Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช่วงหนึ่งถึงสองปีมานี้ นับแต่ประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกหยิบยกขึ้นในที่สาธารณะอีกครั้งโดยกลุ่มผู้ชุมนุม “ราษฎร” ทำให้เกิดข้อถกเถียงอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นสถาบันกษัตริย์จำนวนมาก ทั้งในเรื่องพระราชอำนาจ พระราชทรัพย์ ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญ ประวัติศาสตร์เรื่อง “การเสียดินแดน” เป็นต้น 

รอยัลลิสต์บางฝ่ายพยายามตอบโต้ และชี้นำความคิดให้แก่ผู้สนับสนุนฝ่ายตนเอง ด้วยการผลิตสื่อ ใช้โซเชียล มีเดีย สร้างอินฟลูเอนเซอร์ฝ่ายตนเองขึ้นมา เพื่อ “ตรึง” คนของฝักฝ่ายตนเองไม่ให้เปลี่ยนความคิด และแปลงตนให้เป็น “พลเมืองเอาการเอางาน” หรือ active citizen ในการพา “ทัวร์ไปลง” ฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

ผมสำรวจชุดการให้เหตุผลของพวกเขาแล้ว พบว่า วนเวียนอยู่แบบเดิม ถ้าไม่ทับถมว่า ฝ่ายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เข้าใจผิด โดนเฟคนิวส์ โดนนักวิชาการปลุกปั่น ก็อ้างว่าพระราชอำนาจเป็นของกษัตริย์มานานแล้ว พระราชทรัพย์ในส่วนนี้ ในส่วนนั้น เป็นของกษัตริย์มานานแล้ว 

เรื่องโต้เถียงกันแบบนี้ ก็ว่ากันไปในการต่อสู้สงครามทางความคิด 

แต่ ไม่ว่าพวกรอยัลลิสต์เหล่านี้จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม การให้เหตุผลอธิบายในบางกรณีกลับไม่เป็นคุณต่อสถาบันกษัตริย์ 

ในสังคมประชาธิปไตย ผู้ใดมีอำนาจ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบ ถูกตรวจสอบ มีความรับผิดได้ 

เราจะยอมให้ ใครก็ตามที่มีอำนาจทางการเมือง อำนาจทางเศรษฐกิจ ใช้อำนาจเหล่านั้นแล้ว ไม่ต้องถูกตรวจสอบ ทำอะไรก็ไม่มีวันผิด ทำอะไรก็ไม่มีวันถูกดำเนินคดี ฟ้องร้อง ทำอะไรก็ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเหมือนคนอื่นๆ อย่างนั้นหรือ? 

สูตรง่ายๆ ก็คือ 

“มีอำนาจ ใช้อำนาจ ต้องรับผิด”

“ไม่มีอำนาจ ไม่ใช้อำนาจ ไม่ต้องรับผิด”

แบบนี้ถูกต้อง 

แต่

“มีอำนาจ ใช้อำนาจ ไม่ต้องรับผิด” 

“ไม่มีอำนาจ ไม่ใช้อำนาจ ต้องรับผิด” 

แบบนี้ผิด

การอธิบายของฝ่ายรอยัลลิสต์บางพวกที่นำไปสู่ข้อสรุปข้อยืนยันว่า กษัตริย์มีอำนาจโดยแท้ กษัตริย์มีอำนาจกระทำการได้เองโดยลำพัง กษัตริย์เป็นผู้เล่นทางเศรษฐกิจ ถือหุ้นเสียงข้างมากได้ด้วยพระองค์เอง เรื่องแบบนี้ดีแล้ว ถูกแล้ว ไม่แปลกประหลาดแต่อย่างใด การอธิบายเช่นนี้ยิ่งทำให้ กษัตริย์ไม่มีรัฐบาลหรือองค์กรอื่นมาเป็น “กันชน” คอยรับผิดชอบแทน และจะอธิบายต่อได้ยากว่า ถ้าหากกษัตริย์มีอำนาจโดยแท้ กระทำการโดยตนเอง แล้ว กษัตริย์จะมีเอกสิทธิ์ความคุ้มกัน “ละเมิดมิได้ กล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดมิได้” ต่อไปได้อย่างไร? 

หากต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ หากรักสถาบันกษัตริย์จริง ยิ่งต้องออกแบบระบบกฎหมายให้กษัตริย์ไม่มีอำนาจทางการเมืองโดนแท้ ไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจโดยแท้ 

เมื่อไม่มีอำนาจ ไม่ได้กระทำการด้วยตนเอง ก็ไม่ต้องรับผิด 

เมื่อไม่มีอำนาจ ไม่ได้กระทำการด้วยตนเอง ก็ไม่ต้องถูกคนวิพากษ์วิจารณ์ ก็ดำรงสถานะเป็นที่เคารพ และสถานะความเป็นกลางได้ 

ตรงกันข้าม หากสนับสนุนให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางการบริหารราชการแผ่นดิน มากเท่าไร หากสนับสนุนให้กษัตริย์ใช้อำนาจในทางสาธารณะด้วยตนเอง มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้สถานะอันเป็นที่เคารพ สถานะความเป็นกลาง ถูกกระทบกระเทือนมากเท่านั้น ก็ยิ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เมื่อใช้อำนาจเองตามลำพัง แล้วจะรับผิดอย่างไร? 

ถ้าต้องการให้กษัตริย์ “เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

ถ้าต้องการให้ “ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องกษัตริย์ในทางใดๆมิได้” 

ก็ต้องไม่ให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจกระทำการในทางการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ โดยแท้ โดยลำพัง

 

ที่มา: Facebook Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net