Skip to main content
sharethis

ก.แรงงาน ย้ำอย่าหลงเชื่อนายหน้าเถื่อนแอบอ้างพาไปทำงานซาอุฯ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า จากการร่วมคณะกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย และได้มีการเจรจาหารือ เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานไทยได้เดินทางไปทำงาน ซึ่งทางการของซาอุดีอาระเบียให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยที่ซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานจากต่างชาติเข้าไปทำงานถึง 8 ล้านคน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดส่งแรงงาน ในส่วนของประเทศไทย กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มีการพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ หากได้ข้อสรุปก็จะมีการลงนามระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม แห่งซาอุดีอาระเบีย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์

“การดำเนินการเพื่อให้เกิดการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานซาอุดีอาระเบีย เป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญมาก เพราะถือเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย และแรงงานไทยจำนวนมากที่ต่างรอคอยการเดินทางไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทำให้มีกลุ่มมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสหลอกลวงคนหางานว่าสามารถพาไปทำงานต่างประเทศได้ โดยกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้กำลังระบาดมากแถบภาคเหนือและอีสาน ซึ่งล่าสุดได้สั่งการกรมการจัดหางานประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการหลอกลวงดังกล่าวในทุกช่องทาง”

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 ได้มอบหมาย นายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ประชุมการเตรียมความพร้อมในการจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย และแนวทางป้องกันการหลอกลวง รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องกลวิธีที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้หลอกลวงประชาชนคนหางาน ร่วมกับกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กองบริหารแรงานไทยไปต่างประเทศ สำนักงานจัดหางานจังหวัดภาคเหนือและสำนักงานจัดหางานจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัด โดยเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน จะลงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการถูกหลอกลวงสูง เพื่อให้คำแนะนำ และชี้แจงให้ความรู้กับประชาชนที่สนใจการไปทำงานต่างประเทศ และผู้นำท้องถิ่นให้มีความเข้าใจขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง ทราบถึงกลวิธีการหลอกลวงของกลุ่มผู้หลอกลวงคนหางาน โดยเป็นการสร้างแนวร่วมระหว่างชุมชนกับหน่วยราชการเพื่อทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลให้ แก่ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนสอดส่องดูแล แจ้งข้อมูล เบาะแส พฤติการณ์ของสาย / นายหน้าเถื่อน

โดยกรมการจัดหางานขอยืนยันว่าขณะนี้ข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย ยังอยู่ระหว่างการร่วมกันพิจารณาจากทั้ง 2 ประเทศ โดยกรมการจัดหางานได้ประสานสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อขอทราบรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงาน ประเภทงาน ระดับทักษะฝีมือ และคุณสมบัติเบื้องต้นของแรงงานที่นายจ้างซาอุดีอาระเบียมีความต้องการ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานได้เตรียมความพร้อมตนเอง และได้มอบหมายให้จัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดการประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่คนหางานในเขตพื้นที่รับผิดชอบและประสานหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพและทักษะฝีมือแก่คนหางานในการรองรับความต้องการของนายจ้างในซาอุดีอาระเบีย พร้อมทั้งเปิดช่องทางรับลงทะเบียนแรงงานไทยที่สนใจไปทำงานในซาอุดีอาระเบียผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th

ทั้งนี้ขอให้คนหางานติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางานอย่างใกล้ชิด ทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th/prd และอย่าได้หลงเชื่อผู้แอบอ้างว่ามีเส้นสายกับกรมการจัดหางานสามารถพาไปทำงานประเทศซาอุฯได้ โดยวิธีที่แรงงานไทยสามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมายมี 5 วิธี ได้แก่ 1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง

ที่มา: สยามรัฐ, 4/2/2565

เครือข่ายผู้ใช้แรงงานจี้ประกาศวันเลือกตั้งบอร์ด สปส. ภายใน มิ.ย. 2565

3 ก.พ. 2565 ที่กระทรวงแรงงาน นายธนพงศ์ เชื้อเมืองพาน ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง น.ส.ธนพร วิจันทร์ ผู้แทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน พร้อมด้วย กลุ่มผู้ใช้แรงงานจ.สระบุรี, สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรม สิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์เครื่องหนังแห่งประเทศไทยและตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 39 มาตรา 40 กว่า 50 คน หอบโหลยาดอง “บอร์ดประกันสังคม” เป็นสัญลักษณ์ไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือถึง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ขอให้เร่งจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หลังถูกดองมานานตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมชูป้ายข้อความ อาทิ หยุดดอง! เร่งจัดเลือกตั้ง บอร์ดประกันสังคม แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคม ควรมีสิทธิเลือกตั้งบอร์ด เป็นต้น

นายธนพงศ์ กล่าวว่านับตั้งแต่การประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2558 ซึ่งในมาตรา 8 ได้กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้มาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนสัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพของคนพิการและผู้ด้วยโอกาสสำหรับเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง แต่ต่อมามีคำสั่ง คสช.ที่ 40/2558 แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ชุดใหม่ โดยให้ชุดเก่าหยุดปฏิบัติงาน พร้อมกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 วันที่ 9 ก.ค. 2562 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จัดทำระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ให้เสร็จใน 2 ปี จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนามเห็นชอบระเบียบฯ และได้ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น ดังนั้น เครือข่ายผู้ใช้แรงงานจึงต้องทวงถาม และเรียกร้อง ดังนี้

1.ให้เร่งกำหนดวันและประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งบอร์ด สปส.ภายในเดือนมิถุนายน 2565 ให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ประกาศเมื่อ 8 ก.ย. 2564 2.ให้แก้ไขกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย มีสิทธิเลือกตั้งทั้งนายจ้างและผู้ประกันตน การกำหนดไว้ในข้อที่ 16 ย่อมขัดแย้งกับหลักการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 8 วรรคสาม ได้ เพราะ พ.ร.บ.ประกันสังคม ไม่มีข้อกำหนดสัญชาติไทยไว้ ขณะที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เป็นนายจ้างและผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบโดยเท่าเทียมกัน 3.ให้แก้ไขกำหนดสัดส่วนผู้แทนผู้ประกันตนสอดคล้องกับจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, และ 40 4.ให้แก้ไขการกำหนดให้มีหน่วยเลือกตั้งจังหวัดละ 1 หน่วย ในข้อ 14 ให้สอดคล้องเหมาะสมตามสัดส่วนผู้ประกันตนที่มีในแต่ละจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการใช้สิทธิของผู้ประกันตน และ 5.ควรจัดให้มีการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลือกตั้ง

ด้าน น.ส.ธนพร กล่าวว่าเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ที่ไม่ได้มีการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ให้เป็นไปตามกฎหมาย แม้กระทั่งมีการออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การเลือกตั้งฯ แล้วเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้งออกมา ขณะที่บอร์ดชุดปัจจุบันเหลือสัดส่วนภาคประชาชนเพียง 2 คน เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทราบมาว่ามีแนวโน้มที่รัฐมนตรีว่าการแรงงานจะใช้หลักการสรรหาและแต่งตั้ง ซึ่งกลับไปอยู่ในระบบที่ล้าหลัง เครือข่ายแรงงานไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการสืบทอดอำนาจเช่นนี้ จึงเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเร่งประกาศวันเลือกตั้ง ให้สิทธิผู้ประกันตน 1 สิทธิ 1 เสียง ในการเลือกผู้แทนของตัวเองเข้าไปเป็นบอร์ด รวมถึงควรปรับแก้กฎหมายให้สิทธิผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการเลือกตั้งด้วย เพราะผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติก็จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเช่นเดียวกัน ก็ควรมีสิทธิในการเลือกผู้แทนของตัวเอง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/2/2565

ไปทำงานซาอุฯ เช็กข้อมูลที่ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

3 ก.พ. 2565 ว่านายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดแรงงานสำคัญ ในอดีตมีแรงงานไทยไปทำงานจำนวนหลายแสนคน และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศไทยจำนวนมหาศาล ซึ่งประเทศนี้กำลังมีความต้องการแรงงานในหลายตำแหน่ง

จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมการรองรับส่งแรงงานไทยไปประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยเร่งพัฒนาทักษะพร้อมทั้งดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาอาชีพซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการ

“รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ สามารถปรับตัวให้ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลง สอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการสร้างโอกาสให้แก่แรงงานไทยไปทำงานในตลาดต่างประเทศ”

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ได้เรียกประชุมหน่วยงานทั่วประเทศผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้เตรียมความพร้อมฝึกทักษะแรงงานไทยป้อนตลาดแรงงานซาอุดีอาระเบีย เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น เดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย พร้อมกับเจรจาเปิดตลาดแรงงาน ซึ่งซาอุดีอาระเบียมีความต้องการแรงงานฝีมือคนไทยเป็นจำนวนมาก

“ขณะนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว เตรียมความพร้อมทั้งด้านหลักสูตรฝึกอบรม สถานที่เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ โดยหลักสูตรที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานดำเนินการฝึกจะเน้นเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การใช้วัสดุอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า รวมถึงทักษะด้านภาษา

ทั้งนี้ ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ พร้อมเตรียมเปิดฝึกอบรมได้ทันที ทั้งด้านความรู้ ทักษะฝีมือในสาขาหรือตำแหน่งงานที่จะไปทำงาน รวมถึงการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ก่อนไปทำงานต่างประเทศ เพื่อให้ได้รับค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่มีมาตรฐานและเป็นธรรม เน้นบูรณาการข้อมูลความต้องการตำแหน่งงานกับกรมการจัดหางาน เพื่อดำเนินการฝึกได้ตรงกับความต้องการในต่างประเทศ”

ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 3/2/2565

มติเห็นชอบแรงงานต่างด้าวตาม MOU ที่จ้างงานครบ 4 ปี ในปี 2565 อยู่และทำงานในไทยต่อได้ไม่ต้องกลับประเทศ

2 ก.พ. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 1/2565 มีมติเห็นชอบการดำเนินการเพื่อให้แรงงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ในปี 2565 สามารถอยู่และทำงานได้ต่อไป โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ

ทั้งนี้จะต้องรอความยินยอมจากประเทศต้นทาง เนื่องจาก MOU นั้นเป็นสนธิสัญญา รูปแบบหนึ่ง ซึ่งในเบื้องต้นผู้แทนทั้ง 3 ประเทศ (เมียนมา กัมพูชา ลาว) เข้าใจสภาพสถานการณ์และไม่ขัดข้อง โดยจะมีหนังสือแจ้งให้ทราบผ่านช่องทางการทูตโดยเร็วที่สุด

คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 106,580 คน เป็นแรงงานสัญชาติกัมพูชา 26,840 คน ลาว 25,504 คน และเมียนมา 54,236 คน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมีความเข้าใจ และเห็นใจนายจ้างและสถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินการตามขั้นตอนที่เคยปฏิบัติต้องเพิ่มความระมัดระวัง และเพิ่มขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของสาธารณสุข ทั้งฝั่งประเทศต้นทางและประเทศไทย ทำให้การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายในประเทศเกิดความไม่ราบรื่น และอาจส่งผลให้นายจ้าง/สถานประกอบการขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ

อย่างไรก็ดีมาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนภายในประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ต่างให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานเป็นระยะเวลา 2 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 2 ปี รวมแล้วเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี ในภาวะปกติเมื่อครบกำหนดแล้วแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้จะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง หากต้องการกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกครั้งจะต้องดำเนินการนำเข้าแรงงานตาม MOU

แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อขั้นตอนเดิมไม่สามารถดำเนินการได้ จึงมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน มหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ และสาธารณสุข ซึ่งมีการเห็นชอบในหลักการการดำเนินการเพื่อให้แรงงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ในปี 2565 สามารถอยู่และทำงานได้ต่อไป โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ

“ทันทีที่ประเทศต้นทางตอบรับ เราก็พร้อมที่เสนอต่อ ครม. และเมื่อมีการอนุมัติ กระทรวงมหาดไทยจะออกประกาศอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานอีก 6 เดือน นับจากวันที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง เพื่อให้แรงงานต่างด้าวดำเนินการตามขั้นตอนจนได้ใบอนุญาตทำงานและสามารถอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”

ขั้นตอนขอใบอนุญาตทำงานและสามารถอยู่ในประเทศไทยมีดังนี้

1. ตรวจสุขภาพ เพื่อนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นขออนุญาตทำงาน

2. ขออนุญาตทำงานต่อนายทะเบียน โดยกรมการจัดหางาน จะออกใบอนุญาตทำงานให้ตามระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี

3. ขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อทำงาน ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด

4. จัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานมีมาตราการดูแลแรงงาน 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา ลาว) ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการดำเนินการปรับเปลี่ยนระเบียบ นโยบาย หรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อสอดรับกับสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนายจ้าง/สถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน พร้อมกับควบคุมป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเสนอ ครม. เพื่อความเห็นชอบ ดังนี้

1.มติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ โดยให้นายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้แรงงาน 3 สัญชาติ กว่า 4 แสนรายได้รับอนุญาตทำงาน

2.มติ ครม. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่แล้ว หรือเคยได้รับอนุญาตทำงาน แต่ไม่สามารถดำเนินการขอใบอนุญาตทำงานตามขั้นตอนปกติเนื่องจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานได้ต่อไปถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หรือ 2 ปี นับแต่วันที่การอนุญาตเดิมสิ้นสุด รวมทั้งขยายเวลาการหานายจ้างจาก 30 วัน เป็น 60 วัน ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานกว่า 1 แสนคน ช่วยแก้ปัญหาให้นายจ้างที่ขาดแคลนแรงงาน และลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก

3.มติ ครม. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการตรวจสถานที่ก่อสร้าง สถานประกอบการ โรงงาน และสถานที่ทำงาน เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว เป็นระยะเวลา 30 วัน เก็บตกแรงงาน 3 สัญชาติ ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

โดยจะบันทึกข้อมูลนายจ้างและแรงงานต่างด้าว กำหนดวันนัดหมายให้นายจ้างมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนแรงงงานต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เพื่อเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย และได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี

นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าวสามารถสอบทางข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1–10 สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/2/2565

ก.แรงงาน ชง ครม.ออก 3 ทางเลือกนำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อนบรรเทาภาระผู้ประกันตน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ไขกฎหมายให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถนำเงินชราภาพที่เก็บสะสมไว้ออกมาใช้ก่อนครบกำหนดเกษียณอายุ ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันมีเงินสะสมรวมราว 1.7-1.8 ล้านล้านบาท

รูปแบบของการนำเงินชราภาพออกมาใช้จะมี 3 ทางเลือกด้วยกัน คือ 1. “ขอเลือก” หากไม่อยากได้บำนาญหลังเกษียณ แต่อยากได้เงินไปลงทุนในกิจการของตัวเอง ก็สามารถขอเป็นเงินบำเหน็จแทนได้ หรือจะรับเป็นบำนาญตามเดิมก็ได้ 2. “ขอคืน” กรณีเกิดวิกฤติรุนแรง เช่น สถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกันคนสามารถขอคืนเงินส่วนหนึ่งไม่เกิน 30% โดยไม่เสียดอกเบี้ย เนื่องจากยังคงนโยบายให้เก็บส่วนที่เหลือไว้เป็นเงินยามชราภาพ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาการออกระเบียบในเรื่องนี้ 3. “ขอกู้” โดยสามารถนำเงินที่เก็บสะสมไว้มาเป็นหลักประกันในการขอเงินกู้ เช่น นำไปปิดบัตรเครดิต เพื่อลดค่าใช้จ่ายภาระดอกเบี้ยลง

“เตรียมนำเสนอให้ ครม.พิจารณาภายในเดือนนี้ ระหว่างรอการแก้ไขกฎหมายชราภาพที่จะขยายเป็น 60 ปี…ตรงนี้ต้องแก้ก่อน” นายสุชาติ กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 2/2/2565

สอศ. เตรียมประสานกระทรวงแรงงาน ส่งออกอาชีวะรองรับความต้องการแรงงานของซาอุฯ

1 ก.พ. 2565 นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดิอาราเบีย และได้ร่วมหารือถึงนโยบายตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030 (Saudi Vision 2030) ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก จึงจำเป็นต้องมีการก่อสร้างโรงแรม อาคารต่างๆ และความต้องการแรงงานจำนวนมากนั้น ในเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมความพร้อมสนับสนุนแรงงานฝีมือเด็กอาชีวศึกษาอย่างแน่นอน เพราะเรามีนักศึกษาที่เรียนจบในสาขาที่เกี่ยวข้องและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในประเทศซาอุดิอาราเบียเช่นเดียวกัน โดยตนจะประสานกับกระทรวงแรงงาน เพื่อดูว่าจะมีผู้เรียนสายอาชีพของ สอศ.สาขาวิชาใดบ้างที่จะส่งไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาราเบีย

“ทั้งนี้เท่าที่ผมรับทราบข้อมูลการบริหารจัดการการท่องเที่ยว พบว่า ประเทศซาอุดิอาราเบียต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยแรงงานที่ประเทศซาอุฯ ต้องการมี 3 ระดับ คือ 1.แรงงานฝีมือ กลุ่มนี้เป็นแรงงานที่มีทักษะสูง เช่น วิศวกรก่อสร้าง เงินเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนบาทต่อเดือน 2.แรงงานกึ่งฝีมือ เช่น ช่างเครื่องจักร โฟร์แมนในการควบคุมการก่อสร้าง เชฟปรุงอาหาร เป็นต้น กลุ่มนี้จะมีเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 บาทต่อเดือน แต่มีสวัสดิการ มีอาหาร มีประกันสุขภาพ ประกันชีวิต มีที่อยู่อาศัย เงินเดือนเหลือเก็บ และแรงงานไร้ฝีมือ”เลขาฯ กอศ.กล่าว

ที่มา: ไทยโพสต์, 1/2/2565

ไทยนำเข้าแรงงานกัมพูชามาทำงานตาม MOU วันแรกคึกคัก เริ่มพื้นที่ จ.สระแก้ว เกือบ 200 คน

1 ก.พ. 2565 ที่ด่านผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว นายปริญญา โพธิสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว มอบหมายให้ นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นประธาน ร่วมกับ นายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารแรงงานฯและกงสุลใหญ่กัมพูชาประจำประเทศไทย ตรวจเยี่ยมการอนุญาตให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา เข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ครั้งที่ 1 และให้คำแนะนำการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายหลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ดำเนินการตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้บริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความต้องการแรงงานของนายจ้างและสถานประกอบการภายในประเทศ โดยกระทรวงแรงงานได้เปิดให้นายจ้างยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายจ้างที่มีความพร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหาสถานที่กักตัวยื่นดำเนินการนำเข้าแรงงานตาม MOU กลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาในวันนี้ คือบริษัท พนัสโพลทรี่ กรุ๊ป จำกัด จ.ชลบุรี ที่ขออนุญาตนำเข้าแรงงานกัมพูชา จำนวน 185 คน จากจำนวนที่แจ้งไว้ทั้งหมด 226 คน แบ่งเป็นสถานประกอบการอยู่ในจังหวัดชลบุรี จำนวน 220 คน และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีก 6 คน

ทั้งนี้สำหรับการยื่นขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว จากบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว หรือ Name List โดยนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานสัญชาติกัมพูชาดังกล่าว มีสถานที่ทำงานและสถานประกอบการอยู่ในจังหวัดชลบุรี นำเข้าเป็นรายแรกคือ บริษัท พนัสโพลทรี่ กรุ๊ป จำกัด จ.ชลบุรี ซึ่งแรงงานทั้งหมด ภายหลังเดินทางผ่านด่านควบคุมโรคระหว่าประเทศ ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว และกักตัวในสถานที่กักกันรูปแบบเฉพาะองค์กร (Organization Quarantine) ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ที่อาคารอินโดจีน Grand Residence ศูนย์ OQ บริษัท สุวรรณภูมิอินเตอร์เฮลท์เมด จำกัด แบ่งเป็น กลุ่มแรงงานที่ต้องกักตัว 7 วัน ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จากประเทศต้นทาง และมีการซื้อกรมธรรม์ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาล ซึ่งคุ้มครองการรักษาโรคโควิด-19 เมื่อครบกำหนดจะให้นายจ้างรับไปยังสถานประกอบการได้ทันที ส่วนแรงงานที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม จะต้องกักตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

ขณะเดียวกัน นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเดินทางลงพื้นที่มารับตัวแรงงานกลุ่มดังกล่าวด้วยตนเอง กล่าวว่า แรงงานทั้งหมดที่ขออนุญาตไว้มีจำนวน 226 คน แต่เดินทางเข้ามาวันนี้เพียง 184 คน เป็นชาย 96 คน หญิง 88 คน ซึ่งจะต้องส่งไปยังสถานที่กักตัวในรูปแบบเฉพาะองค์กร หรือศูนย์ OQ บริษัท สุวรรณภูมิอินเตอร์เฮลท์เมด จำกัด ตั้งอยู่ที่ 555/554 หมู่ที่ 7 ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีจำนวนห้องพัก 200 ห้อง สามารถรองรับผู้กักตัวสูงสุด 500 เตียง มีค่าใช้จ่ายในการกักตัว 7 วัน จำนวน 8,500 บาทต่อคน มีรถของสถานกักตัวรับตัวจากด่านมาที่พัก พร้อมบริการอาหาร 3 มื้อ ในส่วนคนต่างด้าวหากยังฉีดวัคซีนไม่ครบ กระทรวงแรงงานจะเป็นผู้จัดหาวัคซีน และฉีดให้ระหว่างการกักตัวด้วย ดังนั้น นายจ้างหรือสถานประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย สามารถขออนุญาตผ่านกรมการจัดหางานเพื่อนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับในประเทศได้ตาม MOU อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะดำเนินการไปจนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 1/2/2565

ครม.ให้ ‘กระทรวงแรงงาน’ ปรับสูตรคำนวณบำเหน็จชราภาพ กรณีผู้ประกันตนที่รับบำนาญเสียชีวิต

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้รับเงินบำเหน็จชราภาพในกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิรับบำนาญชราภาพ ให้ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.ผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย เป็น “จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน” ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท โดยได้รับมาแล้ว 20 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทของผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จชราภาพ ตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนด คือ 5,250 x (60-20) = 210,000 บาท จากเดิมจะได้รับ 5,250×10 = 52,500 บาท

2.บุคคลซึ่งถูกงดการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนและความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงด้วยเหตุเสียชีวิต หากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนครั้งสุดท้าย ก่อนกลับเขาเป็นผู้ประกันตน เป็น “จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน” ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท และได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว 20 เดือน ต่อมากลับเข้ามาทำงาน เงินบำนาญชราภาพดังกล่าวจะถูกงดจ่าย และเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทของผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จชราภาพ ตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนด คือ 5,250 x (60-20) = 210,000 บาท จากเดิมจะได้รับ 5,250×10 = 52,500 บาท

3.กำหนดให้ผู้รับบำนาญชราภาพอยู่ก่อนกฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับและรับบำนาญชราภาพมาแล้วยังไม่ครบ 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจนครบ 60 เดือน และในกรณีรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว และจำนวนเดือนเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย

น.ส.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุมให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของกระทรวงการคลัง และสำนักงานงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการ และให้ส่งร่างกฎกระทรวงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/2/2565

ครม.ผ่านร่างกฎ ก.แรงงาน ให้สถานประกอบการบางประเภท ต้องมี จนท.ความปลอดภัย

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นกลไกในการกำกับดูแลและบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญ อาทิ

1. กำหนดสถานประกอบการที่ต้องดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงนี้ในบัญชีท้าย โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สถานประกอบการตามบัญชี 1 เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น สถานประกอบการตามบัญชี 2 เช่น อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น และสถานประกอบการตามบัญชี 3 เช่น โรงรับจำนำ โรงถ่ายทำภาพยนตร์ สนามกีฬา เป็นต้น

2. กำหนดประเภทและระดับของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้ (1) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยตำแหน่ง มี 2 ระดับ ได้แก่ ระดับหัวหน้างาน และระดับบริหาร (2) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยหน้าที่เฉพาะ มี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคชั้นสูง และระดับวิชาชีพ โดยเจ้าหน้าที่แต่ละประเภทและระดับต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

3. นายจ้างของสถานประกอบการ ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น (1) สถานประกอบการตามบัญชี 1 ที่มีลูกจ้าง 2 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพอย่างน้อย 1 คน (2) สถานประกอบการตามบัญชี 2 ที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 100 คน ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคชั้นสูงอย่างน้อย 1 คน (3) สถานประกอบการตามบัญชี 3 ที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไป ต้องจัดให้ลูกจ้างระดับหัวหน้างานทุกคนได้รับการฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน

4. นายจ้างของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างจำนวน 50 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มี คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ โดยมีอำนาจหน้าที่ เช่น จัดทำนโยบายด้านความปลอดภัย จัดทำแนวทางป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน เป็นต้น

5. นายจ้างของสถานประกอบการตามบัญชี 1 และสถานประกอบการตามบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจานวน 200 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีหน่วยงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

6. นายจ้างต้องนำรายชื่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน และผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไปขึ้นทะเบียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งประเทศไทย สภาสถาบันการศึกษาและเครือข่ายวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ไปพิจารณาดำเนินการด้วย โดยในลำดับต่อไป จะส่งร่างกฎกระทรวงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 1/2/2565

ปั้นเยาวชนนอกระบบการศึกษา 1.5 แสนสู่ "แรงงานฝีมือ"

มูลนิธิซิตี้ และ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน (Aspiring Hospitality Workers of Tomorrow Initiative) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และโอกาสสามารถเข้าถึงการอบรมเสริมทักษะ และงานที่มั่นคงในภาคการโรงแรม อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นภาคธุรกิจหลักของประเทศไทย

โดยได้รับความร่วมมือจาก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กลุ่มโรงแรมชั้นนำ ได้แก่ โรงแรมคอนราด โรงแรมฮิลตัน สุขุมวิท และโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สุขุมวิท ทั้งยังได้คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ช่วยพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่เหมาะสม ถูกต้องตามหลักการ และตรงต่อความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ โครงการฯ ยังได้ช่วยเสริมความพร้อมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยใช้หลักสูตรที่พัฒนาโดย Kenan Micro and SME Academy แหล่งรวมความรู้และทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ทักษะด้านการตลาดออนไลน์ แนวคิดพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้ทางการเงิน เพื่อให้กลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นได้รับการเตรียมความพร้อมให้ได้รับการจ้างงานที่มีคุณภาพ และเพิ่มประสบการณ์การทำธุรกิจออนไลน์ให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางอาชีพทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และในอนาคต

ซึ่งในปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้จัดกิจกรรมรวมทั้งสิ้น 32 ชั่วโมง มีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 340 คน แบ่งเป็น พนักงานโรงแรมระดับเริ่มต้นและอดีตพนักงานโรงแรมที่ถูกเลิกจ้าง 171 คน และนักศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 169 คน โดยโครงการฯ ได้ดำเนินการมาจนถึงระยะสิ้นสุดโครงการในปีที่ 2

โดยเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 เฉลิมพงษ์ บุญรอด รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวในงานเสวนาในหัวเรื่อง “เสริมทักษะ สู่งาน สร้างเยาวชน” จัดโดย มูลนิธิซิตี้ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย (คีนัน) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ถึงนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนำประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำของคนทุกระดับในสังคม

ซึ่งได้มอบหมายให้ กระทรวงแรงงาน ภายใต้การนำของนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการประกอบอาชีพโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

"เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักที่กระทรวงแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ความสำคัญมาโดยตลอด และตระหนักดีถึงความท้าทายที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ ในแต่ละปี ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังการจบการศึกษาภาคบังคับถึงปีละประมาณ 150,000 คน ซึ่งนักเรียนเหล่านี้ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” เป็นจำนวนมาก"

"หากได้มีการบูรณาการช่วยเหลือเพิ่มทักษะด้านอาชีพที่เหมาะสมตามความต้องการของตลาดแรงงาน หรือแนวโน้มการประกอบอาชีพของยุคสมัยก็จะช่วยให้นักเรียนดังกล่าวมีฐานะเป็น “แรงงานมีฝีมือ” อันจะทำให้มีรายได้ ค่าจ้างที่สูงขึ้น และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนรุ่นใหม่และครอบครัวให้ดีขึ้นได้”

“โครงการเตรียมความพร้อมแก่เยาวชนเพื่อก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานถือเป็นโครงการตัวอย่างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยการเสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคปัจจุบัน เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นโครงการนี้ ยึดแนวทางการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เนื่องจากการพัฒนาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่สามารถดำเนินได้สำเร็จลุล่วงโดยราชการเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด” เฉลิมพงษ์ กล่าว

สำหรับ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ดำเนินงานในประเทศไทยมานาน 25 ปี ทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้แก่ผู้รับประโยชน์กว่า 3 ล้านคน ทั้งเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก สมาชิกชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐ นักการศึกษา นักเรียน และกลุ่มผู้ขาดโอกาส

“ม.ล.ปุณฑริก สมิติ” คณะกรรมการบริหารมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เผยว่า ในปีนี้ ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของคีนันที่ได้ทำการเปิดตัว Kenan Micro and SME Academy แหล่งรวมความรู้และทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย และผู้ที่สนใจทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ทักษะด้านการตลาดออนไลน์ แนวคิดพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการ และความรู้ทางการเงิน ซึ่งล้วนเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญสำหรับอนาคต

ด้าน “วันวิสาข์ โคมินทร์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ตัวแทนมูลนิธิซิตี้ กล่าวเพิ่มเติมว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่คือทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมและนับวันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น จากปัญหาการเข้าถึงตลาดแรงงานของคนรุ่นใหม่ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิซิตี้เห็นถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือเยาวชนนานาประเทศเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว

จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในมากกว่า 80 ประเทศ ภายใต้กรอบแนวคิดริเริ่ม Pathway to Progress โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการว่างงานในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยการเสริมพลัง เสริมประสบการณ์การทำงานและความรู้ทางการเงิน บ่มเพาะพื้นฐานความคิดแบบผู้ประกอบการ รวมถึงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเอื้ออำนวยให้กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถสร้างอนาคตที่ปรารถนาได้ด้วยตนเอง เพื่อประโยชน์ของตัวเยาวชนและครอบครัว รวมถึงมีบทบาทขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับชุมชน

ด้าน “วิลสา พงศธร” เจ้าหน้าที่ฝ่ายการพัฒนาวัยรุ่น องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เผยว่า การจ้างงานในช่วงโควิด-19 พบว่า เด็กจบใหม่กว่า 3 แสนคนตกงาน ขณะเดียวกัน กลุ่มเด็กเปราะบางที่สุด โดยเฉพาะเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา นอกระบบการจ้างงาน หรือการพัฒนาทักษะ สถิติล่าสุด พบว่า กลุ่มดังกล่าวอายุระหว่าง 15-24 ปี มีกว่า 1.4 ล้านคน คิดเป็น 15%

ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นวาระเร่งด่วน โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมสูงวัยเสี่ยงต่อการขาดแรงงาน ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่วัยใส เยาวชนหญิงมากกว่าชาย รวมถึงลูกหลานแรงงานข้ามชาติ เด็กที่เคยก้าวพลาด หรือบ้านฐานะยากจน ซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบใดๆ ไม่มีทักษะในการหางานทำ ดังนั้น จะมีมาตรการอย่างไรในการช่วยเหลือเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา พัฒนาทักษะให้ประกอบอาชีพได้ ซึ่งก่อนอื่นต้องแก้ที่ต้นทางก่อนจะหลุดออกไป แต่การที่ออกมาแล้วจะดึงกลับไปเป็นเรื่องท้าทาย ต้องบูรณาการช่วยเหลือทั้งรัฐเอกชน เพื่อดึงเด็กเหล่านี้มาเสริมทักษะ

วิลสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ยูนิเซฟมีการวิจัยทั้งกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ พบว่า การแนะแนวอาชีพเป็นปัญหา จากการฟังเสียงสะท้อนเยาวชน การเข้าถึงความรู้ในเรื่องความต้องการของตลาดแรงงานยังไม่เพียงพอ การเข้าถึงการฝึกอาชีพ ต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังนั้น ต้นทางก่อนออกจากระบบต้องส่งเสริมการแนะแนวอาชีพทั้งในและนอกระบบการศึกษา ดึงผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบหลักสูตรใช้ในโรงเรียนและควรเริ่มตั้งแต่อนุบาลหรือชั้นประถมฯ การที่มาทำในช่วงมัธยมฯ ถือเป็นช่วงรอยต่อที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ดังนั้น ต้องเริ่มเร็วเพื่อให้เขารู้ว่าจะไปทางไหนได้บ้าง

“อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กหลุดมาแล้วทำอย่างไร ในเรื่องการส่งเสริมการศึกษาทางเลือก ทักษะทางเลือก รับรองทักษะเพื่อจะได้ทำงานได้ หากจะกลับมาที่กลุ่มเด็กเปราะบางสิ่งสำคัญมาก คือ ทำอย่างไรให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการอบรมเสริมทักษะ และผู้ประกอบการก็ต้องได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ภาครัฐอาจต้องสนับสนุนกลไกให้รับเด็กเหล่านี้มาฝึกงานและการผลักดันทักษะที่สามารถถ่ายโอนได้ เช่น การแก้ปัญหา เจรจาต่อรอง มีวินัย ทำงานร่วมกับคนอื่น หรือต้องการสนับสนุนเพิ่มเติมหรือไม่” วิลสา กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 31/1/2565

"ศิริกัญญา" แจง "สุชาติ" ปมส่งออกแรงงาน ชี้เข้าใจคลาดเคลื่อน

30 ม.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้ตอบโต้ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ที่ออกมาระบุ ว่า“การส่งแรงงานไปประเทศซาอุดีอาระเบีย จะสะท้อนวิกฤตการสมองไหล” ผ่านเฟซบุคของนายสุชาติ ปรากฎว่าต่อมาน.ส.ศิริกัญญา ได้เข้ามาตอบคอมเมนท์ ว่า

" สิ่งที่คุณสุชาติเขียนถึงอาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ถ้าอ่านเนื้อข่าวสักนิดจะรู้ว่าสิ่งที่ดิฉันสื่อสาร คือ

1.การฝันว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานในต่างประเทศอาจไม่ได้มากขนาดนั้น เพราะประเทศซาอุดีอาระเบียก็มีปัญหาเรื่องการว่างงานและนโยบาย Saudization จะมุ่งเน้นการจ้างคนในประเทศมากขึ้น

2.หน้าที่ของรัฐบาลคือ คำนึงถึงสิทธิแรงงาน เพื่อดูแลสิทธิและความปลอดภัยของแรงงานไทยในต่างแดนด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องทำงานควบคู่กันไป

ยินดีที่คุณสุชาติให้ความสนใจสิ่งที่ดิฉันให้สัมภาษณ์ ก็ขอให้ช่วยดำเนินการสิ่งที่รัฐบาลต้องทำในเรื่องของการดูแลสิทธิแรงงงานด้วยนะคะ"

ที่มา: สยามรัฐ, 30/1/2565

ศาลฎีกาฟินแลนด์จำคุกนายจ้าง 1 ปี 10 เดือน ฐานค้ามนุษย์แรงงานไทย 26 คน

เว็บข่าวเฮลซิงกิไทมส์ รายงานเมื่อ 28 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมาว่าศาลฎีกาของฟินแลนด์ พิพากษาลงโทษจำคุกเจ้าของธุรกิจรายนี้เป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน เมื่อ 26 ม.ค. 2565 เป็นการเพิ่มโทษขึ้นจากศาลชั้นอุทธรณ์ที่ลงโทษ 1 ปี 4 เดือน

ศาลยังลงโทษฐานความผิดฉ้อโกงอย่างร้ายแรงและละเมิดกฎหมายขยะมูลฝอย พร้อมสั่งให้ชดใช้แก่เหยื่อเป็นเงิน 2 แสนยูโร (7.4 ล้านบาท)

ศาลมีความเห็นต่างกันในเบื้องต้นว่า การกระทำความผิดนี้ ควรนับความผิดค้ามนุษย์เป็นหนึ่งกระทงหรือหลายกระทง อย่างไรก็ตาม ศาลอ่านคำพิพากษาว่า จากหลักการการตีความของกฎหมาย การละเมิดสิทธิที่กระทำต่อปัจเจกบุคคล ต่อชีวิต สุขภาพ อิสรภาพ สิทธิการกำหนดตัวเองเรื่องเพศ หรือการได้รับเกียรติ ความผิดจึงแยกเป็นการกระทำต่อเหยื่อ 26 คน ต่างกรรมต่างวาระกัน

สำหรับแรงงานกลุ่มนี้ เป็นแรงงานตามฤดูกาลที่ทำงานเก็บผลเบอรรี่ป่าและเห็ดให้กับบริษัทเป็นเวลาประมาณ 3 เดือนในปี 2559

เฮลซิงกิไทมส์ ระบุว่า แรงงานมีสภาพความเป็นอยู่ที่ศาลระบุว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ พวกเขาต้องใช้แรงงานเพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับนายจ้าง ก่อนที่จะได้รับเงินเดือนค่าจ้างจากการทำงานจริง

"การกระทำนี้ส่งผลให้เหยื่อแทบไม่ใช้เงินเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานได้ระหว่างที่อยู่ในฟินแลนด์ คนเก็บเบอร์รี่ต้องทำงานติดต่อกันหลายวันโดยไม่มีโอกาสได้มีวันหยุด" ศาลระบุ

ศาลระบุด้วยว่า ค่าจ้างที่แรงงานเหล่านี้ได้รับ ไม่เป็นไปตามในสัญญาที่ตกลงไว้กับเจ้าของธุรกิจและตัวแทนหางาน นอกจากนี้พวกเขายังถูกยึดหนังสือเดินทางและตั๋วเครื่องบินไว้กับพนักงานของบริษัท

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เฮลซิงกิ รายงานความเคลื่อนไหวในคดีเมื่อวันที่ 28 ม.ค. เช่นกัน โดยระบุว่า เมื่อปี 2559 ผู้ประกอบการฟินแลนด์รายหนึ่งได้จ้างแรงงานคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ในที่ดินของตนที่ตั้งอยู่ภาคกลางของฟินแลนด์ โดยมีแรงงานไทยรวมทั้งสิ้น 200 คน แต่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการชาวฟินแลนด์และแรงงานไทยจำนวน 26 คน เนื่องจากผู้ประกอบการฟินแลนด์ให้ข้อมูลเท็จและเอาเปรียบจากการที่แรงงานไม่มีสถานะทางกฎหมายและต้องพึ่งพาตนเอง แรงงานทั้ง 26 คน จึงได้นำเรื่องยื่นสู่ศาลชั้นต้นเมือง Vaasa

เมื่อปี 2561 ศาลชั้นต้นเมือง Vaasa ได้พิจารณาตัดสินคดีดังกล่าวในความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นจำนวน 26 กระทง โดยให้จำคุก 26 ปี 8 เดือน แต่รอการลงโทษและห้ามผู้ประกอบการประกอบธุรกิจและจ่ายค่าสินไหมทดแทนเหยื่อค้ามนุษย์เป็นจำนวนมากกว่า 200,000 ยูโร

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยรายหนึ่งกล่าวกับบีบีซีไทยว่า คดีนี้นับเป็น คดีค้ามนุษย์ที่มีโจทก์มากที่สุดในฟินแลนด์เมื่อเริ่มฟ้องคดีในขณะนั้น และเป็นเหยื่อชาวไทยที่เดิมถูกเอารัดเอาเปรียบแต่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้อง

ต่อมา เมื่อปี 2562 ศาลอุทธรณ์เมือง Vaasa พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนค่าสินไหมทดแทนและห้ามประกอบธุรกิจ แต่คำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนโทษจำคุก เนื่องจากเห็นว่า ผู้ประกอบการฟินแลนด์กระทำความผิดฐานค้ามนษย์เพียงกรรมเดียว แต่มีเหยื่อรวมเป็นจำนวน 26 ราย

ที่มา: BBC Thai, 30/1/2565

'สุชาติ' สวนกลับ 'ศิริกัญญา' แนะมองให้รอบด้าน ประเด็นส่งแรงงานไปซาอุฯ

30 ม.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ค โดยฝากข้อความถึง ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า

"ฝากนำเรียนไปถึงคุณศิริกัญญา ครับ"

การส่งออกแรงงานไปประเทศซาอุฯ เป็นทางเลือกหนึ่งของในการประกอบอาชีพของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาการว่างงาน ส่งเสริมการมีงานทำ ให้มีทางเลือกของพี่น้องประชาชนคนไทย

การออกไปทำงานต่างประเทศ ไม่เพียงแค่ส่งเงินกลับมา แต่เป็นการนำวิทยาการ ทักษะฝีมือ ในเทคโนโลยีใหม่ๆกลับมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศด้วย

การบริหารประเทศ เราควรมองในภาพใหญ่ว่าจิ๊กซอว์แต่ละตัวต่อกันอย่างไร ไม่น่าเชื่อว่า ความคิดของ คุณศิริกัญญา มองแคบไปในประเด็นนี้ น่าเสียดายจริงๆ กับสิ่งที่คุณเรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์มา น่าจะคิดได้มากกว่านี้นะครับ

ที่มา: ไทยโพสต์, 30/1/2565

"ศิริกัญญา" ชี้ ฟื้นตลาดแรงงานซาอุฯ สะท้อนวิกฤตสมองไหล

ศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองว่าการจ้างงานแรงงานต่างชาติ 8 ล้านอัตราดูเป็นการขายฝัน เพราะที่ประเทศซาอุดีอาระเบียก็มีปัญหาเรื่องการว่างงานถึง 11-12% ประกอบกับนโยบาย Saudization ที่เน้นการจ้างคนในประเทศมากขึ้น จึงเป็นเรื่องแปลกที่เราจะฝากความหวังไว้ ทั้งที่เขาจะบูสการจ้างงานของคนในประเทศด้วยซ้ำ แม้จะมีความต้องการแรงงานต่างชาติอยู่บ้าง แต่คงไม่ถึง 8 ล้านอัตรา เพราะตอนนี้ในซาอุดีอาระเบียมีการจ้างงานต่างชาติอยู่แล้วถึง 10.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะส่งเสริมให้คนออกไปทำงานในต่างประเทศ นอกจากการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว รัฐบาลต้องคำนึงถึงสิทธิแรงงาน เพื่อดูแลสิทธิและความปลอดภัยของแรงงานไทยในต่างแดนด้วย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศต้องทำงานควบคู่กันไป

ทั้งนี้ ศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าตรงที่ภาครัฐเองยังคิดว่าเราจำเป็นต้องส่งแรงงานไปต่างชาติเพื่อให้ชีวิตเขาดีขึ้น แต่เราไม่สามารถหางานที่ดี เพื่อให้เขามีชีวิตที่ดีในประเทศได้ และถ้าเราไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดแรงงานที่ดีที่ทำให้คนอยากทำงานและอาศัยต่อ มันจะเกิดการสมองไหล คนที่เรียนมาระดับหนึ่งแล้วรู้สึกว่าไม่มีตลาด ไม่มีงาน ไม่มีอนาคต ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ได้อยากออกไปทำงานเป็นแรงงานในซาอุดีอาระเบีย แต่เป็นคนที่มีความมุ่งมั่นที่อยากออกไปตามหาความฝันของตัวเอง

ด้านหนึ่งก็เป็นสิทธิของแรงงานเองที่จะตัดสินเลือกไปทำงานอยู่ต่างประเทศเพราะค่าแรงที่แพงกว่า แต่การไปทำงานต่างประเทศก็มีข้อเสียหลายอย่าง โดยเฉพาะการดูแลสิทธิแรงงาน ถึงว่าในประเทศไทยเองจะไม่ได้มีการคุ้มครองแรงงานที่ดีมากนัก แต่อย่างน้อยแรงงานยังสามารถต่อรองกับนายจ้างได้

ขณะเดียวกันการส่งเงินกลับมาประเทศ (Remittance) คิดเป็นแค่ 1.3% ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงเท่ากับหลายประเทศเช่น ฟิลลิปปินส์ ดังนั้นระบบการชำระเงินจากต่างประเทศก็ยังไม่พัฒนา และหากเราต้องพึ่งพาเงินที่ส่งมาจากแรงงานในต่างประเทศก็เหมือนการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศที่รับแรงงานไปทำงาน ถ้าเศรษฐกิจประเทศนั้นมีวิกฤต เศรษฐกิจในประเทศไทยก็จะวิกฤตไปด้วย เหมือนที่เราเคยเจอบทเรียนจากการพึ่งพาเงินจากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจในประเทศเปราะบาง โจทย์คือต้องทำให้เศรษฐกิจในประเทศแข็งแรง มีตลาดแรงงานที่เหมาะสมในกับแรงงานในประเทศก่อน

“เยาวชนเติบโตมาก็ไม่มีความหวัง เขาก็ต้องฝันที่จะออกไปหางานทำต่างประเทศ เราจะอยู่ในสังคมแบบไหน แบบที่เรารู้ตัวว่าไม่สามารถทำงานในประเทศ และอยู่กับครอบครัวได้ แต่ถ้าพวกเขาต้องไปทำงานต่างประเทศ แล้วเศรษฐกิจในประเทศก็จะไม่แข็งแรง ถ้ายังพึ่งพาการทำงานเพื่อส่งเงินกลับมาจากต่างประเทศ แล้วถ้าประเทศเหล่านั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจในประเทศก็จะพังไปด้วย เหมือนที่เราพึ่งการท่องเที่ยว เป็นหลักทำให้เศรษฐกิจในประเทศก็จะเปราะบางไปด้วย”

เราต้องรักษาทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้เหล่านี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ โดยเริ่มจากการตลาดแรงงานในประเทศให้มีงานที่เหมาะสมและเพียงพอก่อน เช่น เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่พูดกันมานาน แต่รัฐบาลก็พยายามโบ้ยให้คนอื่น เช่น คณะกรรมการไตรภาคีซึ่งรัฐก็เป็นหนึ่งในภาคีนั้น เราต้องทำให้ตลาดแรงงานของไทยมีความเข้มแข็ง มีการคุ้มครองทั้งนายจ้างลูกจ้าง และปรับสภาพการทำงานให้เหมาะสม ซึ่งตอนนี้พรรคก้าวไกลเองก็ยื่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ในหลายเรื่อง เช่น การลาคลอด 180 วันทั้งพ่อและแม่ หรือการลดชั่วโมงแรงงานตามกฎหมายลงไปเพื่อให้แรงงานมีเวลาพักผ่อนหรือพัฒนาตัวเอง หรือนโยบาย9k,สนธิสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อให้แรงงานรับจ้างอิสระจัดตั้งสหภาพเพื่อต่อรองกับนายจ้างหรือคู่สัญญาได้

ที่มา: Sanook, 29/1/2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net