สุรพศ ทวีศักดิ์: มนุษย์เครื่องมือในศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นักคิดตะวันตก เช่น ฌอง-ฌากส์ รุสโซ, เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์, จอห์น รอลส์และคนอื่นๆ มองสอดคล้องกันว่า ศาสนาพหุเทวนิยม (polytheistic religions) ไม่เน้นการเผยแพร่ไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ เพราะคนยุคนั้นไม่มีความคิดว่าศาสนาของพวกตนเป็น “ศาสนาสากล” ที่เหมาะกับมนุษย์ทุกคนในทุกสถานที่ ทุกเวลา จึงไม่มีหมอสอนศาสนาอาสาไปเผยแพร่ศาสนาสู่ผู้คนกลุ่มอื่นๆ ที่นับถือเทพมากมายแตกต่างกันอยู่แล้ว

ในหนังสือ “เซเปียนส์: ประวัติย่อของมนุษยชาติ” ของยูวัล โนอาห์ แฮรารีเล่าว่าเริ่มเกิดความคิดเรื่องศาสนาสากลที่มุ่งเผยแพร่ศาสนาตนไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ ราว 500 ปี ก่อนคริสตศักราชคือพุทธศาสนา และต่อมาคือคริสต์และอิสลามที่มุ่งเน้นการเผยแพร่ศาสนาตนไปสู่มวลมนุษย์ทั่วโลกอย่างจริงจังมากที่สุด ต่างกับศาสนายูดายแม้จะเป็นศาสนาเอกเทวนิยม (monotheism) ก็ยังเป็นเพียง “เอกเทวนิยมระดับท้องถิ่น” เพราะพระเจ้าหนึ่งเดียวทรงโปรดปรานเฉพาะชาวยิวที่เป็นชาติพันธุ์ที่พระองค์ทรงเลือกเท่านั้น

แต่พระเจ้าองค์เดียวที่ทรงฤทธานุภาพสูงสุดของคริสต์และอิสลามไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นพระเจ้าของมนุษยชาติทั้งมวล เทพเจ้าอื่นๆ หรือพระเจ้าอื่นๆ ล้วนแต่เป็นเพียง “สิ่งแปลกปลอม” ไม่คู่ควรที่มนุษย์จะเคารพบูชา หรือควรขจัดทิ้งเสียทั้งบรรดาเทพ และมวลมนุษย์ที่นับถือเทพเหล่านั้น

แม้เดิมทีเยซูจะสอน “ความรักและการให้อภัย” ให้มองคนถือศาสนาอื่นๆ เป็นเพื่อนบ้านที่เราควรรักเหมือนรักตัวเราเอง แต่ชาวคริสเตียนเชื่อว่า เยซูคือพระเจ้าในร่างมนุษย์ที่เสด็จมาไถ่บาปแก่มวลมนุษย์ด้วยการยอมถูกตรึงกางเขน สาวกคนสำคัญคือ “พอล” หรือเปาโล ยืนยันว่าพระวรสารของพระเจ้าไม่ควรรับรู้เฉพาะชาวยิว หรือศาสนาคริสต์ไม่ใช่ของชาวยิวเท่านั้น แต่ควรเผยแพร่ไปสู่มวลมนุษย์ทั่วโลก และเขาก็นำคริสต์ศาสนามาเผยแพร่ในกรุงโรม 

ชาวโรมันไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจเพียงเพราะชาวคริสเตียนนับถือพระเจ้าองค์เดียว แต่พวกเขามองเห็นปัญหาที่ชาวคริสเตียนชอบทำตัว “แปลกแยก” และอาจจะเป็นอันตรายต่อระเบียบทางสังคมการเมืองของพวกเขา เพราะขณะที่ชาวโรมันต่างแสดงความเคารพจักรพรรดิในฐานะเทพสูงสุดของจักรวรรดิ พวกเขาก็มีอิสระที่จะบูชาเทพประจำถิ่นของตนเองที่มีอยู่อย่างหลากหลายด้วย การปฏิบัติเช่นนี้เป็นประเพณีที่ไม่ได้ก่อปัญหาขัดแย้งใดๆ แต่ชาวคริสเตียนปฏิเสธประเพณีนี้ นอกจากพวกเขาจะไม่ยอมแสดงความเคารพจักรพรรดิ และเทพอื่นใดแล้ว ยังมองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ผิด หรือ “นอกรีต” ไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้า แค่นั้นยังพอทำเนา แต่ที่ทำให้ชาวโรมันหวาดระแวงมากขึ้น คือการที่ชาวคริสเตียนแสดงเจตจำนงมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเผยแพร่ศาสนาพระเจ้าองค์เดียวที่ทรงอำนาจสูงสุดในเอกภพไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ ที่ต่างนับถือเทพของพวกเขาเองอยู่ก่อนแล้ว นี่คือสาเหตุที่ชาวคริสเตียนถูกปราบปรามในช่วง 3 ศตวรรษแรกที่เข้ามาสู่โรม

แต่แฮรารีตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงเวลาที่ชาวคริสเตียนถูกปราบราว 300 ปีนั้น พวกเขาถูกฝ่ายพหุนิยมฆ่าไม่น่าจะเกิน 2-3 พันคน แต่หลังจากศาสนจักรคริสต์เรืองอำนาจตลอดยุคกลาง ชาวคริสเตียนเชือดคอชาวคริสเตียนด้วยกันเองนับล้านคน เฉพาะที่ฝรั่งเศสมีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่พวกคาธอลิกล้อมปราบพวกโปรเตสแตนท์ เพียงวันเดียวฆ่าทิ้งประมาณ 5,000-10,000 คน หลังทราบข่าวนี้ สันตะปาปาแห่งโรมทรงปลื้มปีติเป็นล้นพ้น ถึงกับให้จัดพิธีสวดมนต์เฉลิมฉลอง และให้จิตรกรเขียนภาพเหตุการณ์สังหารนั้นไว้ในห้องหนึ่งของวาติกัน (ปัจจุบันนักท่องเที่ยวไม่มีสิทธิ์เข้าชมห้องนี้) นี่คือประวัติศาสตร์ความรุนแรงของ “ศาสนาแห่งความรักและการให้อภัย” แต่ความสำเร็จคือ สำนึกในความเป็นศาสนาสากล และการมีจิตวิญญาณเข้มข้นที่มุ่งเผยแพร่คริสตศาสนาไปทั่วโลกในประเพณีของหมอสอนศาสนา และความเก่งในการจัดตั้งองค์กรและศาสนจักร ทำให้คริสตศาสนากลายเป็นศาสนาที่คนนับถือมากที่สุดในโลกมายาวนาน

พุทธศาสนามีสำนึกในการเผยแพร่ไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ มาก่อนคริสต์ แต่ความสามารถในการจัดตั้งองค์กรหรือศาสนจักรด้อยกว่า ไม่สามารถมีอำนาจทางการเมืองได้เต็มมือเหมือนศาสนจักรคริสต์ สถาบันสงฆ์อิงแอบอำนาจรัฐมาแต่ไหนแต่ไร กลุ่มไหนเป็นที่โปรดปรานของราชาก็ย่อมได้รับการอุปถัมภ์ และเชิดหน้าชูตามากกว่า

ในสยามสมัย ร.4 กษัตริย์แยกนิกายเสียเอง ตั้ง “ธรรมยุติกนิกาย” เป็นนิกายของราชสำนัก แม้นิกายนี้จะมีจำนวนพระสงฆ์น้อยนิดเมื่อเทียบกับมหานิกาย แต่ก็มีอำนาจทางการปกครองในระบบมหาเถรสมาคม และมีอภิสิทธิ์ต่างๆ เหนือกว่าตลอดมา 

ระบบมหาเถรสมาคมอาจเรียกว่า “ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม” ที่ว่าเป็น “ศาสนจักร” เพราะมีโครงสร้างการปกครองตามกฎหมายที่ชัดเจนเป็นระบบ มีตำแหน่งปกครองตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราช คณะกรรมการมหาเถรฯ เจ้าคณะต่างๆ ในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ลงไปถึงระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านหรือเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ซึ่งตำแหน่งเหล่านั้นมีอำนาจทางกฎหมาย และศาสนจักรนี้ก็ได้รับงบประมาณประจำปีจากรัฐ และยังมีหน่วยงานราชการอย่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัดทำหน้าที่สนับสนุน หรือคอยสนองงานด้านศาสนา การจัดสรรงบประมาณ และอื่นๆ 

ที่เป็น “ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม” ก็เพราะเป็นศาสนจักรที่อยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์โดยตรง กษัตริย์ทรงอำนาจเด็ดขาดในการแต่งตั้ง-ถอดถอนสมณศักดิ์ และตำแหน่งบริหารระดับสูง ลงไปถึงตำแหน่งเจ้าอาวาส “พระอารามหลวง” จึงเป็นศาสนจักรที่ถูกกำหนดให้มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเป็นอุดมการณ์ “ชาตินิยม” (ตามนิยามของชนชั้นปกครอง) ที่ถือว่ากษัตริย์สำคัญสูงสุดในการนำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่มวลพสกนิกร และเป็นหลักความมั่นคงของชาติและพระศาสนา

หากพิจารณาจากมุมมองทางปรัชญาสายคานท์ ภายใต้ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม นักบวชไม่สามารถเป็น “subject” หรือผู้กระทำที่มีอิสรภาพในการกำหนดตนเองทางศีลธรรมได้ เพราะผู้มีอิสรภาพกำหนดตนเองทางศีลธรรม คือผู้ที่มีเสรีภาพในการกำหนดตนเองให้กระทำตามเหตุผลและเจตจำนงของตนได้ หรือเป็นผู้ปกครองตนเองได้ (self-government) แต่ภายใต้อำนาจศาสนจักรเช่นนี้ นักบวชถูกห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็น เสวนา อภิปราย ชุมนุมหรือแสดงออกใดๆ ในทางสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิด้านต่างๆ ของบุคคล และสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองของประชาชน เพราะนักบวชถูกกำหนดให้เป็นเพียง “object” หรือผู้ถูกกระทำให้เป็นเครื่องมือค้ำยันอุดมการณ์พุทธราชาชาตินิยมเท่านั้น 

พูดอีกอย่างคือ นักบวชถูกระบบศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมกำหนดให้กลายเป็น “มนุษย์เครื่องมือ” เผยแพร่พุทธศาสนาในทางสนับสนุนหรือไม่ขัดแย้งกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ที่เน้นให้ประชาชนรักและเสียสละเพื่อ “ชาติ” ที่มีราชาเป็นผู้นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่มวลพสกนิกร และเป็นหลักความมั่นคงของชาติและพระศาสนา 

ด้วยสถานะความเป็นมนุษย์เครื่องมือ ทำให้นักบวชไม่สามารถออกมาเรียกร้อง “สิทธิ” ใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเพื่อตนเองในฐานะพลเมือง และสิทธิ เสรีภาพทางการเมืองของประชาชน แต่ที่ออกมาเรียกร้องตลอดคือการเรียกร้อง “อภิสิทธิ์” ทางศาสนาของพวกตน 

เช่น ออกมาชุมนุมเรียกร้อง “กระทรวงพระพุทธศาสนา” แต่ได้ “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)” แทน ออกมาเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติ” ในรัฐธรรมนูญ แต่ได้การบัญญัติให้รัฐมี “หน้าที่” อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญแทน ออกมาเรียกร้องงบประมาณจากรัฐเพื่อไปแสวงบุญที่อินเดีย เป็นต้น ซึ่งการเรียกร้องเช่นนั้นทำให้เพิ่มอภิสิทธิ์ทางศาสนาที่ขัดกับหลักการที่รัฐต้อง “เป็นกลางทางศาสนา” ตามหลักการเสรีประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ  

พูดอีกอย่างคือ ข้อเรียกร้องเช่นนั้นย่อมเป็นข้อเรียกร้องที่สอดคล้องกับความคิดพื้นฐานของระบบศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม จึงเป็นการเรียกร้อง “อภิสิทธิ์” ให้เพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่การเรียกร้อง “สิทธิ” ตามกรอบคิดพื้นฐานเรื่องสิทธิพลเมือง ที่ถือว่าสิทธิเท่าเทียมของทุกคนถูกสถาปนาขึ้นบนฐานคิด “คนเท่ากัน” แต่สถานะนักบวชจัดอยู่ในกลุ่มเครือข่ายฐานันดรที่ 1 และฐานันดรที่ 2 มาแต่ยุคศักดินา กฎหมายสงฆ์ปัจจุบันยิ่งกระชับอำนาจให้สถาบันศาสนาและนักบวชเป็นเครื่องมืองค้ำยันศักดินา หรือมีความเป็น “ศักดินานิยม” มากขึ้น 

บางคนบอกว่า ถึงอย่างไรพุทธศาสนาก็เป็น “ศาสนาแห่งสันติภาพ” ไม่ใช่ศาสนาที่สร้างความรุนแรงอย่างคริสต์และอิสลาม แต่ที่จริงแล้ว พุทธต่างจากคริสต์และอิสลามตรงที่ไม่สามารถสร้างองค์กรศาสนาที่มีอำนาจทางการเมืองกำกับรัฐได้เหมือนคริสต์และอิสลามเท่านั้น แต่การที่ศาสนจักรพุทธเป็น “ศาสนจักรของรัฐ” หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของระบบศักดินามายาวนานจวบจนปัจจุบัน ไม่ได้แปลว่าพุทธศาสนาปลอดจากความรุนแรง 

เพราะถ้าหาก “ความอยุติธรรมและความรุนแรง” เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ศาสนจักรที่ค้ำยันระบบโครงสร้างเช่นนั้น ย่อมไม่ใช่ศาสนาแห่งสันติภาพแน่นอน ขณะที่ประวัติศาสตร์คริสต์ในยุคกลาง คือประวัติศาสตร์ของการทำร้ายกันเองระหว่างชาวคริสต์ด้วยกัน แต่เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ มีการแยกศาสนาจากรัฐ เมื่อองค์กรศาสนาหมดอำนาจทางการเมือง ก็หมดเขี้ยวเล็บที่จะฆ่ากันเอง และองค์กรศาสนาต่างๆ ก็ปรับตัวเข้ากับสังคมประชาธิปไตยมาได้จวบปัจจุบัน 

แต่พุทธไทยกลับตรงกันข้าม เพราะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ด้วยการสถาปนาศาสนจักพุทธราชาชาตินิยมขึ้นมา ทำให้พุทธศาสนาตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของศักดินามากขึ้น และเป็นระบบศาสนจักรที่เป็นเงื่อนไขให้ชาวพุทธทะเลาะกันเอง ขัดแย้งกันเอง กีดกันและทำลายกันและกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์สวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก มาจนถึงภิกษุณีที่ถูกกีดกัน เป็นต้น  

ถึงที่สุดแล้วก็ชวนฉงนว่า ทำไมบรรดานักบวชยังกล้าสอนเรื่อง “ความหลุดพ้น” ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลายาวนานพวกเขาเองไม่สามารถ หรือไม่เคยต่อสู้เพื่อจะหลุดพ้นจากสถานะความเป็น “มนุษย์เครื่องมือ” ค้ำยันศักดินาอย่างจริงจังเลย ดูจะยอมสยบเป็นมนุษย์เครื่องมือเสียมากกว่า 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท