รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งหวังดึงดูดคนเชื้อสายญี่ปุ่นพลัดถิ่นที่เรียกว่า ‘นิกเก-จิง’ (日系人;Nikkeijin) กลับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในเมืองเล็กๆ และแม้จะมีช่องทางพิเศษให้ แต่ต้องพิสูจน์ว่าบรรพบุรุษเป็นชาวญี่ปุ่นอย่างแท้จริง
รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งหวังดึงดูดคนเชื้อสายญี่ปุ่นพลัดถิ่นที่เรียกว่า “นิกเก-จิง” (日系人;Nikkeijin) กลับประเทศ เพื่อแก้ปัญหาหาขาดแรงงาน | ที่มาภาพ: JICA
ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีชาวญี่ปุ่นหลายพันคนหนีความยากจนเดินทางไปยังทวีปอเมริกา โดยคนกลุ่มแรกจำนวน 781 คน ได้ขึ้นฝั่งที่เมืองซานโตสทางตอนใต้ของประเทศบราซิลในปี ค.ศ.1902 เป้าหมายของพวกเขาส่วนมากคือการไปทำงานในไร่กาแฟ ที่บริษัทเอกชนของญี่ปุ่นเองใช้เทคนิคทางการตลาด ออกโฆษณาชวนเชื่อว่าต้นกาแฟจะเป็น “ต้นไม้ทองคำ” นำเงินทองมาให้
สิ่งที่คนส่วนใหญ่วาดฝันคือการเก็บเกี่ยวเงินจำนวนกลับไปยังบ้านอย่างภาคภูมิ เพื่อก้าวกระโดดเลื่อนระดับชนชั้นในสังคม แต่จากผู้อพยพราว 20,000 คน มีเพียง ร้อยละ 7 เท่านั้นที่ทำสำเร็จ ส่วนคนอื่นที่เหลือยังคงต้องอยู่ในบราซิลต่อไป ในทุกวันนี้เชื้อสายของคนญี่ปุ่นที่เป็นผู้พลัดถิ่นเหล่านี้ถูกเรียกว่า “นิกเก-จิง” (日系人;Nikkeijin) ซึ่งในบราซิลพวกเขาเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีประชากร 1.5 ล้านคน
ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมาญี่ปุ่นต้องประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะโรงงานในเมืองเล็กๆ เนื่องด้วยคนหนุ่มสาวในญี่ปุ่นมักจะเลือก “ทำงานที่ดูดี” ในมหานครมากกว่า จึงการมีเสนอการจ้างงานให้กับผู้พลัดถิ่นเหล่านั้น ให้ได้ช่องทางพิเศษในการกลับมาใช้ชีวิตในดินแดนดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘ดีเอ็นเอ’ (DNA) ของพวกเขายังแฝงไปด้วยจิตวิญญาณของ “ยามาโตะ” (ชื่อโบราณของญี่ปุ่น) แม้จะเจือจางลงไปบ้าง
ถ้าหากเป็นชาวต่างชาติโดยทั่วไป การที่จะได้วิซ่าทำงานและอยู่อาศัยในญี่ปุ่นถาวรนั้นต้องผ่านกระบวนอันยืดยาว แต่สำหรับนิกเก-จิง แล้วขั้นตอนอันยืดยาวไม่สิ้นสุดเหล่านั้นจะเหลือเพียงแค่พิธีปฏิบัติเล็กน้อยในการเข้าประเทศเท่านั้น
“แต่คุณต้องพิสูจน์จนหมดข้อสงสัย ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วบรรพบุรุษของคุณนั้นเป็นชาวญี่ปุ่นอย่างแท้จริง” อาร์เธอ วัย 28 ปี กล่าว เขาเกิดจากแม่ที่เป็นชาวญี่ปุ่นและพ่อที่เป็นบราซิล เขามีทั้งความเชื่อมโยงทางสายเลือด และเอกสารที่ยืนยันถึงว่าต้นตระกูลเขามาจากญี่ปุ่น ในกรณีของเขานั้นมีย่าทวดที่มาจากหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดคุมะโมะโตะ
“สิ่งต่างๆ ยุ่งยากกว่าที่ควรจะเป็น ปู่ของผมมาที่เซาเปาโลในปี ค.ศ.1933 แต่ผมต้องแสดงเอกสารฉบับจริง ต้องหารูปมายืนยันซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด” เขาต้องพยายามหารูปถ่ายที่หายากมากของครอบครัวที่ถูกถ่ายไว้ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1930 มาแสดง
ชาวญี่ปุ่นหลายพันคนหนีความยากจนเดินทางไปยังทวีปอเมริกา กลุ่มแรกขึ้นฝั่งที่เมืองซานโตสทางตอนใต้ของประเทศบราซิลในปี ค.ศ.1902 ปัจจุบันมีคนบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นประมาณ 1.5 ล้านคนในบราซิล | ที่มาภาพ: 株式会社テムジン
มีคำถามว่าที่ทำใมผู้อพยพจึงมักจะมีเป้าหมายเจาะจงไปยังบราซิล หนึ่งในหลายทฤษฎีอธิบาย ว่าเกี่ยวเนื่องกับโครงการพยายามจะปรับปรุงยกระดับทางพันธุกรรมในบราซิล ที่ฟลอเรสตัน เฟอร์นันเดส นักสังคมวิทยาอธิบายเรื่องนี้ว่า หลังการเลิกทาสในปี ค.ศ.1888 บราซิลพยายามจะดึงดูดคนเชื้อสาย เยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่นเข้ามา โดยการสนับสนุนของทั้งทางรัฐบาล และเจ้าของสวนกาแฟ
“ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ เมื่อดูจากดีเอ็นเอของชาวบราซิลในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการผสมปะปนทางชาติพันธุ์” เฟอร์นันเดสสรุป
ตอนนี้ทางการญี่ปุ่นได้อนุญาตให้ นิกเก-จิง รุ่นที่ 3 ให้เข้าประเทศโดยช่องทางพิเศษนี้ และรัฐบาลได้จัดการเตรียมพร้อมสำหรับการเข้ามาของรุ่นที่ 4 ซึ่งรุ่นทวดของพวกเขาเป็นอพยพกลุ่มแรก ญี่ปุ่นได้เสนองานด้านการผลิตให้กับพวกเขาในโรงงานต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างในโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัทมุราตะ ในจังหวัดชิมะเนะ ที่ซึ่งอาร์เธอใช้เวลา 12 เดือนไปกับการทนทุกข์ด้วยอาการเจ็บกระเพาะ และความเจ็บป่วยทางร่างกายอื่นๆ “มันไม่ได้มาจากการกิน โรงอาหารที่นี้ดีเยี่ยม แต่เป็นเพราะความเครียด” จากที่ต้องทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน และอีก 3 ชั่วโมงในการทำงานล่วงเวลา ที่ไม่สามารถปฏิเสธเพราะได้มีการระบุในสัญญา ซึ่งในบราซิลถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
รูปแบบการทำงานที่หนักหน่วง อย่างเช่น หลังจากทำงานไป 4 ชั่วโมงแรกคนงานจะได้พักเป็นเวลา 45 นาที จากนั้นกลับไปทำงานต่อ 3 ชั่วโมง ถึงจะได้พักอีก 15 นาที และกลับไปทำงานต่ออีก 4 ชั่วโมง ทำให้อาร์เธออยากที่จะกลับไปยังบราซิล และผันตัวไปทำงานเป็นครู แต่ 15 วันก่อนเดินทางกลับ เขาได้เขาพบกับคนที่จะกลายมาเป็นภรรยาของเขาซึ่งเป็นคนบราซิลเหมือนกันในบาร์ชื่อดังของเมืองอิชุโมะ ซึ่งเป็นที่รวมตัวของคนที่ใช้ภาษา โปรตุเกส-ญี่ปุ่น ชิโอะ เจ้าของบาร์ดังกล่าว เล่าว่าเขาต้องพบเจอกับผู้คนใหม่ๆมากมายในทุกๆ สัปดาห์ “แม้แต่ในช่วงของโควิด บริษัทมุราตะก็ยังมีผู้คนเข้ามาเพิ่มเรื่อยๆ ”
จังหวัดชิมาเนะ (島根県, Shimane-ken) หนึ่งในพื้นที่ที่มีชาวญี่ปุ่นพลัดถิ่นกลับมาทำงานอย่างหนาแน่นแห่งหนึ่ง | ที่มาภาพ: Wikimedia
นอกไปจาก นิกเก-จิง และชาวบราซิลที่มีมากกว่า 3,000 คน แล้ว ในเมืองเดียวกันนี้ก็ยังมีก็คนที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกจำนวนมาก
“ที่มะนิลา ฉันติดต่อกับนายหน้าคนกลางที่เสนอรายการอาชีพ และคุณสมบัติต่างๆ ที่ต้องการ มาให้กับฉันดู” ลูลา ชาวฟิลิปปินส์ วัย 29 กล่าว “ถ้าคุณอยากทำงานที่โตโยต้า อย่างน้อยคุณต้องพูดภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานได้บ้าง แต่ที่เมืองอิชุโมะนี้มันไม่จำเป็น” หลังจากใช้เวลาหนึ่งปีทำงานในบริษัทมุราตะ ปัจจุบันเธอใช้ประโยชน์จากทักษะภาษาอังกฤษของเธอกลับไปเป็นครูสอนในโรงเรียนท้องถิ่น แม้จะต้องเสียรายได้ก้อนโตไป แต่เธอบอกว่ามันแลกมากับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก
ฝูงชนที่จากหลากหลายชาติมารวมตัวกันทุกเช้าวันอาทิตย์ ที่โบสถ์คาทอลิกท้องถิ่นซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟกลางของเมือง เพื่อทำพิธีมิซาร่วมกันในเวลา 9.30 น. โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชาวบราซิล ทำให้ทุกวันอาทิตที่ 4 ของทุกเดือน ในเวลา 18.00 น. จะมีการทำมิซาเป็นภาษาโปตุเกส นอกจากนั้นที่นี้ยังมีผู้คนจากภูมิหลังทางชาติพันธุ์ที่หลากหลายมาก อย่างมีกลุ่มชาวเวียดนามเล็กๆ ร่วมอยู่ด้วย
อาเรล ออกมาจากครอบครัวของเธอที่ เมืองญาจางในตอนกลางของเวียดนามเมื่อหลายปีก่อน เพื่อมาใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่น ปัจจุบันเธอทำงานแล่เนื้อหมูที่ Good day ร้านค้าส่งขนาดใหญ่
“เมื่อฉันมาถึงที่นี้แรกๆ ฉันรู้สึกเหมือกับหลงทาง ฉันไม่รู้จักใครเลย จากนั้นฉันเลยมองหาการเข้าโบสถ์ และฉันก็มาที่นี่ถูกวันอาทิตย์เพื่อเขาร่วมพิธีมิซาของหลวงพ่อคิม (บาทหลวงชาวเกาหลี)” เธอกล่าว “พวกเราส่วนมากเป็นเหมือนฉัน ศาสนาเป็นเครื่องมือการรวมชุมชนของเรา ทำให้เราเหนียวแน่นและเข้มแข็ง สามารถพึ่งพากันและกันได้”