Skip to main content
sharethis

แรงงานไทยแห่ลงทะเบียนไปซาอุดีอาระเบีย

จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศ เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กว่า 32 ปี และพูดคุยหารือทั้งเรื่องแรงงานและในประเด็นความร่วมมืออื่นๆ โดยทางซาอุดีอาระเบียเปิดรับ "แรงงาน" ต่างชาติซึ่งถือเป็นโอกาสของแรงงานไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 นายประภาส พรหมคำบุตร จัดหางานจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้จัดหางานจังหวัดได้เตรียมความพร้อมกลุ่ม "แรงงานไทย" ที่มีความประสงค์เดินทางไปทำงานยังประเทศซาอุดีอาระเบียทั้งการให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งภาคอุตสาหกรรม โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ งานช่าง และงานบริการ งานท่องเที่ยว รองรับการขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศ

“ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยของทั้ง 2 ประเทศ และการลงนามความร่วมมือในการส่งแรงงาน ซึ่งต้องรอการพูดคุยเรื่องรายละเอียดด้านการเดินทางไปทำงาน ซึ่งการเดินทางมี 5 วิธี คือ แรงงานเดินทางไปเอง กรมการจัดหางานเป็นผู้จัดส่ง บริษัทจัดหางานเอกชนจัดส่ง นายจ้างจัดส่ง และบริษัทส่งไปฝึกงาน นอกจากประเทศซาอุดีอาระเบียแล้ว พบว่า แรงงานไทย ส่วนใหญ่นิยมเดินทางอย่างถูกกฎหมายไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน แคนาดา ออสเตรเลีย และอิสราเอล เพราะรายได้ที่ได้รับคุ้มค่ากับการเดินทางไปทำงาน

แต่แรงงานต้องสอบวัดระดับด้านภาษาการฟัง พูด ให้ได้ตามมาตรฐานที่แต่ละประเทศกำหนด ทั้งนี้เพื่อจะได้สื่อสารกับนายจ้างได้อย่างเข้าใจ และหากมีสัญญาว่าจ้างสามารถอ่านแล้วรักษาสิทธิของตัวเองในการทำงานไม่ให้ถูกเอาเปรียบได้ นอกจากนี้ได้จัดจุดลงทะเบียนสำหรับแรงงานที่ต้องการเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศด้วย

ส่วนแรงงานที่ต้องการเดินทางไปทำงานที่ประเทศซาอุดีอาระเบียนั้น ทางสำนักงานจัดหางานได้เปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไว้ก่อน เมื่อมีรายละเอียดในการทำงานจึงจะประสานไปยังแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมตามที่ตลาดแรงงานต้องการ” นายประภาส กล่าว

ประเด็นสำคัญคือ ระหว่างนี้ขอให้แรงงานได้ติดตามความคืบหน้าของการพูดคุยรายละเอียด รวมทั้งอย่าหลงเชื่อเพจ เว็บไซต์ ที่เปิดรับสมัคร รับปากว่ามีงานทำ เพราะส่วนใหญ่เป็นเพจหลอกลวงประชาชนที่ต้องการเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ ทั้งนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดหางานได้ติดตามเพจที่หลอกลวงประชาชน เพื่อแจ้งปิดเพจ และประชาสัมพันธ์ให้แรงงานได้รับรู้ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อ

“ทางสำนักงานจัดหางานได้อำนวยความสะดวกให้กับคนหางานในการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริการไปต่างประเทศ แรงงานที่สนใจไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ก็สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายจัดหางานต่างประเทศ กลุ่มงานส่งเสริมการมีงานทำ สำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น ศาลากลางหลังใหม่ชั้น 2 โทรศัพท์ 043-330-197-9 ต่อ 13 หรือลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ http:/toea.doe.go.th พร้อมติดตามข่าวสารได้ที่ www.doe.go.th/overseas ตลาดต่างประเทศยังต้องการแรงงานไทยเป็นจำนวนมาก แต่ที่ไม่ได้ไปเพราะสอบวัดมาตรฐานตามที่แต่ละประเทศต้องการไม่ผ่าน ที่สำคัญคือ แรงงานเองต้องเตรียมความพร้อมของตัวเองด้วย”นายประภาส กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 18/2/2565

ทนายอนันต์ชัย พานายจ้างแจ้งความ 14 แรงงานเมียนมาให้การเท็จ

18 ก.พ. 2565 ที่กองบังคับการปราบปราม(บก.ป.) นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความพา น.ส.สุธิดา เนาว์รุ่งโรจน์ นายจักกฤษณ์ วิบูลย์ลักษณากุล และ น.ส.ลักษมน วิบูลย์ลักษณากุล เข้าพบ พ.ต.ท.หญิง บุญทิวา ลิ้มศิริลักษณ์ รองผกก.สอบสวน กก.1.บก.ป. เพื่อดำเนินคดีข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จให้ได้รับโทษทางอาญาโดยมิได้มีกระทำความผิดเกิดขึ้น และกรรโชกทรัพย์ กับแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 15 คน และผู้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมา จากกรณีเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอและตำรวจ เข้าตรวจค้นและช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 18 คน ที่โรงงานทำขนมเยลลี่ ในซอยลาดพร้าว 6 เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมี น.ส.ลักษมน เป็นเจ้าของสถานที่

นายอนันต์ชัย เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัวนี้ โดยเตรียมยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมกับสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับการดำเนินคดีของดีเอสไอ โดยยืนยันว่า ครอบครัวนี้ ไม่เคยกระทำการกักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานข้ามชาติ ตามที่มีการกล่าว อ้างถึงในคดีดังกล่าว ส่วนข้อเท็จจริง เหตุนี้เริ่มต้นมาจากเมื่อเดือน ก.ย. 2563 ก่อนเกิดเหตุมีคนงานประมาณ 23 คน ทำงานจ้างเหมากับบริษัทแห่งหนึ่งในลักษณะไปเช้า-เย็นกลับ ไม่ได้ค้างอยู่ที่โรงงาน แต่ในช่วงปี 2563 จังหวัดสมุทรสาคร ประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว และมีการลอยแพแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ทำให้ในวันที่ 19 ธ.ค. 2553 นายจ้างเดิมที่แรงงานกลุ่มนี้ทำงานด้วยขับไล่แรงงานออกจากที่ทำงาน และคนในครอบครัวนี้เกิดความสงสารจึงรับแรงงานเมียนมากลุ่มนี้เข้ามาอาศัยในบ้านพักด้วย

