เหตุผลที่คนอเมริกันลาออกจากงานเมื่อปี 2564 'ค่าจ้างต่ำ-ไม่ก้าวหน้า-ไม่ได้รับความเคารพ'

ผลสำรวจของ Pew ต่อปรากฎการณ์ 'การลาออกครั้งใหญ่' (Great Resignation) เมื่อปี 2564 ในสหรัฐฯ พบว่าผู้ที่ลาออกจากงานส่วนใหญ่ระบุว่า 'ค่าจ้างที่ต่ำ-การขาดโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพ-ความรู้สึกไม่ได้ความเคารพในที่ทำงาน' เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาลาออก


ที่มาภาพประกอบ: geralt (Pixabay License)

  • การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้สร้างความปั่นป่วนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในตลาดแรงงานสหรัฐอเมริกา อัตราการลาออกจากงานแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเดือน พ.ย. 2564
  • คนทำงานส่วนใหญ่ที่ลาออกจากงานในปี 2564 ระบุว่า "ค่าจ้างต่ำ, ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ และรู้สึกไม่ได้ความเคารพในที่ทำงาน" เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาลาออก 
  • นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นๆ ในลำดับรองลงมาเช่น การดูแลเด็ก, ขาดความยืดหยุ่นในการเลือกเวลาทำงาน, ไม่ได้รับสวัสดิการที่ดี, ชั่วโมงการทำงานยาวนานเกินไป และถูกนายจ้างบังคับให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นต้น
  • ผู้มีอายุน้อยกว่า 30 ปี, ระดับการศึกษาไม่สูงนัก และมีเชื้อชาติชาติฮิสแปนิกและเอเชีย มีแนวโน้มลาออกจากงานมากที่สุดเมื่อปี 2564

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ได้สร้างความปั่นป่วนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในตลาดแรงงานสหรัฐอเมริกา แม้การสูญเสียตำแหน่งงานอย่างกว้างขวางในช่วงเดือนแรกๆ ของการระบาดใหญ่ ได้ทำให้เกิดภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวในปี 2564 และแรงหนุนที่สำคัญที่ทำให้เกิดการปั่นป่วนก็คือปรากฎการณ์ที่เรียกว่า 'การลาออกครั้งใหญ่' (Great Resignation) โดยอัตราการลาออกจากงานของคนอเมริกันแตะระดับสูงสุดในรอบ 20 ปี เมื่อเดือน พ.ย. 2564

Pew Research Center สำรวจความเห็นชาวอเมริกัน 9,388 คน ระหว่างวันที่ 7-13 ก.พ. 2565 พบว่าค่าจ้างที่ต่ำ การขาดโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ และความรู้สึกที่ว่าไม่ได้ความเคารพในที่ทำงาน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คนอเมริกันลาออกจากงานเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

คนทำงานส่วนใหญ่ที่ลาออกจากงานในปี 2564 ระบุว่าค่าจ้างต่ำ (ร้อยละ 63), ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ (ร้อยละ 63), และรู้สึกไม่ได้ความเคารพในที่ทำงาน (ร้อยละ 57) เป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาลาออก 

นอกจากนี้ปัญหาการดูแลเด็กก็เป็นเหตุผลที่พวกเขาลาออกจากงาน (ร้อยละ 48 ในกลุ่มที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในครอบครัว), ขาดความยืดหยุ่นในการเลือกเวลาทำงาน (ร้อยละ 45), ไม่ได้รับสวัสดิการที่ดี เช่น ประกันสุขภาพและการลาหยุดที่ยังได้รับค่าจ้าง (ร้อยละ 43), ชั่วโมงการทำงานยาวนานเกินไป (ร้อยละ 39), ต้องการย้ายไปอยู่ที่อื่น (ร้อยละ 35) และลาออกเพราะนายจ้างบังคับให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (ร้อยละ 18)

เมื่อถามว่าเหตุผลในการลาออกจากงานเกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 หรือไม่ ร้อยละ 31 ตอบว่าใช่, โดยผู้จบการศึกษาระดับต่ำกว่าวิทยาลัย (ร้อยละ 34) มีแนวโน้มออกจากงานเพราะการระบาดของโควิด-19 มากกว่าผู้จบการศึกษาระดับวิทยาลัยขึ้นไป (ร้อยละ 21) 

นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างตามเชื้อชาติและชาติพันธุ์ พบว่าผู้ที่ไม่ใช่คนผิวขาวลาออกจากงานมากกว่าคนผิวขาว โดยให้เหตุผลว่าไม่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ (ร้อยละ 52 เทียบกับคนผิวขาวที่ให้เห็นผลนี้ ร้อยละ 38) ต้องการย้ายไปอยู่ที่อื่น (ร้อยละ 41 เทียบกับคนผิวขาวที่ให้เห็นผลนี้ ร้อยละ 30), ชั่วโมงการทำงานยาวนานเกินไป (ร้อยละ 37 เทียบกับคนผิวขาวที่ให้เห็นผลนี้ ร้อยละ 24), นายจ้างบังคับให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (27 เทียบกับคนผิวขาวที่ให้เห็นผลนี้ ร้อยละ 10)

เปลี่ยนงานเพราะอยากได้รับสิ่งที่ดีกว่า


คนหนุ่มสาวอายุน้อยกว่า 30 ปี มีแนวโน้มมากออกจากงานโดยสมัครใจในปี 2564 มากที่สุด ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปลาออกน้อยที่สุด | ที่มาภาพประกอบ: Joseph C. Topping (CC BY-NC-ND 2.0)

ผู้ที่ลาออกจากงานในปี 2564 และไม่ได้เกษียณอายุส่วนใหญ่ระบุว่าขณะนี้มีงานทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานเต็มเวลา (ร้อยละ 55), งานพาร์ทไทม์ (ร้อยละ 23), ในจำนวนนี้ ร้อยละ 61 ระบุว่าค่อนข้างหางานง่าย, ร้อยละ 33 ระบุว่าง่ายมาก, แต่ร้อยละ 19 ระบุว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

ส่วนใหญ่คนงานที่ลาออกจากงานในปี 2564 และตอนนี้ได้งานทำในที่ใหม่ มองว่าสถานการณ์การทำงานในปัจจุบันของพวกเขาดีขึ้นกว่างานเดิม, ระบุว่าได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น (ร้อยละ 56), มีโอกาสก้าวหน้ามากขึ้น (ร้อยละ 53), มีเวลาที่สมดุลระหว่างงานและความรับผิดชอบในครอบครัวมากขึ้นขึ้น (ร้อยละ 53), และมีความยืดหยุ่นในการเลือกเวลาทำงานมากขึ้น (ร้อยละ 50)

ถึงกระนั้นก็มีผู้ระบุว่าสถานการณ์ของพวกเขาไม่เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนักเมื่อเทียบกับงานก่อนหน้านี้ (ร้อยละ 42), ตอนนี้พวกเขามีสวัสดิการใกล้เคียงกับงานก่อนหน้านี้ (ร้อยละ 36), สวัสดิการต่างๆ แย่กว่าเดิม (ร้อยละ 22) 

ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับวิทยาลัยขึ้นไปมีแนวโน้มมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าผู้มีระดับการศึกษาน้อยกว่า (ร้อยละ 66 เทียบกับ ร้อยละ 51) และมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพมากกว่า (ร้อยละ 63 เทียบกับ ร้อยละ 49) ผู้ชายระบุว่างานใหม่ของพวกเขาสร้างสมดุลระหว่างงานและครอบครัวมากขึ้น ร้อยละ 60, แต่ผู้หญิงระบุว่า งานใหม่ของพวกเธอสร้างสมดุลระหว่างงานและครอบครัวมากขึ้น เพียงร้อยละ 48

นอกจากนี้ร้อยละ 53 ของผู้ที่ลาออกจากงานในปี 2564 ระบุว่าได้เปลี่ยนสายงานหรืออาชีพเมื่อช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำงานที่อายุน้อยกว่า 30 ปีและมีการศึกษาระดับปริญญาตรีลงมา

คนหนุ่มสาวและผู้ที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มที่จะออกจากงานเมื่อปี 2564


คนฮิสแปนิกและเอเชียลาออกจากงานเมื่อปี 2564 มากที่สุด | ที่มาภาพ: Informed Images (CC BY-NC 2.0)

โดยรวมแล้วประมาณ ร้อยละ 19 ของชาวอเมริกันที่ไม่ได้เกษียณอายุ ระบุว่าพวกเขาลาออกจากงานช่วงใดช่วงหนึ่งเมื่อปี 2564 ซึ่งหมายความว่าพวกเขาเลือกที่จะลาออกจากงานเอง ไม่ใช่เพราะถูกเลิกจ้าง หรือเพราะงานชั่วคราวสิ้นสุดลง

ผู้มีอายุน้อยกว่า 30 ปี มีแนวโน้มมากออกจากงานโดยสมัครใจในปี 2564 มากที่สุด (ร้อยละ 37), ผู้ที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 49 ปี (ร้อยละ 17), ผู้ที่มีอายุ 50 ถึง 64 ปี (ร้อยละ 9), ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 5)

ประสบการณ์ยังแตกต่างกันไปตามรายได้ การศึกษา และเชื้อชาติ โดยผู้ที่ที่มีรายได้น้อยระบุว่าพวกเขาลาออกจากงานในปี 2564 (ร้อยละ 24) ผู้มีรายได้ปานกลาง (ร้อยละ 18), และผู้ที่มีรายได้สูง (ร้อยละ 11)

ในด้านการศึกษา พบว่าผู้ที่จบปริญญาโทมีแนวโน้มลาออกจากงานในช่วงปี 2564 น้อยที่สุด (ร้อยละ 13), ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 17), ผู้จบการศึกษาระดับวิทยาลัย (ร้อยละ 20) และผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือน้อยกว่า (ร้อยละ 22)

ผู้มีเชื้อชาติฮิสแปนิกและเอเชียลาออกจากงานเมื่อปี 2564 มากที่สุด (ร้อยละ 24), คนผิวดำ (ร้อยละ 18), และคนผิวขาว (ร้อยละ 17)

ที่มา
Majority of workers who quit a job in 2021 cite low pay, no opportunities for advancement, feeling disrespected (KIM PARKER AND JULIANA MENASCE HOROWITZ, PEW, 9 MARCH 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท