สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 5-11 มี.ค. 2565

กรมการจัดหางาน ชะลอจัดส่งแรงงานไทยไปรัสเซีย หวั่นได้รับอันตราย

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย เนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และได้มีการประกาศปิดน่านฟ้ารัสเซีย โดยห้ามสายการบินต่างชาติจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) และพันธมิตรที่ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียบินผ่าน ส่งผลให้สายการบินพันธมิตรตะวันตกมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทางการบินมายังเอเชียใหม่ทั้งหมด ทำให้ต้องเพิ่มทั้งเวลาเดินทาง เพิ่มค่าโดยสาร เพิ่มเชื้อเพลิง เพิ่มจุดพักเครื่อง รวมถึงต้องปรับตารางการบิน หากมีแรงงานไทยเดินทางเข้าไปทำงานในรัสเซียขณะนี้ อาจได้รับอันตรายจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงให้ชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในสหพันธรัฐรัสเซียทุกประเภทการเดินทางจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

“ท่านรัฐมนตรีสุชาติ ห่วงใยและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ยังเป็นการพัฒนาต่อยอดทักษะเพื่อนำกลับมาพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งแรงงานไทยในต่างประเทศถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะเป็นการนำรายได้เข้ามาในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยของแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย การเดินทางเข้าไปทำงานในรัสเซียในช่วงนี้อาจได้รับอันตราย จึงชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปก่อน จนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว

นายไพโรจน์ฯ แจ้งว่า ขณะนี้คาดว่ามีแรงงานไทยยังทำงานอยู่ในประเทศสหพันธรัฐรัสเซียโดยการเดินทางด้วยตนเอง จำนวน 387 คน นายจ้างพาไปทำงาน จำนวน 2 คน และ Re-entry จำนวน 52 คน รวม 441 คน โดยอยู่ในเมืองต่างๆ ได้แก่ Moscow, Belgorod, Petrogradsky District, Bryansk, Krasnoselsky District, Murmansk Oblast, Novosibirsk Oblast, Svobodniy, Tomsk Oblast และเมืองอื่นๆ โดยเป็นแรงงานที่สมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จำนวน 406 คน กรณีที่แรงงานเป็นสมาชิกกองทุนฯหากประสบอันตราย ประสบปัญหาจากภัยสงคราม โรคระบาด หรือประสบปัญหาต่างๆ ในต่างประเทศ จะได้รับการเยียวยาและสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ ด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจจะไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas หรือติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694

ที่มา: สยามรัฐ, 11/3/2565

เผยรัฐบาลกำลังปรับแก้ไขกฎหมาย เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้างลาคลอดบุตรได้ 98 วัน ให้รับค่าจ้างในวันลาเพิ่มขึ้นจากสิทธิเดิม อีก 4 วัน พร้อมเพิ่มค่าคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และค่าฝากครรภ์

10 มี.ค. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่เครือข่ายสตรีมีข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันสตรีสากล 8 มีนาคม ที่ผ่านมา เกี่ยวกับสิทธิของลูกจ้างประเด็นวันลาคลอดบุตรที่ปัจจุบันให้ลาได้ 98 วัน แต่การจ่ายค่าจ้างครอบคลุมเพียง 90 วัน เนื่องจากข้อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างลา แต่ไม่เกิน 45 วัน โดยค่าจ้างอีกครึ่งหนึ่ง (45 วัน) ลูกจ้างรับจากสำนักงานประกันสังคม ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน จึงเห็นได้ว่าจำนวนวันลา 8 วันที่เพิ่มขึ้นนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้รับความคุ้มครองในเรื่องค่าจ้าง

นางสาวรัชดา กล่าวว่า นายกฯ ได้รับข้อเรียกร้อง และได้ติดตามการปรับปรุงข้อกฎหมายเพื่อให้นายจ้างและสำนักงานประกันสังคมร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้ครอบคลุมวันลาทั้งหมด 98 วัน มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้ กระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างดำเนินการให้สำนักงานประกันสังคมเสนอปรับแก้ไขกฎหมาย เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้าง โดยจะปรับเพิ่มประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตน จากร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 90 วัน เป็นร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 98 วัน ซึ่งจะมีผลให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างในวันลาเพิ่มขึ้นจากสิทธิเดิม อีก 4 วัน ในส่วนของค่าจ้างในวันลาเพื่อคลอดบุตร อีก 4 วัน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานประเมินผลสัมฤทธิ์กฎหมาย เพื่อปรับแก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพิ่มสิทธิให้กับลูกจ้างต่อไป

"รัฐบาลมุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานสตรีมาโดยตลอด รวมถึงนายกรัฐมนตรียังสนับสนุนให้สตรีได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ได้รับสิทธิประโยชน์จากการจ้างงาน มีความสุข และคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ กองทุนประกันสังคม โดยเพิ่มค่าคลอดบุตรจากเดิม 13,000 บาท เพิ่มเป็น 15,000 บาทค่าสงเคราะห์บุตรจากเดิมเดือนละ 600 บาท เพิ่มเป็นเดือนละ 800 บาท ค่าฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพ จากเดิม 1,000 บาท เพิ่มเป็น 1,500 บาท รวมทั้งการตรวจสุขภาพ ตรวจสุขภาพเต้านม ตรวจมะเร็งปากมดลูกฟรีให้แก่ผู้ประกันตนและการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อการคุ้มครองดูแลแรงงานสตรีให้เข้าถึงหลักประกันทางสังคม" นางสาวรัชดา กล่าวเน้นย้ำ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 10/3/2565

ประกันสังคมยันติดโควิดอาการสีเขียว รักษา รพ.คู่สัญญาได้ทุกแห่ง เน้นย้ำเอกชนเปิด OPD

9 มี.ค. 2565 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีผู้ประกันตนที่ป่วยโควิดเข้ารับบริการโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่ถูกปฏิเสธ ว่า ทุก รพ.ที่เป็นคู่สัญญากับ สปส.ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน หากผู้ประกันตนมีสิทธิในการรับบริการ รพ.ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ ที่ผ่านมาหากเป็น รพ.คู่สัญญาและปฏิเสธไม่รับการรักษา น่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาก็สามารถร้องเรียนมายังสายด่วนโทร 1506 กด 6 หรือกด 7 จะดูแลภายใน 6 ชั่วโมง

“มีผู้ประกันตนที่โทรเข้ามาประมาณ 4-5 ร้อยสายได้เข้าไปใช้บริการ แต่ยังไม่พบปัญหาว่า รพ.ปฏิเสธ อาจมีในแง่ของงการสื่อสาร หรือบางกรณีไม่ได้โทรไปที่ 1506 โทรไปที่อื่น กระทั่งเราทราบ เรารีบไปรับทันที อย่างไรก็ตาม ขอย้ำนโยบายรัฐ หากผู้ประกันตนติดโควิดอยู่ในกลุ่มอาการสีเขียว สามารถเข้า รพ.คู่สัญญาของเราที่ไหนก็ได้ รักษาได้ฟรีหมด และกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง เข้ารพ.เอกชนหรือรัฐตรงไหนได้หมดทุกแห่งในประเทศไทย โดยไม่ต้องเป็น รพ.คู่สัญญา” เลขาธิการ สปส. กล่าว

นายบุญสงค์ ลกล่าวว่า เมื่อเป็นผู้ประกันตนที่ป่วยโควิดแล้วรักษาในรพ.คู่สัญญา รพ.ไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงิน แต่มีกรณีหนึ่งที่เป็นผู้ประกันตน ตรวจ ATK แล้วติด และต้องการใบรับรองแพทย์ จึงไป รพ. ซึ่งเคสนี้ไม่ได้เข้ารับการรักษาใน รพ.นั้นๆ แต่ต้องการใบรับรองแพทย์เพื่อเบิกประกันชีวิต กรณีนี้ไม่อยู่ในเงื่อนไขประกันสังคม

เมื่อถามว่า สปส.ดูแลผู้ป่วยโควิดแบบ OPD ด้วยหรือไม่ นายบุญสงค์ กล่าวว่า ดูแลด้วย เป็นไปตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุข โดย สปส.ได้ประสานให้ รพ.เอกชน ดำเนินการผู้ป่วยแบบ OPD ด้วย และในเร็วๆนี้ 1-2 วัน จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการแพทย์ ของบอร์ดประกันสังคม เพื่อพิจารณาให้เป็นแนวทางเหมือนกันทั่วประเทศ

เมื่อถามอีกว่าการเข้ารับบริการผู้ป่วย OPD ควรเป็นรพ.ตามสิทธิใช่หรือไม่ นายบุญสงค์ กล่าวว่า ใช่

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า สปส.ยังค้างเงินค่าให้บริการโควิดของทางคลินิกเอกชน เลขาธิการสปส. กล่าวว่า สปส. ไม่ได้จ่ายตรงคลินิก ส่วนใหญ่อาจเป็นลักษณะคลินิกที่เป็นพาร์ทเนอร์ของรพ.เอกชน ซึ่งจริงๆ เรื่องเงินค่าบริการโควิด ทางสปส. จ่ายเร็วที่สุด จ่ายหมดไม่มีค้างจ่าย ถามทุกรพ.ได้ ไม่มีค้างจ่าย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/3/2565

GetLinks จับมือ ดีป้า และมหาวิทยาลัยชั้นนำ เปิดตัวแคมเปญ "หางานให้น้อง" ปูทางสู่แรงงานคุณภาพด้านเทคโนโลยี

GetLinks (เก็ทลิงส์) ผู้นำแพลตฟอร์ม HR Tech แหล่งรวมงานและบุคลากรคุณภาพสายเทคโนโลยีและไอทีในภูมิภาคเอเชีย ร่วมกับ ดีป้า และบริษัทเทคชั้นนำในไทยอีกมากมาย อาทิ Future Skill พร้อมด้วย 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดตัวแคมเปญ "หางานให้น้อง" ซึ่งถือเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญที่จะเปิดประตูสู่โอกาสการทำงานในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับบัณฑิตจบใหม่ทั่วประเทศ และ GetLinks ยังได้จัดกิจกรรมให้รุ่นพี่จากองค์กรและสตาร์ทอัพชั้นนำ 20 คนที่จบการศึกษาจาก 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำ มาแบ่งปันประสบการณ์และมอบความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่บัณฑิตจบใหม่เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการหางานที่ตอบโจทย์เป้าหมายชีวิตในอนาคต

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า “การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากำลังคนดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของ ดีป้า เพื่อผลักดันกำลังคนดิจิทัลที่มีความพร้อมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ จากข้อมูลจำนวนผู้ว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวนผู้ว่างงานกว่า 6.3 แสนคน โดยแบ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 3.8 แสนคน และผู้ว่างงานที่เป็นแรงงานจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานกว่า 2.5 แสนคน หากแบ่งกลุ่มแรงงานใหม่นี้ก็ยังพบว่าเป็นผู้จบในระดับอุดมศึกษากว่า 1.2 แสนคน ดีป้า และพันธมิตรจึงเล็งเห็นที่จะสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา หรือสำเร็จการศึกษา ในสาขา IT ไม่เกิน 2 ปี อีกทั้งยังคำนึงถึงผลกระทบด้านการจ้างงานของผู้ประกอบการดิจิทัลในสภาวะเศรษฐกิจช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนตำแหน่งงานสายดิจิทัล และเกิดปัญหาการว่างงานเพิ่มมากขึ้น”

โดยในปี 2565 ดีป้า พร้อมเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการจ้างงาน ภายใต้โครงการรัฐร่วมเอกชนสร้างทักษะดิจิทัลใหม่เรียนจบไม่ตกงานสำหรับนักศึกษา/ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเป็นการสมทบการจ่ายเงินเดือน 50% ระยะเวลาสูงสุด 12 เดือนของการจ้างงานนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษา และ/หรือที่สำเร็จการศึกษาในสาขา IT ไม่เกิน 2 ปีในตำแหน่งงานสายดิจิทัล เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานสายดิจิทัลให้กับนักศึกษาหรือแรงงานใหม่ และลดความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการในสภาวะเศรษฐกิจช่วง COVID-19 รวมถึงเป็นการสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างการแข่งขันของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยอีกด้วย

ขณะที่ นายพิชญ ศรีฟ้า ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีบริษัท GetLinks กล่าวว่า GetLinks ในฐานะแพลตฟอร์ม HR Tech แหล่งรวมงานและบุคลากรคุณภาพสายเทคโนโลยีและไอทีชั้นนำในเอเชีย ที่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสให้กับบุคลากรในสายงานเทคโนโลยีและไอที รวมถึงการส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ ได้ค้นพบบุคลากรที่มีศักยภาพ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับทาง ดีป้า และมหาวิทยาลัยชั้นนำในการเปิดตัวแคมเปญ "หางานให้น้อง" ในครั้งนี้ โดย GetLinks ที่นอกจากจะมีเครือข่ายองค์กรพันธมิตรชั้นนำทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียที่จะเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสงานให้กับบัณฑิตจบใหม่แล้ว เรายังเป็นผู้นำด้าน HR Tech ที่โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีในการจับคู่ผู้สมัครกับงานที่ตรงกับคุณสมบัติและความสนใจ หรือที่เรียกว่า AI Job-matching รวมถึงการเป็นแพลตฟอร์ม HR Tech ที่ได้มีการนำร่องเปิดตัวเทคโนโลยีบล็อกเชนและโทเค็น เพื่อใช้สำหรับการจ้างงานด้วยสกุลเงินดิจิทัลที่เริ่มมีการอนุมัติใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก”

สำหรับแคมเปญ “หางานให้น้อง” จะเป็นแคมเปญที่จะสนับสนุนและสร้างโอกาสให้บัณฑิตจบใหม่ในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัลได้มีโอกาสหางานที่ตรงกับสายงานที่ศึกษามา อาทิ การเขียนโปรแกรมขั้นสูง (Advance Programming) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality: AR) เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติง (Cloud Computing) เทคโนโลยีการปกป้องระบบเครือข่าย (Cyber Security) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และอีกมากมาย รวมทั้งหมดกว่า 50 ตำแหน่ง โดยมีเป้าหมายในการเข้าถึงบริษัทชั้นนำมากกว่า 20 แห่งซึ่งบริษัทระดับแนวหน้าชั้นนำของไทย ทั้งธุรกิจไอที อีคอมเมิร์ช พลังงาน ธุรกิจการเงินการธนาคาร ซึ่งปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการนี้ 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยมีจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 300 คน

นอกจากนี้ ดีป้า จะร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลในการคัดสรรผู้ได้รับการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนตามมาตรการ "depa Digital Scholarship Fund" รวมทั้งสิ้น 20 ราย ในรูปแบบ Matching Salary ระยะเวลา 12 เดือน

สำหรับความพิเศษของแคมเปญ “หางานให้น้อง” นอกเหนือจากการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับบัณฑิตจบใหม่แล้ว ยังมีงานอีเว้นท์ออนไลน์ “Online Job Fest” ที่มาพร้อมหลากหลายฟังก์ชันที่ตอบโจทย์และทันสมัย เพื่อตอบรับกับความต้องการ พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับผู้หางานและฝ่ายทรัพยากรบุคคลให้มีโอกาสได้ติดต่อสื่อสารกันได้โดยตรงอย่างง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งภายในกิจกรรมจะได้เข้าชมการสัมภาษณ์จากสตาร์ทอัพชั้นนำและกูรูที่มากประสบการณ์ในโลกสตาร์ทอัพที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์ พร้อมมอบองค์ความรู้ด้านต่างๆ ผ่านกิจกรรมการถ่ายทอดสด (Streaming Channel) ในขณะเดียวกัน GetLinks ยังร่วมมือกับ FutureSkill ในฐานะพันธมิตรในการจัด "Career Classroom" ซึ่งสนับสนุนผู้สมัครพัฒนาศักยภาพได้ด้วยตัวเองผ่านวิดีโอ และยังร่วมมือกับทรู ดิจิทัล พาร์ค ในฐานะพันธมิตรที่ให้พื้นที่ร่วมทำงานฟรีแก่นักเรียนที่ได้สร้างโปรไฟล์บนแพลตฟอร์ม GetLinks

รวมถึงกิจกรรมสตรีมมิ่งให้ความรู้การแบ่งปันประสบการณ์จากรุ่นพี่ในสายงานด้านเทคโนโลยีจากบริษัท ชั้นนำต่างๆ และกิจกรรม “Offline University Tour” ที่จะพาตัวแทนองค์กรชั้นนำของไทยไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักศึกษาได้ทำความรู้จักกับทีม HR ของบริษัทในฝันและได้รู้แนวทางการเตรียมตัวก่อนที่จะมาสมัครงาน รวมถึงการเปิดโอกาสให้องค์กรชั้นนำได้พบกับผู้สมัครงานที่เป็นนักศึกษาคนรุ่นใหม่เพื่อที่จะค้นพบทาเลนท์ที่ตามหาอีกด้วย

ผู้ที่สนใจทั้งองค์กร มหาวิทยาลัย หรือบัณฑิตจบใหม่ สามารถเข้าไปลงทะเบียนเพื่อร่วมแคมเปญ “หางานให้น้อง” ได้แล้วตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ https://unicampaigns.getlinks.com

ที่มา: บ้านเมือง, 9/3/2565

ครม.เห็นชอบความร่วมมือด้านแรงงานรอบอ่าวอาหรับ Abu Dhabi Dialogue จับมือพัฒนาขีดความสามารถ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของแรงงาน

9 มี.ค. 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (8 มี.ค. 2565) ว่า ครม.เห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมของการประชุมระดับรัฐมนตรี Abu Dhabi Dialogue ครั้งที่ 6 (The Joint Declaration of the Abu Dhabi Dialogue Sixth Consultation) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งการประชุม ADD นี้ เป็นการประชุมหารือระหว่างประเทศสมาชิกกระบวนการโคลัมโบ (ประเทศผู้ส่งแรงงาน) 12 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม กับกลุ่มประเทศรอบอ่าวอาหรับผู้รับแรงงาน รวม 7 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเยเมน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล พัฒนาขีดความสามารถ ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของแรงงาน ณ ประเทศปลายทาง เพื่อให้การเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไปทำงานตามสัญญาจ้างชั่วคราวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศต้นทางที่ส่งออกและประเทศปลายทางที่รับแรงงาน

ร่างปฏิญญาร่วมฉบับนี้ มีขอบเขตความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกใน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.การพัฒนาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของแรงงานที่มีสัญญาจ้างชั่วคราว เช่น สนับสนุนให้มีโครงการเพื่อแบ่งปันความรู้ระหว่างประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้เป็นระบบการแก้ปัญหาข้อพิพาทอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งสร้างระบบที่เอื้อให้เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ตลอดจนมีการแบ่งปันบทเรียนทางนโยบายที่ได้รับระหว่างประเทศสมาชิก ADD และอื่นๆ รวมทั้งสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกพิจารณาขยายขอบเขตระบบการคุ้มครองด้านค่าจ้างให้ครอบคลุมแรงงานที่มีสัญญาจ้างชั่วคราว

2.การอำนวยความสะดวกและยกระดับการเคลื่อนย้ายฝีมือแรงงานและการเทียบคุณวุฒิแรงงานระหว่างประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่งแรงงาน เพื่อตอบสนองต่อภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของงาน เช่น การศึกษาเพื่อวิเคราะห์บทเรียนที่ได้รับ โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นความต้องการทักษะแรงงาน รวมทั้งพัฒนาทักษะที่สอดคล้องในระดับภูมิภาคระหว่างคู่เจรจา เพื่อให้ตรงกับความต้องการและประเด็นที่ให้ความสำคัญของประเทศสมาชิก ADD

3.การแก้ไขปัญหาข้อท้าทายที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการด้านสุขภาพ ในการรับหรือส่งคืนแรงงานที่มีสัญญาจ้างชั่วคราวระหว่างประเทศสมาชิก ADD โดยอำนวยความสะดวกให้มีการสื่อสารโดยใช้ภาษาถิ่นของแรงงานเชื้อชาติต่างๆ

4.การบูรณาการเพศภาวะในนโยบายด้านการส่งเสริมการจ้างงาน เช่น การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความต้องการแรงงานสตรีในตลาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของแรงงานสตรีภายในประเทศสมาชิก ADD

5.การส่งเสริมความร่วมมือภายในภูมิภาค ระหว่างภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น อาศัยความร่วมมือของประธานและเลขาธิการของโครงการต่างๆ ในการชี้แนะด้านโอกาสและแนวทางการปฏิบัติในด้านต่างๆ เช่น ความร่วมมือระหว่างรัฐบาล โดยมุ่งเน้นไปที่การนำข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติไปปฏิบัติ รวมถึงส่งเสริมให้มีการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ระหว่างกัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/3/2565

MOU แรงงานไทย-ซาอุ ส่งออก “ช่างเชื่อม-ช่างไม้-ภาคบริการ”

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้กระทรวงแรงงานร่างข้อตกลงเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีการเห็นชอบแล้ว อีกประมาณสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ของเดือนมีนาคม 2565 ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาสังคมซาอุฯจะเดินทางมาพบตนที่ไทยเพื่อตรวจข้อตกลง และเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน

หลังจากนั้นตนจะเดินทางไปซาอุดีอาระเบียเพื่อเซ็น MOU และคาดว่าอีก 3 เดือนหลังจากเซ็นแล้วจะเริ่มทยอยส่งแรงงานไปซาอุฯได้ โดยเฟสแรกจะเป็นลักษณะรัฐต่อรัฐ (G2G) ซึ่งจะเป็นแรงงานกึ่งทักษะ เช่น ช่างเชื่อม, ช่างก่อสร้าง, ช่างไม้, ช่างปูน, ช่างเหล็ก และเชฟทำอาหาร เพราะค่าแรงจะดีกว่าแรงงานไร้ทักษะ

“ตอนนี้กรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดให้คนไทยแจ้งความประสงค์ไปทำงานซาอุฯ โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่ toea.doe.go.th ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.ผ่านมา ซึ่งจำนวนยอดผู้ลงทะเบียนจนถึงวันที่ 4 มีนาคม มีทั้งหมด 904 คน คาดว่าหลังจากซาอุฯมีการตกลงเรื่องเงื่อนไขการดูแลลูกจ้างไทย เช่น ดูแลเรื่องที่พัก, อาหาร, สวัสดิการต่าง ๆ ชัดเจน

และมีการเซ็น MOU ร่วมกันระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศแล้ว จะมีแรงงานมาลงทะเบียนในระบบเพิ่มขึ้น รวมทั้งกระทรวงแรงงานยังเปิดโอกาสให้บริษัทจัดหางาน (ภาคเอกชน) มาร่วมเป็นผู้จัดส่งแรงงานในเฟสต่อ ๆ ไปด้วย”

สำหรับอัตราเงินเดือนค่าจ้างในซาอุฯ ถ้าเป็นแรงงานทักษะไร้ฝีมือจะได้ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการไปทำงานตาม MOU ในประเทศฟินแลนด์, สวีเดน, อิสราเอล หรือไต้หวัน อีกทั้งแรงงานไทยมีคู่เปรียบเทียบจากแรงงานอินเดีย, บังกลาเทศ, ศรีลังกา, ฟิลิปปินส์ที่ค่าแรงถูกกว่า 30%

ดังนั้น ค่าแรงเฉลี่ยสำหรับแรงงานไทยไร้ทักษะจะอยู่ที่ 17,000-20,000 บาทต่อเดือน ส่วนแรงงานกึ่งทักษะ 25,500-76,500 บาทต่อเดือน และแรงงานทักษะสูงประมาณ 127,500 บาทต่อเดือน โดยแรงงานไทยที่ซาอุฯต้องการได้แก่ วิศวกร, ช่างไฟฟ้า, ช่างก่อสร้าง, ช่างซ่อมเครื่องยนต์, พนักงานขับรถขนาดใหญ่, พ่อครัวอาหารไทย และอาหารเอเชีย เป็นต้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/3/2565

โฆษก ก.แรงงาน ยืนยันช่วยลูกจ้างไทรอัมพ์ตามขั้นตอนในกรอบของกฎหมายและช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงกรณีสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยออกมากล่าวหาว่า รัฐบาลล้มเหลว ปล่อยทุนต่างชาติเหยียบย่ำแรงงานไทย รัฐมนตรีแรงงานไร้น้ำยา บังคับใช้กฎหมายช่วยเหลือลูกจ้าง และบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าลูกจ้างถูกลอยแพยังไม่ได้รับค่าชดเชย โดยจะรวมตัวชุมนุมที่ ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 11 มี.ค. 2565 นั้น

ตนขอชี้แจงสรุปประเด็นการช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ที่ได้รับผลกระทบจากนายจ้างปิดกิจการว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามและสั่งการให้ดำเนินการช่วยเหลือดูแลลูกจ้างกลุ่มนี้มาโดยตลอดตามข้อห่วงใยและการกำชับของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่วันแรกที่มีการปิดกิจการเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564

นางเธียรรัตน์ ชี้แจงว่า กระทรวงแรงงานอำนวยความสะดวกในการยื่นคำร้องเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จัดหางานให้กับลูกจ้างที่ประสงค์ทำงาน และในวันที่ 23 มีนาคม 2564 พนักงานตรวจแรงงานสามารถออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้กับลูกจ้างจำนวน 242,689,862.71 บาท ดำเนินการจ่ายเงินสงเคราะห์จากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่ลูกจ้างจำนวน 32,973,275.44 บาท และแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย สูงสุด 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ลูกจ้างได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มอีก 10,504,431.44 บาท สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินกรณีว่างงาน เป็นเงิน 65,850,768 บาท ซึ่งการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างทางตัวแทนลูกจ้างได้เข้ามาขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ช่วยดำเนินการให้อย่างเต็มที่แล้ว ด้านคดีความได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งต่อศาลแรงงานภาค 1 ซึ่งได้มีคำพิพากษาให้นายจ้างจ่ายเงินจำนวน 220,787,592.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี

ด้านคดีอาญาได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางเสาธง พนักงานสอบสวนได้ขอศาลจังหวัดสมุทรปราการออกหมายจับนายจ้างมีอายุความภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2564 ถึงวันที่ 5 มิ.ย. 2569 ดำเนินการยื่นขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เนื่องจากศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2565 กระทรวงแรงงานได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 นอกจากนี้ ได้มีหนังสืออายัดเงินฝากไปยังธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชีบริษัทฯ โดยธนาคารได้ส่งแคชเชียร์เช็ค 3 ฉบับ มูลค่า 91,475.29 บาท สั่งจ่ายคืนบัญชีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง และมีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากรติดตามผลการอายัดทรัพย์สินรายบริษัท บริลเลียนฯ โดยเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2564 กรมศุลกากรได้มอบเช็คเงินที่ยึดอายัดจากเงินอากรขาเข้าของบริษัท บริลเลียนฯ จำนวน 1,389,388.80 บาท

ทั้งนี้ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยได้เคยมายื่นหนังสือให้ทางกระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและได้มีการประชุมหารือและชี้แจงโดยมีแกนนำที่เข้าร่วมประชุมได้แก่ นายเชีย จำปาทอง นางศรีไพร นนทรี นางสาวธนพร วิจันทร์ นางสาวสุธิลา ลืนคำ นางจิตร ณ วัชรี พะนัด นางสาวเตือนใจ แวงคำ และนางวาสนา คงหินตั้ง หลังจากการประชุมบรรดาแกนนำได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และข้าราชการกระทรวงแรงงานที่ได้เร่งรัดและให้ความช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท บริลเลียนฯ

สำหรับประเด็นที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ มากล่าวอ้างในภายหลังว่ากระทรวงแรงงานและรัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลือลูกจ้างกลุ่มนี้และยังขอให้ รัฐบาลนำเงินงบกลางจำนวน 242,689,862.71 บาท มาจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โบนัสและเบี้ยขยันให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนั้น

ขอยืนยันว่ากระทรวงแรงงานดำเนินการตามขั้นตอนในกรอบของกฎหมายและช่วยเหลืออย่างเต็มที่แล้ว การนำเงินงบกลางมาจ่ายให้ลูกจ้างไม่สามารถกระทำได้เพราะเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ทั้งนี้ไม่มีประเทศใดปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว และยังได้ชี้แจงให้ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมได้รับทราบและเข้าใจแล้ว โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวทิ้งท้าย

