กสม.ร่วมกับเครือข่ายจัดอบรมสร้างศักยภาพการป้องกันการทรมานแก่ จนท.-หนุนร่าง พ.ร.บ.อุ้มหาย 

กสม.ร่วมกับเครือข่าย จัดอบรมเสรืมสร้างศักยภาพการป้องกันการทรมานให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาสังคม พร้อมหนุนการบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ โดยเร็ว-กสม.เข้ารับการสัมภาษณ์เพื่อเลื่อนสถานะจาก B เป็น A ในเวทีโลก คาดรู้ผลมีนาคมนี้

(ขวา) นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช สมาชิก กสม. และ (ซ้าย) นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาฯ กสม.

17 มี.ค. 65 ทีมสื่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานต่อสื่อวันนี้ (17 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช สมาชิก กสม. และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาฯ กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 10/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

อบรมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันการทรมานให้แก่เจ้าหน้าที่ฯ-NGO

ปัญหาการซ้อมทรมานเป็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี 2561-2565 (ข้อมูล ณ 25 กุมภาพันธ์ 2565) กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีกล่าวอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีการซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัวจำนวน 93 เรื่อง โดย กสม. มีความห่วงกังวลในประเด็นปัญหาดังกล่าวและติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการกล่าวอ้างว่าถูกกระทำทรมานหรือทำร้ายร่างกายในระหว่างการจับกุมตัวหรือสอบสวนเพื่อให้รับสารภาพโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐด้านความมั่นคง ซึ่งพบว่ารูปแบบและวิธีการกระทำทรมานมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ท้าทายสำหรับเจ้าหน้าที่ในการแสวงหาและรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนพยานหลักฐานต่างๆ ทั้งจากฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ในส่วนของการทำงานกับผู้ร้องเรียนซึ่งถือเป็น “เหยื่อ” ที่มีความบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ในหลักการและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้ว ยังควรต้องได้รับการพัฒนาทักษะและเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ เพื่อให้สามารถจัดทำรายงานการตรวจสอบแบบองค์รวม ทั้งนี้ ข้อมูลทางการแพทย์ที่ได้จากการดูแลรักษาเยียวยาเหยื่อ ถือเป็นข้อมูลอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการแสวงหาข้อเท็จจริง

ภาพรณรงค์ต่อต้านการบังคับสูญหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และนายสุรชัย แซ่ด่าน (ภาพโดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล)

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและหลักการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำทรมาน ตลอดจนแนวทางการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างเป็นระบบในประเทศไทย เมื่อวันที่ 10-11 มี.ค. 65 กสม.จึงได้ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดการฝึกอบรม “การป้องกันการทรมาน: การแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง” ให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ภาคใต้ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ผู้แทนองค์กรเครือข่ายภาครัฐ เช่น กรมต่างๆ ในกระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รวมทั้งผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 100 คน ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์

การอบรมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก (1) Dr. Laurent Subilia แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง สมาพันธรัฐสวิส (2) Ms. Camelia Doru, MD ผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บข้อมูลและบันทึกการสืบสวนสอบสวนกรณีอาชญากรรม ประเทศโรมาเนีย (3) Mrs. Chakiba Marcolan-El Jaouhari ผู้มีประสบการณ์ทำงานในด้านการปฏิบัติต่อกลุ่มเปราะบาง และการฟื้นฟูเหยื่อจากการถูกทรมานและความรุนแรง สมาพันธรัฐสวิส (4) Mr. Arnaud Chaltin ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และ (5) นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่และเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำทรมาน แนวทางการจดบันทึกทางการแพทย์และทางกฎหมาย เพื่อนำไปปรับใช้ในการแสวงหาข้อเท็จจริง ตลอดจนวิธีการดูแลเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการกระทำทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างเป็นระบบ

“การป้องกันการกระทำทรมานรวมทั้งการบังคับให้สูญหาย เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ กสม. มีความห่วงกังวล และถือเป็นนโยบายสำคัญในปีนี้ที่ กสม.เร่งขับเคลื่อนทั้งในภารกิจด้านการส่งเสริม คุ้มครอง และเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยล่าสุด กสม.จัดทำแคมเปญรณรงค์ในหัวข้อ จับอย่างระวัง เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิของผู้ต้องหาและผู้ถูกควบคุมตัวที่จะต้องไม่ถูกกระทำทรมานตลอดจนการบังคับให้สูญหายด้วย 

"ทั้งนี้ กสม.ขอสนับสนุน (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ให้ผ่านออกมาบังคับใช้โดยเร็ว ทั้งนี้ ให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล” กสม. กล่าว

กสม.เข้ารับการสัมภาษณ์เลื่อนสถานะจาก B เป็น A ในเวทีโลก คาดรู้ผล มี.ค.นี้

15 มี.ค. 65 เวลา 17.00 น. นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้ารับการสัมภาษณ์จากคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions : GANHRI) เพื่อประกอบการพิจารณาประเมินสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จากสถานะ B เป็นสถานะ A หลังจากที่ SCA มีมติปรับลดสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงจาก A เป็น B เมื่อต้นปี 2559 และมีมติเมื่อ ธ.ค. 63 ให้เลื่อนการพิจารณาประเมินสถานะของ กสม.ไทยออกไป 18 เดือน หรือ 3 สมัยประชุม ภายหลังการเข้ารับการประเมินสถานะของ กสม.คราวก่อน โดยการเข้ารับการประเมินสถานะของ กสม.นี้เป็นการประเมินถึงความสอดคล้องกับหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ “หลักการปารีส” (Paris Principles) ซึ่งสถานะ A หมายถึงมีความสอดคล้องกับหลักการปารีสโดยสมบูรณ์

ในการเข้ารับการประเมินในครั้งนี้ ประธาน กสม.ตอบคำถามในประเด็นข้อห่วงกังวลตามรายงานของ SCA ใน 4 ประเด็น ได้แก่

1. มาตรา 247 (4) ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 26 (4) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. ที่กำหนดให้ กสม. ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม อาจกระทบกับความเป็นอิสระของ กสม. โดยประธาน กสม.ได้ยืนยันถึงความเป็นอิสระของ กสม. ขณะเดียวกัน ก็ได้ดำเนินการผลักดันให้มีการแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

2. การสรรหาและแต่งตั้ง กสม. ชุดที่ 4 ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ประธาน กสม. ชี้แจงว่า กสม. ชุดที่ 4 ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่กว่า 9 เดือนแล้ว และมีองค์ประกอบที่หลากหลาย ที่ยังอยู่ระหว่างการสรรหามีอีก 1 ราย ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยวุฒิสภาในช่วงกลางปีนี้

3. กระบวนการติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม. ประธาน กสม.ชี้แจงว่าได้ให้ความสำคัญและมีกลไกในการทำงานเพื่อติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม.อย่างจริงจัง

4. หน้าที่และอำนาจกึ่งตุลาการของ กสม. ในการไกล่เกลี่ย ซึ่งเดิมพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 27 ได้เคยให้อำนาจแก่ กสม.ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ไม่ปรากฏว่า กสม.มีหน้าที่และอำนาจดังกล่าว เรื่องนี้ กสม.ได้ชี้แจงว่าได้ผลักดันให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้แล้ว ซึ่งทางฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติก็ให้การสนับสนุนให้ กสม.มีบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนส่งไปที่รัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป

คณะอนุกรรมการประเมินสถานะ หรือ SCA ชุดปัจจุบันที่ทำหน้าที่ประเมินสถานะ กสม. ประกอบด้วย สมาชิก 4 คน จากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีสถานะ A ใน GANHRI จาก 4 ภูมิภาค ได้แก่ (1) แอฟริกาใต้ จากภูมิภาคแอฟริกา (2) กัวเตมาลา จากภูมิภาคอเมริกา (3) ปาเลสไตน์ จากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ (4) อังกฤษ จากภูมิภาคยุโรป หาก กสม. ได้รับการเลื่อนสถานะจาก B เป็น A จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศในด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ หาก กสม. อยู่ในสถานะ A จะสามารถแสดงบทบาทและมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศได้มากขึ้น อันจะทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านต่างๆ กับนานาชาติได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนของไทยในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าจะทราบผลการพิจารณาการเลื่อนสถานะของ กสม. โดย SCA ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท