26 ก.พ. 65 ศบค. รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในไทย ผู้ป่วยใหม่ 25,615 ราย ถือเป็นการรายงานผู้ติดเชื้อสถิติรายวันสูงสุดครั้งใหม่ต่อเนื่อง ติดเชื้อเข้าข่าย/ ATK 21,934 ราย ยอดผู้ติดเชื้อรวมวันนี้ 47,383 คน รักษาหาย 14,641 ราย เสียชีวิต 40 ราย
26 ก.พ. 2565 ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวัน ไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,615 คน ถือเป็นการรายงานผู้ติดเชื้อสถิติรายวันสูงสุดครั้งใหม่ต่อเนื่อง แยกเป็นผู้ป่วยจากในประเทศ 25,449 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 166 คน ส่งผลให้ผู้ป่วยยืนยันสะสม ตั้งแต่ 1 ม.ค.65 จำนวน 621,462 คน และหากนำมารวมกับผู้ติดเชื้อที่เข้าข่ายจากการตรวจ ATK อีก 21,934 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อรวมวันนี้ 47,383 คน
ขณะที่ วันนี้มีผู้เสียชีวิต 40 คน และมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 14,641 คน ทำให้มีผู้ป่วยที่รักษาหายสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 จำนวน 452,510 คน อีกทั้งกำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลอีก 201,044 คน
สธ.แจงไม่ได้ยกเลิก HI/CI หลังจ่อเพิ่มบริการดูแลโควิดแบบผู้ป่วยนอก
สำนักข่าวไทย รายงานว่านพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเพิ่มระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอก ที่จะเริ่มวันที่ 1 มี.ค. 2565 ว่าการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดแบบผู้ป่วยนอกเป็นบริการเพิ่มเติมจากระบบปกติ ไม่ได้มีการยกเลิกระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) ดังนั้น หากผลตรวจหาเชื้อเป็นบวกยังสามารถติดต่อเข้าระบบ HI/CI ได้ตามปกติ แต่ที่เพิ่มการดูแลแบบผู้ป่วยนอก เพื่อรองรับกรณียังเข้าระบบ HI/CI ไม่ได้ หรือยังไม่ได้รับการติดต่อ เป็นทางเลือกให้สามารถไปรับบริการที่คลินิกโรคทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ในลักษณะผู้ป่วยนอกได้ ซึ่งจะทำให้ได้รับการตรวจวินิจฉัย จ่ายยารักษาตามระดับอาการอย่างเหมาะสม และให้คำแนะนำในการกลับไปแยกกักรักษาที่บ้าน ซึ่งรายละเอียด ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ต่างๆ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ 3 แห่ง คือ ราชวิทยาลับกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า การเพิ่มบริการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอกสามารถทำได้ เนื่องจากโรคโควิด 19 ที่พบในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่ง 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้ออกคำแนะนำการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในเด็กเบื้องต้นแล้วว่า สามารถตรวจรักษาในลักษณะผู้ป่วยนอกได้ จึงเป็นที่มาของการเพิ่มแนวทางการดูแลดังกล่าว ซึ่งจะครอบคลุมทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ถือเป็นการขับเคลื่อนเเพื่อเตรียมการปรับเปลี่ยนโรคโควิด 19 จากการระบาดใหญ่ (Pandemic) ไปสู่โรคประจำถิ่น (Endemic)
“การไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกโควิดวันที่ 1 มี.ค. นี้ เบื้องต้นสามารถไปรับบริการได้ทุกที่ เนื่องจากยังคงประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคฉุกเฉินภายใต้สิทธิ UCEP COVID อย่างไรก็ตาม จะมีการหารือกับกองทุนสุขภาพแต่ละกองทุนถึงแนวทางการเบิกจ่ายค่าบริการโควิด 19 แบบผู้ป่วยนอกให้เหมาะสมต่อไป” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
ยอดวัคซีนสะสมล่าสุดทะลุ 123 ล้านโดส
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานข้อมูลการฉีดวัคซีนในภาพรวม ณ วันที่ 25 ก.พ. 2565 เวลา 18.00 น. เพิ่มขึ้น 380,104 โดส
- ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 91,178 ราย
- ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 50,652 ราย
- ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 238,274 ราย
จำนวนผู้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 - 25 ก.พ. 2565 (363 วัน) 123,159,238 โดส ในพื้นที่ 77 จังหวัด
- ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 53,448,659 ราย (คิดเป็น 76.8% ของประชากร)
- ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 49,673,510 ราย (คิดเป็น 71.4% ของประชากร)
- ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 จำนวน 20,037,069 ราย (คิดเป็น 28.8% ของประชากร)