อผมไปเป็นคนงานก่อสร้างสนามกีฬานานาชาติ King Fahd และเงินจากการการเป็นกรรมกร ขายแรงงานในซาอุดิอาระเบียของพ่อ ทำให้ครอบครัวของผมได้มีกินมีใช้ นำใช้จ่ายค่าเล่าเรียนจนจบการศึกษา นั้นถือว่า ครอบครัวของผมเป็นหนี้บุญคุณของประเทศซาอุดิอาระเบีย

กระทั่งในวันนี้ ปี พ.ศ.2565 เป็นเวลา 37 ปีผ่านไป ผมเองได้เดินทางไปเยือนประเทศแห่งนี้ และเป็นคณะทำงานติดตามท่าน นายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ผมได้ตระเตรียมภาพถ่ายเก่าๆ ระหว่างที่คุณพ่อ ได้ทำงานอยู่ที่นั้นมาให้ รมว.ทรัพยากรบุคคล หรือ รมว.แรงงาน ของประเทศซาอุดีอาระเบีย และทุกๆคนที่อยู่ในที่ประชุม ได้ชม ซึ่งผมได้กล่าวขอบคุณและรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก และเมื่อทุกคนได้เห็นภาพทั้งหมด ก็พากันรู้สึกเซอร์ไพรส์ และแสดงความชื่นชมยินดีกับตัวผม ที่ก้าวมาสู่ความสำเร็จเป็น รมว. แรงงาน ของประเทศไทย ส่วนนึงมาจากเงินรายได้ ค่าแรง ที่คุณพ่อผม ได้มาทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ยังได้ออกปากเชิญพ่อของผม มาเป็นแขกคนสำคัญ ของ รมว. ทรัพยากรบุคคล หรือ รมว. แรงงาน ซาอุดิอาระเบีย หรือถ้าท่าน รมว. ได้มาเยือนเมืองไทยก็ขอไปพบพูดคุยกับพ่อของผม

นอกจากนี้ ผมยังได้รับความชื่นชมจากคณะทำงานของรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย และผู้นำระดับสูง ถึงการบริหารด้านแรงงานในประเทศไทยในช่วงวิกฤติ โควิด -19 ที่ผ่านมา ว่าสามารถทำได้ดีมาก และรู้สึกประทับใจ ที่รัฐบาลไทย โดยท่านนายกรัฐมนตรี เลือกผม ซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของแรงงานไทยโดยแท้ มานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีแรงงาน

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะบอกทุกท่านว่า วันที่ 25 ม.ค. 2565 ถือเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถฟื้นความสัมพันธ์ 32 ปี ไทยซาอุดิอาระเบียได้สำเร็จ และแน่นอนว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ อย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืน ครับ"

ที่มา: ไทยโพสต์, 26/1/2565

สมาคมผู้พิทักษ์ป่าออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกเลิกจ้างและปรับลดเงินเดือน

สมาคมผู้พิทักษ์ป่าออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกเลิกจ้างและปรับลดเงินเดือนเนื่องจากรัฐบาลตัดลดงบประมาณปี 2565 สำหรับดูแลป่าลง 47% ขณะที่มีรายงานข่าวว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบกลางแล้ว โดยหวังจะเสนอให้ ครม. พิจารณาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่บรรจุเข้าวาระไม่ทัน จึงคาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ได้ในสัปดาห์หน้า

แถลงการณ์ของสมาคมผู้พิทักษ์ป่ามีใจความส่วนหนึ่งว่า ในปีงบประมาณปี 2565 รัฐบาลปรับลดงบดูแลป่าลง 47% จากที่เคยได้ 16,143 ล้านบาทในปี 2564 ปีนี้เหลือเพียง 8,534 ล้านบาท ส่งผลกระทบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต้องเลิกจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 1,731 คน คิดเป็น 33% แต่มีเจ้าหน้าที่บางส่วนยอมให้ปรับลดเงินเดือนลง 25% จาก 10,000 บาท เหลือ 7,500 บาท เพื่อแลกกับการไม่ถูกเลิกจ้าง

ทั้งนี้ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติให้ข้อมูลว่า งบประมาณส่วนนี้ลงทุกปีตั้งแต่ปี 2561 แต่ปีนี้ลดมากที่สุด ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าก็มีไม่พออยู่แล้ว โดยเฉลี่ยแล้วเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 1 คน ต้องดูแลพื้นที่ป่ามากกว่า 1 0,000 ไร่

นอกจากนี้มูลนิธิสืบ นาคะเสถียรเรียกร้องว่า เงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานพิทักษ์ป่าไม่ต่างจาก 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่รัฐสามารถอนุมัติงบ 13,800 ล้านบาท มาจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ได้ แต่ไม่สามารถเจียดเงินมาดูแลคุณภาพชีวิตของคนที่ดูแลทรัพยากรของประเทศได้

ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ทำหนังสือยื่นขอจัดสรรงบประมาณจากงบกลางให้สำนักงบประมาณพิจารณาถึงความจำเป็นในการจ้างเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า เพื่อปกป้องรักษาผืนป่าของประเทศ

ทางสมาคมผู้พิทักษ์ป่าขอเรียนว่า เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคือบุคลากรสำคัญที่ช่วยดูแลปกป้องทรัพยากรธรรมชาติด้วยเป็นกำลังสำคัญในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติจากการรุกราน โดยการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ การบังคับใช้กฎหมาย กิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน การควบคุมป้องกันและดับไฟป่า การดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยและงานด้านอื่นๆ อีกมากมาย ถือได้ว่า เป็นผู้รับประกันความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่า ที่ปัจจัยสำคัญของการดำเนินชีวิตและเป็นปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในการประกอบอาชีพทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

ทั้งนี้การที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกเลิกจ้างและปรับลดเงินเดือน ทำให้บุคลากรกลุ่มนี้ขาดหายไป และบางส่วนได้ความเดือดร้อนในการดำรงชีพ ขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นกำลังหลักของการดูแลพื้นที่คุ้มครองลดลงลง จึงย่อมส่งผลโดยตรงต่อการปกป้องผืนป่าและสัตว์ป่าซึ่งเป็นสมบัติส่วนร่วมของคนทั้งชาติ สมาคมผู้พิทักษ์ป่าจึงออกแถลงการณ์ไปยังรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กรรมาธิการพิจารณางบประมาณ เพื่อจัดสรรงบกลางในการจ้างเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าและเพิ่มเงินเดือนในเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าให้เพียงพอกับการดำรงชีพในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะการดูแลและคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่าที่สมบูรณ์อยู่เดิมแล้วให้คงอยู่ต่อไปด้วยการลาดตระเวนอย่างมีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ การแสวงหาความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น เป็นการลงทุนที่ต้นทุนต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับการปล่อยให้เกิดความเสียหาย และใช้งบประมาณในการฟื้นฟูให้กลับคืนมามีสภาพสมบูรณ์ดังเดิม

เฟซบุ๊ก เพจ ผู้พิทักษ์ป่า TOR Ranger โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำหนังเวียนแจ้งรวมทั้งส่วนราชการและหน่วยงานรัฐเร่งบรรจุข้าราชการใหม่เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานจากโควิด-19 โดยให้สรรหา สอบคัดเลือก และบรรจุแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ เพื่อทดแทนอัตราว่างจากการเกษียณและอัตราตั้งใหม่ที่ได้รับจัดสรรไว้แล้วให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

ทั้งนี้ยังแสดงข้อสงสัยว่า จะมีผลมาถึงผู้พิทักษ์ป่าซึ่งพนักงานจ้างเหมาหรือไม่ หากได้เป็นพนักงานราชการจะทำให้ค่าตอบแทนปรับขึ้นและออกตรงเวลา

