Skip to main content
sharethis

สนทนา ครป.house ขึ้นบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse ตอน 'รักฉันที่ฉันเป็น: ขอกฎหมายรับรองเพศสภาพ' แนะควรมีกฎหมายรับรองให้เกี่ยวกับการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ ถ้าบุคคลไม่อยากจะเป็น 'นางสาว' หรือ 'นาย' ก็สามารถมีคำนำหน้านามอีกแบบได้

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าเมื่อ 12 ก.พ. 2565 ครป. ร่วมกับสถาบันสังคมประชาธิปไตย จัดกิจกรรมสนทนา ครป.house ขึ้นบนแอพพลิเคชั่น Clubhouse ตอน “รักฉันที่ฉันเป็น: ขอกฎหมายรับรองเพศสภาพ” โดยมีผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย คณาสิต พ่วงอำไพ ตัวแทนอัตลักษณ์ นอนไบนารี่ กลุ่มนอนไบนารี่แห่งประเทศไทย, ณฐกมล ศิวะศิลป ตัวแทนอัตลักษณ์อินเตอร์เซ็กส์ กลุ่มอินเตอร์เซ็กส์ไทยแลนด์, ภารวี อากาศน่วม ตัวแทนอัตลักษณ์ transmasculine ผู้ก่อตั้งกลุ่ม AroAce-clusionist: Aromantic & Asexual Exist โดยมีศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มาร่วมรับฟังและพูดคุย ดำเนินการสนทนาโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์ กรรมการ ครป. 
    
วรภัทร กรรมการ ครป. ในฐานะผู้ดำเนินรายการได้กล่าวนำการสนทนาว่าในปัจจุบันปัญหาหนึ่งที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยประสบพบเจอ คือการไม่ได้รับการยอมรับในเพศสภาพที่บุคคลหลากหลายทางเพศนั้นได้เลือก ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาในการเข้าถึงสิทธิ การบริการต่างๆที่เหมาะสม รวมถึงในด้านอาชีพ การสมัครงาน ทั้งยังมีช่องให้เกิดการล่วงละเมิดในสิทธิบนเนื้อตัวร่างกาย ความเป็นส่วนบุคคลมากมาย จึงเป็นที่มาของการที่ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เริ่มคิดกันในเรื่องการมีกฎหมายรับรองเพศสภาพ ที่ให้บุคคลสามารถใช้คำนำหน้าชื่อตามเพศสภาพของตนได้ เพื่อแก้ปัญหาการถูกปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมตามเพศสภาพ หรือการเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ในทางกฎหมายของรัฐ 
    
คณาสิต กลุ่มนอนไบนารีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่จริงแล้วเรื่องความต้องการมี “กฎหมายรับรองเพศสภาพ” ที่แม้ว่าพวกเราชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นกลุ่มที่ส่งเสียงเรียกให้กฎหมายนี้เกิดขึ้น แต่ที่จริงแล้วต้องเรียกว่ามันเป็นกฎหมายของคนทุกคน เป็นกฎหมายเพื่อทุกคนที่ถูกกดทับภายใต้สังคมระบบ 2 เพศ (Binary) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันรื้อถอน ซึ่งเราต้องสู้ทั้งในภาคการรณรงค์ ระบบการศึกษา ระบบวัฒนธรรม ไปจนถึงระบบกฎหมาย ซึ่งกรณี คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่า การที่กฎหมายอนุญาตให้เฉพาะชายกับหญิงตามเพศกำเนิดเท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ เพราะว่าสามารถสืบพันธุ์ได้ นั่นคือตัวอย่างของระบบสังคม 2 เพศที่ฝังตัวอยู่และสร้างปัญหาความไม่เป็นธรรมทุกวันนี้ การมีกฎหมายนี้จึงไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่มันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของสังคม ซึ่งความเป็นปิตาธิปไตย (สังคมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่) การกดขี่ทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวก็ล้วนมาจากความเป็นสังคม2เพศทั้งสิ้น
    
