Skip to main content
sharethis

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ค้านนำโรค COVID-19 ออกจากการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หากไม่มีรักษาฟรีคาดระบาดมากขึ้นในกลุ่มครอบครัวรายได้น้อยและกลุ่มแรงงานกระทบเศรษฐกิจรุนแรง - ควรปรับเพิ่มค่าขนส่งไม่เกิน 5-10% หากปรับสูงถึง 20% จะทบอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าและบริการมากเกินไป อัตราเฟ้อเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีอาจปรับตัวสูงกว่า 3.5%-4% ได้  


แฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

13 ก.พ. 2565 รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า ค้านนำโรคโควิดออกจากการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากจะกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อยอย่างมาก และ กระทบต่อแรงงานรายวัน และยังจะทำให้การป้องกันและควบคุมทำได้ยากลำบากขึ้นเนื่องจากแรงงานรับจ้างรายวันจะไม่บอกนายจ้างว่าตนเองป่วย หรือ ป่วยก็จะไม่ยอมไปรักษาหรือกักตัวเป็นพาหนะของการแพร่เชื้อได้ หากไม่มีรักษาฟรีคาดว่าจะมีระบาดมากขึ้นในกลุ่มครอบครัวรายได้น้อยและกลุ่มแรงงาน และในที่สุดจะส่งกระทบเศรษฐกิจรุนแรง หากรัฐบาลยังเดินหน้ารักษาฟรีโดยยังกำหนดให้ โรคโควิดโอมิครอนเป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉินจะทำให้การกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจไม่สะดุด รัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีมากขึ้นและสามารถนำมาจ่ายให้กับงบประมาณสาธารณสุขได้ เราสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องงบประมาณด้วยการปรับลดงบซื้ออาวุธนำมาเพิ่มให้กระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้การรักษาโควิดสามารถดำเนินต่อไปได้จนกว่าการระบาดจะยุติ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่เจ็บป่วยที่จำเป็นต้องพัก Hospitel และโรงพยาบาลสนาม รัฐบาลยังคงต้องดูแลค่าใช้จ่ายให้ต่อไป

ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนั้น ไม่มีประกันสุขภาพจากภาคเอกชนอยู่แล้ว ส่วนประชาชนที่ซื้อประกันสุขภาพภาคเอกชน ต่อไปหากมีการประกาศให้ โรคโควิด เป็น โรคประจำถิ่น สมาคมประกันชีวิตไทยก็อาจออกแนวทางในการไม่จ่ายค่าชดเชยรายวันและค่ารักษาพยาบาลอาจไม่ครอบคลุมผู้ป่วยแบบ Home Isolation หรือรักษาที่บ้าน อันอาจทำให้ประชาชนผู้ถือกรมธรรม์เสียสิทธิได้ การประกาศให้ “โรคโควิด” เป็น “โรคประจำถิ่น” ต้องมีความมั่นใจอย่างชัดเจนว่า โรคโควิด จะไม่กลับมาระบาดและต้องปิดเมืองปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันอีก รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าไม่เห็นด้วยกับการนำวัคซีนคุณภาพต่ำฉีดให้นักเรียน ควรใช้วัคซีนคุณภาพสูงฉีดให้นักเรียน เพราะการใช้วัคซีนคุณภาพต่ำจะไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้ และ เกิดความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพลูกหลานไทยในระยะยาว 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่าสินค้าและบริการใดที่มีต้นทุนสูงขึ้นโดยเฉพาะจากราคาน้ำมันและพลังงานที่สูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ควรให้ปรับราคาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงไม่ใช่ฉวยโอกาสขึ้นราคา หากไม่ให้ปรับขึ้นราคาตามต้นทุนจะทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนสินค้าได้ ส่วนสินค้าและบริการจำเป็นพื้นฐานนั้น รัฐบาลควรเข้ามาอุดหนุนหรือแทรกแซงกลไกราคาไม่ให้ราคาสูงเกินจนประชาชนไม่สามารถซื้อหาได้และเกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต ในเรื่องความเคลื่อนไหวของสมาพันธ์ขนส่งขอเสนอให้ปรับขึ้นราคาขนส่งนั้นเห็นว่า ควรให้ปรับขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรับเพิ่มค่าขนส่งไม่เกิน 5-10% หากปรับสูงถึง 20% จะกระทบอัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าและบริการมากเกินไป อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีอาจปรับตัวสูงกว่า 3.5%-4% ได้และราคาขนส่งที่ปรับเพิ่มนั้นส่วนหนึ่งควรนำไปเพิ่มสวัสดิการให้กับแรงงานขับรถขนส่งที่มีสวัสดิการไม่ดีนักและมีค่าจ้างค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับชั่วโมงการทำงานยาวนาน   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net