Skip to main content
sharethis

ครบรอบ 5 ปีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ กลุ่มดินสอสีและเครือข่ายจัดงานรำลึก พร้อมเดินทางไปวาง “ดอกอ่อเวะ” หรือดอกไม้แห่งความคิดถึงชาวลาหู่หน้าหลุมศพ เพื่อขอให้ความคิดถึงจงเบ่งบานไปถึงชัยภูมิ

ไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้ดูแลชัยภูมิขณะมีชีวิตอยู่ ระบุว่า หลักฐานเดียวคือกล้องวงจรปิดตรงนั้น แต่กรณีของชัยภูมิเจ้าหน้าที่กลับไม่ยอมเปิดเผยภาพในกล้อง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า กรณีวิสามัญฆาตกรรมโดยปกตินั้นยากอยู่แล้ว ยิ่งเป็นกรณีของคนชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารในยุคของ คสช. อย่างกรณีของชัยภูมิ ป่าแส ความยากยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก

18 มี.ค. 2565 วานนี้ (17 มี.ค. 2565) เวลา 09.00 น. ที่ศาลาบ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บ้านเกิดของชัยภูมิ ป่าแส หรือ จะอุ๊ นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ “กลุ่มดินสอสี dinsorsee creative group” และเครือข่ายได้ร่วมกันจัดงานรำลึกถึงชัยภูมิ ป่าแส หลังวันนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (17 มี.ค. 2560) ชัยภูมิถูกเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณด่านบ้านรินหลวงซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขายิงเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุกล่าวอ้างว่าพบห่อยาเสพติดจำนวน 2,800 เม็ด ซุกซ่อนในรถที่ชัยภูมิขับมา และชัยภูมิได้ขัดขืนการจับกุมและควักระเบิดจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส จนเสียชีวิตคาที อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของชัยภูมิ ป่าแส ก่อให้เกิดการตั้งคำถามที่การกระทำของเจ้าหน้าที่บริเวณด่าน หลายฝ่ายทั้งครอบครัวแลเครือข่ายนักกิจกรรมที่ไม่เชื่อว่าชัยภูมิจะขนยาเสพติดตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างจึงได้พยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการตายของชัยภูมิ ป่าแส

 

จากเพื่อนถึงชัยภูมิ ป่าแส

ภายในงานวันนี้ได้มีครอบครัวและเพื่อนๆ ของชัยภูมิ ป่าแส มาร่วมกล่าวคำระลึกถึงชัยภูมิ ดังนี้

รัตนาภรณ์ เจือแก้ว จากกลุ่ม ดีจัง Young Team

รัตนาภรณ์ เจือแก้ว ตัวแทนจากกลุ่ม ดีจัง Young Team กล่าวว่า ได้พบกับนายชัยภูมิตั้งแต่เด็กๆ ในการทำงานกลุ่มพื้นที่นี้ดีจัง เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปีการจากไป ถามว่าอาลัยหรือไม่นั้น เป็นความคิดถึงและอยากขอโทษมากกว่า โดยรู้จักนายชัยภูมิมากว่า 10 ปี นายชัยภูมิเติบโตงดงามเห็นคุณค่าในตนเองและส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนอื่นคือนายชัยภูมิที่เรารู้จัก 1,825 วัน ไม่มีอะไรเหมือนเดิมหลังการตายของนายชัยภูมิ ไม่ใช่แค่ความสูญเสียของครอบครัว เพื่อน ชาวลาหู่และสังคม แต่คือความสูญเสียของโลก ประเทศนี้ปลิดชีวิตคนหนุ่มที่เป็นกำลังสำคัญของโลกใบนี้ นายชัยภูมิกำลังสร้างโลกแบบที่เขาฝัน อยากเห็น และอยากให้เป็น กระสุนนัดนั้นพรากโลกที่กำลังจะดีขึ้นด้วยการลงมือทำของนายชัยภูมิ

