เจ้าของคาเฟ่แมวในยูเครนไม่หนี อยู่ป้อนข้าวเจ้าเหมียว

ขณะที่ระเบิดกระหน่ำลงมาตามเมืองต่างๆ ของยูเครน ถนนก็เริ่มรกร้างว่างเปล่าในเมืองลวิฟซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันตก แต่ยังมีสถานที่หนึ่งที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่ในเมืองดังกล่าว นั่นคือคาเฟ่แมวที่ชื่อ “Cat Cafe Lviv” ซึ่งเจ้าของยังคงปฏิบัติภารกิจดูแลเจ้าเหมียวที่อาศัยอยู่กว่า 20 ชีวิต ล่าสุดคาเฟ่แมวแห่งนี้ได้รับเงินบริจาคจากทั่วโลก และจะมอบเงินบริจาคครึ่งหนึ่งให้กับกองทัพยูเครนด้วย

"แมวของพวกเรากล้าหาญนะ"

หลังทีมงานของ 'เอริน เบอร์เน็ต' ผู้สื่อข่าวรายการ Out Front ของ CNN สัมภาษณ์คนที่สัญจรไปมา และถ่ายภาพถนนรกร้างว่างเปล่าในเมืองเสร็จ เอรินก็รับหน้าที่เดินออกไปหามื้อเที่ยงให้กับทีม แต่เธอพบว่าทุกอย่างปิดตัวลงทั้งหมด และแทบหาอะไรทานไม่ได้เลย

"วันนี้ #ลวิฟ ปิดตัวลงเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น คาเฟ่ [หรือ] ร้านค้า... ดูแล้วไม่มีอะไรเปิดเลย" ผู้สื่อข่าว CNN โพสต์เล่าในทวิตเตอร์ แต่หลังเดินเท้ากว่าครึ่งชั่วโมง เธอก็พบกับคาเฟ่แมวแห่งหนึ่ง

"มันเป็นวันที่มืดมนและหนักหน่วงมาก แต่ฉันพบบางอย่างที่ทำให้หยุดยิ้มไม่ได้ เป็นร้านอาหารเดียวที่ฉันเห็นว่ายังเปิดอยู่ นั่นคือคาเฟ่แมว เจ้าของทำอาหารด้วยวัตถุดิบเท่าที่มี พวกเขายังยิ้มได้ [และบอกว่า] แมวของพวกเรากล้าหาญนะ" เอริน เบอร์เน็ต โพสต์เล่าประสบการณ์น่าประทับใจของเธอบนทวิตเตอร์

กลุ่มเจ้าของแมวในคาเฟ่ตัดสินใจอยู่ต่อ เพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแมวเหล่านี้ หากพวกเขาอพยพออกไป

"สถานที่หนึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวเล็กๆ มากมาย และแต่ละเรื่องก็ตัวใหญ่ด้วย คาเฟ่แมวยังเปิดอยู่เพราะกลุ่มเจ้าของบอกว่า มีแมวต้องให้อาหารที่นี่กว่า 20 ตัว [พวกเขาบอกว่า] 'นี่คือชีวิตของเรา' [และ] พวกเขาจะไม่หนีไปไหน" ผู้สื่อข่าว CNN ระบุในทวิตเตอร์

ในรายการของเธอ เอรินบอกว่าในคาเฟ่แมวมีครอบครัวหนึ่งหนีการรุกรานของรัสเซียมาอย่างชัดเจน เพราะพวกเขาสะพายเป้ใบใหญ่ และแบกผ้าห่มมาด้วย แต่พวกเขายิ้มได้เพราะเมื่อเห็นล้อวิ่งแมว "คุณไม่สามารถมองไปโดยที่ไม่ยิ้มได้ และวันนี้มนุษย์ในประเทศนี้ต้องการรอยยิ้มเป็นของขวัญ" เอริน กล่าว

"พวกมันเป็นเหมือนครอบครัว"

หลังข่าวนี้เผยแพร่ออกไป เว็บไซต์ the dodo รายงานว่า “Cat Cafe Lviv” เป็นคาเฟ่แมวเปิดให้บริการมานานกว่า 6 ปีแล้ว 'เซอร์เฮย์ โอลินิก' เจ้าของคาเฟ่กล่าวว่าแมวเหล่านี้เข้ามาอยู่ในคาเฟ่ตั้งแต่พวกมันยังอายุเพียง 4 เดือน ด้วยเหตุนี้พวกมันจึงเป็นเหมือนสมาชิกครอบครัว

