Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงาน สั่ง กสร. ลงพื้นที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเหตุลูกจ้างเด็กวัย 16 โดนเหล็กเส้นดีดเสียชีวิต

4 มี.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเปิดเผยถึงกรณีเหตุลูกจ้างเด็กวัย 16 รับจ้างก่อสร้างโดนเหล็กเส้นดีดเสียชีวิต ภายในบริเวณหน้างานก่อสร้างบ้าน ตำบลตาเสา อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ที่ผ่านมาว่า กระทรวงแรงงานได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบทันที เบื้องต้นพบว่าลูกจ้างผู้เสียชีวิตชื่อนายอดิศร จันทร์ประโคน เป็นลูกจ้างของหุ้นส่วนจำกัด เอ็น.เค. รับสร้างบ้าน ซึ่งเป็นผู้รับเหมางานก่อสร้างดังกล่าว ขณะเกิดเหตุลูกจ้างปฏิบัติงานอยู่บนรถปิคอัพระหว่างขนเหล็กเส้นลงจากรถ ลวดผูกมัดรวมเหล็กเส้นขาด ลูกจ้างจึงกอดเหล็กเส้นไว้ เหล็กเส้นดีดลูกจ้างตกลงจากรถปิคอัพ และเหล็กเส้นหล่นไปทับลูกจ้างบริเวณพื้นดินข้างรถปิคอัพเพื่อนร่วมงานได้เข้ามาพบจึงรีบนำส่งโรงพยาบาลห้วยราช แต่ก็ได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งนี้ ได้กำชับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงโดยเร็ว หากพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ดำเนินคดีต่อนายจ้างทันที

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย และพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ เข้าตรวจสอบสถานที่ก่อสร้างดังกล่าว พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ทั้งนี้ จะดำเนินการตรวจสอบว่านายจ้างได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 45 ในเรื่องการแจ้งการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กับพนักงานตรวจแรงงาน และมาตรา 49 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในงานที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกจ้าง รวมทั้งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 16 ในเรื่องการจัดให้ลูกจ้างได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานหรือไม่ หากสอบข้อเท็จจริงพบว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 4/3/2565

แรงงานไทยชุด 3 จากยูเครน จำนวน 31 ราย เดินทางถึงไทยแล้ว

บรรยากาศที่ศูนย์กักตัว บำราศนราดูร ในช่วงบ่าย แรงงานไทยชุด 3 ที่เดินทางมาจากเมืองเคียฟ ประเทศยูเครน จำนวน 31 คน และเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ที่ประเทศยูเครน 9 คน รวมทั้งหมด 40 คน โดยเดินทางจากสายการบินแอมิเรสต์ เที่ยวบิน EK384 ออกจากกรุงวอร์ซอมาถึง ประเทศไทยเวลา 12.05 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยแรงงานไทยกลุ่มนี้เดินทางจากเมืองเคียฟ ไปยังศูนย์ช่วยเหลือรายงานไทนที่ลวิฬ เพื่อข้ามแดนไปยังโรมมาเนีย และเดินทางไปต่อที่สนามบินโปแลนด์เพื่อกลับไทย

หลังจากที่แรงงานถึงประเทศไทย ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เสร็จแล้วถึงจะเดินทางมาที่ศูนย์กักตัว สถาบันบําราศนราดูรเพื่อรอฟังผล โดยจะมีเจ้าหน้าจากกระทรวงแรงงานมาคัดกรองข้อมูล และให้ความข่วยเหลือจากสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ และมีเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขมาคัดกรองความเสี่ยงและนำข้อมูลเข้าระบบกรมควบคุมโรคเพื่อติดตามอาการในระหว่างกลับภูมิลำเนา

ทั้งนี้ช่วงเย็นจะทราบผลการตรวจหาเชื้อ หากพบแรงงานไม่ติดเชื้อก็สามารถกลับภูมิลำเนาได้เลย แต่ถ้าผลเป็นบวก ก็จะนำเข้ารักษาที่บำราศนราดูรต่อไป

ข้อมูลจากรมการกงศุลระบุเพิ่มเติม นอกจากแรงงานไทยในยูเครนมี่เดินทางมาจากกลับประเทศไทยแล้ว ยังมีคนไทยที่อาศัยอยู่ในยูเครนติดต่อขอเดินทางกลับมาด้วย โดยวันที่ 5 มีนาคม จะมีเที่ยวบินนำคนไทยกลับมาอีก 2 เที่ยวบิน

ที่มา: TNN, 3/3/2565

แรงงานไทยเดินทางกลับจากยูเครน พร้อมรับเงินช่วยเหลือคนละ 1.5 หมื่นบาท

2 มี.ค. 2565 ที่ศูนย์กักตัว สถาบันบําราศนราดูร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศยูเครน ซึ่งเป็นแรงงานไทยชุดแรก 38 ราย โดยเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ หลังจากที่ถึงไทยในช่วงเช้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเดินทางมาจากกรุงบูคาเรสต์

ส่วนชุดที่สอง 58 ราย เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 48 ราย รวมสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่จะได้เงืนช่วยเหลือ 69 ราย

โดยแรงงานชุดที่สองจะเดินทางด้วยเครื่องบินสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบินที่ EK 384 ออกจากกรุงวอร์ซอมาถึงประเทศไทย เวลา 12.05 น. ในวันนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มาจากเมืองเคียฟ ซึ่งเป็นเมืองที่มีการปะทะ

ทั้งหมดจะต้องเดินทางมาที่ศูนย์กักตัวของสถาบันบำราศนราดูร เพื่อกักตัว 1 คืน ระหว่างรอผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลังจากมีการตรวจหาเชื้อครั้งแรกตั้งแต่ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยวิธี RT-PCR หากผลเป็นบวกจะเข้ารับการรักษาที่สถาบันบําราศนราดูร

แต่ถ้าหากผลเป็นลบ สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ทันที ภายใต้มาตรการ Test and go โดยคาดว่า ผลตรวจจะออกมาในช่วงเที่ยงวันนี้

ขณะที่ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมมอบเงินแก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศยูเครน และเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ คนละ 15,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,035,000 บาท โดยรายที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็จะหาแนวทางการช่วยเหลืออื่นต่อไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ระบุว่า มีแรงงานไทยในยูเครน 139 คน ส่วนใหญ่เป็นหญิงไทย ทำอาชีพนวด และสปา เบื้องต้นมีแรงงานแจ้งความจำนงค์เดินทางกลับประเทศไทยประมาณ 100 กว่าคน โดยอุปสรรคสำคัญของการเดินทางในช่วงที่มีการปะทะ เช่น การเดินทางที่ใช้ระยะเวลานานและเส้นทางลำบาก ต้องเดินเท้าออกจากเมืองหลวง เพื่อต่อรถไฟไปยังเมืองชายแดน

ที่มา: TNN, 2/3/2565

แรงงานไทยเดินทางกลับจากยูเครน พร้อมรับเงินช่วยเหลือคนละ 1.5 หมื่นบาท

2 มี.ค. 2565 ที่ศูนย์กักตัว สถาบันบําราศนราดูร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศยูเครน ซึ่งเป็นแรงงานไทยชุดแรก 38 ราย โดยเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ หลังจากที่ถึงไทยในช่วงเช้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเดินทางมาจากกรุงบูคาเรสต์

ส่วนชุดที่สอง 58 ราย เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 48 ราย รวมสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่จะได้เงืนช่วยเหลือ 69 ราย

โดยแรงงานชุดที่สองจะเดินทางด้วยเครื่องบินสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบินที่ EK 384 ออกจากกรุงวอร์ซอมาถึงประเทศไทย เวลา 12.05 น. ในวันนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มาจากเมืองเคียฟ ซึ่งเป็นเมืองที่มีการปะทะ

ทั้งหมดจะต้องเดินทางมาที่ศูนย์กักตัวของสถาบันบำราศนราดูร เพื่อกักตัว 1 คืน ระหว่างรอผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 หลังจากมีการตรวจหาเชื้อครั้งแรกตั้งแต่ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยวิธี RT-PCR หากผลเป็นบวกจะเข้ารับการรักษาที่สถาบันบําราศนราดูร

แต่ถ้าหากผลเป็นลบ สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ทันที ภายใต้มาตรการ Test and go โดยคาดว่า ผลตรวจจะออกมาในช่วงเที่ยงวันนี้

ขณะที่ นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมมอบเงินแก่แรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศยูเครน และเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ คนละ 15,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,035,000 บาท โดยรายที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็จะหาแนวทางการช่วยเหลืออื่นต่อไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ระบุว่า มีแรงงานไทยในยูเครน 139 คน ส่วนใหญ่เป็นหญิงไทย ทำอาชีพนวด และสปา เบื้องต้นมีแรงงานแจ้งความจำนงค์เดินทางกลับประเทศไทยประมาณ 100 กว่าคน โดยอุปสรรคสำคัญของการเดินทางในช่วงที่มีการปะทะ เช่น การเดินทางที่ใช้ระยะเวลานานและเส้นทางลำบาก ต้องเดินเท้าออกจากเมืองหลวง เพื่อต่อรถไฟไปยังเมืองชายแดน

ที่มา: TNN, 2/3/2565

ราชทัณฑ์ สั่งปฏิรูปแรงงานผู้ต้องขัง ยกเลิกค่าตอบแทนต่ำกว่ามาตรฐาน

1 มี.ค. 2565 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยภายหลังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีผู้ต้องขังในประเทศไทยถูกบังคับให้ผลิตอวนให้กับบริษัทเอกชนโดยไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนว่า ที่ผ่านมาราชทัณฑ์เน้นการพัฒนาและฝึกวิชาชีพผู้ต้องขัง โดยใช้การพัฒนานำการควบคุม และคำนึงถึงความปลอดภัยในประเภทงานที่คัดเลือกให้ผู้ต้องขังฝึกทำจะต้องไม่มีอันตรายต่อสุขภาพของผู้ต้องขัง อีกทั้งกำหนดแนวทางจ้างงานด้วยการให้ผู้ต้องขังสมัครใจเข้ารับการฝึกวิชาชีพเอง สำหรับอัตราค่าจ้างของผู้ต้องขังต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของประเภทงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความเป็นธรรม และคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังทุกคน นอกจากการจ้างงานแล้วกรมราชทัณฑ์ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพฤตินิสัยอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงภายหลังพ้นโทษ อาทิ การฝึกอาชีพช่างไม้ ช่างประปา ช่างไฟฟ้า ช่างเสริมสวย เบเกอรี่ เป็นต้น ควบคู่กับการพัฒนาความเข้มแข็งด้านจิตใจ เช่น หลักสูตรสัคคสาสมาธิ การสวดมนต์และการเล่นดนตรีเพื่อขัดเกลาสภาพจิตใจ รวมถึงการให้โอกาสด้านการศึกษากับผู้ต้องขังทุกระดับ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า แม้กรมราชทัณฑ์จะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของผู้ต้องขัง ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับการทำงานของผู้ต้องขังทั้งระบบ ตนได้สั่งการปฏิรูปแรงงานผู้ต้องขัง โดยให้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะกรรมการปฏิรูประบบการทำงานผู้ต้องขังกรมราชทัณฑ์ขึ้นในรูปแบบของคณะกรรมการฯ ของแต่ละเรือนจำ ประกอบด้วย สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดอุตสาหกรรมจังหวัด แรงงานจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด และหอการค้าจังหวัด เพื่อศึกษาระบบการทำงานของผู้ต้องขังตามข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ของสหประชาชาติ และให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานความปลอดภัย ด้านสุขอนามัยและแรงงาน รวมถึงค่าตอบแทนต่างๆ ให้มีความเหมาะสม โปร่งใส และเป็นธรรมสอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งให้เรือนจำรายงานให้กรมราชทัณฑ์ทราบภายใน 15 วัน เพื่อยกเลิกการจ้างงานที่อัตราค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐาน และให้การทำงานสอดคล้องกับสภาพสังคม ความต้องการของตลาด รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะการทำงานภายใต้กฎหมายแรงงานและหลักการสากลระหว่างประเทศด้านแรงงานมากขึ้น

ที่มา: เดลินิวส์, 1/3/2565

ก.แรงงาน เปิดนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้ชะลอการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยที่ผ่านมากระทรวงแรงงานมีมาตรการโดยใช้กำลังแรงงานที่มีอยู่ในประเทศเป็นลำดับแรก พร้อมกับเตรียมกระบวนการรองรับการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU เพื่อที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยกระทรวงแรงงานได้เสนอแนวทางการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบตามแนวทางที่เสนอ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงแรงงานได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นมา

กระทรวงแรงงานได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีแนวทางการดำเนินการ 8 ขั้นตอน 1. นายจ้างยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand) กับกรมการจัดหางานหรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ 2. เมื่อกรมการจัดหางานตรวจสอบเอกสารและหลักฐานแล้วจะมีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Demand) ผ่านสถานเอกอัครราชทูตของประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง 3. ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานจัดส่ง Name List ให้นายจ้าง 4. นายจ้างที่ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้ว ยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 5. กรมการจัดหางานมีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทาง (กัมพูชา และลาว)

เพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non – Immigrant L-A) ให้แก่คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย เพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อเดินทางมาทำงานในประเทศไทย และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้าง

ได้แจ้งไว้ 6. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงเอกสารหลักฐาน 7. คนต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรค เข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR 8. คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบ Video Conference ณ สถานที่ทำงาน เมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวจะได้รับใบอนุญาตทำงาน จากสำนักงานจัดหางานที่สถานประกอบการตั้งอยู่โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ

ปัจจุบันแรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานตาม MOU เดินทางเข้ามาประเทศไทย เป็นแรงงานสัญชาติกัมพูชา โดยเดินทางเข้ามาทางจังหวัดสระแก้ว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมาในส่วนของแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว และเมียนมา ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของประเทศต้นทาง ซึ่งเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยตามขั้นตอนแล้วก็จะทยอยเดินทางเข้ามา

ประเทศไทย ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานมีการวางแผนบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ในทุกระยะ เพื่อให้การเข้าสู่ระบบการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้อง มีการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ช่วยแก้ปัญหาการลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ และปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่สิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาให้คือ นายจ้าง/สถานประกอบการ จำเป็นต้องร่วมมือใช้แรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ไม่รับแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศมาทำงาน เพราะแรงงานกลุ่มดังกล่าวไม่ได้ผ่านการตรวจคัดกรองโควิดตามมาตรการสาธารณสุข ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิด การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งต่อกิจการ ชุมชนใกล้เคียง จนถึงประเทศชาติ ดังนั้น หากต้องการจ้างแรงงาน 3 สัญชาติ นายจ้าง สามารถยื่นคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand) กับกรมการจัดหางานหรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 28/2/2565

รัฐเร่งเยียวยาแรงงานไทยในยูเครน จ่ายทันทีที่ถึงไทยรายละ 15,000 บาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและห่วงใยแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศยูเครนอย่างยิ่ง หลังกองกำลังรัสเซียโจมตีกรุงเคียฟ

โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงาน ประสานให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศยูเครนที่มีการแจ้งความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย ให้สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย

เบื้องต้นกระทรวงการต่างประเทศได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในยูเครน ณ เมืองลวิฟ เพื่อเตรียมพาแรงงานไทยเดินทางกลับประเทศไทย

ในส่วนกระทรวงแรงงานได้ประสานให้ข้อมูลแรงงานไทยที่แจ้งการเดินทางฯไว้กับกระทรวงแรงงาน เพื่อไม่ให้คนไทยตกหล่น และดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยไปพร้อมกับกระทรวงการต่างประเทศในทุกขณะ

โดยได้มอบหมายกรมการจัดหางานลงพื้นที่ประสานญาติของแรงงานไทย ให้ทราบแนวทางช่วยเหลือ ช่องทางการรับความช่วยเหลือ และแนวทางรับสิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศแล้ว

เมื่อแรงงานไทยเดินทางกลับมาถึงสนามบินประเทศไทยจะจ่ายเงินสงเคราะห์ทันที โดยสมาชิกกองทุนฯ จะได้รับเงินสงเคราะห์ กรณีกลับประเทศจากภัยสงคราม จำนวน 15,000 บาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่แจ้งการทำงานในประเทศยูเครนกับกรมการจัดหางาน จำนวน 139 คน เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 126 คน ทำงานอยู่ที่เมืองเคียฟ 94 คน โอเดสซา 21 คน ลวีฟ 7 คน และเมืองอื่น ๆ 17 คน

โดยหากแรงงานไทยต้องการความช่วยเหลือให้ติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ หมายเลข +48-696-642-348 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อผ่าน E-mail : thaiconsularwarsaw@thaiemb.pl

นอกจากนี้ กรมการจัดหางานยังพร้อมเป็นช่องทางหนึ่งในการประสานงานระหว่างญาติที่อยู่ในประเทศไทย และแรงงานไทยที่อยู่ในประเทศยูเครนเพื่อคลายความกังวล หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศยูเครน หรือประสานขอความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดได้ทุกจังหวัด

ที่มา: TNN, 27/2/2565

แนะผู้ประกันตน ม.40 จ่ายสมทบจำนวนเต็ม รักษาสิทธิเดือน ก.พ. 2565 นี้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงกรณีที่มีเสียงร้องเรียนจากประชาชน เรื่องการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน มาตรา 40 ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่พบว่ายังไม่ปรับลดการจ่ายเงินสมทบลง ร้อยละ40 ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติให้ปรับลด ตั้งแต่เดือน ก.พ.- ก.ค.2565 ว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้มีผลตามมติครม.โดยเร็วที่สุด จึงขอให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จ่ายเงินสมทบในเดือนก.พ.นี้ ในจำนวนเต็ม ของแต่ละทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาททางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท และทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท เพื่อรักษาสิทธิตามเกณฑ์การรับสิทธิประโยชน์ซึ่งคุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพได้รับเงินก้อนพร้อมดอกผล สงเคราะห์บุตร ได้รับเงินรายเดือนตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ สำหรับส่วนต่างของเงินสมทบ ทาง สปส.จะเร่งจัดระบบเพื่อดำเนินการคืนเงินในส่วนนี้ให้ผู้ประกันตนต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 26/2/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net