Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานฯ ร่วมถก 'ขสมก.' เร่งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 หลังโอมิครอนระบาดยอดพนักงานติดเชื้อรายวันพุ่งสูง 28 คน ขณะที่จำนวนติดสะสมทะลุ 1,475 ราย

นายบุญมา ป๋งมา รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา สหภาพฯ ได้ประชุมร่วมกับนายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ คณะผู้บริหาร ขสมก. เกี่ยวกับการกำหนดมาตรการแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

ขณะนี้พบว่า พนักงาน ขสมก. มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันสูงอย่างต่อเนื่อง เห็นจากเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 65 มีจำนวนพนักงานติดเชื้อสูงถึง 28 คน ขณะที่เทียบกับช่วงเดือน ม.ค. 65 มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน 1-5 คนต่อวัน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมระลอกใหม่ (เม.ย. 2564-ก.พ. 2565) จำนวน 1,475 ราย กำลังรักษา 153 ราย กลับบ้านแล้ว 1,315 ราย เสียชีวิต 7 ราย

นายบุญมา กล่าวต่อว่า ผลการประชุมขณะนี้ ขสมก. เร่งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันในการติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ น้ำยาทำความสะอาดฆ่าเชื้อ และ ชุดตรวจโควิดแบบ ATK เพื่อแจกจ่ายให้พนักงานตามเขตการเดินรถทั้ง 8 แห่ง เพื่อให้สุ่มตรวจหาเชื้อโควิด ก่อนให้บริการ รวมทั้งใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดภายในรถโดยสาร (รถเมล์) สถานที่ทำงาน อู่รถเมล์เป็นประจำ

รวมทั้งให้เขตการเดินรถทั้ง 8 แห่ง รายงานสถานการณ์โควิดให้ทราบทุกวัน หากพบว่ามีพนักงานติดเชื้อให้เข้าสู่กระบวนการรักษาทันที ส่วนพนักงานที่มีความสุ่มเสี่ยงต้องกักตัว หรือแยกตัวออกจากครอบครัว คนใกล้ชิด ห้ามพบปะคนอื่น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

นายบุญมา กล่าวต่อว่า ขณะนี้พนักงาน ขสมก. ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มที่ 4 แล้วประมาณ 10,000 กว่าคน จากที่มีพนักงานทั้งหมดประมาณ 13,000 คน และที่เหลือจะทยอยฉีดให้ครบทั้งหมดต่อไป ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพิ่มความมั่นใจให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการสาธารณะได้ เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ประมาณ 500,000-600,000 คนต่อวัน

ที่มา: เดลินิวส์, 11/2/2565

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปลดล็อค Tier 2 Watch List

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย ปัจจุบันไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) เพื่อยกระดับการจัดลำดับสถานการณ์การแก้ไขการค้ามนุษย์ในประเทศจาก Tier 2 watchlist เป็น Tier 1 ตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ดูแลในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยตรง เพื่อยกระดับเทียร์ให้สูงขึ้น จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำหนดเป็นนโยบายเร่งด่วนด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยพุ่งเป้าการตรวจสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อคุ้มครองแรงงานไม่ให้มีการละเมิดสิทธิด้านแรงงานในกิจการประเภทต่าง ๆ

ซึ่ง กสร. ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งประกอบไปด้วย รูปแบบ ก. ทุกรูปแบบของการใช้ทาส หรือแนวปฏิบัติที่คล้ายกับการใช้ทาส เช่น การค้า และการซื้อขายเด็ก การขนส่งเด็ก แรงงานขัดหนี้ แรงงานไพร่ติดที่ดิน แรงงานบังคับ หรือเรียกเกณฑ์เด็กเพื่อใช้ในการสู้รบ รูปแบบ ข. การใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อการค้า เพื่อการค้าประเวณี เพื่อการผลิตสื่อลามก หรือเพื่อการแสดงลามก รูปแบบ ค. การใช้ จัดหา หรือเสนอเด็กเพื่อกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเพื่อผลิตและขนส่ง ยาเสพติดตามที่นิยามไว้ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง และรูปแบบ ง. งานซึ่งโดยลักษณะของงาน หรือโดยสภาพแวดล้อมในการทำงานมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย และศีลธรรมของเด็ก โดยมีหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายมาร่วมประชุม เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่มีความเชื่อมโยงกับปัญหาด้านการค้ามนุษย์ และแรงงานบังคับในหลายประเด็น ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน

อธิบดี กสร. กล่าวเพิ่มเติมว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะเป็นการระดม ความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก ในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทยเพื่อนำมากำหนดแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2570 ให้เกิดความสอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นแผนแม่บทในการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 11/2/2565

เผยส่งแรงงานไทยไปซาอุฯ ลงนาม มี.ค. 2565 ระยะแรกทำรัฐต่อรัฐกันค้านายหน้า

10 ก.พ. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกหารือเพื่อติดตามความก้าวหน้าและความร่วมมือระหว่างไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย หลังจากเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25-26 ม.ค. ว่าได้นำเรื่องแจ้งให้นายกฯรับทราบถึงความคืบหน้าการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับการส่งแรงงานระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งขณะนี้กระทรวงแรงงานได้จัดทำรายละเอียดเสร็จแล้วกว่าที่คาดการณ์ประมาณ 1 เดือน รวมถึงอยู่ระหว่างส่งร่างข้อตกลงให้กระทรวงการต่างประเทศตรวจ และคาดว่าจะจะมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศในช่วงเดือน มี.ค. 2565

นายสุชาติ กล่าวว่า นายกฯ ได้เน้นย้ำว่าการส่งแรงงานไปที่ซาอุดีอาระเบีย ควรจะเป็นกลุ่มที่มีทักษะฝีมือแรงงาน พร้อมกันนี้นายกฯ ยังอยากให้การจัดส่งแรงงานในระยะแรก เป็นการดำเนินการระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อไม่ให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่านายหน้า ทั้งนี้หากเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ คาดว่าไม่เกิน 2 ไตรมาส เรื่องการจัดส่งแรงงานน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตนเองยังได้นำเรียนนายกฯ เกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง กรณีฝ่ายค้านยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวข้องกับปัญหาเศรษฐกิจที่อ้างว่ามีนักศึกษาจบใหม่ตกงานเป็นจำนวนมาก โดยในข้อเท็จจริง นักศึกษาที่จบใหม่ทุกปี 70-80% มีงานทำ และอยู่ในระบบประกันสังคม

“ฝ่ายค้านเขียนญัตติว่ามีนักศึกษาตกงานจำนวนมาก ทั้งที่ข้อเท็จจริง นักศึกษาจบใหม่อยู่ในระบบการจ้างงาน 70-80% แต่พอเราไปเจรจากับต่างประเทศเพื่อหางานเพิ่มเติม ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีคนไทยทำงานในประเทศ จนต้องเอาต่างด้าวเข้ามาทำแทน ผมก็ขอให้ฝ่ายค้านไปตั้งสติมาก่อน แล้วค่อยกลับมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องแรงงานว่าตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่” นายสุชาติ กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 10/2/2565

รมว.แรงงาน เตือนคนไทยระวังสาย-นายหน้าเถื่อนหลอกทำงานเกษตรออสเตรเลีย ย้ำขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจา ออสเตรเลียยังไม่ออก “วีซ่าเกษตร”

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน และทางการออสเตรเลียมีการหารือในประเด็นการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการพิจารณา (ร่าง) บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลออสเตรเลียและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ในการสนับสนุนให้ประชาชนไทยเข้าร่วมโครงการวีซ่าแรงงานเกษตรออสเตรเลีย

ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการ และยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะออสเตรเลียต้องการแรงงานที่มีคุณสมบัติสูง ยกตัวอย่างเงื่อนไขข้อหนึ่งที่ทางการออสเตรเลียกำหนดให้แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานภาคเกษตรที่ออสเตรเลียต้องมี คือ ผลทดสอบ IELTS ที่มีคะแนน ระดับ 4.5 ขึ้นไป ทำให้คนไทยมีโอกาสไปทำงานน้อย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างต่อรองลดระดับความรู้ภาษาอังกฤษ และหารือเงื่อนไขอื่นๆ

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานเกษตรออสเตรเลีย หลังทราบเรื่องสายนายหน้าเถื่อนระบาด ชวนคนทำงานออสเตรเลีย โดยอ้างว่าเปิดให้ทำวีซ่าเกษตร ยื่นวีซ่าและจ่ายค่าดำเนินการก่อน

"โดยนำรูปการประชุมของอธิบดีกรมการจัดหางานของไทยกับรองอธิบดีกรมการเกษตร ออสเตรเลีย มาสร้างความน่าเชื่อถือว่าหารือเพื่ออนุมัติ วีซ่าเกษตร ซึ่งผมได้สั่งการกรมการจัดหางานออกประกาศย้ำเตือนว่าในขณะนี้ยังไม่มีการออกวีซ่าทางการเกษตรของออสเตรเลียให้แก่ผู้ใด รวมทั้งขอให้โปรดใช้ความระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อการโฆษณาจากองค์กรหรือบุคคลใดที่อ้างว่าสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการออกวีซ่านี้ได้” รมว.แรงงาน กล่าว

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานขอย้ำเตือนประชาชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจไปทำงานเกษตรในออสเตรเลียให้ทราบว่า ขณะนี้ กรมการจัดหางานอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลออสเตรเลียเกี่ยวกับรายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ของโครงการวีซ่าแรงงานเกษตรออสเตรเลีย ซึ่งเมื่อการเจรจามีข้อยุติแล้ว กรมการจัดหางานจะมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับทราบทั่วกัน

สำหรับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานเกษตรในออสเตรเลียนั้น สามารถดำเนินการได้ตามวิธีการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 5 วิธี ได้แก่ 1.กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง 2.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 3.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างของตนไปทำงานต่างประเทศ 4.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงานในต่างประเทศ และ 5.คนหางานแจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตัวเอง ซึ่งกรมการจัดหางานได้มีหนังสือแจ้งให้ภาคเอกชนเตรียมความพร้อมเบื้องต้น

สำหรับการดำเนินการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรในออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศโดยภาคเอกชนจะต้องได้รับการอนุญาตให้รับสมัครงานโดยกรมการจัดหางาน และประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th ด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 10/2/2565

ม็อบรถบรรทุกผนึกแท็กซี่ ไล่ “สุพัฒนพงษ์” ขีดเส้น 7 วัน ขึ้นค่าขนส่ง 20%

8 ก.พ. 2565 นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์ฯ พร้อมด้วยสมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก และเครือข่าย รวมถึงสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย ประมาณ 100 คัน พร้อมใจกันจัดกิจกรรมชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ประกอบการรถบรรทุกครั้งสุดท้าย (Truck Power Final Season) ณ บริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน ถนนวิภาวดี-รังสิต ยื่นหนังสือกับผู้แทนกระทรวงพลังงาน

เพื่อทวงถามความคืบหน้าต่อข้อเรียกร้องที่ขอให้รัฐบาลปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีคำตอบหรือการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง และการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างเป็นธรรม

โดยการชุมนุมครั้งนี้ ทางเครือข่ายยังแสดงจุดยืนในการร่วมกันขับไล่ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ออกจากตำแหน่ง เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงได้ ซึ่งบรรยากาศในการชุมนุมมีตัวแทนจะสมาพันธ์ฯ และสมาคมฯ ผลัดกันขึ้นเวทีปราศรัย และมีสมาชิกเครือข่ายเดินถือป้ายต่างๆ และธงที่มีข้อความว่า “แพงทั้งแผ่นดิน” เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมกว่า 200 คน โดยการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกให้รถยนต์ที่สัญจรไปมาทั้งขาเข้าและขาออกบนถนนวิภาวดีรังสิต

นายอภิชาติ เปิดเผยว่า สหพันธ์ฯ ต้องการให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ออกจากตำแหน่งเนื่องจากบริหารงานผิดพลาดไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันให้ดีขึ้นได้

นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐบาลดูแลราคาน้ำมันดีเซล โดยการตรึงไว้ในระดับ 25-27 บาท/ลิตร พร้อมลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และให้ยกเลิกการนำไบโอดีเซลมาผสมกับน้ำมันดีเซลด้วย

“การชุมนุมในวันนี้ (8 ก.พ.) จะปักหลักค้างคืน เพื่อแสดงจุดยืนตามข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐบาลตอบรับหรือออกมาตรการมาแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงอย่างเป็นรูปธรรมภายใน 7 วัน หากรัฐบาลยังนิ่งเฉย ไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ประกาศไว้ เครือข่ายจะยกระดับการชุมนุมเริ่มจากการปรับขึ้นค่าขนส่ง 15-20% มีผลตั้งแต่วันนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเครือข่ายสมาคมขนส่งว่าจะปรับขึ้นมากน้อยแค่ไหน” นายอภิชาติ กล่าว

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ขึ้นเวลาปราศรัย โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากน้ำมันทุกชนิดลงเหลือ 20 สตางค์ต่อลิตร จากอาทิดีเซลปัจจุบันเก็บภาษีสูงถึง 5.99 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน ให้เท่ากับภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากน้ำมันเครื่องบินพาณิชย์ ซึ่งรัฐลดภาษีให้กลุ่มธุรกิจการบินเพียงไม่กี่บริษัทได้รับประโยชน์

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันราคาเนื้อน้ำมันดิบต้นทุนอยู่ที่ 19 บาท/ลิตร น้ำมันหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ 22 บาท/ลิตร แต่ราคาเนื้อน้ำมันหน้าปั๊มในประเทศไทย 24 บาท ซึ่งเป็นราคาที่บวกค่าขนส่ง ค่าประกันและอื่นๆ สร้างรายได้สูงสุด 1 ใน 5 ของประเทศ เป็นสูตรต้นทุนเทียมที่จูงใจทุกรัฐบาลไม่ยอมยกเลิกสูตรนี้มานาน 20 ปีแล้ว แต่กลับปกป้องสูตรต้นทุนเทียมนี้แบบเอาเป็นเอาตาย นานเท่าไหร่ก็ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง

“รัฐบาลมองไม่เห็นหัวประชาชน ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะให้ความเป็นธรรมกับราคาพลังงาน จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 7-8 ปี เรายังไม่เคยได้ความสุขคืนกลับมา หากรัฐบาลไม่สามารถลดอัตราภาษีสรรพสามิตตามข้อเรียกร้อง

เท่ากับเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลถูกแทรกแซงโดยเครือข่ายของกลุ่มธุรกิจพลังงาน เป็นกลุ่มคนระดับสูงที่แทรกซึมอยู่ในองคาพยพของระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้มีรมว.พลังงาน ที่ส่งตรงมาจากกลุ่มทุนพลังงานอย่างชัดเจน ซึ่งในอนาคตควรมีข้อบังคับกำหนดว่าไม่ให้ข้าราชการมาจากกลุ่มทุน และไม่ให้รับตำแหน่งนั่งอยู่ในบอร์ดของบริษัทเอกชนด้วย”

ด้านนายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนรับหนังสือ ซึ่งมีข้อเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานพิจารณาปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติเหลวสำหรับรถยนต์(เอ็นจีวี) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจีสำหรับรถยนต์) ลงอยู่ที่ 9 บาท/กิโลกรัม นาน 3-6 เดือน หรือจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ จากปัจจุบันราคาเอ็นจีวีอยู่ที่ 15.60 บาท/กก. และแอลพีจีอยู่ที่ 13.50 บาท/กก. และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

“ขณะนี้คนขับรถแท็กซี่มีรายได้ประมาณ 800 บาท แบ่งเป็นค่าเชื้อเพลิง 500 บาท เหลือ 300 บาท หักค่าข้าวค่าน้ำ เหลือเงินเข้าบ้านไม่ถึง 100 บาท ถ้าเป็นแท็กซี่เช่าซื้ออยู่ไม่ได้แน่นอน จึงอยากให้กระทรวงพลังงานเร่งช่วยเหลือ แต่ถ้าไม่ได้รับการตอบรับข้อเสนอ ทางสมาคมฯ จะจอดแท็กซี่ทิ้งไว้บริเวณรอบกระทรวงพลังงานเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/2/2565

ก.แรงงาน สรุปผลโครงการช่วย SMEs รัฐอัดเม็ดเงินกว่า 2 .6 หมื่นล้าน จ้างงาน 1.6 แสนคน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่าโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ขณะนี้ได้สิ้นสุดการดำเนินการตามโครงการแล้ว โดยโครงการฯมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 – มกราคม 2565 เป็นเวลา 3 เดือน ตลอดระยะเวลามีการจ่ายเงินอุดหนุนนายจ้าง 204,366 ราย ลูกจ้างสัญชาติไทย 2,872,613 คน ส่งเสริมการจ้างงานใหม่ในสถานประกอบการ 37,942 แห่ง ช่วยรักษาระดับการจ้างงานคนไทยเพิ่ม 168,080 คน เป็นเงินอุดหนุนตลอดโครงการทั้งสิ้น จำนวน 26,180,046,000 บาท โดยกิจการ 5 อันดับแรกที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1.โรงแรม รีสอร์ท และห้องชุด 2.การบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร 3. กิจกรรมรักษาความปลอดภัยส่วนบุคคล 4.ร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ท 5.การบริการทำความสะอาดทั่วไปของตัวอาคาร

“รัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ห่วงใยธุรกิจในกลุ่ม SMEs และแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 อย่างยิ่ง ท่านได้มอบหมายกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก – กลางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ผ่านโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง มีทุนหมุนเวียนในการประกอบและฟื้นคืนกิจการให้กลับมาแข็งแรงประสบผลสำเร็จดั่งในอดีตก่อนมีโรคโควิด พร้อมกับส่งเสริมและรักษาการจ้างงานลูกจ้างคนไทยให้มีงาน มีรายได้สม่ำเสมอ สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้”

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่าสำหรับโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปนั้น มีการเปิดให้ลงทะเบียนร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 2 ระยะ รอบที่ 1 วันที่ 20 ต.ค. 2564 -20 พ.ย. 2564 และรอบที่ 2 ในวันที่ 23 พ.ย. 2564-20 ธ.ค. 2564 เนื่องจากพบว่าโครงการฯได้รับความสนใจ และได้รับการชื่นชมจากนายจ้างสถานประกอบการจำนวนมาก เพราะประโยชน์เกิดกับนายจ้าง สถานประกอบการโดยตรง ทำให้นายจ้างสถานประกอบการที่ลงทะเบียนไม่ทันภายในรอบที่ 1 ขอให้กระทรวงแรงงานทบทวนเปิดลงทะเบียนในระยะที่ 2 เพื่อสถานประกอบได้รับสิทธิทั่วถึง โดยนายจ้าง สถานประกอบการภาคเอกชนที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ที่รับอนุมัติร่วมโครงการจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ในเดือน พ.ย. 2564 -ม.ค. 2565 และหากมีการจ้างงานเพิ่มจากยอดการจ้างงาน ณ วันที่ 16 พ.ย. 2564 จะได้รับเงินส่งเสริมการจ้างงานใหม่ จำนวน 3,000 บาทต่อลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คนต่อเดือน ตามจำนวนการจ้างงานจริง โดยมีเงื่อนไขคือ นายจ้างต้องรักษาระดับการจ้างงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ในระหว่างเข้าร่วมโครงการฯ หากไม่สามารถทำได้ จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น ซึ่งเงื่อนไขสำคัญข้อนี้ ช่วยลดโอกาสที่ลูกจ้างจะถูกเลิกจ้างในช่วงที่นายจ้าง/สถานประกอบการร่วมโครงการ

ที่มา: สยามรัฐ, 8/2/2565

เครือข่ายแรงงานฯ ผนึกแนวร่วม ยื่นหนังสือทวงนโยบาย พปชร. จี้นายกฯแก้ปัญหาปากท้อง

8 ก.พ. 2565 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และแนวร่วมต่างๆ รวมตัวกันเพื่อทวงถามข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่เคยหาเสียงไว้ในเรื่องการแก้ปัญหาของแพงและค่าแรงขั้นต่ำ ที่บริเวณหน้าคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ถนนพิษณุโลก

กลุ่มผู้ชุมนุมยืนถือป้ายไวนิลนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐที่เขียนไว้ว่า จะมีการดันค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท, ป.ตรี เงินเดือน 2 หมื่น อาชีวะเงินเดือน 1.8 หมื่น, เด็กจบใหม่เสนอยกเว้นภาษี 5 ปี, เสนอยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี, ลดภาษี 10% บุคคลธรรมดา ซึ่งผู้ชุมนุมยืนอยู่ที่หน้าแผงเหล็กที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กั้นไว้ ที่หน้าคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ยาวไปจนถึงฝั่งหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบยืนดูแลความเรียบร้อยอยู่หลังแผงเหล็ก

ตัวแทนผู้ชุมนุมหญิงได้ขึ้นกล่าวปราศรัยผ่านรถเครื่องขยายเสียงว่า เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และแนวร่วมต่างๆ รวมถึงสหภาพแรงงานได้ทำการยื่นหนังสือกับรัฐบาลไปแล้ว และได้มีการมาทวงถามหลายรอบ รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยให้คำตอบใดๆ และกล่าวอีกว่า ปกติเวลามาเรียกร้องหรือทวงถามจะไม่มีการปิดกั้นใดๆ แค่พวกตนต้องการที่จะมาทวงถามก็มีการปิดกั้น นี่คือสิ่งที่เลวร้ายที่สุด

“ปัญหาเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้นเราจะเห็นเลยว่ารัฐบาลชุดนี้โกหกไปวันๆ ไม่เคยทำอะไรได้อย่างที่หาเสียงไว้จริงๆ วันนี้ไม่ได้มีแค่พี่น้องแรงงานหรือประชาชนทั่วไป แต่ผู้สูงวัยก็มีเยอะ เพราะเราก็เน้นว่าเงินผู้สูงอายุ 600 บาท มันควรปรับได้แล้ว ควรปรับเป็น 3,000 บาท แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่หรือว่ารัฐบาลไม่เคยให้คำตอบแต่อย่างใดว่าจะปรับอย่างไร ดังนั้น วันนี้เราก็จะมาทวงถามอีกเรื่อยๆ เราจะไม่หยุดแม้ว่าจะมีคนมากหรือน้อย เราก็จะมาทวงถามจนกว่ารัฐบาลจะมีคำตอบให้กับพวกเรา” ผู้ชุมนุมหญิงกล่าว

ต่อมา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อว่า สถานการณ์บ้านเมืองของเราในตอนนี้เกิดภาวะวิกฤตโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นตั้งแต่เรื่องโควิดและเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออกที่ตกต่ำหรือการท่องเที่ยวตกต่ำ ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจชิ้นสำคัญของประเทศไทย แต่ในขณะนี้มีปัญหาการส่งออกที่ทำได้ลดลงและการท่องเที่ยวลดลงจากสถานการณ์โควิด เหลือปัจจัยเดียวที่จะสร้างเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นมาได้คือตลาดภายในประเทศ หรือการบริโภคภายในประเทศ การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ซึ่งจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่ในขณะนี้สินค้ามีราคาแพงซึ่งมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น น้ำมัน 1 ลิตร ที่ออกจากโรงกลั่นมีราคาเพียงแค่ลิตรละ 10-12 บาท แต่เมื่อมาถึงผู้บริโภคราคาพุ่งมาถึง 35 บาท แสดงว่ามีการเก็บภาษีมากมายในน้ำมัน 1 ลิตร

“วันนี้เราจึงอยากจะส่งเสียงเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ปรับลดภาษีน้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันสรรพสามิตลงอีกลิตรละ 6 บาท ซึ่งจะทำให้เราได้น้ำมันในราคาที่ถูกลง จะช่วยลดค่าสินค้าราคาแพงและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้รถบรรทุก ภาคขนส่งของเราประสบกับปัญหาน้ำมันที่มีราคาแพงมาก วันนี้อยากให้รัฐบาลพิจารณาดีๆ ก่อนที่รัฐบาลจะมีอันเป็นไป ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะหมดสภาวะ ซึ่งตอนนี้ถือว่าหมดสภาพการเป็นนายกฯ เรียบร้อยแล้วหลังจากเหตุการณ์ลาออกของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และหลายๆ คนกำลังกระโดดออกจากพรรคพลังประชารัฐ และจะทำให้รัฐบาลชุดนี้ไร้เสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ผมขอฝากปัญหาว่าก่อนที่ประยุทธ์จะสิ้นสภาพไปในเร็ววันนี้ ก็หวังว่าจะทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะการลดราคาน้ำมันลง ซึ่งจะช่วยให้สินค้าราคาไม่แพงมากนัก” นายสมยศกล่าว

ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ได้ประกาศว่าการรวมตัวในวันนี้เป็นลักษณะที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีเสียงของแกนนำผู้ชุมนุมพูดตอบโต้ผ่านเครื่องขยายเสียงตลอดการประกาศ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดแผงเหล็กที่กั้นผู้ชุมนุมไว้ และให้กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถเข้าไปยื่นหนังสือ และรับฟังข้อเรียกร้องที่ทางกลุ่มเครือข่ายแรงงานได้มีการเสนอไว้เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้นำเครื่องขยายเสียงเข้าไปบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเนื่องจากตอนนี้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี

นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลในการออกมาพูดคุยกับผู้ชุมนุมบริเวณแยกพาณิชยการ โดยกล่าวว่า นายกฯไม่ได้นิ่งนอนใจกับข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชนและได้มอบหมายให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาแก้ไข ในเรื่องของค่าแรงนั้นประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ลูกจ้าง นายจ้าง และฝ่ายคณะกรรมการค่าจ้าง เราจะกำหนดเท่าไรก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงนายจ้างว่าสามารถรับได้หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ ตอนนี้อยู่ในระหว่างการประชุมหารือว่าควรจะขึ้นค่าจ้างจากเดิมเท่าไรและควรจะอยู่ที่เท่าไร

ในส่วนของเรื่องน้ำมันนั้นคณะกรรมการน้ำมัน กระทรวงพลังงานกำลังระดมความคิดเห็นเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรวมถึงผู้ประกอบการเข้ามาพิจารณาว่าจะสามารถตรึงราคาน้ำมันได้เท่าไร ขอให้อดใจรอ 1-2 วันเร็วๆ นี้ ซึ่งจะมีมติออกมา

ส่วนเรื่องสินค้าต่างๆ ที่มีการขึ้นราคาแพง คณะรัฐมนตรีในการประชุมทุกครั้งก็ได้นำเรื่องนี้เข้าประชุมทุกครั้งซึ่งกำลังหาแนวทางมอบให้กรมการค้าภายในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สินค้าราคาแพง รัฐบาลก็มีนโยบายคนละครึ่งออกมาให้แล้ว ข้อนี้ก็ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องในเรื่องข้าวของราคาแพงในระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องที่จะควบคุมราคาสินค้าให้อยู่ในราคาที่เหมาะสมนั้นรัฐบาลกำลังเร่งพิจารณา

“หลักๆ 3 ข้อเรื่องปัญหาแรงงาน ปัญหาน้ำมันแพง และปัญหาสินค้าราคาแพง ท่านนายกฯและคณะรัฐมนตรีไม่ได้นิ่งนอนใจ เรื่องทุกเรื่องได้เข้าพิจารณาทุกเรื่อง ขอเรียนให้พี่น้องทราบว่ารัฐบาลทราบปัญหาและอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา และปัญหาต่างๆ ก็ทยอยออกมาเป็นมาตรการให้พี่น้องประชาชนทราบทุกเรื่อง เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มนายกฯสั่งให้ทางกระทรวงการคลังและสรรพากรมาคุยกันว่าจะลดหรือจะเพิ่ม ไม่ได้เอาปัญหาไปเก็บอยู่นิ่ง หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังพิจารณาอยู่น่าจะได้คำตอบเร็วๆ นี้” นายสมพาศกล่าว

ต่อมาผู้ชุมนุมได้มีการทวงถามถึงข้อเรียกอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือเรื่องของการลดค่าเทอม ซึ่งตอนนี้มีการเรียนผ่านระบบออนไลน์ และเรื่องของการบรรจุครูอัตราจ้าง พนักงานสัญญาจ้าง ให้เป็นข้าราชการประจำ

นายสมพาศกล่าวว่าในเรื่องของการลดค่าเทอมอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมของโรงเรียนเอกชน ภาครัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนเรื่องครูอัตราจ้างเป็นเรื่องที่ต้องกำหนดตำแหน่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูต้องดูก่อนว่างบประมาณที่จะจ้างครูอัตราจ้างเพิ่มขึ้นเท่าไร จะกำหนดตำแหน่งได้กี่ตำแหน่ง ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

น.ส.ธนพร วิจันทร์ หรือไหม แกนนำกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า ที่เครือข่ายแรงงานมายื่นวันนี้ ถ้านายกฯเห็นความสำคัญของหนังสือขอให้ออกมาแถลงว่าข้อเรียกร้องวันนี้ที่เครือข่ายแรงงานมายื่นนั้นสามารถทำได้ หรือทำไม่ได้เพราะอะไร ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงหลังจากมีการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ เพราะพวกเราต้องการฟัง ถ้าวันนี้ท่านบอกว่าทุกเรื่องท่านรับหนังสือไป และไม่ได้นิ่งนอนใจ ขอให้แถลงข้อเรียกร้องทั้งหมดที่มายื่นในวันนี้ และเย็นนี้ขอให้มีการออกแถลง ถ้าไม่แถลงจะขอสาปแช่ง พล.อ.ประยุทธ์ให้มีอันเป็นไป ไม่ต้องอยู่ในรัฐสภานี้อีก เพราะเขาต้องการคนที่จะมาแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติและประชาชน ขอให้ทุกท่านที่มารับหนังสือวันนี้ได้นำเรื่องนี้ส่งให้กับนายกฯ

หลังจากมีการยื่นหนังสือถึงตัวแทนรัฐบาลแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำกิจกรรมเดินเหยียบลงไปที่ป้ายไวนิลหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐ โดยมีตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวว่า ช่วยกันไล่ไปเลยพรรคนี้ ให้ออกไปจากประเทศไทยสักที เพราะไม่ได้เรื่อง เป็นพรรคที่โกหกหลอกลวง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 8/2/2565

เปิดสถิติแรงงานไทยพบ 5.3 แสนคน ทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

นางปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 4 ปี 2564 และตัวชี้วัดด้านแรงงานที่สำคัญ ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โครงสร้างตลาดแรงงานไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากผู้ประกอบการลดการจ้างแรงงานลงและเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แรงงานถูกเลิกจ้างหรือถูกพักงานโดยไม่มีรายได้หรือลดรายได้จากการลดจำนวนชั่วโมงการทำงาน รวมถึงแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ๆ มีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น

สำนักงานสถิติแห่งชาติติดตามสถานการณ์แรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยลงพื้นที่สำรวจภาวะการทำงานของประชากรทั่วประเทศ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เป็นข้อมูลดัชนีชี้วัดตลาดแรงงานที่สำคัญ เช่น การมีส่วนร่วมของกำลังแรงงาน การจ้างงาน และผลิตภาพแรงงาน เป็นต้น

จากผลสำรวจพบว่าโครงสร้างกำลังแรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 57.2 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 38.6 ล้านคน และในจำนวน 38.6 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 37.9 ล้านคน (ไตรมาส 3 จำนวน 37.7 ล้านคน) ผู้ไม่มีงานทำ 6.3 แสนคน (ไตรมาส 3 จำนวน 8.7 แสนคน) และเป็นผู้รอฤดูกาลประมาณหนึ่งแสนคน ส่วนผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวน 18.5 ล้านคน โดยอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 คือ 67.6%

สถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 ปี 2564 มีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2564 ภายหลังจากมาตรการด้านโควิดของรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายขึ้น แรงงานมีงานทำมากขึ้น และมีการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับเข้ามาสู่ภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิต อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 66.3% โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคการบริการและการค้า (45.1%) รองลงมาคือ ภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิต ตามลำดับ (33.2% และ 21.6%) อาชีพกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง เป็นกลุ่มอาชีพที่มีอัตราการมีงานทำมากที่สุด รองลงมาคือ พนักงานบริการและผู้จำหน่ายสินค้า เมื่อวิเคราะห์เชิงลึก พบว่า อาชีพกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง มีอัตราการมีงานทำสูงที่สุด

ทั้งนี้เป็นการทำงานที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานในรอบสัปดาห์ที่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง (49.3%) และน้อยกว่า 1 ชั่วโมง (39.8%) คิดเป็นจำนวนแรงงานกว่า 5.3 แสนคน มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพกลุ่มอื่น สำหรับกลุ่มอายุที่มีงานทำสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-54 ปี 35-44 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ โดยอัตราการมีงานทำอยู่ระหว่าง 21 – 24% ในขณะที่การมีงานทำของเยาวชนหรือผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี อัตราการมีงานทำประมาณ 9%

“แนวโน้มผู้เสมือนว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ที่มีงานทำภาคเกษตรกรรม 0-20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และกลุ่มผู้ที่มีงานทำนอกภาคการเกษตรกรรม 0-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เรียกว่า ผู้เสมือนว่างงาน จากผลสำรวจในไตรมาส 4 ปี 2564 มีจำนวน 2.6 ล้านคน เพิ่มจากไตรมาส 3 ปี 2564 สองแสนหกหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาชีพในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตร ป่าไม้ และประมง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ว่างงานในอนาคตได้”

เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงระหว่างไตรมาสเพื่อศึกษาและวิเคราะห์สถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมนั้น จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงจำนวนผู้มีงานทำภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิตระหว่างไตรมาส 3 และ 4 ปี 2564 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น คือ 1.3% และ 0.6% ตามลำดับ

ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของผู้มีงานทำลดลง (-0.7%) และเมื่อเปรียบเทียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อนหน้า (ไตรมาส 4 ปี 2563) พบว่า ผู้มีงานทำในภาคการบริการและการค้า และภาคการผลิต มีอัตราเปลี่ยนแปลงผู้มีงานทำลดลง (-1.2% และ -4.0%)

ผู้มีงานทำในไตรมาส 4 ปี 2564 ที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เมื่อพิจารณาชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ของผู้มีงานทำน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พบว่า มีจำนวน 6.95 ล้านคน เป็นกลุ่มไม่ประสงค์ทำงานเพิ่ม 6.51 ล้านคน และประสงค์ทำงานเพิ่ม 0.44 ล้านคน สำหรับผู้ที่มีจำนวนชั่วโมงทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และประสงค์ที่จะทำงานเพิ่มนั้น เรียกว่า ผู้ทำงานต่ำระดับด้านเวลา คิดเป็น 1.2 % ส่วนผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (โอกาสเป็นผู้ว่างงานแฝง) คิดเป็นร้อยละ 1.9

ส่วนสถานการณ์การว่างงานมีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น ผลสำรวจพบว่า ผู้ว่างงานลดลงจาก 8.7 แสนคน ในไตรมาส 3 เหลือ 6.3 แสนคนในไตรมาส 4 เป็นผลต่อเนื่องมาจากมาตรการภาครัฐที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศในพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดสำคัญๆ โดยระยะการว่างงานของ ผู้ว่างงาน ประมาณ 62% เป็นการว่างงานระยะกลาง และเป็นการว่างงานของเยาวชนมากที่สุด ในจำนวนผู้ว่างงานทั้งหมด แบ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 3.8 แสนคน และไม่เคยทำงานมาก่อน 2.5 แสนคน

โดยผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน มีแนวโน้มว่าจะเป็นนักศึกษาจบใหม่ โดยจากสถิติการศึกษาในแต่ละปีมีผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับประมาณสามแสนคน และเมื่อสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมในการหางาน หรือสมัครงานของ ผู้ว่างงานทั้งที่เคยทำงานก่อน และไม่เคยทำงานมาก่อน พบว่าในช่วง 8-30 วันที่ผ่านมา มีการหางานและสมัครงาน ประมาณร้อยละ 50 (ไม่เคยทำงานมาก่อน 54.5% เคยทำงานมาก่อน 46.9%)

อย่างไรก็ตามปัญหาการว่างงานระยะยาว ยังต้องจับตามอง ปัญหาการว่างงานระยะยาว หรือ การว่างงานที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สะท้อนระดับปัญหาการว่างงานของประชากร โดยในไตรมาส 4 อัตราการว่างงานระยะยาวในสัดส่วนที่สูง คือ 0.4 % ในขณะที่ไตรมาส 3 อยู่ที่ 0.2 % นอกจากนี้ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่การว่างงานระยะยาวเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี รองลงมา คือ ผู้ที่มีอายุ 25-34 ปี

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 7/2/2565

ไรเดอร์ไลน์แมนนับร้อยคนใน อ.หาดใหญ่ รวมตัวเรียกร้องค่ารอบเพิ่ม เนื่องจากรายได้สวนทางกับรายจ่าย โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่แพงขึ้น

7 ก.พ. 2565 ที่บึงศรีภูวนาถ ถนนศรีภูวนารถ เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา มีกลุ่มไรเดอร์ไลน์แมนใน อ.หาดใหญ่ มากกว่า 100 คน พร้อมรถจักรยานยนต์ได้มารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องค่าตอบแทนเพิ่ม เนื่องจากค่าน้ำมันแพง งานเท่าเดิมและจำนวนไรเดอร์ไลน์แมนที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้รายได้ลดลงสวนทางกับค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะต้นทุนค่าน้ำมัน

ตัวแทนไรเดอร์ไลน์แมนใน อ.หาดใหญ่ เปิดเผยว่า ผลตอบแทนต่อรอบใน อ.หาดใหญ่ จากเดิมเริ่มต้นที่ 25.50 บาท บวกเงินขยัน 6.80 บาท หักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว เหลือ 31.33 บาท แต่ตอนนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนลงมาเหลือ 28 บาทถ้วน เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว เหลือ 27.16 บาทต่อเที่ยว ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นโดยเฉพาะค่าน้ำมัน โดยต้องการให้ทางบริษัทพิจารณาค่าตอบแทนให้กลับมาเท่าเดิมเที่ยวละ 31.33 บาท หลังจากนี้จะเข้ายื่นเรื่องกับศูนย์ดำรงธรรมจ.สงขลา เพื่อหาช่องทางการช่วยเหลือตามข้อเรียกร้องอีกครั้ง

ที่มา: ข่าวสด, 7/2/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net