Skip to main content
sharethis

เมื่อ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ขอให้ทุกภาคส่วนช่วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์วาเลนไทน์ปลอดภัย “รักอย่างไร ไม่ติดโควิด” พร้อมแนะให้บอกรักผ่านไลน์ เว้นระยะห่างทางสังคม แสดงความรักด้วยการรับผิดชอบต่อส่วนรวม และรู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ก่อนหน้านี้ กรมอนามัยแนะนำให้ตรวจ ATK ก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่ดลดความเสี่ยง ขณะที่ในวันวาเลนไทน์คู่รัก LGBTQ จำนวนหนึ่งไปจดทะเบียนสมรสที่สำนักงานเขตบางขุนเทียนที่เปิดให้จดทะเบียนเชิงสัญลักษณ์ได้ในระหว่างที่รอกฎหมายมีผลบังคับใช้ในอนาคต ขณะที่ฟ้า พรหมศร ถูกนายทะเบียนปฏิเสธการจดทะเบียนด้วยเหตุผลว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

แม้จะมีเรื่องดีเรื่องร้ายปะปนกันไปในวันวาเลนไทน์ หากมองลึกลงไป ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ารัฐไทยเป็นภัยคุกคามหรือเป็นอุปสรรคขวางรักมาตลอด เนื่องในโอกาสควันหลงวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. 2565 ประชาไทชวนอ่าน 6 เรื่องราวในช่วงวิกฤติการณ์ทางการเมือง 20 ที่ผ่านมา ที่สะท้อนว่ารัฐไทยเป็นภัยต่อความรักอย่างไร

1. รักเอย

‘อำพล ตั้งนพกุล’ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘อากง’ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยเป็นภัยคุกคามต่อความรักอย่างไรได้ดีที่สุด

อำพล ตั้งนพกุล และหลานของเขาที่ศาลอาญา รัชดา วันสืบพยานสุดท้าย 30 ก.ย.54

อากงเสียชีวิตในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เมื่ออายุ 64 ปี ระหว่างต้องโทษในเรือนจำจากข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ 20 ปี หลังถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS ไปหาเลขานุการส่วนตัวของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในการดำเนินคดี อานนท์ นำภา เป็นหนึ่งในทนายความที่คอยช่วยเหลือดูแล

คนๆ หนึ่งที่เสียชีวิตไปเพราะการเมือง หรือที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเรียกในบทความ จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ว่า “ตายเพราะการเมืองเป็นพิษ” ไม่ใช่เพียงชีวิตหนึ่งที่เสียไป แต่ยังส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนรัก ครอบครัว และคนรอบข้าง

รักเอย เป็นทั้งเพลงที่รสมาลิน ตั้งนพกุล ผู้เป็นภรรยามอบให้กับอำพลในวันแต่งงาน และเป็นบันทึกความทรงจำความรักของรสมาลิน ซึ่งเรียบเรียงโดยเพียงคำ ประดับความ และไอดา อรุณวงศ์ บันทึกเล่มนี้สะท้อนให้เห็นความรักของคนธรรมดา ที่ถูกพรากโดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

อ่านรีวิวหนังสือได้ที่นี่

2. ความรักของนักกิจกรรมทางการเมือง

นอกจากจะเป็นภัยคุกคามต่อความรักของคนธรรมดาแล้ว มาตรา 112 ยังเป็นภัยคุกคามต่อความรักของนักกิจกรรมทางการเมืองอีกด้วย

ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา เพิ่งถูกปล่อยตัวออกมาเมื่อ 10 ก.พ. หลังจากถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลากว่า 6 เดือน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวให้มาพบกับคนรักของตนเอง ไผ่ เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมหลายๆ คน ที่ถูกควบคุมตัวและทำให้ไม่สามารถพบหน้าคนรักได้ เพราะออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ บทสัมภาษณ์ของ The Matter ในหัวข้อ ความรักนักกิจกรรม ที่กรงขังไม่อาจขวางกั้น เมื่อรัฐพรากคนรัก แต่ไม่อาจพรากความรัก สะท้อนประสบการณ์คนรักของนักกิจกรรมทางการเมืองได้เป็นอย่างดี

สุรีรัตน์ ชิวารักษ์ หลังจากโกนผมเพื่อเรียกร้องให้ศาลให้สิทธิประกันตัวกับพริษฐ์ ลูกชาย

