Skip to main content
sharethis

ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 18,885 ราย สะสม 2,693,362 ราย รักษาหาย 10,946 ราย สะสม 2,513,269 ราย เสียชีวิต 29 ราย สะสม 22,594 ราย ฉีดวัคซีน (18 ก.พ.) สะสม 121,470,998 โดส - ส่วนสถานการณ์เตียงของทั้ง กทม.และปริมณฑล เหลือเตียงว่าง 30,010 เตียง

19 ก.พ. 2565 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 18,885 ราย สะสม 2,693,362 ราย รักษาหาย 10,946 ราย 2,513,269 ราย เสียชีวิต 29 ราย สะสม 22,594 ราย ฉีดวัคซีน (18 ก.พ.) สะสม 121,470,998 โดส

ย้ำมาตรฐานรักษาโควิดเท่าเทียมทุกระบบ

สำนักข่าวไทย รายงานเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 ว่านพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวยืนยันเตียงโควิดยังมีเพียงพอ ไม่ได้เป็นไปตามที่ภาคเอ็นจีโอระบุว่า เตียงอาจไม่พอ แต่มีบ้างบางพื้นที่ที่อาจมีความหนาแน่น เช่น เตียงใน กทม. หรือในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) โดยอัตราครองเตียงทั้ง 13 เขตสุขภาพจากเตียงทั้งหมด 174,029 เตียง ครองเตียงหรือใช้ไปแค่ 80,756 เตียง หรือ 46.4% เหลือเตียงว่าง 93,273 เตียง   

ส่วนสถานการณ์เตียงของทั้ง กทม.และปริมณฑล ภาพรวมเตียงทั้งหมด 55,369 เตียง ครองเตียง 25,359 เตียง หรือคิดเป็น 45.8% เหลือเตียงว่าง 30,010 เตียง โดยแบ่งเป็น

- กรมการแพทย์ เตียงทั้งหมด 642 เตียง ครองเตียง 388 เตียง หรือคิดเป็น 60.4%  มีเตียงว่าง 254 เตียง
- กรมควบคุมโรค เตียงทั้งหมด 135 เตียง ครองเตียง 162 เตียง หรือคิดเป็น 120.04  มีเตียงว่าง 27 เตียง 
- กรมสุขภาพจิต เตียงทั้งหมด 147 เตียง ครองเตียง 45 เตียง หรือคิดเป็น 30.6%  มีเตียงว่าง 102 เตียง
- กระทรวงกลาโหม เตียงทั้งหมด 1,547 เตียง ครองเตียง 605 เตียง หรือคิดเป็น 39.1%  มีเตียงว่าง 942 เตียง
- กรุงเทพมหานคร  เตียงทั้งหมด 3,435 เตียง ครองเตียง 2,739 เตียง หรือคิดเป็น 79.7%  มีเตียงว่าง 696 เตียง  
- รพ.ตำรวจ เตียงทั้งหมด 319 เตียง ครองเตียง 173 เตียง หรือคิดเป็น 54.2%  มีเตียงว่าง 146 เตียง 
- รพ.สังกัด รร.แพทย์ เตียงทั้งหมด 565 เตียง ครองเตียง 225 เตียง หรือคิดเป็น 39.8% มีเตียงว่าง 340 เตียง
- รพ.เอกชน มีเตียงทั้งหมด 48,579 เตียง ครองเตียง 21,022 เตียง หรือคิดเป็น 45.8% มีเตียงว่าง 27,557 เตียง  

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่าเนื่องจากอาการของผู้ป่วยขณะนี้มีอาการไม่มาก จึงขอให้ผู้ป่วยใช้ ระบบ HI, CI  เป็นหลัก เพื่อเปิดทางให้ผู้ป่วยโรคอื่นที่มีความจำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาล ได้รับบริการใน รพ. จากเดิมที่โรคโควิดในอดีต มีการระดมทรัพยากร นำเตียงในแผนกอื่นมาใช้ในการรักษาโควิด ตอนนี้ไม่มีความจำเป็นแบบนั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าคนส่วนใหญ่ยังติดที่อาจไม่สะดวกสบายใจเท่ากับ Hospitel ที่มีแอร์ มีคนดูแล จึงอยากมาใช้บริการ Hospitel มากกว่า แต่ตอนนี้ต้องเอาความปลอดภัยเป็นที่ตั้งก่อน แต่ในอนาคตเมื่อมีการยกเลิก UCEP ที่มีผลกับการเบิกจ่ายก็อาจทำให้สัดส่วนของ Hospitel ลดลง ทั้งที่มาตรฐานการแพทย์ HI, CI  และ Hospitel ไม่ได้มีความแตกต่าง ทุกอย่างก็ระบบติดตาม แต่ก็เข้าใจบางคนที่อยู่คอนโด นิติบุคคล อาจไม่อนุญาตให้อยู่ ก็อาจให้บริการ Hotel Isolation มารองรับแทน 

ส่วนในเตียงของผู้ป่วยเด็ก ยอมรับมีความหนาแน่น เนื่องจากผู้ปกครองมีความอ่อนไหว โดยทางสถาบันสุขภาพเด็กฯ และ รพ.ในสังกัดกรมการแพทย์ ที่มีกุมารแพทย์ จะทำหน้าที่ในการคัดกรองผู้ป่วยโควิดเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี  ผ่านหมาย 1330 และมีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยพบว่าในเดือน 1-31 ม.ค. 2565 มีผู้ป่วยรวม 207 คน ส่วนในเดือน 1-16 ก.พ. 2565 จำนวน 147 คน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่าขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กำลังพิจารณาเกณฑ์ UCEP Plus สำหรับโควิด19  โดยนำผู้ป่วยที่มีอาการโควิด และโรคเดิม เข้าข่ายอาการสีเหลือง หรืออาการสีแดง ต้องใช้ออกซิเจนร่วม ให้เข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้ แต่อยู่ระหว่างการออกหลักเกณฑ์ เช่น ป่วยโรคกระเพาะมีเลือดออกในช่องท้อง แต่ตรวจเจอโควิดก็ต้องมารักษาและอยู่ในวอร์ดโควิด เป็นต้น และหากไม่มีเตียงก็ส่งต่อไปรักษาเอกชนได้ ขณะเดียวกันเตรียมปรับเรื่องของการเกณฑ์การรักษา จากเดิม 10 วัน อาจลดลง แต่รอผู้เชี่ยวชาญพิจารณา ระยะเวลาเกณฑ์การรักษาที่เหมาะสมอีกครั้ง เพื่อให้เข้ากับการดำเนินโรคในปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net