นายอนันต์ชัย กล่าวอีกว่า นายหน้าจัดหางานคนหนึ่ง อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ต้องการเรียกเงินจำนวน 6,000 บาทจากครอบครัวนี้ หากไม่ให้จะแจ้งทางการไทยให้จับกุมว่าครอบครัวนี้กักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานผิดกฎหมายในบ้านพัก ต่อมาเจ้าหน้าที่ทางการไทยก็บุกเข้ามาที่บ้านพักตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว

ขณะที่ น.ส.ลักษมน กล่าวว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ดีเอสไอ ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหา หรือไม่เคยมีหมายเรียกไปให้การ หรือชี้แจงข้อเท็จจริง แต่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ กลับมานำตัวไปขึ้นศาลคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลาง เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 และได้สอบสวนตั้งแต่เวลา 20.00 น.- 02.00 น. โดยไม่ยอมให้ประกันตัว และให้เข้าห้องขังที่ ดีเอสไอ 1 คืน หลังจากนั้นเพียง 8 วัน ก็ส่งฟ้องต่อศาลอาญา โดยไม่ให้โอกาสพวกตนได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมประกอบคำให้การ อีกทั้ง ดีเอสไอ ก็มิได้สอบสวนพยานแวดล้อม คือ ผู้ที่พักอาศัยภายในซอยที่เกิดเหตุ ว่ามีการกักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานชาวเมียนมาจริงหรือไม่ จึงทำให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจมาแจ้งความดำเนินคดีกับแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 14 คน และผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมาอีกด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 18/2/2565

“ก้าวไกล” ไม่ท้อลุยยื่นใหม่ “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน” 10 ฉบับ ย้ำชัดสานต่อภารกิจ “อนาคตใหม่”

18 ก.พ. 2565 ที่อาคารรัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายสุเทพ อู่อ้น และน.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนเเรงงาน และนายจรัส คุ้มไข่น้ำ ส.ส.จังหวัดชลบุรี เขต 6 พรรคก้าวไกล เเถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกรณีพรรคก้าวไกลยื่นร่างกฎหมายเกี่ยวกับคุ้มครองเเรงงาน จำนวน 10 ฉบับ ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เป็นผู้รับเรื่อง

นายพิธา กล่าวว่า การยื่นร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเเรงงาน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของพรรคก้าวไกล ครั้งแรกเคยยื่นในสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ เเต่มีการให้เหตุผลว่าเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาก่อนส่งเข้าสู่สภาจากนั้นก็ถูกปัดตกไป ในครั้งนี้จึงเป็นความพยายามอีกครั้งของ ส.ส.ปีกเเรงงานเเละคณะทำงานของพรรคก้าวไกล โดยได้แยกกฎหมายออกเป็น 10 ฉบับ ก่อนยื่นครั้งที่ 2 สาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 10 ฉบับ มีสาระสำคัญมุ่งพัฒนาชีวิตผู้ใช้เเรงงานทั่วประเทศ และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยมีเป้าประสงค์ว่า หาก ร่างพ.ร.บ.ทั้ง10 ฉบับ ผ่าน จะทำให้ผู้ใช้เเรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ที่ดี เเรงงานได้รับความคุ้มครองการทำงานมากขึ้น

ขณะที่นายสุเทพ กล่าวว่า ในครั้งเเรกเรายื่นไป 7 ฉบับ เเต่โดนนายกรัฐมนตรีปัดตกไป ครั้งนี้พรรคก้าวไกลมาสานงานต่อจากอดีตพรรคอนาคตใหม่เพื่อทำให้สำเร็จ โดยเรามีการแก้ไขรายมาตรา ทั้ง 10 ฉบับ ในฉบับเเรก เเก้ไขในมาตรา 4 ว่าด้วยการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในหน่วยงานราชการ ราชการภูมิภาคและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายฉบับนี้ เราต้องการให้มีการคุ้มครองอย่างครอบคลุมทุกกลุ่ม

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ฉบับที่ 2 มาตรา 5 เรื่องการจ้างเเรงงาน , ฉบับที่ 3 มาตรา 15 ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างเท่าเทียมเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ , ฉบับที่ 4 มาตรา 23 เเก้ไขในเรื่องชั่วโมงการทำงานต้องไม่เกิน 50 ชั่วโมง , ฉบับที่ 5 มาตรา 28 ให้ลูกจ้างมีวันหยุดใน 1 สัปดาห์ อย่างน้อย 2 วัน , ฉบับที่ 6 มาตรา 30 ในเรื่องใช้สิทธิวันลาหยุดพักผ่อน ปรับเป็นปีละ 10 วัน , ฉบับที่ 7 มาตรา 41 ในเรื่องสิทธิการลาคลอดบุตรเพิ่มเป็น 180 วัน โดย 90 วันเเรกเป็นของเเม่ เเละ 90 วันหลังเป็นของพ่อหรือเเม่ให้ตกลงกันเองในการเลี้ยงดูบุตร , ฉบับที่ 8 มาตรา 53 เรื่องของการทำงานล่วงเวลาควรต้องเป็นอัตราที่เท่าเทียมกัน , ฉบับที่ 9 มาตรา 57 ให้มีการปรับค่าจ้างประจำปีให้ล้อกับค่าครองชีพ , ฉบับที่ 10 มาตรา 23/1 เน้นในเรื่องของการจ้างงานในสถานประกอบการ ต้องมีการจ้างงานเป็นรายเดือนทั้งหมด

ด้านนายสมบูรณ์ กล่าวว่า มารับเรื่องเเทนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้เเทนราษฎร ที่ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ โดยจะนำไปเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เเละเข้าสู่กระบวนการของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบข้อกฎหมายเพื่อบรรจุเป็นวาระต่อไป รวมไปถึงขอเป็นกำลังใจให้เเก่สมาชิกทุกท่านที่ร่วมกันเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 18/2/2565

มอบทุนประกอบอาชีพเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ใน 7 เขต กทม. คนละ 5,000 บาท เขตละ 200 คน

การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตบางเขน และกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ เป็นพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดเป็นลำดับแรก และถูกจัดว่าเป็นพื้นที่สีแดงเข้มของกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2565 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบทุนประกอบอาชีพเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้แก่ประชาชนคนละ 5,000 บาท

สำหรับเงินเยียวยาผลกระทบ COVID-19 จะมอบให้ประชาชนใน 7 เขต คือ เขตบางเขน เขตดอนเมือง เขตสายไหม เขตลาดพร้าว เขตหลักสี่ เขตบางซื่อ และเขตจตุจักร เบื้องต้น แต่ละเขตจะได้รับเงินเขตละ 200 คน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ทุนนี้อาจจะไม่มาก แต่ก็สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ การมอบทุนประกอบอาชีพเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นการมอบทุนประกอบอาชีพให้แก่ผู้ที่มีคุณสมบัติตามระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

ขณะที่ก่อนหน้านี้ กทม.ทยอยมอบเงินให้ประชาชนในพื้นที่เขตกลุ่มกรุงธนใต้แล้ว จำนวน 7 เขต ได้แก่ เขตบางแค บางขุนเทียน หนองแขม ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ ภาษีเจริญ และเขตบางบอน รวม 153 คน

ที่มา: Thai PBS, 18/2/2565

ยื่น 7 ข้อเรียกร้องช่วยเหลือ ‘พนักงานราชการ’-พบ 9 พันราย ‘เงินเดือนตัน’ กว่า 10 ปี

17 ก.พ. คณะกรรมการเครือข่ายพนักงานราชการไทย นำโดยนายปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายฯเข้ายื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ.2547 และประกาศคณะกรรมการบริหารงานพนักงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือพนักงานราชการทั่วประเทศ และลดความเลื่อมล้ำในระบบราชการ

นายปรารถนา ระบุว่า คณะกรรมการเครือข่ายฯ ได้สำรวจความคิดเห็นสำหรับพนักงานราชการในระบบทั้งหมด 19 กระทรวง 1 สำนัก รวมแล้วมากกว่า 1.5 แสนคน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขระเบียบกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารระบบพนักงานราชการให้ดีขึ้นทันต่อสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน และเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้านของรัฐบาล

ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานราชการในการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีความสุข มีความมั่นคงปลอดภัย มีความก้าวหน้าในอาชีพของพนักงานราชการในอนาคต ที่พร้อมจะปฏิบัติภารกิจให้กับทางราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ เต็มใจในการให้บริการตามกำลังความรู้ความสามารถต่อไป คณะกรรมการเครือข่ายฯ จึงขอเสนอข้อเรียกร้องของพนักงานราชการ 7 ข้อ ดังนี้

1.ขอขยายอัตราค่าตอบแทนขั้นสูงของพนักงานราชการกลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิค กลุ่มงาน บริหารทั่วไป และกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ ของทุกหน่วยงาน ทั้ง 19 กระทรวง 1 สำนัก

2.ขอให้มีการกำหนดเส้นทางความมั่นคงและความก้าวหน้าในอาชีพของพนักงานราชการ

3.ขอให้พนักงานราชการสามารถย้ายสถานที่ปฏิบัติงานภายในส่วนราชการเดียวกันได้

4.ขอให้เลื่อนค่าตอบแทนของพนักงานราชการ (เงินเดือน) จากเดิมปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง ตามรอบการประเมิน

5.ขอให้มีการปรับปรุงเกี่ยวกับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่พนักงานราชการควรจะได้รับ เพิ่มเติม

6.ขอให้มีผู้แทนจากคณะกรรมการเครือข่ายพนักงานราชการไทยร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ “คพร.”

7.ขอให้มีการกำหนดให้มีวันพนักงานราชการไทย

“หลักสำคัญของการยื่นข้อเสนอ ข้อเรียกร้อง ของเครือข่ายฯ มุ่งเน้นไปที่การขยายอัตราค่าตอบแทนขั้นสูงของพนักงานราชการในทุกกลุ่มงาน เนื่องจากพนักงานราชการจากทุกกระทรวง ซึ่งมีพนักงานราชการที่มีอัตราค่าตอบแทนเต็มอัตราขั้นสูงแล้วจำนวนกว่า 9,000 คน คิดเป็น 20% จากจำนวนพนักงานราชการที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ส่งผลให้พนักงานราชการที่มีอัตราค่าตอบแทนเต็มขั้นสูงไม่ได้รับการเลื่อนเงินเดือนมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี” นายปรารถนาระบุ

นายปรารถนา ยังกล่าวว่า สาเหตุที่ทางเครือข่ายฯต้องเข้ามายื่นเรื่องต่อรัฐสภาในครั้งนี้ เนื่องจากเมื่อปี 2558 ทางเครือข่ายฯได้ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวไปยังสำนักงาน ก.พ.แล้ว และติดตามสอบถามความคืบหน้ากับสำนักงาน ก.พ.มาโดยตลอด แต่ปรากฏว่าข้อเรียกร้องต่างๆไม่ได้รับการแก้ไข

ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานในการนำตัวแทนเครือข่ายฯเข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนจะใช้กลไกรัฐสภายื่นกระทู้ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวทางในการช่วยเหลือและดูแลพนักงานราชการ รวมทั้งจะยื่นญัตติเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาแก้ปัญหาของพนักงานราชการ

ที่มา: สำนักข่าวอิศรา, 17/2/2565

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จับมือ ซีพีเอฟ ร่วมยกระดับมาตรฐานแรงงานในห่วงโซ่ผลิตสัตว์น้ำสู่ระดับสากล