รายงานจากกระทรวง ทส. ระบุว่า ได้เสนอของบกลางแล้วตามคำสั่งของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว. ทส. โดยหวังจะเสนอเข้าสู่การที่ประชุมครม. ในวันจันทร์ที่ 24 ม.ค. แต่บรรจุเข้าวาระไม่ทัน จึงคาดว่า จะเข้าสู่ที่เสนอให้ครม. พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้พิทักษ์ป่าที่ถูกเลิกจ้างและปรับลดเงินเดือนทั้งหมด

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 26/1/2565

ซาอุฯ ตั้งเป้าจัดหาแรงงาน 8 ล้านคน ป้อนธุรกิจบริการ-โรงแรม-ก่อสร้าง

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พบหารือทวิภาคีกับ Ahmad Sulaiman ALRajhi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคม ซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ณ เรือนรับรองแขกต่างประเทศ พระราชวังคิงซาอุฯ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสรุปสาระสำคัญการหารือ ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ซาอุดีอาระเบียกล่าวต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสู่ซาอุดีอาระเบีย และยินดีที่ได้มีโอกาสหารือกระชับความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างกัน

ทั้งนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบียได้ทรงมีบัญชาให้กระทรวงฯ ดำเนินการจัดการหาแรงงานดีมีฝีมือ โดยตั้งเป้าให้ได้ 8 ล้านคน ซึ่งไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และซาอุดีอาระเบียประสงค์ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวขอบคุณสำหรับการเข้าพบหารือในวันนี้ โดยการเยือนครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวไทยที่ประสงค์กลับเข้ามาทำงานในซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง ไทยมีแรงงานศักยภาพที่มีฝีมือสอดคล้องกับความต้องการของซาอุดีอาระเบีย และกระทรวงแรงงานยังมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถฝึกอาชีพ และประสบการณ์ให้ตรงกับแรงงานในสาขาที่ซาอุดีอาระเบียต้องการ รวมทั้งมีบริษัทจัดหางานที่มีความน่าเชื่อถือ จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานภายใต้การควบคุมของกระทรวงแรงงาน

ฝ่ายซาอุดีอาระเบียยังกล่าวถึงมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติในซาอุดีอาระเบีย โดยซาอุดีอาระเบียมี E-Contract Program ซึ่งเป็นการทำสัญญาจ้างอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งรักษาสิทธิของลูกจ้าง และลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง รวมถึงมีข้อริเริ่ม Labor Mobility Initiative ให้แรงงานเคลื่อนย้ายได้อิสระ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น สร้างประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข็งขันในตลาดแรงงาน

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องให้เร่งรัดความร่วมมือในอนาคต หากเร่งรัดความร่วมมือได้โดยเร็วจะสร้างผลประโยชน์อย่างมากต่อทั้งสองประเทศ ซึ่งโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาของซาอุดีอาระเบียยังคงต้องการการสนับสนุนจากต่างชาติ ทั้งในด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และด้านแรงงานจำนวนมาก เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ และแรงงานฝีมือ และกึ่งฝีมือของไทยได้เข้ามามีส่วนร่วม

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/1/2565

สยามคูโบต้า เผยแรงงานคืนถิ่นหันทำไร่ ทำนา ดันดีมานด์เครื่องจักรเกษตรพุ่ง

25 ม.ค. 2565 นายทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา ภาพรวมของตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 22% โดยปัจจัยบวกมาจากสภาพอากาศปริมาณน้ำฝนสำหรับการเพาะปลูกมีเพียงพอ ส่งผลให้ผลประกอบการของสยามคูโบต้าในปี 2564 เพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่ารวม 6.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 30%

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักของการเติบโตมาจากแรงงานคืนถิ่นกลับสู่ภาคการเกษตรเพื่อต่อยอดการทำเกษตรของครอบครัว ทำให้มีความต้องการซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้งานมากขึ้น ซึ่งสินค้าหลัก คือ กลุ่มแทรกเตอร์ และรถเกี่ยวนวดข้าว รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ซึ่งมีการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ในขณะเดียวกันราคาพืชผลทางการเกษตรอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับในปี 2565 สยามคูโบต้าตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท เนื่องมาจากในปี 2564 ที่ผ่านมาพบว่ามีแรงผลักดันจากสถานการณ์โควิด-19 งบประมาณภาครัฐที่สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรผ่านโครงการเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงยอดการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยในปีนี้เราคาดการณ์ว่า ยอดขายยังคงเติบโตเท่ากับที่ตั้งเป้าไว้เมื่อเทียบกับปี 2563 จากแนวโน้มภาคการเกษตรที่ยังอยู่ในความสนใจของเกษตรกรและผู้ประกอบการ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 25/1/2565

ครม.เห็นชอบให้ สธ.จ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจ 2,402 อัตรา วงเงิน 1,084 ล้านบาท

24 ม.ค.2565 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า วันนี้(24 ม.ค.) ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้เสนอเรื่องต่อครม. เพื่อพิจารณา ขอรับการสนับสนุนเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทาแก้ปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด โดยที่ประชุม ครม เห็นชอบ ให้กระทรวงสาธารณสุข จ้างพนักงานราชการเฉพาะกิจจำนวน 2,402 อัตรา วงเงิน 1,084 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2565

ทั้งนี้ สายงานที่ให้มีการจ้างเฉพาะกิจจำนวน 2,402 อัตรา ประกอบด้วย แพทย์ 55 อัตรา พยาบาลวิชาชีพ 950 อัตรา นักวิชาการสาธารณสุข 1,084 อัตรา เภสัชกร 9 อัตรา นักเทคนิคการแพทย์ 269 อัตรา นักรังสีการแพทย์ 6 อัตรา และ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ 29 อัตรา

ที่มา: Hfocus, 24/1/2565

เลขา ส.อุตฯก่อสร้างแนะรัฐนำแรงงานผิด กม.เข้าสู่ระบบแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกมายืนยันว่าการลักลอบเข้าไทยของแรงงานต่างด้าวส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการแรงงานในภาคการผลิตและการก่อสร้างที่ยังมีอยู่สูง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ขณะนี้ยังคงมีความต้องการแรงงานอีกไม่น้อยกว่า 200,000 - 300,000 คน

ขณะที่แรงงานข้ามชาติที่เคยเข้ามาทำงานในประเทศไทย และต้องเดินทางกลับบ้านเมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 ก็ยังไม่สามารถเดินทางกลับเข้าไทยโดยถูกต้องตามกฏหมายได้อย่างเต็มที่

“ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างได้พูดคุยถึงแนวทางแก้ไขปัญหาว่า รัฐบาลควรอนุญาตให้นำแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายและถูกกักตัวตามสถานที่ หรือศูนย์กักกันต่างๆ เข้ามาทำงานในภาคก่อสร้างก่อนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานต้องดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ส่วนค่าใช้จ่ายในการตรวจโรค หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ต้องหารือร่วมกันว่าผู้จะออกมาในลักษณะใด”

เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ยังเผยอีกว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างก็จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกี่ยวกับการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่ ส่วนกรณีที่จะเสนอให้รัฐอนุญาตให้นำแรงงานต่างด้าวที่ถูกกักตัวอยู่ในประเทศเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฏหมายนั้นได้มีการพูดคุยกันระยะหนึ่งแล้ว

เพราะผู้ที่อยู่ในอุสาหกรรมก่อสร้างต่างรอคอยแรงงานข้ามชาติที่เคยเข้ามาทำงานในประเทศให้กลับเข้ามาทำงานนานแล้ว และเมื่อสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในขณะนี้เริ่มรุนแรงขึ้น ก็อยากให้รัฐเร่งพิจารณาในสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ

“ในเร็วๆ นี้สมาคมฯ จะขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ภาครัฐเร่งหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการนิรโทษกรรมแรงงานที่อยู่นอกระบบให้ได้เข้าสู่ระบบ เนื่องจากรายได้ที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 8-9 ของ GDP” เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/1/2565

รมว.แรงงานถกผู้นำแรงงาน สั่งทีมศึกษาโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำ-ช่วยหญิงท้อง

24 ม.ค. 2565 นายสาวิทย์ แก้วหวาน ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำคณะเข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หารือเรื่องความคืบหน้าการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 492 บาท เท่ากันทั่วประเทศ และแนวทางการช่วยเหลือลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ที่กระทรวงแรงงาน โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน ทุกกลุ่มจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาในมาตรการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคแรงงานและผู้ประกอบการอยู่ได้ และภาคธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีมาตรการสำคัญๆ ทั้งด้านการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 เชิงรุก ภายใต้โครงการ “แรงงาน…เราสู้ด้วยกัน” โครงการแฟคทอรี แซนด์บ็อกซ์ (Factory Sandbox) การฉีดวัคซีนผู้ประกันตนมาตรา 33 การให้บริการทางการแพทย์รักษาโควิด-19 แก่ผู้ประกันตน การจัดหาเตียงฮอสปิเทล (Hospitel) และด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามโครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 เยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิงและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจเอสเอ็มอี บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ โดยนำเข้าแรงงาน เอ็มโอยู ภายใต้สถานการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“จากการหารือในวันนี้ ตามที่ คสรท. และ สรส.ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างนั้น ได้ให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ไปพิจารณาศึกษาในรายละเอียดถึงการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่ามีความเหมาะสม หรือเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนประเด็นแนวทางการช่วยเหลือลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมเป็นกรณีเร่งด่วนนั้น ได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้การช่วยเหลือตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป” นายสุชาติ กล่าว

ด้าน นายสาวิทย์ กล่าวว่า วันนี้ได้ติดตามความคืบหน้าการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และแนวทางการช่วยเหลือลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งขอให้กำลังใจนายกรัฐมนตรี และชื่นชมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงาน ที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และในวันนี้ก็ได้เปิดโอกาสให้เข้าพบเพื่อรับฟังสภาพปัญหาเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามความช่วยเหลือตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้แรงงานได้รับความคุ้มครองที่พึงจะได้รับ

ที่มา: มติชนออนไลน์, 24/1/2565

ไต้หวันจับแรงงานไทย ขอแฟนสาวส่ง “กุนเชียง” มาให้ ตรวจพบเชื้อ ASF

สื่อไต้หวันรายงานว่าแรงงานไทยในไต้หวัน ในเขตเฉียวโถว นครเกาสง ถูกจับกุมตัวไปสอบสวน หลังขอให้แฟนสาวที่เมืองไทยส่งกุนเชียงเข้ามาไต้หวันทางพัสดุไปรษณีย์ แต่ถูกตรวจพบเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)

กองกำลังเฉพาะกิจนครเกาสง กองพลกิจการเขตใต้ กรมตรวจคนเข้าเมืองไต้หวัน แจ้งข่าวว่า เมื่อไม่กี่วันก่อน ได้รับแจ้งจากสำนักป้องกันและกักกันโรคระบาดสัตว์และพืช คณะกรรมการการเกษตรไต้หวัน และศูนย์คัดแยกไปรษณีย์นครเกาสง ตรวจพบเชื้อ ASF ในพัสดุไปรษณีย์ที่ส่งมาจากประเทศไทย

กองกำลังเฉพาะกิจนครเกาสงติดตามและพบว่า ผู้รับพัสดุไปรษณีย์คือ นายฉาย (ในภาษาจีนเรียก อาฉาย (阿才) นามสมมุติ) แรงงานไทย เข้ามาทำงานในไต้หวันเมื่อ 9 ปีก่อน ปัจจุบันเป็นช่างที่โรงงานเหล็กในเขตเฉียวโถว นครเกาสง

นายฉายไม่สามารถกลับบ้านเกิดได้เป็นเวลา 2 ปีแล้ว เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และไม่สามารถพบแฟนสาวสาวหรือกินอาหารที่บ้านเกิดได้ แฟนสาวสาวจึงส่งผลิตภัณฑ์อาหารจากบ้านเกิดมาทางพัสดุไปรษณีย์ ได้แก่ เครื่องเทศ ปลาแห้ง กุนเชียง หมูกระจก และของใช้อื่นๆ โดยหวังว่า นายฉายจะได้กินอาหารรสชาติบ้านเกิดในช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลตรุษจีนในไต้หวัน

นายฉายสารภาพว่า แม้จะทราบว่า กรมตรวจคนเข้าเมืองไต้หวัน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จะรณรงค์อย่างต่อเนื่อง อย่านำผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากต่างประเทศเข้ามาไต้หวัน แต่ตนยังขอให้แฟนสาวส่งผลิตภัณฑ์อาหารมาทางพัสดุไปรษณีย์ แต่คาดไม่ถึงว่าจะปนเปื้อนเชื้อ ASF ด้วย

กรมตรวจคนเข้าเมืองไต้หวันจับกุมนายฉายและส่งต่อไปสำนักอัยการเขตเฉียวโถว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนให้กระจ่างว่า ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ดังกล่าวเล็ดรอดเข้ามาอาณาเขตไต้หวันหรือไม่

กองกำลังเฉพาะกิจนครเกาสงชี้ว่า แม้ว่ามนุษย์ที่บริโภคผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่มีโรค ASF จะไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากเข้าสู่ระบบบำบัดขยะจากเศษอาหาร อาจก่ออันตรายร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ของไต้หวัน หากเข้าสู่การบำบัดขยะจากเศษอาหาร

อย่างไรก็ดี สำนักป้องกันและกักกันโรคระบาดสัตว์และพืช และหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบพัสดุไปรษณีย์และสัมภาระจากต่างประเทศ และกรมตรวจคนเข้าเมืองจะระดมเจ้าหน้าที่อย่างเต็มกำลังเพื่อเยี่ยมร้านค้าที่มีชาวต่างชาติอย่างเพื่อป้องกันการระบาดของโรค ASF

กองกำลังเฉพาะกิจนครเกาสงย้ำอีกครั้งว่า หากนำผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากเขตระบาดของโรค ASF เข้ามาไต้หวัน โดยฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ ผู้รับพัสดุไปรษณีย์จะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 ล้านดอลลาร์ไต้หวันใหม่ (3.5 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ขอความร่วมมือคนไต้หวันและแรงงานต่างชาติที่คิดถึงรสชาติอาหารจากประเทศไทย อย่าขอให้ญาติสนิทมิตรสหายในประเทศไทยส่งผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ผิดกฎหมายเข้ามาไต้หวันทางพัสดุไปรษณีย์ และอย่าซื้อผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาด้วย

ที่มา: ข่าวสด, 24/1/2565

กมธ.แรงงาน วุฒิสภา เปิดเวทีระดมความเห็น ตั้ง รพ.ประกันสังคม-ธนาคารแรงงาน

23 ม.ค. 2565 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “โรงพยาบาลประกันสังคมและธนาคารแรงงาน” ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขานุการคณะกรรมาธิการการแรงงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม และประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานและศึกษาแนวทางการจัดตั้งธนาคารแรงงาน กล่าวรายงาน นายมนัส โกศล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พล.ต.ท.นพ.ธนา ธุระเจน กรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม และประธานอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงพยาบาล (รพ.) ประกันสังคม เป็นวิทยากรร่วมเวทีการสัมมนา โดยถ่ายทอดสดการสัมมนาผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์ วุฒิสภา และศูนย์ประสานงานรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ด้านแรงงาน

พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า จากปัญหาภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของโลก ภาคธุรกิจ การท่องเที่ยวการบริการ การส่งออกลดลง ภาคเอกชน ไม่กล้าลงทุนทำให้หยุดการจ้างงานใหม่เพื่อควบคุมต้นทุน สถานประกอบการจำนวนมากกำลังจะปิดตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อนายจ้าง สถานประกอบการ ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าจ้าง คนงานถูกเลิกจ้าง ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างจำนวนไม่น้อยกว่า 8.4 ล้านคน ทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบ ซึ่งแรงงานที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.06 ล้านคน ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.94 ล้านคน ผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.56 ล้านคน

พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) และเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) จึงได้ติดตามมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐในสถานการณ์ดังกล่าว เช่น มาตรการจ่ายเงินชดเชยการว่างงานแก่ผู้ประกันตน มาตรการการสนับสนุนค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคม พบว่าผู้ประกันตนจำนวนมากยังมีการกู้ยืมเงินเพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยส่วนใหญ่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดของสถาบันการเงินต่างๆ จึงหันไปกู้หนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ในส่วนการเข้ารับบริการทางการแพทย์ของผู้ประกันตนมีข้อจำกัดเนื่องจากปัจจุบันสถานพยาบาลหลักและสถานพยาบาลเครือข่ายของประกันสังคม มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับผู้ประกันตน ปัจจุบันมีสถานพยาบาลหลัก 245 แห่ง และสถานพยาบาลเครือข่าย 2,243 แห่ง อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ประกันตนกรณีติดเชื้อโควิด-19 ในระยะที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

“การสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับ รพ.ประกันสังคมและธนาคารแรงงาน พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาระบบประกันสังคมของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น” พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว

สำหรับการสัมมนาดังกล่าว มีตัวแทนผู้เข้าร่วม จำนวน 50 คน และสัมมนาผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Online) อาทิ คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงานคณะอนุกรรมาธิการด้านการจัดหางานและพัฒนาฝีมือแรงงาน คณะอนุกรรมาธิการด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คณะอนุกรรมาธิการด้านการประกันสังคม คณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานและศึกษาแนวทางการจัดตั้งธนาคารแรงงาน คณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย องค์กรนายจ้าง ลูกจ้าง สหภาพแรงงาน แรงงานนอกระบบ สถาบันการศึกษา บอร์ดประกันสังคม นักกฎหมายและนักวิชาการ เป็นต้น

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/1/2565

ก.ต่างประเทศ ปัดข่าวเกาหลีใต้เปิดประเทศรับแรงงานไทย ฟรีค่าใช้จ่าย

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวข้างต้นปรากฏออกมานั้น กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ได้ตรวจสอบข่าวดังกล่าวแล้วและยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยในขณะนี้ สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ ประจำประเทศไทย ยังคงงดการตรวจลงตรา (วีซ่า) ประเภทนักท่องเที่ยว และการเดินทางที่ไม่เร่งด่วนในทุกกรณี

สำหรับมาตรการอนุญาตเข้าเมืองของเกาหลีใต้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังเป็นไปอย่างเข้มงวด ล่าสุด ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสาธารณรัฐเกาหลี (KDCA) ประกาศว่า จะเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการเดินทางเข้าประเทศเพื่อป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศมีจำนวนสูง

นายธานี กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565 ผู้ที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้ ต้องแสดงผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่มีผลเป็นลบ ในระยะเวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และจะไม่อนุญาตให้ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศใช้บริการขนส่งสาธารณะในการเดินทางระหว่างท่าอากาศยานไปยังที่พัก/สถานที่กักตัว โดยจะต้องโดยสารรถยนต์ส่วนตัวหรือ quarantine bus/taxi/train ที่รัฐจัดสรรให้เท่านั้น โดยจะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวจนกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศจะลดลง

ปัจจุบัน เกาหลีใต้มีระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ 10 วัน โดยผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว สามารถขอรับการยกเว้นการกักตัวได้ โดยต้องมีวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้าเกาหลีใต้ เพื่อการเข้าร่วมงานศพบุคคลในครอบครัวเท่านั้น

ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 23/1/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net