Skip to main content
sharethis

มีการค้นพบสัตว์จำพวกหมึกที่มีวิวัฒนาการใกล้เคียงกับหมึกยักษ์ซึ่งมีอายุฟอสซิลย้อนไปได้ถึง 330 ล้านปีที่แล้วก่อนหน้ายุคไดโนเสาร์ ตั้งชื่อสัตว์ตัวนี้ว่า Syllipsimopodi bideni ตามชื่อประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยนักวิทยาศาสตร์บอกว่าเพื่อยกย่องที่ไบเดนที่มีแผนการแก้ปัญหาโลกร้อนและจากทัศนคติที่อยากให้นักการเมืองรับฟังนักวิทยาศาสตร์

เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานข่าว่า นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลของบรรพบุรุษสัตว์จำพวกหมึกยักษ์ที่มีอายุฟอสซิลประมาณ 328 ล้านปี ในรัฐมอนทานา สหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มนักวิจัยสรุปว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์ตัวนี้เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงหลายล้านปีก่อนหน้าย้อนไปมากกว่าที่พวกเขาเคยประเมินไว้ ทำให้หมึกยักษ์ดึกดำบรรพ์ตัวนี้มีมาก่อนหน้ายุคสมัยไดโนเสาร์

ฟอสซิลดังกล่าวนี้มีขนาด 4.7 นิ้ว (12 ซม.) มีหนวด 10 เส้น แต่ก็มีหนวด 2 เส้นที่ยาวมากว่าเส้นอื่นๆ 2 เท่า เทียบกับหมึกยักษ์ในยุคปัจจุบันที่มีหนวด 8 เส้นและแต่ละเส้นจะมีแผงปุ่มดูด 2 แถวที่สามารถเอาไว้ใช้จับเหยื่อหรือวัตถุอื่นๆ ได้ มีการประเมินว่าหมึกยักษ์ดึกดำบรรพ์ประเภทที่อยู่ในฟอสซิลนี้น่าจะอาศัยอยู่ที่ทะเลน้ำตื้นในแถบร้อนชื้น นอกจากนี้ถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ลำตัวของมันจะยาวแบบเดียวกับหมึกกล้วยแต่ลำดับวิวัฒนาการของมันใกล้เคียงกับหมึกยักษ์มากกว่าขณะที่หมึกกล้วยปรากฏหลังจากนั้นนานมาก

ไมค์ เวกชิโอเน นักสัตววิทยาของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติสมิธโซเนียนกล่าวว่ามันเป็นเรื่องหายากที่จะค้นพบฟอสซิลเนื้อเยื่ออ่อนยกเว้นแต่ในบางพื้นที่เท่านั้น เวกชิโอเนผู้ที่ไม่ได้ร่วมวิจัยในครั้งนี้ด้วยกล่าวอีกว่ามันนับเป็นการค้นพบที่น่าสนใจ มันกลายเป็นการทำให้เรารู้ว่าพวกเรามีบรรพบุรุษทางวิวัฒนาการย้อนไปไกลกว่าที่เคยรู้กันก่อนหน้านี้

หมึกยักษ์พันธุ์นี้มีการค้นพบที่หมวดหินปูนแบร์กัลช์ และมีการบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์รอยัลออนแทริโอในแคนาดาเมื่อปี 2531 โดยที่ฟอสซิลนี้ถูกทิ้งไว้ในลิ้นชักโดยที่ถูกมองข้ามมาเป็นเวลาหลายสิบปีในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษาฟอสซิลของปลาฉลามและฟอสซิลอื่นๆ ที่พวกเขาค้นพบจากพื้นที่ แต่ก็มีกลุ่มนักบรรพชีวินวิทยา (ผู้ศึกษาลักษณะรูปร่าง ความเป็นอยู่ และประวัติศาสตร์วิวัฒนาการพืชและสัตว์) สังเกตเห็นฟอสซิลที่มีส่วนอวัยวะเล็กๆ ยื่นออกมา 10 เส้น ซึ่งก็คือฟอสซิลของสัตว์จำพวกหมึกที่มีการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้

คริสโตเฟอร์ วาเลน นักบรรพชีวินวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกาตั้งข้อสังเกตจากฟอสซิลที่เก็บรักษาเป็นอย่างดีตัวนี้ว่ามันได้ "แสดงให้เห็นหลักฐานว่ามีถุงน้ำหมึก" อยู่ด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามันเอาไว้ใช้ในการพ่นของเหลวสีดำเพื่อช่วยในการพรางตัวหลบหนีนักล่าได้แบบเดียวกับที่หมึกยักษ์ในยุคปัจจุบันทำ โดยที่วาเลนเป็นผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาวิจัยสัตว์ดึกดำบรรพ์ตัวนี้ลงในวารสาร เนเจอร์ คอมมิวนิเคชัน

สัตว์ดึกดำบรรพ์ตัวนี้อยู่ในอันดับใหญ่ Vampyropoda (หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Octopodiformes) ซึ่งน่าจะเป็นบรรพบุรุษทางวิวัฒนาการของหมึกยักษ์ในยุคปัจจุบันและหมึกแวมไพร์ซึ่งตัวหลังนี้มีความใกล้เคียงกับหมึกยักษ์มากกว่าหมึกกล้วย ก่อนหน้านี้เคยมีการประเมินว่ากลุ่ม Vampyropoda น่าจะเริ่มมีตั้งแต่ 240 ล้านปีที่แล้ว แต่ในการค้นพบปัจจุบันได้หักล้างตัวเลขเดิมทำให้ถอยย้อนกลับไปอีกเป็นเมื่อ 330 ล้านปีที่แล้ว

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับหมึกในฟอสซิลนี้ว่า Syllipsimopodi bideni โดยตั้งตามชื่อประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ โดยที่วาเลนบอกว่าสาเหตุที่นำชื่อไบเดนมาตั้งเป็นชื่อหมักนี้เพราะว่าเขา "รู้สึกได้รับการสนับสนุนจากแผนการของประธานาธิบดีไบเดนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนจากน้ำมือมนุษย์ และจากทัศนคติทั่วไปของเขาที่แสดงออกว่านักการเมืองควรจะรับฟังนักวิทยาศาสตร์"


เรียบเรียงจาก



Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, วิทยาศาสตร์, ปลาหมึก, หมึกยักษ์, หมึกแวมไพร์, บรรพชีวินวิทยา, ฟอสซิล, Syllipsimopodi bideni, สัตว์ดึกดำบรรพ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net