ศปปส. เบิกความไม่เคยรู้ ร.10 บินไปเยอรมัน ในคดี ม.112 'เพนกวิน' ปราศรัย Mob Fest

วานนี้ในนัดสืบพยานคดีม.112 ของ "เพนกวิน พริษฐ์" จากการปราศรัยประเด็นสถาบันกษัตริย์บนเวที MobFest เมื่อ 14 พ.ย.2563 พยานจากกลุ่ม ศปปส.ขึ้นเบิกความ 2 ปาก ยืนยันที่พริษฐ์ปราศรัยเป็นการดูหมิ่น อย่างไรก็ตามช่วงทนายถามค้านพยานตอบไม่รู้ว่า ร.10 เคยอยู่เยอรมันหรือไม่และตอนให้การกับตำรวจก็ไม่ได้แสดงหลักฐานว่าที่พริษฐ์ปราศรัยเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร 

27 ม.ค.2565 เวลา 9.30 น. ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก มีนัดสืบพยานในคดีของพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ตกเป็นจำเลยจากการถูกดำเนินคดีจากปราศรัยในเวที Mob Fest เมื่อ 14 พ.ย.2563 ด้วยข้อหาหมิ่นกษัตริย์ ยุยงปลุกปั่น และจัดชุมนุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เมื่อผู้สื่อข่าว รวมถึงเพื่อนและแม่ของพริษฐ์มาติดตามแต่ทางศาลอนุญาติให้เฉพาะผู้เกี่ยวข้องในคดีเข้าห้องพิจารณาคดี ศาลอ้างว่าต้องมีผลตรวจโควิด-19 ด้วย ATK โดยมีผู้มาติดตามคดีบางคนได้นำชุดตรวจ ATK มาตรวจที่หน้าห้องพิจารณาคดี ทั้งนี้ทนายความในคดีได้ขอให้ศาลเปิดห้องเพื่อใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ให้ผู้ที่มาติดตามคดีได้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี ทนายความจึงดำเนินการหาห้องพิจารณาคดีที่ยังว่างอยู่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศาลเปิดอีกห้องให้ ทำให้การสืบพยานปากแรกเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 10.15 น.

วันนี้ศาลสืบพยานได้สองปาก เป็นพยานจากกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศปปส. คือ กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์กุล และ กนกชัญ วงศ์วรวรรณ ทั้งสองคนระบุว่าเข้าสังเกตการณ์การชุมนุมในวันนั้นด้วยกันทำให้เป็นพยานคู่ การเบิกความในช่วงเช้าของทั้งสองคนจึงเป็นการเบิกความตอบอัยการโจทก์ต่อเนื่องกันไปแล้วฝ่ายทนายความจำเลยจึงได้ถามค้านทั้งสองคนต่อในช่วงบ่าย

กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์กุล ขึ้นเบิกความตอบอัยการฝ่ายโจทก์เป็นคนแรกว่าเธอไปสังเกตการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2563 ร่วมกับสมาชิก ศปปส. คนอื่นๆ รวม 2-3 คน โดยทราบว่าจะมีการชุมนุมจากโพสต์เฟซบุ๊กในเพจของพริษฐ์ ชิวารักษ์ จึงไปติดตามสังเกตการณ์เนื่องจากเป็นประชาชนที่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ซึ่งกลุ่มนี้มีการชุมนุมที่พาดพิงถึงสถาบันจึงมีการติดตามสังเกตการณ์การชุมนุมของคนกลุ่มนี้ตลอด

กัญจ์บงกชเบิกความต่อว่าในวันนั้นเธอไปถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอยู่ที่บริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์ตั้งแต่ 9 โมงเช้าแล้วอยู่จนถึงราว 4 โมงเย็น เธอบอกว่าที่ต้องกลับก่อนเพราะตำรวจมาเตือนว่าถ้าอยู่ในบริเวณนั้นต่ออาจเกิดอันตรายได้ จึงเดินทางกลับแล้วไปติดตามการชุมนุมผ่านไลฟ์ในเฟซบุ๊กแทน

ระหว่างที่เธอสังเกตการณ์อยู่ในที่ชุมนุมพบการพูดทำนองยั่วยุปลุกปั่นและมีการแต่งกายล้อเลียนสถาบัน มีคนทยอยเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นจำนวนมากจนล้นไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

กัญจ์บงกชเบิกความว่า หลังจากเดินกลับแล้วได้มาติดตามการชุมนุมผ่านทางไลฟ์สดในเฟซบุ๊กต่อ ได้เห็นพริษฐ์ขึ้นพูดบนเวทีแล้วเธอรู้สึกว่าสิ่งที่พริษฐ์พูดนั้นเป็นการกระทำความผิดเป็นการยุยุงปลุกปั่น โจมตี จาบจ้วง ดูหมิ่นเบื้องสูง

“ฉันเป็นประชาชน ฉันทนไม่ไหว” กัญจ์บงกชแสดงความรู้สึกต่อศาลระหว่างเบิกความ

เธอเบิกความตอบอัยการต่อว่า หลังจากเหตุการณ์การชุมนุมประมาณ 2 วันตำรวจได้เชิญตัวไปให้การ ตำรวจได้ให้ดูคำถอดเทปการปราศรัยของพริษฐ์ที่ตำรวจถอดมาเธอเห็นว่าตรงกับที่ได้ยินจากไลฟ์ ซึ่งเธอเห็นว่าคำปราศรัยดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น จาบจ้วง โจมตีสถาบัน บิดเบือนข้อเท็จจริง ทั้งนี้ในการเบิกความของเธอไม่ได้อธิบายว่าข้อความที่พริษฐ์ปราศรัยนั้นไม่เป็นความจริงอย่างไร

อัยการถามกัญจ์บงกชว่าในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างไร เธอตอบว่ายังมีการระบาดอยู่และรัฐบาลก็มีการประกาศไม่ให้ออกมาชุมนุม และในการชุมนุมก็ไม่มีการวางมาตรการป้องกัน ผู้เข้าร่วมไม่สวมหน้ากาก ไม่มีการกั้นทางเข้าออกทำให้สามารถเดินเข้ามาได้จากทุกทิศทางไม่มีจุดคัดกรอง ผู้ที่มาร่วมชุมนุมไม่มีการเว้นระยะห่าง

ในช่วงทนายความจำเลยถามค้านกัญจ์บงกช ได้ถามถึงวันที่เธอไปให้การกับตำรวจว่าเป็นเมื่อใดกันแน่เนื่องจากบันทึกคำให้การของเธอระบุวันที่ไว้ว่า 8 ม.ค.2564 ไม่ใช่หลังเหตุการณ์วันหรือสองวันตามที่เธอเบิกความตอบอัยการไปในตอนต้น ซึ่งเธอยอมรับว่าเป็นตามเอกสาร

จากนั้นทนายความถามกัญจ์บงกชต่อโดยเอาเอกสารคำให้การที่เธอให้ไว้กับพนักงานสอบสวนว่าที่เธอติดใจมีเพียงข้อความเดียวคือที่ระบุว่า “ถึงมหาวชราลงกรณ์ ไม่ต้องส่งคนมาอุ้มผมไปคุยด้วย แล้วก็ไม่ต้องส่งคนมาคุยกับผมด้วย” แต่ไม่ได้ให้การถึงข้อความอื่นๆ ด้วยใช่หรือไม่ เธอตอบว่าใช่

ทนายความจึงถามกัญจ์บงกชต่อว่าเอกสารที่พนักงานสอบสวนเอาให้ดูไม่ใช่คำถอดเทปคำปราศรัยของพริษฐ์แต่เป็นเอกสารวิเคราะห์คำปราศรัยเท่านั้นใช่หรือไม่พร้อมกับเอาเอกสารที่มีลายเซนของเธอให้เธอดูว่าใช่ลายเซนของเธอหรือไม่ เธอรับว่าใช่ ทนายจึงได้ถามว่าตอนที่เธอไปให้การกับพนักงานสอบสวนไม่ได้นำไฟล์ไลฟ์สดที่ได้ดูไปมอบให้กับพนักงานสอบสวนหรือไม่ เธอตอบว่าจำไม่ได้ นอจกากนั้นเธอก็จำไม่ได้ด้วยว่าพริษฐ์พูดเป็นคนที่เท่าไหร่ นานเท่าใดด้วย

กัญจ์บงกชตอบคำถามทนายเกี่ยวกับที่เธอไปสังเกตการณ์การชุมนุมว่า เธอไปแทบทุกครั้งที่มีการจัดชุมนุมโดยจะแทรกตัวเข้าไปเพื่อดูว่ามีการพาดพิงสถาบันกษัตริย์หรือไม่ โดยในวันเกิดเหตุเธอไปกับสมาชิกอีก 3-4 คน โดยยืนห่างกัน ส่วนผู้ชุมนุมก็เห็นว่านั่งรวมกันไม่ได้อยู่ห่างกัน ทนายความจึงถามต่อว่าแล้วเธอได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุมอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เช่น การชุมนุมในเดือนตุลาคม หรือการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา 17 พ.ย.2563 เธอตอบว่าไม่ได้แต่ไปเกือบทุกชุมนุมเพื่อดูว่ามีการจาบจ้วงโจมตีสถาบันหรือไม่

เมื่อทนายความถามว่าที่เธอไปสังเกตการณ์แบบนั้นไม่กลัวการติดเชื้อโควิด-19 หรืออย่างไร เธอบอกว่าไม่กลัว แล้วการไปสังเกตการณ์กับเพื่อนก็มีการเว้นระยะห่าง และถ้ามีใครมาโจมตีสถาบันถึงจะไป

จากนั้นทนายความถามกัญจ์บงกชว่าทราบสังกัดกลุ่มที่พริษฐอยู่หรือไม่ว่าคือกลุ่มใด เธอตอบว่าไม่ทราบ แต่เขาชูสามนิ้ว ทนายความจึงถามว่าเคยเห็นลูกเสือชูสามนิ้วหรือไม่ ถ้าชูสามนิ้วแล้วจะนับเป็นกลุ่มเดียวกันหรือเปล่า เธอบอกว่าการชูสามนิ้วของลูกเสือไม่ได้มาจาบจ้วงสถาบัน

ทนายจึงถามต่อว่าแล้วพยานทราบหรือไม่ว่าใครเป็นผู้แจ้งจัดการชุมนุม พร้อมเอาเอกสารแจ้งการชุมนุมที่มีตัวแทนจากกลุ่ม Mob Fest นักเรียนเลว และเฟมินิสต์ปลดแอก แต่ไม่ปรากฏชื่อของพริษฐ์ให้เธอดู เธอตอบว่าไม่ทราบว่าใครแจ้งจัดการชุมนุม แต่ทราบว่าพริษฐ์ขึ้นปราศรัยบนเวที

จากนั้นทนายความได้ถามกัญจ์บงกชเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่กำลังดีขึ้นในช่วงนั้นว่าเธอทราบเรื่องที่รัฐบาลได้มีการประกาศให้ชุมนุมได้ถ้ามีการแจ้งจัดการชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เธอตอบว่าไม่ทราบ ทราบเพียงแค่รัฐบาลได้ประกาศห้ามชุมนุม ทนายความจึงถามว่าทราบหรือไม่ว่าเป็นประกาศฉบับที่เท่าไหร่ เธอตอบว่าจำไม่ได้

หลังจากกัญจ์บงกชตอบ ทนายความจึงนำเอกสารประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 13 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2563 ให้เธอดูพร้อมกับถามว่าทราบหรือไม่ว่าประกาศฉบับนี้ระบุว่าให้ทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ชุมนุมได้ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองและการชุมนุมเป็นไปตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เธอตอบว่าไม่รู้ว่าประกาศอะไร แต่รู้ว่ามีประกาศห้ามชุมนุม ถ้าชุมนุมได้ต้องไม่เกินกี่คนและต้องใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง

ทนายความจึงถามกัญจ์บงกชเกี่ยวกับที่เบิกความตอบอัยการว่าในการชุมนุมที่เธอเห็นว่าไม่มีการตั้งจุดตรวจ ทางเข้าออกการชุมนุม โดยนำเอกสารของฝ่ายโจทก์ที่มีภาพหลักฐานแนวรั้วเหล็กพร้อมตำรวจให้พยานดูว่า เธอตอบว่าเป็นแนวรั้วตำรวจกั้นไว้เพราะมีคนมาชุมนุมมาก ทนายความถามว่าถ้าเช่นนั้นที่เอกสารของตำรวจระบุว่าเป็นการ์ดของ Mob Fest เป็นคนเอามาวางกั้นแสดงว่าตำรวจโกหกหรืออย่างไร เธอไม่ได้ตอบคำถามนี้

ทนายความถามประเด็นการชุมนุมต่อว่าระหว่างที่กัญจ์บงกชอยุ่ในที่ชุมนุมว่าทางตำรวจก็ไม่ได้ประกาศให้ยุติการชุมนุมใช่หรือไม่ เธอตอบว่าจำไม่ได้

ทนายความถามเกี่ยวกับเนื้อหาคำปราศรัยของพริษฐ์ว่า ที่กัญจ์บงกชเบิกความตอบอัยการไปก่อนหน้านี้เห็นว่าที่พริษฐ์ปราศรัยเกี่ยวกับการที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 เดินทางไปพำนักในเยอรมันและเคยมีการเซนกฎหมายด้วยเป็นการดูหมิ่นนั้น พยานเคยรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ เธอบอกว่าไม่ทราบ ฟังแต่จากคำปราศรัย

ทนายความจึงถามกัญจ์บงกชว่าตอนที่ไปให้การกับพนักงานสอบสวนได้มีการแนบหลักฐานที่แสดงว่าความจริงในเรื่องที่พริษฐ์ปราศรัยนั้นเป็นอย่างไรแก่พนักงานสอบสวนหรือไม่ เธอบอกว่าไม่ได้ยื่นหลักฐานให้ แต่เธอเห็นว่าที่ปราศรัยนั้นเป็นการดูหมิ่นกษัตริย์

นอกจากนั้นทนายความยังได้ถามถึงประเด็นที่กัญจ์บงกชเบิกความ้วยว่าในการชุมนุมมีการแต่งตัวล้อเลียนสถาบันนั้นเธอได้ถ่ายภาพแล้วนำส่งเป็นหลักฐานแก่พนักงานสอบสวนด้วยหรือไม่ เธอตอบว่าไม่ได้ถ่าย ไว้เพราะอาจเป็นพิรุธและเกิดอันตรายกับตน

ทนายความถามกัญจ์บงกชว่าเคยทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์เคยให้ข่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ประสงค์ให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน และก่อนหน้านั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็เคยมีพระราชดำรัสว่าการใช้มาตรา 112 จะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมพระเกียรติด้วย เธอตอบว่าไม่รู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน

ทนายความถามกัญจ์บงกชต่อว่า ตำรวจเรียกเธอไปให้การในคดีนี้วันไหน เธอตอบว่าจำไม่ได้มีหลายคดี ซึ่งเธอก็จะไม่ได้แล้วว่ามีกี่คดี แต่ทุกคดีคือเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกัน ทนายความจึงถามว่าตำรวจเป็นฝ่ายมาตามไปให้การเองหรือไม่ เธอบอกว่าทางตำรวจรู้ได้อย่างไรแต่เป็นฝ่ายมาตามไปเอง

ทนายความถามกัญจ์บงกชว่าเมื่อเธอได้ยินคำปราศรัยแล้วเธอรู้สึกโกรธหรือไม่ เธอตอบว่าไม่ได้โกรธ แต่เห็นว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายและทำเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์จึงมาเป็นพยานเพราะเห็นว่ามีความผิดจริง

ทนายความถามต่อว่าแล้วทราบเรื่องประกาศที่ออกมาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2562 ห้ามไม่ให้ฟ้าหญิงอุบลรัตน์มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

“ไม่ทราบ ฉันดูแต่คนที่ดูหมิ่น จาบจ้วงสถาบัน” กัญจ์บงกชตอบทนายความ ทนายความจึงได้ถามต่อว่าที่พยานเบิกความว่าบ้านอยู่ในระแวกที่เกิดเหตุแล้วพยานได้เห็นหรือไม่ว่าที่พระบรมมหาราชวังมีการชักธงมหาราชขึ้นยอดเสาในวันที่ 8 ก.พ.2562หรือไม่ เธอตอบว่าไม่ทราบ ทนายความถามอีกว่าแล้วพยานทราบหรือไม่ว่าในหลวงอยู่ที่ไทยหรือเยอรมัน เธอก็ตอบว่าไม่ทราบอีกเช่นกัน

 

จากนั้นทนายความได้ถามกัญจ์บงกชต่อว่าทราบเรื่องที่ ส.ส.พรรคกรีนของเยอรมันเคยพูดในรัฐสภาเยอรมันประเด็นที่ในหลวงมีการใช้พระราชอำนาจในเยอรมันหรือไม่ เธอตอบว่าไม่ทราบ

กนกชัญ วงศ์วรวรรณ เบิกความตอบอัยการว่าเขาทราบว่ามีการชุมนุมครั้งนี้ผ่านทางเฟซบุ๊กของตัวเองเขาได้เห็นโพสต์ข้อความของพริษฐ์ในลักษณะเป็นการชักชวนเข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ที่บริเวณร้านแมคโดนัลด์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขาจึงไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมด้วยตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงราว 5 โมงเย็นจึงเดินทางกลับ

กนกชัญเบิกความต่อว่า ในช่วงเช้ายังไม่มีการปราศรัยกว่าจะเริ่มมีการปราศรัยก็ช่วงเย็นแล้ว ส่วนในการปราศรัยช่วงที่เขายังอยู่ในบริเวณที่ชุมนุมนั้นจะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น เขาบอกว่าจับใจความไม่ค่อยได้ จากนั้นนั้นเมื่อเขาเดินทางกลับตอน 5 โมงเย็นจึงได้ติดตามการชุมนุมต่อผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์และข่าวโทรทัศน์และมีการถ่ายทอดสดการปราศรัยของพริษฐ์

ภายหลังจากการชุมนุมได้มีตำรวจจากสน.ชนะสงครามมาเชิญเขาไปให้ปากคำที่สน.ชนะสงคราม ก็ได้เห็นคำปราศรัยที่ตำรวจถอดเทปเอาไว้แต่เขาจำไม่ได้แล้วว่าคำถอดเทปมีอะไรบาง แต่เป็นลักษณะแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นสถาบันฯ เท่าที่เขาจำได้เป็นเรื่องในทำนองที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 บินไปเยอรมัน ซึ่งเขาเห็นแล้วรู้สึกไม่สบายใจ

“ผมรักทุกพระองค์ในสถาบันอยู่แล้ว ได้ยินอย่างนี้มันรู้สึกไม่ใช่ ไม่ค่อยสบายใจ ฟังแล้วเหมือนท่านเป็นคนไม่ดี”

กนกชัญเบิกความตอบอัยการเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่า ในเวลานั้นยังมีการระบาดของโรคอยู่ แล้วรัฐบาลก้มีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ ให้ใส่หน้ากากให้ป้องกันตัวเอง ห้ามรวมกลุ่ม ซึ่งในการชุมนุมผู้ชุมนุมก็มีการรวมกลุ่มกันอยู่ตามจุดต่างๆ มีคนที่ใส่หน้ากากกันอยู่บ้าง คนที่มารวมชุมนุมมีจำนวนหลักพันแต่ไม่ถึง 5,000 คน อัยการได้ตามเขาว่ารู้สึกถึงความเสี่ยงหรือไม่เขาบอกรู้สึก

ในช่วงทนายความถามค้านพยาน ทนายความถามพยานว่าตอนนี้ทำอาชีพอะไร กนกชัญตอบว่า รับจ้างทั่วไป เคยทำรับเหมาก่อสร้าง แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีตอนนี้จึงไม่ได้ทำแล้ว แต่รับจ้างเดินไฟตามบ้าน

ทนายความถามเกี่ยวกับประเด็นขั้นตอนที่เขาไปให้การกับพนักงานสอบสวนโดยแสดงเอกสารบันทึกให้การให้เขาดู กนกชัญตอบว่าเขาไปให้การกับพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2564 พร้อมกับพยานในคดีอีกสองคนคือ กัญจ์บงกชกับยุทธ์ธนา เลิศพร้อม และให้การกับตำรวจในห้องสอบสวนเดียวกัน

จากนั้นทนายความถามต่อว่าพยานทั้ง 3 คน ทำกิจกรรมร่วมกันในนาม ศปปส. ใช่หรือไม่ แล้วในกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมดกี่คนและ ศปปส. มีการไปขึ้นทะเบียนหรือไม่ กนกชัญตอบว่าพวกเขาทำกิจกรรมร่วมกันในฐานะ ศปปส. แต่ไม่แน่ใจว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แล้วก็เป็นเพียงการรวมกลุ่มกันเฉยๆ ทั้งนี้เมื่อทนายความถามว่าสุเทพ ศิลปงาม เป็นหัวหน้ากลุ่ม ศปปส. หรือไม่ เขาตอบว่าไม่รู้จักกันและไม่ทราบด้วยว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มหรือไม่

ทนายความได้ถามถึงจุดประสงค์ของกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำการต่อต้านกลุ่มปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ เขาตอบว่าไม่ใช่ เป็นการตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องสถาบัน ทั้งนี้ทนายความกล่าวว่าคำตตอบดังกล่าวนั้นกว้างเกินไปเนื่องจากรัฐธรรมนูญระบุไว้อยู่แล้วว่าคนไทยทุกคนต้องปกป้องสถาบัน ดังนั้นวัตถุประสงค์เฉพาะของกลุ่มการต่อต้านกลุ่มที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งของกลุ่มด้วยถูกต้องหรือไม่ พยานตอบว่าถูกต้อง

ทนายความถามต่อว่าการต่อต้านดังกล่าวหมายถึง ถ้ามีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน ก็คือกลุ่ม ศปปส.จะต้องออกไปต่อต้านใช่หรือไม่ กนกชัญตอบว่าถ้าเป็นการชุมนุมที่เกี่ยวกับสถาบันทางกลุ่มก็จะออกไป แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมืองอื่นก็ไม่ได้ไป ทนายความจึงถามถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมของกลุ่มว่าคือการไปจัดชุมนุมในบริเวณที่กลุ่มเรียกร้องปฏิรูปสถาบันจัดชุมนุมใช่หรือไม่ เขาตอบว่าไม่ใช่ แต่จะเป็นสมาชิกกลุ่ม 3-4 คนไปสังเกตการณ์

ทนายความจึงถามอีกว่าการไปสังเกตการณ์ของกลุ่มที่ว่าคือการไปหาหลักฐานเพื่อจะนำมาดำเนินคดีใช่หรือไม่ กนกชัญตอบว่าไม่ใช่ แต่เป็นการไปฟังเพื่อดูว่าเหตุผลเป็นอย่างไร เป็นเรื่องถูกต้องหรือผิดกฎหมายหรือไม่ และเพื่อทราบว่าผู้ชุมนุมพูดเรื่องอะไรกัน ทั้งนี้ทางกลุ่ม ศปปส. ไม่ได้มีค่าตอบแทนให้สำหรับการไปสังเกตการณ์

ทนายความถามต่อเกี่ยวกับขั้นตอนให้การกับพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2564 กนกชัญตอบว่าเขาเป็นพยานในคดีนี้เพียงคดีเดียว ส่วนที่ให้การกับพนักงานสอบสวนมาจากการดูไลฟ์สดและการดูย้อนหลังเอาบางส่วน แต่เขาจำไม่ได้ว่าส่วนการปราศรัยของพริษฐ์นั้นดูจากการไลฟ์สดหรือดูย้อนหลัง

ทนายความได้นำเอกสารวิเคราะห์คำปราศรัยที่เป็นหลักฐานของฝ่ายโจทก์ให้กนกชัญดูแล้วถามว่าเขาจำข้อความในเอกสารได้หรือไม่ เขาตอบว่าจำได้ไม่หมด จำได้แค่คร่าวๆ

ทนายความถามถึงประเด็นที่กนกชัญตอบอัยการเกี่ยวกับข้อความในการปราศรัยที่เขารู้สึกว่าเป็นการดูหมิ่นกษัตริย์ว่าเป็นเรื่องการไปพำนักอยู่ในเยอรมันนั้น ตัวเขาเองทราบหรือไม่ว่าทั้งก่อนและหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์ส่วนใหญ่อยู่ในเยอรมัน เขาตอบว่าเขาไม่ทราบเรื่องนี้ คิดว่าท่านอยู่ในประเทศไทย และเขาเห็นว่าที่พริษฐ์ปราศรัยนั้นเป็นเรื่องเท็จ แต่เขาได้ตอบทนายอีกว่าไม่เคยไปหาข้อมูลว่าเรื่องที่พริษฐ์ปราศรัยนั้นเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร

ทนายความจึงถามว่าถ้าสมมติว่าพิสูจน์ความจริงได้ว่าในหลวงไปพำนักอยู่ในเยอรมันได้จริง สิ่งที่พริษฐ์พูดก็ไม่เป็นการดูหมิ่นบิดเบือนถูกต้องหรือไม่ กนกชัญตอบว่าใช่ ไม่เป็นความผิด

จากนั้นทนายความได้กลับมาถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่กนกชัญไปให้การกับพนักงานสอบสวนตต่อว่า เขาไปให้การที่ สน.ชนะสงครามใช่หรือไม่ และสน.อยู่ตรงไหน เขาตอบว่าไปให้การที่ สน.ชนะสงครามใกล้กับวัดชนะสงคราม

ทั้งนี้ทนายความได้เอาเอกสารคำให้การในชั้นพนักงานสอบสวนของกนกชัญให้ดูว่าเอกสารดังกล่าวระบุว่าเป็นเอกสารที่ทำขึ้นกองบัญชาการตำรวจนครบาล ถนนพิษณุโลก ทั้งนี้เขาตอบว่าเขาจำไม่ได้ เขาจำได้ว่าเป็นตำรวจจากชนะสงคราม แต่ไปให้การที่ไหนจำไม่ได้ อย่างไรก็ตามทนายความได้ย้ำว่าที่พยานบอกว่าไปให้การพร้อมกันกับอีกสองคน แต่ของกัญจ์บงกชเอกสารระบุว่าให้การที่สน.ชนะสงคราม

ทนายความในประเด็นสุดท้ายว่าในการชุมนุมที่เขาไปสังเกตการณ์มีการกั้นรั้วหรือไม่ กนกชัญตอบว่าจำไม่ได้ ทนายถามต่อว่าแล้วมีการชุมนุมที่บริเวณคอกวัวด้วยหรือไม่ เขาก็ตอบว่าจำไม่ได้อีกเช่นกัน แต่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่อยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อัยการฝ่ายโจทก์ถามติงว่า กนกชัญว่าถูกสอบปากคำที่ไหน เขาตอบว่าไม่ทราบสถานที่แต่เป็นตำรวจจากสน.ชนะสงคราม โดยการสอบปากคำทำพร้อมกับพยานอีกสองคน แต่ตำรวจที่มาสอบปากคำเป็นคนละคนแยกกัน

อัยการถามอีกว่าที่พยานบอกว่าไปสังเกตการณ์อยู่ที่บริเวณร้านแมคโดนัลด์บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พยานได้ทำอะไรบ้าง กนกชัญตอบว่าไม่ได้ทำอะไรก็ไปฟังแล้วก็เดินไปที่อื่นบ้าง อัยการจึงถามว่าเดินไปที่ไหนบ้าง เขาตอบว่าเดินไปถึงสนามหลวง แต่จำไม่ได้ว่าที่คอกวัวมีการชุมนุมด้วยหรือไม่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท