Skip to main content
sharethis

สัดส่วนคนมีคู่ในญี่ปุ่นลดลงมาในรอบหลายปี ยิ่งการพบรักในขณะทำงานยิ่งมีน้อย จึงเกิดแอปพลิเคชันหาคู่เฉพาะพนักงานที่บริษัทต้นสังกัดออกค่าสมัครให้ เป็นอีกหนึ่งสวัสดิการในการสร้างสมดุลการใช้ชีวิตและการทำงาน


ในญี่ปุ่นมีแอปพลิเคชันหาคู่เฉพาะพนักงานที่บริษัทต้นสังกัดออกค่าสมัครให้ | ที่มาภาพ: Aill goen

  • ญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่คนหนุ่มสาวจะแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัวนั้นลดน้อยลงเรื่อยๆ
  • ผลสำรวจบริษัทจัดหาคู่พบว่าคนที่มีคู่มีจำนวนน้อยที่พบรักในที่ทำงานเดียวกัน/เกี่ยวข้องกับงาน
  • สตาร์ทอัพแห่งหนึ่งได้พัฒนาแอปพลิเคชันหาคู่เฉพาะพนักงานที่บริษัทต้นสังกัดออกค่าสมัครให้
  • เป็นอีกหนึ่งสวัสดิการในการสร้างสมดุลการใช้ชีวิตและการทำงานที่หลายบริษัทในญี่ปุ่นกำลังเสนอให้แก่พนักงานของตนเอง

ญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มที่คนหนุ่มสาวจะแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัวนั้นลดน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งมีการมองกันว่าปรากฎการณ์นี้จะเป็นระเบิดเวลาด้านประชากรของญี่ปุ่นในอนาคตแอปพลิเคชันหาคู่เฉพาะพนักงานที่บริษัทต้นสังกัดออกค่าสมัครให้

เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2565 บริษัทจัดหาคู่ O-net ได้เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นคนหนุ่มสาวญี่ปุ่นที่เพิ่งจะบรรลุนิติภาวะและมีแผนที่จะแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว จำนวน 618 คน พบว่าการสำรวจในปี 2565 นี้แสดงให้เห็นว่าทัศนคติเชิงบวกเกี่ยวกับการออกเดท การแต่งงาน และการมีลูกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 โดยร้อยละ 61.4 ระบุว่า "เคยมีแฟน" ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี (ในปี 2564 มีเพียงร้อยละ 53.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่ตอบว่าเคยมี) และที่น่าสนใจคือผู้หญิง (ร้อยละ 64) ตอบว่าเคยมีมากกว่าผู้ชาย (ร้อยละ 58.8) 

อย่างไรก็ตามเมื่อถามถึงสถานะในปัจจุบัน กลับมีเพียงร้อยละ 29.3 (181 คน) เท่านั้น ที่ตอบว่ากำลังคบเพศตรงข้ามอยู่ในปัจจุบัน แม้อาจดูเหมือนเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็ถือว่าอยู่ระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ O-net ทำการสำรวจความคิดเห็นลักษณะนี้มาถึง 26 ปีแล้ว ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามสัดส่วนสูงสุดที่เคยตอบว่ากำลังคบเพศตรงข้ามอยู่คือ ร้อยละ 50 ในปี 2539 จากนั้นสัดส่วนนี้ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี จนกระทั่งถึงจุดต่ำสุดในปี 2554 และตัวเลขนี้ทรงตัวมาเรื่อยๆ จนมาถึงปี 2564 ที่สัดส่วนลดลงอย่างชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีการใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคม นอกจากนี้การลดลงของจำนวนผู้ที่คบเพศตรงข้ามอยู่นั้นก็มีการโยงเข้ากับปรากฎการณ์ที่ว่าคนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นกำลังขาดความสนใจในเรื่องเพศ

ในจำนวน 181 คน ที่ตอบว่ากำลังคบเพศตรงข้ามอยู่ในปัจจุบันนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.4 พบกับคู่ของพวกเขาที่โรงเรียน (ประถม/มัธยม), ตามมาด้วยมหาวิทยาลัย/วิทยาลัย ร้อยละ 26, พบรักออนไลน์ (โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชัน) ร้อยละ 14.4, พบรักในที่ทำงานพาร์ทไทม์ ร้อยละ 8.8, พบรักต่างโรงเรียน/กิจกรรมชมรม ร้อยละ 7.7, พบรักจากการแนะนำโดยเพื่อน ร้อยละ 4.4, พบรักในที่ทำงานเดียวกัน/เกี่ยวข้องกับงาน ร้อยละ 3.3, พบรักในงานปาร์ตี้ 0.6%, และอื่นๆ อีกร้อยละ 4.4

ส่วนที่เหลืออีก 488 คน ที่ตอบว่าไม่ได้คบเพศตรงข้ามอยู่นั้นตอบว่าอยากแต่งงานไม่ช้าก็เร็ว เมื่อถามต่อว่า “คุณอยากแต่งงานตอนอายุเท่าไหร่?” อายุ 25 ปี เป็นคำตอบสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 21.1 ซึ่งคล้ายกับปีก่อนๆ ดังนั้นดูเหมือนว่าช่วงอายุในอุดมคติสำหรับการแต่งงานในญี่ปุ่นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่างอายุ 25-30 ปี 

นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 65.2 ระบุว่าต้องการมีลูกหลังจากแต่งงาน ส่วนร้อยละ 22.5 ของผู้ตอบแบบสอบถามตอบว่า “ยังไม่รู้” ซึ่งบ่งชี้ว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่มั่นใจเกี่ยวกับอนาคตว่าการมีลูก เป็นสิ่งที่พวกเขาและเธอต้องการหรือไม่ 

แอปฯ หาคู่เฉพาะพนักงานในญี่ปุ่น อีกหนึ่งสวัสดิการสร้างสมดุลชีวิตและการทำงาน


หน้าเว็บไซต์ Aill goen ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหาคู่เฉพาะพนักงานที่บริษัทต้นสังกัดออกค่าสมัครให้ 

จากการระบาดของ COVID-19 ทำให้โอกาสการพบปะผู้คนลดลง บริษัทจำนวนมากในญี่ปุ่นได้หันมาใช้แอปพลิเคชันหาคู่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อช่วยให้พนักงานของพวกเขาได้พบความรัก และหวังว่าความสุขที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่มากขึ้น

บริษัทประมาณ 800 แห่งทั่วญี่ปุ่นได้ลงทะเบียนกับแอปพลิเคชัน Aill goen ที่การจับคู่เดทมีความพิเศษกว่าแอปพลิเคชันอื่นๆ คือจะมีตัวเลือกเฉพาะพนักงานของบริษัทที่สมัครเข้าร่วมเท่านั้น จึงถือเป็น "แพลตฟอร์มที่ปลอดภัย" ตามที่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันระบุ

"เป้าหมายของฉันคือการสร้างแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้พนักงานบรรลุความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงานได้ง่ายขึ้น และในทางกลับกันก็ช่วยกระตุ้นการเติบโตของบริษัทด้วยเช่นกัน" ชินะ โทโยชิมะ ซีอีโอหญิงของ Aill Inc. บริษัทสตาร์ทอัพในโตเกียว ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Aill ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 แล้ว

"นายจ้างมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านโดยแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใครในช่วงการระบาดใหญ่" โทโยชิมะกล่าว 

บริษัทผู้พัฒนายังระบุถึงประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันว่าอยู่ในระดับที่สูง ผู้ใช้งานส่วนใหญ่สามารถนัดเดทสำเร็จ โดยข้อมูล ณ เดือน ธ.ค. 2564 พบว่าผู้ใช้งานร้อยละ 76 สามารถนัดเดทได้ตามคำแนะนำของ AI ในแอปพลิเคชัน ตัวอย่างเช่น AI จะแนะนำว่าถึงเวลาที่ฝ่ายชายควรชวนฝ่ายหญิงไปดูหนังเมื่อใด หรือหากพบว่าฝ่ายชายรุกไล่มากไป AI ก็อาจจะคอยเตือน

ทั้งนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ใช้บริการก็มีตั้งแต่ Nippon Telegraph and Telephone Corp. (NTT), Mizuho Securities Co., สายการบิน All Nippon Airways และหนังสือพิมพ์ Mainichi เป็นต้น ซึ่งบริการนี้เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการที่บริษัทในญี่ปุ่นหลายแห่งเสนอให้แก่พนักงาน 

โทโยชิมะ วัย 36 ปี กล่าวว่าเธอมีแนวคิดที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันนี้มาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว หลังจากที่เธอได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหารในบริษัทยารายใหญ่แห่งหนึ่ง ก่อนที่เธอจะลาออกมาพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ได้สำเร็จที่ Aill Inc.

การเลื่อนตำแหน่งหมายถึงชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน และโทโยชิมะกังวลเรื่องชีวิตส่วนตัวของเธอ เนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นที่มีตำแหน่งสูงๆ นั้นยังเป็นโสดและแทบไม่มีเวลาเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เลย

"บริษัทต่างๆ ต้องการให้พนักงานแสดงความคิดริเริ่มในที่ทำงาน แต่ความจริงก็คือ พนักงานรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักเกินไป และไม่มีเวลาสำหรับชีวิตส่วนตัว นี่คืออีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งที่ขัดขวางการเติบโตของบริษัท" โทโยชิมะ กล่าว 

 

ที่มา
Japan firms adopt AI dating app to help staff find love amid pandemic (Supriya Singh, KYODO NEWS, 30 December 2021)
Most of Japan’s new adults hope to fall in love and get married, according to recent survey (Dale Roll, SoraNews24, 12 January 2022)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net