Skip to main content
sharethis

ผลงานสารคดี "เดอะ เมียนมา ไดอารี" ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มชาวพม่าผู้ไม่ประสงค์ออกนามได้รับรางวัลภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยมของแอมเนสตีที่งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเบอร์ลินปี 2565 สารคดีดังกล่าวนี้นำเสนอเรื่องราวการปราบปรามอย่างทารุณโหดเหี้ยมของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าหลังจากที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นในปีที่แล้ว

ที่มาภาพ: the Myanmar Collective (อ้างใน Hollywood Reporter)

"เดอะ เมียนมา ไดอารี" เป็นผลงานภาพยนตร์สารคดีของกลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์นิรนามในพม่าที่นำเสนอการที่รัฐบาลทหารปราบปรามประชาชนหลังจากที่มีการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว ผลงานเรื่องนี้ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลฟิล์มอวอร์ดที่งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน

มีการประกาศผลรางวัลดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ผู้ที่ชนะเลิดได้จะรับรางวัลเป็นเงินทุน 5,000 ยูโร (ราว 182,000 บาท) ซึ่งนอกจากรางวัลของแอมเนสตีซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนแล้ว เมยีนมาร์ ไดอารี ยังชนะรางวัลสารคดียอดเยี่ยมของเทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลินด้วย ซึ่งมีเงินรางวัล 40,000 ยูโร (ราว 1.46 ล้านบาท) สำหรับผู้กำกับและโปรดิวเซอร์

เมียนมาร์ ไดอารี ยังเคยได้รับรางวัลก่อนหน้าที่จะออกฉายสู่สายตาสาธารณะชน คือรางวัล "โทนี อีเลียต อิมแพค อวอร์ด" ในงานเทศกาลภาพยนตร์สิทธิมนุษยชนลอนดอนที่ได้รับการสนับสนุนสื่อ "ไทม์ เอาท์" ซึ่งตั้งชื่อรางวัลตามชื่อผู้ก่อตั้งนิตยสาร โทนี อีเลียต เป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นเพื่อให้เงินทุนและส่งเสริมภาพยนตร์ที่สร้างแรงสะเทือนต่อสังคม ซึ่งกรรมการของรางวัลนี้ต่างก็ตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เมียนมา ไดอารี ได้รับรางวัลโดยระบุว่า "มันมีการเล่าเรื่องที่ชวนให้นั่งไม่ติดเก้าอี้ มีการสร้างสรรค์แปลกใหม่แบบไม่อิงขนบ มีความกล้าหาญอย่างตรงไปตรงมา และมีความชำนาญในด้านการสร้างภาพยนตร์"

ในคำแถลงของกรรมการจากแอมเนสตีระบุว่าเรื่องเมียนมา ไดอารี เป็นภาพยนตร์ที่ "มีการนำเสนอเชิงสืบสวนที่น่าประทับใจและเป็นภาพยนตร์ที่มีความกล้าหาญอย่างยิ่ง ทุกคนที่มีส่วนร่วมในภาพยนตร์นี้ผู้ที่เสี่ยงชีวิตตัวเองอย่างกล้าหาญเพื่อสร้างมันขึ้นมาเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารในพม่าอย่างองอาจ"

กลุ่มผู้กำกับที่ไม่ประสงค์ออกนามเหล่านี้ใช้ชื่อกลุ่มของตัวเองว่า "เดอะ เมียนมา คอลเลกทีฟ" สร้างสารคดีขึ้นมาได้ด้วยหลายวิธีการ บางครั้งก็มีการลอบถ่ายสิ่งที่เสี่ยงต่อการถูกโต้ตอบจากรัฐบาล มีจำนวนมากที่ใช้โทรศัพท์มือถือถ่าย และบางครั้งก็มีการสร้างฉากขึ้นมาเองเพื่อการจำลองเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และภาพของผู้ประท้วงกับผู้แสดงออกต่อต้านขัดขืนรัฐบาลที่นำเสนอในรูปแบบที่ราวกับกวี

สมาชิกคนหนึ่งของเดอะ เมียนมา คอลเลกทีฟ เปิดเผยว่า "ทันทีหลังจากที่เกิดการรัฐประหาร พวกเราก็อยู่ในสภาวะตกตะลึง ไม่อยากจะเชื่อ และมีความหวังโง่ๆ ที่อาจจะดูไร้เดียงสาว่ากองทัพอาจจะสร้างข้อตกลงบางอย่างแล้วทำให้ทุกอย่างกลับคืนสู่ภาวะปกติ ... พอถึงสิ้นเดือน ก.พ. (ปี 2564) เมื่อพวกเราเล็งเห็นว่ามันไม่น่าจะเกิดขึ้นและอะไรๆ ก็กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ พวกเราจึงตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง การใช้ภาพยนตร์จึงกลายเป็นภาษาสื่อสารอย่างเดียวที่พวกเรามี"

เดอะ เมียนมา ไดอารี มีกำหนดฉายในภูมิภาคอเมริกาเหนือวันที่ 4 มี.ค. ที่จะถึงนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของเทศกาลภาพยนตร์สารคดีนานาชาติ MoMA Doc Fortnight ในนิวยอร์ก


ที่มา
Berlin: ‘Myanmar Diaries’ Wins Amnesty International Film Award, Hollywood Reporter, 17-02-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net