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ขับเคลื่อนบริหารจัดการแรงงานในห่วงโซ่การผลิตกุ้งตามมาตรฐานแรงงานไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานสู่มาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้าและผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีการค้าโลก

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง "การยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย เพื่อก้าวไปอย่างยั่งยืน" การบริหารแรงงานของทุกสถานประกอบกิจการในธุรกิจกุ้งครบวงจร เขตประเทศไทย ได้รับรองมาตรฐานแรงงานไทย มรท.๘๐๐๑ หรือ Thai Labour Standard: TLS 8001 โดยมี นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย และนางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือซีพีและซีพีเอฟ และ นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ ร่วมด้วย

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตระหนักและให้ความสำคัญกับมนุษยชน การคุ้มครองแรงงานของไทย มีนโยบายสนับสนุนสถานประกอบกิจการของไทยยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานสู่สากล การลงนามข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันระหว่างกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และซีพีเอฟถือเป็นองค์กรชั้นนำดำเนินธุรกิจกุ้งแบบครบวงจรในประเทศไทย ในการนำมาตรฐานแรงงาน เป็นการขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยพัฒนาการบริหารจัดการด้านแรงงานสอดคล้องกับมาตรฐานในระดับประเทศและสากล เพื่อให้แรงงานในห่วงโซ่การผลิตกุ้งไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น

"ซีพีเอฟ นับว่าเป็นองค์กรชั้นนำของไทย ที่สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการบริหารจัดการด้านแรงงานที่ได้มาตรฐานอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด ความร่วมมือครั้งนี้มีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้ประกอบการไทยในการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อแรงงาน ตลอดจนเป็นต้นแบบให้ภาคธุรกิจไทยเข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทยเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน สินค้าบริการของไทยเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าทั่วโลก" นายสุเทพกล่าว

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ทางกระทรวงแรงงาน สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน มีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการ มีความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงานของธุรกิจ โดยจัดทำระบบมาตรฐานแรงงานไทย มรท.๘๐๐๑ เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ส่งผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน จึงมุ่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการแรงงาน และส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการทุกประเภท ทุกขนาด สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ด้านการจ้างและสภาพการทำงาน เสริมสร้างธุรกิจให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงกับ กลุ่มธุรกิจกุ้งครบวงจร ซีพีเอฟในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาสถานประกอบกิจการ ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานแรงงานไทย ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสถานประกอบกิจการอื่นๆ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ส่งผลต่อสินค้าและบริการที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในเวทีการค้าโลก

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรมและบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชน พัฒนาสถานประกอบกิจการให้มีระบบบริหารจัดการแรงงานที่ดี เทียบได้กับมาตรฐานแรงงานสากล โดยซีพีเอฟตั้งเป้าหมายผลักดันให้ธุรกิจกุ้งครบวงจรมีสถานประกอบกิจการฟาร์มและโรงงานรวมกว่า 200 แห่งทั่วประเทศสามารถได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานภายในปี 2565 นี้ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน และสภาพการจ้างงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action

ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องตามมาตรฐานแรงงานของไทยและสากลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานประกอบการธุรกิจสัตว์น้ำ ได้รับรางวัลด้านแรงงานจากหลายหน่วยงาน ล่าสุด ศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมกุ้งปะทิว จังหวัดชุมพร รับถ้วยรางวัลพระราชทานใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลสถานประกอบกิจการขนาดกลางที่มีระบบบริหารจัดการด้านแรงงานยอดเยี่ยม (Thailand Labour Management Excellence Award 2021) นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟยังได้รับรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน ปี 2564 จากจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รางวัลองค์กรดีเด่นที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชียประจำปี 2564 จากนิตยสาร HR Asia รางวัลองค์กรสนับสนุนงานด้านคนพิการ ระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2564 จาก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รางวัลรายงานความยั่งยืนระดับภูมิภาคเอเชีย จาก Asia Sustainability Reporting Awards (ASRA) ในระดับ Gold Class ด้านดูแลและสร้างความผูกพันกับพนักงาน เคารพสิทธิมนุษยชน และดูแลความปลอดภัยพนักงานตามมาตรฐานสากล และซีพีเอฟยังได้รับคัดเลือกเป็น สมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices : DJSI) ประจำปี 2564 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสและรับผิดชอบต่อสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 17/2/2565

โครงสร้างในไซต์ก่อสร้างลุมพินีถล่ม คนงานเสียชีวิต 3 เจ็บ 4 คน

16 ก.พ. 2565 มีรายงาน เกิดเหตุโครงสร้างค้ำยันรองรับแบบหล่อคอนกรีตพังถล่มในหน่วยงานก่อสร้าง ถ.พระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ขณะเทคอนกรีต เบื้องต้น มีรายงานผู้เสียชีวิต 3 คน และบาดเจ็บ 4 คน ทั้งหมดเป็นคนงานก่อสร้างที่กำลังปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่เร่งเข้าช่วยเหลือนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

ทั้งนี้ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 (สรพ.1) และศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 11 (ตลิ่งชัน) (ศปข.11) จะเข้าตรวจสอบพื้นที่เพิ่มเติมต่อไป

ขณะที่ ฝ่ายบริการองค์กร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ออกคำชี้แจงกรณีอุบัติเหตุในพื้นที่ก่อสร้าง ถ.พระราม 4 เขตคลองเตย โดยระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการเทคอนกรีต

โดยบริษัทฯ ได้เคลื่อนย้ายคนงานที่กำลังปฏิบัติงานให้ได้รับความปลอดภัยโดยทันที และเร่งค้นหาผู้สูญหาย 3 คน ซื้อต่อมาได้รับการยืนยันว่า ทั้ง 3 คนเสียชีวิต

ทั้งนี้ บริษัทขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียอย่างเต็มกำลังและเร่งด่วน พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแล้ว

ที่มา: Thai PBS, 16/2/2565

ก.แรงงาน เผยคนไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีผู้ประสงค์แจ้งขอไปทำงานแล้ว 320 คน เงินเดือนสูงสุด 1 แสนบาท

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน บอกรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดหาคนไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาราเบีย ว่า ขณะนี้ ไทยอยู่ในขั้นตอนระหว่างการทำข้อตกลงลงนาม MOU กับประเทศซาอุดิอาระเบีย แบบรัฐต่อรัฐ คาดว่าแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคมนี้ และเมื่อทำข้อตกลงเสร็จ จึงจะเป็นขั้นตอนการรับสมัครแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบียในสาขาต่างๆ ทำให้ตอนนี้ เป็นเพียงขั้นตอนการแจ้งความประสงค์ไปว่าจะไปทำงานทำนั้น ซึ่งการเปิดให้แจ้งความประสงค์ 10 วัน มีจำนวนผู้กรอกข้อมูลมาแล้ว 320 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพช่างเทคนิค กรรมกร และโรงงานอุตสาหกรรม อยู่ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ภาคอีสาน ชลบุรี สงขลา ปัตตานี และ ยะลา

โดยหลังทำข้อตกลงเสร็จ จะแจ้งให้คนกลุ่มนี้มารับทราบรายละเอียดการเดินทางไปทำงานที่นั่น พร้อมแจ้งค่าจ้างในประเทศซาอุฯ ให้ทราบ ก่อนจะลงทะเบียนสมัครไปทำงาน ซึ่งคนที่สมัครไปทำงาน จะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าสมัคร ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าใช้ที่ไปใช้จ่ายประจำวันที่ประเทศซาอุดิอาราเบียเท่านั้น ฟรีค่าดำเนินการ

สำหรับแรงงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบียต้องการอย่างมากเพื่อนำพัฒนาประเทศ คือ กลุ่มมีทักษะสูง เช่น วิศวกร อุตสาหกรรม อาชีพเชียวชาญเฉพาะด้าน รองลงมาคือ กลุ่มแรงงานกึ่งทักษะ คือ พ่อครัว ช่างกึ่งฝีมือ ภาคท่องเที่ยวและการบริการ และต้องการน้อยคืด กลุ่มไร้ทักษะ เช่น อาชีพกรรมกร ดังนั้น กรมการจัดหางาน จึงอยากให้คนไทยที่อยากไปทำงานที่นั่น เน้นสมัครเข้าทำงานในกลุ่มอาชีพที่มีทักษะสูง

สำหรับค่าตอบแทน แต่ละกลุ่มทักษะ พบว่า กลุ่มไร้ทักษะ มีค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ริยาล หรือ 17,000 บาท/เดือน แรงงานกึ่งทักษะมีค่าแรงขั้นต่ำ 3,000-9,000 ริยาล หรือ 25,000 - 75,000 บาท/เดือน ส่วนกลุ่มทักษะสูง มีค่าแรงขั้นต่ำ 15,00 ริยาบ/เดือน หรือ 100,000 บาท/เดือน ซึ่งผู้สนใจจะไปทำงาน ยังแจ้งความประสงค์กับกรมการจัดหางานได้เรื่อยๆ

ที่มา: TNN, 16/2/2565

สศค.ชี้อัตราการเกิดใหม่น้อยลง ถือเป็นปัจจัยที่ภาครัฐต้องเร่งปฏิรูปตลาดแรงงาน

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุ ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เด็กเกิดใหม่ลดลง ในขณะที่ ประชากรมีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวมากขึ้น เนื่องจาก เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่ก้าวหน้ามากกว่าในอดีต

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่า ในปี 2568 จะเป็นปีแรกที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สังอายุโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี หรือมากกว่าประมาณ 14.5 ล้านคน คิดเป็น 20.7% ของประชากรทั้งหมด

นอกจากนี้ ในอีก 18 ปีข้างหน้านับจากปี 2564 (ปี 2583 หรือ 2040) ประชากรสูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะเพิ่มจาก 12.2 ล้านคนในปี 2564 เป็น 20.4 ล้านคนในปี 2583 ในขณะที่ประชากรในวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) จะลดลงจาก 43 ล้านคน เหลือ 36 ล้านคน ส่งผลให้สัดส่วนประชากรวัยแรงงานต่อประชากรจะลดลงจาก 3.5 คนต่อ 1 คน เหลือเพียง 0.6 คนต่อ 1 คน

ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 28.4 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2564 เป็น 56.2 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน ในปี 2583

นอกจากนี้ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2564 นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ประชากรเกิดใหม่ของไทยต่ำกว่า 6 แสนคน โดยอยู่ที่ประมาณ 5.4 แสนคน น้อยกว่า จำนวนประชากรที่เสียชีวิตซึ่งอยู่ที่ 5.6 แสนคน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ประชากรไทยมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ หากจำนวนประชากรเกิดใหม่ยังไม่กลับมาเพิ่มสูงกว่าหรือเท่ากับจำนวนประชากรที่เสียชีวิต ขณะที่จำนวนประชากรสูงอายุกำลังเพิ่มสูงขึ้น จะเป็นการเร่งให้โครงสร้างประชากรไทยเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น

เขากล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างน้อย 4 ประการด้วยกัน

ประการแรก ผลิตภาพรวมของประเทศ (Aggregate Productivity) จะลดลง จากจำนวนแรงงานและสัดส่วนคนทำงานที่ลดลง เนื่องจาก แรงงานถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้น การลดลงของจำนวนแรงงานและสัดส่วนคนทำงานย่อม อาจทำให้ผลิตภาพรวมของประเทศไทยลดลงด้วยเช่นกัน และอาจส่งผลสืบเนื่องต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงระยะเวลาต่อไป

นอกจากนี้ ภาวการณ์ขาดแคลนแรงงานที่เพิ่มขึ้นอาจนำไปสู่ค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้ หากประเทศไทยไม่มีการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อมาทดแทนแรงงานที่หายไป

ประการที่สอง อุปสงค์ภายในประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป โดยจำนวนและสัดส่วนคนวัยชราเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้รูปแบบความต้องการสินค้าและบริการของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศเปลี่ยนแปลงไป

โดยสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ อาทิ สินค้าเพื่อสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ จะมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสังคมและการทำงานจะมีแนวโน้มเป็นที่ต้องการลดลง

อย่างไรก็ดี หากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพหรือมีฐานะยากจน ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศที่อาจจะชะลอลงในช่วงระยะเวลาต่อไปได้เช่นกัน

ประการที่สาม ภาระทางการคลังของประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากประเทศจะสามารถจัดเก็บภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศจากแรงงานวัยทำงานได้น้อยลง ขณะเดียวกัน จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบให้ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขและสวัสดิการคนชราที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขย่อมนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณเนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น

ประการที่สี่ การออมและการลงทุนในประเทศจะลดลง สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการออมและการลงทุนในประเทศ เนื่องจาก กลุ่มประชากรส่วนใหญ่ที่เกษียณออกจากงานมักจะใช้จ่ายจากเงินออมที่ตนได้เก็บสะสมเอาไว้ในช่วงที่ทำงาน ซึ่งอาจส่งผลให้ภาพรวมการออมภายในประเทศลดลง

สำหรับแนวทางการแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับสังคมผู้สูงอายุดังกล่าว มีข้อเสนอแนะ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

ประการแรก การเร่งปฏิรูปตลาดแรงงาน เพื่อชดเชยสถานการณ์ที่จำนวนแรงงานมีแนวโน้มจะลดน้อยลงไป ทั้งในแง่ของการยกระดับทักษะแรงงานเพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิตและการเพิ่มการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานหญิงในตลาดแรงงานให้มากขึ้น เพื่อชดเชยปริมาณแรงงานที่หายไป

นอกจากนี้ การสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชากรสูงวัยที่เกษียณไปแล้วยังคงทำงานต่อเนื่อง และการจูงใจให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะเข้ามาทำงานในประเทศเพิ่มมากขึ้นก็เป็นอีกทางเลือกที่หน่วยงานภาครัฐอาจพิจารณาผลักดันให้เกิดขึ้นได้

ประการที่สอง การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และการขยายฐานภาษีประเภทใหม่ๆ เพื่อรองรับภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตรวจสอบและอุดรูดรั่วทางภาษีต่างๆ และการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ๆ อาทิ ภาษีเงินได้ธุรกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นภาษีใหม่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และภาษีสิ่งแวดล้อม ที่อาจจัดเก็บจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กิจการเหมืองขุดเงินคริปโตเคอเรนซี่ เป็นต้น และอาจรวมถึง การพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีของการจัดเก็บภาษีบางประเภท อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อสร้างรายได้ภาษีที่เพียงพอจะชดเชยรายได้ภาษีส่วนที่หายไปจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร

ประการที่สาม การสร้างระบบการออมและหลักประกันวัยเกษียณที่ครอบคลุมและเพียงพอต่อแรงงานทุกประเภททั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ รวมถึงแรงงานแพลตฟอร์มที่เป็นแรงงานประเภทใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ผ่านการสนับสนุนการออมระยะยาว โดยแรงงานควรมีการออมตามสัดส่วนของรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามอายุการทำงาน เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มสามารถมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพในยามที่ไม่ได้ทำงาน

ทั้งนี้ สำหรับกรณีของแรงงานแพลตฟอร์มที่เป็นแรงงานประเภทใหม่และส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างสูงกว่าแรงงานนอกระบบ ประเทศไทยอาจจะกำหนดให้แรงงานดังกล่าวมีการออมแบบภาคบังคับ (Compulsory Savings) โดยจะหักเป็นร้อยละของรายได้แต่ละเดือนเข้ากองทุนประกันสังคมในกรณีที่เดือนนั้นมีรายได้ ขณะที่ หากในเดือนใดก็ตามที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด แรงงานดังกล่าวก็จะไม่โดนหักรายได้เข้ากองทุนประกันสังคม

“การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งสิ่งสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อร่วมสร้างอนาคตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ โดยมีหลักประกันที่มั่นคงด้านรายได้หลังเกษียณต่อไป”

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 16/2/2565

ครม. อนุมัติปรับเพิ่มเป้าเยียวยาประกันสังคม ม.39-ม.40 ในกิจการบันเทิง อีก 28,000 คน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยให้สำนักงานประกันสังคมเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนที่ทำงานในกิจการบันเทิง ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ทำงานอยู่ในสถานบันเทิง โดยปรับเพิ่มกลุ่มเป้าหมายผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 จากเดิมเป้าเดิมที่ขอรับการเยียวยา 110,669 คน ให้ปรับเป็น 138,669 คน เพิ่มขึ้น 28,000 คน พร้อมปรับเพิ่มกรอบวงเงินเยียวยาจากเดิม 607 ล้านบาท เป็น 747 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 140 ล้านบาท

ทั้งนี้ภายหลังมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ครั้งนี้แล้ว จะทำให้กรอบวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะเหลือวงเงินอยู่ 97,134 ล้านบาท

ที่มา: Sanook, 15/2/2565

ปลัดแรงงานแจง แอมนาสตี้ ยื่นขอดำเนินการต่อในไทยจริง รอกก.พิจารณา

15 ก.พ. 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty Internationl Limited หรือ AI) ได้ยื่นขอใบอนุญาตให้เข้ามาดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศ ต่อกระทรวงแรงงานจริง เนื่องจากใบอนุญาตฯ ที่ออกให้ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2563 ได้ครบกำหนดเมื่อ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา การพิจารณาอนุญาตดังกล่าว จะพิจารณาโดยคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศ ซึ่งมีกรมการจัดหางาน เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล และตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมขององค์การเอกชนต่างประเทศให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใต้ ระเบียบกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ว่าด้วยการเข้ามาดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. 2541 และระเบียบคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศในประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้ามาดำเนินงานขององค์การเอกชนต่างประเทศในประเทศไทยและการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย พ.ศ. 2543

องค์การฯ ที่ได้รับอนุญาตฯ ต้องดำเนินงานโดยไม่หวังผลกำไรหรือไม่มุ่งหวังผลทางการเมือง คือ การไม่ดำเนินกิจกรรม หรือโครงการใดๆ ที่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง ไม่ว่าในลักษณะใดที่เป็นการชี้นำ ครอบงำ หรือโน้มน้าว ซึ่งอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือละเมิดกฎหมายไทยและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการจัดหางาน ได้มีหนังสือถึงผู้จัดการสำนักงานและการเงิน องค์การแอมเนสตี้ฯ ชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน ขอความร่วมมือดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้วยความระมัดระวังและเป็นกลาง ดำเนินกิจกรรมกับทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค ไม่ยั่วยุให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และให้ประสานหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดส่งรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุก 6 เดือน ซึ่งองค์การแอมเนสตี้ฯ ไม่ได้ส่งรายงานตามที่กำหนด

นอกจากนี้ยังมีคำแถลงการณ์ บทวิพากษ์วิจารณ์ ข่าวสาร วีดีโอต่างๆ ขององค์การฯ ได้เผยแพร่ในช่วงที่ได้รับอนุญาตมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการฯว่า กระทบต่อความเชื่อมั่นต่อสถาบันศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการยุติธรรม ขบวนการนิติบัญญัติ และภาพลักษณ์ของรัฐบาลไทยหรือไม่ ประกอบการพิจารณาด้วย

ที่มา: ข่าวสด, 15/2/2565

สธ.ห่วงเด็กเกิดน้อยลง หวั่นอนาคต ไม่พอทดแทนวัยแรงงาน

14 ก.พ. 2565 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางต้องใจ สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการ เด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายบุญเลิศ ค่อนสอาด ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และนพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ร่วมแถลงข่าว “ทางออกประเทศไทย ในยุคเด็กเกิดน้อย” ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กทม.

โดยในปี 2564 จำนวนการเกิดที่ลดต่ำลงนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร ทำให้ฐานแคบลง ไม่มั่นคงหาก ไม่มีมาตรการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จากข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่าในปี 2583 สัดส่วนวัยเด็กจะเหลือเพียง ร้อยละ 12.8 วัยทำงาน ร้อยละ 56.0 ในขณะที่วัยสูงอายุจะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 31.2 ทำให้ภาระพึ่งพิงวัยแรงงานเพิ่มขึ้น โดยวัยแรงงาน 1.7 คน จะต้องดูแลผู้สูงอายุ 1 คนซึ่งนับเป็นภาระที่หนักของวัยแรงงาน ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลตัวเอง ครอบครัว หรือบุตร

นอกจากนี้ จำนวนวัยแรงงานที่ลดลง จะส่งผลให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยลง งบประมาณในการดูแลประชาชนไม่เพียงพอ การขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ และเกิดสังคมไร้ลูกหลาน ความอบอุ่นในครอบครัวขาดหายไป ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้โดยรวมแล้ว จำนวนการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อประเทศในอนาคต ทั้งด้านโครงสร้างประซากร โครงสร้างครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ การแถลงข่าวในครั้งนี้เป็นการแจ้งเตือน เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าประชาชนจะเลือกอยู่เป็นโสด มีบุตร ไม่มีบุตร เพราะผลกระทบนี้จะส่งผลต่อทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากไม่สามารถเพิ่มจำนวนการเกิดที่มีคุณภาพได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมที่ไร้ลูกหลาน ผู้สูงอายุดูแลกันตามลำพัง ภาระพึ่งพิงที่มีต่อวัยทำงานสูงขึ้น และเสนอให้รัฐบาลหันมาลงทุนในมนุษย์ โดยเฉพาะการลงทุนในเด็ก ซึ่งมีความคุ้มค่าสูงสุดแทนการมุ่งเน้นเรื่องการบริโภคของประชากรแต่ละครอบครัว เพื่อลดความกังวลใจในการเลี้ยงดูบุตร ลดภาระค่าใช้จ่ายหรือค่าครองชีพให้กับประชาชน ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว ให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ต้องการมีบุตรโดยไม่เลือกปฏิบัติ เข้าใจความหลากหลายทางเพศ และสิทธิมนุษยชน ลงทุนในระบบการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการหลุดจากระบบการศึกษา ภายใต้การประกาศนโยบายประชากร โดยให้คุณค่ากับเด็กทุกคน “เป็นลูกของรัฐบาล”ภายใต้หลักการสำคัญ 2 ประการ คือ การมีส่วนร่วม และ การเป็นเจ้าของร่วมกัน”

ที่มา: เชียงใหม่นิวส์, 14/2/2565

นายจ้างซาอุฯ พอใจเยี่ยมชมศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงาน พร้อมรับคนไทยไปนอก

14 ก.พ. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่เพื่อให้การต้อนรับภาคเอกชนจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ณ สถานทดสอบฝีมือแรงงาน เคทีซี อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน คณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานร่วมต้อนรับในครั้งนี้ โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายเร่งส่งแรงงานไทยไปทำงานประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งกระทรวงแรงงานขานรับนโยบายดังกล่าว และได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมพร้อมและอำนวยความสะดวกของสถานทดสอบฝีมือแรงงานให้แก่แรงงานที่ประสงค์จะไปทำงานประเทศซาอุดิอาระเบีย

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า วันนี้ทางบริษัทจัดหางานของประเทศซาอุดิอาระเบีย 5 บริษัทได้มอบหมายให้ Dr. Hussein Ayed Al Awad ประธานบริษัท Princess Joy placement and General Service เป็นตัวแทนมาดูความพร้อมของศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงาน KTC ในเบื้องต้น Dr. Hussein มีความพอใจในความพร้อมของศูนย์ทดสอบ และได้กล่าวว่า ทางซาอุต้องการแรงงานในสาขาช่างเชื่อม โดยเฉพาะช่างเชื่อมใต้น้ำ และช่างเคาะพ่นสี รวมถึง Medical Staff ด้วย ซึ่งทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เตรียมการรองรับส่งแรงงานไทยไปประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยเตรียมพร้อมดำเนินการอำนวยความสะดวกของสถานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาอาชีพซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการ เช่น ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างสีรถยนต์ ช่างก่อสร้าง ช่างไฟฟ้า พ่อครัวหรือเชฟ พนักงานโรงแรม ผู้ควบคุมงานด้านโลจิสติกส์ และพนักงานขับรถบรรทุก ซึ่งการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มีการหารือพิจารณาแนวทางการใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ โดยการปรับปรุงหลักสูตร ค่าธรรมเนียม แบบทดสอบให้สอดคล้องกับตำแหน่งงาน รวมถึงการกำหนดมาตรฐาน มาตรฐานกลาง มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และรูปแบบที่นายจ้างต้องการ ทั้งนี้ การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นการการันตีความรู้ความสามารถ ช่วยสร้างความมั่นใจ และเป็นใบเบิกทางให้แก่แรงงานที่ต้องการจะไปทำงานต่างประเทศ ช่วยเพิ่มโอกาสการมีงานทำและเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพสำหรับผู้ที่ผ่านการทดสอบฝีมือ ในส่วนของนายจ้างได้ทราบและมั่นใจได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะฝีมือตรงตามตำแหน่งงานที่ต้องการ ซึ่งสถานทดสอบฝีมือแรงงาน เคทีซี นี้เป็นเครือข่ายของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นสถานทดสอบฝีมือคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ตรวจสอบความพร้อมและความเหมาะสมของสถานที่ เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ความปลอดภัย ซึ่งสถานทดสอบเคทีซีมีคุณสมบัติของผู้ควบคุมการทดสอบ ที่มีความพร้อมและเหมาะสม ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ดำเนินการทดสอบฝีมือแรงงาน จำนวน 4 กลุ่มอาชีพ (24 สาขา) ประกอบด้วย กลุ่มช่างเชื่อมและโลหะแผ่น 8 สาขา กลุ่มช่างไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3 สาขา กลุ่มช่างยนต์ 4 สาขา และกลุ่มช่างก่อสร้าง 9 สาขา

ดร.ฮุสเซน อัล อาวาด ประธานบริษัท ปริ้นเซส จอย เพลสเม้น แอนด์ เจนเนอรัล เซอร์วิส กล่าวว่า วันนี้ได้เดินทางมาเยี่ยมชมสถานทดสอบฝีมือแรงงาน เคทีซี ช่างเคาะสีตัวถังรถยนต์ ช่างเชื่อมไฟฟ้า และสถานที่ทดสอบฝีมือต่างๆ มีความพึงพอใจมาก และหวังว่าจะได้ร่วมงานกันในอนาคต ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ มีความต้องการช่างซ่อมสีรถยนต์ ช่างเชื่อมไฟฟ้า ช่างเชื่อมใต้น้ำ รวมถึงช่างก่อสร้าง เนื่องจากขณะนี้ประเทศซาอุดีอาระเบียมีแผนจะก่อสร้างโรงแรม

สำหรับท่านที่สนใจไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย สามารถลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศได้ที่เว็บไซต์ http://toea.doe.go.th เลือก “ลงทะเบียน” เลือก “คนหางาน” ทั้งนี้สามารถศึกษาคู่มือวิธีการลงทะเบียนคนหางานได้ที่หน้าเว็บไซต์ระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ และสามารถคิดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas. หรือติดต่อสำนักงานจัดหางานได้ทุกจังหวัด ในวันเวลาราชการ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ไทยโพสต์, 14/2/2565

ก.แรงงาน เปิดลงทะเบียนทำงานซาอุฯ ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน เตือนอย่าหลงเชื่อนายหน้าเถื่อน

12 ก.พ. 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ขณะนี้ความคืบหน้าอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของทั้งสองประเทศ คาดว่าจะลงนามได้ภายในสิ้นเดือน ก.พ. 2565 นี้

และในวันที่ 14 ก.พ. 2565 นี้ จะมีผู้แทนภาคเอกชนของซาอุฯ ที่มีความต้องการแรงงาน เดินทางมาประเทศไทย เพื่อดูศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงานของไทย

กระทรวงแรงงาน ยืนยันไทยมีความพร้อมในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงานและการทดสอบมาตรฐานฝีมือ โดยมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ทั่วประเทศรวมประมาณ 500 แห่ง เป็นศูนย์ทดสอบเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีมาตรฐานฝีมือ เพื่อให้แรงงานได้รับค่าแรงที่สูงขึ้น

สำหรับตลาดแรงงานในซาอุฯ แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของนายจ้างซาอุฯ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะงานด้านการก่อสร้าง งานภาคอุตสาหกรรม งานภาคบริการ เช่น พนักงานโรงแรม พนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟ คนทำอาหาร พนักงานนวดสปา เป็นต้น

ส่วนการคุ้มครองแรงงานที่ไปทำงานในซาอุฯ เบื้องต้นจะใช้กระบวนการส่งแบบรัฐต่อรัฐก่อน เพื่อลดปัญหาการหักหัวคิวหรือนายหน้า ยืนยันรัฐบาลพร้อมดูแลในเรื่องสิทธิ สวัสดิการแรงงานอย่างเต็มที่ และขอย้ำเตือนประชาชนที่สนใจไปทำงานซาอุฯ อย่าได้หลงเชื่อบุคคลที่เข้าไปติดต่อโดยตรง เพราะอาจจะทำให้ถูกหลอกเสียเงินฟรี

ประชาชนที่สนใจไปทำงานที่ซาอุฯ สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางานที่ https://www.doe.go.th/overseas ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เบื้องต้นมีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 300 คน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แต่ละจังหวัด หรือสายด่วน กรมการจัดหางาน โทร 1506 กด 2

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/2/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net