Skip to main content
sharethis

รายงานฉบับล่าสุดขององค์กรการริเริ่มด้านความโปร่งใสทางทะเลเอเชีย (AMTI) เปิดเผยให้เห็นเส้นทางการเดินเรือสำรวจของรัฐบาลจีนในเขตน่านน้ำทะเลจีนใต้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นกิจกรรมหลายอย่างของพวกเขาที่อยู่บนพื้นที่ข้อพิพาทเขตน่านน้ำของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ที่มาภาพ: AMTI/CSIS (อ้างใน RFA)

องค์กรการริเริ่มด้านความโปร่งใสทางทะเลเอเชีย (AMTI) เผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมาระบุว่าเรือสำรวจของจีนมีเส้นทางเดินเรือที่เคลื่อนที่ทับซ้อนกันไปมาอยู่บนน่านน้ำทะเลจีนใต้ที่ยังคงเป็นข้อพิพาทว่าใครเป็นเจ้าของ พวกเขาทำการรวบรวมข้อมูลในเรื่องนี้ผ่านทางระบบตรวจจับอัตโนมัติที่มีการส่งข้อมูลมาจากเรือของจีน

รายงานระบุว่า การสำรวจของเรือเหล่านี้มีขึ้นเพื่อการวิจัยด้าวิทยาศาสตร์ทางทะเล การสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการวิจัยของกองทัพ โดยมีการดำเนินการทั่วพื้นที่น่านน้ำทะเลจีนใต้ที่ทางการจีนอ้างสิทธิเหนืออาณาเขตเหล่านี้ทั้งหมด การสำรวจของเรือจีนยังมักจะถลำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศใกล้เคียงทะเลจีนใต้อย่าง เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ด้วย

AMTI เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรคลังสมองที่มีฐานในสหรัฐฯ ที่ชื่อว่าศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานฉบับดังกล่าวนี้มีชื่อว่า "การสำรวจของจีนในทะเลจีนใต้" มีเป้าหมายเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องกิจกรรมสำรวจของจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ซึ่งการสำรวจที่ว่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จีนใช้อ้างสิทธิเหนือพื้นที่น่านน้ำแห่งนี้

แผนที่ที่นำเสนอในรายงานแสดงให้เห็นรูปแบบการเดินเรือสำรวจของจีนช่วงระหว่างปี 2563-2564 ที่มีลักษณะยุ่งเหยิงพัลวัน นอกจากนี้รายงานยังระบุว่าการใช้เรือสำรวจของทางการจีนเป็นการโต้ตอบที่จีนมักจะกระทำเวลามีประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติในทะเลจีนใต้

มีอยู่หลายครั้งที่เมื่อประเทศใกล้เคียงกับทะเลจีนใต้นอกเหนือจากจีนดำเนินกิจกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับน้ำมันหรือก๊าซในเขตเศรษฐกิจพิเศษของพวกเขา จีนก็จะโต้ตอบด้วยการส่งเรือสำรวจของตัวเองเข้าไปโดยที่เรือเหล่านี้ได้รับการคุ้มกันโดยเรือรบจีนและหน่วยยามชายฝั่งของจีนที่แล่นไปในที่เดียวกัน

เกร็ก โพลิง ผู้อำนวยการของ AMTI กล่าวว่ารายงานของพวกเขาได้เน้นย้ำให้เห็นถึงขนาดและความมือถือสากปากถือศีลของการเดินเรือสำรวจโดยทางการจีน จากการที่จีนมีปฏิบัติการหลายสิบครั้งต่อปีในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของประเทศใกล้เคียงนั้นนับว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายถ้าหากเป็นปฏิบัติการในเชิงพลเรือน แต่ถ้าเป็นปฏิบัติการในเชิงทหารก็จะกลายเป็นการแสดงให้เห็นว่าจีนกำลังทำในเรื่องเดียวกับที่พวกเขาไม่อนุญาตให้คนอื่นทำในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของตนเอง

การสำรวจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่นเพื่อการวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์หรือเพื่อการค้นหาแหล่งน้ำมันกับก๊าซธรรมชาตินั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายนานาชาติ ขณะที่การสำรวจเพื่อการวิจัยทางการทหารอย่างเดียวนั้นไม่นับว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายแต่ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับที่จีนเคยกล่าวอ้างไว้ว่าพวกเขาต่อต้านการสำรวจทางการทหารในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่น

จีนยังเคยออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในปี 2541 คือกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจพิเศษและไหล่ทวีปหลังจากกที่พวกเขาให้สัตยาบันเกี่ยวกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ไว้ในปี 2539 ซึ่งกฎหมายของจีนระบุว่าการทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษไหล่ทวีปของจีนต้องได้รับการอนุมัติจากทางการจีนก่อน ซึ่งในข้อนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันเป็นปกติภายใต้ UNCLOS แต่เรือสำรวจของจีนเองกลับทำการสำรวจในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในแง่ของปฏิบัติการทางทหารแล้ว ประเทศที่ลงนามใน UNCLOS ส่วนใหญ่สนับสนุนให้การซ้อมรบ ปฏิบัติการทางทหารหรือกิจกรรมทางทหารบนน่านน้ำสากลได้โดยถือว่าถูกกฎหมาย รวมถึงในเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศอื่นด้วย แต่จีนก็ยังคงอ้างสิทธิ์ของตัวเองในการกำกับควบคุมกิจกรรมทางการทหารภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษของตัวเอง

มีงานวิจัยของคณะกรรมการพิจารณาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเป็นองค์กรให้คำปรึกษาของสภาคองเกรสสหรัฐฯ ระบุว่า จุดยืนของจีนส่วนใหญ่แล้วตั้งอยู่บนมุมมองที่ว่าพวกเขามีสิทธิในการป้องกันไม่ให้มีกิจกรรมใดๆ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทั้งนี้ยังเคยมีรายงาน "สถานการณ์ของเอเชียปี 2565" จากศูนย์วิจัยของสิงคโปร์ที่ชื่อสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ที่ระบุว่าร้อยละ 41.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามมองจีนว่าเป็น "มหาอำนาจสายลัทธิแก้" ที่ "มีเจตนาจะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นพื้นที่อิทธิพลของพวกเขา" กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 58.1 มองว่งพวกเขาไม่ไว้วางใจว่าจีนจะทำในสิ่งที่ถูกต้องในการร่วมส่งเสริมให้โลกเกิดสันติภาพความมั่นคง ความมั่งคั่ง และการปกครองที่ดี ผู้ที่ตอบแบบสอบถามเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย, นักวิชาการ, นักวิจัย, นักธุรกิจ, คนทำงานสื่อ และนักกิจกรรมภาคประชาสังคมใน 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ระบุว่าความคิดเห็นในเรื่องนี้มีขึ้นหลังจากที่จีนเสริมกองกำลังในทะเลจีนใต้ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและมีการรุกล้ำพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะมีความทะเยอทะยานอยากใช้อำนาจครอบงำทางการทหารในพื้นที่ทะเลจีนใต้

AMTI ก็รายงานสื่อไปในทำนองเดียวกันว่าการที่จีนใช้เรือแสดงออกว่าสำรวจพื้นที่น่านน้ำเหล่านี้เป็นการแสดงออกว่าพวกเขามีอำนาจควบคุมเหนือน่านน้ำเหล่านี้ราวกับเป็นของพวกเขาเอง นอกจากเป้าหมายเชิงสัญลักษณ์แบบนี้แล้ว พวกเขายังได้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของพื้นดินใต้ทะเลที่จะมีประโยชน์ต่อเป้าหมายทั้งทางพลเรือนและทางทหารสำหรับพวกเขาในอนาคต

นอกจากนี้ข้อมูลขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศยังระบุว่ากองเรือที่จีนใช้ปฏิบัติการสำรวจวิจัยของรัฐบาลมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค รวมแล้ว 64 ลำ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา เทียบกับสหรัฐฯ แล้วมีอยู่ 44 ลำ ญี่ปุ่นมีอยู่ 23 ลำ ในของปฏิบัติการนอกพื้นที่อาณาเขตน่านน้ำของตัวเองแล้ว ในช่วงปี 2562-2563 จีนใช้เรือของรัฐบาลปฏิบัติการนอกพื้นที่อาณาเขตน่านน้ำของตัวเอง 25 ลำ เทียบกับสหรัฐฯ ที่ใช้ปฏิบัติการแบบนี้ 10 ลำ

มีผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการสำรวจพื้นที่น่านน้ำของเรือจีนดูจะยังคงเคารพในการขีดเส้นแบ่งเขตน่านน้ำที่พวกเขาตั้งไว้เองอยู่ แต่การอ้างสิทธิเหนือเขตน่านน้ำตามเส้นแบ่งของจีนนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากสหประชาชาติโดยถูกปฏิเสธจากสหประชาชาติเมื่อปี 2559


ที่มา
New report reveals extent of Chinese surveys in South China Sea, Radio Free Asia, 01-03-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net