สุรพศ ทวีศักดิ์: ว่าด้วย ‘ศาสนจักร’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บางคนว่า เราเรียกระบบการปกครองของคณะสงฆ์ไทย หรือ “มหาเถรสมาคม” ว่า “ศาสนจักร” ไม่ได้ เพราะยังไงก็ไม่เหมือน “ศาสนจักรโรมันคาธอลิก” ในยุคกลาง มุมมองเช่นนี้เข้าใจผิดๆ ว่า ศาสนจักรต้องเป็นแบบศาสนจักรโรมันคาธอลิกที่มีอำนาจมหาศาลในยุคกลางเท่านั้น ที่จริงแม้แต่ในศาสนาคริสต์เอง ความคิดเรื่องศาสนจักรก็มีความซับซ้อน 

คำว่า “ศาสนจักร” หรือ “Church” มีสองความหมาย ถ้าขึ้นต้นด้วย C ตัวใหญ่ เช่น “Christian Church” แปลว่า “คริสต์ศาสนจักร” หมายถึง “กลุ่มคนผู้ถือพระคริสต์” ถ้าขึ้นต้นด้วย c ตัวเล็ก เช่น “church” แปลว่า “โบสถ์” หมายถึง “สถานที่ชุมนุมของชาวคริสต์” เทียบเคียงกับพุทธศาสนา คริสต์ศาสนจักรก็คล้ายกับ “พุทธบริษัท” ที่หมายถึง กลุ่มคนผู้ศรัทธาในพระรัตนตรัย ส่วนโบสถ์ ก็เทียบกับอารามหรือวัด ในยุคพุทธศาสนาแบบอโศก อารามหรือวัดไม่ใช่เพียงเป็นสถานที่ปลีกวิเวกของพระ แต่เป็นสถานที่ชุมนุมของพุทธบริษัท และตัวแทนรัฐที่เรียกว่า “ธรรมมหาอำมาตย์” มาประกาศพระราชโองการต่างๆ เกี่ยวกับการอุปถัมภ์ศาสนา และการปกครองของอโศกมหาราชแก่ผู้คนที่มาร่วมทำกิจกรรมศาสนาด้วย ซึ่งปรากฏหลักฐานในจารึกอโศก

อย่างไรก็ตาม เมื่อคริสต์ศาสนจักรเรืองอำนาจสูงสุดแทนจักรวรรดิโรมัน ก็เกิด “Christendom” แปลว่า “คริสตจักร” หรืออาณาจักรแห่งพระคริสต์ที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลก ซึ่งอำนาจนั้นถูกผูกขาดโดยพวกนักบวช ก่อนเกิดเหตุการณ์ปฏิรูปคริสต์ศาสนา ในศตวรรษที่ 16 มีการถกเถียงนำทางมาก่อนว่า คริสต์ศาสนจักรควรหมายเฉพาะนักบวชเท่านั้น หรือควรหมายรวมถึงประชาคมผู้ถือพระคริสต์ทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือฆราวาส ไม่ว่าชายหรือหญิงที่ต่างก็เท่าเทียมกันเบื้องหน้าของพระเจ้า

หลังปฏิรูปศาสนา แนวคิดเรื่องศาสนจักรก็แยกชัดเจนว่า ศาสนจักรในความคิดของนิกายคาธอลิก หมายถึง พวกหนักบวชเป็นหลัก ในความคิดของนิกายโปรเตสแตนท์ ศาสนจักร หมายถึง ประชาคมของผู้ศรัทธาในคริสต์ศาสนาทั้งมวล ขณะที่คาธอลิกถือว่า รูปแบบชีวิตที่สูงส่งที่สุด (the highest form of Christian life) คือรูปแบบชีวิตของนักบวช แต่โปรเตสแตนท์ถือว่า บุคคลย่อมเสมอกันต่อหน้าพระเจ้า โดยไม่เลือกอาชีพ หรือวิถีชีวิตแบบนักบวชหรือฆราวาส บุคคลย่อมเสมอกันในการเข้าถึงพระเจ้าด้วยศรัทธาของตน 

ระบบปกครองคณะสงฆ์ไทย หรือมหาเถรฯ คล้ายกับคาธอลิกมากกว่าโปรเตสแตนท์ ในแง่ความเป็นสถาบันอำนาจแบบอนุรักษ์นิยม หรือในแง่ที่ถือว่า ศาสนจักรคือนักบวช และถือว่ารูปแบบชีวิตนักบวชสูงส่งกว่าฆราวาส นี่คือนวัตกรรมที่สร้างขึ้นสมัย ร.5 (ซึ่งมีรากฐานความคิดมาแต่ ร.4) นวัตกรรมศาสนจักรเช่นนี้ทำให้ความหมายของ “พุทธบริษัท” หายไป หรือหมดความสำคัญไป เช่น ทำให้ความคิดที่จะฟื้นฟูให้ครบพุทธบริษัท 4 ของคนแบบนรินทร์ กลึง (ภาษิต) กลายเป็นเสมือน “ความคิดนอกรีต” การจัดให้ลูกสาวสองคนของตนเองบวชสามเณรีและภิกษุณี กลายเป็นเสมือนการกระทำของคนบ้า คนอยากดัง และถูกปฏิเสธจากอำนาจสมเด็จพระสังฆราช และมหาเถรฯ

โครงสร้างอำนาจมหาเถรฯ ก็ไม่ต่างจากศาสนจักรคาธอลิกนัก กล่าวคือ เป็นศาสนจักรที่มีอำนาจทางกฎหมาย รับภาษีจากประชาชน รวบอำนาจไว้ส่วนกลาง นักบวชมีฐานันดรศักดิ์สูง-ต่ำ แบ่งสายการปกครองจากส่วนกลางลงไปสู่ส่วนภูมิภาค, จังหวัด, อำเภอ, ตำบล และหมู่บ้าน ต่างแต่ว่ามหาเถรฯ ขึ้นตรงต่ออำนาจของกษัตริย์อีกชั้นหนึ่ง กษัตริย์มีอำนาจแต่ตั้ง-ถอดถอนสมเด็จพระสังฆราช, สมณศักดิ์ฐานันดรชั้นต่างๆ ตำแหน่งปกครองระดับสูงภายในมหาเถรสมาคม เป็นต้น

ผมเรียกระบบการปกครองคณะสงฆ์ หรือมหาเถรฯ ว่า “ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยม” เพราะเป็นศาสนจักรที่สนับสนุนอุดมการณ์ "ชาตินิยม" (ตามนิยามของชนชั้นปกครอง) ซึ่งมี "ราชาเป็นศูนย์กลาง" ของความมั่นคงของชาติ และพระศาสนา

เช่นเดียวกับศาสนจักรโรมันคาธอลิกทำหน้าที่รักษาคำสอนที่ถูกต้องในไบเบิล คือคำสอนว่าด้วย “ความรักและการให้อภัย” แต่ประวัติศาสตร์การใช้อำนาจของศาสนจักรมักจะตรงกันข้ามกับคำสอนที่แท้จริงนั้น ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมก็มีหน้าที่รักษาคำสอนที่ถูกต้องในไตรปิฎก อันได้แก่คำสอนเรื่องการปล่อยวาง ความหลุดพ้น ปัญญา และกรุณา ทว่าในทางปฏิบัติอาจถามได้ว่าสอดคล้องกับคำสอนที่ถูกต้องนั้นหรือไม่ 

ในหนังสือ “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ” (น.312, 313, 314) ยูวัล โนอาห์ แฮรารีเขียนถึง “ความคิดพื้นฐาน” ของพุทธศาสนาว่า

“ ความทุกข์ไม่ได้เกิดมาจากโชคร้าย หรือจากความอยุติธรรมในสังคม หรือจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใด แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ความทุกข์ยากมีต้นเหตุมาจากรูปแบบความนึกคิดของแต่ละคนนั่นเอง...พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่อาจส่งฝนมาให้กับเราได้ สถาบันทางสังคมอาจให้ความยุติธรรมและดูแลสุขภาวะของเราได้ อีกทั้งโชคที่บังเอิญเกื้อหนุนก็อาจทำให้เรากลายเป็นเศรษฐีได้ แต่ไม่มีสิ่งใดเลยที่จะสามารถเปลี่ยนรูปแบบของจิตพื้นฐานของเราเองได้...คำสอนของพระพุทธองค์สรุปรวมลงได้เป็นกฎเพียงข้อเดียวคือ ‘ความทุกข์เกิดจากกิเลส’ และวิธีการเดียวที่จะขจัดกิเลสให้หมดไปก็ด้วยอาศัยการฝึกฝนจิตให้รับรู้ความจริงของโลกในแบบที่มันเป็น กฎแบบนี้รู้จักกันในชื่อว่า ‘ธรรมะ’ ซึ่งศาสนิกมองว่าเป็นกฎสากลตามธรรมชาติ ความจริงที่ว่า ‘ความทุกข์เกิดจากกิเลส’ เป็นจริงเสมอในทุกที่แบบเดียวกับ E = mc2 ”

เมื่อพิจารณาความคิดพื้นฐานแบบพุทธดังกล่าว จะเห็นว่าเป็นเพียงโลกทัศน์หรือชีวทัศน์แบบหนึ่ง หรือเป็น “ปรัชญาชีวิต” แบบหนึ่งที่มีเหตุผลในตัวมันเอง และดูจะเป็นปรัชญาชีวิตของปัจเจกบุคคลมากกว่า หมายถึง เป็นโลกทัศน์และแนวทางฝึกจิตของเราแต่ละคนเพื่อไม่ให้ทุกข์กับการมีปฏิสัมพันธ์กับโลก ซึ่งโลกทัศน์และแนวทางเช่นนี้แทบจะไม่มีความเป็นศาสนาในตัวมันเองเลย 

แต่ “ความเป็นศาสนา” คืออะไร? ก็คือการให้ความสำคัญกับความพ้นทุกข์ทางใจของบุคคลในฐานะเป็น “ธรรมะ” ที่สำคัญสูงสุด และให้ความสำคัญสูงสุดกับการปกป้องธรรมะที่ว่านี้โดยละเลยประเด็น “ความอยุติธรรมทางสังคม” ไปเลย เช่น ความเห็นของปราชญ์พุทธ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ยกกรณีองคุลิมาลที่ฆ่าคนนับพันพอบวชแล้วพ้นผิดอาญาเป็นเสมือน “โมเดล” ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาว่า

“ นี้ก็เป็นตัวอย่างแสดงถึงธรรมเนียมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระสงฆ์ คือในแง่ที่เป็นบุคคล ทางรัฐมีหน้าที่ในการอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ แม้แต่ผู้ที่เป็นคฤหัสถ์เคยกระทำการร้ายมา เมื่อบวชแล้วก็ได้รับการคุ้มครองรักษา ได้รับความเคารพนับถือ นี่เป็นด้านรัฐต่อฝ่ายศาสนา...การที่พระเจ้าปเสนทิโกศลยกย่องพระองคุลิมาล ทั้งๆ ที่โดยส่วนตัวพระองคุลิมาลก็บวชมาจากโจร การที่พระองค์ทรงกราบไหว้หรือทำนุบำรุงนั้น หมายความว่าพระองค์ทรงเคารพธรรม หรือเชิดชูธรรม คือธรรมที่พระองคุลิมาลนี้เมื่อได้เข้ามาบวชแล้วจะต้องเป็นผู้รักษา ประพฤติปฏิบัติ และธำรงสืบทอดไว้ ” (จากหนังสือ “อำลาพุทธราชาชาตินิยม” น. 56-57)

ผมลองยก “กรณีองคุลิมาล” มาตั้งคำถามในเฟซบุ๊กว่า ทำไมชาวพุทธจึงคิดว่า การบวชให้องคุลิมาลที่ฆ่าคนมาร่วมพันแล้วพ้นผิดทางอาญาเป็น “ความชอบธรรม” หรือ “ยุติธรรม” แล้วในความคิดของพุทธะ (พุทธะบวชให้องคุลิมาลก่อนที่ราชาจะรับรู้) และในความคิดของราชา (ราชารับรู้การบวชขององคุลิมาลเมื่อมาพบพุทธะและถูกแจ้งให้ทราบ) 

บางคนก็แย้งว่า ยุคนั้น “ราชาคือกฎหมาย” จะใช้แนวคิดความยุติธรรมยุคปัจจุบันไปตัดสินไม่ได้ ผมถามต่อว่า เป็นไปได้ไหมที่ราชาจะสั่งประหารนาย ก. ในความผิดฐานฆ่าคนเพียง 1 คน ก็ย่อมเป็นไปได้ แล้วถ้าราชาประหารชีวิตคนที่ฆ่าคนเพียง 1 คน แต่เว้นโทษคนที่ฆ่าคนเป็นพันเพราะเขาบวชกับพุทธะ แบบนี้คือ “ความยุติธรรม” อย่างไร? 

ข้อแก้ต่างของชาวพุทธ (บางคน) ที่เถียงประเด็นนี้ ก็กลับไปพูดตามคัมภีร์ คือเน้นเรื่อง “คุณค่าสูงสุดของธรรมะ” หรือการช่วยให้องคุลิมาลได้บรรลุธรรม ย่อมเกิดประโยชน์กว่าการถูกประหารในความผิดฐานฆ่าคน ซึ่งสาระสำคัญสอดคล้องกับคำอธิบายแบบท่าน ป.อ. ปยุตฺโตที่ผมยกมา แต่ท่าน ป.อ. เน้นว่า การเว้นโทษไม่เอาผิดโจรร้ายที่มาบวช ถือว่ารัฐได้ “ทำหน้าที่” เคารพธรรม และเชิดชูธรรมด้วย

อีกเรื่องที่คล้ายกันคือ กรณีเวสสันดรบริจาคลูกเมียเป็นทาส ซึ่งมีในไตรปิฎก และอรรถกถาจารย์อธิบายว่า การสละลูกเมียเป็นทาส คือการบำเพ็ญ “ทานอุปบารมี” เพื่อบรรลุโพธิญาณ นักวิชาการพุทธบ้านเราปัจจุบันสนับสนุนหลักการบำเพ็ญบารมีเช่นนั้นว่า เป็น “คุณธรรมของโพธิสัตว์” และว่าโพธิสัตว์คนไหนก็ตามในชาติสุดท้ายก่อนไปเกิดเป็นพุทธะ จะต้องผ่านการสละลูกเมียเป็นทาสแบบเดียวกับเวสสันดรเสมอ นี่คือการยืนยันว่า คุณธรรมแบบโพธิสัตว์ที่กระทำด้วยการสละลูกเมียเป็นทาสเป็น “อกาลิโก” หรือเป็น “กฎตายตัว” ที่จริงเสมอเหนือกาละและเทศะ ราวกับกฎ E = mc2 ที่แฮรารีเปรียบเปรย  

ไม่ว่ากรณี “เรื่องเล่า” (narrative) องคุลิมาลหรือเวสสันดร ทั้งในระดับเนื้อหาในคัมภีร์และข้อโต้แย้งต่างๆ (arguments) ของพระและชาวพุทธไทย ล้วนแต่ “เลือก” ที่จะเน้น “ความดีงามสูงส่ง” ของ “จิต” ของ “บุคคลพิเศษ” และ “คุณค่าสูงสุด” ของ “ธรรม” หรือ “นิพพาน” การเน้นเช่นนี้คือการเน้น “ความเป็นศาสนา” ของสิ่งที่จริงๆ แล้วเป็นเพียงโลกทัศน์หรือปรัชญาชีวิตแบบหนึ่งที่มีเหตุผลในตัวมันเอง แต่พอมาเน้นให้มีความเป็นศาสนาแบบเข้มข้น ย่อมทำให้ความมีเหตุผลในตัวมันเองของโลกทัศน์ หรือปรัชญาชีวิตเช่นนั้นด้อยความสำคัญลง หรือกลายเป็นเสมือนไร้เหตุผลไป

เพราะเน้นการให้คุณค่าสูงสุดกับ “ความดีงาม” ของ “จิต” ของ “บุคคลพิเศษ” เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด เช่น จิตของโจรองคุลิมาลที่กลับใจและมีคุณสมบัติพร้อมจะบรรลุธรรม จนกระทั่งไม่พูดถึง หรือละเลยการนำประเด็น “ความอยุติธรรมทางสังคม” มาพิจารณา แถมยังอ้างอิงกรณีบวชให้องคุลีมาลเป็น “โมเดล” ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาว่า แม้ผู้ที่เป็นโจรร้ายมาก่อน หากมาบวชประพฤติธรรมแล้ว รัฐที่ถือหลักธรรมาธิปไตยในการปกครอง ย่อมเคารพและอุปถัมภ์โจรที่มาบวชนั้น เพื่อแสดงความเคารพธรรม และเชิดชูธรรม จึงทำให้ลืมเฉลียวใจว่า แล้วโจรร้ายที่ฆ่าคนเป็นพันและสารภาพพร้อมแสดงเจตจำนงกลับใจเป็นคนดีแต่ไม่ได้บวชล่ะ รัฐจะเว้นโทษและอุปถัมภ์บำรุงเหมือนโจรร้ายที่มาบวชไหม การเว้นโทษเฉพาะคนที่มาบวช แถมอุปถัมภ์บำรุงอย่างดี เท่ากับถือว่านักบวชเป็น “อภิสิทธิชน” ในรัฐที่ปกครองโดยธรรมหรือไม่

การแก้ต่างให้เวสสันดรก็เช่นกัน เป็นการแก้ต่างแบบเลือกที่จะเน้น ความดีงามของจิตใจ, คุณธรรมของบุคคลพิเศษ คือโพธิสัตว์ และเป้าหมายการบรรลุโพธิญาณเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด จนละเลยคำถามเรื่องความอยุติธรรมทางสังคม เช่น คำถามว่าเป็นธรรมกับลูกเมียไหมที่ใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือบำเพ็ญทานอุปบารมี และการที่โพธิสัตว์ยังทำตามประเพณีของ “สังคมปิตาธิปไตย-ชายเป็นใหญ่” ที่ถือว่าภรรยาและลูกเป็นสมบัติของสามีและพ่อที่จะซื้อขายหรือบริจาคพวกเขาให้ใครก็ได้ เป็นการแสดงว่าโพธิสัตว์มีคุณธรรมที่สูงส่งกว่าระดับของศีลธรรมแบบสังคมปิตาธิปไตยอย่างไรหรือ และถ้าหากคุณธรรมของโพธิสัตว์มีนัยสำคัญในทางสนับสนุนการคงอยู่ของวัฒนธรรมสังคมปิตาธิปไตยและระบบทาส เราควรยกย่องคุณธรรมของโพธิสัตว์หรือไม่  

ทั้งสองกรณีตัวอย่าง คือการตอกย้ำการวิเคราะห์ของแฮรารีที่ว่า “ความอยุติธรรมในสังคมไม่ใช่สาเหตุของทุกข์” ตามความคิดพื้นฐานของพุทธศาสนา เพราะไม่ว่ากรณีองคุลิมาลหรือเวสสัดร เราพบหลักฐานชัดเจนว่า ทั้งในระดับคัมภีร์และการแก้ต่างจากปราชญ์พุทธ และชาวพุทธทั่วไป ล้วนแต่ “เลือกเน้น” ความดีงามของจิตใจของบุคคลพิเศษ เช่น จิตเมตตาของพุทธะที่มีต่อองคุลิมาล จิตสำนึกผิดและมีคุณสมบัติพร้อมบรรลุธรรมขององคุลิมาล จิตเสียสละของโพธิสัตว์เวสสันดร ซึ่งล้วนแต่มีสภาวะที่ “สูงส่ง” เหนือจิตสามัญปุถุชนทั่วไป และจิตที่สูงส่งนั้นย่อมยึดโยงกับความเชื่อว่า “ธรรมะ” หรือการบรรลุนิพพานเป็นสิ่งมีค่าสูงสุด ดังนั้น ความอยุติธรรมแก่คนเป็นพันที่ถูกฆ่า ความอยุติธรรมต่อลูกเมียที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือ หรือปัญหาของการบริจาคลูกเมียเป็นทาส ซึ่งเป็นการกระทำที่มีนัยสำคัญสนับสนุนการคงอยู่ของวัฒนธรรมปิตาธิปไตย และระบบทาส ย่อมไม่ถูกนำมาพูดถึงเลย เพราะความอยุติธรรมทางสังคมเหล่านั้นไม่ใช่สาเหตุแห่งทุกข์ทางจิตใจของบุคคล นี่คือ “ความเป็นศาสนาแบบ dogmatism” ที่มีอยู่ในระดับคัมภีร์ และในวัฒนธรรมการปกป้องความเชื่อตามคัมภีร์ของชาวพุทธบ้านเรา

ความเป็นศาสนาแบบ dogmatism ซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อมันไม่ใช่เป็นเพียงความเชื่อของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่มันกลายเป็น “ความคิดพื้นฐาน” รองรับระบบ “ศาสนาจักรพุทธราชาชาตินิยม” ซึ่งมีนัยสำคัญตามที่ท่าน ป.อ. อธิบายว่า “การที่พระเจ้าปเสนทิโกศลยกย่องพระองคุลิมาล ทั้งๆ ที่โดยส่วนตัวพระองคุลิมาลก็บวชมาจากโจร การที่พระองค์ทรงกราบไหว้หรือทำนุบำรุงนั้น หมายความว่า พระองค์ทรงเคารพธรรม หรือเชิดชูธรรม” ความคิดพื้นฐานเช่นนี้เองที่ทำให้ศาสนจักรไม่ได้สนใจประเด็น “ความอยุติธรรมทางสังคม” ภายในรัฐหรือที่กระทำโดยรัฐ ดังนั้น ไม่ว่ารัฐจะเป็นเผด็จการ อยุติธรรม หรือกดขี่อย่างไร ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ศาสนจักรควรสนใจ เพราะไม่เกี่ยวอะไรกับการเคารพธรรม เชิดชูธรรม รัฐแบบใดๆ จะยังเป็นรัฐที่ดีเสมอ หากเป็นรัฐที่อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ หรือส่งเสริมพุทธศาสนา

กล่าวโดยภาพรวม ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา ศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมไม่สนใจว่ารัฐจะอยุติธรรม หรือเป็นเผด็จการหรือไม่ สนใจแค่ว่ารัฐอุปถัมภ์พุทธศาสนาดีหรือไม่ เคารพธรรม เชิดชูธรรมหรือไม่ ความคิดพื้นฐานเช่นนี้แปรมาเป็นการปฏิบัติผ่านการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์และชาวพุทธบางกลุ่มที่พยายามสร้างคอนเน็กชันกับฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร เพื่อผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการอุปถัมภ์ศาสนา และผลประโยชน์อื่นๆ ทางศาสนาของพวกตน 

ถึงที่สุดแล้ว ศาสนจักรที่มีความคิดพื้นฐานเช่นนี้ ดูเหมือนจะยินดีกับการสวามิภักดิ์รับใช้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม มากกว่าที่จะมีความคิดในเชิงปรับตัวไปในทิศทางที่สอดคล้องกับประชาธิปไตย และสังคมโลกวิสัย

 

ที่มาภาพ: ไทยรัฐ คณะกรรมการมหาเถรสมาคม งดจัด “มาฆบูชา”https://static.thairath.co.th/content/2034859

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท