สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 ก.พ. 2565

กรมจัดหางาน ระงับอนุญาตเดินทางทำงานยูเครน

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดนระหว่างยูเครนและรัสเชีย ทวีความรุนแรงขึ้น และล่าสุดรัฐบาลยูเครนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

ซึ่งกรมการจัดหางานได้มีหนังสือแจ้งสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ ถึงสถานการณ์ในประเทศยูเครนและรัสเซีย เพื่อให้ประชาสัมพันธ์ต่อไปยังคนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานประเทศยูเครนและสหพันธรัฐรัสเซียทราบสถานการณ์ก่อนตัดสินใจเดินทาง

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยแรงงานไทยในยูเครน กำชับท่านรัฐมนตรีสุชาติ ชมกลิ่น ดูแลและเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ทำงานในยูเครนและรัสเซียอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรมการจัดหางานรับข้อสั่งการท่านรัฐมนตรีประสานสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ชอ ประเทศโปแลนด์ โดยทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีการประชุมทางไกลกับเจ้าของร้านสปา/นวดไทยในยูเครนที่คนไทยไปทำงาน จำนวน 16 แห่ง เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ของแรงงานไทย และได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือแรงงานไทยหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินให้สามารถเดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบิน หรือเดินทางเข้าโปแลนด์เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย

ทั้งนี้ขอฝากถึงคนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานประเทศยูเครน อย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างว่าสามารถพาไปทำงานที่ยูเครนและรัสเซียในขณะนี้ได้ เนื่องจากกรมการจัดหางานมีการระงับการอนุญาตเดินทางไปทำงานยูเครนชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานในประเทศยูเครน จำนวน 139 คน เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 126 คน และทำงานประเทศรัสเซีย จำนวน 441 คน เป็นสมาชิกกองทุนฯ จำนวน 406 คน ทั้งหมดเป็นแรงงานที่เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง และ Re-entry

ซึ่งหากมีประกาศอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการอพยพคนไทยกลับประเทศ เนื่องจากภัยสงคราม แรงงานไทยซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ และได้รับผลกระทบจนต้องเดินทางกลับประเทศจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ รายละ 15,000 บาทตามระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยกิจการที่จะใช้จ่ายเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ พ.ศ.2549 โดยให้จ่ายเงินจากกองทุน สงเคราะห์กรณีสมาชิกกองทุนประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุน เนื่องจากภัยสงครามหรือปัญหาความไม่สงบหรือภัยธรรมชาติหรือเกิดโรคระบาด ซึ่งทางการของประเทศนั้นๆ ประกาศกำหนดแล้

สำหรับผู้ที่มีญาติพี่น้องทำงานอยู่ที่ประเทศยูเครนในขณะนี้ หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศยูเครน สามารถติดต่อสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดได้ทุกจังหวัด หรือสำนักงานแรงงาน หรือติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ หมายเลข +48-696-642-348 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อผ่าน E-mail : thaiconsularwarsaw@thaiemb.pl

ที่มา: TNN, 25/2/2565

กลุ่มฟรีแลนซ์ร้อง ‘มาดามเดียร์’ หลังเดือดร้อนนโยบายโอนเงิน

25 ก.พ. 2565 กลุ่มผู้มีอาชีพอิสระ นำโดย น.ส.อรุณี นุ่มเกตุ อายุ 37 ปี อาชีพขายเสื้อผ้าเด็กบนเว็บไซด์ และนายธีรภัทร เจริญสุข นักแปล เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ให้หาแนวทางช่วยเหลือ หลังได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการโอนเงินข้ามประเทศให้กับผู้ใช้งานทั่วไป ผ่านระบบ Paypal ของบริษัทเพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะมีผลในวันที่ 7 มี.ค.นี้ โดยกำหนดให้บุคคลทั่วไปต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงจะสามารถดำเนินการรับโอนเงินได้

นายธีรภัทร ระบุว่าทาง Paypal ไม่ควรกำหนดให้ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตั้งแต่แรก เพราะไม่ชี้แจงความชัดเจนในข้อกฎหมายหรือหน่วยงานที่บังคับใช้ให้ทราบ เมื่อทางเราสอบถามไป ได้รับการชี้แจงตอนแรกว่าไม่ได้มีการบังคับให้ต้องเป็นนิติบุคคล สามารถจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาได้ ทำให้ผู้ใช้งานไปดำเนินการ จดทะเบียนดังกล่าวกัน แต่เมื่อ 5 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา กลับมีข้อกำหนดให้ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงเกิดความเสียหายขึ้นเพราะความไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงขอความชัดเจนว่า 1.เพย์พาลพูดคุยกับหน่วยงานใดและใช้กฎหมายข้อไหนที่ออกประกาศนี้ 2.เรียกร้องให้การใช้งานไม่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพราะสร้างภาระในทางกฎหมายและค่าใช้จ่าย 3.รับผิดชอบในการออกประกาศที่ไม่ชัดเจนและเกิดความเสียหายแล้ว 4.ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้จนกว่า เพย์พาลจะปรับปรุงระบบภายในจนรองรับการใช้งานบุคคลธรรมดาได้

ด้าน น.ส.อรุณี ระบุว่า เธอขายเสื้อผ้าเด็กผ่านเว็บไซต์อีสซี่ให้กับชาวต่างชาติมา 7-8 ปี ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวอเมริกา จึงจำเป็นต้องใช้ PayPal ในการชำระสินค้าแต่เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 64 PayPal ให้ผู้ใช้บริการยื่นทะเบียนพาณิชย์ โดยไม่ได้ระบุรูปแบบว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือไม่ เธอก็ยื่นเอกสารไปเรียบร้อยแล้ว แต่แล้ว PayPal ก็ออกนโยบายใหม่เพิ่มผ่านทางอีเมลอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 65 ใจความสำคัญของข้อความระบุว่า บัญชี PayPal จะถูกจำกัดการใช้งานตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 65 เป็นต้นไป โดยจะไม่สามารถโอนหรือรับเงินผ่านบัญชี PayPal ได้ ตนจึงมองว่าการลงทะเบียนธุรกิจ (นิติบุคคล) กับทางกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทยจะต้องใช้ระยะเวลานาน จึงอาจไม่ทันในวันที่ 7 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ตนจึงอยากร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนนโยบาย เพราะมีกลุ่มผู้ใช้ที่มีอาชีพฟรีแลนซ์ ขายสินค้าออนไลน์ทั่วประเทศหลายพันคนได้รับความเดือดร้อน

ขณะที่ น.ส.วทันยา กล่าวว่าในส่วนของ กมธ.การเงิน การคลังฯ มีอำนาจในการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงหาแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งหลังจากรับเรื่องอาจจะเชิญ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ มาร่วมหารือ แต่ไม่สามารถบังคับให้หน่วยงานปฏิบัติตามข้อเรียกร้องได้ อีกทั้ง Paypal เป็นองค์กรเอกชน อยู่ภายใต้กำกับของ ธปท. แต่จากที่ได้ทำงานร่วมกับ ธปท.มา เชื่อว่าจะช่วยหาทางแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

เบื้องต้นจะพยายามหาทางให้ Paypal ชะลอการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวที่จะเริ่มในวันที่ 7 มี.ค.นี้ ออกไปก่อน เพื่อให้ผู้ใช้งานมีเวลาดำเนินการปรับเปลี่ยน แม้จะไม่ได้มีอำนาจโดยตรงก็ตาม ที่สำคัญคือการดำเนินการเชิญผู้ให้บริการ PayPal ในประเทศไทย มาให้ข้อมูลถึงที่มาที่ไปของการออกกฎนี้ เนื่องจากกฎหมายของการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาเพื่อป้องกันการฟอกเงิน จึงทำให้ระบบการชำระเงินของผู้ให้บริการต้องทำระบบ KYC หรือ Know Your Customer คือ กระบวนการในการทําความรู้จักลูกค้า ที่สามารถระบุตัวตน และพิสูจน์ตัวตนได้อย่างถูกต้อง แต่ PayPal ออกกฎว่าต้องทำระบบ KYB หรือ Know Your Business คือการระบุตัวตนทางธุรกิจ จึงสร้างภาระให้กับประชาชน โดยไม่จำเป็น

โฆษก กมธ.การเงิน การคลังฯ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าหลังจากนี้จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 มี.ค.นี้ โดยจะเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบมาหาทางออกร่วมกันต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 25/2/2565

ก.แรงงาน ช่วยเหลือผู้รับงานไปทำที่บ้าน ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ผ่อน 12 งวด ยื่นกู้ได้ตั้งแต่ตอนนี้ ถึง 31 ส.ค. 2565

24 ก.พ. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีนโยบายเร่งด่วน ในการกระตุ้น ส่งเสริม และรักษาการจ้างงาน พัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงทางเลือกอาชีพอิสระ และการรับงานไปทำที่บ้านแก่ผู้ว่างงาน โดยในปีงบประมาณ 2565 กระทรวงแรงงานได้อนุมัติวงเงินกู้ยืม จำนวน 5,000,000 บาท พร้อมมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0 ต่อปี (จากเดิมร้อยละ 3) ในงวดที่ 1 -12 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3

เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้รับงาน/กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ถูกกฎหมาย บรรเทาความเดือดร้อนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

“นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับกระทรวงแรงงานดูแลช่วยเหลืออย่างเท่าเทียม ทั่วถึงเพื่อให้สามารถก้าวต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์โควิด–19″

การรับงานไปทำที่บ้านคือ?

– งานที่รับไปทำที่บ้าน คือ งานที่ผู้จ้างงานมอบให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพื่อไปผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อมหรือแปรรูปสิ่งของตามที่ได้ตกลงในบ้านของตนเองหรือสถานที่ที่มิใช่สถานประกอบกิจการของผู้ว่าจ้าง

– ผู้รับงานไปทำที่บ้าน คือ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งตกลงกับผู้ว่าจ้างงานเพื่อรับทำงานอันเป็นงานที่รับไปทำที่บ้าน และจดทะเบียนตามระเบียบนี้

– ผู้จ้างงาน คือ ผู้ประกอบกิจการซึ่งตกลงจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ทำงานที่รับไปทำที่บ้าน ไม่ว่าตกลงมอบงานโดยตนเองหรือโดยผ่านตัวแทนหรือกระทำในลักษณะผู้รับเหมาช่วงก็ตาม

– ประเภทของการรับงานไปทำที่บ้าน มีทั้งประเภทงานที่ผลิตหรือประกอบขึ้น เพื่อใช้ภายในประเทศ หรือเพื่อการส่งออก เช่น กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด วิกผม ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ดอกไม้ประดิษฐ์ เป็นต้น

วงเงินกู้แต่ละประเภท

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้านมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับให้กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกู้ยืมไปซื้อวัตถุดิบ หรืออุปกรณ์ในการผลิตหรือใช้ขยายการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของกรมการจัดหางาน ในการส่งเสริมการจ้างงานและการประกอบอาชีพแรงงานกลุ่มเปราะบางเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยคุณสมบัติของผู้กู้จะต้องเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน มีผลการดำเนินการและมีรายได้จากการรับงานไปทำที่บ้านหรือมีหลักฐานการรับงานไปทำที่บ้านจากผู้จ้างงาน ซึ่งมีทั้งประเภทบุคคลและกลุ่มบุคคล ดังนี้

– ประเภทบุคคลต้องมีทรัพย์สินหรือเงินทุนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท วงเงินกู้สำหรับบุคคลไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 2 ปี

– ประเภทกลุ่มบุคคลจะต้องมีผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มกู้ร่วมกันไม่น้อยกว่า 5 คน มีทรัพย์สินหรือเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท วงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนภายใน 5 ปี

ผู้ที่สนใจกู้ยืมเงินกองทุนสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและยื่นคำขอกู้เงินได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด ในท้องที่ที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน ภายใน 31 ส.ค. 2565 และทำสัญญากู้ยืมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. 2565

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/2/2565

ห่วงแรงงานไทยในยูเครน 139 คน รมต.แรงงาน ขอให้เฝ้าระวังติดตามข่าวสารจากกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมอพยพทันที

24 ก.พ. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ห่วงใยคนไทยในยูเครน หลังสถานการณ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซียตึงเครียด โดยนายกฯ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ในส่วนกระทรวงแรงงาน ขอให้พี่น้องแรงงานไทยในยูเครนเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ ข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงการต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมทันท่วงที หากมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นต้องอพยพกลับประเทศ ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือของกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานมีเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กรณีคนงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนและประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุน เนื่องจากภัยสงครามหรือปัญหาความไม่สงบ หรือจากภัยธรรมชาติหรือเกิดโรคระบาด ซึ่งทางการประเทศนั้นๆ ประกาศกำหนดแล้ว ในการไปทำงานในต่างประเทศตามขั้นตอนของกฎหมายอีกด้วย

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในยูเครน 139 คน (ข้อมูลเดือนม.ค.2565) เป็นแรงงานที่เดินทางด้วยตนเอง 116 คน และ Re-entry 23 คน ส่วนใหญ่ทำงานในตำแหน่งนวด สปา ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกกองทุนฯ 126 คน

คนไทยและแรงงานไทยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ หมายเลข +48-696-642-348 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อผ่าน E-mail : thaiconsularwarsaw@thaiemb.pl

ที่มา: ข่าวสด, 24/2/2565

เครือข่ายแรงงานฯ บุกสภาจี้กำหนดวันเลือกตั้ง "บอร์ด สปส." มิ.ย.นี้

23 ก.พ. 2565 เวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน จำนวนหนึ่ง นำโดย นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง นางสาวธนพร วิจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เดินทางมายื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้กำหนดวันเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการประกันสังคม

นายธนพงษ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่การประกาศ พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2558 ซึ่งในมาตรา 8 ได้กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้มาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายผู้ประกันตนทั้งหญิง ชาย ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส แต่ต่อมามีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 40/2558 แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 ให้ รมว.แรงงาน จัดทำระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งตามมาตรา 8 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้เสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 รมว.แรงงานก็ได้ลงนามเห็นชอบระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งฯ ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา แต่จนถึงวันนี้เกือบ 7 ปีแล้วก็ยังไม่เกิดกระบวนการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมแต่อย่างใด และยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่

ด้าน นางสาวธนพร กล่าวว่า จากที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมเมื่อไหร่นั้น ทางเครือข่ายแรงงานฯ ตัวแทนผู้ประกันตน จึงได้ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อประสานไปยัง รมว.แรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน ให้เร่งดำเนินการตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ดังนี้

1. ให้กำหนดวันและประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมภายในเดือน มิ.ย. 2565 ให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง 2. ให้แก้ไขกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย มีสิทธิเลือกตั้งทั้งนายจ้างและผู้ประกันตน ตามที่กำหนดไว้ในข้อที่ 16 ของระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งฯ เพราะเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเช่นเดียวกัน 3. ให้แก้ไขกำหนดสัดส่วนผู้แทนผู้ประกันตนสอดคล้องกับจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33, มาตรา 39, และมาตรา 40

4. ให้แก้ไขการกำหนดให้มีหน่วยเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งหน่วย ในข้อ 14 ให้สอดคล้องเหมาะสมตามสัดส่วนผู้ประกันตนที่มีในแต่ละจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการใช้สิทธิของผู้ประกันตน และ 5. จัดให้มีการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนที่ต้องการเลือกตั้งแต่ไม่มีเวลาได้เข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งครั้งนี้

“เราขอเรียกร้องให้ท่านพิจารณาเร่งจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการแทรกแซงกระบวนการสรรหาที่มาจากการสรรหาและแต่งตั้งผู้แทนผู้ประกันตนจากภาครัฐที่เอื้อให้เกิดการแทรกแซงการบริหารจัดการที่ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ผู้ประกันตนอย่างแท้จริง” นางสาวธนพร กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 23/2/2565

เตือนคนหางานระวัง ถูกหลอกทำงานในเมียนมา โดนข่มขู่ ตกงาน ไม่คุ้มเสี่ยง

23 ก.พ. 2565 เพจกระทรวงการต่างประเทศ ได้แชร์ประกาศของกรมการกงสุลเพื่อคนไทย เตือนคนไทย ให้ระวังการถูกล่อลวง ไปทำงานในเมียนมา ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีรายละเอียดว่า “ระวังการถูกล่อลวงให้ไปทำงานใน “เมียนมา” ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

ปัจจุบัน มีการชักชวนคนไทยไปทำงานที่เมืองป๊อก รัฐฉาน ผ่านกลุ่มเฟซบุ๊กโดยใช้เส้นทางธรรมชาติบริเวณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ส่งแรงงานข้ามไปยังเมียนมา ขบวนการดังกล่าวเป็นขบวนการ ‘ค้ามนุษย์’ โดยลักษณะงาน คือ งานขายบริการ และอาจถูกบังคับให้ใช้สารเสพติด

จากสถานการณ์โควิด-19 สถานบันเทิง และธุรกิจโรงแรมปิดตัวลงจำนวนมาก หากโดนชักชวนไปทำงานดังกล่าว อาจประสบปัญหาการว่างงาน ไม่มีรายได้ ตลอดจนถูกข่มขู่หรือถูกทำร้ายร่างกายได้ การเข้าไปให้ความช่วยเหลือของทางการเป็นไปอย่างยากลำบากในหลายพื้นที่ในเมียนมา”

ที่มา: เส้นทางเศรษฐี, 23/2/2565

‘สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ฯ’ ร้อง กมธ.การแรงงาน ขอความเป็นธรรม ถูกเรียกค่าปรับ M-Flow 10 เท่า

23 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา นายเกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทยและคณะ ยื่นหนังสือต่อนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร กรณีสมาชิกสมาพันธ์ฯ ถูกเรียกเก็บค่าปรับจากระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow

โดยนายเกรียงไกร กล่าวว่า สืบเนื่องด้วยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้เปิดระบบทางด่วน M-Flow ที่ให้ใช้บริการก่อนแล้วชำระเงินภายหลัง ซึ่งทางสมาชิกสมาพันธ์ฯ เข้าใจว่าเปิดให้ใช้ฟรี เนื่องจากไม่มีการบอกกล่าวและลงข่าวเท่าที่ควร ทำให้ทุกวันนี้สมาชิกสมาพันธ์ฯ ถูกเรียกเก็บค่าปรับคนละ 300-1,000 บาท ซึ่งทางสมาพันธ์ฯ ไม่เข้าใจในระบบนี้ โดยตนได้โทรถามกรมทางหลวงซึ่งยอมรับว่าผิดพลาดในส่วนของการกระจายข่าว แต่ก็ยังยืนยันให้สมาชิกสมาพันธ์ฯ จ่ายค่าปรับ 10 เท่า ซึ่งผู้ขับแท็กซี่ในปัจจุบันหารายได้ลำบากอยู่แล้ว แต่เหตุใดภาครัฐบาลจึงกดขี่ข่มเหงแบบนี้

“เราโทรไปขอร้องเพราะเราไม่มีเงิน สุดท้ายบอกเราว่าถ้าไม่จ่ายจะต่อทะเบียนไม่ได้ทั้งที่คุณเป็นคนผิดเอง แต่ทำไมทำให้ประชาชนตาดำๆ คนหาเช้ากินค่ำอย่างพวกเรารับกรรมตรงนี้ หาคนสักคนไปอธิบายก็ไม่มี ผมเองประสบด้วยตัวเอง วิ่งครั้งหนึ่งผมก็คิดว่าทำไมเขาไม่เก็บเงิน ผมก็ไม่รู้ สุดท้ายพอแจกใบปลิววันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ ผมสแกนดูก็โดนไป 300 กว่าบาท ซึ่งมันไม่เป็นธรรมกับพวกเราเลย เราหาเงินกันไม่ได้อยู่แล้ว และอาชีพแท็กซี่ส่วนมากไม่ได้ขึ้นทางด่วน นอกจากผู้โดยสารให้ขึ้นเท่านั้น แล้วเงินที่พวกเราจ่ายไปใครจะจ่ายคืนให้เรา ผมอยากจะถามถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านทำให้มันถูกต้อง และฝากถึงท่านประธานกมธ.การแรงงาน ทวงคืนความเป็นธรรมให้พวกเราด้วย” นายเกรียงไกร กล่าว

ด้านนายสุเทพ กล่าวว่า เป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนจากการบริหารจัดการของรัฐบาลและการบริหารจัดการของกระทรวงคมนาคม การออกมาตรการต่างๆ ไม่ควรที่จะเป็นภาระให้กับประชาชน นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีการวางแผน โดยนายสุเทพจะดำเนินการนำเรื่องเข้าที่ประชุมให้ภายในช่วงบ่ายของวันนี้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/2/2565

ก.แรงงาน จ่ายเยียวยาโควิดคนกลางคืนกว่า 1 แสนราย แนะคนตกหล่นเร่งผูกพร้อมเพย์

22 ก.พ.นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินตามโครงการเยียวยาผู้ประกันตน ในกิจการสถานบันเทิง และผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักร้อง นักดนตรี ศิลปินในสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานประกันสังคมว่า ขณะนี้ได้โอนเงินเยียวยาให้กับบุคคลกลุ่มดังกล่าวไปแล้วทั้งสิ้น 116,755 ราย เป็นเงิน 583,775,000 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ก.พ. 2565)

นางเธียรรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มที่เงินยังไม่เข้าเนื่องจากตกหล่นกรณีโอนเงินไม่สำเร็จจากสาเหตุต่าง ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากปัญหายังไม่ผูกพร้อมเพย์กับเลขบัตรประชาชน รองลงมา บัญชีปิด และไม่มีบัญชี ทำให้ผู้ประกันตนยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าว จึงขอย้ำให้ผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิเงินเยียวยาที่ลงทะเบียนไว้แล้วแต่เงินยังไม่เข้า ให้เร่งตรวจสอบบัญชีธนาคารว่าได้ผูกพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนไว้หรือไม่ หากยัง ให้เร่งดำเนินการโดยด่วน! เพื่อให้ได้รับสิทธิเยียวยาอย่างครบถ้วน ทั่วถึง

นายวรพจน์ นิ่มวิจิตร ตัวแทนผู้จัดงานคอนเสิร์ต อีเวนต์ จากสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เสียงสะท้อนของผู้ประกอบอาชีพอิสระ นักร้อง นักดนตรี ศิลปินในสถานบันเทิงหลังจากที่ได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้เรียบร้อยแล้วนั้น ต่างฝากขอบคุณไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่เห็นความสำคัญของอาชีพอิสระ เงิน 5,000 บาท ที่ได้รับ แต่ละคนสามารถนำไปเป็นค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของแต่ละคนในครอบครัวให้สามารถดำเนินชีวิตในยามวิกฤติจากโควิดได้ พวกเราขอเป็นกำลังใจในการทำงานให้ท่านต่อไป

ด้านนายฝอยทอง เชิญยิ้ม นายกสมาคมศิลปินตลกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนขอเป็นตัวแทนสมาชิกศิลปินตลก นักดนตรี ผู้จัดการ เด็กเก็บของ คนขับรถ ขอกราบขอบพระคุณ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นห่วงอาชีพคนกลางคืน และคนบันเทิง รวมถึง สมาคมศิลปินตลกแห่งประเทศไทย และมอบหมายให้แรงงาน ให้ช่วยเหลือโดยมอบเงินเยียวยา ให้กับพี่น้องชาวศิลปินตลก ทั้งนี้ ศิลปินตลกทุกท่านขอกราบขอบพระคุณอย่างสุดซึ้ง ที่รัฐบาลเป็นห่วงการเป็นอยู่ของกลุ่มคนบันเทิงในช่วงขาดรายได้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเงิน 5,000 บาท แม้จะไม่มากแต่สามารถช่วยเหลือเยียวยาการดำรงชีวิตของศิลปินตลกอย่างพวกเราได้

ที่มา: เดลินิวส์, 22/2/2565

'รมว.แรงงาน' ชี้โยกงบกลางเยียวยาแทนนายจ้างไม่ได้ ทั่วโลกไม่ทำกัน

22 ก.พ.2565 - นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชนมาชุมนุมกดดันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลระหว่างประชุม ครม. เพื่อเรียกร้องให้ใช้งบกลางมาเยียวยาก่อนแล้วค่อยไปเรียกเก็บจากนายจ้างว่า เราเยียวยาตามกฎหมายไปแล้วทุกอย่างทุกมิติ 30 กว่าล้านบาท แต่ไม่สามารถนำงบกลางมาจ่ายแทนนายจ้างได้ ไม่อย่างนั้นทั่วโลกก็ทำแบบนี้กันหมด

ดังนั้นเราจะเรียกร้องอะไรต้องอยู่ในกรอบประชาธิปไตยและกฎหมายประเทศนั้นๆ เพราะมันเป็นภาษีของประชาชนทุกคน เอามาทำแบบนี้มันถูกต้องหรือไม่ ส่วนจะไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไร นายสุชาติ ตอบว่ารู้อยู่แก่ใจว่าคืออะไร ใครอยู่เบื้องหลัง คนที่เป็นแกนนำก็เห็นมาชุมนุมทุกกลุ่ม ไม่รู้ว่าอยู่ตำแหน่งอะไรในสหภาพ เป็นเรื่องของสามัญสำนึกของคนเป็นแกนนำต้องรู้ว่าทำถูกหรือทำผิด

ที่มา: ไทยโพสต์, 22/2/2565

ก.แรงงาน ชดเชยญาติคนงาน นั่งร้านถล่มดับ กว่า 2.6 ล้านบาท

21 ก.พ. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบสิทธิประโยชน์เงินทดแทนแก่ญาติลูกจ้างจำนวน 3 ราย กรณีลูกจ้างเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไซต์งานก่อสร้าง โครงการวันแบงค็อก ถนนพระราม 4 แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เกิดอุบัติเหตุเหล็กค้ำยันรองรับหล่อคอนกรีตพังถล่มขณะเทคอนกรีต โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) คุณอรวรรญา พันธุ์เขียว สมุห์บัญชี ตัวแทน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ และกำชับให้กระทรวงแรงงานเร่งให้ความช่วยเหลือญาติของคนงานที่เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บโดยด่วน ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ประสานญาติของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายทราบ และในวันนี้ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ดิฉันมอบสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตแก่ญาติของลูกจ้าง

นางธิวัลรัตน์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้มอบสิทธิประโยชน์เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ทายาทและผู้มีสิทธิ์ มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม แก่ญาติจำนวน 3 ราย ได้แก่ รายแรก คุณเกวรีชัย คำมิ่ง ญาติของนางบุญโฮม วังมา อายุ 42 ปี จะได้ค่าทำศพ 50,000 บาท ค่าทดแทน อัตราเดือนละ 6,374.20 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 764,904 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพกรณีเสียชีวิต 10,201.69 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 825,105.69 บาท รายที่สอง คุณปรัชญา บุญภักดี ญาติของนางประไพ สุปมา จะได้ค่าทำศพ 50,000 บาท ค่าทดแทน อัตราเดือนละ 6,428.80 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 771,456 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพกรณีเสียชีวิต 63,064.83 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 884,520.83 บาท รายที่สาม คุณฟัรฮาน มะลูล้อง ญาติของนางอุดร เลขสันต์ จะได้ค่าทำศพ 50,000 บาท ค่าทดแทน อัตราเดือนละ 6,447 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 773,640 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพกรณีเสียชีวิต 74,835.08 บาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 898,475.08 บาท รวมทั้ง 3 รายเป็นเงินทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 2,608,101.6 บาท

ที่มา: ข่าวสด, 21/2/2565

ผู้ประกันตนมาตรา 39 ติดเชื้อโควิดและต้องกักตัว ได้เงินชดเชยวันละ 80 บาท ส่วนมาตรา 40 มี 3 ทางเลือก

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ผู้ประกันตนมาตรา 39 ติดเชื้อโควิดและต้องกักตัว ได้เงินชดเชยวันละ 80 บาท ส่วนมาตรา 40 มี 3 ทางเลือก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานพบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง

ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50% โดยคิดจากฐานอัตราการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 (4,800 บาท) จ่ายครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นแพทย์วินิจฉัยให้เป็นโรคเรื้อรังไม่เกิน 365 วันต่อปีปฏิทิน สูตรการคำนวณให้ใช้ฐานค่าจ้าง 4,800 ÷ 30 วัน จะได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 160 × 50% = 80 บาท

ผู้ประกันตนมาตรา 40 จะมี 3 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 และ ทางเลือกที่ 2 คือ ผู้ป่วยในนอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไปได้ค่าชดเชยวันละ 300 บาท ทางเลือกที่ 2 ไม่นอนโรงพยาบาลแต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จ่ายค่าชดเชยวันละ 200 บาท ทั้งหมดรวมกันแล้วปีละ ไม่เกิน 30 วัน / ปี ทางเลือกที่ 3 ผู้ป่วยในนอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไปได้ค่าชดเชยวันละ 300 บาท ได้ (2) ไม่นอนโรงพยาบาลแต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จ่ายค่าชดเชยวันละ 200 บาท ทั้งหมดรวมกันปีละไม่เกิน 90 วัน /ปี

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 20/2/2565

อนุ กก.กลั่นกรองกฎหมาย สปส. ชี้ดึงเงินกองทุนชราภาพใช้ก่อน แก้ ศก.ระยะสั้น สร้างปัญหาระยะยาว

20 ก.พ. 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และอดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.รังสิต กล่าวถึงข้อเสนอให้นำเงินจากกองทุนชราภาพออกมาใช้ก่อน ให้เลือกรับบำเหน็จแทนบำนาญได้ และขอกู้จากกองทุนได้ว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นข้อเสนอของผู้ประกันตนและผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ บางคนแม้ได้เงินจากกองทุนประกันการว่างงาน สวัสดิการ รวมทั้งเงินช่วยเหลือจากรัฐแล้วก็ยังไม่เพียงพอ จึงขอเลือกรับบำเหน็จแทนบำนาญเมื่ออายุครบ 55 ปี ขอนำเงินจากองทุนชราภาพมาใช้ก่อน และขอกู้จากกองทุน ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น การเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกันตนในการใช้เงินกองทุนชราภาพตามข้อเรียกร้องอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเหมาะสมในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกันตนที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าอย่างหนัก แต่จะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวติดตามมาไม่น้อย

“การตัดสินใจให้รับบำเหน็จได้ ให้กู้ได้ ขอคืนได้ เป็นการเปลี่ยนหลักการของกองทุนชราภาพประกันสังคม และอาจส่งผลต่อความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนได้ คาดว่าเงินอาจหมดกองทุนภายใน 30-40 ปีแทนที่จะเป็น 75 ปี กองทุนชราภาพในกองทุนประกันสังคมออกแบบมาเพื่อรับมือและลดความเสี่ยงหากสมาชิกกองทุนประกันสังคมมีชีวิตอยู่ยืนยาวกว่าเงินที่เก็บออมไว้ และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาสังคมชราภาพของไทย ตามหลักการต้องการเป็นหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงวัยมีบำนาญไว้ใช้จ่ายตลอดชั่วอายุขัย

“กองทุนประกันชราภาพของกองทุนประกันสังคมต่างจากระบบ Defined Contribution Scheme ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนการออมแห่งชาติที่ผู้ส่งสมทบจะมีบัญชีของตัวเองชัดเจน บำเหน็จบำนาญที่ได้จึงขึ้นอยู่กับเงินออมสมทบของตัวเอง ขณะที่ระบบประกันสังคมเป็นแบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขจ่ายเงินบำนาญจากกองกลาง กองทุนชราภาพของกองทุนประกันสังคมอาจประสบปัญหาสภาพคล่องหากมีคนมาขอใช้สิทธิรับบำเหน็จและขอคืนเงินจำนวนมาก แม้จะมีข้อกำหนดว่าขอคืนได้ไม่เกินร้อยละ 30 สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทก็ตาม หรือมาขอกู้กันมากๆ เพราะมีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ สภาพคล่องกองทุนประกันสังคมมีปัญหาแน่นอน ข้อเสนอเหล่านี้เพื่อตอบสนองผู้ประกันตนและองค์กรแรงงานบางส่วนอาจต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน” รศ.ดร.อนุสรณ์ระบุ

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า แม้หลายประเทศมีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจก็จะไม่ยอมให้จ่ายเป็นบำเหน็จเพราะโดยหลักการกองทุนประกันชราภาพแล้วต้องการให้เป็นหลักประกันรายได้ไปตลอดชีวิต มีบางประเทศให้รับบำเหน็จได้ แต่ผู้ประกันตนก็มักใช้เงินหมดภายในเวลาไม่กี่ปีและไม่มีหลักประกันรายได้หลังจากนั้นและต้องกลับมาเป็นภาระของสังคมและรัฐในที่สุด ส่วนกรณีการขอคืน “เงินกองทุนชราภาพ” ควรใช้มีวิธีขยายสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงานสำหรับผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจจะดีกว่า หรือรัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่มีรายได้น้อย

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า การดึงเงินจากกองทุนประกันชราภาพไปใช้เพื่อลดปัญหาทางงบประมาณ หรือการก่อหนี้เพิ่มของรัฐเฉพาะหน้า แต่จะสร้างปัญหาระยะยาวติดตามมาอยู่ดี ส่วนการขอกู้จากกองทุน หรือนำเงินที่สะสมไว้มาเป็นหลักประกันนั้น ธนาคารพาณิชย์อาจจะลังเลปล่อยกู้หรือไม่ เพราะเงินสมทบก็คล้ายการจ่ายค่าเบี้ยประกันเพื่อซื้อบริการไปแล้ว หากเอาเงินสมทบมาขอกู้เงินความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น ยกเว้นธนาคารของรัฐที่รัฐบาลสั่งให้สนองนโยบายหรืออีกทางหนึ่ง สำนักงานประกันสังคมต้องจัดตั้ง “ธนาคารของกองทุนประกันสังคม” ขึ้นมา

“ขอให้กระทรวงแรงงานและรัฐบาลพิจารณาข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและส่งผลกระทบระยะยาวต่อกองทุนประกันสังคมด้วยความรอบคอบ เพราะสิ่งที่จะทำให้กองทุนประกันสังคมมีความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว คือการบริหารจัดการเงินลงทุนในกองทุนอย่างโปร่งใสและได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ผลการดำเนินงานของการบริหารเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคมมีค่าเฉลี่ยดีกว่าเกณฑ์ผลตอบแทนของตลาดสำหรับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนและข้อกำหนดในการลงทุนแบบเดียวกันมาอย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นความสำเร็จ แต่การทบทวนนโยบายการลงทุนและประเมินผลบรรดาผู้จัดการลงทุนที่กองทุนประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญอย่างมากในช่วงตลาดการเงินผันผวนและเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

“กองทุนประกันสังคมควรศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนกองทุนประกันสังคมจากหน่วยราชการมาเป็นองค์กรอิสระที่เป็นองค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการแบบ กลต. ตลาดหลักทรัพย์ หรือองค์กรแบบธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาทางอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ได้มีการเสนอให้มีเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงความยั่งยืนทางการเงินควบคู่ไปด้วย เช่น การพัฒนาสิทธิประโยชน์ชราภาพ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงาน การขยายระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย การลดเงินสมทบช่วงโควิด-19 การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยมาตรา 40 การเพิ่มสิทธิประโยชน์และการออมเงินโดยสมัครใจมาตรา 33 และ 39 เป็นต้น

“โดยรวมแล้วการดำเนินการที่ผ่านเป็นการเพิ่มสวัสดิการและลดเงินสมทบให้กับผู้ประกับตนมากขึ้น ฉะนั้น จึงมีเงินไหลออกจากเงินกองทุนมากกว่าเงินไหลเข้า ด้านเงินไหลเข้านั้น กองทุนประกันสังคมก็ได้ขยายฐานสมาชิกเพิ่มขึ้น และเห็นว่ากองทุนประกันควรขยายฐานในเชิงรุกมากกว่านี้ไปยังกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพอิสระเพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับความคุ้มครองด้านสวัสดิการพื้นฐานในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและนอกจากนี้ยังมีเงินไหลเข้ากองทุนจากการจ่ายเงินสมทบอีกด้วย” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า แม้สถานการณ์การจ้างงานโดยรวมปรับตัวในทิศทางดีขึ้น โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมส่งออก ภาคการท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นบ้างหลังการเปิดประเทศ แต่รัฐบาลต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้นในการแก้ปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะการว่างงานของธุรกิจอุตสาหกรรมที่ควบรวมกิจการและได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี การปรับหลักสูตรและระบบการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่สอดคล้องสำหรับระบบเศรษฐกิจใหม่เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังควบคู่กับการปรับทักษะ พัฒนาทักษะ สร้างทักษะให้กับแรงงาน ขณะนี้ภาคเอกชน รวมทั้งภาคราชการได้มีการจ้างงานแบบสัญญาจ้างระยะสั้นมากขึ้น จ้างงานตามโปรเจ็กต์มากขึ้น จ้างงานแบบรายวันรายชิ้นมากขึ้น จ้างงานแบบทำงานจากที่บ้านมากขึ้น มีการทำงานจากระยะไกลมากขึ้น การทำงานแบบแชร์ความสามารถส่วนบุคคล (Talent Sharing) มีการทำงานแบบฟรีแลนซ์ ซึ่งระบบการจ้างงานหรือทำงานแบบยืดหยุ่นที่เป็น Non-Standard เหล่านี้ก็เพื่อลดค่าใช้จ่ายขององค์กร ก่อให้เกิดความคล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้เร็ว มีความยืดหยุ่น แต่ควบคุมคุณภาพได้ยาก

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า ขณะเดียวกันอาจเป็นการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมได้ และเรียกร้องให้รัฐกำกับ “การจ้างงานแบบยืดหยุ่น” “การจ้างงานแบบเหมาช่วง” “การจ้างงานแบบ Non-Standard” ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานและสร้างความไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างได้ มาตรฐานแรงงานไทยและอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานแรงงานโลก กระทรวงแรงงานได้ประกาศมาตรฐานแรงงานไทยเมื่อ 27 มิ.ย. 2546 เพื่อให้สถานประกอบการทุกประเภท ทุกขนาด นำไปปฏิบัติต่อแรงงานในสถานประกอบการด้วยความสมัครใจ การดำเนินธุรกิจและดำเนินการผลิตต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมที่ครอบคลุมสิทธิมนุษยชน (รวมสิทธิแรงงานด้วย) สภาพการจ้างและสภาพการทำงาน

“รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานต้องทบทวนข้อกำหนดแห่งมาตรฐานแรงงานในช่วงนี้เนื่องจากมีสถานการณ์เลิกจ้างรุนแรงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้างและทำให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี มาตรฐานนี้ครอบคลุมไปยังผู้รับเหมาช่วงและการจ้างงานแบบไม่เป็นมาตรฐานด้วย สถานประกอบกิจการต้องให้ลูกจ้างได้รับข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้าง และค่าตอบแทนการทำงานที่ได้รับทั้งหมดในแต่ละงวด เป็นลายลักษณ์อักษร และสามารถเข้าใจรายละเอียดส่วนประกอบต่างๆ ได้

“สถานประกอบกิจการต้องไม่หักค่าจ้าง ค่าตอบแทนการทำงาน หรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายแก่ลูกจ้างไม่ว่ากรณีใด เว้นแต่กฎหมายยกเว้นไว้ มาตรฐานแรงงานไม่สามารถครอบคลุมแรงงานจำนวนไม่น้อยที่อยู่นอกระบบ สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำ หรือสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน การจ่ายค่าจ้าง และค่าตอบแทนการทำงาน การให้สวัสดิการ โอกาสได้รับการฝึกอบรม และพัฒนา การพิจาณาเลื่อนขั้น หรือตำแหน่งหน้าที่ การเลิกจ้าง หรือเกษียณอายุการทำงานและอื่นๆ อันเนื่องมาจากเหตุเพราะความแตกต่างในเรื่องของสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อายุ เพศ สถานภาพสมรส ทัศนคติส่วนตัวในเรื่องเพศ ความพิการ การติดเชื้อเอชไอวี การเป็นผู้ป่วยเอดส์ การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน การเป็นกรรมการลูกจ้าง ความนิยมในพรรคการเมือง หรือแนวความคิดส่วนบุคคลอื่นๆ ซึ่งขณะนี้นายจ้างได้ถือโอกาสช่วงวิกฤตเศรษฐกิจกลั่นแกล้งเลิกจ้างลูกจ้างอย่างเลือกปฏิบัติ ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงในสังคมเพิ่มขึ้น” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า สถานประกอบกิจการต้องไม่ขัดขวาง แทรกแซง หรือกระทำการใดๆ ที่จะเป็นผลกระทบต่อการใช้สิทธิของลูกจ้างที่ไม่มีผลเสียหายต่อกิจการ ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ประเพณีเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ความพิการการเป็นกรรมกรลูกจ้าง การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือพรรคการเมือง และการแสดงออกตามทัศนคติส่วนบุคคลอื่นๆ สถานประกอบกิจการต้องไม่ลงโทษทางวินัย โดยการหัก หรือลดค่าจ้าง และค่าตอบแทนการทำงาน หรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำ หรือการสนับสนุนให้ใช้วิธีการลงโทษทางร่างกาย ทางจิตใจ หรือกระทำการบังคับขู่เข็ญ ทำร้ายลูกจ้าง สถานประกอบกิจการต้องมีมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหา เพื่อมิให้ลูกจ้างถูกล่วงเกิน คุกคาม หรือได้รับความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ โดยการแสดงออกด้วยคำพูด ท่าทาง การสัมผัสทางกาย หรือด้วยวิธีการอื่นใด

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวว่า สถานประกอบกิจการต้องเคารพสิทธิลูกจ้างในการรวมตัวจัดตั้งและร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือคณะกรรมการอื่นๆ ในสถานประกอบกิจการ อีกทั้งยอมรับการร่วมเจรจาต่อรอง การคัดเลือก หรือเลือกตั้งผู้แทน โดยไม่กระทำการใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อขัดขวาง หรือแทรกแซงการใช้สิทธิของลูกจ้าง สถานประกอบกิจการต้องมีมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้แทนลูกจ้างในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ และต้องปฏิบัติต่อผู้แทนลูกจ้างโดยเท่าเทียมกับลูกจ้างอื่นๆ โดยไม่กลั่นแกล้ง โยกย้าย เลิกจ้าง หรือกระทำการใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม สถานประกอบกิจการต้องกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ครอบคลุมประเภทงาน หรือลักษณะงานที่มีแนวโน้มอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีการควบคุม ป้องกันให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัยในทุกสภาพแวดล้อมในการทำงาน สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตราย และลดปัจจัยเสี่ยงให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัย

“ขณะนี้หลายกิจการ หลายธุรกิจอุตสาหกรรมลดมาตรฐานแรงงานลงมาเพื่อลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นเงื่อนไขต่อการเพิ่มการกีดกันทางการค้าอันนำมาสู่ผลกระทบต่อกิจการและประเทศชาติโดยรวมในที่สุด หากมีการจ้างงานอย่างไม่ธรรมมากๆ ไม่มีสวัสดิการ ได้รับค่าตอบแทนต่ำด้วยชั่วโมงการทำงานยาวนาน และสภาพแวดล้อมในการทำงานมีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัยและไม่มีอาชีวอนามัย ก็อาจจะดีกว่าแรงงานทาสไม่มากนัก เป็นการมองแรงงานเป็นเพียงปัจจัยการผลิตและต้นทุน ไม่ได้มองแรงงานในฐานะมนุษย์ ในฐานะเพื่อนร่วมชาติ ร่วมโลก และสภาวะดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับแรงงานอพยพที่ไม่มีทางเลือก

“เราได้เห็นการกดขี่เอาเปรียบเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น กรณีชาวโรฮีนจา กรณีชาวเมียนมาในกิจการประมง การที่ประเทศไทยยังเป็นแหล่งของการค้ามนุษย์ค้าแรงงานทาสของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติอยู่สะท้อนปัญหาที่ซ่อนอยู่ในสังคมไทยหลายประการ รวมทั้งปัญหาการทุจริตในระบบราชการที่เกี่ยวข้อง และการไม่มีสำนึกทางด้านสิทธิมนุษยชน มองคนเป็นสินค้า และมองคนไม่เท่ากัน” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/2/2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท