'เพื่อไทย' แนะวิธีจัดการปุ๋ยแพง บอกรัฐบาลอย่าคิดแต่จ่ายชดเชย

'เพื่อไทย' แนะวิธีจัดการปุ๋ยแพง บอกรัฐบาลอย่าคิดแต่จ่ายชดเชย ตรวจสอบราคาและคุณภาพควบคู่ด้วย ลั่น ถ้าทำไม่ได้ก็ยุบสภา พท.พร้อมนำเสนอนโยบายช่วยเกษตรกรแล้ว - ชี้รัฐเทเงินภาษีประชาชนสร้างสนามบินเบตงไปเกือบ 2,000 ล้าน สุดท้ายเหลวไม่เป็นท่า เหตุไม่ฟังข้อเสนอเอกชน


อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย

เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 ว่านางสาวอรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีราคาปุ๋ยเคมีแพงอย่างต่อเนื่อง ว่ากรณีนี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับเกษตรกรไทยเป็นจำนวนมาก เกษตรกรในระบบ 9.2 ล้านราย มีรายรับที่ไม่สอดรับกับค่าครองชีพที่ขยับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 สะท้อนได้จากหนี้สินเกษตรกรในปี 2564 เฉลี่ยรายละ 262,317 บาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 16.54 และยิ่งเลวร้ายหนักเมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน เพราะประเทศไทยมีการนำเข้าอาหารสัตว์และปุ๋ยเคมีจากจีนและรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของการนำเข้าทั้งหมด ขณะที่ทุกวันนี้เกษตรกรไทยมีต้นทุนปุ๋ยเคมีคิดเป็นร้อยละ 20 ของต้นทุนการผลิต ดังนั้นการที่ราคาปุ๋ยและอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นด้วย แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แก้ปัญหาด้วยการจัดสรรวงเงินชดเชยราคาปุ๋ยซึ่งมาตรการได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อเดือน ธ.ค.ปี 64 อันเป็นการบรรเทาปัญหาเท่านั้น แต่ไม่เคยตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดให้กับพี่น้องเกษตรกร

นางสาวอรุณี กล่าวต่อว่า จากข้อร้องเรียนที่พรรคเพื่อไทยได้รับจากพี่น้องเกษตรกรที่ผ่านมาพบว่า เมื่อรัฐบาลประกาศควบคุมราคาปุ๋ย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือถ้ารัฐไม่ชดเชยราคากลุ่มธุรกิจปุ๋ยจะรวมตัวกันขอขยับราคา เพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมปุ๋ยในประเทศไทยเป็นลักษณะแข่งขันกึ่งผูกขาด มีผู้ประกอบการรายใหญ่ 13 ราย มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 70% ของปุ๋ยในประเทศ จึงมีอำนาจในการกำหนดราคา เมื่อนับรวมยี่ปั๊ว ซาปั๊ว อีกหลายทอด ราคาปุ๋ยจึงถูกบวกเพิ่มขึ้น ราคาขายปลีกจึงแพงกว่าราคาหน้าโรงงาน คนที่รับกรรม คือเกษตรกร เพราะเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้ปุ๋ยในการเพิ่มผลผลิต แม้ปุ๋ยจะแพงก็ต้องซื้อ เพราะหากลดการใส่ปุ๋ยผลผลิตก็ลดลง ส่งผลให้รายได้ต่ำลงด้วย ทุกวันนี้ รัฐบาลแก้ปัญหาแบบรูปหน้าปะจมูก การควบคุมราคาปุ๋ยและการจ่ายเงินชดเชย เหล่านี้เป็นเพียงมาตรการบรรเทาระยะสั้นที่ต้องเร่งดำเนินการ ตนอยากเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

1. เข้าไปตรวจสอบราคาขายปลีกอย่างจริงจัง ตรวจเช็คราคาหน้าโรงงาน ค่าการขนส่ง มีช่องว่างที่จะทำให้เกิดการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ ก่อนปุ๋ยถึงมือเกษตรกร

2. ตรวจสอบคุณภาพของปุ๋ยอย่างอย่างเข้มงวด ควบคู่กับมาตรการควบคุมราคา เพราะเมื่อต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าราคาสูง การคงอัตรากำไรของเอกชน คือการลดต้นทุนใช่หรือไม่ ถ้าเพิ่มราคาไม่ได้และรัฐบาลยังไม่จ่ายชดเชย การลดคุณภาพสินค้า คือวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เอกชนบางรายเลือกใช้เพื่อให้ได้กำไร รัฐบาลจึงไม่ควรมองข้ามการตรวจสอบคุณภาพปุ๋ย

3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจเช็คสต็อกสินค้า เช็คการนำเข้าวัตถุดิบ ป้องกันมาตรการการกักตุนและสินค้าขาดตลาด

“7 ปีที่สิ้นหวัง สิ่งที่พี่น้องเกษตรกรอยากเห็น คืออนาคตที่ดีกว่า ถ้ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ทำไม่ได้แนะนำให้ยุบสภาก่อนเปิดอภิปรายในเดือน พ.ค.นี้ เพราะพรรคเพื่อไทยพร้อมนำเสนอนโยบายดีๆเพื่อเป็นความหวังให้พี่น้องเกษตรกรไทย” นางสาวอรุณีกล่าว

ชี้รัฐเทเงินภาษีประชาชนสร้างสนามบินเบตงไปเกือบ 2,000 ล้าน สุดท้ายเหลวไม่เป็นท่า เหตุไม่ฟังข้อเสนอเอกชน

19 มี.ค. 2565 เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานว่านายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังสายการบินนกแอร์ประกาศระงับเที่ยวบิน ดอนเมือง-เบตง ทันทีภายหลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้บินไฟลท์ปฐมฤกษ์ไปเปิดใช้สนามบินอย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่าเป็นเที่ยวบินที่ส่อขาดทุน ไม่คุ้มการดำเนินงาน และยืนยันที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐตามที่เคยร้องขอ เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้ได้แสดงผลงานการเป็นรัฐบาลหัวแข็ง ไม่รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของภาคเอกชน การลงทุนสร้างสนามบินเบตง 1,900 ล้านบาทที่อนุมัติโครงการในยุครัฐบาล คสช. รวมไปถึงการตัดสินใจจัดงานเพื่อเริ่มเปิดใช้สนามบินในช่วงที่ผ่านมา หลายฝ่ายได้ทักท้วงหลายครั้งแต่รัฐบาลไม่เคยฟัง ทำหูทวนลม หรือจริงๆแล้วรัฐบาลคาดหวังเพียงได้ใช้เงินงบประมาณไปกับการลงทุนเพื่อสร้างภาพ และรักษาหน้าตาของตัวรัฐบาลเองกันแน่ เหตุผลเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้อำเภอเบตงที่ใช้มาชี้แจง ก็ไร้ซึ่งการวางแผนแม่บทส่งเสริมการท่องเที่ยว การลงทุน หรือการเตรียมการร่วมกับภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

นายชนินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสายการบินนกแอร์เคยยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ผ่านกรมท่าอากาศยาน ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2563 โดยมีข้อเรียกร้องเพื่อบรรเทาต้นทุน 7ข้อ แลกเปลี่ยนกับการยอมเปิดเส้นทางบินตามความต้องการของรัฐบาล ประกอบด้วย การสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าการตลาด ค่าธรรมเนียมการบิน ค่าบริการภาคพื้นสนามบิน ค่าบริการเติมน้ำมัน เป็นต้น และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการประกันจำนวนผู้โดยสารจากรัฐ (Hard Block) จำนวน 60-75% ของจำนวนความจุผู้โดยสาร ข้อเสนอเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการเปิดการบินลงสนามบินเบตงเป็นการทำธุรกิจที่ขาดทุนมาตั้งแต่ต้น รัฐบาลควรนพสิ่งเหล่านี้มาพิจารณาให้ถี่ถ้วน ไม่ใช่สักว่าจะเปิดสนามบินแล้วปล่อยทิ้งตามยถากรรม เพราะเมื่อสนามบินเปิดใช้แล้ว ย่อมมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้รัฐเร่งหารือกับเอกชน ทั้งภาคธุรกิจท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมให้ชัดเจน การใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสายการบินเป็นแนวทางที่ทำได้ แต่ต้องสามารถอธิบายมูลค่าการเติบโตของเศรษฐกิจและการลงทุนที่จะคืนกลับมาภายใต้โครงการเดียวกันได้ด้วย

“พลเอกประยุทธ์ต้องเลิกบริหารประเทศตามยถากรรม หรือตอบประชาชนว่า ถ้าเปิดประเทศได้แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเอง หยุดมโนว่าเปิดแล้วจะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งที่ไม่มีการคาดการณ์ตัวเลขความคุ้มทุนหรือกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ เลย การลงทุนที่ไม่มีแผนแม่บทรองรับ หรือขาดการประสานความร่วมมือของภาคส่วนอื่นๆ ย่อมไม่มีทางสัมฤทธิ์ผลตามที่หวังไว้ อย่าให้ประชาชนต้องตำหนิเลยว่า สนามบินเบตง 1,900 ล้านสร้างขึ้นมาเพื่อให้พลเอกประยุทธ์ทำพิธีเปิดสนามบิน บินได้ไฟลท์เดียวแล้วปิดสนามเลย เห็นแก่เงินภาษีประชาชนบ้าง” นายชนินทร์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท