Skip to main content
sharethis

ปธน.เอ็มมานูเอล มาครง เผย 'ปูติน' ไม่สนคำขอฝรั่งเศส-เยอรมนี ยุติสงคราม ด้าน 'เซเลนสกี' แถลงว่ากองทัพของเขาสูญเสียทหารในการป้องกันประเทศไปแล้วอย่างน้อย 1,300 คน หลังการสู้รบกับการรุกรานของรัสเซียมากว่า 2 สัปดาห์ - รัสเซียแต่งตั้งนายกเทศมนตรีเมืองเมลิโตปอลคนใหม่ของยูเครน หลังจากใช้กำลังจับกุมนายกเทศมนตรีคนเก่าในข้อหาก่อการร้าย

สำนักข่าว BBC รายงานเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2565 ว่าประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน แถลงว่ากองทัพของเขาสูญเสียทหารในการป้องกันประเทศไปแล้วอย่างน้อย 1,300 คน หลังการสู้รบกับการรุกรานของรัสเซียมากว่า 2 สัปดาห์

นายเซเลนสกีแจ้งทางทวิตเตอร์เมื่อ 12 มี.ค. ว่า เขาได้หารือกับนายกรัฐมนตรีนัฟตาลี เบนเนตต์ ของอิสราเอล ถึงแนวทางการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งกับรัสเซีย

ด้านเทศบาลเมืองมาริอูโปลแถลงว่ามีพลเรือนอย่างน้อย 1,582 คน เสียชีวิตจากการยิงถล่มเมืองของกองกำลังรัสเซีย แต่บีบีซีไม่สามารถพิสูจน์ตัวเลขนี้ได้

ด้านประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวว่า ระหว่างการหารือทางโทรศัพท์เป็นเวลา 75 นาที ระหว่าง ตัวเขา นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ แห่งเยอรมนี และ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียไม่ได้แสดงความประสงค์ที่จะยุติสงครามในยูเครน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวอีกครั้งเมื่อ 11 มี.ค. ว่า จะไม่ส่งกองกำลังอเมริกันเข้าร่วมรบในสงครามยูเครน เนื่องจากเกรงว่าความขัดแย้งจะลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกได้

"ผมขอพูดให้ชัดว่า เราจะปกป้องดินแดนทุกตารางนิ้วของพันธมิตรนาโตอย่างสุดกำลัง ด้วยกองกำลังที่แข็งแกร่งและมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว แต่เราจะไม่รบกับรัสเซียในสงครามที่พวกเขารุกรานยูเครน เพราะการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่างนาโตกับรัสเซียก็คือสงครามโลกครั้งที่สาม"

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อกดดันรัสเซียเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยล่าสุดได้ห้ามนำเข้าสินค้ารัสเซียจำพวกอาหารทะเล เหล้าวอดก้า และเพชรรัสเซีย รวมทั้งคว่ำบาตรบุคคลใกล้ชิดผู้นำรัสเซียเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรก็จะห้ามนำเข้าสินค้าหรูหราจากรัสเซียเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ผู้นำสหรัฐฯ ยังประกาศถอดรัสเซียออกจากการเป็น "ชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์อย่างยิ่ง" (most favoured nation) ในทางเศรษฐกิจ โดยจะระงับการให้ประโยชน์ต่างตอบแทนทางการค้า เช่นการลดหรืองดเว้นภาษีศุลกากรต่าง ๆ

ส่วนกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือ G7 ก็กำลังพิจารณาไม่ให้รัสเซียเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันระดับโลก เช่นกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) รวมทั้งธนาคารโลก

นายกเทศมนตรีเมืองเมลิโตโปลถูกลักพาตัว

คลิปวิดีโอที่ปรากฏทางสื่อสังคมออนไลน์หลายแห่ง แสดงภาพจากกล้องวงจรปิดของจัตุรัสกลางเมืองเมลิโตโปล (Melitopol) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ขณะนายอิวาน เฟเดรอฟ นายกเทศมนตรี ถูกทหารรัสเซียลากตัวออกจากอาคารที่ทำการโดยมีถุงพลาสติกคลุมศีรษะ โดยขณะนี้ยังไม่ทราบว่านายเฟเดรอฟถูกนำไปควบคุมตัวไว้ที่ใด

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวประณามการกระทำข้างต้นว่าเป็นอาชญากรรมสงครามและ "อาชญากรรมต่อประชาธิปไตย" เขายังกล่าวว่าสิ่งที่ผู้รุกรานชาวรัสเซียได้ทำลงไป สักวันหนึ่งจะถูกมองว่าต่ำช้าเหมือนกับการก่อการร้ายแบบพวกไอเอส

แม้เมืองเมลิโตโปลตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซียตั้งแต่สองสัปดาห์ที่แล้ว แต่กระทรวงการต่างประเทศของยูเครนชี้ว่า การลักพาตัวนายกเทศมนตรีของเมืองถือว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งห้ามการจับกุมตัวพลเรือนไปเป็นตัวประกัน

ด้านกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรรายงานว่า การโจมตีของรัสเซียส่วนใหญ่ยังคงใช้จรวดและขีปนาวุธแบบพื้นฐานที่ไม่มีการนำวิถี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีทางอากาศในแนวรบภาคตะวันตกที่เพิ่งเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. เครื่องบินรบรัสเซียใช้ "ระเบิดโง่" (dumb bomb) หรือระเบิดที่ไม่มีการบังคับควบคุมทิศทางจำนวนมาก ปูพรมช่วยเปิดทางให้กองกำลังภาคพื้นดินรุกคืบได้

"การใช้อาวุธที่ไม่มีความแม่นยำโดยไม่เลือกสถานที่เช่นนี้ ทำให้พลเรือนยูเครนเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหรือบาดเจ็บมากขึ้น" รายงานดังกล่าวระบุ

ยูเอ็นไม่เคยได้รับรายงานเรื่องอาวุธชีวภาพในยูเครน

ในการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรัสเซียร้องขอให้มีการพิจารณาข้อกล่าวหาที่ว่า สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนห้องทดลองในยูเครนพัฒนาอาวุธชีวภาพนั้น

นางอิซึมิ นากามิสึ รองเลขาธิการใหญ่และผู้แทนระดับสูงด้านกิจการปลดอาวุธของสหประชาชาติแถลงว่า ไม่เคยได้รับรายงานเกี่ยวกับโครงการพัฒนาอาวุธชีวภาพใด ๆ ในยูเครนมาก่อน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าในขณะนี้ก็คือ ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่ตกเป็นเป้าการโจมตีและเข้ายึดครองของกองกำลังรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุที่นำไปสู่หายนะทางสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมได้

ก่อนหน้านั้นนายวาซิลี เนเบนเซีย เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ กล่าวต่อที่ประชุมว่า รัสเซียมีหลักฐานยืนยันเรื่องที่สหรัฐฯ ให้ทุนแก่เครือข่ายห้องปฏิบัติการอย่างน้อย 30 แห่งในยูเครน เพื่อพัฒนาเชื้อโรคหลายชนิดให้มีฤทธิ์ร้ายแรงยิ่งขึ้น จนสามารถนำไปทำอาวุธชีวภาพที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก หรืออาจแพร่เชื้ออันตรายในสัตว์เช่นนกอพยพหรือค้างคาวเพื่อให้ติดต่อไปสู่มนุษย์

อย่างไรก็ตาม ทูตรัสเซียไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยันเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมแต่อย่างใด ทำให้นางลินดา โทมัส-กรีนฟีลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติกล่าวตอบโต้ว่า ข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอยและบิดเบือนของรัสเซีย เป็นเพียงการสร้างสถานการณ์และสร้างความชอบธรรมในการโจมตียูเครน ให้กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เท่านั้น

"รัสเซียต่างหากที่มีโครงการพัฒนาอาวุธชีวภาพ ไม่ใช่ยูเครน" นางโทมัส-กรีนฟีลด์ กล่าว

รัสเซียแต่งตั้งนายกเทศมนตรีเมืองเมลิโตปอลคนใหม่ของยูเครน หลังจากใช้กำลังจับกุมนายกเทศมนตรีคนเก่าในข้อหาก่อการร้าย

13 มี.ค. 2565 สำนักข่าวไทย รายงานว่าทางการภูมิภาคซาปอริชเชีย ทางตอนกลางค่อนไปทางตะวันออกของยูเครน ประกาศแต่งตั้งนางฮาลินา ดานิลเชนโก อดีตสมาชิกสภาเทศบาลเมืองเมลิโตปอล เป็นนายกเทศมนตรีคนใหม่ เมื่อวันเสาร์ และใช้แพลตฟอร์มเทเลแกรมเผยแพร่คลิปการกล่าวรับตำแหน่งของเธอว่า ภารกิจหลักของเธอคือ การทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อให้เมืองกลับสู่ภาวะปกติ การแต่งตั้งนี้มีขึ้นหลังจากเมื่อวันศุกร์มีคลิปภาพนายอิวาน เฟอโดรอฟ นายกเทศมนตรีเมืองเมลิโตปอลคนเก่า ถูกกลุ่มชายพร้อมอาวุธนำตัวออกจากที่ทำการรัฐบาล หลังจากนั้นไม่นาน อัยการแคว้นลูฮันสก์ที่มีรัสเซียหนุนหลังอ้างว่า นายเฟอโดรอฟ ทำความผิดข้อหาก่อการร้ายและกำลังถูกสอบปากคำ เว็บไซต์ของอัยการระบุว่า เขาถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือและให้ทุนสนับสนุนการก่อการร้าย และเข้าร่วมกับกลุ่มอาชญากรรม

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายเฟอโดรอฟทันที โดยระบุว่าเป็นการก่ออาชญากรรมต่อประชาธิปไตย และกล่าวหารัสเซียว่าก่อเหตุร้ายอีกขั้นด้วยการพยายามกำจัดตัวแทนชอบธรรมของทางการท้องถิ่นยูเครน ขณะที่กระทรวงต่างประเทศยูเครนระบุว่า การควบคุมตัวนายเฟอโดรอฟ ถือเป็นการลักพาตัวและก่ออาชญากรรมสงคราม ชาวเมืองเมลิโตปอลจำนวนมากพากันประท้วงหน้าศาลาว่าการเมือง เรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา

เมืองเมลิโตปอลถูกกองกำลังรัสเซียยึดได้ตั้งแต่วันแรก ๆ ของการรุกราน โดยอยู่ระหว่างเมืองมารีอูปอลที่กำลังถูกปิดล้อม และเมืองเคอร์ซอนที่ถูกยึดได้แล้ว ชาวเมืองพากันประท้วงการยึดครองของรัสเซียเป็นระยะ ๆ เมืองนี้อยู่ทางใต้ของแคว้นซาปอริชเชีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคซาปอริชเชียที่ครอบคลุมหลายแคว้น รวมทั้งแคว้นโดเนตสก์ ลูฮันสก์ และเคอร์ซอนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net