Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผย ศาลจังหวัดพะเยายกฟ้องคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4 ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 ระบุการทำกิจกรรมไม่ได้ชุมนุมแออัด และเป็นการวิจารณ์รัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย

11 มี.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดพะเยานัดฟังคำพิพากษาในคดีของประชาชน 4 ราย ได้แก่ ชินภัทร วงค์คม บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, ธนวัฒน์ วงค์ไชย นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, รศ.ดร.มนตรา พงษ์นิล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และ ศิริวัฒน์ จุปะมัดถา อดีตแกนนำคนเสื้อแดงในจังหวัดพะเยา ถูกฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

เหตุจากการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม #คนพะเยาบ่าเอาแป้ง ที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2563 เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับเรียกร้อง 3 ข้อเสนอ ได้แก่ 1. ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาชุมนุม

ต่อมาพนักงานสอบสวน สภ.แม่กา จังหวัดพะเยา ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 6 คน ให้มารับทราบข้อกล่าวหา รวมทั้งพริษฐ์ ชิวารักษ์ และอานนท์ นำภา ด้วย แต่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้ส่งสำนวนของทั้งสองคนต่อพนักงานอัยการ เนื่องจากในขณะนั้นทั้งสองยังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พนักงานอัยการจึงส่งฟ้องคดีผู้ต้องหาทั้ง 4 ก่อน กระทั่งระหว่างวันที่ 2 – 4 ก.พ. 2565 มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีนี้ไปจนเสร็จสิ้น ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

ภาพจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

ศาลพิพากษายกฟ้อง พิจารณา 3 ประเด็น ชี้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่ใช่สถานที่แออัด

ผู้พิพากษาได้อ่านคำพิพากษา โดยพิจารณาแยกเป็น 3 ประเด็น โดยสรุประบุว่า

ประเด็นแรก มีข้อต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1-4 กระทำความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ เห็นว่า ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรม การมั่วสุม ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2563 ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ไม่มีผลใช้บังคับ ย่อมไม่ต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหรือไม่

ประเด็นที่สอง มีข้อต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1-4 ชุมนุมในสถานที่แออัดหรือไม่นั้นเห็นว่า เป็นสถานที่โล่งแจ้ง มีพื้นที่เหลืออยู่มาก ผู้เข้าร่วมมีมาตรการป้องกันตัวเอง จึงไม่ถือว่าเป็นสถานที่แออัด

ประเด็นสุดท้าย มีข้อต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1-4 จัดกิจกรรมยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่นั้น เห็นว่า พยานโจทก์ระบุว่าจำเลยใช้ถ้อยคำปลุกเร้าให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ชุมนุมเป็นเพียงการเรียกร้องกล่าวโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะลาออก 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3. หยุดคุกคามประชาชนที่ออกมาชุมนุม ไม่มีถ้อยคำเป็นการยุยงปลุกปั่น และไม่ได้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น จึงเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งบันทึกถ้อยคำของตำรวจ มีลักษณะเหมือนคัดลอกกันมา ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการยุยงปลุกปั่น ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4

 

 

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://tlhr2014.com/archives/41211

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net