Skip to main content
sharethis

กมธ. การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยกเหตุผล 4 ข้อ สนับสนุนปรับใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร แก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เดินหน้าสู่กระบวนการสร้างสันติภาพ ลดความขัดแย้งที่แท้จริง

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 ว่านายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร นำคณะลงพื้นที่ศึกษาและรับทราบข้อมูลจากการบรรยายสรุปสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ณ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี ตามข้อร้องเรียนของประชาชนและภาคประชาสังคม

รองประธานกรรมาธิการ ระบุว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีการวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถึง 56 ราย สวนทางกับนโยบาย "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" และการเจรจาพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งหลังรับทราบการบรรยายสรุป ตนได้ขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง พร้อมได้เสนอความเห็นต่อสถานการณ์ว่า ขณะนี้สมควรที่จะปรับนโยบายจัดการปัญหาครั้งสำคัญ ด้วยการนำนโยบายการเมืองนำการทหาร ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ลงนามโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในอดีตมาปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ โดยมีเหตุผลประกอบ 4 ประการ คือ 1. ปัจจัยเวลา ความไม่สงบในพื้นที่ได้ยืดเยื้อยาวนานติดต่อกัน สร้างความบอบช้ำเสียหาย ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะสภาพจิตใจของผู้สูญเสียทุกฝ่าย 2. ปัจจัยความเหลื่อมล้ำ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นจังหวัดที่ประชากรมีสัดส่วนความยากจน ติดลำดับ 1 ใน 10 ของประเทศ และมีแนวโน้มอัตราความยากจนเพิ่มขึ้น ทั้งที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์  และมีวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์โดดเด่น 3. ปัจจัยงบประมาณ ที่ผ่านมา ภาครัฐได้ทุ่มงบประมาณแก่ 3 จังหวัดชายแดนใต้กว่าสามแสนล้านบาท นับว่าเป็นจำนวนมาก แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้าม ยิ่งภาครัฐทุ่มงบประมาณมากเท่าใด ความยากจนในหมู่ประชาชนกลับมีเพิ่มขึ้น แสดงว่านโยบายไม่ถูกต้อง และ 4. ปัจจัยจากการรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าโดย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล ได้สำรวจความเห็นของประชาชน(Peace survey) ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ถึง 5 ครั้ง พบว่า ประชาชนในพื้นที่กว่าร้อยละ 90 ต้องการสันติภาพ และอยู่ภายใต้การปกครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น ทั้งนโยบายและการปฏิบัติ ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับเสียงของประชาชน

รองประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวอีกว่า จากเหตุผลดังกล่าว ตนเห็นว่าสถานการณ์ความไม่สงบ ยืดเยื้อ ยาวนาน สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนโดยรวม หากตัดสินใจช้าไปกว่านี้สถานการณ์จะยิ่งลำบาก จึงควรปรับนโยบายดับไฟใต้ครั้งสำคัญ ด้วยการนำนโยบายการเมืองนำการทหารมาปรับใช้ และควรเพิ่มด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนนำ เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาความยากจน จะเป็นการสร้างสันติสุข สันติภาพให้เกิดขึ้นจริงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net