ความรักไม่ใช่เพียงความรักระหว่างคนรักสองคน แต่ยังหมายถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อลูกด้วย แม้ไมค์ ภาณุพงษ์ จาดนอก จะได้รับการปล่อยตัวให้ไปพบหน้ายุพิน มะณีวงศ์ ผู้เป็นมารดาแล้ว (อย่างน้อยก็ ณ เวลานี้) แต่นักกิจกรรมหลายๆ คน ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ถูกกุมขังเป็นเวลากว่า 190 วันแล้ว ขณะที่สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ ผู้เป็นแม่และราษมัมยังคงเคลื่อนไหวเพื่อให้ลูกได้รับการปล่อยตัว

นอกจากจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามในรูปของการถูกควบคุมตัวในเรือนจำ นักเคลื่อนไหวหลายๆ คนยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามอีกหลายอย่าง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นภัยคุกคามต่อความรักที่ถักถอไว้กับคนรอบข้างด้วย เช่น การบังคับสูญหายในกรณีของสมชาย นีละไพจิตร, สุรชัย แซ่ด่าน, พอละจี รักคงเจริญ, วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กรณีเหล่านี้คนรักและสมาชิกครอบครัวยังคงเรียกร้องให้มีการสืบสวนข้อเท็จจริง

ผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายคนไม่มีโอกาสได้กลับบ้านมาพบคนที่รักเพราะรัฐคุกคามความรักของพวกเขา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่มีโอกาสพบมารดาในวาระสุดท้าย และไม่มีโอกาสแม้แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเขาบอกว่าเป็นสถานที่ๆ เขารัก เพราะต้องหนีจากการถูกคุกคามเอาชีวิตและคำสั่งเรียกตัวหลังการรัฐประหาร 2557

ในบางกรณีรัฐก็คุกคามสมาชิกของครอบครัวที่เห็นต่าง เช่น กรณีของ นพวรรณ บันลือศิลป์ และฤดีวรรณ ล่าทิพย์มารดาที่เคยถูกตำรวจเรียกไปเตือน ขณะที่แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ เพราะรายงานข่าวที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และเมื่อไม่นานมานี้ ยัน มาร์ฉัล ก็ไม่ได้มีโอกาสได้พบกับภรรยาที่ประเทศไทยอีก หลังสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสั่งห้ามเข้าประเทศเพราะเป็น “บุคคลอันตราย”

3. รักต้องห้ามของรัชกาลที่ 8

ความรักไม่เลือกชนชั้น แต่รัฐก็อาจคุกคามรักแบบไม่เลือกชนชั้นด้วย รักต้องห้ามของในหลวงรัชกาลที่ 8 สะท้อนให้เห็นประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี

ในบทสัมภาษณ์ของประชาไทกับปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เนื่องในโอกาสเปิดตัวหนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand ปวินเล่าว่าความรักระหว่างรัชกาลที่ 8 กับมาริลีน เฟอร์รารี ถูกกีดกันโดย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า เพื่อความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์

ในทศวรรษที่ 1940 สถาบันกษัตริย์ไม่ได้รับความนิยมเหมือนช่วงก่อนหน้า และไม่มีอำนาจแบบระบอบสมญาณาสิทธิ์ ขณะเดียวกันแนวคิดจากอดีตก็ยังคงอยู่ เช่น ความเชื่อว่าสมาชิกของราชวงศ์ไม่ควรแต่งงานกับคนต่างชาติ เพราะอาจนำไปสู่การแปรพักตร์ เหตุผลทั้งหมดนี้ทำให้ความรักของรัชกาลที่ 8 กลายเป็นรักต้องห้าม และต่อมาก็ไม่ได้รับการพูดถึงอีก เพราะมุมมองว่ากษัตริย์ไม่ใช่ปุถุชนที่รักโลภโกรธหลงได้

ย้อนกลับมาในยุคปัจจุบันปวิน เสนอว่าการแต่งงานของรัชกาลที่ 10 กับสามัญชนถือเป็นสัญญาณที่ดีของการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ แต่ยังไม่เพียงพอ จะต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญเพื่อความสอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ด้วย

4. สมรสเท่าเทียม

บางครั้งรัฐก็ขวางรักในนามของ “กฎหมาย” และ “ความเหมาะสม” อุปสรรคของการผ่านกฎหมายเพื่อให้คู่รัก LGBTQ มีสิทธิสมรสเท่าเทียมกับคู่รักต่างเพศ สะท้อนให้เห็นปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับและความคุ้มครองทางกฎหมาย คู่รัก LGBTQ จึงไม่สามารถตัดสินใจทางการแพทย์ให้กับคู่รัก รับลูกบุญธรรม หรือใช้สิทธิอื่นๆ ตามกฎหมายได้

เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการแต่งงานระหว่าง “ชาย” และ “หญิง” เท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ให้ออกกฎหมายใหม่แยกสำหรับคู่รัก LGBTQ แทน ซึ่งนั่นก็คือ พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปีที่แล้ว

ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ทำกิจกรรมรณรงค์เพื่อสิทธิในการสมรสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิด์ล เมื่อ 14 ก.พ.2565

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ. คู่ชีวิต ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักกิจกรรมสิทธิ LGBTQ และภาคประชาสังคมว่ายังไม่ให้สิทธิเท่าเทียมอย่างแท้จริง แทนที่จะผ่านกฎหมายนี้ ควรแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 โดยแก้จากคำว่า “ชาย” และ “หญิง” หรือ “สามี” และ “ภรรยา” เป็นคำว่า “บุคคล” และ “คู่สมรส” ปัจจุบัน ร่างกฎหมายที่จะแก้ไขเช่นนี้ของพรรคก้าวไกลอยู่ระหว่างส่งไปให้คณะรัฐมนตรีศึกษาเป็นเวลา 60 วัน ขณะที่ร่างของภาคประชาสังคมกำลังรอเข้าสภา

ที่ผ่านมา การแสดงออกความรักของ LGBTQ ยังคงถูกควบคุมห้ามปรามอย่างต่อเนื่องในนามของความเหมาะสม เช่น เมื่อปีที่แล้ว ชวน หลีกภัย แถลงว่าการจูบกันหน้าสภาของคู่รัก LGBTQ เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม โดยบอกว่า “ระเบียบออกมาอย่างไรก็ควบคุมคนประเภทนั้นได้ยาก”

5. ห้ามรักในโรงเรียน

“รักในวัยเรียนเหมือนจุดเทียนกลางสายฝน” เป็นคำกล่าวที่ทุกคนคงคุ้นเคยกันดี ที่ผ่านมาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานพยายามห้ามปรามความรักของเยาวชนไทยมาโดยตลอด และคำกล่าวนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเหล่านั้น ที่ผ่านมา โรงเรียนยังคงห้ามจัดกิจกรรมในวันวาเลนไทน์ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากผลงานของ สพฐ. ที่จัดรณรงค์ “เฝ้าระวังเหตุ” และ “พฤติกรรมไม่เหมาะสม” ในวันวาเลนไทน์เป็นประจำทุกๆ ปี นอกจากนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังเคยออกระเบียบห้ามชายหญิงอยู่หอเดียวกันหากยังไม่แต่งงาน

ปัญหาที่ว่านี้ร้ายแรงขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น กรณีที่อังคนา นีละไพจิตร เคยออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบหลังสถานีตำรวจภูธรยะหา จ.ยะลา ประกาศนำร่อง “จับแต่งงาน” หากพบเห็นชายหญิงที่มิใช่สามีภรรยามีพฤติกรรมในเชิงชู้สาว หากพบเห็นหรือจับได้สถานีตำรวจ และคณะกรรมการมัสยิดจะดำเนินการตามมาตรการทางสังคม “ยุติธรรมทางเลือก” หรือ ฮูกมปากัต 4 ฝ่าย

ที่ผ่านมา ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานยังไม่ให้การศึกษาที่เหมาะสมเกี่ยวกับความรัก เพศศึกษา ความสัมพันธ์ การคุมกำเนิด และการวางแผนครอบครัว นำไปสู่ปัญหาท้องไม่พร้อมของเยาวชน จากข้อมูลของกรมอนามัยในปี 2562 พบว่ามีวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีท้องไม่พร้อมถึง 61,651 ราย ในปี 2564 มีผู้โทรหาสายด่วนท้องไม่พร้อมเบอร์ 1663 กว่า 4,461 คน แม้จะมีการแก้กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ในช่วง 12 สัปดาห์แรก แต่ปัญหารากฐานเกี่ยวกับการให้การศึกษาที่เหมาะสมเกี่ยวกับเพศศึกษายังคงอยู่

เมื่อไม่พยายามช่วยประคับประคองให้มีความรักที่ดี โรงเรียนจึงเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของความรัก ไม่ต้องพูดถึงคู่รัก LGBTQ ในโรงเรียน ที่โรงเรียนไม่ให้แต่งตัวตามเพศสภาพของตนเอง เนื่องจากปัญหาของระบบการศึกษาในปัจจุบันที่ขัดขวางไม่เอื้อให้เกิดความรักที่ดี กลุ่มนักเรียนนักกิจกรรมที่จึงออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา หนึ่งในความพยายามดังกล่าวคือการเสนอ พ.ร.บ. สิทธิมนุษยชนของผู้เรียนโดยกลุ่มนักเรียนเลว ที่เปิดให้ลงชื่อเมื่อ 9 มกราคม 2565

6.เกณฑ์ทหารขวางรัก

จากข้อมูลของกลุ่มผู้ใช้เฟสบุ๊คใน Diary แฟนทหาร พบว่าปัญหาของวันวาเลนไทน์ในปีนี้ยังคงเหมือนเดิมนั่นคือ “วันลาไม่ตรงตามที่หวังไว้” และ “ทหารหลายๆ บ้านยังไม่ได้ใบลาเหมือนเดิม” ปัญหารากฐานของเรื่องนี้ยังคงเป็นเรื่องของการบังคับเกณฑ์ทหารที่จำกัดเสรีภาพทางเลือกของชีวิต

ปัญหาความรักของทหารเกณฑ์อยู่ในวัฒนธรรมสมัยนิยมมาตลอด ดังจะเห็นได้จากบทเพลงต่างๆ เช่น ทหารบกพ่ายรัก ของสัญญา พรนารายณ์ ทหารอากาศขาดรัก ของเสกศักดิ์ ภู่กันทอง และ ทหารพิการรัก ของจักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ

ปัจจุบัน การเกณฑ์ทหารของไทยยังเกิดขึ้นในระบบบังคับ ยังไม่ใช่ระบบสมัครใจ (เช่น สหรัฐอเมริกา) ยังไม่อนุญาตให้ปฏิบัติงานราชการพลเรือนทดแทน (เช่น ออสเตรีย) หรือยังไม่ใช่ประเทศไร้กองทัพที่ประสบความสำเร็จ (เช่น คอสตาริกา) ที่ให้ทางเลือกกับชีวิตประชาชนและโอกาสในการรักของประชาชนมากกว่า

แม้รัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ์ จะเคยมีการเสนอให้ยกเลิกการเกณพ์ทหารเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ แต่เรื่องนี้เป็นอันต้องตกไปเพราะการประกาศลาออกหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 และเมื่อ พ.ย. 2563 คณะรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ให้คำรับรอง พ.ร.บ. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ทำให้ไม่สามารถเสนอกฎหมายเข้าสู่รัฐสภาได้

ที่ผ่านมา กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกองทัพมาโดยตลอด กระแสวิพากษ์วิจารณ์หลังกราดยิงโคราช ซึ่งเพิ่งครบรอบ 2 ปี เมื่อ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ยังคงส่งผลให้การปฏิรูปตัวเองของกองทัพดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ดังจะเห็นได้จากประกาศของกระทรวงกลาโหมในการทยอยลดนายพลตำแหน่งประจำ นักเรียนนายร้อย และนายสิบทุกเหล่าทัพ ในช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในเขตทหารก็ส่งสัญญาณเห็นด้วยกับการปฏิรูปกองทัพในเขตหลักสี่

เขารักเราแค่ไหน?

แม้ความรักจะเกิดขึ้นในสถานการณ์พิเศษ เช่น การแต่งงานของ “ไฮโซลูกนัท” เมื่อต้นปีที่ผ่านมาจากการพบกันในการประท้วงของคณะราษฎร แต่จากกรณีเหล่านี้จะเห็นได้ว่ารัฐไทยเป็นภัยต่อความรักมาโดยตลอด ทั้งในแง่ของการปราบปรามผู้เห็นต่าง และการออกนโยบายควบคุมสังคม ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนรู้รักสามัคคี และรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คำถามจากกรณีเหล่านี้คือแล้วรัฐไทยรักประชาชนและความรักของประชาชนแค่ไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net