Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยเผยผลประเมินราคาที่ดินสุดแพง 10 ย่านในกทม. ‘สยาม-เพลินจิตร-ชิดลม’ ครองแชมป์ 3.3 ล้านบาท/ตารางวา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ากรมธนารักษ์ไม่ปรับราคาประเมินที่ดินย่านนี้นานแล้ว เอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ ส่วนที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า กทม.-ปริมณฑล ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ราคาพุ่งสูงสุด ขณะเดียวกัน ราคาที่ดินใน กทม. ที่พุ่งสูงขึ้นสวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงข้อเรียกร้องของกลุ่ม P-Move ที่ชี้ปัญหาถูกรัฐละเมิดสิทธิเรื่องที่ดินทำกิน-ที่อยู่อาศัย

  • ย่านสยาม-ชิดลม-เพลินจิตร ครองแชมป์ที่ดินราคาแพงที่สุดในกรุงเทพฯ มีราคาสูงถึง 3.3 ล้านบาท/ตารางวา สูงกว่าราคาที่กรมธนารักษ์ประเมินไว้หลายปีที่แล้ว (และไม่ได้รับปราคาขึ้น) ถึง 3.3 เท่า
  • ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เพิ่มสูงขึ้นที่สุด รองลงมาคือที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู (มีนบรี-ปากเกร็ด)
  • ราคาที่ดินใน กทม. และปริมณฑลสูงขึ้น 72.6 เท่าภายใน 36 ปี (พ.ศ.2528-2564) โดยราคาตกต่ำสุดช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (พ.ศ.2540) ก่อนจะค่อยๆ ดีดตัวสูงขึ้นในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ.2544-2549)
  • ราคาที่ดินใน กทม. และปริมณฑลค่อยๆ หดตัวลงอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2549 และขยับขึ้นลงไม่มากนัก จนกระทั่งหลังรัฐประหาร 2557 ขยับขึ้น 3% ขณะที่ราคาค่าก่อสร้างลดลง
  • กลุ่มพีมูฟ (P-Move) เดินหน้าเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย หลังผ่านไป 1 ปีไม่มีความคืบหน้า ด้านอนุชา นาคาศัย รับข้อเรียกร้องเตรียมนำเรื่องเข้าประชุม 31 ม.ค. นี้

โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) เปิดเผยรายงานการประเมินราคาที่ดินในกรุงเทพมหานครในปี 2565 ซึ่งคาดว่าราคาจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 5% วิเคราะห์จากจำนวนการเปิดตัวคอนโดในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว เทียบเคียงกับการวิเคราะห์ราคาที่ดินในกรุงเทพฯ ตลอด 36 ปี โดยโสภณและศูนย์ข้อมูลวิจัย AREA ระบุว่าปีนี้ย่านสยาม-ชิดลม-เพลินจิตร ครองแชมป์ที่ดินราคาแพงที่สุดในกรุงเทพฯ มีราคาสูงถึง 3.3 ล้านบาท/ตารางวา รองลงมาคือย่าน ถ.วิทยุ ราคา 2.75 ล้านบาท/ตารางวา และอันดับสามคือย่านสุขุมวิท-ไทมสแควร์ ราคา 2.73 ล้านบาท/ตารางวา

 

โสภณกล่าวว่าราคาที่ดินยังคงขยับตัวมากสวนทางกับการหดตัวของตลาดที่อยู่อาศัย โดยราคาที่ดินในปี 2564 คาดว่าขยับตัวสูงขึ้นกว่าปี 2563 ราว 4.7% แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นน้อยกว่าช่วงปี 2562-2563 ที่เพิ่มขึ้น 6.5% ทั้งนี้ในปี 2563 ผู้ประกอบการยอมลดราคาที่อยู่อาศัยในมือลงไปประมาณ 7% เพื่อเป็นการระบายสินค้าคงค้างให้ขายออกไปให้ได้ ส่วนในปี 2564 ราคาที่ดินก็ยังจะเพิ่มขึ้นแต่น้อยกว่า ทั้งนี้เพราะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวในช่วงนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบันตลาดที่อยู่อาศัยก็ยังไม่ได้ดีขึ้น ราคาที่ดินจึงยังเพิ่มขึ้นน้อยไปด้วย

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในปี 2565 ราคาที่ดินก็คงจะขยับตัวสูงขึ้นอีก เพราะการเปิดใช้งานจริงของรถไฟฟ้า ย่อมส่งผลให้มีการขยับตัวของราคาที่ดินที่ชัดเจนกว่าเดิม ยิ่งกว่านั้นสถาบันต่างๆ ล้วนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัว ดังนั้น ราคาที่ดินในปี 2565 น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 โดยโสภณคาดว่าราคาที่ดินในปี 2565 น่าจะเพิ่มขึ้นถึง 5% ทั้งนี้เป็นอานิสงส์จากรถไฟฟ้าเป็นหลัก แม้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวนักก็ตาม

สำหรับทำเลที่ดินที่มีราคาสูงสุด ก็คือพื้นที่บริเวณสยามสแควร์ ชิดลม เพลินจิต มีราคาตารางวาละ 3,300,000 บาทต่อตารางวา ถ้าปูด้วยธนบัตรใบละ 1,000 บาท ต้องปูถึงราว 9 ชั้น  รองลงมาเป็นถนนวิทยุ ซึ่งเป็นแหล่งสำนักงาน โรงแรมคุณภาพ จะเห็นได้ว่าสีลมที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน กลับมีราคาต่ำกว่าย่านสุขุมวิท-ไทมสแควร์ซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจบันเทิงและที่อยู่อาศัยราคาแพง นอกจากนี้เยาวราชซึ่งเคยเป็นศูนย์ธุรกิจในอดีต ก็มีราคาไม่ค่อยสูงมากนักเพราะที่ผ่านมายังไม่มีรถไฟฟ้า

ราคาประเมินที่แพงที่สุดของกรมธนารักษ์เป็นเงินตารางวาละ 1 ล้านบาท อยู่ในย่านสีลม-เพลินจิต แต่ราคานี้ไม่ได้ปรับมานานแล้ว อันที่จริง ตามราคาตลาดของที่ดินในกรุงเทพมหานครในบริเวณสยามสแควร์ น่าจะสูงกว่าสีลม และมีราคาตารางวาละ 1 ล้านบาทตามราคาตลาดมาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว ขณะนี้ราคาที่ดินที่แพงที่สุดเพิ่มขึ้นถึงตารางวาละ 3.3 ล้านบาทแล้ว แต่กรมธนารักษ์ยังประเมินไว้เพียง 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าที่ดินรายใหญ่ในเขตใจกลางเมืองนั่นเอง

ราคาที่ดินใน กทม. และปริมณฑลสูงขึ้น 72.6 เท่าภายใน 36 ปี

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่าราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 72.6 ในระยะเวลา 36 ปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้น 72.6 เท่าตัว เป็นปรากฏการณ์ที่อาจกล่าวได้ว่าในชาติหนึ่งจะได้เห็นสักรอบหนึ่งก็ว่าได้ หรือเท่ากับในห้วงเวลาดังกล่าว ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นปีละ 12.64% ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรืออัตราดอกเบี้ยพันธบัตร

ราคาที่ดินในช่วงแรกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คือช่วงปี 2528-2539 หรือเพียงระยะเวลา 11 ปี ราคาที่ดินพุ่งขึ้นสูงถึง 33.2 เท่า ซึ่งห้วงเวลาดังกล่าวนี้เป็นห้วงเวลาที่ไทยเปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างสมบูรณ์แบบ มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมจากประเทศญี่ปุ่นมากมาย

ที่เป็นเช่นนี้เกิดขึ้นจากข้อตกลงพลาซา (อังกฤษ: Plaza Accord) ที่บังคับให้ญี่ปุ่นและเยอรมนีเพิ่มค่าเงินของตัวเองเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2528 ผลคือ “ญี่ปุ่นและเยอรมนีสามารถซื้อหาสินค้าต่างประเทศได้ในราคาถูกลงเกือบเท่าตัว แต่ในทางตรงข้าม สินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่นในสายตาของชาวโลกกลับมีราคาแพงขึ้นเท่าตัวด้วยเช่นกัน” เมื่อภาคการผลิตในญี่ปุ่นทำผลกำไรลดต่ำลง จึงเกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าและขนส่งได้สะดวก ซึ่งก็คือกลุ่มอาเซียนโดยเฉพาะไทย

การนี้ทำให้ญี่ปุ่นย้ายการลงทุนภาคอุตสาหกรรมมาในประเทศไทยรวมทั้งประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเพื่อผลิตสินค้าส่งไปขายยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปแทนการผลิตในญี่ปุ่น เงินเยนแข็งค่าจนสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้มากมาย นับแต่นั้นมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในภาคอุตสาหกรรมของไทยก็แซงหน้าภาคเกษตรกรรมอย่างเด่นชัด และการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยนับเป็นผลพวงจากการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) โดยเฉพาะญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นถือเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุด

'ต้มยำกุ้ง' ทำราคาที่ดินตกฮวบ ฟื้นตัวช่วงรัฐบาลทักษิณ ทรุดต่อหลังรัฐประหาร 49

เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ตกต่ำลงในห้วงปี 2540-2542 จากที่เคยขึ้นสูงสุดในปี 2539 ที่ 33.2 เหลือเพียง 25.9 ในปี 2542 หรือเท่ากับลดลงปีละ -7.9% ในระยะเวลา 3 ปีดังกล่าว โดยในปี 2540 ราคาทีดินลดลง -12.6% ปี 2541 ลดลงอีก -10.8% ส่วนในปี 2542 ราคาไม่ลด-คงที่ ในห้วงเวลานี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีประสบการณ์ที่ราคาที่ดินก็ลดลงได้ หลังจากที่เชื่อมานานนับสิบๆ ปีว่าราคาที่ดินจะไม่มีทางลด

หลังจากปี 2544 เป็นต้นมา ราคาที่ดินก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยลดลงอีกเลย เพียงแต่ว่าในบางปี ราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากเศรษฐกิจดี เช่น ในห้วงปี 2547-2549 (ซึ่งต่อมามีรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย. 2549) หลังจากนั้นราคาที่ดินก็ขึ้นๆ ลงๆ ไม่มากนัก ยกเว้นหลังรัฐประหารปี 2557 ที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเพียง 3.0% ในปีถัดมา (พ.ศ.2558) เท่านั้น

ราคาที่ดินเพิ่มกระฉูดในปี 2561-2562 ณ อัตรา 7.9% และ 14.0% ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ เนื่องจากมีการเริ่มต้นก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ทำให้ราคาที่ดินทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลกระเตื้องขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในปี 2562 ที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ทั้งที่ราคาที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลง -1.5% ตามการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย และยังพบภาวะล้นตลาดของตลาดอาคารชุดอีกด้วย

เมื่อเทียบกับค่าก่อสร้างในห้วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่าราคาที่ดินในห้วงปี 2543-2563 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากดัชนี 100% เป็น 256% แสดงว่าเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 2.5 เท่า ในขณะที่ราคาค่าก่อสร้างอาคารใหม่ เพิ่มจากดัชนี 100% เป็น 172% แสดงว่าเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 1.72 เท่าเท่านั้น จึงอาจอนุมานได้ว่า ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าก่อสร้างอาคาร สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็คือ อุปทานที่ดินมีจำกัด จึงทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาสูงขึ้นมาก ในขณะเดียวกันในยามเศรษฐกิจตกต่ำ แม้ค่าก่อสร้างจะยังเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจไม่ได้มีการก่อสร้างอะไรมากนัก

อย่างไรก็ตาม หากนำผลการสำรวจในช่วงปี 2539-2543 มาเทียบด้วย กลับพบว่าราคาค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 215% ในขณะที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเพียง 202% ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าในห้วงหนึ่งในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2540-2542 ราคาที่ดินกลับตกต่ำลงอย่างหนัก เพราะพิษวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้กลายเป็นว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าที่ดิน แต่ปรากฏการณ์นั้นก็เป็นเพียงสิ่งชั่วคราวในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ในอนาคตอาจมีความผันผวนเกี่ยวกับราคาที่ดินขึ้นอีกก็ได้  แต่ในระยะปัจจุบันนี้ราคาที่ดินเติบโตไวกว่า

จะสังเกตได้ว่า ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาราคาที่ดินกลับเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาค่าก่อสร้างซึ่งค่อนข้างจะคงที่หรือหดตัวลงเล็กน้อย ที่ราคาค่าก่อสร้างหดตัวลงบ้างก็เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ดี ความต้องการเหล็กและปูนซีเมนต์มีจำกัด ราคาเหล็กไม่ขึ้น ทำให้ค่าก่อสร้างโดยรวมไม่ขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับเศรษฐกิจไทยเองกลับตกต่ำกว่าเศรษฐกิจโลก จึงทำให้ราคาค่าก่อสร้างลดลงหรือคงที่ในขณะที่ราคาที่ดินกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะการพัฒนารถไฟฟ้า ทำให้เกิดศักยภาพใหม่ๆ ราคาที่ดินจึงเพิ่มขึ้นสูงกว่า อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 กลับปรากฏว่าราคาค่าก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็กในห้วงไตรมาสที่ 1/2564 เพิ่มขึ้น 16% ทำให้ราคาค่าก่อสร้างในห้วงต่อไปจะขึ้นราคา

รถไฟฟ้าสายสีเหลืองทำราคาที่ดินย่านลาดพร้าวพุ่ง

สำหรับการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายต่างๆ พบว่ารถไฟฟ้าสายที่เพิ่มมูลค่าได้สูงสุดก็คือสายสีเหลืองที่กำลังก่อสร้างผ่านย่านชุมชนที่หนาแน่นโดยเฉพาะตาม ถ.ลาดพร้าว และจุดตัดบางนา-ตราด และเทพารักษ์ โดยราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.7% รองลงมาคือรถไฟฟ้าสายสีชมพู (มีนบุรี-ปากเกร็ด) ที่การก่อสร้างคืบหน้ามาก จึงมีการเพิ่มขึ้นของราคาเฉลี่ย 11.7% อย่างไรก็ตามเส้นนี้ผ่านชุมชนที่ไม่หนาแน่นนัก และราคาอาจไม่ “ไปต่อ” มากนักในอนาคต  ในทางตรงกันข้าม จะเห็นได้ว่ารถไฟฟ้าสายแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ที่ไม่มีการจัดรูปที่ดินโดยรอบพื้นที่ มีราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเพียง 4.4% ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ ราคาที่ดินก็เพิ่มขึ้นเพียง 4.7% ในช่วงปีที่ผ่านมาเท่านั้น

จะสังเกตได้ว่าราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นมากนั้นเกิดขึ้นจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าเป็นสำคัญ  ทั้งนี้เพราะราคาที่ดินทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.7% เท่านั้น  การเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของไทยที่อาจไม่แข็งแกร่งนัก  แต่เพราะการพัฒนาสาธารณูปโภคนั่นเอง ทั้งนี้ได้สร้างการเก็งกำไรมากขึ้นด้วย  อย่างไรก็ตามราคาที่ดินที่พุ่งกระฉูดในบางเส้นก็อาจลดต่ำลงในอนาคตเช่นเดียวกับกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งมีการสร้างโครงการอาคารชุดเพื่อการเก็งกำไรกันมากมาย

โสภณ เสนอว่ารัฐบาลควรให้แต่ละท้องถิ่น ประเมินราคาที่ดินเอง ถ้าประเมินได้น้อยก็เก็บภาษีได้น้อย ไม่พอใช้จ่าย แต่ถ้าประเมินสูงเกินจริง ประชาชนก็จะไม่ยอมรับ ท้องถิ่นจะต้องพยายามประเมินให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สุดเพื่อให้เก็บภาษีได้พอเพียงกับค่าใช้จ่ายในท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด กระบวนการอุทธรณ์ราคาประเมิน ตรวจสอบราคาเพื่อความโปร่งใสก็จะเกิดขึ้น  ลำพังการส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง หรือใช้ข้าราชการสวนภูมิภาคไปประเมินอาจได้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้

โสภณ พรโชคชัย
 

ราคาที่ดินเขตเมืองพุ่งสูง แต่ปัญหาละเมิดสิทธิที่ดินทำกิน-อยู่อาศัยยังไม่ได้รับการแก้ไข

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ (P-MOVE) แถลงข่าวประกาศปักหลักชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ตั้งแต่ 20 ม.ค. เป็นต้นไป หลังชุมนุมครั้งสุดท้ายเมื่อ มี.ค. 64 ที่ต่อสู้เรียกร้องจนได้บันทึกข้อตกลงการแก้ไขปัญหารายกระทรวง แต่ก็ยังไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหารายกรณี และเชิงนโยบายได้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่รัฐบาลเปิดให้มีการเจรจาทางช่องทางออนไลน์

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟ ได้แถลง 12 ข้อเรียกร้องเชิงนโยบายทั้งหมด อาทิ การเดินหน้าโฉนดชุมชน การผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับปัญหาป่าไม้และที่ดิน การทบทวนพระราชบัญญัติป่าชุมชน พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 การแก้ปัญหาที่ดินการรถไฟ การผลักดันแนวทางธนาคารที่ดินตามเจตนารมณ์การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ กรณีกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจแม่สอด และกรณีปัญหาการละเมิดสิทธิชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี เป็นต้น โดยทุกประเด็นต้องนำขึ้นสู่การเจรจาและเข้าสู่คณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบเท่านั้น

ต่อมา วันที่ 23 ม.ค. 2565 กลุ่มพีมูฟได้ประกาศยกระดับการเคลื่อนไหว และส่งสารไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟมาเป็นเวลาหนึ่งปี แต่ที่ผ่านมาเข้าร่วมประชุมแก้ไขปัญหากับพีมูฟเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น นอกนั้น เป็นการมอบหมายตัวแทน ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมานั้นจนถึงวันนี้ที่ปรากฏภาพของพีมูฟกลับมาชุมนุมอีกครั้ง สะท้อนชัดว่าปัญหาทั้งหมดนั้นแทบจะไม่ได้รับการแก้ไขให้มีความคืบหน้าแต่อย่างใด พร้อมกันนี้ กลุ่มพีมูฟได้เพิ่มข้อเรียกร้องทั้งหมดจากเดิม 12 ข้อ เป็น 15 ข้อ ได้แก่

  1. เดินหน้าแนวทางการจัดการที่ดินแบบโฉนดชุมชน ยืนยันหลักสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร
  2. เร่งออก พ.ร.ฎ.นิรโทษกรรมคดีคนจนอันเกิดจากกฎหมายและนโยบายของรัฐ เช่น คดีทวงคืนผืนป่า คดีในที่ดินเอกชน
  3. ทบทวนเนื้อหากฎหมายป่าไม้ที่กระทบชุมชนที่อยู่มาก่อน ได้แก่ พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
  4. เดินหน้าแก้ปัญหาที่ดินการรถไฟทับซ้อนที่ดินชุมชน รวมทั้งปัญหาคดีความและการไล่รื้อ
  5. เดินหน้ากฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง
  6. ปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ด้วยแนวนโยบายธนาคารที่ดิน
  7. พัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้ชาวบ้าน
  8. ตั้งคณะทำงานติดตามนโยบายโฉนดชุมชนและนิรโทษกรรมคดีคนจน
  9. เยียวยาปัญหาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก
  10. แก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภท
  11. ตั้งคณะกรรมการเดินหน้าแนวทางคุ้มครองสิทธิชาติพันธุ์
  12. ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และยุติคดีทั้งหมด
  13. แก้ไขปัญหาสิทธิสถานะบุคคล
  14. เดินหน้ารัฐสวัสดิการ
  15. แก้ไขปัญหาโครงการอ่างเก็บน้ำกระทบชุมชน

กลุ่มพีมูฟระบุเพิ่มเติมในแถลงการณ์ว่า “ข้อเรียกร้องทั้งหมดของพีมูฟเป็นข้อเรียกร้องเชิงนโยบายจากพี่น้องเครือข่ายทั่วประเทศ ถ้าเราอยู่ในสังคมที่เป็นระบอบประชาธิปไตย และรัฐบาลมองพวกเราเป็นคน คงไม่ปรากฏข้อเรียกร้องจากพวกเรามากมายขนาดนี้ พวกเราคงยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุขบนผืนดินที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และผืนดินแห่งจิตวิญญาณของพวกเรา ไม่ใช่ต้องมานอนกลางดินกินกลางทรายอยู่บนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร แล้วต้องมาเรียกร้องสิทธิที่ควรจะมีติดตัวตั้งแต่กำเนิด”

ต่อมาช่วงเช้าววันที่ 25 ม.ค. 2565 กลุ่มพีมูฟเดินทางไปยื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ (UN) ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน หลังจากนั้นได้ตั้งขบวนเพื่อเดินไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยตำรวจตั้งแนวลวดหนามกั้นถ.พิษณุโลกหน้า โรงเรียนราชวินิตมัธยม ทำให้ตั้งแต่ 11.20 น.ที่ผ่านมากลุ่มดังกล่าวยังคงปักหลักอยู่บนท้องถนน เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปยื่นร่างมติ ครม. ภาคประชาชนได้ โดยมีข้อเรียกร้องแรกในขณะนี้ที่จะเปิดเงื่อนไขการเจรจาคือ รื้อแนวลวดหนามดังกล่าวออกทั้งหมด

ล่าสุด วันนี้ (28 ม.ค. 2565) โพสต์ทูเดย์รายงานว่าอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟทั้ง 15 ข้อ โดยประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและผู้แทนกลุ่มพีมูฟ ที่ประชุมรับทราบข้อเรียกร้องของกลุ่มพีมูฟทุกกรณี และรับทราบความคืบหน้าในการดําเนินการแก้ไขปัญหา ของคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการฯ และรับทราบข้อเสนอแนะจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการและส่วนราชการที่เกี่ยงข้อง รับประเด็นข้อเสนอของกลุ่มพีมูฟไปพิจารณาเร่งรัดดําเนินการต่อไป ทั้งนี้ จะได้นําผลการประชุมหารือฯ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการฯ ในวันที่ 31 ม.ค. 2565 เพื่อพิจารณาต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net