อย่างตนในฐานะคนที่มีสำนึกทางเพศเป็นนอนไบนารี (Non-binary) มาตั้งแต่7ขวบก็มีความเห็นว่าควรต้องมีกฎหมายที่รองรับเพศสภาพ เพื่อให้คนที่มีสำนึกทางเพศสภาพแตกต่างไปจากเพศกำเนิดจะได้เติบโตอย่างเข้าใจตนเอง มีสุขภาพจิตที่ดี และมีความภาคภูมิใจคือสิ่งสำคัญของความเป็นมนุษย์ การถูกเบียดขับจากสังคม ถูกบังคับให้ต้องเลือกเป็นเพศหญิงหรือเพศชายเพราะอวัยวะเพศที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด มันเป็นความทุกข์ทรมานทางจิตใจของคนที่เป็นนอนไบนารี เราจึงต้องการให้เอกสารต่างๆมีช่องที่เราสามารถเลือกที่จะไม่ระบุเพศ หรือช่องที่ระบุว่าเป็นกลางทางเพศก็ตามแต่ อันนี้ยังต้องหารือกันต่อไป แต่มันต้องมีช่องที่ให้เราระบุได้ว่าไม่ใช่ชายหรือหญิงตั้งแต่ตอนเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่นอนไบนารีกับ อินเตอร์เซ็กส์มีความต้องการร่วมกัน หรือแม้แต่อย่างผู้หญิงข้ามเพศ(Trans woman)ก็ควรมีสิทธิที่จะระบุGender Marker (เครื่องหมายทางเพศ) รวมถึงคำนำหน้านามเป็นเพศหญิงอย่างถูกต้องได้ในเอกสารตั้งแต่สูติบัตรจนถึงมรณะบัตร ซึ่งจะนำไปสู่การที่รัฐจะมองเห็นพวกเราที่มีความแตกต่างหลากหลายกันในเรื่องเพศสภาพ อันจะนำไปสู่วิธีการปฏิบัติที่เคารพความเป็นมนุษย์ ได้รับความเข้าใจ ได้รับความคุ้มครอง 
    
ณฐกมล กลุ่มอินเตอร์เซ็กส์ ไทยแลนด์ ในประเด็นของอินเตอร์เซ็กส์มันมีช่องว่างที่ใหญ่มาก คือกฎหมายเพศรับรองเพศสภาพพูดถึงคนที่บรรลุนิติภาวะและรู้ว่าตนเป็นเพศอะไร แต่สำหรับคนเป็นอินเตอร์เซ็กส์ กลุ่มคนที่มีอวัยวะเพศคลุมเครือตั้งแต่กำเนิดนั้นมักไม่มีโอกาสได้เลือกเป็นเพศที่ตนต้องการจะเป็น เพราะเมื่อมนุษย์ถือกำเนิดขึ้น เรามักจะถูกกำหนดเพศเป็นชายหรือหญิงโดยดูจากอวัยวะเพศ เท่าที่ตนไปสืบค้นสูติบัตรในโรงพยาบาลต่างๆ บางโรงพยาบาลมีช่องอินเตอร์เซ็กส์ บางโรงพยาบาลไม่มี ก็คือความเป็นเอกภาพในเรื่องนี้ยังไม่มี ทั้งๆ ที่มันสำคัญกับทารกอินเตอร์เซ็กส์ตรงที่ว่าจริงๆ แล้ว แพทย์ไม่ควรที่จะต้องตัดสินในทันทีว่าทารกที่ถือกำเนิดมาพร้อมอวัยวะเพศ 2 เพศหรือมีอวัยวะเพศที่กำกวมนั้นจะต้องเป็นเด็กชายหรือเด็กหญิง เพราะว่าตัวทารกเองก็ยังไม่สามารถตัดสินใจ อวัยวะเพศเองก็บ่งชี้ไม่ได้ แล้วจะให้บิดามารดามาตัดสินใจให้ได้อย่างไร?
    
การมีอวัยวะเพศที่คลุมเครือตั้งแต่กำเนิดมันนำมาสู่การที่แพทย์ต้องตัดสินใจทำการเลือกเพศให้ โดยการตัดอวัยวะบางอย่างออกให้เหลือเพียงอวัยวะอย่างเดียว ซึ่งความจริงคนอินเตอร์เซ็กส์สามารถอยู่ได้กับอวัยวะตามธรรมชาติของตนเอง ถ้ามันไม่ได้จำเป็นต่อความปลอดภัยในชีวิตหรือสุขภาพจริงๆ มันก็ไม่จำเป็นต้องตัดอะไรออกเลย อย่างของตนเองเกิดมาไม่มีช่องคลอด หมอก็ทำช่องคลอดเทียมให้ตนเป็นผู้หญิงซึ่งเป็นการถูกกำหนดที่ตนไม่ได้เลือกเอง ในทางสิทธิมนุษยชน การตัดอวัยวะเพศโดยที่ตนเองไม่ยินยอม ถือว่าเป็นการทรมานอันทารุณโหดร้ายไร้มนุษยธรรม ถ้าวันนึงทารกที่ถูกตัดอวัยวะเพศหลังจากการถูกเลือกเพศให้ภายใต้กรอบความเป็นหญิง-ชาย แล้วเขาเติบโตมาเขาไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเป็นเพศนั้น ควรจะทำอย่างไร? จึงอยากได้กฎหมายที่ระบุห้ามเลือกเพศให้บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และห้ามทำการผ่าตัดอวัยวะเพศที่คลุมเครือตราบที่ไม่ได้เป็นกรณีที่อันตรายถึงแก่ชีวิต (เช่นเกิดมาแล้วไม่มีท่อถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ ซึ่งจำเป็นต้องการทำการผ่าตัดให้เกิดท่อเพื่อป้องกันภาวะไตวาย)
    
ภารวี กลุ่ม AroAce-clusionist: Aromantic & Asexual Exist ซึ่งได้แสดงตนว่าเป็นผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็น Transmasculine (ชายข้ามเพศ) ที่มีความเป็น Aromantic (ผู้ที่ไม่มีความรู้สึกรักใคร่แบบชู้สาว) และเป็น Asexual (ไม่ฝักใจทางเพศ)ด้วย ก็ได้เล่าถึงเรื่องของกลุ่มชายข้ามเพศ (Transman) หรือหญิงข้ามเพศ (Trans woman) ที่มีลักษณะของเนื้อเสียงในการพูด กับคำนำหน้านามไม่ตรงกัน เวลาไปทำธุรกรรมกับธนาคารก็จะมีปัญหา อย่างการที่มีลักษณะเสียงเป็นผู้ชาย แต่มีคำนำหน้านามเป็น “นางสาว” อยู่ ก็จะมีปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ไม่สามารถระบุยืนยันความเป็นบุคคลที่ถูกต้องได้ตามรายละเอียดที่ได้รับมา ไม่ได้ผิดตัว หรือเป็นบุคคลแอบอ้าง ก็เป็นเรื่องที่ลำบากใจกันทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งถ้ากฎหมายไม่เปลี่ยนแปลง ความลำบากใจของผู้ให้บริการที่ไม่เข้าใจ หรือจำต้องละลาบละล้วงความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการเพราะกลัวความผิดพลาด กับผู้รับบริการที่ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวก็จะดำรงอยู่ต่อไป
    
เราตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีกฎหมายที่มารับรองอัตลักษณ์ทางเพศมากกว่าชายกับหญิงสักที เรารู้ได้อย่างไรว่า อัตลักษณ์ชายหรือหญิงเป็นอัตลักษณ์ที่มั่นคงมากขนาดนั้น หลายคนชอบพูดว่าความเป็นชายกับหญิงมีมานานแล้ว เป็นธรรมชาติของสังคม คำถามคือเรารู้ได้อย่างไรว่าความเป็นชายหรือหญิงมันคือธรรมชาติจริงๆ? ความเป็นชายหรือหญิงอาจได้รับการเชิดชูจากสังคมส่วนใหญ่ แต่มันไม่ได้แปลว่าอัตลักษณ์ทางเพศแบบอื่นๆจะต้องมีคุณค่าน้อยกว่าความเป็นชายกับหญิง ความเป็นชายกับหญิงก็เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างเป็นค่านิยมขึ้นมาเหมือนกัน จริงๆแล้วมันอาจไม่ได้มีใครเกิดมาแล้วเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง มันอาจมีแค่ว่าเกิดมาแล้วมีอวัยวะเพศแบบไหนแค่นั้นเอง ถ้าเรารับรองความเป็นเพศชายหรือหญิงซึ่งก็เป็นสิ่งสมมติได้ เพศอื่นๆก็ควรมีสิทธิในการระบุเพศของตนเองได้ตามความเป็นจริงในเพศสภาพที่เขาเป็นเช่นเดียวกัน
    
ศยามล กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เล่าว่าตนได้อ่านรายงานของ กสม. ชุดก่อน ก็ได้เห็นความกังวลที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในวงการตำรวจ คนในกระบวนการยุติธรรมว่าจะตรวจสอบอัตลักษณ์ของบุคคลอย่างไร ถ้าหากมีคำนำหน้านามไม่ตรงเพศกำเนิด ก็เห็นว่าการเป็นบุคคลหลากหลายทางเพศตั้งแต่เกิดจนตายจะเจออุปสรรคทุกขั้นตอน ก็เห็นว่าเราควรมีกฎหมายรับรองให้เกี่ยวกับการใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ ถ้าบุคคลนั้นเลือกที่จะเป็นผู้หญิงก็ต้องใช้คำนำหน้านามเป็นนางสาวได้ ถ้าบุคคลนั้นเลือกที่จะเป็นชายก็ใช้คำนำหน้าว่านายได้ หรือถ้าบุคคลไม่อยากจะเป็นนางสาวหรือนาย ก็สามารถมีคำนำหน้านามอีกแบบได้ ทั้งนี้กฎหมายนี้ต้องคิดให้ครอบคลุมชีวิตของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย โดยมีข้อความระบุว่าการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ยอมรับในคำนำหน้านามที่บุคคลนั้นเลือก เช่นกฎหมายทะเบียนราษฎร กฎหมายทะเบียนสมรส ฯลฯ 
    
และในวงสนทนานี้ ก็ยังได้พูดถึงเรื่องว่าในการใช้คำนำหน้านามว่า อาจะให้มีทั้ง “นาย” / “นางสาว” / “นาง” และ “นาม” ซึ่งในกรณีของการใช้คำนำหน้าชื่อภาษาไทยว่า “นาม” ในภาษาอังกฤษก็อาจใช้คำว่า “Mix” และตัวย่อในก็ให้เป็น “MX.” ซึ่งก็ตรงกับในหลายๆประเทศใช้กันอยู่ นอกจากการเปลี่ยนคำนำหน้านามแล้ว เราก็ต้องการเปลี่ยน Gender Marker ด้วย ตัวอย่างต่างประเทศก็มีการใช้ว่าเป็น Gender X หรืออีกทางเลือกคือ ไม่ระบุคำนำหน้าชื่อไปเลย เพื่อรองรับกลุ่มที่เป็นนอนไบนารีด้วย ก็เป็นสิ่งที่ทำได้พร้อมกันหมด แต่ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่ยังต้องหารือกันต่อไปเพื่อหาข้อสรุป


     
*สำหรับผู้ที่ต้องการรับฟังย้อนหลัง สามารถเข้าไปฟังได้ที่ https://zhort.link/yOp

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net