Skip to main content
sharethis

เพื่อไทยจัดเสวนา 'จากวัยรุ่นเดือนตุลาฯ สู่วัยรุ่นยุคจันทร์โอชา' ชี้ความท้าทายของความเป็นหญิงบนเส้นทางการเมือง ร่วมเสวนาแบ่งปันประสบการณ์ โดยทราย เจริญปุระ, นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สื่อมวลชน, ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และมีมี่ เยาวชนนักกิจกรรมจากกลุ่ม Feminist FooFoo

22 มี.ค. 2565 ทพรรคเพื่อไทยจัดงานเสวนา หัวข้อ ‘จากวัยรุ่นเดือนตุลาฯ ถึงวัยรุ่นยุคประยุทธ์ จันทร์โอชา บทบาทผู้หญิงในฐานะนักต่อสู้’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ‘นิทรรศกี: เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ โดยผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สมาชิกพรรคเพื่อไทยและสื่อมวลชนอาวุโส ในฐานะวัยรุ่นเดือนตุลาฯ, อินทิรา เจริญปุระ หรือทราย นักแสดง และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน, ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และมีมี่ เยาวชนนักกิจกรรมจากกลุ่ม Feminist FooFoo ดำเนินการสนทนาโดยชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย

การคุกคามในยุค คสช.

ทัศนีย์เผยประสบการณ์การถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐภายหลังการรัฐประหารของ คสช. เมื่อปี 2557 พร้อมกล่าวในปี 2559 รัฐธรรมนูญมีความพิกลพิการ ลิดรอนสิทธิประชาชน โดยเฉพาะการกำหนดให้มี 250 ส.ว. จากการตั้งคำถามพ่วงในประชามติทำให้ประชาชนเสียรู้ ตนในฐานะ ส.ส. เขต 1 จ.เชียงใหม่ จึงใช้วิธีเขียนจดหมาย เนื้อหาระบุให้เห็นผลที่จะตามมาหลังรับร่างประชามติ ขอให้ประชาชนคิดให้ดีก่อนจะรับร่าง โดยไม่เปิดเผยชื่อตนเป็นผู้เขียน เนื่องจากเกรงว่าประชาชนจะมองเป็นการโน้มน้าว จากนั้นใช้ระบบไหว้วานคนนำจดหมายไปแจกในที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม มีสื่อมวลชนนำไปรายงานว่าเป็น ‘จดหมายบิดเบือนรัฐธรรมนูญ’ โดยที่ไม่ได้เผยเนื้อหาแท้จริงในจดหมาย พร้อมตีข่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็นโทษร้ายแรง และต่อมามีกำลังทหาร-ตำรวจ เข้ามาปิดล้อมบ้านของทัศนีย์ ที่ จ.เชียงใหม่ ในยามวิกาล เพื่อควบคุมตัวน้องสาวของทัศนีย์ ตามที่สื่อได้เปิดเผยชื่อไปก่อนหน้านี้

ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์
 

ทัศนีย์ ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในกรุงเทพฯ จึงเร่งเดินทางไปมอบตัวที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ก่อนจะถูกควบคุมตัวมาขึ้นศาลทหารที่ จ.เชียงใหม่ โดยระบุว่าเธอถูกคุมขังอยู่เป็นเวลา 9 วัน มีการข่มขู่ให้ตอบคำถามว่าใครเป็นผู้เขียนจดหมาย โดยตนยืนยันไปแล้วว่าเป็นผู้เขียนเอง แต่ก็ยังตั้งคำถามเดิมซ้ำ ทั้งยังมีการจับกุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น คนขับรถ คนซื้อซองจดหมาย แม้แต่ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องก็ยังถูกจับในฐานะสมรู้ร่วมคิดด้วยความเข้าใจผิด

จากนั้น ทัศนีย์ถูกฟ้องร้องด้วยความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 116 และถูกคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 23 วัน เช่นเดียวกับบุญเลิศ บูรณูปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ผู้มีศักดิ์เป็นอา ทัศนีย์กล่าวว่าประสบการณ์ครั้งนั้นส่งผลเสียต่อความรู้สึก โดยเฉพาะความรู้สึกของญาติที่มาเยี่ยม ซึ่งประสบความลำบากทั้งการเดินทาง และความเจ็บปวดในด้านอารมณ์ ไม่ใช่แค่เสรีภาพที่เสียไป แต่ยังรวมไปถึงจิดใจด้วย

อุดมการณ์ชนะความกลัว

นิธินันท์ กล่าวถึงประสบการณ์ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จนถึง 6 ตุลา 2519 ว่ามีไม่ได้แตกต่างไปจากยุคปัจจุบันนัก มีการเข้าชื่อรณรงค์ รวมกลุ่มประท้วง รวมไปถึงมีเยาวชนถึงถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นิสิตนักศึกษาได้เข้ามามีบทบาทในสังคมอย่างมากจนเกินสมดุล จนถึงขั้นที่นักศึกษารับแจ้งความแทนตำรวจได้ อย่างไรก็ตาม นิธินันท์มองว่าจริงอยู่ที่พลังของนิสิตนักศึกษามีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลง แต่ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างนั้นเกิดขึ้นจากภายในอยู่แล้ว โดยมีเสียงของนิสิตนักศึกษา และประชาชนเป็นตัวเร่งให้ปะทุขึ้น

นิธินันท์ ยอแสงรัตน์
 

หลังจากนั้นราวปี 2517 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางการเมือง มีการจัดตั้งกองกำลังเพื่อรบกับฝ่ายผู้ถืออำนาจ ก่อนหน้านี้แนวคิดสตรีนิยม หรือเฟมมินิสต์ ได้เริ่มก่อตัวขึ้นในไทยแล้ว ด้วยอิทธิพลของบุปผาชนในสหรัฐอเมริกา แต่วัฒนธรรมคอมมิวนิสต์ได้เปลี่ยนสภาพเฟมินิสต์สายเสรีนิยมให้มีความสุดโต่งมากขึ้น จนเกิดกลุ่มของสตรีที่เรียกว่า ‘หงฉี’ หรือ ธงแดง ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์เพศชายในพรรคคอมมิวนิสต์อย่างดุเดือดรุนแรง เพราะในยุคก่อนหน้ามีความพยายามยกย่องบทบาทผู้หญิงโดยรัฐ ในฐานะของ ‘แม่’ และ ‘เมีย’ สร้างบรรทัดฐานของผู้หญิงในอุดมคติ จึงเกิดการต่อต้านในยุคของ พคท.

นิธินันท์ยังเผยว่าความน่าสะพรึงกลัวที่ผู้หญิงในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ต้องเผชิญคือการถูกสะกดรอยตามโดยกลุ่มผู้ชาย ที่ไม่ได้เพียงแค่ติดตามกลุ่มนักศึกษาที่แปะโปสเตอร์ต้านเผด็จการ หรือเล่นดนตรีเพื่อชีวิต แต่ยังติดตามผู้หญิงตัวคนเดียวจนตลอดทางกลับบ้านในยามดึก สถานการณ์ที่สร้างความกลัวเช่นนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ความกลัวนั้นก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่าอุดมการณ์

“กลัวก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ความฝันที่จะทำตามสิ่งที่เราเชื่อนั้นยิ่งใหญ่กว่า เรามักจะบอกว่า กลัวแค่ไหน หรือตกใจแค่ไหน ก็ไม่อาจเอาชนะสิ่งที่เราคิดว่าเรากำลังทำเพื่อความถูกต้อง” นิธินันท์ กล่าว

ทวงสิทธิเหนือร่างกาย

มีมี่ เยาวชนนักกิจกรรม วัย 18 ปี ถ่ายทอดมุมมองของวัยรุ่นปัจจุบันที่หันมาสนใจการเมือง โดยมองว่าสถานการณ์การเมืองได้เข้ามามีส่วนในชีวิตตั้งแต่สมัยเตรียมอนุบาล ประถมศึกษา ซึ่งอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของกลุ่มเสื้อเหลือง-แดง ที่ครอบครัวของมีมี่ให้ความสนใจอยู่แล้ว โดยพ่อเป็นคนที่สอนให้สู้อย่างไม่ยอมแพ้ จนกระทั่งมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่ย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้ไม่ถึงปี มีมี่ได้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งแรกที่หน้าสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ในกรณีที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมชาวไทยถูกทำให้สูญหาย ถึงแม้ตนจะไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ดีนักในขณะนั้น แต่ก็รู้สึกว่าอยู่เฉยไม่ได้

มีมี่ เยาวชนนักกิจกรรม
 

สำหรับแนวคิดเรื่องเฟมมินิสต์นั้น มีมี่ระบุว่าได้มีแนวคิดนี้ติดตัวมาโดยตลอด และได้ตัดสินใจร่วมเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ เพื่อสิทธิสตรี โดยเฉพาะสิทธิผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า ซึ่งตนพยายามขับเคลื่อน โดยมองว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่ไม่ได้เข้าใจยาก ใครก็ทำได้ ขณะที่มีคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยบอกว่าตอนนี้ทุกเพศเท่าเทียมกันแล้ว แต่ประชาชนถึงยังไม่มีผ้าอนามัยฟรีใช้ ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่ยังมีความล้าหลัง ส่วนประเด็นที่ตนได้โกนหัวเพื่อประท้วงรัฐบาลนั้น มีมี่กล่าวว่าแม้ตนจะนิยามเพศของตัวเองว่าเป็น นอน-ไบนารี (Non-Binary) แต่ด้วยเพศกำเนิดที่เป็นหญิง จึงถือว่ายังถูกกดทับด้วยค่านิยมของความเป็นหญิง ตนมองการโกนหัวว่าเป็นเรื่องท้าทายในการเอาชนะกรอบจำกัดของสังคม และทวงสิทธิในการเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่ายกายของเรา

“เรากำลังบอกว่า นี่คือสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเรา และต่อให้เราจะโกนหัวหรือผมยาวก็คือสิทธิของเรา ด้วยความที่เรามีความเป็นหญิงสูง คนก็จะบอกว่าเราต้องสวยตลอดเวลา ต้องน่ารัก ต้องฉลาด สวยแล้วห้ามโง่ เราต้องทวงสิทธิที่ควรจะเป็นของเรากลับมา คือสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย เรื่องการโกนผม อาจมีคนคิดว่าเป็นเพศหญิงแล้วจะไม่กล้าโกน อยากจะบอกว่าคุณคิดแทนคนเยอะไป เรารู้สึกท้าทายมากในการเอาชนะกรอบค่านิยม เราไม่ได้เรียกร้องความสงสาร” มีมี่ ระบุ

นิยามที่คลุมเครือของนักแสดง-นักกิจกรรม

ด้านอินทิราเผยความท้าทายของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะคนในวงการบันเทิงว่า วงการบันเทิงมีลักษณะของความเป็นสังคมอุปถัมภ์อยู่ ดารา-นักแสดงจะถูกคาดหวังให้มีความเป็นมิตร เปิดกว้าง โอบรับคนทุกกลุ่ม การพูดประเด็นการเมือง ไม่ใช่สิ่งที่ต้องพ่วงมากับการเป็นนักแสดง ตรงกันข้ามกับปัจจุบัน ที่ความเป็นนักแสดงกับทัศนคติทางการเมืองแทบจะหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกัน ด้วยโซเชียลมีเดีย และบริบทที่เปลี่ยนไป สังคมสามารถรับรู้ตัวตนของนักแสดงได้ทุกด้าน ความเห็นทางการเมืองจึงกลายเป็นสิ่งที่ติดตัวมากับความเป็นนักแสดงโดยปริยาย

อินทิรา (ทราย) เจริญปุระ
 

อินทิรา ยังบอกว่า สังคมมีการตั้งคำถามกับตัวตนของเธออย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 2553-2557 ที่ทุกการกระทำของเธอถูกเพ่งเล็งและตัดสินว่ามีนัยทางการเมืองไปหมด แม้ความจริงเธอจะเพียงแค่แสดงออกในความเป็นตัวเธอเท่านั้น แต่กลับถูกยัดเยียดให้เป็นคนที่แตกต่างนอกคอก ตนไม่เคยรู้สึกว่ามีอิทธิพลอะไร ก่อนหน้านี้ตนได้เผชิญสิ่งที่นักแสดงคนอื่นๆ อาจจะไม่ต้องเจอ ทั้งการถูกตัดสินจากคนทั้งในและนอกวงการ หรือกระทั่งความคาดหวังในกลุ่มนักกิจกรรมด้วยกัน ว่าต้องพูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สุดเพดานไปโดยตลอด โดยความเป็นจริงแล้วหลายประเด็นก็มีส่วนซ้อนทับกัน และขับเคลื่อนไปด้วยกันได้

“เราไม่เชื่อในการที่ต้องพูดในเรื่องใดแล้ว จะต้องพูดเรื่องนั้นไปโดยตลอด มันคือคำสาป ไม่ใช่ทัศนคติ” อินทิรา กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net