หลังแถลงร่วมกับตำรวจรัฐกะเรนนีว่าจะเตรียมฟ้องคณะรัฐประหารพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ล่าสุดกลุ่มสิทธิเปิดเผยรายงานการรวบรวมหลักฐานพบว่ากองทัพพม่าใช้ประชาชนเป็นโล่มนุษย์และสังหารพลเรือนไปอย่างน้อยหลายสิบคน พร้อมเรียกร้องให้อาเซียนสนับสนุนการห้ามซื้อขายอาวุธกับกองทัพพม่า
สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานการเปิดเผยข้อมูลใหม่ของกลุ่ม Fortify Rights เมื่อ 15 ก.พ. ที่ผ่านมาว่าการฆาตกรรมพลเรือน และใช้พลเรือนเป็นโล่มนุษย์ ระหว่างการโจมตีภาคตะวันออกของรัฐกะเรนนีหลายครั้ง อาจเป็นความผิดทางอาญาในข้อหาอาชญากรรมสงคราม
- อ่านข่าวเพิ่มเติม: ตำรวจรัฐกะเรนนีเตรียมฟ้องทหารพม่าต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมา กลุ่ม Fortify Rights บันทึกการโจมตีโบสถ์ บ้านพักอาศัย ค่ายผู้ลี้ภัย และเป้าหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารอื่นๆ ในรัฐกะเรนนี หรือรัฐกะยาห์ มาโดยตลอด ตั้งแต่ พ.ค. 64 ถึง ม.ค. 65 และพบว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่างนี้อย่างน้อย 61 คน
รายงานของกลุ่ม Fortify Rights ถูกเผยแพร่ออกมาขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสมาชิกอาเซียนกำลังจะเข้าร่วมการประชุมที่กัมพูชา ขณะที่ฉันทามติ 5 ข้อที่ตกลงกับกองทัพเมื่อ เม.ย. 64 เพื่อยุติความรุนแรงยังไร้ความคืบหน้าใดๆ
ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน
1. ยุติความรุนแรงในพม่าโดยทันทีและทุกฝ่ายต้องกระทำการโดยอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด
2. จะต้องเริ่มการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกอย่างสันติโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
3. ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะเป็นผู้ประสานงานและตัวกลางของกระบวนการเจรจา โดยการสนับสนุนจากเลขาธิการอาเซียน
4. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre)
5. ผู้แทนพิเศษและคณะตัวแทนจะเดินทางไปพม่าเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
แหล่งที่มา: อัลจาซีรา
จากการเปิดเผยรายงานนี้ กลุ่ม Fortify Rights ยังเรียกร้องให้อาเซียนสนับสนุนการห้ามซื้อขายอาวุธในทันทีอีกด้วย
“กองทัพคณะรัฐประหารพม่ากำลังสังหารประชาชนด้วยอาวุธที่ได้รับการจุนเจือจากตลาดโลก และการกระทำเช่นนี้ต้องยุติ” อิสมาอิล วูล์ฟฟ์ ผู้อำนวยการภูมิภาคของกลุ่ม Fortify Rights ระบุในแถลงการณ์ “การกระทำที่ชัดเจนและแน่นอนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อผลักดันให้คณะรัฐประหารพม่าทบทวนการโจมตีพลเรือนของตนเอง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องสั่งห้ามซื้อขายอาวุธกับกองทัพพม่าโดยทันที และจะเป็นการเหมาะสมในเชิงยุทธ์ศาสตร์และเหตุผลหากอาเซียนสนับสนุนด้วย”
รายงานของ Fortify Rights มาจากคำให้การของพยานในเหตุการณ์และผู้รอดชีวิตกว่า 31 คน รวมถึง หลักฐานภาพถ่ายและวิดิโอที่ได้รับการพิสูจน์ความถูกต้องแล้ว ซึ่งเปิดเผยรายละเอียดใหม่เกี่ยวกับการสังหารประชาชนในวันคริสมาสต์อีฟที่เมืองพรูโซ ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 40 ราย รวมถึงเด็กและเจ้าหน้าที่ของกลุ่ม Save the Children ด้วย
แพทย์ที่ทำงานชันสูตรศพของผู้ที่ถูกฆ่าบอกกับ Fortify Rights ว่าศพของบางคนถูกเผาจนไม่สามารถชันสูตรได้ แต่ทีมของเขาก็สามารถยืนยันได้ว่าศพของ 5 คนเป็นของผู้หญิง ส่วนศพของอีกคนเป็นของเด็กหญิงที่อายุต่ำกว่า 15 ปี
“บางคนในปากเต็มไปด้วยผ้า เราจึงค่อนข้างมั่นใจว่าพวกเขาถูกยัดปาก” แพทย์บอกกับ Fortify Rights “กะโหลกของเกือบทุกคนมีรอยร้าวและแตกหักอย่างเลวร้าย...[ในศพของบางคน] เราสามารถรวบรวมหลักฐานได้เพียงพอจนบอกได้ว่าพวกเขาถูกเผาทั้งเป็น”
ในอีกกรณีหนึ่ง Fortify Rights บอกว่ากองทัพพม่าใช้ชายอายุ 18 ปี ลุงของเขา และชายอีก 2 คนเป็นโล่มนุษย์ระหว่างการปะทะกับข้าศึกจากกองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่าในเมืองมองบาย ซึ่งมีชายแดนติดกับรัฐฉาน
“ทหารพาดปืนบนบ่าของเราและยิงกองกำลังพิทักษ์ประชาชน โดยยืนอยู่ข้างหลังเรา” ชายคนหนึ่งบอกกับ Fortify Rights “เราถูกจับมัดและปิดตา เราถูกซ้อมทรมานเยอะมาก ด้วยวิธีหลายอย่าง พวกเขาเตะร่างกายเรา ทุบหัวเราด้วยด้ามปืน และอื่นๆ” Fortify Rights ระบุว่าชาย 3 คนหนีออกมาได้ในท้ายที่สุด แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชายคนที่ 4
‘องค์กรอาชญากรรม’
ที่ผ่านมา กองทัพพม่าพยายามใช้กำลังเพื่อพยายามปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร ด้วยการสลายการชุมนุมและยกระดับการโจมตีกองกำลังต่อต้านรัฐประหาร และเขตพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับรัฐบาลทหารพม่ามาตลอดหลายสิบปี
ข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า (AAPP) ซึ่งติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า ณ วันที่ 14 ก.พ. 65 มีผู้เสียชีวิตจากความรุนแรงแล้วอย่างน้อย 1,549 คน และมีผู้ถูกจับแล้วกว่า 12,000 คน
“ผู้นำรัฐประหาร พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง ลาย และกองกำลังของเขาอ้างว่าต่อสู้กับ ‘ผู้ก่อการร้าย” Fortify Rights ระบุในรายงาน “แต่กองกำลังของเขากลับกำลังปฏิบัติการเหล่านี้และก่ออาชญากรรมชั่วร้ายอื่นๆ ต่อประชากรพลเรือน โดยไม่ต้องรับผิดแม้แต่น้อย”
Fortify Rightsระบุว่าการสั่งห้ามทั่วโลกไม่ให้ขายอาวุธและเทคโนโลยีที่อาจนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหารได้แก่กองทัพพม่า ซึ่งนำโดยองค์การสหประชาชาติ เป็นมาตรการที่สำคัญอย่างยิ่ง และองค์การสหประชาชาติควรบังคับให้มีการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเพื่อยับยั้งกองทัพไม่ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ โดยเฉพาะรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติ
Fortify Rights ยังระบุด้วยว่าสถานการณ์ในพม่าควรถูกส่งไปให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นผู้ดำเนินคดี
ข้อมูลของเครือข่ายประชาสังคมกะเรนนีระบุว่าที่ผ่านมามีพลเรือนกว่า 170,000 คน จากประชากรของรัฐกะเรนนีทั้งหมด 300,000 คน ที่ถูกบังคับให้ต้องทิ้งบ้านของตัวเองจากการโจมตีอย่างต่อเนื่องของทหาร
ความพยายามทางการทูตเพื่อหาทางออกให้กับวิกฤติการณ์ในพม่าคืบหน้าไปน้อยมาก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเคยออกแถลงข่าวเพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าเพียง 5 ครั้ง และเคยออกแถลงการณ์ของประธานคณะมนตรีเพียงครั้งเดียวเมื่อ 10 มี.ค. 64
ด้านอาเซียน ซึ่งพม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกภายใต้ระบอบทหารในปี 2540 พยายามริเริ่มหาทางออก แต่ก็แทบไม่ประสบความสำเร็จเลยเช่นกัน อัลจาซีราระบุ เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมอาเซียนที่จะเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้ แต่จะมีการเชิญ “ตัวแทนที่ไม่ใช่ฝ่ายการเมือง” เข้าร่วมแทน
Fortify Rights ระบุว่าถึงเวลาแล้วที่อาเซียนต้องแสดงจุดยืนแข็งกร้าวขึ้นเพื่อต่อต้านผู้นำคณะรัฐประหาร พร้อมเรียกร้องให้อาเซียนเริ่มสนทนากับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า ที่ก่อตั้งขึ้นโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและถูกยึดอำนาจ และเริ่มสนทนากับตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์
“คณะรัฐประหารไม่ใช่รัฐบาล มันคือองค์กรอาชญากรรม และไม่สมควรได้อยู่ในโต๊ะเจรจาของอาเซียน” อิสมาอิล วูล์ฟฟ์ “ถือเป็นเรื่องอันตรายหากอาเซียนให้ความชอบธรรมทางการเมืองแก่มิน อ่อง ลาย และคณะรัฐประหารของเขา”
แปลและเรียบเรียงจาก
- Myanmar military committed war crimes in Karenni state: Report https://www.aljazeera.com/news/2022/2/15/myanmar-military-committed-war-crimes-in-karenni-state-report