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เปิดเผยถึงกรณีที่กลุ่มลูกจ้างกรณีบริษัท บริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด ในนามสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย รวมตัวกันเพื่อติดตามทวงถามความคืบหน้าการดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างได้รับผลกระทบจากนายจ้างปิดกิจการที่ทำเนียบรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเป็นเงินค่าชดเชยที่นอกเหนืออำนาจของรัฐบาลและ รมว.แรงงานนั้น ที่ผ่านมาในเรื่องนี้นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้พยายามให้มีการเยียวยาตามกฎหมายซึ่งได้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบโดยเฉพาะกฎกระทรวงให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างให้ได้ค่าชดเชยกรณีว่างงาน ซึ่งขณะนั้นสำนักงานประกันสังคม ได้จ่ายเงินว่างงานกรณีลูกจ้างถูกเลิกจ้างไปแล้ว และลูกจ้างกลุ่มดังกล่าวก็ได้ไปขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลด้วยเช่นเดียวกัน

นายมนัส ระบุว่า รมว.แรงงาน ยังผลักดันขับเคลื่อนการเพิ่มเงินสงเคราะห์ลูกจ้าง ส่วนกรณีขอให้ดำเนินการหามาตรการป้องกันไม่ให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนแล้วหอบกระเป๋าหอบเงินหนีปล่อยลอยแพลูกจ้างเช่นนายจ้างรายนี้นั้น ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารูปแบบแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างเพิ่มเติม โดยมีผู้แทนจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 3 คน และผู้แทนจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะทำงานต่อไป

“ในมุมมองผมมองว่าการเคลื่อนของไหวของกลุ่มลูกจ้างที่ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้เป็นลูกจ้างกลุ่มเดิม ๆ คนเดิม ๆ ที่เคยเรียกร้องกันมาหลายครั้ง ผมในฐานะประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน เป็นผู้นำแรงงานที่เคยทำงานร่วมกับกลุ่มลูกจ้างมาหลายกลุ่ม ไม่เคยคิดที่จะให้ต้องออกมาเรียกร้องด้วยวิธีการเดิม ๆ แบบนี้ เพราะที่ผ่านมาก็ได้รับการเยียวยาไปแล้ว การออกมาเคลื่อนไหวในสถานการณ์แบบนี้ เชื่อว่าต้องมีกระบวนการนำพา เพราะมีเรื่องของค่าใช้จ่าย ค่ารถเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นผมมีวิธีการต่าง ๆ ที่ดีกว่านี้ในการตั้งคณะทำงานนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันดีกว่าเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ” นายมนัส กล่าว

วันเดียวกัน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นอีกผู้หนึ่งที่แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่ใช้วิธีการชุมนุมกดดันเรียกร้องในประเด็นไม่มีรัฐบาลไหนเขาทำกันโดยเฉพาะประเด็นที่ให้รัฐบาลนำเงินภาษีของประชาชนมาจ่ายค่าชดเชยแทนนายจ้าง ถ้าหากทำตามที่เรียกร้อง บ้านเมืองก็ไม่มีกฎเกณฑ์ นายจ้างที่เลิกกิจการก็จะพากันเบี้ยวทุกรายภาครัฐจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายให้ก่อน

“ผมคิดว่าการเตรียมมาชุมนุมในครั้งนี้ต้องแอบแฝงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และที่สังเกตดูที่ผ่านมาผู้มาชุมนุมมักเป็นมือปืนรับจ้างไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัทบิลเลี่ยนฯ จริง ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างที่ตกงานเพราะถูกเลิกจ้าง การออกมาบิดเบือนข้อเท็จจริง ชี้นำผิดๆ ผมขอประณามการกระทำของแกนนำในครั้งนี้เพราะเป็นเรื่องที่ไม่หวังดีต่อผู้ใช้แรงงานจริง สำหรับผู้ที่ติดตามกรณีนี้มาจะทราบดีว่านายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ช่วยเหลือและแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่ได้เร่งรัดการดำเนินงานทุกขั้นตอนและออกแนวทางใหม่ๆ มาช่วยเยียวยาดูแลลูกจ้าง” นายชาลี ระบุ

ที่มา: ข่าวสด, 8/3/2565

ส.อ.ท.โอดวิกฤตขาดแคลนแรงงาน ยื่นรัฐเร่งนำเข้าภายใต้ MOU-นิรโทษกรรม

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานแรงงาน เปิดเผยว่า แม้ว่ารัฐบาลได้มีการเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่ขณะนี้ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งภาคการผลิต ส่งออก และก่อสร้างยังคงประสบกับภาวะการขาดแคลนแรงงานโดยรวมประมาณ 7 แสนคน โดย ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงแรงงานเมื่อ ก.พ.ที่ผ่านมาเพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เนื่องจากหากภาคการท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวจะกดดันต่อปัญหาดังกล่าวมากขึ้น และที่สุดจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

“เราทำหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว และเมื่อมีการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเราก็ได้นำเสนอปัญหานี้มาตลอดว่าจะต้องเร่งแก้ไข เพราะขนาดภาคบริการและท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวนักการขาดแคลนยังสูง หากกลุ่มนี้ฟื้นตัวปัญหาจะวิกฤตขึ้น โดยแรงงานที่ต้องการเพิ่มส่วนหนึ่งจากการเติบโตภาคส่งออก ขณะที่งานในกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นคนไทยส่วนใหญ่ไม่ทำจึงต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก และก่อนหน้านี้ไทยมีแรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคน แต่พอมีไวรัสโควิด-19 ระบาดแรงงาน 5-6 แสนคนได้เดินทางกลับประเทศและยังคงไม่เข้ามา” นายสุชาติกล่าว

ทั้งนี้ ส.อ.ท.ได้เสนอแนวทางการแก้ไขที่สำคัญ คือ 1. เปิดให้นำเข้าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติซึ่งถูกกฎหมาย (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ภายใต้ MOU โดยเร็วและสะดวกที่สุด โดย ส.อ.ท.ได้เสนอให้มีการเจรจาระดับรัฐมนตรีไทยกับเมียนมาต่อประเด็นดังกล่าวเพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้น เนื่องจากพบว่าการนำเข้าแรงงานจากเมียนมาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกัมพูชา และลาว 2. ขอให้พิจารณาเพิ่มความสะดวกในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวและลดค่าใช้จ่ายที่ปัจจุบันการนำเข้าจะต้องให้แรงงานทำการตรวจหาไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR (Real Time PCR) โดยได้เสนอขอเปลี่ยนเป็นการตรวจแบบเร่งด่วน หรือ Antigen Test Kit (ATK) รวมถึงการที่ต้องกักตัวแรงงาน 7-14 วันเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นเพียง Test and Go แทน เป็นต้น และ 3. ให้มีการประกาศนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายและนายจ้างแรงงานผิดกฎหมายอีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ที่ดำเนินมาแล้ว 2-3 ครั้งเพื่อนำแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบแรงงานที่ถูกกฎหมาย

“โดยธรรมชาติเมื่อขาดแคลนแรงงานและไม่สามารถนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายจะมีกระบวนการนำเข้าผิดกฎหมาย เมื่อเรานำเข้าภายใต้ MOU ที่ถูกกฎหมายยังไม่สะดวกนักก็ควรเปิดนิรโทษกรรมอีกครั้ง โดยเรายืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนแรงงานผิดกฎหมาย แต่เพราะขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะป้องกันด้านสาธารณสุขที่แรงงานเหล่านี้อาจนำเข้ามาและยังแก้ปัญหาความมั่นคงแต่ต้องเร่งรัดนำเข้าแรงงานถูกกฎหมายให้เร็วสุด รวมถึงสกัดกั้นการลักลอบนำเข้ามาควบคู่ไปก็จะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสุชาติกล่าว

สำหรับกรณีที่ไทยกำลังประสบภาวะค่าครองชีพสูงทำให้มีการมองว่ารายได้ของลูกจ้างไม่เพียงพอต่อรายจ่ายส่งผลให้มีแรงงานบางกลุ่มเสนอให้พิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปสู่ระดับ 492 บาทต่อวันนั้น นายสุชาติกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงมีกฎหมายรองรับ โดยมีคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา และกลไกการพิจารณาเปลี่ยนแปลงหรือปรับขึ้นจะคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อ ความสามารถนายจ้างจ่าย ความเดือดร้อนของลูกจ้าง การเติบโตเศรษฐกิจประเทศ ความสามารถการแข่งขันของประเทศ ประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งหากการขึ้นค่าแรงตอบโจทย์ทั้งหมดไม่มีปัญหาสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะทุกอย่างต้องมีหลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใช่อยากขึ้นเท่านั้นเท่านี้แต่ไม่มีข้อมูลสนับสนุนก็คงไม่ได้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 7/3/2565

"สภาพัฒน์"เปิดข้อมูลค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยเผชิญภาวะสังคมสูงวัย ชี้แรงงานต้องเตรียมค่าใช้จ่าย เงินออมครอบครัวละ 7.7 ล้านบาท สำหรับเลี้ยงเด็ก 1 คน คนแก่ 1 คน

จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทำให้ในประเทศอีก 10 ปีข้างหน้า คือในปี 2576 ประชากรในวัยพึ่งพิง (เด็ก - คนแก่) จะเพิ่มสูงขึ้นจากที่เดิมจะอยู่ที่ 54.8% ในปี 2564 เพิ่มเป็น 57.2% ในปี 2566 และในปี 2576 จะเพิ่มเป็น 71.3% หมายความว่าประชากรวัยแรงงานไทยต้องดูแลเด็ก และคนแก่เพิ่มขึ้นจาก 55 คน เป็น 72 คน

ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายที่ประชากรวัยแรงงานจะต้องหาเพื่อใช้ในการจับจ่ายในชีวิตประจำวันในครอบครัว รวมทั้งการเก็บออมเพื่อใช้เงินในการดูแลตนเองยามเกษียณอายุ บุพการี รวมทั้งใช้เป็นค่าใช้จ่ายให้กับบุตรหลานจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ

ทั้งนี้ สศช.ได้มีการคำนวณบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (NTA) พบว่าในการวางแผนการเงินของประชาชนในการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยทำให้ทราบว่าครัวเรือนที่จะสามารถดูแลเด็กวัยเรียน ดูแลคนแก่ และมีเงินเก็บส่วนหนึ่งสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณอายุไปจนถึงอายุ 90 ปี จะต้องมีเงินออมประมาณ 7.7 ล้านบาท โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ส่วนดังนี้ 1.การเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 21 ปี ซึ่งเป็นอายุที่เริ่มเข้าสู่วัยแรงงาน จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมในส่วนที่ภาครัฐสนับสนุน ในวัยเด็กที่เป็นการสนับสนุนทางการศึกษา และค่าอาหารกลางวันเด็กประมาณ 50% 2.วัยแรงงานที่ต้องการวางแผนเกษียณอายุ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีอายุอยู่ถึง 90 ปี จะต้องมีเงินออมในช่วงที่เกษียณอายุที่ 60 ปี ประมาณ 3.1 ล้านบาท โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายบางส่วนที่รัฐสนับสนุนในการรักษาสุขภาพ และ 3.ค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ ที่เกษียณอายุแล้วกรณีมีอายุถึง 90 ปี จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3.1 ล้านบาทเช่นกัน

“วัยแรงงานต้องหารายได้เพื่อดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และตนเอง เป็นมูลค่า 7.7 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภคของเด็ก ผู้สูงอายุ และการวางแผนเกษียณอายุของตนเอง ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวคำนวณมาจากการที่ต้องดูแลเด็กถึงวัย21 ปี ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน และกรณีผู้สูงอายุ และวัยแรงงานจะมีอายุถึง 90 ปี”

จินางค์กูร กล่าวด้วยว่าจากผลการศึกษาข้างต้น สะท้อนประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการ ดังนี้ 1.การเพิ่มรายได้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะบรรเทาการขาดดุลรายได้และอาจช่วยยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านทักษะของวัยเด็กให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและทิศทางการ พัฒนาประเทศยกระดับรายได้ของกลุ่มวัยแรงงาน พัฒนาทักษะให้แก่ประชากรกลุ่ม NEETs ให้สามารถสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของวัยสูงอายุ 2.การชดเชยการขาดแคลนของแรงงานผ่านการดึงกลับแรงงานไทยทักษะสูงในต่างประเทศและการนำเข้าแรงงานต่างชาติ ทักษะสูง เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูงในระยะยาว

3.การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของครัวเรือน ทั้งการเพิ่มระดับการออมของครัวเรือนเพื่อลดความเสี่ยง ด้านการเงินโดยเฉพาะในยามฉุกเฉิน รวมถึงวางแผนเกษียณเพื่อเตรียมความพร้อมของชีวิตเมื่อมีรายได้ลดลง และ 4.การปรับปรุงระบบการคลังของประเทศเพื่อสร้างสมดุลทางการคลังและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 6/3/2565

ก.แรงงาน รับแรงงานไทย 61 ชีวิต ลี้ภัยสงครามยูเครน เตรียมเงินเยียวยา

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีการติดตามดูแลอำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทยที่ประสบปัญหาความไม่สงบจากภัยสงครามที่ประเทศยูเครน จนต้องทยอยเดินทางกลับประเทศไทย ให้ได้รับความสะดวกและรับเงินช่วยเหลือสำหรับสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุน เนื่องจากภัยสงคราม ตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยกิจการที่จะใช้จ่ายเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ

นายสุชาติ กล่าวว่า ในวันนี้จะมีแรงงานไทยเดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 2 ชุด ชุดแรก จำนวน 16 คน ทั้งหมดเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งเดินทางโดยเครื่องบินสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 971 ออกจากกรุงบูคาเรสต์มาถึงประเทศไทยเวลา 06.25 น. ส่วนคนไทยชุดที่สอง จำนวน 45 คน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกกองทุนฯ จำนวน 38 คน เดินทางโดยเครื่องบินสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบินที่ EK 384 ออกจากกรุงวอร์ซอมาถึงประเทศไทยเวลา 12.05 น. ในวันนี้เช่นกัน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีการติดตามดูแลอำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทยที่ประสบปัญหาความไม่สงบจากภัยสงครามที่ประเทศยูเครน จนต้องทยอยเดินทางกลับประเทศไทย ให้ได้รับความสะดวกและรับเงินช่วยเหลือสำหรับสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุน เนื่องจากภัยสงคราม ตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยกิจการที่จะใช้จ่ายเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ

นายสุชาติ กล่าวว่า ในวันนี้จะมีแรงงานไทยเดินทางกลับประเทศไทย จำนวน 2 ชุด ชุดแรก จำนวน 16 คน ทั้งหมดเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งเดินทางโดยเครื่องบินสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 971 ออกจากกรุงบูคาเรสต์มาถึงประเทศไทยเวลา 06.25 น. ส่วนคนไทยชุดที่สอง จำนวน 45 คน ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกกองทุนฯ จำนวน 38 คน เดินทางโดยเครื่องบินสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบินที่ EK 384 ออกจากกรุงวอร์ซอมาถึงประเทศไทยเวลา 12.05 น. ในวันนี้เช่นกัน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ฝากถึงแรงงานไทยทุกคนที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เห็นถึงความสำคัญในการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ก่อนการเดินทางออกไปทำงานในต่างประเทศ เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดคิด หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ แรงงานไทยจะได้รับความคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนด

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนฯมี ดังนี้

1. กรณีถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ สงเคราะห์เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นให้สมาชิกได้เดินทางกลับประเทศไทยตามที่จ่ายจริง ได้แก่ ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นโดยให้จ่ายตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท

2. กรณีประสบอันตรายก่อนไปทำงานหรือขณะทำงานในต่างประเทศ สงเคราะห์เป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท

3. กรณีถูกเลิกจ้างจากสาเหตุประสบอันตราย สงเคราะห์คนละ 15,000 บาท

4. กรณีประสบอันตรายจนพิการสงเคราะห์คนละ 15,000 บาท ทุพพลภาพ สงเคราะห์คนละ 30,000 บาท

5. ประสบปัญหาในต่างประเทศ สงเคราะห์เป็นค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น ตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท

6. ถูกส่งกลับเนื่องจากเป็นโรคต้องห้าม กรณีทำงานไม่ถึงหกเดือน สงเคราะห์คนละ 25,000 บาท ทำงานมากกว่าหกเดือน สงเคราะห์ 15,000 บาท

7. กรณีประสบปัญหาจากภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด สงเคราะห์คนละ 15,000 บาท

8. กรณีเสียชีวิตก่อนเดินทางหรือขณะกลับมาพักที่ประเทศไทย สงเคราะห์จำนวน 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ สงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท

9. สมาชิกกองทุนถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดซึ่งมิใช่เกิดจากการกระทำโดยเจตนาในต่างประเทศ หรือเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน ให้จ่ายเป็นค่าทนายเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 5/3/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท