Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ: ADB

18 มี.ค. 2565 การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ส่งผลให้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 4.7 ล้านคน ประสบปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงในปี 2564 เนื่องจากตำแหน่งงานหายไปจากตลาดแรงงานถึงประมาณ 9.3 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาด ตามรายงานจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ฉบับใหม่ที่นำเสนอที่การประชุมเพื่อการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEADS)

คลื่นการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หดหายไป ร้อยละ 0.8 ในปี 2565 ขณะที่ปริมาณผลผลิตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับประเมินขั้นพื้นฐานในกรณีที่ไม่มีการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ถึงร้อยละ 10 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ แรงงานไร้ฝีมือ ผู้ที่ทำงานในธุรกิจค้าปลีก และผู้ที่ทำงานภายใต้เศรษฐกิจนอกระบบ ตลอดจนธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่เชื่อมโยงกับดิจิทัล

มาซาสุกุ อาซาคาวา ประธาน ADB ระบุว่าการระบาดใหญ่ของ COVID-19 นำไปสู่การว่างงานในวงกว้าง ความเหลื่อมล้ำและความยากจนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้หญิง คนทำงานวัยหนุ่มสาวและผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"ADB จะยังคงทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายต่อไป ในขณะที่พวกเขาพยายามรื้อฟื้นและปรับปรุงระบบสุขภาพของประเทศ ปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เราสนับสนุนให้รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างชาญฉลาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรับเอานวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง" อาซาคาวา กล่าว

2 ปีหลังจากการระบาดใหญ่ รายงานของ ADB ชี้ว่าแนวโน้มการเติบโตนั้นสดใสขึ้นสำหรับประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างกว้างขวาง มีการส่งออกที่ไม่สะดุด หรือมีทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาค พบว่าการขยายตัวของกิจกรรมการค้าปลีกและสันทนาการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 161 (ณ 16 ก.พ.2565) อย่างไรก็ตามภูมิภาคนี้ยังคงเผชิญกับการระบาดในระลอกใหม่ๆ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัดส่วนประชากรเพียง ร้อยละ 59 เท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 อย่างครบถ้วน (ณ 21 ก.พ.2565) รายงานของ ADB ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ระบบสุขภาพสามารถดูแล ปรับปรุงการเฝ้าระวังโรค และตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ในอนาคต การลงทุนด้านสุขภาพสามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้โดยการเพิ่มการมีส่วนร่วมและผลิตภาพของแรงงาน ตัวอย่างเช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 หากมีการใช้จ่ายด้านสุขภาพในภูมิภาคนี้สูงถึง ร้อยละ 5.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เทียบกับ ร้อยละ 3.0 ในปี 2564

รายงานของ ADB ยังแนะนำอีกว่าประเทศต่างๆ ต้องดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพ ซึ่งอาจรวมถึงการลดความซับซ้อนของกระบวนการทางธุรกิจ การลดการกีดกันทางการค้า และการสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดเล็กนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ นอกจากนี้ยังอาจรวมถึงการฝึกอบรมทักษะให้คนทำงาน รัฐบาลควรรักษาวินัยการคลังเพื่อลดการขาดดุลและหนี้สาธารณะ และปรับปรุงการบริหารภาษีให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายฐานภาษี


ที่มา
COVID-19 Pushed 4.7 Million More People in Southeast Asia Into Extreme Poverty in 2021, But Countries are Well Positioned to Bounce Back — ADB (ADB, 16 March 2022)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net