"พวกมันเป็นเหมือนครอบครัว เราตระหนักว่าเราไม่มีวันออกจากประเทศของเราได้เลย และนี่เป็นเพียงที่เดียวที่พวกเราจะอยู่ได้ในอนาคต" เซอร์เฮย์ โอลินิก กล่าว

"ผมมีทีมเล็กๆ เป็นคนที่อยู่ใกล้ๆ กัน 2-3 คนทำงานกับผมมาหลายปีแล้ว และกลายเป็นเพื่อนสนิทกัน แมวก็สนิทกับคนเหล่านี้ซึ่งช่วยดูแลพวกมันและคอยเล่นกับพวกมันเวลาที่มีแขกน้อยด้วย เพราะผู้อาศัยขนฟูของเราชอบให้คนสนใจ" 

แม้จะมีสงคราม แต่คาเฟ่แมวแห่งนี้ยังคงตัดสินใจเปิดบริการต่อไป เพราะยิ่งสถานการณ์อันตราย ประชาชนชาวยูเครนยิ่งต้องการพื้นที่ปลอดภัยและปลอบโยน

"ตอนนี้เรามีผู้มาเยือนเป็นประจำน้อยลง แต่มีคนที่มาจากเมืองอื่นๆ และต้องการอาหารร้อนๆ และอารมณเชิงบวก" เซอร์เฮย์ โอลินิก กล่าว "มีห้องขนาดใหญ่ 3 ห้องในคาเฟ่ของเรา สองห้องอยู่ในชั้นใต้ดิน ดังนั้นหากมีสัญญาณเตือนการโจมตีทางอากาศ ก็ยังมีหลุมหลบภัยสำหรับแขกและแมวของเรา" 

บริจาคเงินช่วยกองทัพยูเครน

หลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกไป มีผู้สอบถามเข้ามาทางทวิตเตอร์ของเอรินจำนวนมากเพื่อบริจาคเงินสนับสนุนแก่คาเฟ่แมวดังกล่าว ระหว่างบทสนทนาดังกล่าวดำเนินไป ผู้ใช้คนหนึ่งได้เข้ามาแชร์ลิงค์เพจเฟสบุ๊กของคาเฟ่แมวดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวประชาไทตรวจสอบรูปภาพแล้วพบว่า ภาพกงล้อและเจ้าเหมียวในเพจดังกล่าวคือที่เดียวกับภาพที่เอริน เบอร์เน็ต โพสต์เล่าเรื่องในทวิตเตอร์ของเธอ เพจดังกล่าวได้รับการรีวิว 4.8 ดาวจากผู้ใช้เฟสบุ๊ค 212 คน และโพสต์ล่าสุดของเพจดังกล่าวเป็นข้อความขอบคุณผู้บริจาคทั่วโลกที่คอยช่วยให้เจ้าเหมียวอิ่มท้องและสงบสุข

เพจดังกล่าวระบุด้วยว่าจะมอบเงินบริจาค 50% และรายได้ 20% จากการขายให้กับกองทัพยูเครนเพื่อป้องกันประเทศ ขณะนี้เพจคาเฟ่แมวรับบริจาคทาง Paypal เป็นหลัก แต่กำลังดำเนินการเพื่อรับบริจาคผ่านระบบ SWIFT ซึ่งหลายประเทศเพิ่งแบนรัสเซียออกจากระบบดังกล่าว

คนอื่นๆ ลี้ภัยพร้อมสัตว์เลี้ยงคู่ใจ

ขณะคาเฟ่แมวในเมืองลวิฟยังปักหลัก หลายคนตัดสินใจเดินทางลี้ภัยจากการรุกรานของรัสเซียไปพร้อมกับสัตว์เลี้ยงคู่ใจของตนเอง ดังจะเห็นได้จากโพสต์ในโซเชียลมีเดียของผู้ลี้ภัยถ่ายรูปคู่กับสัตว์เลี้ยงของตัวเองจำนวนมาก

หนึ่งในนั้นคือ 'โนแลน ปีเตอร์สัน' ผู้สื่อข่าวในยูเครนที่แชร์รูปในทวีตพร้อมบอกว่า "อยู่ในที่หลบภัยจากระเบิดกับแมวของผม เธอกล้าหาญมาก" แต่ดูเหมือนว่าเธอจะไม่ค่อยสนใจกล้องเท่าไหร่

บางคนอาจหนีมาพร้อมกับสัตว์เลี้ยงของตนเองอย่างเร่งด่วน แต่ 'ริชาบห์ เคาชิค' นักศึกษาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ชาวอินเดีย ตัดสินใจยังไม่เดินทางออกจากยูเครน หากเจ้าตูบของเขาที่ชื่อ 'มาลิบู' ไม่ได้เดินทางไปพร้อมกัน ล่าสุด สมาคมศิษย์เก่าของริชาบห์ชี้แจงว่า แม้ว่าจะทำเรื่องเอกสารครบถ้วนแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากยูเครนพร้อมกับเจ้ามาลิบู

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ลี้ภัยชาวยูเครนอีกมากที่หนีภัยสงครามพร้อมพาสัตว์เลี้ยงของตัวเองไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โรมาเนีย โปแลนด์ และฮังการี ประเทศเหล่านี้ระบุว่ากำลังผ่อนปรนระเบียบต่างๆ เพื่อให้ผู้ลี้ภัยของตนเองสามารถนำสัตว์เลี้ยงข้ามพรมแดนได้

จากข้อมูลของ People for the Ethical Treatment of Animals (PETA) ระบุว่าปกติแล้วในยามสงบการนำสัตว์ข้ามพรมแดนจะต้องให้แมวและสุนัขฉีดวัคซีน ฝังไมโครชิพ และตรวจเชื้อพิษสุนัขบ้าก่อน อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อพิษสุนัขบ้าเพียงอย่างเดียวอาจะต้องใช้เวลาหลายวันหรือกระทั่งหลายสัปดาห์

ที่โรมาเนีย หัวหน้ากรมสัตวแพทย์ในบูคาเรสต์ได้เสนอให้ผ่อนปรนมาตรการดังกล่าวภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยขอให้ผู้ลี้ภัยกรอกแบบฟอร์มเพียงใบเดียว แทนการบังคับให้ฉีดวัคซีน ฝังไมโครชิพ และยื่นเอกสารต่างๆ อย่างไรก็ตาม โรมาเนียยังคงจำกัดไม่ให้นำสัตว์เลี้ยงมาด้วยเกิน 5 ตัวต่อ 1 คน ขณะที่ PETA ยังได้รับรายงานว่ามีเจ้าของสัตว์เลี้ยงบางคนไม่ได้รับอนุญาตให้พาแมวและสุนัขเข้าประเทศ

ทางการของโปแลนด์และฮังการีก็กำลังผ่อนปรนระเบียบเรื่องการฉีดวัคซีน ฝังชิพ และตรวจพิษสุนัขบ้าชั่วคราว และใช้แบบฟอร์มแค่ใบเดียวเพื่อเปิดทางให้สัตว์เลี้ยงของผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้เช่นกัน อับดุลละห์ เอลคอบบี้ นักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในยูเครนปัจจุบันเดินทางลี้ภัยเข้ามาในโปแลนด์ พร้อมกับแมวคู่ใจ 2 ตัวแล้ว ชื่อว่าสเตลล่า และซานตา

"ผมรักประเทศนี้ ผมเศร้ามากที่มันจะถูกทำลาย" อับดุลละห์ กล่าว

ขณะเดียวกัน PETA สาขาเยอรมนีกำลังประสานงานเพื่อส่งอาหารสุนัขและอาหารแมวกว่า 2 หมื่นกิโลไปยังยูเครน พร้อมกับผ้าห่มสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงและสัตว์เลี้ยงคู่ใจที่ติดอยู่ในพื้นที่สงคราม ระหว่างนี้ UAnimals กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ก็กำลังรายงานความคืบหน้าและขอการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองสัตว์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ PETA สาขาอังกฤษยังส่งหนังสือถึงจอร์จ อัสติส รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหาร และกิจการชนบท เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ผ่อนปรนระเบียบสำหรับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนที่ต้องการนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในสหราชอาณาจักร โดยบอกว่า "ประชาชนของสหราชอาณาจักรคงรู้สึกใจสลายหากถูกบังคับให้ต้องทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงที่เป็นสมาชิกครอบครัวของตนเอง ดังนั้น เราจึงมีหน้าที่ทำให้มั่นใจว่าชาวยูเครนจะไม่ต้องเผชิญกับทางเลือกที่ทำให้ใจสลายแบบนี้เช่นกัน"

แปลและเรียบเรียงจาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท