Skip to main content
sharethis

เลขา ครป. เรียกร้องจุฬาฯ ทบทวนคำสั่งปลดนายก อบจ. ชี้มหาลัยไม่ควรมีอำนาจในการผูกขาดศีลธรรมแบบเผด็จการอำนาจนิยม


เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

27 ก.พ. 2565 นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ตนขอออกมาคัดค้านคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการสั่งปลดนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล จากตำแหน่งนายกสโมสรนิสิต จุฬาฯ จากข้อหาความประพฤตินิสิต โดยนายเมธากล่าวว่า 

"ผมขอเรียกร้องให้ สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทบทวนคำสั่งที่ 0821/2565 เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต และลงโทษสั่งปลดนายกสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) เนื่องจากจัดกิจกรรมที่ขัดระเบียบและทำลายเกียรติมหาวิทยาลัย เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวนั้นเป็นรูปแบบคำสั่งแบบเผด็จการ สร้างสถาบันรูปแบบอำนาจนิยมขึ้นมาโดยไม่ฟังเสียงนิสิต ซึ่งนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.จากนิสิตมากกว่าหนึงหมื่นคน มหาวิทยาลัยไม่ควรมีอำนาจในการผูกขาดศีลธรรมแบบเผด็จการเช่นในอดีต"

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สภานิสิตจุฬาฯ เรียกร้องยกเลิกคำสั่งลงโทษ 'เนติวิทย์-พิชชากร'
เผยจุฬาฯ สั่งปลด ‘เนติวิทย์’ พ้นตำแหน่งนายก อบจ.

"เราไม่ได้อยู่ในยุคที่จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นอธิการบดีแล้ว มหาวิทยาลัยต้องเป็นหลักทางปัญญาและแบบอย่างประชาธิปไตยให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา ได้เรียนรู้และสร้างสรรค์ การกักขังทางความคิด การออกแบบศีลธรรมด้วยคะแนนความประพฤติอันมีลักษณะบัญชาการจากผู้ผูกขาดความถูกต้อง เป็นรูปแบบที่ล้าสมัยไปแล้ว ไม่ต่างจากยุคนาซีในเยอรมนี และไม่ต่างจากการรัฐประหารโดยกองทัพในการเมืองการปกครองไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องยกเลิกรูปแบบการให้คะแนนความประพฤติไม่กำหนดความถูกต้องชอบธรรม" นายเมธา กล่าว

นอกจากนี้ นายเมธา ยังกล่าวว่า การกักขังทางความคิดในมหาวิทยาลัย ไม่ต่างจากรัฐบาลอำนาจนิยม ที่กักขังเพนกวิ้น รุ้ง ไผ่ และอานนท์ การกักขังเยาวชนคนหนุ่มสาวที่คิดเห็นต่างทางการเมือง คือการทำลายประเทศ ทำลายอนาคตของชาติ ผู้นำที่มีความคิดจะไม่ทำเช่นนั้น แต่จะต้องเปิดโอกาสให้เยาวชนคนหนุ่มสาวมีพื้นที่และร่วมกันสร้างสรรค์ทางปัญญาและหาทางออกของประเทศร่วมกัน 

"การสั่งปลดนายก อบจ. ด้วยนิสัยแบบเผด็จการอำนาจนิยม ระวังจะเป็นชนวนทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคมรอบใหม่ การลุกขึ้นสู้และปฏิวัติสังคมครั้งแรกของคนหนุ่มสาวของโลก จนกระทั่งขับไล่รัฐบาลเผด็จการออกไปได้ สังคมไทยควรจะเรียนรู้เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน ทั้ง 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19 และ 17 พฤษภา 35 ซึ่งครบรอบ 30 ปีในปีนี้ ที่กำลังจะมีการชำระประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ เพื่อสร้างบทเรียนร่วมกันทางสังคม จากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชน"

ผลของการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 นำมาสู่เหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภา 2535 และสามารถปฏิรูปกองทัพ ยับยั้งบทบาททหารกับการเมืองไปได้ 14 ปี จนเกิดการรัฐประหาร 2549 ซึ่งสะสมความขัดแย้งมาจนเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2553 และการรัฐประหาร 2557 ที่ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ถึงปัจจุบัน เราจะเรียนรู้บาดแผลของสังคมในอดีตได้ด้วยการยึดถือสิทธิมนุษยชนและยอมรับประชาธิปไตยเท่านั้นสังคมไทยถึงจะเปลี่ยนแปลงและก้าวไปข้างหน้า การผูกขาดความคิดยึดติดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางความถูกต้องได้สร้างความขัดแย้งและความรุนแรงมาอย่างยาวนาน จะต้องยกเลิกการผูกขาดความถูกต้องแบบทหาร ซึ่งลุกลามมาถึงครูบาอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว และจะทำให้ประเทศนี้ไม่มีอนาคตเหลืออยู่ในมหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net