Skip to main content
sharethis

เปิดตัวอย่างเป็นทางการ 'สหภาพคนทำงาน' หรือ 'Workers’ Union' คนทำงานหลายอาชีพขึ้นปราศรัย ย้ำ "เราคือคน 99% พวกเรามีค่า มีศักดิ์ศรี มีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้"

27 ก.พ. 2565 ที่ หน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ 'สหภาพคนทำงาน' หรือ 'Workers’ Union' ได้จัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยในงานมีบูธกิจกรรม การแสดงดนตรี และการปราศรัยจากคนทำงานหลากหลายอาชีพ โดยใน เพจสหภาพคนทำงาน Workers' Union ได้เผยแพร่การปราศรัยบางส่วนดังนี้

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่าย We Fair ระบุว่า We Fair ได้เคลื่อนไหวกันมาหลายปี โดยได้ยื่นข้อเสนอให้พรรคการเมืองทุกพรรค ผ่านมา 3 ปี ยุทธศาสตร์สำคัญคือรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน คือ 1.รัฐต้องอุดหนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้าอย่างเสมอภาค  2.เรียนฟรีถึงปริญญาตรี การป็นคนจนมันมีการยากจนส่งต่อ ลูกหลานคนจน 4 คนจาก 100 เท่านั้นที่ได้เรียนปริญญาตรี และ 3.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมกองทุนเป็นกองทุนเดียวให้เป็นธรรม การเข้าถึงสิทธิที่อยู่อาศัย สวัสดิการผ้าอนามัย

"สวัสดิการผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศของเรา ได้รับเงิน 600-1,000 บาท ปี 65 ได้รับเพียง 6 หมื่นล้านบาท แต่ว่าค่าราชการ สูงถึง 3 แสนล้าน มันไม่ใช่ไม่มีเงิน มันเป็นแบบนี้ในทุกยุคทุกสมัย ชนชั้นปรสิตกล่อมเราในระบบการศึกษาว่ารัฐสวัสดิการทำไม่ได้ แต่เรามีเงินครับ มีงบให้ค่าราชการ แต่ไม่มีงบให้สวัสดิการผู้สูงอายุ เราต้องพังทลายระบอบชนชั้นนำปรสิต เราต้องปฏิรูประบอบภาษี ระบอบสวัสดิการ เพื่อมาแก้ไขระบบสวัสดิการของพวกเรา" 

"พวกเราคือคน 99% แต่เราถูกชนชั้นนำ1%นั้นกล่อมเกลาและสร้างมายาคติทางสังคมเสมอมา ผมเชื่อว่ารัฐสวัสดิการเป็นไปได้ เราจะร่วมกันสู้ไปกับสหภาพแรงงาน เราในนามเครือข่าย We Fair เชื่อว่าเราต้องกระจายอำนาจการตัดสินใจให้ทุกคนในทุกระบบ เราจะต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เพราะเราทุกคนคือคนทำงาน"

มงคล สมอบ้าน สมาชิกสหภาพคนทำงาน สาขานักดนตรีและศิลปินอิสระ ปราศรัยว่า "นักดนตรี ถือเป็นผู้นำวัฒนธรรมดนตรีมาแลกเป็นเงิน นำเอาบทเพลงมาเป็นการแสดงเพื่อแลกเป็นค่าใช้จ่าย เป็นแรงงานคนทำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นวัฒนธรรม"

"งานดนตรีกลางคืนโดนบอกว่าเป็นอาชีพที่มอมเมา เล่นให้คนเมาฟัง อีกทั้งยังโดนวิกฤตการณ์โควิดด้วยเช่นกัน เกิดหนี้สิน ทำให้เราเองไม่รู้ว่าชีวิตของพวกเราจะถึงจุดตกต่ำได้อะไรขนาดนี้ อย่างผมไปมาทุกอย่างแล้ว ทั้งกลุ่มที่ไม่ยุ่งการเมือง ผู้ประกอบการ แต่ก็ไม่เกิดผล สุดท้ายร้านที่มีสายป่านยาวก็เปิดต่อไปได้ แต่เราไม่ได้อะไร เพื่อนๆต่างจังหวัดไม่มีงาน อำนาจที่กระจุกรวมตัว" 

"ก่อนหน้านี้เราเปรียบเหมือนลูกเมียน้อย ปิดก่อนเปิดทีหลัง เพราะอคติของผู้มีอำนาจ ทั้งที่พวกคุณก็ร้องเพลงได้ มันไม่ต่างอะไรกับเด็กเสิร์ฟ บาร์ Sex Worker" 

"การรวมตัวเท่านั้นคืออนาคตของลูกหลาย มาร่วมกันนะครับ รวมตัวเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เราคือคน 99% พวกเรามีค่า มีศักดิ์ศรี มีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ อย่ามาให้ใครมาเหยียบย่ำพวกเรา จงตื่นรู้ทางชนชั้น เพื่อน ๆ ทำงานกลางคืนและกลางวัน เราเท่ากันครับ" มงคล กล่าว

เพียงดาว จริยะพันธ์ Thai Theatre Foundation กล่าวว่า "81.4% ของคนทำงานละครเวที ไม่ได้มีรายได้หลักมาจากละครเวที ทุกคนอยากทำงานละครเวทีเป็นอาชีพหลัก แต่เราไม่สามารถทำได้ ศิลปินหลายๆคนไม่มีเวลาใช้ศักยภาพตัวเองมาสร้างสรรค์ผลงานละครเวที เราไม่สามารถมาต่อสู้กับระบบนี้ได้ ทำให้วงการละครเวทีเริ่มล้มหายตายจากกันไป"

"ความเสมอภาคคือการสนับสนุนให้ทุกคนได้อยู่ในระดับเสมอกัน แต่การสนับสนุนนั้นอาจจะไม่ได้อยู่ในระดับที่เท่ากัน คนที่มีมากอาจจะได้น้อย คนที่มีน้อยก็ควรจะได้มากกว่าเพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม
โปรแกรมละครไทยเสมอภาค จะทำให้ระบบในไทยมีระบบระเบียบมากขึ้น เพื่อให้คนทำงานทำงานได้อย่างเสมอภาคจริงๆ"

เพียงดาว ยังกล่าวอีก 2 ประเด็น คือ "1.ค่าจ้างเพื่อชีวิต คือ ระดับค่าจ้างที่มห้ลูกจ้างเลี้ยงครอบครัวและตัวเองได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และมีเวลาว่างเพียงพอในการเคลื่อนไหวทางสังคม ปัจจุบันได้ค่าจ้างต่อวัน วันละ 331 บาท เราต้องทำงานรับจ็อบจนไม่มีเวลา เราควรจ้างแรงงานด้วยค่าจ้างเพื่อชีวิตเป็นขั้นต่ำ และ 2.การคิดชั่วโมงทำงาน เราไม่สามารถจ้างค่าจ้างที่เป็นธรรมแต่ทำงานหนักเกินไป จนทำให้เกิดความท้อต่ออาชีพตนเอง และเดินออกจากอาชีพนั้น หลักของเราคือ เราทำงาน 8 ชม. พักผ่อน 8 ชม. มีเวลาว่าง 8 ชม." 

ภาส พัฒนกำจร ผู้กำกับและนักเขียนบท ระบุว่า "ทำไมละครไทยหนังไทยไม่ไปไหนสักที คนส่วนใหญ่ก็จะโทษลูกจ้าง ผู้ผลิตงานเป็นส่วนใหญ่ จริงๆ ปัญหามันไม่สาทารถพูดแค่ความผิดใครล้วนๆ อุตสาหกรรมเราไม่แข็งแรงพอจริงๆ พอรัฐเป็นประชาธิปไตยแข็งแรง ระบบการสร้างสรรค์ผลงานก็ดีขึ้นไปด้วย"

"ปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่ต้องเผชิญคือ สายละครและซีรีส์ เราทำงาน 8 ชม.ตามกฎหมาย แต่ของไทยคือ 1 คิวกับ 16 ชม. เพราะนายจ้างอยากได้ปริมาณงานที่มากขึ้นในแต่ละวัน แต่ไม่อยากเสียค่าคิววันเพิ่ม แต่มันก็ไม่เคย 16 ชม.จริง พอจบการทำงานตามกำหนด ก็มีอีกหลายฝ่ายที่ไม่สามารถกลับบเานได้ตามเวลา เพราะต้องเก็บอุปกรณ์ เคลียร์ฉาก โลเคชั่น เวลาพักผ่อนเลยเหลือแค่ 2-3 ชม. บางคนทำงานจนไม่มีเวลาพัก และก่อเกิดเป็นความป่วยจนเสีนชีวิต"

"ระบบการทำงานแบบนี้ทำให้พัฒนาได้ยาก ไม่คุ้มกับการแลกสุขภาพกับการทำงาน ยิ่งอยู่ในประเทศที่ไม่ทีสวัสดิการที่ดีด้วย และที่ต้องทำต่อเพราะไม่มีทางเลือก ดีกว่าไม่มีงานทำ ยอมขาดทุนเหนื่อยทำ นี่คือการเอาเปรียบของนายทุน"

"ส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์ ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ทำให้นายจ้างเอาเปรียบได้ตลอดเวลานอกจากไม่ได้มีสัญญาที่รัดกุมจริง ๆ นายจ้างเลี่ยงการพูดถึงค่าจ้าง ลูกจ้างไม่กล้าพูด โดนกดค่าแรง โดนจนมองว่าเป็นวัฒนธรรมของวงการไปแล้ว เราควรยกเลิกและปรับเปลี่ยน เราต้องมารวมตัวกันเพื่อทำให้นายจ้างและทุนเห็นว่าเราไม่ยอม แต่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะรักษาสายป่านของตัวเอง ห่วงแต่ตัวเอง ถ้าอยากให้วงการดีขึ้น การรวมตัวเพื่อสู้มันคือทางออกของการทำลายวัฒนธรรมถึกทนแบบนี้หมดไป มองเขาเป็นเพื่อนร่วมงาน ในกองถ่ายคนควรเท่ากัน ไม่ใช่ตำแหน่งไหนได้รับเกียรติมากกว่าใคร"

ชนฐิตา ไกรศรีกุล สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ปราศรัยว่า "การกดขี่ ความไม่เป็นธรรมทางเพศมีหน้าตาเป็นอย่างไร แรงงานตั้งครรภ์ในโรงงานต้องทำงานต่อไปแม้มีโควิด หากทำเรื่องย้ายแผนกจะโดนนายจ้างเอาออก สุดท้ายเสียชีวิตทั้งแม่และลูก ทนายผู้หญิงยังคงต้องสวมกระโปรง ไม่สามารถสวมกางเกงได้ ปัจจุบันพ่อยังไม่สามารถลางานไปเลี้ยงลูกแทนแม่ได้ ตำรวจผู้หญิงยังคงเป็นแค่คนถือโทรศัพท์" 

"ความเป็นชายที่เป็นพิษยังกระทบเพศชายด้วยเช่นกัน สุดท้ายแล้วเพศหญิงหรือเพศหลากหลายและทุกเพศกลับออกจากการชุมนุมไปก็ยังสามารถโดนล่วงละเมิดทางเพศได้อยู่ดี"

"เราทุกคนต้องมองประชาธิปไตยให้กว้างไปกว่ามุมเศรษฐกิจและการเมือง เราเรียกร้องกับทุกๆ คน เราเรียกร้องให้ทุกคนถอนรื้อเผด็จการชายเป็นใหญ่ในตัวทุกคน การปฏิวัติเรียกร้องมันยาก แต่การปฏิวัติแนวคิดชายเป็นใหญ่ในตัวเป็นการต่อสู้กับเผด็จการเช่นกัน หมายถึงการถอดรื้อระบอบให้เพศใดเพศหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอย่างชัดเจน"

ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ระบุว่า "สหภาพแรงงานสิ่งทอ ประธานสหภาพทำงานถูกยิงตาย แรงงานหญิงถูกฆ่าตาย สวัสดิการใดๆ ไม่มีเพิ่มเลย นอกจากค่าจ้างที่ต่ำแสนต่ำ เราได้รวมตัวกัน ออกมาเรียกร้องข้างนอก ค่าแรงขั้นต่ำ ประกันสังคม มันมีนายทุนที่เข้าไปถือทุน หุ้นบริษัทของปรสิต เขามีหุ้นส่วนเปิดบริษัทประกันภัย เขาก็ไม่อยากให้เรารวมตัวกันแล้วมีประกันสังคม เพราะจะทำให้ธุรกิจเขาแย่ลง ขายประกันลำบาก ประกันสังคมที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน เราได้มาเพราะขบวนการแรงงานร่วมเรียกร้องกันมา 40 กว่าปี การต่อสู้ต้องไปดันกับตำรวจ ได้บาดแผลบาดเจ็บ ปัจจุบันเรากำลังจะเปลี่ยนประกันสังคมเป็นรัฐสวัสดิการ การต่อสู้ในสมัยนี้จึงยากลำบาก เพราะชนชั้นปรสิตมีอำนาจมาอย่างยาวนาน และกีดขวางประชาชนไม่ให้กินดีอยู่ดี"

สุวิมล นัมคณิสรณ์ กลุ่ม Nurses Connect ปราศรัยว่า "พวก 1% พยายามไม่ให้เรารับรู้ว่าเราคือแรงงาน กฎหมายพรบ.ค่าราชการพลเรือน ทำให้พวกเราคิดว่าเป็นข้าราชการ และเราก็จะไม่สามารถได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน บุคคลากรทางการแพทย์ก็เป็นแรงงาน บุคคลากรบางคน ทำงาน 80-130 ชม.ต่อสัปดาห์ ส่วนพยาบาล 96 ชม.ต่อสัปดาห์ พวกเขาเหล่านั้นคือแรงงานที่ซ่อมแซมแรงงานอีกทีหนึ่ง"

"ชนชั้นแรงงานต้องนั่งรถหลายกิโล เพื่อเข้ามารับการรักษา บริการสาธารณสุข เขาไม่สามารถหยุดงานได้เพราะจะไม่มีกิน"
 
"เราเป็นแรงงานที่ผลิตซ้ำแรงงานในกระบวนการผลิต หากขาดเราไปใครจะดูแบแรงงานอื่นๆ แต่ชนชั้น 1% ไม่เคยมาดูแลแรงงานตรงนี้เลย"

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ พรรคสามัญชน ระบุว่า "ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ร่างควบคุม NGO แต่เป็นร่างที่กลุ่มอนุรักษ์นิยม NGO ต้องการเพื่อขัดขวางขบวนประชาชนต่อการแสดงออกในที่สาธารณะ"
 
"แม้แต่การทำประโยชน์สาธารณะของพวกเรา เช่น การชุมนุมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกษัตริย์ ประชาชนออกมาเรียกร้องจากนายทุน ยังระบุออกมาว่าเป็นภัยขัดต่อกฎหมายฉบับนี้ และรัฐจะผนึกกำลังเพื่อผลักดัน เพื่อทำลายสิทธิของประชาชนให้ราบเป็นหน้ากลอง"

"การต่อสู้เรื่องนี้ ไม่ใช่การต่อสู้ที่มีสองด้านคือรัฐและประชาชน แต่เป็นการต่อสู้ที่มีแนวรบด้่นเดียวคือรัฐ แต่มันจะเผยให้เห็นว่า NGO และประชาสังคมที่อ้างว่ายืนอยู่ข้างประชาชนนั้น ไม่ใช่ NGO และประชาสังคมนั้นอยู่ข้างรัฐ เราต้องเผยให้เห็นข้อนั้น โปรดเตรียมให้พร้อมเพื่อรอดูการร่างผ่านกฎหมายนี้ ข้อต้องการเดียวของเราคือการทำลายกฎหมายฉบับนี้เท่านั้น"

มีมี่ Feminist FooFoo ปราศรัยว่า "นักเรียนคือสิ่งที่คนคาดหวังว่าให้เป็นอนาคตของชาติ นักเรียนคือแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง นักเรียนคือหน่ออ่อนของการเตรียมตัวเพื่อไปรับใช้ทุนนิยม"

"ครูคือเผด็จการคนแรกของเราในสังคมแรก อีกด้านหนึ่งนั้นครูก็คือเหยื่อของเผด็จการผู้บริหารอีกทอดหนึ่ง คุณถูกกดขี่ในระบบการศึกษา ครูต้องรู้ว่าศัตรูตัวจริงของเราคือใคร เราคือเหยื่อผู้ถูกกดขี่ในเผด็จการทางการศึกษาเช่นเดียวกัน"

"นักเรียนนักศึกษาอย่าดูถูกเสียงของตัวเอง อย่าดูถูกพลังของตัวเอง ปัญหาที่ทุกคนประสบพบเจอจะยังมีอยู่ไหม ถ้าเรามารวมตัวกัน สร้างสหภาพนักเรียน สหภาพครูนักเรียนผู้ปกครอง ปัญหาจะยังอยู่ไหมหรือถูกแก้ไขในที่สุด"

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูขอสอน กล่าวว่า "กลไกที่สำคัญที่จะขับเคลื่อนการศึกษาในโรงเรียน โอกาสที่จะได้ความรู้ได้ทักษะ ค้นพบความสามารถของตัวเอง คนที่ทำอาชีพนั้นจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากครูที่ทำงานกับนักเรียนกับเยาวชน แต่ทำไมเรายังเห็นข่าวปัญหาต่าง ๆ ของครู นักเรียน เพราะเราก็ถูกกดขี่ เราถูกมายาคติว่าครูคือพระคุณที่สาม และปัญหาก็ถูกปิดแก้"

"ครูอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เห็นในข่าว ต้องเก็บงำปัญหานั้นไว้กับตัวเอง เพราะทุกคนบอกแต่ว่าอดทนไว เราทำอะไรไม่ได้หรอก ครูก็ถูกทำให้ไร้เสียง ครูจึงใช้อำนาจ ผลิตซ้ำระบบเผด็จการอำนาจนิยมกดขี่ไปเรื่อย ๆ ประชาธิปไตยจึงไม่เบ่งบาน เพราะหน่ออ่อนของปัญหาเกิดในโรงเรียน"

"รัฐมีวิธีคิดแบบนายทุน แบบเผด็จการ ที่มีแนวคิดเอาทรัพยากรไว้ตรงกลาง ไม่กระจายตามชุมชน ผลักให้ปัญหาเป็นเรื่องส่วนตัว"

"เราจะยอมให้รัฐลอยตัวเหนือปัญหานี้ได้อีกอย่างไร ครูเองถูกวัฒนธรรมในองค์กรกดขี่ ทำให้ไม่กล้าส่งเสียง มันจะมีวิธีไหนได้นอกจากครูต้องรวมตัวกัน สู้เพื่อครูด้วยกัน ครูก็คือคนทำงาน ครูก็คือแรงงาน ครูก็มีความฝัน อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น เรามารวมกันเถิดครับ เราจะได้ไม่เกิดความโดดเดี่ยว และกลายเป็นครูที่เราอยากเป็นจริงๆ"

สุธิลา ลื่นคำ สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม กล่าวว่า "คนทำงานบนแพลตฟอร์ม ไม่ได้รับสวัสดิการ ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ไม่มีสถานะความเป็นลูกจ้างชัดเจน ทุกวันเขาต้องแบกรับต้นทุน แบกรับค่าอุปกรณ์ทุกอย่างด้วยตัวเอง กระทรวงแรงงานกลับมาแบ่งแยกกฎหมาย ไม่คุ้มครองเขา พวกเขาทำงานเป็นรายชิ้นเป็นรายชั่วโมง ไม่มีสถานะที่ชัดเจน ในช่วงโควิดปี 63-64 กลุ่มคนงานด่านหน้าไม่มีงาน ไม่มีค่าจ้าง บางครั้งเขาไม่มีความปลอดภัยในที่ทำงาน ระหว่างเดินทางไปทำงาน เขาไม่มีประกันสังคม เขาใช้สิทธิมาตรา 39 หรือ 40 เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เขาจะไม่ได้กองทุนเงินทดแทน"

"รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานพยายามอย่างยิ่งที่จะแบ่งแยกคนงานแพลตฟอร์มออกจากแรงงานหลัก ปัจจุบันนี้แรงงานกลุ่มนีมีความเสี่ยง ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ไม่ได้เงินเยียวยาจากรัฐ ไม่เคยได้รับวัคซีนดี ไม่เคยได้รับสวัสดิการต่างๆ จากรัฐ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้เขาเคยสร้างเศรษฐกิจที่มันโตขึ้นให้กับประเทศ"

"มันถึงเวลาแล้ว เราจะต้องมารวมตัวกันทุกกลุ่มอาชีพ การรวมกลุ่มเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องมือต่อรอง ที่เราจะมีอำนาจ อำนาจที่บริสุทธิ์ของเรา ที่เราะมาโค่นล้มคน 1% ไม่ว่าจะอาชีพไหน" 

อนุกูล ราชกุณา คนทำงานไรเดอร์ ระบุว่า "วันนี้ไรเดอร์ถูกขูดรีด ถูกลดค่าแรง ในขณะที่บริษัทออกกฎระเบียบให้ใส่ชุดฟอร์ม ใส่ชุดสุภาพ ขณะที่ไรเดอร์ไม่ได้ต่อรองอะไรเลย บริษัทขูดรีดไรเดอร์ เช่น ปัญหาที่ต้องเร่งทำรอบ ทำให้ไรเดอร์เกิดอุบัติเหตุ ถึงเวลาที่บริษัทต้องรับผิดชอบ บริษัทก็จะอ้างความเป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งไรเดอร์ไม่มีสิทธิต่อรองอะไรเลย"

"เราคือกลุ่มคน 99% วันนี้เราถูกลดค่ารอบถูกลดค่าแรง ทำให้เราสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจ ทำให้เราลืมตาอ้าปากไม่ได้ เราต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงท้องตัวเอง"

"ถ้าเทียบค่าแรงไรเดอร์ในประเทศไทย ค่าแรงต่ำมากเมื่อเทียบกับไรเดอร์ต่างประเทศ โดยในไทยค่าแรงตกรอบละไม่ถึง20บาท ยังผลักต้นทุนสู่ไรเดอร์ ค่าน้ำมัน ค่าความเสี่ยง แต่บริษัทเซ็นปากกากึกเดียวแก้รอบไรเดอร์ได้เลย"

"วันนี้เรามารวมกลุ่ทกันเพื่อเกิดอำนาจการต่อรอง เพราะทุกวันนี้รัฐทำให้เราแตกแยกมาตลอด ทั้งแยกเป็นแรงงานในระบบแรงงานนอกระบบ สหภาพคนทำงานทำให้เรามีพื้นที่ในการพูดถึงปัญหา เราคือคนทำงาน เรามีอำนาจ ยืนหยัดในอำนาจตัวเองไว้ เรามีอำนาจมากที่สุด"

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ถึงแม้ว่าเราจะพ่ายแพ้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อหมดยุคสมัยของคนรุ่นก่อนผม และของผม ก็จะมีคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ทุกท่านครับ เราอาจจะห้ามการต่อสู้ได้ เราอาจจะคุมขังพวกเขาได้ แต่เราไม่สามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งมดที่เราคิดแค่สิ่งเดียว อาจจะเป็นแค่ความฝัน แต่ถ้าเรารวมตัวกันเราจะทำให้ความฝันนั้นเป็นจริง"
 
"2 ปีที่ผ่านมาอาจจะจบด้วยการจับกุมคุมขัง อาจจะจบด้วยการพ่ายแพ้ แต่หลังจากนี้ เมื่อพวกเราสามัคคีกัน ร่วมกันต่อสู้ เราจะไม่มีอะไรให้เสียครับ ผมเชื่อว่าชัยชนะของเราจะมาช้านานยังไงก็คงจะมา"

สมยศ พฤกษาเกษมสุข คณะราษฎรยกเลิก 112 กล่าวว่า "ทุนนิยมคือระบบที่อยู่กับความโลภ ความหลง อยู่กับการต้องขูดรีดประชาชน เราจะอยู่รอดได้อย่างไร เราต้องต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงมัน และการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน เราจะสามารถต่อรองในระบบ ทั่วโลกเขามีชีวิตที่จะดีได้ มันมาจากการต่อสู้ทั้งนั้น"

"ทุกวันนี้ค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่พอจะกิน เมื่อก่อนมันไม่ทีหรอกครับ เราเรียกร้องกันเมื่อก่อน ทำมห้มีค่าจ้างขั้นต่ำในทุกวันนี้ และการทีเผด็จการทุกครั้งทำให้สหภาพแรงงานอ่อนแรงลงไปทุกๆ ครั้ง"

ฉัตรชัย พุ่มพวง สมาชิกสหภาพคนทำงาน ปราศรัยว่า "เวลาพูดถึงการเพิ่มค่าแรง จะมีคนบอกว่าของจะแพง แต่ตอนนี้ค่าแรงไม่ขึ้น ของก็แพง สังคมที่คนต้องทำงานมากกว่าหนึ่งงานเพื่อให้พอมีพอใช้ มันเป็นสังคมที่ผิดพลาดแล้ว"

"สหภาพแรงงงานในไทยเลือกที่จะเข้าร่วมกับพวก1% แต่สหภาพแรงงานต้องเข้าร่วมกับประชาชน โดยมีสองหลักใหญ่ๆ คือโค่นเผด็จการและสร้างใประชาธิปไตยในที่ทำงาน"

"จะมีประโยชน์อะไรถ้าไล่เผด็จการแล้วเรายังต้องทำโอที ประชาธิปไตยต้องได้เงินเดือนมากกว่าค่าครองชีพ ประชาธิปไตยต้องได้รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ประชาธิปไตยต้องได้ชีวิตที่ดีมีคุณภาพ"

"ถ้าเรารวมตัวกันความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ปัจจุบันเราถูกหลอกว่าเราไม่ใช่พวกเดียวกัน เพราะหลายๆคนยังเชื่อว่าคนทำงานไม่เหมือนกัน แต่มันไม่จริง ทุกการทำงานของมนุษย์ต้องใช้แรงและสมอง ทำก่อสร้างต้องใช้สมอง ทำงานออฟฟิศก็ต้องใช้แรง ทำไมคนทั่วๆไปถึงเดือดร้อนแทนคน 1% ในบริษัท เดือดร้อนแทนเจ้าสัว แทนเจ้านาย"
 
"ตาสว่างจากศักดินาแล้ว เราก็ต้องตาสว่างจากเจ้าสัวนานทุนด้วย พวกเราคือคนที่สำคัญที่สุดในบริษัท ที่ทำงาน และในประเทศนี้ ไม่มีพวกเราคนทำงานทุกคน ประเทศไปต่อไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีพวกมัน ประเทศไปต่อได้"

อนึ่งก่อนหน้านี้ 'สหภาพคนทำงาน' ได้เผยแพร่เป้าหมายขององค์กรไว้จำนวน 6 ข้อ ได้แก่ 1. เพื่อสร้างสำนึกร่วมทางชนชั้นให้เกิดกับทุกคนภายใต้แนวความคิด "เราทุกคนคือแรงงาน" 2. เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้กับแรงงานในการต่อสู้กับอำนาจของฝ่ายทุนและรัฐ 3. เพื่อสร้างและส่งเสริมพรรคการเมืองของชนชั้นแรงงาน ผลักดันให้เกิดรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าที่ครอบคลุมทุกคน

4. เพื่อเป็นองค์กรนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม และ การเมืองทั้งเชิงโครงสร้างและนโยบาย 5. เพื่อเป็นองค์กรนำให้การต่อสู้เพื่อให้ได้มา และรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และ 6. เฉพาะหน้าเราจะเข้าร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับเยาวชนและราษฎรที่เรียกร้องประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการอยู่ขณะนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net