Skip to main content
sharethis

คำพูดของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่บอกว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” เป็นภูมิปัญญาทางการเมืองและการรบที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน พบได้ทั้งในคัมภีร์อรรถศาสตร์และคัมภีร์ไบเบิ้ล ทั้งยังถูกใช้ในสงคราม การเผยแพร่ศาสนา การจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหว และเกมการเมืองโลกเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ผลการใช้กลยุทธ์นี้ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า แม้นำมาซึ่งชัยชนะ แต่บางกรณีก็อาจนำมาสู่ปัญหาร้ายแรง การคิดต่อยอดจากงานวิจัยพบว่า การมองว่า “ศัตรูของศัตรูอาจเป็นมิตรหรือไม่ก็ได้” อาจเป็นทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบันได้มากกว่า

“ศัตรูของศัตรูคือมิตร”

การเคลื่อนไหวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ผ่านมานับว่าเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจและจับตา ตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ร.อ. ธรรมนัสอาจเป็นตัวการสำคัญที่อาจนำไปสู่การโหวตสวนของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลบางส่วน เนื่องจากไหวตัวทัน ความพยายามในการล้มรัฐบาลจึงไม่สำเร็จ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไล่ ร.อ.ธรรมนัส และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ออกจากคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ ก.ย. ปีที่แล้ว

ร.อ.ธรรมนัส และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์

ทั้งที่เป็นอย่างนั้น ร.อ. ธรรมนัส ก็ยังคงอยู่ในพลังประชารัฐต่อไป จนกระทั่งล้มเหลวในการกดดันเรียกร้องบางอย่างกับพรรคประชารัฐ หลายฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี แต่พลังประชารัฐบอกว่าเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค ด้วยเหตุนี้ เขาจึงนำ ส.ส. 20 คนออกจากพรรคพลังประชารัฐ และคาดว่าจะเข้าพรรคเศรษฐกิจไทย โดย ส.ส. ระบุว่ายังคงอยู่ในสังกัด พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีที่คอยดูแล “งานหลังบ้าน”

ร.อ.ธรรมนัส ดูเหมือนจะเป็นบุคคลสำคัญของรัฐบาลชุดนี้จริงๆ ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญยืนยันว่าธรรมนัสไม่เสียสถานะความเป็น ส.ส. และสมาชิกคณะรัฐมนตรี จากคดีค้ายาเสพติดในออสเตรเลีย สมาชิกคนอื่นๆ ในฝ่ายรัฐบาลดูเหมือนจะไม่โชคดีเท่า ดังจะเห็นจากคดีที่ดินรุกป่าสงวนของของปารีณา ไกรคุปต์ และการตรวจสอบประวัติความผิดคดีอาญาของสิระ เจนจาคะ โดยหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งทั้งคู่นำไปสู่การพ้นสภาพความเป็น ส.ส.

การพ้นสภาพความเป็น ส.ส. ของสิระ เจนจาคะ นำไปสู่การเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ ซึ่งเหมือนการทดลองสนามพลังของพรรคการเมืองต่างๆ ในกรุงเทพ ผลออกมาเป็นชัยชนะของสุรชาติ เทียนทอง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงในค่ายทหารสูงที่สุด ทันใดนั้นเอง บุคคลสำคัญทางการเมืองที่เคยพูดว่า “เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่เอาเลือดไปหล่อเลี้ยงในหัวใจของรัฐบาล” ก็โพสต์ในเฟสบุ๊คว่า

“ผมดีใจมากครับที่เห็นพี่น้องประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงเลือกตั้ง

นี่คือ‘ประชาธิปไตย’ ครับ

the enemy of my enemy is my friend.”

ข้อความดังกล่าวของธรรมนัสนำไปสู่ปฏิกิริยาแตกต่างกัน เช่น ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการและผู้ลี้ภัยทางการเมืองคอมเมนต์แซวใต้โพสต์ว่า “กรี๊ดค่ะ อยากให้เป็นท่านนายก” และ “The enemy of my enemy is my boyfriend” ขณะณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นักกิจกรรมเสื้อแดงโพสต์ทวิตเตอร์ติดตลกว่าฝ่ายศัตรูในความคิด ร.อ. ธรรมนัส คงเป็นพรรคพลังประชารัฐ ส่วนมิตรคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่มิตรที่ว่าหมายถึงมิตรแบบ “แทงมิดด้าม”

อย่างไรก็ตาม คำพูดของธรรมนัสดูเหมือนจะได้รับการตอบกลับด้วยท่าทีจริงจังจากฝั่ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชลน่านระบุว่าไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ขอบคุณที่มองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นที่พึ่งประชาชนได้ จุดยืนของพรรคเพื่อไทยคือการต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ หากใครมาร่วมงานกับพรรคก็ต้องตรวจสอบวิธีการทำงานว่าเป็นอย่างไร

ด้านฝั่ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาแสดงความเห็นขณะออกรายการของ CARE Clubhouse เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ในครั้งนี้ทักษิณระบุว่า ร.อ. ธรรมนัสควรเป็นผู้ขยายความดีเองกว่าว่าใครเป็นมิตรหรือศัตรู แต่อย่างไรเสีย

“ผมเป็นคนรับสนองให้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายพล ไม่มีทางเป็นศัตรู แต่การเมืองมีการลูบคมกัน และผมก็ไม่ใช่ศัตรูของ พล.อ. ประยุทธ์ และ ร.อ. ธรรมนัส เพราะ ร.อ. ธรรมนัส รุ่นน้องเคยอยู่พรรคเพื่อไทย เป็นคนเหนือรู้จักกันดี”

ทักษิณ ชินวัตร

ต่อมา ธนาพล อิ๋วสกุล บ.ก. วารสารฟ้าเดียวกัน ที่ล่าสุดถูกตำรวจตรวจค้นสำนักงาน พบว่าข้อความดังกล่าวถูกลบออกจากการรายงานข่าวของ Voice TV อย่างไรก็ตาม ข้อความเดียวกันยังถูกพบในสำนักข่าวและเฟสบุ๊คอื่นๆ เช่น ข่าวสดและเพจเฟสบุ๊คของ Brandthink ขณะที่ตัวรายการเองก็ยังสามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางต่างๆ

ด้าน รศ. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ร่วมรายการ CARE Clubhouse ด้วย ระบุว่าเห็นด้วยกับทักษิณว่าเรื่องใครเป็นมิตรหรือศัตรู ควรให้ ร.อ. ธรรมนัสเป็นผู้ตอบจะเป็นการดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างประยุทธ์กับธรรมนัสไม่สามารถเยียวยาได้ และจะเป็นระเบิดเวลาที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

ขณะที่ทุกคนตั้งคำถามว่าใครคือมิตร ใครคือศัตรู ในทัศนะของ ร.อ. ธรรมนัส ซึ่งถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อความอยู่รอดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ประเด็นพื้นฐานที่ยังไม่มีการตั้งคำถามกันก็คือ “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” เป็นกลยุทธ์ที่มาทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ที่ผ่านมาผู้ที่นำเทคนิคนี้ไปใช้สร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเมืองได้มากน้อยเพียงใด และการใช้กลยุทธ์รูปแบบนี้เป็นผลดีหรือผลร้ายต่อประโยชน์ของสาธารณชน

คัมภีร์อรรถศาสตร์: แนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ยุคโบราณ

แนวคิดเรื่อง “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” เป็นภูมิปัญญาทางการเมืองและการรบที่สามารถพบได้ทั่วไปมาตั้งแต่ยุคโบราณ ตามที่มีบันทึกไว้เก่าแก่สุดน่าจะเป็นคัมภีร์อรรถศาสตร์ เล่มที่ 6 ของเกาฏิลยะ ที่เขียนขึ้นในช่วงประมาณ 4 ร้อยปีก่อนคริสต์ศักราช แนวคิดนี้เป็นแนวทางสำหรับเจ้าผู้ปกครองในการดำเนินนโยบายกับอาณาจักรอื่นๆ มากกว่าจะเป็นการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันภายในประเทศ

“กษัตริย์ผู้อยู่ในที่เดียวกันกับอาณาเขตของผู้พิชิตเรียกว่าศัตรู
กษัตริย์ผู้ที่อยู่ใกล้กับศัตรูเช่นกัน แต่ถูกกั้นจากผู้พิชิตโดยศัตรูเท่านั้น เรียกว่ามิตร”

จากข้อความข้างต้น เกาฎิลยะมองว่าประเทศที่มีชายแดนติดกันเป็นศัตรูตามธรรมชาติของอาณาจักรจันทรคุปต์ที่เขาอาศัยอยู่ ขณะที่ศัตรูของศัตรู​คือมิตร อย่างไรก็ตาม เกาฎิลยะอธิบายเจ้าผู้ปกครองรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น มิตรของมิตร​ (คือมิตร)​ มิตรของศัตรู (คือศัตรู)​ ศัตรูที่ทำให้แตกแยกกับมิตร (คือศัตรู)​ นอกจากนี้ ยังมีการแยกประเภทตัวกลางไกล่เกลี่ยที่มีชายแดนติดกับทั้งอาณาจักรจันทรคุปต์และศัตรูของอาณาจักร ออกจากผู้วางตัวเป็นกลางที่อยู่ห่างออกไปซึ่งอาจให้คุณให้โทษกับอาณาจักร ด้วยเหตุนี้ เกาฎิลยะจึงได้รับการขนานนามให้เป็นนักคิดภูมิรัฐศาสตร์ยุคโบราณที่สำคัญ

พระคัมภีร์ไบเบิ้ล: “ผู้ใดไม่เป็นฝ่ายต่อสู้เรา ผู้นั้นก็เป็นฝ่ายเราแล้ว”

แนวคิดเรื่อง “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” ไม่ได้พบอยู่ในตำราภูมิรัฐศาสตร์ยุคโบราณก่อนคริสต์ศักราชเท่านั้น แต่พบอยู่ในความตอนหนึ่งของพระคัมภีร์ไบเบิ้ลด้วย โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขับไล่ปีศาจโดยบุคคลที่สาม กล่าวคือ ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายศัตรูของพระเยซู แต่ก็ไม่ได้เป็นสาวกของพระเยซูเช่นกัน 

ยอห์นจึงทูลพระองค์ว่า "พระอาจารย์เจ้าข้า พวกข้าพระองค์ได้เห็นคนหนึ่งขับผีออกโดยพระนามของพระองค์ ซึ่งคนนั้นมิได้ตามพวกเรามา และพวกข้าพระองค์ได้ห้ามเขา เพราะเขามิได้ตามพวกเรามา"

พระเยซูจึงตรัสว่า "อย่าห้ามเขาเลย เพราะว่าไม่มีผู้ใดจะกระทำการอัศจรรย์ในนามของเรา แล้วอีกประเดี๋ยวหนึ่งอาจกลับพูดประณามเรา เพราะผู้ใดไม่เป็นฝ่ายต่อสู้เรา ผู้นั้นก็เป็นฝ่ายเราแล้ว เพราะเราบอกความจริงแก่ท่านว่า ผู้ใดจะเอาน้ำถ้วยหนึ่งให้พวกท่านดื่มในนามของเรา เพราะท่านทั้งหลายเป็นฝ่ายพระคริสต์ ผู้นั้นจะขาดบำเหน็จก็หามิได้” - มาระโก 9:38-41

แม้พระเยซูจะเคยตรัสใน มัธทิว 12: 30 ว่า “ผู้ใดไม่อยู่ฝ่ายเราก็เป็นปฏิปักษ์ต่อเรา” ซึ่งฟังดูแล้วเป็นการบังคับให้เลือกข้าง แต่ข้อความที่ว่านี้มองแบบด้านกลับเช่นกันว่า “ผู้ใดไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อเราก็เป็นฝ่ายเดียวกับเรา” ในแง่นี้ พระเยซูเปิดโอกาสให้กับการเป็นพันธมิตรโดยไม่จำเป็นต้องอยู่กลุ่มเดียวกันในการเผยแพร่ศาสนา ต่อมาผู้นับถือศาสนาคริสต์บางกลุ่มเห็นว่าแนวคิดนี้เป็นพื้นฐานสำหรับการอยู่ร่วมกันของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ

เกมการเมืองโลก: “หากฮิตเลอร์รุกรานนรก … ผมก็จะพูดถึงแง่ดีของปีศาจ”

ในบทความที่น่าสนใจของฟอร์เรสต์ วิคแมน ระบุว่าแนวคิดเรื่อง “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” ถูกพูดถึงอย่างผิดๆ ในสตาร์เทร็ค เมื่อกัปตันเจมส์ ที. เคิร์ก ตัดสินใจเข้าร่วมกับศัตรูเพื่อต่อสู้กับศัตรูที่อันตรายยิ่งกว่า โดยอ้างเหตุผลจากสำนวนดังกล่าว แต่สป๊อกเตือนเคิร์กว่าสำนวนดังกล่าวถูกคิดขึ้นจากเจ้าชายอาหรับคนหนึ่ง ที่ต่อมาถูกตัดหัวโดย “เพื่อน” ของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม วิคแมนตรวจสอบแล้วพบว่าเรื่องนี้สป๊อกยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างมาก ที่จริงแล้ว การบอกว่าสำนวน “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” มาจากอาหรับ เป็นความเข้าใจผิดของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ฉบับหนึ่งในปี 1954 ที่ส่งผลให้เกิดเป็นความเข้าใจผิดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (และอนาคตในปี ค.ศ. 2259 ซึ่งเป็นโลกของสตาร์เทร็ก !) 

จากการสืบค้นทางนิรุกติศาสตร์ “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” เริ่มปรากฎเป็นที่นิยมในโลกตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 18 โดยพูดกันเป็นภาษาละตินว่า Amicus meus, inimicus inimici mei (เพื่อนฉัน, ศัตรูของศัตรู) คำกล่าวนี้ปรากฎอยู่ในหนังสือภาษาอิตาลี (ค.ศ. 1711) เยอรมัน (ค.ศ. 1721) ถูกแปลเป็นภาษาสเปน (ค.ศ. 1723) ในภาษาอังกฤษ สำนวนนี้เป็นที่นิยมผ่านการแปลมาจากหนังสือประวัติศาสตร์ในภาษาฝรั่งเศสในปี 1825

แนวคิดเรื่องดังกล่าวถูกใช้ความขัดแย้งครั้งใหญ่อยู่หลายครั้ง เช่น ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษกล่าวกับเลขาส่วนตัวว่า “หากฮิตเลอร์รุกรานนรก อย่างน้อยที่สุดผมก็จะพูดถึงแง่ดีของปีศาจต่อสภาสามัญชน” โดยในกรณีนี้เชอร์ชิลล์หมายถึงการที่เขาพร้อมจะเป็นมิตรกับโจเซฟ สตาลิน หลังเยอรมนีบุกโซเวียตคอมมิวนิสต์ ในปี 1941 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แนวคิดนี้ก็ยังถูกใช้แพร่หลายในสงครามเย็น

นักวิชาการเตือนผลร้ายที่ตามมา

ในบทความเรื่อง “The Enemy of My Enemy is My Friend” is the Enemy: Dealing with the War-Provoking Rules of Intent อัลวิน เอ็ม. ซาเปอร์สไตน์ จากมหาวิทยาลัยเวนย์สเตท มลรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ในการทดลองทางความคิด และพบว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” เป็น 1 ใน 4 กฎที่ส่งผลต่อกันและกัน กล่าวคือผู้ออกนโยบายไม่สามารถตัดสินใจโดยใช้กฎหนึ่งพร้อมกับหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อการใช้กฎอื่นๆ ได้

1. มิตรของมิตรคือมิตร

2. มิตรของศัตรูคือศัตรู

3. ศัตรูของมิตรคือศัตรู

4. ศัตรูของศัตรูคือมิตร

นอกจากนี้ จากการทดลองทางคณิตศาสตร์ ซาเปอร์สไตน์พบว่าในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบ 2 ขั้วที่มี 3 ฝ่าย (กล่าวคือ หากประเทศ A และ B ขัดแย้งกับประเทศ C) ผู้ดำเนินนโยบายที่ใช้กฎนี้ จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดและนำไปสู่สงครามในที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้สงครามเกิดขึ้น ผู้ดำเนินนโยบายควรเพิ่ม “ความยืดหยุ่น” เข้าไปในการตัดสินใจ กล่าวคือ

1. มิตรของมิตรคือมิตร

2. มิตรของศัตรูอาจเป็นศัตรู (หรือไม่ก็ได้)

3. ศัตรูของมิตรอาจเป็นศัตรู (หรือไม่ก็ได้)

4. ศัตรูของศัตรูอาจเป็นมิตร (หรือไม่ก็ได้)

นอกจากจะหลีกเลี่ยงสงครามได้แล้ว ยังหลีกเลี่ยงผลร้ายที่ตามมาจากการใช้กลยุทธ์ “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” ด้วย ซาเปอร์สไตน์ ระบุว่าในบรรดากฎทั้ง 4 ข้อ กฎข้อ 4 เป็นกฎที่สร้างปัญหามากที่สุด เพราะจากการถอดบทเรียนในประวัติศาสตร์พบว่า มีหลายกรณีที่การเข้าร่วมกับศัตรูของศัตรูไม่ส่งผลดีต่อประเทศที่ดำเนินนโยบายดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย ตัวอย่างเช่น

  • ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ประเทศตะวันตกยอมเป็นมิตรกับเผด็จการขวาจัดอย่างฮิตเลอร์ มุสโสลินี และฟรังโก้ เนื่องจากศัตรูในขณะนั้นคือรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของสตาลิน
  • สหรัฐอเมริกาทำตัวสนิทสนมกับทรราชที่ “ต่อต้านคอมมิวนิสต์” ในละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เช่น ออกุสโต ปิโนเช่ (ชิลี), ซัดดัม ฮุสเซน (อิรักก่อนเกิดสงครามต่อต้านการก่อการร้าย), ชาห์ของอิหร่าน (ก่อนเกิดปฏิวัติอิหร่าน), โมบูโต (คองโก), อิดี อามิน (อูกานดา), รัฐบาลเหยียดผิวในแอฟริกาใต้ กรณีนี้ยังรวมถึงเผด็จการทหารของไทยในยุคสงครามเย็น
  • นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังเคยสนิทสนมกับเผด็จการ เช่น ประธานาธิบดีมูชาราฟของปากีสถาน ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีอัสซาดของซีเรีย เนื่องจากคิดว่าสามารถใช้เผด็จการเหล่านี้ปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายอิสลามได้

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างอื่นๆ ที่อาจเป็นปัญหาอีก ตัวอย่างเช่น

  • ในแง่ของการเมืองภายในประเทศ รัฐบาลประชาธิปไตยมักใช้ภัยคุกคามจากต่างชาติเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่น เนื่องจากอัลเคดะห์ถูกจัดวางให้เป็นศัตรูของอุดมคติแบบเสรีนิยมของอเมริกัน และจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ถูกนำเสนอให้เป็นศัตรูของอัลเคดะห์ ดังนั้น ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งชาวอเมริกันจึงมองว่าบุชเป็นมิตรของอุดมคติแบบเสรีนิยมของอเมริกันและควรได้รับการสนับสนุน
  • เนื่องจากผู้ก่อการร้ายอิสลามเป็นศัตรูของชาวอิสราเอลในเวสแบงค์ รวมถึง สังคมอเมริกันด้วย ดังนั้น ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจึงถูกโน้มน้าวโดยนักโฆษณาชวนเชื่อฝ่ายขวาว่าควรสนับสนุนชาวอิสราเอลในเวสแบงค์ ทั้งที่คนเหล่านี้กำลังรุกรานและรังแกชาวปาเลสไตน์ที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายอิสลาม

บทเรียนสำหรับการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหว

แนวคิดเรื่อง “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” เคยพบอยู่ในการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านทุนนิยมในสหรัฐอเมริกาด้วย โดยเรื่องนี้ถูกเล่าอยู่ในบทความเรื่อง My Enemy’s Enemy is My Friend ในวารสาร Monthly Review ประจำวันที่ 1 พ.ย. 2558 เขียนโดย สตีฟ เพน นักจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ประสานงานของสหภาพพนักงานภาคบริการสากล (SEIU) มากว่า 8 ปี

เขาพบว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านอำนาจนำ (counter-hegemony) เพื่อต่อกรกับระบอบทุนนิยมได้ โดยแนวคิดเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่อง “สงครามทางจุดยืน (war of position)” หรือ “สงครามทางความคิด” ของอันโตนิโอ กรัมชี่ นักทฤษฎีการเมืองชื่อดัง ซึ่งต่อมา ปิยบุตร แสงกนกกุล นำมาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า

บทความดังกล่าวเล่าว่าการทำสงครามทางจุดยืนจะต้องทำงาน 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่ งานปฏิบัติการทางการเมือง และการศึกษาทางการเมือง หลังอ้างอิงนักทฤษฎีคนอื่นๆ เช่น เปาโล แฟร์ ที่ระบุว่าการศึกษาต้องเริ่มจากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรมของผู้ถูกกดขี่ และมายส์ ฮอร์ตัน ที่เสนอว่าการศึกษาทางการเมืองเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมสามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนได้ เขาก็เล่าถึงประสบการณ์ตรงในภาคปฏิบัติ

ประสบการณ์การจัดตั้งที่สำคัญของเขาเกิดขึ้นที่รัฐมินนิโซตา ซึ่งเขาเรียกว่า “สัปดาห์แห่งการปฏิบัติการ (A week of action)” ในปี พ.ศ. 2554 เมื่อกลุ่มแรงงานย้ายถิ่นผิวสีและลาติโน่ พยาบาล พาลโรง นักเรียน สมาชิกชุมชน และโบสถ์ กระหน่ำปฏิบัติการทางตรงรูปแบบต่างๆ นับสิบครั้ง เช่น การส่งจดหมาย การถอนเงินจากบัญชีธนาคาร การประท้วงปิดทางเข้าอาคาร และการปิดถนนเพื่อมุ่งเป้าไปสู่การยึดอาคารทำการของนายทุนในท้องถิ่น

ปฏิบัติการพุ่งเป้าไปที่นายทุนในท้องถิ่นของรัฐ ได้แก่ Wells Fargo, US Bank และห้างสรรพสินค้า Target หลังสัปดาห์ดังกล่าว ข้อเรียกร้องต่างๆ ก็เริ่มเป็นความจริงขึ้นมา เช่น กลุ่มแรงงานย้ายถิ่นชาวโซมาเลียได้รับสิทธิให้ส่งเงินกลับบ้านได้ แรงงานได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น ประชาชนรอดจากการถูกยึดบ้าน การผ่านกฎหมายให้นายจ้างไม่มีสิทธิถามประวัติอาชญากรรมของผู้สมัครงาน และการยับยั้งกฎหมายที่จะทำให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งได้ยากขึ้น

ทั้งหมดนี้เกิดความริเริ่มของขบวนการเคลื่อนไหว “ชาวมินนิโซตาเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม” ขบวนการที่ว่านี้เริ่มขึ้นจากการประชุมระหว่างตัวแทนของกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในรัฐมินนิโซตา จากการพูดคุยกันพวกเขาเห็นตรงกันว่าปัญหาของแทบทุกกลุ่มที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องมีความเชื่อมโยงกับศัตรูเดียวกัน นั่นคือชนชั้นนายทุนในท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์บ้านถูกยึด โครงสร้างพื้นฐานเสื่อมโทรม ปัญหาในโรงเรียน และปัญหาสิทธิแรงงาน

ขบวนการเคลื่อนไหว “ชาวมินนิโซตาเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม” มีหลักการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ กล่าวคือ แทนที่กลุ่มย่อยๆ ในขบวนการจะร่วมมือเป็นหุ้นส่วนกันในบางประเด็นเท่าที่ทำได้แล้วตัดคนกลุ่มอื่นๆ ออกไป พวกเขากลับอาศัยวิธี “แยกกันตี” แต่ “เข้าตีพร้อมกัน” บนหลักการที่ว่า “ศัตรูของศัตรูก็คือมิตร” โดยกลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจาก SEIU ในด้านผู้ประสานงาน ผู้ค้นคว้าวิจัย และกองทุนสนับสนุนให้คนลาออกมาเป็นนักกิจกรรมอย่างเต็มตัว ส่งผลให้ขบวนการเคลื่อนไหวขยายตัวไปในระดับรัฐ 

ทางออกของความขัดแย้ง: มอง ‘ความเป็นไปได้’ แทน ‘ความจำเป็น’

จะเห็นได้ว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” เป็นแนวคิดที่ถูกตีความและนำมาใช้ได้หลายแบบ ทั้งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ การเผยแพร่ศาสนา เกมการเมืองโลก และการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในบริบทของการเมืองไทย หากนำเทคนิคนี้มามองในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่กรณีของธรรมนัส แต่เป็นการตัดสินใจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม จะเห็นได้ว่าตรรกะแบบนี้นำมาสู่ปัญหาอย่างมากในความเห็นของหลายฝ่าย ตัวอย่างเช่น

  • ผู้สนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นศัตรู เสื้อเหลือง​ กปปส. และไทยภักดี​ เป็นศัตรูของทักษิณ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงเห็นว่าเสื้อเหลือง กปปส. และกลุ่มไทยภักดี เป็นมิตรของผู้สนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยม
  • เสื้อเหลืองมองว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นศัตรู กองทัพเป็นศัตรูของทักษิณ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงเห็นว่ากองทัพเป็นมิตรของเสื้อเหลือง ในการรัฐประหาร 2549
  • กลุ่ม กปปส. เห็นว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เป็นศัตรู เนื่องจากกองทัพเป็นศัตรูของ ยิ่งลักษณ์ และ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม กปปส. จึงมองว่ากองทัพเป็นมิตรของ กปปส. ในการรัฐประหาร​ 2557
  • ฝ่ายคนรักเจ้าเป็นศัตรูกับผู้เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เนื่องจาก นายอภิรักษ์ ชัชอานนท์ (เสี่ยโป้) อดิสรณ์ โสภา (เอ มินเนี่ยน) และประสิทธิ์ เจียวก๊ก เป็นศัตรูของผู้เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ฝ่ายคนรักเจ้าจึงเห็นว่าเสี่ยโป้ เอ มิเนี่ยน และประสิทธิ์ เจียวก๊ก เป็นมิตรของฝ่ายคนรักเจ้า
  • ฝ่ายคนรักเจ้าเห็นว่า พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า​เป็นศัตรู​ เนื่องจากไทยภักดีเป็นศัตรูกับพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมประมาณ 5 พันคนจึงลงคะแนนเสียงเลือกไทยภักดีในการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่

ในกรณีเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าตรรกะแบบ “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” เป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ซุกซ่อนปัญหาไว้มากมาย และอาจนำไปสู่ปัญหาในภายหลัง หากเราเชื่อในข้อเสนอของ อัลวิน เอ็ม. ซาเปอร์สไตน์ ที่บอกว่าการใช้แนวคิด “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” แบบไม่เผื่อใจจะนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงที่ตามมา อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต การตั้งคำถามกับความจำเป็นของการเป็นมิตรกับศัตรูของศัตรู อาจเป็นทางออกให้กับการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมได้

ขณะเดียวกัน แนวคิด “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” ก็อยู่ในเบื้องหลังการตัดสินใจของกลุ่มต่างๆ ในค่ายการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยด้วย ซึ่งการตัดสินใจลักษณะนี้ก็อาจเป็นข้อดี หรืออาจนำไปสู่ปัญหามากน้อยต่างกันไป สุดแต่ความเห็นของแต่ละปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เฉพาะแต่เรื่องการมองว่าธรรมนัสเป็นมิตรหรือศัตรูเท่านั้น เมื่อนำเรื่องเหล่านี้มาใส่ในสมการ “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” ก็จะทำให้เห็นข้อดี ข้อจำกัด หรือความเป็นไปได้ในการมองแบบอื่นๆ เช่น

  • (ถวายคืนพระราชอำนาจ) ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลาคม 2517 เห็นว่าระบอบเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นศัตรู เนื่องจากเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศัตรูของเผด็จการทหาร ขบวนการนักศึกษาจึงมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นมิตร
  • (เรารักพระบรม) เสื้อแดงบางกลุ่มเคยใส่เสื้อ “เรารักพระบรม” เมื่อปี 2555 เพื่อฉลองวโรกาส 60 พรรษา เมื่อมีการถามในกระทู้ออนไลน์แห่งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ผู้ใช้คนหนึ่งตอบว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร เสื้อแดงรักสถาบัน แต่ถูกประณามว่าล้มล้าง … เกลียดเปรม” ตีความได้ว่าผู้ใช้คนดังกล่าวเห็นฝ่าย พล.อ. เปรม เป็นศัตรู สถาบันกษัตริย์ถูก “ดึงลงต่ำ” จากการถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกล่าวหาเสื้อแดงว่าล้มล้าง เสื้อแดงจึงมองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับ พล.อ. เปรม  ด้วยเหตุนี้ เสื้อแดงจึงมองว่าสถาบันกษัตริย์เป็นมิตร
  • (โหวตเชิงยุทธศาสตร์) ฝ่ายประชาธิปไตยเห็นว่าศัตรูคือระบอบเผด็จการ ฝ่ายประชาธิปไตยบางส่วนเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเป็นศัตรูของระบอบเผด็จการ ฝ่ายประชาธิปไตย​บางส่วนจึงเห็นว่าพรรคเพื่อไทยเป็นมิตร
  • (เอกภาพในพรรคร่วมฝ่ายค้าน) พรรคเพื่อไทยเห็นว่าศัตรูคือระบอบเผด็จการ พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ เป็นศัตรูของระบอบเผด็จการ พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่าพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ เป็นมิตร
  • (กลุ่มไทยไม่ทน) จตุพร พรหมพันธุ์ เห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นศัตรู เนื่องจากอดีต กปปส. บางกลุ่มต่อต้านประยุทธ์ จันทร์โอชา จตุพร พรพมพันธุ์ จึงเห็นว่าอดีต กปปส. เป็นมิตร

นอกจากนี้ “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” ก็อาจเป็นพื้นฐานไปสู่การตัดสินใจอื่นๆ ที่พิลึกพิลั่นไปจากความคิดกระแสหลักทั่วไป เช่น เนื่องจากฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นศัตรู พรรคกล้าเป็นศัตรูของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคกล้าจึงเป็นมิตรของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย แนวคิดนี้อาจเป็นประโยชน์ในการชักจูงให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม 'โหวตยุทธศาสตร์' เพื่อหักเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ได้ เป็นต้น

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โยนหินถามทางไปทางพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องตัดสินใจ ทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้อาจเป็นเหมือนเช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ และการก้าวออกจากการแบ่งขั้วทางการเมืองในปัจจุบัน เมื่อเจอกับสำนวน “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” กุญแจของเรื่องนี้อาจอยู่ที่การมองเห็นถึง “ความเป็นไปได้” มากกว่า “ความจำเป็น” ศัตรูของศัตรูอาจเป็นมิตรหรือไม่ก็ได้อาจเป็นมุมมองที่ดีกว่าในการตัดสินใจทางการเมือง.

แหล่งข้อมูลอ้างอิงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net