“ประเทศที่ปกครองด้วยองค์กรและคนที่บ้าอำนาจ กำลังหมุนสวนทางกับโลกใหม่ของคนหนุ่มสาว แต่เรายังเชื่อว่าเวลาจะอยู่ข้างเรา ความยุติธรรมก็เช่นกัน 1,825 วันความยุติธรรมราคาแพง ถูกจ่ายด้วยวันเวลาที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้าและเจ็บปวดของทุกคนที่รักนายชัยภูมิ แต่ถึงแม้จะจ่ายแพงขนาดไหนเราก็ยังไม่เคยได้รับความยุติธรรมอยู่ดี คนผิดไม่เคยถูกลงโทษ ชัยภูมิยังไม่เคยได้รับคำขอโทษจากใครเลยสักครั้ง 1,825 วันความยุติธรรมที่ไม่เคยมาถึง คิดถึงและขอโทษ ประเทศนั้นเฮงซวยเกินไป และขอให้เราได้พบกันใหม่ในโลกที่เห็นคนเท่ากัน” รัตนาภรณ์กล่าว

วัชรพล นาคเกษม สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมสังคม (SYSI)

วัชรพล นาคเกษม สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมสังคม (SYSI) กล่าวว่า  ในฐานะเพื่อนที่ทำงานทางสังคมเหมือนกัน มีเรื่องราวมากมายที่จะพูดถึงนายชัยภูมิในความหมายของนักสร้างการเปลี่ยนแปลง ถ้าวันนี้นายชัยภูมิยังมีลมหายใจอยู่เราคงได้เห็นความสามารถมากมาย เป็นคนุร่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง นายชัยภูมิคือคนทำงานสร้างสรรค์ เป็นศิลปิน เป็นคนที่เรียกได้ว่าเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวอย่างแท้จริง แม้ว่าจะผ่านไปแล้ว 5 ปีกับการที่นายชัยภูมิไม่ได้อยู่สร้างความฝันให้เป็นจริง แต่ความคิด ความฝัน ความเชื่อของนายชัยภูมิยังอยู่และถูกส่งต่อ การเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ในปี 2563 ซึ่งได้เรียกร้องความเท่าเทียมของกลุ่มชาติพันธุ์ ของคนทุกคน เป็นสิ่งที่นายชัยภูมิคิด เชื่อ ถูกส่งผ่านไปยังขบวนการทางสังคมกลุ่มอื่นและคนรุ่นใหม่ในสังคมด้วย ซึ่งจะเบ่งบานในหัวใจผู้คนไปอีกนาน

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ผ่านมา 5 ปี เรื่องที่เกิดขึ้นกับนายชัยภูมิเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับคนหนุ่มสาวที่มุ่งหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แต่เมื่อมันเกิดขึ้นตนคิดว่าสิ่งที่พวกเราได้พยายามทำกันมาคือการเรียกร้องให้เกิดการรับผิดที่เกิดขึ้น แม้ว่าคำตัดสินที่เกิดขึ้นในศาลอาจจะดูเหมือนเราพ่ายแพ้ แต่ว่าการที่เราลุกขึ้นเรียกร้องและสู้ ตนคิดว่าทั้งในกระบวนการทางศาลและทางสังคมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เราไม่ได้ปล่อยให้นายชัยภูมิต้องจากไปอย่างเงียบงัน แต่เราพยายามจะทำให้เรื่องราวนี้ถูกพูดถึง การต่อสู้ในชั้นศาลประสบความสำเร็จหรือไม่เป็นเรื่องอนาคต แต่เมื่อเราได้ลุกขึ้นพูดถึงเรื่องนี้และบอกว่ามันคือความไม่เป็นธรรม มันคือความอยุติธรรม นี่คือเสียงที่สำคัญ เป็นเสียงที่ร่วมสมัยกับความรู้สึกของคนจำนวนมากในสังคมนี้ ที่เราต้องการเห็นความเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา ผิว สี อย่างไร

“ชัยภูมิจากไปแล้ว แต่พวกเรายังอยู่ เป็นภาระหน้าที่ เป็นงานของพวกเราที่จะต้องผลักดันสังคมนี้ ผมคิดว่าถ้าชัยภูมิยังอยู่เขาก็คงจะทำในสิ่งที่ทำให้โลกนี้เท่าเทียมกัน ทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น ดังนั้นถ้าเราคิดถึงชัยภูมิผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดเราต้องร่วมกันผลักดันให้สังคมนี้เป็นสังคมที่น่าอยู่อย่างสันติสำหรับทุกคน” สมชายกล่าว

วิไลลักษณ์ เยอเบาะ

จากสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT)

วิไลลักษณ์ เยอเบาะ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) กล่าวว่า เรารู้สึกว่าชัยภูมิยังอยู่ที่นี่ และเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้คนรอบข้างและชุมชนตื่นรู้แม้เสียชีวิตไปแล้ว ในมุมของคนที่ทำงานเรื่องสังคม ทำให้เราเห็นว่าภายใต้กฎหมายเดียวกัน เราเห็นถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตของเรา กระบวนการยุติธรรมในสังคมยังมีอำนาจที่มองไม่เห็นแทรกแซง ทำงานไม่ตรงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น สิ่งที่นายชัยภูมิได้รับสามารถเกิดขึ้นกับทุกคน เรื่องนี้เชื่อมโยงกับคนที่มีชื่อเสียงอย่างกรณีของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม แม้ตายต่างกันแต่กระบวนการยุติธรรมไม่ต่างกันเลย กระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ยังเหมือน 5 ปีที่แล้ว สิ่งที่เราทำได้คือต้องไม่หยุดส่งเสียงเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้ คือกระบวนการยุติธรรมที่จะทำให้เกิดความสงบสุขในประเทศไทยได้ 

นอกจากนี้วิไลลักษณ์ กล่าวว่า ในเรื่องของนายชัยภูมิ เรารู้สึกว่านายชัยภูมิเหมือนอยู่ในทะเลทราย เหมือนดอกหญ้าที่พยายามมีชีวิตรอด และพยายามทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก เขาสามารถเป็นต้นแบบในเรื่องการทำงานเพื่อสังคมและจิตอาสา เมื่อมาเจอเรื่องแบบนี้จึงถือว่าไม่ยุติธรรมสำหรับเขามาก ทำให้เกิดความรู้สึกเสียดายคนที่เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีของสังคม แต่พ่ายแพ้กับกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ และกรณีของนายชัยภูมิกับนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ เป็นผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมแต่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต สิ่งที่เราเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะช่วยได้นั้นไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามกฎหมายพึ่งไม่ได้แต่กฎแห่งกรรมยังอยู่ และขอให้ทุกคนสู้ต่อไป

ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection international

ต่อมา ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection international กล่าวว่า ในเรื่องการทำงานร่วมกับนักปกป้องสิทธิ แม้เราไม่มีโอกาสได้พบกับนายชัยภูมิ แต่เรารู้สึกได้ว่าเขาเป็นเยาวชนที่มีความมหัศจรรย์มาก แม้จะเสียชีวิตไปแล้วจากการวิสามัญฆาตกรรมของเจ้าหน้าที่ แต่ทุกคนยังจดจำความดีความที่เขาพยายามจะเปลี่ยนแปลง ถ้าถามว่าเราคิดถึงอะไรหรือรู้สึกอะไร ใน 1,825 วัน  เราคิดถึงความไม่ย่อแท้ ทั้งของแม่ กลุ่มด้วยใจรักและทุกคนที่พยายามตามหาความยุติธรรม มีคำถามที่น่าสนใจจากสื่อมวลชนว่าเกิดอะไรขึ้นกับทหารที่วิสามัญนายชัยภูมิ ได้รับผิดทางอาญาหรือไม่ คำตอบที่เราให้คือไม่มีใครต้องรับผิดจากกรณีที่ยิงนายชัยภูมิ  ซึ่งในสามัญสำนึกของมนุษย์ทุกคนไม่มีใครสามารถมาพรากชีวิตไปจากคนอื่นได้ เรื่องนี้จึงย้อนแย้งกับสามัญสำนึกของผู้คน  ความแข็งกระด้างของกฎหมาย ไม่ใช่ความยุติธรรมและเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม

“อยากตอกย้ำว่าการมาระลึกถึงนายชัยภูมิ ไม่ใช่แค่ความคิดถึงที่เบ่งบาน แต่เป็นเจตนารมณ์ในการหาความยุติธรรมร่วมกัน ซึ่งเบ่งบานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และตลอดไป เราต้องจำให้ได้ว่ามีผู้คนเท่าไรในสังคมที่เรียกร้องให้เปิดกล้องวงจรปิด เราต้องจำให้ได้ว่ากี่หมื่นกิโลเมตรที่ครอบครัวจะต้องเดินไปเรียกร้องความยุติธรรมในศาลต่างๆ แม้จะยังไม่ได้รับ เราต้องจำให้ได้ว่า 1 พันกว่าวัน มี 381 กว่าวันที่นาหวะผู้เกี่ยวข้องกับนายชัยภูมิต้องใช้ชีวิตในคุก และศาลยกฟ้องคดียาเสพติด แต่ยังไม่ได้รับความยุติธรรมเหมือนกัน ดูเป็นเรื่องยากที่จะหาความเป็นธรรม แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ ถ้ายอมเราทุกคนก็คงไม่มาอยู่ที่นี่ และครอบครัวขอยื่นฎีกาในเรื่องเยียวยาความเสียหายจากกองทัพบก ดังนั้นขอให้จิตวิญญาณในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เคียงคู่ไปกับดอกไม้ที่กำลังเบ่งบานด้วยความคิดถึง ขอให้ช่วยกันติดตามว่าศาลฎีกาจะพิจารณาให้ครอบครัวได้เรียกร้องความเสียหายได้หรือไม่” ปรานม กล่าว

 

'ดอกอ่อเวะ'  ในมือแม่บนหลุมศพลูกชาย

 

หลังจากนั้นทางครอบครัวและผู้ร่วมงานทั้งหมดได้เดินทางไปยังหลุมศพของชัยภูมิ ป่าแส เพื่อวางดอกอ่อเวะ หรือดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความคิดถึงที่หน้าหลุมศพของชัยภูมิ

นาปอย ป่าแส แม่ของชัยภูมิได้กล่าวถ้อยคำถึงและร้องเพลงเป็นภาษาลาหู่ถึงลูกชาย ก่อนจะวางดอกอ่อเวะลงบนหลุมศพชัยภูมิเป็นดอกแรก นาปอยแม่ของชัยภูมิได้ร้องเพลงเพลงด้อ น้อ เว อ่อ เวะ เวะ ลา ปิโอ๊ เพื่อให้ดอกความคิดถึงจงเบ่งบานไปถึงชัยภูมิ

 

ดอกอ่อเวะในมือนาปอย ป่าแส แม่ของชัยภูมิ

ชานนท์ ป่าแส น้องชายของชัยภูมิ ป่าแส เล่าให้ประชาไทฟังว่า ขณะที่ชัยภูมิถูกยิงชานนท์อายุเพียง 13 ปี ปัจจุบันเขาอยู่บ้านกับแม่ 2 คน เนื่องพ่อเสียชีวิตไปแล้วและหลุมศพก็ฝังอยู่ข้างกันกับพี่ชาย 5 ปีที่ผ่านมานี้สิ่งที่ชานนท์อยากบอกคือ “ผมก็คิดถึงพี่ หลังจากพี่จากไปผมทำอะไรไม่ถูกเลย ผมไม่คิดว่าพี่ชายผมจะจากไปเร็วขนาดนี้ แรกๆ ผมก็รับไม่ได้ ผมฝันถึงตลอด จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม หลักฐานก็มีชัดเจนอยู่แล้ว”

ชานนท์ ป่าแส น้องชายของชัยภูมิ ป่าแส

ส่วนเรื่องในทางกฎหมาย ไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้ทำหน้าที่ดูแลชัยภูมิ ป่าแส ขณะมีชีวิตอยู่ ระบุว่า ขณะนี้ทางครอบครัวกำลังพูดคุยกับทนายความ เพื่อหาทางดำเนินคดีในส่วนของการเรียกร้องค่าชดเชยต่อไปหลังวันที่ 26 ม.ค. 2565 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องให้กองทัพบกไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาให้ครอบครัวชัยภูมิ ป่าแส ในกรณีวิสามัญฆาตกรรม

เนื่องจ่ายก่อนหน้านี้ในคดีอะเบ แซ่หมู่ ชาวลีซูในอ.เชียงดาว ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงโดยอ้างว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งกรณีของอะเบเกิดขึ้นในพ.ศ. 2560 ก่อนหน้ากรณีของชัยภูมิ ป่าแส เพียงไม่กี่วัน ศาลได้มีการตัดสินให้กองทัพบกจ่ายค่าชดเชยให้แก่ครอบครัวของอะเบ แซ่หมู่ จึงทำให้ครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแส ยังมีข้อกังขาในกระบวนการยุติธรรมที่แตกต่างกันของ 2 กรณี ทั้งที่ลักษณะของเหตุการณ์มีความคล้ายคลึงกันมากและเกิดเหตุในพื้นที่เดียวกัน ตำบลเดียวกัน

สุดท้าย ไมตรี กล่าวถึงชัยภูมิในวาระครบรอบ 5 ปีการจากไปว่า ยังคิดถึงเขา ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเลย สิ่งที่เราเคยทำด้วยกันหลายอย่างมันมีความหมายในชุมชน ต่อให้เขาไม่มีบัตรประชาชน ถูกมองว่าเป็นคนไร้สัญชาติ เขาก็ยังเติบโตอย่างเป็นคนมีคุณภาพคนหนึ่ง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย เรายังเชื่อว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่พูดว่าชัยภูมิมียาเสพติด เจ้าหน้าที่ยังไม่มีหลักฐาน หลักฐานเดียวคือกล้องวงจรปิดตรงนั้น แต่กรณีของชัยภูมิเจ้าหน้าที่กลับไม่ยอมเปิดเผยภาพในกล้อง

 

ความยุติธรรมในคดีวิสามัญฆาตกรรมนั้นยาก

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเดินทางมาร่วมงานรำลึก 5 ปีการจากไปของชัยภูมิ ป่าแส มีความเห็นต่อการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีของชัยภูมิ ป่าแส ว่า กรณีวิสามัญฆาตกรรมโดยปกตินั้นยากอยู่แล้ว ยิ่งกรณีนี้เป็นกรณีที่พิเศษขึ้นมาอีก คือเป็นกรณีของคนตายที่เป็นชาติพันธุ์ซึ่งก็เป็นปัญหาหนึ่งแล้ว และเกิดขึ้นหลังรัฐประหารในยุคของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) กรณีการวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิเกิดขึ้นในปี 2560 การวิสามัญฆาตกรรมในสภาวะปกติที่ไม่ใช่ยุค คสช. ยังเอาผิดยากเลย ยกตัวอย่างเช่นกรณีของโจ ด่านช้าง ที่เกิดขึ้นช่วงปี 2539 ขณะที่ประเทศยังเป็นประชาธิปไตยยังเอาผิดใครไม่ได้เลย เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องก็เจริญก้าวหน้ากันไปทุกคนและไม่มีใครถูกลงโทษ สุดท้ายเหมือนเขาก็เสนอเงินให้มีการเยียวยาไปกี่บาทไม่รู้ คดีก็จบ

ในสภาวะปกติเรายังลงโทษไม่ได้เลย และกรณีชัยภูมิ ป่าแส ยังเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โอกาสหรือความรับผิดเกิดยากมากขึ้น อย่างเช่นการที่ทหารออกมาให้สัมภาษณ์ว่าดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว แต่ต่อมาก็ออกมาบอกว่าไม่มีภาพ เห็นได้ชัดว่าเขาไม่กลัวเกรงต่อกระบวนการทางกฎหมายเลย อยากจะพูดอะไรก็พูดได้ บอกว่าเห็นภาพ แต่พอทางทนายความขอไปก็บอกว่าไม่มี

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ขณะวางดอกอ่อเวะบนหลุมศพชัยภูมิ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่อะเบ แซ่หมู่ ซึ่งถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เดียวกันก่อนหน้าชัยภูมิ ป่าแส ไม่นานสามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยจากเจ้าหน้าที่รัฐได้สำเร็จ ส่วนกรณีของชัยภูมิศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างยกคำฟ้องระบุให้กองทัพบกไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาให้ครอบครัว สมชายมีความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า กรณีของอะเบเกิดขึ้นก่อนชัยภูมิไม่นาน แต่กรณีของชัยภูมิดูเหมือนจะแพ้ไม่ได้มิเช่นนั้นทหารจะเสียภาพพจน์เยอะ ถ้าเทียบกับกรณีอะเบดูเหมือนจะเป็นกรณีที่มันเงียบกว่า ซึ่งในแง่หนึ่งพอมันเงียบกว่าก็เลยกลายเป็นเงื่อนไขให้ดีกว่า ซึ่งก็ต้องไปดูเอกสารหลักฐานประกอบด้วย

แต่ถึงอย่างนั้นกรณีอะเบที่ชนะก็คือเป็นกรณีเยียวยาค่าเสียหาย ยังไม่ใช่กรณีของการลงโทษผู้กระทำความผิด ถามว่ากรณีของอะเบดีกว่านี้หรือเปล่า ก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องของความรับผิดต่อการกระทำโดยตรง

 

ภาพบรรยากาศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net