Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตลอดระยะเวลา 18 ปีของสถานการณ์ “ไฟใต้” รัฐไทยนำกฎหมายความมั่นคงมาใช้เป็นพิเศษในการควบคุมพื้นที่ อันได้แก่ กฎอัยการศึก และ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่มีการต่ออายุทุกๆ สามเดือน ควบคู่ไปกับการใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา

เมื่อมีการปิดล้อมตรวจค้น หน่วยงานความมั่นคง (ทหาร) มักบอกว่าเป็นไปเพื่อค้นหาบุคคลผู้ต้องสงสัย อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก หากในการปิดล้อมนั้นมีการปะทะกัน จนนำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัย ทหารก็จะเรียกสิ่งนี้ว่า “การเข้าบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่”

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เกิดการปะทะอันนำมาสู่การวิสามัญฆาตกรรมอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งกรณีล่าสุดที่บ้านบาโงระนะ หมู่ 5  ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 28 และ 29 มกราคม 2565

ภายหลังเสียงปืนที่บ้านบาโงระนะเงียบลง ก็ได้มีเสียงสะท้อนที่เป็นข้อกังวลขึ้นอย่างกว้างขวางจากผู้ที่ได้ลงเยี่ยมพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ตัวแทนพรรคการเมือง ส.จ. ภาคประชาสังคม/ภาคประชาชน ฯลฯ ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นต้องหยิบข้อกังวลเหล่านี้มาอภิปรายในที่นี้ เพื่อที่ผู้ปฏิบัติการด้านความมั่นคงจะได้ทราบและนำไปปรับปรุงแก้ไข กล่าวคือ  

1. จากการรายงานของสื่อต่างๆ พบว่า ในระหว่างการปิดล้อมจนเกิดการปะทะนั้น ทหารได้นำบุพการีของผู้ต้องสงสัยมาเกลี้ยกล่อมเพื่อให้ผู้ต้องสงสัยยอมมอบตัว แม้อาจจะมองได้ว่านี่คือวิธีการที่ละมุนละม่อมหวังจะให้บุตรเชื่อฟังพ่อแม่ แต่ข้อกังวลและกังขาจากฝ่ายต่างๆ ก็คือ พ่อและแม่ถูกกดดัน บังคับ หรือถูกทำให้ตกอยู่ในความหวาดกลัวจนต้องมาทำตามสั่งเช่นนี้หรือไม่


ที่มาภาพ: แค็ปฯ จากคลิปในเพจ"ศูนย์ประชาสัมพันธ์
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า - เพจใหม่"

2. ทางการเผยแพร่คลิปที่ทหารเสี่ยงอันตรายช่วยกำบังพ่อและแม่ของผู้ต้องสงสัยขณะที่มีการยิงสาดกระสุน  ข้อกังวลและกังขาจากฝ่ายต่างๆ ก็คือ ทำไมทหารจึงต้องนำตัวพ่อและแม่ของผู้ต้องสงสัยไปอยู่ในจุดที่เสี่ยงต่ออันตรายจากการปะทะกันอย่างยิ่ง อีกทั้งปัญหาการสื่อสารข้อความจากฝั่งทหารกับฝั่งผู้ต้องสงสัย ก็อาจทำให้ผู้ต้องสงสัยไม่ทราบว่ามีใครยืนอยู่อีกฝั่งหนึ่งบ้าง ทั้งนี้ เมื่อคลิปได้เผยแพร่สู่สาธารณะก็ทำให้ทหารมีความชอบธรรมในการวิสามัญฆาตกรรมมากขึ้นเนื่องจากดูเหมือนว่าผู้ต้องสงสัยยิงออกมาโดยไม่สนใจใครเลยแม้แต่พ่อแม่ตนเอง


ที่มาภาพ: แค็ปฯ จากคลิปในเพจ"ศูนย์ประชาสัมพันธ์
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า - เพจใหม่"

3. หลังการวิสามัญฆาตกรรม ในวันเดียวกันทหารจัดการแถลงข่าวออกสื่อ โดยนำพ่อและแม่ของผู้เสียชีวิตมาร่วมการแถลงข่าว โดยทหารได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องทำการวิสามัญฆาตกรรม  ข้อกังวลและกังขาจากฝ่ายต่างๆ ก็คือ ทหารได้คิดบ้างไหมว่าการกระทำเช่นนี้จะกระทบต่อจิตใจของพ่อแม่และญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตขนาดไหน โดยการแถลงข่าวดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่ศพบุตรชายของพวกเขายังไม่ได้ประกอบพิธีทางศาสนา

4. การนำศพผู้ต้องสงสัยที่ถูกวิสามัญฆาตกรรรมออกจากที่เกิดเหตุเพื่อนำไปประกอบพิธีทางศาสนาเป็นไปอย่างล่าช้า ในศาสนาอิสลามนั้นการฝังศพไม่ควรเกิน 24 ชั่วโมงหลังการเสียชีวิต  ข้อกังวลและกังขาจากฝ่ายต่างๆ ก็คือ กระบวนการตรวจสอบศพหรือการชันสูตรของเจ้าหน้าที่สามารถทำให้เร็วกว่านี้ได้ไหม  

5. แม้ผู้ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมจะถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธหรืออาจมีหมายจับของศาล แต่บุคคลอื่นในครอบครัวของเขาไม่ได้เป็นผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา คนในครอบครัวคือผู้บริสุทธิ์ และยังคงเป็นพลเมืองที่รัฐต้องคุ้มครองดูแล เจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรกระทำการให้พวกเขาต้องเกิดปมด้อย ถูกตีตรา รัฐควรให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อเยียวยาจิตใจพวกเขาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าในการวิสามัญฆาตกรรมหลายๆ กรณีที่ผ่านที่มาเกิดความกังขา เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการมักอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานแจ้งแก่ผู้จะถูกจับและให้ทำการจับตัวถ้าจำเป็น และมาตรา 68 ที่ว่าด้วยการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายในป้องกันตนเองหรือผู้อื่นจากการประทุษร้าย ซึ่งทั้งสองมาตรานี้ยังมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน และขาดความรัดกุม จนทำให้การวิสามัญฆาตกรรมน่าเคลือบแคลงสงสัยอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น สมควรอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองและรัฐสภาต้องทำการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อนำมาสู่การตรวจสอบที่ถูกต้องและเป็นธรรมในกรณีที่มีปฏิบัติการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่จนถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรมีข้อกฎหมายเฉพาะที่ว่าด้วยขั้นตอนในการวิสามัญฆาตกรรมที่ต่างจากข้อกฎหมายว่าด้วยการป้องกันตัวเองทั่วไปตามกฎหมายอาญา

ที่สำคัญในพื้นที่ชายแดนภาคใต้นอกเหนือจากการใช้กฎหมายอาญา ยังคงต้องพิจารณาและคำนึงถึงข้อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศด้วย นั่นคือ กฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับวิธีการทำสงครามและการปฏิบัติต่อพลรบและพลเรือนอย่างมีมนุษยธรรมในระหว่างการทำสงคราม โดยมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญ 5 หลัก ได้แก่ 1) หลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือน (Principle of Distinction) 2) หลักการความได้สัดส่วน (Proportionality) 3) หลักการเตือนภัยก่อนการโจมตี (Precuation) 4) หลักความจำเป็นทางทหาร (Military Necessity) และ 5) หลักมนุษยธรรม (Humanity) ทั้งนี้ ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ. 1949 ในเรื่องดังกล่าวแล้ว  ประกอบด้วย 1) อนุสัญญาเจนีวาเพื่อให้ผู้บาดเจ็บและป่วยไข้ในกองทัพในสนามรบมีสภาวะดีขึ้น ลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949 (Geneva Convention for the Amelioration of the Condition of the Wounded and Sick in Armed Forces in the Field of 12 August 1949) และ 2) อนุสัญญาเจนีวาเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลพลเรือนในเวลาสงคราม ลงวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1949 (Geneva Convention Relative to the Protection of Civilian Persons in Time of War of 12 August 1949)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ทวีศักดิ์ ปิ มีตำแหน่งเป็น "ผู้ช่วยผู้ปฎิบัติงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประจำตัว พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" 

 

ภาพปก: ภาพที่เกิดเหตุ จากเพจ "ข่าวความจริง สามจังหวัดภาคใต้" ซึ่งเพจนี้ทหารบอกว่าเป็นเพจไอโอของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net