Skip to main content
sharethis

รัฐบาลทหารพม่าสั่งเพิกถอนสัญชาติสมาชิกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (NUG) และนักกิจกรรมทางการเมืองรวม 16 คน และสั่งยึดบ้านและทรัพย์สินอื่นๆ ของผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐประหารพม่า

16 มี.ค. 2565 สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) รายงานเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมาว่ารัฐบาลทหารพม่าสั่งเพิกถอนสัญชาติสมาชิกของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า (NUG) และนักกิจกรรมทางการเมืองรวม 16 คน และสั่งยึดบ้านและทรัพย์สินอื่นๆ ของผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐประหารพม่าด้วย ด้าน NUG โต้คำสั่งดังกล่าวไม่มีความหมาย เพราะคณะรัฐประหารพม่าไม่ใช่รัฐบาลอันชอบธรรมของประเทศ ทั้งนี้ คณะรัฐประหารพม่าสั่งเพิกถอนสัญชาติสมาชิกรัฐบาล NUG เมื่อวันที่ 4 และ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าผู้ที่ทำงานเพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารแบบหลบๆ ซ่อนๆ ได้ "ออกจากประเทศไปแล้วอย่างถาวร" เพื่อกระทำการผิดกฎหมายและต่อต้านรัฐ คำสั่งนี้คณะรัฐประหารอ้างว่าเป็นไปตามมาตรา 16 ของกฎหมายสัญชาติ พ.ศ.2525

ทนายความ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน และเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบวิจารณ์ความเคลื่อนไหวล่าสุดของคณะรัฐประหารพม่าว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ไม่มีอำนาจอันชอบธรรมในการออกคำสั่งดังกล่าว

ผู้ที่ถูกเพิกถอนสัญชาติ ประกอบด้วยสมาชิก NUG จำนวน 10 คน ซึ่งกบดาลอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของพม่าเพื่อต่อต้านการปกครองของทหาร ได้แก่ ซอวายโซ (Zaw Wai Soe) เยมอน(Ye Mon) ลวินโกลัตต์ (Lwin Ko Latt) คินมา มานโย (Khin Ma Ma Nyo) อองเมียวมิน (Aung Myo Min) และซินมาร์ออง (Zin Mar Aung)

นอกจากสมาชิก NUG แล้ว มีนักกิจกรรมอีก 6 คนที่อยู่ในรายชื่อเช่นกัน ได้แก่ มินโกนาย (Min Ko Naing) มโยยานเนิงเตง (Myo Yan Naung Thein) มองมองอาย (Maung Maung Aye) เอเพนซิโล (Ei Pencilo) และนักร้องชื่อดัง เซิงโอลาย (Saung Oo Hlaing)

สมาชิก NUG ออกมาตอบโต้ว่า "เราเรียกสภาทหาร (Military Council) ว่าเป็นองค์กรผู้ก่อการร้ายมาตั้งแต่เริ่มต้นการรัฐประหารแล้ว" ลวินโกลัตต์ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและตรวจคนเข้าเมืองของรัฐบาล NUG บอกกับสำนักข่าว RFA

"กลุ่มที่ว่านี้ไม่มีสิทธิบังคับใช้กฎหมายสัญชาติ พ.ศ. 2525 มันไม่ใช่รัฐบาลอันชอบธรรมชอบประเทศนี้ ดังนั้น ผมจึงไม่คิดว่าความเคลื่อนไหวนี้จะส่งผลกระทบใดๆ ต่อเราแม้แต่น้อย" ลวินโกลัตต์กล่าว

คินมามานโย รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเห็นด้วยกับความเห็นของลวินโก ลัตต์ โดยเขากล่าวว่า "พวกนั้นเป็นรัฐบาลผิดกฎหมายที่ปลดรัฐบาลอันชอบธรรมออกจากตำแหน่ง และปัจจุบันสังหารและทารุณกรรมประชาชน พวกเขาอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่ประชาธิปไตยและรัฐบาลสหพันธรัฐที่แท้จริงควรจะเป็น"

"ที่จริงแล้ว เราในฐานะผู้แทนของประเทศที่มาจากการเลือกตั้ง ควรเป็นคนที่บังคับใช้กฎหมายกับพวกเขา ประชาชนรู้อยู่แล้วว่าใครควรได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองและใครควรได้ปกครองประเทศนี้" คินมามานโยกล่าว

สมาชิกของ NUG ยังไม่ได้รับสัญชาติในประเทศอื่นแต่อย่างใด ดังนั้นจึงไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 16 ของกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ พ.ศ.2525 นอกจากนี้ คินมามานโยยังบอกอีกว่าการเพิกถอนสัญชาติตามคำสั่งของคณะรัฐประหารยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการติดต่อกับประเทศอื่นๆ ผ่านช่องทางทางการทูตด้วย

ด้าน อีทินซาเมิง (Ei Thinzar Maung) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสตรี เยาวชน และเด็ก ระบุว่า "เรายังคงมีชีวิต และสานต่อการปฏิวัติต่อไป ดังนั้น คำประกาศของทหารจึงไม่มีผลกระทบต่อพวกเราเลย เราไม่คิดว่าเราจำเป็นต้องมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้

สำนักข่าว RFA ได้ติดต่อไปยัง ซอว์มินตุน รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลทหารพม่า เพื่อขอความเห็น โดยซอว์มินตุนระบุว่าการเพิกถอนสัญชาติของฝ่ายต่อต้าน ถือเป็นการดำเนินการของคณะรัฐประหารพม่า โดยเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

"มาตรา 16 บอกว่าถ้าคุณออกจากประเทศไปอย่างถาวรและฝ่าฝืนกฎหมายที่มีอยู่ รัฐบาลมีสิทธิที่จะเพิกถอนสัญชาติของคุณได้" ซอว์มินตุนกล่าว "มันอยู่ในขอบเขตอำนาจที่รัฐบาลสามารถทำได้ เราตัดสินใจขยับเรื่องนี้เพราะ [บุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในคำสั่งนี้] ฝ่าฝืนมาตรา 16"

'ไม่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเลย'

ทนายศาลสูงผู้มากประสบการณ์คนหนึ่งบอกกับ RFA ว่าการเพิกถอนสัญชาติของสมาชิก NUG และนักกิจกรรมทางการไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย

"บุคคลจะสูญเสียสัญชาติต่อเมื่อพวกเขาได้รับสัญชาติในประเทศอื่นแล้วเท่านั้น ไม่สามารถสูญเสียสัญชาติด้วยเหตุผลอื่นได้" ทนายความระบุโดยขอไม่เอ่ยนามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

"คนคนหนึ่งอาจถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหาก่อกบฎหรือทรยศต่อประเทศได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถเพิกถอนสัญชาติของคนคนนั้นได้อยู่ดี" ทนายความกล่าว

ทนายความกล่าวต่อว่าความเคลื่อนไหวของคณะรัฐประหารพม่าต่อสมาชิกของ NUG และนักกิจกรรมเป็นเพียงความพยายามในการทำลายฝ่ายการเมืองที่ต่อต้านกองทัพเท่านั้น และไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายแต่อย่างใด

"ระบอบเผด็จการทหารเพียงแค่กำลังพยายามหาวิธีเพื่อกำจัดเสี้ยนหนามเท่านั้น" อองเมียวมิน รัฐมนตรีกระทรวงสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล NUG กล่าวโดยแสดงความเห็นด้วยกับความเห็นของทนาย "นี่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน"

ยึดบ้านและทรัพย์สินอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ทางการของคณะรัฐประหารพม่าก็ยกระดับการยึดทรัพย์สินที่ครอบครองโดยผู้นำฝ่ายต่อต้านการปกครองของทหารโดยตลอดช่วง 13 เดือนที่ผ่านมา มีการยึดบ้านสมาชิกของพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ไปกว่า 100 หลัง โดยในจำนวนนี้มี 60 หลังถูกยึดไปตั้งแต่ช่วงต้น 2564 ตามข้อมูลของพรรค NLD นอกจากนี้ทางการยังระงับการเข้าถึงทรัพย์สินที่ครอบครองโดยสมาชิกฝ่ายต่อต้านกลุ่มอื่นๆ รวมถึงพรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (DPNS) และพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาวฉิ่น (CNLD) ด้วย

"พวกเขามองว่าใครก็ตามที่ต่อต้านพวกเขาคือศัตรู" ฮึนนินเฮว (Hnn Hnin Hmwe) เลขาธิการร่วมของพรรค DPNS กล่าว "ที่ผ่านมาพวกเขาจับกุมผู้คนตามอำเภอใจ สังหารประชาชน ปล้นสะดมและเผาบ้านเรือน ข่มขืนผู้หญิง ยึดบ้านและทำลายทรัพย์สินสาธารณะเพื่อเผยแพร่ความกลัวในหมู่ประชาชน" เธอกล่าว

บ้านของสมาชิกขบวนการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืน (CDM) เช่น ร.ต.อ.ตินมุนตุน (Tin Mun Tun) ผู้กำกับภาพยนตร์โก ปึก (Ko Pauk) นักแสดง ชิต ตู วาย (Chit Thu Wai) นักร้องเพลงป๊อบ จัน จัน (Chan Chan) และนักกิจกรรมโซเชียลมีเดียคนอื่นๆ ก็ถูกปิดล้อมโดยทางการของคณะรัฐประหารเช่นกัน แหล่งข่าวของ RFA ระบุ อย่างไรก็ตาม จันจัน นักร้องชาวพม่าโพสต์ในโซเชียลมีเดียระบุว่าคนอื่นๆ ที่ต่อต้านการปกครองของทหารในพม่าสูญเสียมากกว่าบ้านของตนเองแล้ว

"มีหลายๆ คนที่เสียชีวิตและพิการแล้ว การเสียสละของพวกเขาใหญ่หลวงกว่ามาก" เธอกล่าว "ฉันเพียงแค่กำลังจะเสียทรัพย์สินของฉัน ซึ่งฉันสามารถหาใหม่ได้ในภายหลัง ฉันเตรียมใจไว้นานแล้วเรื่องแบบนี้อาจจะเกิดขึ้น และฉันตั้งใจแล้วว่าจะสู้ต่อไปจนกว่าความชั่วจะพ่ายแพ้ต่อความดี"

คนอื่นๆ ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารและถูกเรียกให้มาปรากฎตัวต่อหน้าศาล ที่ผ่านมาถูกยึดบ้านเรียบร้อยแล้วเมื่อพวกเขาไม่มารายงานตัวกอลิน (Kyaw Lin) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของอำเภอ Insein ในเมืองย่างกุ้งกล่าว

"พวกเขาบอกผมทางโทรศัพท์ให้มาที่ศาล แต่ผมไม่ได้ไป จากนั้นพวกเขาบอกว่าจะส่งหมายเรียกพร้อมกับกับหมายศาลอีก พวกเขาบอกว่าถ้าพวกเขาต้องโทรมาเป็นครั้งที่ 3 พวกเขาจะยึดบ้านของผมไป" กอลิน (Kyaw Lin) กล่าว

สมาชิกครอบครัวของบุคคลที่ถูกตามล่าโดยตำรวจก็ถูกยึดบ้าน ร้านค้า และอาคารต่างๆ ที่อยู่ในความครอบครองเช่นเดียวกัน โดยล่าสุดมีรายงานว่าบ้าน 5 หลังที่อำเภอตั่นเซในภาคสะกายทางตอนเหนือของพม่าถูกปิด เพราะเจ้าของมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มกองกำลังต่อต้านคณะรัฐประหาร นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าคณะรัฐประหารสั่งปิดร้านบาร์บีคิวและสมาคมสวัสดิการสังคมที่มัณฑะเลย์อีกด้วยเมื่อ ก.พ. ที่ผ่านมา

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net