Skip to main content
sharethis

ปฏิทินไม่ใช่แค่กระดาษจำนวนหนึ่งที่บ่งบอกวัน เดือน ปี มันคือสนามของการต่อสู้ช่วงชิงความทรงจำของรัฐ ผูกโยงอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์กับวันสำคัญหรือวันหยุดต่างๆ ทว่า ความทรงจำก็ไม่เคยหยุดนิ่ง มันถูกตอบโต้และทัดทานกลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน แม้วันสำคัญที่มีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์กลางยังคงอยู่ แต่วันของสามัญชนก็ปรากฏให้เห็น

  • ปฏิทินและการกำหนดวันหยุด วันสำคัญคือสนามของการสร้างสำนึกความทรงจำโดยรัฐ เพื่อผูกโยงอุดมการณ์เข้ากับวันเวลาในชีวิตประจำวันของผู้คน
  • ปฏิทินแบบใหม่สร้างสำนึกความทรงจำต่ออดีตให้ชัดเจนขึ้น รัฐจึงต้องควบคุมทิศทางสำนึกความทรงจำผ่านวันสำคัญต่างๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้วันเวลาในประวัติศาสตร์มีความแน่นอนทำให้เกิดกิจกรรมทางประวัติศาสตร์เพิ่มขึ้น
  • หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เกิดการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความทรงจำระหว่างคณะราษฎรกับกลุ่มอำนาจเดิม จนมาสิ้นสุดหลังรัฐประหาร 2490 เมื่อฝ่ายนิยมกษัตริย์ค่อยๆ ฟื้นคืนอำนาจ กระทั่งช่วงทศวรรษ 2520 วันสำคัญบนหน้าปฏิทินเริ่มนิ่งและมีศูนย์กลางอยู่ที่สถาบันกษัตริย์
  • ทศวรรษ 2540 เกิดสำนึกความทรงจำใหม่เกี่ยวประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ เกิดวันสำคัญจำนวนหนึ่งที่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตรกำหนดขึ้นโดยไม่อิงกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งชนาวุธเห็นว่าเป็นการละเมิดศูนย์กลางความทรงจำหลัก
  • ชนาวุธเสนอให้ต่อสู้ช่วงชิงความหมายของวันสำคัญต่างๆ ของหน่วยงานรัฐกลับมาเป็นของประชาชนและเห็นว่าการเกิดขึ้นของวันรำลึกสามัญชนมีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในรัฐที่ไม่เคยคำนึงถึงความสำคัญของสามัญชน

 

เวลามองปฏิทิน เราเห็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยให้เราจดจำวัน เดือน ปี วันทำงาน วันหยุด เตือนนัดหมายต่างๆ ตามหน้าที่ที่มันควรจะเป็น

ปฏิทินยังช่วยสร้างความทรงจำในระดับสำนึกเพื่อให้รัฐควบคุมเราอีกทีหนึ่งผ่านวันหยุด วันสำคัญ วันนักขัตฤกษ์ประดามี ชนาวุธ บริรักษ์ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เขียนหนังสือ ‘ความทรงจำใต้อำนาจ: รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน’

หนังสือ ‘ความทรงจำใต้อำนาจ: รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน’

เขาอธิบายว่าวันสำคัญแห่งชาติมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ ประการแรกคือการสร้างสำนึกความทรงจำให้ประชาชนกลายเป็นคนของสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อใครสักคนเข้าไปสัมพันธ์กับหน่วยงานราชการหรือเข้าไปอยู่ในองค์กร สำนึกความทรงจำจะถูกสร้างผ่านวันสำคัญของหน่วยงานราชการแห่งนั้นๆ ว่าเป็นผลมาจากการริเริ่มของเชื่อพระวงศ์คนใด

ประการที่ 2 วันสำคัญทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สัมพันธ์อยู่กับสำนึกความทรงจำและตอบสนองทุกช่วงชีวิตของประชาชนผ่านโครงเรื่องของรัฐ

สร้างความนึกคิดใหม่ผ่านปฏิทินแบบใหม่

แต่ก่อนที่วันสำคัญของไทยจะทำหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น มันได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงตามพลวัตรทางการเมืองและสังคมไทย ชนาวุธยกตัวอย่างวันหยุดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า

“ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วันหยุดราชการมีลักษณะไม่เป็นระบบระเบียบเรียบร้อย ถึงขั้นที่มีข้าราชการยื่นข้อร้องเรียนมาหรือในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราจะเห็นได้ว่ารัฐพยายามอย่างมากที่จะใช้วันหยุดราชการในการสร้างสำนึกความทรงจำให้กับพลเมือง และขณะเดียวกันกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามรัฐก็จะมาแย่งชิงสำนึกความทรงจำที่อยู่บนหน้าปฏิทินนี้เช่นเดียวกันผ่านการกำหนดวันหยุดราชการ เราจะเห็นว่าในทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาวันหยุดราชการค่อนข้างหยุดนิ่ง รัฐไม่ได้เน้นย้ำวันหยุดราชการแล้วแต่จะใช้วันสำคัญแทน”

พูดได้ว่าวันสำคัญแห่งชาติของรัฐไทยเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ชนาวุธอธิบายความเปลี่ยนแปลงโดยย้อนไปถึงหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 2398 เกิดการปลดปล่อยไพร่ทาสซึ่งทำให้เกิดแรงงานเสรีที่สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยอิสระ เกิดความสัมพันธ์แบบใหม่ผ่านเศรษฐกิจแบบเงินตรา

เมื่อแรงงานสามารถเดินทางไปทั่วประเทศก็ทำให้ขอบข่ายของความสัมพันธ์ขยายไปไกลเกินกว่าในท้องถิ่นของตนและไปสัมพันธ์กับท้องถิ่นอื่นด้วย

บวกกับความพยายามรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อจัดการทรัพยากรในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผลให้รัฐต้องเข้าไปสัมพันธ์กับราษฎรมากกว่าในอดีต จึงจำเป็นต้องมีสื่อกลางบางอย่างในการกำกับความนึกคิดให้ไปในทิศทางเดียวกัน หนึ่งในสื่อกลางดังกล่าวก็คือปฏิทิน

“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของผู้คนในสังคมสยามกำลังคลี่คลายไปสู่ความสัมพันธ์กับปฏิทินแบบใหม่ที่มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือการติดต่อราชการ ปฏิทินแบบใหม่เข้ามาตอบสนองกับชีวิตเขามากยิ่งขึ้น”

ในประกาศการให้ใช้วันอย่างใหม่ พ.ศ.2431 อธิบายว่าการนับวันเดือนปีที่ดีมีลักษณะ 3 ประการคือต้องใกล้ชิดกับฤดูกาลมากที่สุด คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด และประชาชนทั่วไปรับรู้ได้ง่าย ซึ่งการนับวันเดือนปีแต่เดิมไม่ได้มีลักษณะข้างต้นเลย แต่ละพื้นที่มีระบบเวลาแตกต่างกัน เป็นอุปสรรคสำคัญที่รัฐจะเข้าไปควบคุมและให้บริการราษฎรได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือเรารู้ว่าไม่สามารถติดต่อราชการได้ในวันเสาร์อาทิตย์

สำนึกต่ออดีต

“พอมีการเปลี่ยนแปลงมาสู่ปฏิทินแบบใหม่ การคลาดเคลื่อนของวันที่มันน้อยมาก ผู้คนสามารถรับรู้วันที่ผ่านมาของตัวเองได้อย่างมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การมองอดีตของตัวเองว่ามีความเป็นมาอย่างไรและจะดำเนินไปอย่างไร ในระดับของรัฐจะเห็นได้ชัดเจนมากว่าปฏิทินแบบใหม่เริ่มมีส่วนสำคัญในการกำหนดช่วงอายุเวลาทางประวัติศาสตร์ เช่นกำหนดช่วงอายุของพระนครได้แม่นยำมากยิ่งขึ้นและมีความคลาดเคลื่อนไม่มากนัก เมื่อหน่วยทางประวัติศาสตร์มีความชัดเจน กิจกรรมทางประวัติศาสตร์ก็ขยายตัวมากขึ้น”

ชนาวุธกล่าวว่าเหล่าชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 5 จะให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางประวัติศาสตร์และสืบสาวอดีตกาลของรัฐผ่านงานพระราชนิพนธ์ต่างๆ ซึ่งทำให้เห็นว่าสำนึกวันนี้ในอดีตของรัฐมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น

“ในระดับของบุคคลนี้ผมได้ความคิดมาจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ด้วยเช่นเดียวกัน ก็คือเรื่องประเพณีทำบุญวันเกิดที่รัชกาลที่ 5 ได้ทรงนิพนธ์ไว้ ซึ่งสมัยก่อนไม่มี ดังนั้น การมาของปฏิทินแบบใหม่นำมาสู่การที่ผู้คนรับรู้สำนึกวันนี้ในอดีตของตัวเองได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น นำมาสู่กิจกรรมภายในทางสังคมอย่างการเฉลิมฉลองวันเกิด แล้วก็ดูจะเป็นแบบแผนที่เป็นปกติในปัจจุบัน”

และการมีสำนึกต่ออดีตนี่เองที่ภายหลังจะพัฒนาไปเป็นวันสำคัญแห่งชาติของรัฐไทย

ควบคุมความทรงจำผ่านปฏิทิน

ทว่า รัฐก็ไม่ต้องการให้ประชาชนมีสำนึกต่ออดีตผ่านปฏิทินสมัยใหม่อย่างไร้ทิศทาง รัฐจึงต้องเข้าควบคุมสำนึกความทรงจำเกี่ยวกับวันนี้ในอดีตของประชาชน ชนาวุธอธิบายว่าแม้ปฏิทินแบบใหม่จะถูกใช้ แต่ปฏิทินจันทรคติแบบเก่าก็ยังถูกใช้เป็นหน่วยอ้างอิงให้แก่พิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนาหรือพิธีกรรมของราชสำนัก โดยเคลื่อนย้ายมาอยู่ในปฏิทินสมัยใหม่ในนามของวันหยุดราชการเพื่อให้ความทรงจำของรัฐยังคงอยู่รอดในยุคสมัยใหม่

มันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐต้องการควบคุมสำนึกความทรงจำผ่านวันหยุดราชการ 24 ชั่วโมงของวันหยุดพักผ่อนประชาชนจำเป็นต้องรำลึกถึงพระศาสนาและพระบรมราชวงศ์ด้วย

แล้วรัฐได้สิ่งที่ต้องการหรือสามารถควบคุมสำนึกความทรงจำของประชาชนได้หรือไม่? คำตอบคือขึ้นอยู่กับช่วงเวลา

“อย่างในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์อาจกล่าวได้ว่ารัฐได้สิ่งที่ต้องการคือสามารถคงเครื่องมือที่เคยใช้ดำรงอำนาจ แต่ขณะเดียวกันเขาก็อาจจะไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เพราะการใช้วันหยุดราชการผนวกสำนึกความทรงจำบนหน้าปฏิทินของพลเมืองยังไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากการเกิดขึ้นของวันหยุดราชการในระยะแรกมีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละหน่วยงาน คือหยุดไม่เหมือนกัน

“ผมมองว่าสภาวะที่ไม่เป็นมาตรฐานทำให้รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าควบคุมสำนึกความทรงจำของพลเมืองได้ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น เราจึงเห็นว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองกลุ่มข้าราชการได้ยื่นเรื่องถึงคณะกรรมการราษฎรให้เปลี่ยนวันหยุดใหม่”

หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่าวันสหประชาชาติกลายเป็นวันหยุดราชการของไทย ซึ่งบ่งชี้ว่าในฐานะผู้แพสงคราม รัฐบาลไทยในเวลานั้นต้องการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสหประชาชาติ ภายหลังที่ความสัมพันธ์กลับมาดังเดิมแล้ววันหยุดนี้ก็ถูกยกเลิกไป

“ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา เนื่องด้วยรัฐบาลเผด็จการทหารในช่วงเวลานั้นมีเสถียรภาพและความมั่นคงมากขึ้น การใช้วันหยุดราชการในการคุมคนเลยมีประสิทธิภาพตามไปด้วย ทศวรรษ 2505 จะชัดเจนที่สุดว่ารัฐได้ในสิ่งที่ต้องการแล้ว แต่ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นก็อาจจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง”

กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "24 มิถุนา ตื่นเช้ามาสานต่อภารกิจคณะราษฎร" จัดโดย กลุ่มทะลุฟ้า ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 24 มิ.ย. 64 

สถาบันกษัตริย์ ศูนย์กลางความทรงจำบนหน้าปฏิทิน

ชนาวุธยกตัวอย่างเพิ่มเติมในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองกับหลังปี 2490 ที่คณะราษฎรหมดอำนาจลงและฝ่ายนิยมกษัตริย์เริ่มมีอำนาจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับว่า ช่วงเวลานี้ปฏิทินเหมือนกระดานหมากรุกที่ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงวันสำคัญ

ช่วงทศวรรษ 2480 รัฐบาล ป. พิบูลสงคราม พยายามสร้างสำนึกความเป็นรัฐราชการโดยสร้างวันสำคัญของหน่วยงานราชการต่างๆ ขึ้นเพื่อให้ข้าราชการมีความสามัคคีและตระหนักถึงความสำคัญของตนเองที่มีต่อชาติ

แต่ในสมัย 2490 เป็นต้นมาวันสำคัญที่รัฐบาล ป. พิบูลสงคราม สร้างขึ้นเริ่มถูกช่วงชิงพื้นที่จากสถาบันพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 เริ่มเสด็จไปตามวันสำคัญของหน่วยงานต่างๆ กลุ่มอนุรักษ์นิยมช่วงชิงพื้นที่วันสำคัญแห่งชาติจากรัฐบาลโดยผลิตวันสำคัญขึ้นมาทานกับรัฐ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นต้น

“พอหลังการรัฐประหารปี 2500 เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า วันหยุดราชการเริ่มหยุดนิ่ง มาเปลี่ยนแปลงอีกทีก็คือปี 2503 ที่ยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายนออกไปจากหน้าปฏิทิน แล้วหลังจากนั้นเราก็ใช้เรื่อยมาจนถึงประมาณปี 2525 ก็มีการเปลี่ยนเล็กน้อย

“ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาเราเห็นแล้วว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เริ่มกลายเป็นศูนย์กลางของโครงสร้างความสัมพันธ์กับการเมือง ขณะเดียวกันบทบาทของกลุ่มทางสังคมนอกระบบราชการในช่วงเวลานั้นก็ก้าวขึ้นมามีอำนาจด้วยและตีกับทางฝั่งราชการอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งกลุ่มพลังสังคมทางนอกระบบราชการก็จะไปยึดโยงอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์และสร้างวันสำคัญที่มีตัวเองเป็นส่วนประกอบด้วยเพื่อใช้ทานกับรัฐ ผมมองว่า เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เป็นเป็นการเปิดม่านของสำนึกความทรงจำของรัฐไทยครั้งใหม่ และสำนึกความทรงจำแบบนั้นจะถูกใช้เรื่อยมาจนถึงปี 2549”

เป็นเหตุให้หลังทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาวันสำคัญของไทยจึงยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ วันสำคัญอื่นๆ จะมีเกิดขึ้นก็ไม่เป็นไรตราบที่ไม่ละเมิดศูนย์กลางสำนึกความทรงจำพื้นฐานนี้

แต่แล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในทศวรรษ 2540 เป็นต้นมาที่เกิดสำนึกแบบใหม่ท้าทายกับสำนึกความทรงจำที่เพียรสร้างกันมาในช่วงทศวรรษ 2520

การกำหนดวันชาติของประเทศต่างๆ (ภาพโดยประชาไท)

สำนึกใหม่ที่ละเมิดความทรงจำแบบเดิม

“มันเกิดสิ่งที่เรียกว่าสำนึกทางการเมืองแบบมวลชนที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมือง เกิดการตระหนักรู้ถึงสิทธิเสรีภาพของตนเองผ่านการเลือกตั้ง”

หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปี 2535 ต่อเนื่องถึงการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 และการขึ้นเป็นรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตรจากพรรคไทยรักไทย ชนาวุธตั้งข้อสังเกตว่า

“จะเห็นได้ว่ารัฐบาลของทักษิณยังคงอิงอยู่กับสำนึกแบบเก่า อย่างเช่นยังเกิดวันสำคัญที่เชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลทักษิณก็ได้สร้างวันสำคัญชุดใหม่ขึ้นมาที่ไม่ได้ยึดโยงกับสถาบันมหากษัตริย์ด้วย และถึงแม้ว่าวันสำคัญเหล่านี้จะมีไม่มากนัก แต่ผมเห็นว่ามันค่อนข้างที่จะละเมิดอุดมคติของสังคมไทย ผมขอยกตัวอย่างเช่นอุดมการณ์สังคมสงเคราะห์ ในสังคมไทยเราจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา อุดมการณ์สังคมสงเคราะห์ขยายตัวมาก แน่นอนว่าผู้เล่นสำคัญในสำนึกความทรงจำนี้ก็คือสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในสมัยรัฐบาลทักษิณเริ่มดำเนินนโยบายที่เป็นไปในทางรัฐสวัสดิการมากยิ่งขึ้น ทักษิณสร้างวันสำคัญชื่อวันสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติซึ่งอิงกับนโยบายของรัฐบาลตัวเองเลย ไม่ต้องอิงกับเจ้าองค์ไหน

“เราเห็นแล้วว่าความเข้มแข็งรัฐธรรมนูญ 2540 เริ่มส่งผลให้รัฐบาลก้าวขึ้นมามีอำนาจที่จะผลิตสำนึกความทรงจำของตัวเองขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับสำนึกความทรงจำเก่า แต่ขณะเดียวกัน ถามว่ารัฐบาลทักษิณพยายามปล่อยให้สำนึกทางการเมืองแบบมวลชนหรือสำนึกใหม่ในช่วงเวลานั้นก้าวไปพ้นมือของรัฐบาลตัวเองไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ รัฐบาลทักษิณพยายามเข้าไปควบคุมสำนึกแบบใหม่ให้อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจของตัวเองด้วย”

การละเมิดสำนึกความทรงจำแบบเก่านำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองที่เรารู้กันดี

ชนาวุธกล่าวว่า ขณะที่สำนึกทางการเมืองแบบใหม่กำลังขยายตัว แต่สำนึกทางแบบเก่าก็ยังคงอยู่ได้ เนื่องจากรัฐบาลทักษิณก็พยายามวางสมดุลตรงนี้ เช่นการจัดพิธีครองราชสมบัติครบ 60 ปีของรัชกาลที่ 9 ซึ่งถือเป็นการประนีประนอมกับบันทึกความทรงจำแบบเก่า

“แต่หลังการรัฐประหารทักษิณ ผมมองว่ามันไม่มีตัวกลางที่จะจูนสำนึกความทรงจำสองฝั่งนี้เข้าไว้ด้วยกัน ผมเลยชี้ให้เห็นว่าหลังปี 2549 เป็นต้นมาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในทางการเมืองของบ้านเราไม่ได้เป็นความวุ่นวายหรือการต่อสู้ทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นไปในระดับของสำนึกความทรงจำด้วย ซึ่งเราจะเห็นอย่างชัดเจนอย่างเช่นเยาวชนในปัจจุบันที่เราก็รู้ว่าเขามีสำนึกอย่างไร”

แย่งชิงความหมาย สร้างวันของสามัญชน

ปัจจุบัน เราจะพบว่ามีวันสำคัญต่างๆ เกิดขึ้นไม่น้อย ทั้งวันสำคัญในระดับสากลและวันสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เคลื่อนไหว ต่อสู้ และทัดทานกับความทรงจำของรัฐ ถึงกระนั้น ชนาวุธก็เห็นว่ารัฐเองก็มีความสามารถในการผนวกเอาวันเหล่านั้นเข้ามาอยู่ภายใต้โครงสร้างสำนึกความทรงจำของรัฐ

“เราจะเห็นได้ชัดเจน อย่างวันกรรมกรก็ถูกผนวกมาเป็นวันกรรมกรแห่งชาติ วันแรงงานแห่งชาติ วันสตรีสากลที่มีแนวคิดจากการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 2510 ประมาณปี 2532 รัฐได้เข้ามาช่วงชิงการจัดงานวันสตรีสากลผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ อยากให้มองว่ารัฐก็มีศักยภาพเช่นเดียวกันที่จะผนวกวันต่างๆ เข้ามา หรือวันผู้สูงอายุที่รับมาจากมติสหประชาชาติซึ่งมีลักษณะการเป็นสวัสดิการสังคม พอไทยรับเข้ามาปุ๊บ เข้ามาเชื่อมโยงกับศีลธรรม เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ ความอบอุ่นภายในครอบครัว เราจะเห็นได้เห็นว่ารัฐมีการปรับเปลี่ยนความหมายหรือแม้กระทั่งผนวกอยู่ตลอดเวลา

“ดังนั้น ผมมองว่าในการต่อสู้ เราลองเอาปฏิทินของประเทศไทยมากาง แล้วดูว่ามีวันสำคัญอะไรบ้าง อาจจะไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยเลย แต่เป็นวันสำคัญของหน่วยงานราชการต่างๆ กลุ่มอาชีพต่างๆ ลองดูว่าเราสามารถเข้าไปช่วงชิงความหมายของเขาได้ไหม อย่างเช่นวันของหน่วยงานราชการ เราไปช่วงชิงความหมายได้ไหมว่าวันสำคัญดังกล่าวนี้คุณควรสำนึกถึงหน้าที่ที่มีต่อประชาชนผู้เสียภาษีให้คุณได้เข้าไปนั่งทำงานไหม สำนึกว่าตัวเองได้ทำงานอย่างเต็มที่หรือยังในการรับใช้ประชาชน”

ขณะเดียวกันวันของสามัญชนที่นักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมืองสถาปนาขึ้น เช่น วันจิตร ภูมิศักดิ์ วันนวมทอง ไพรวัลย์ ชนาวุธเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายในรัฐไทยที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องราวของสามัญชน

ภาพรำลึกวันนวมทอง ไพรวัลย์ (ภาพโดยประชาไท)

“ในกรณีของจิตร ภูมิศักดิ์หรือนวมทอง ไพรวัลย์ ผมมองว่ามันมีความสำคัญในช่วงเวลาปัจจุบันที่การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกำลังขยาย เราควรใช้เรื่องราวของพวกเขาเป็นแรงผลักดันในการต่อสู้ เป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำภายในสังคม”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net