Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ ‘โจ ศรายุทธ’ บัณฑิต ม.ขอนแก่น ผู้ลุกขึ้นมา ‘เผาครุย’ ในวันรับปริญญาเพื่อแสดงออกว่าความสำเร็จทางการศึกษาเป็นของสามัญชน พร้อมเปิดที่มาที่ไป ทำไม ‘ครุย’ ซึ่งเป็นเสื้อคลุมประเภทหนึ่งถึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และถูกยึดโยงเข้ากับแนวคิดศักดินา โดย ‘อาจารย์บูมคอสเพลย์’ หรือ ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร รองหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  • ทำความเข้าใจให้ชัดๆ ระหว่างคำว่า “สำเร็จการศึกษา” และ “รับปริญญา”
  • การเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจำเป็นหรือไม่กับการสมัครงาน
  • “แก่นสาร” ที่แท้จริงของพิธีรับปริญญาคืออะไร
  • ที่มาของ ‘ครุยตะวันตก-ครุยไทย’ และการผูกโยงเครื่องแบบเข้ากับอำนาจ ความรู้ และชนชั้น
  • สะท้อนมุมมองความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อ ‘ชุดครุย’ และพิธีรับปริญญา พร้อมฟังความเห็นจากอาจารย์ผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยง 2 ฝั่งแนวคิดในพิธีรับปริญญาให้มาบรรจบกัน

หากยังพอจำกันได้ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา “พิธีรับปริญญา” กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมหลังจากแพทย์และนักเขียนที่ใช้นามปากกาว่า ‘พญ.ลลิตา ธีระสิริ’ เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการรับปริญญาเพื่อโต้ตอบประกาศของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ที่แสดงจุดยืนว่าจะไม่ส่งตัวแทนร่วมรับเสด็จในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 55 ในวันศุกร์ที่ 14 ม.ค. 2565

หนึ่งในข้อความของบนเฟซบุ๊กของเจ้าของนามปากกาดังกล่าวระบุว่า “เพื่อนกันที่เป็นเจ้าของกิจการเริ่มพูดกันว่าถ้าคนรุ่นใหม่มาสมัครงาน ต้องขอดูมือถือก่อนละ และใครไม่รับปริญญาก็จะไม่รับเข้าทำงาน เพราะถ้ารับมาอยู่ในองค์กรแล้วน่าจะมีปัญหามากกว่า” ข้อความนี้ทำให้สังคมตั้งคำถามและถกเถียงกันในวงกว้างว่าพิธีรับปริญญาจำเป็นหรือไม่ และการสมัครงานใช้หลักฐานเป็นใบปริญญาหรือใช้เฉพาะใบแสดงผลการเรียน (transcript) จนทำให้ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนไม่น้อยมาร่วมถกเถียงพร้อมแบ่งปันประสบการณ์การรับปริญญารวมถึงเอกสารที่ใช้ในการสมัครงาน จนประเด็นเรื่อง “การรับปริญญา” ถูกพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง

โดยทั่วไปแล้ว การเข้าร่วมพิธีรับปริญญา ไม่ว่าจะเป็น ‘พิธีพระราชทานปริญญาบัตร’ หรือ ‘พิธีประสาทปริญญาบัตร’ ไม่ใช่ข้อบังคับของมหาวิทยาลัย บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้ แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสทางการเมืองและข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ยังคงกึกก้องและสะท้อนไปทั่วสังคมทำให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘คนรุ่นใหม่’ พากันตั้งคำถามถึง “แก่นสาร” ของพิธีรับปริญญา ในขณะที่คนรุ่นก่อนหน้าก็ออกมาพูดถึงความสำคัญของพิธีรับปริญญาในมุมมองของพวกเขาเช่นเดียวกัน ย้อนกลับไปในปี 2563 กลุ่ม ‘บัณฑิตธรรรมศาสตร์ของราษฎร’ เคยออกมารณรงค์ไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จนเกิดเป็นกระแสฮือฮาทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลฟ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มดังกล่าวเคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า “นี่คือการส่งสาสน์ถึงสถาบันกษัตริย์ว่า ที่ธรรมศาสตร์ยังมีคนไม่พอใจกับสถานะของสถาบันฯ ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ” และในปีต่อๆ มาก็จะเห็นการเคลื่อนไหวในลักษณะคล้ายๆ กัน นั่นคือ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อตั้งคำถามต่อพิธีรับปริญญา หรือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร หากต้องการกล่าวแบบเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น

เมื่อปลายปี 2564 มีบัณฑิตคนหนึ่งจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกมาทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เผาชุดครุยในวันพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ชื่อของเขาคือ ศรายุทธ นาคมณี หรือโจ นักกิจกรรมจากกลุ่ม UNME of Anarchy ซึ่งเขากล่าวปราศรัยในวันที่ทำกิจกรรมว่า “การที่บัณฑิตจบการศึกษาได้นั้น มาจากสามัญชนคนธรรมดา ดังนั้นการที่บัณฑิตจบไปไม่ได้จบเพราะใครมาประทานให้ การจบการศึกษาควรรับใช้ประชาชน และชุดครุยคือชุดที่รัฐสร้างขึ้นเท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้ และการจบการศึกษาควรจะเป็นการจบที่มาจากประชาชนไม่ใช่จบเพราะให้ใครมาประทานให้” ศรายุทธกล่าว

ภาพการทำกิจกรรม 'เผาชุดครุย' ที่หน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวันพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 (แฟ้มภาพ)
 

ประชาไทมีโอกาสได้คุยกับศรายุทธอีกครั้งในวันที่เขาสำเร็จการศึกษามาแล้ว 5-6 เดือน และเริ่มต้นชีวิตการทำงานกับองค์กรแห่งหนึ่งก่อนที่จะถึงวันพระราชทานปริญญาบัตร เอกสารการสมัครงานมีเพียงใบทรานสคริปต์แสดงผลการเรียน ศรายุทธบอกว่าเขาอยากเห็นวันรับปริญญาเป็นวันแห่งการแสดงความยินดี ไม่ใช่วันแห่งพิธีการหรือพิธีกรรม บัณฑิตทุกคนควรจะได้ใช้เวลากับคนที่ส่งเสริมเขาไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ญาติมิตร หรือบุคคลใดๆ

“ผมเคยให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวีไปว่าผมอยากจะรับกับแม่ค้าขายข้าวแกง เพราะเขาให้ผมค้างค่าข้าวเวลาที่ผมไม่มีเงิน ผมก็คิดว่าคนตัวเล็กที่ยืนอยู่ในจุดเล็กๆ ที่ไม่มีใครมองเห็น เขากลับมีความสำคัญกับชีวิตหนึ่งชีวิตและกับอีกหลายชีวิตได้มากขนาดนี้ ถ้าผมอยากจะมีช่วงเวลาเฉลิมฉลองการเรียนจบ ผมอยากจะคืนบรรยากาศเหล่านี้ให้กับคนที่เขาไม่มีหน้าไม่มีตาในสังคม ให้เขาได้รู้สึกว่าเขามีคุณค่ากับเราเสมอ การต่อสู้ทางชนชั้นแบบที่เราแบ่งคนเป็นชนชั้นอย่างนี้ มันทำให้พวกเขาไม่มีพื้นที่ในสังคม เวลาคุยกับคนที่เรียนจบการศึกษาหรือคุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาต้องยืนตัวเล็กๆ สงบเสงี่ยมเจียมตัว ผมอยากจะทำให้เขารู้ว่าเขามีศักดิ์ศรีที่เทียบเท่ากันกับเรา เทียบเท่ากันกับทุกคนที่นี่ เราเสมอภาคกัน” ศรายุทธ กล่าว

ศรายุทธบอกว่าสังคมไทยควรพูดคุยกันอย่างเปิดกว้างถึงที่มาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งหากเป็นมหาวิทยาลัยรัฐหรือในกำกับรัฐ หมายความว่าเงินที่ใช้ในการบริหารจัดการหรือที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ๆ มาจากภาษีของประชาชนใช่หรือไม่ หากสังคมตกผลึกได้แล้ว ควรตั้งคำถามต่อว่าทำไมคนที่มีคุณูประการหรือ ‘มีบุญคุณ’ กับมหาวิทยาลัยจึงเป็นแค่คนบางกลุ่มที่ได้รับการยกย่อง ไม่ใช่คนทั้งประเทศที่เสียภาษีเพื่อให้มหาวิทยาลัยคงอยู่และทำให้คนจำนวนหนึ่งมีโอกาสได้เรียนในระดับที่สูงขึ้น

ศรายุทธ นาคมณี
 

“การสำเร็จการศึกษามันเป็นเนื้อนาจากการผลิตของใคร มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่ในประเทศของเรามันเป็นภาษีของประชาชนใช่ไหม ที่ดินมันเป็นของประชาชนใช่ไหม วันนี้เราสำเร็จการศึกษาแล้ว อยู่บนการผลิตของสามัญชนคนธรรมดา เพราะฉะนั้นในทางสังคม เรามีอะไรติดค้างอยู่กับสังคม ถ้าหากเราจะคิดในแบบเก่าว่าเรามีบุญคุณต่ออะไรสักอย่าง คนที่เราควรจะต้องกลับไปคืนบุญคุณให้มันก็คือสังคมของเราที่มีแต่สามัญชนนี่แหละ” ศรายุทธ กล่าว

#ไม่รับปริญญา ก็สำเร็จการศึกษาและสมัครงานได้

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร รองหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากทางมหาวิทยาลัยให้เป็นคณะกรรมการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรหลายครั้ง ให้สัมภาษณ์กับประชาไทในประเด็นที่สังคมถกเถียงกันเรื่องการไม่เข้าร่วมพิธีพระราชปริญญาบัตรถือว่าไม่สำเร็จการศึกษา ข้อถกเถียงนี้เป็นเรื่อง ‘เข้าใจผิด’ เพราะอันที่จริงแล้ว การสำเร็จการศึกษาคือการเรียนจบ เก็บหน่วยกิตครบตามหลักสูตร ทั้งหน่วยกิตวิชาการหรือหน่วยกิตกิจกรรม เมื่อเรียนจบครบตามเกณฑ์ก็สามารถทำเรื่องอนุมัติสำเร็จการศึกษา และได้รับเอกสารที่เรียกว่าใบแสดงผลการศึกษาหรือทรานสคริปต์ (transcript) สามารถนำไปใช้สมัครงานได้ แต่ในสังคมมนุษย์ทั่วไปมองว่าความรู้คืออำนาจและอำนาจนั้นสามารถชี้นำสังคมได้ จึงทำให้เกิดพิธีการที่ทำให้ความรู้นั้นศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า ‘พิธีประสาทปริญญาบัตร’ ซึ่งเริ่มต้นจากโลกตะวันตก แต่คำว่า ‘ศักดิ์’ และ ‘สิทธิ์’ ในมุมมองของไทยและตะวันตกอาจจะต่างกัน และในภาพใหญ่ของคำว่าพิธีการของไทยนั้นมีคำว่า ‘พิธีกรรม’ ซ่อนอยู่ คนจึงมักมองพิธีกรรมและพิธีการเป็นแก่นสารของความรู้มากกว่าการสำเร็จการศึกษา

“การสำเร็จการศึกษาโดยไม่ผ่านพิธีกรรมและพิธีการนั้นกลับถูกมองว่าเป็นการสำเร็จการศึกษาที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งจริงๆ ผมว่ามันไม่เกี่ยว ถ้าคุณมองว่าการศึกษาเป็นการพัฒนาตัวเอง คุณสำเร็จการศึกษา คุณก็สำเร็จแล้วครับ คุณก็ได้วุฒิไปทำงานทำการ แต่ถ้าคุณมองว่าการศึกษามันไม่ใช่แค่การพัฒนาตนเอง แต่มันเป็นการเลื่อนชั้นทางสังคม แน่นอนว่ามันต้องมีพิธีกรรมและพิธีการประกอบการเลื่อนชั้นนั้น” สิทธารถ กล่าว

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร
 

“จริงๆ ณ จุดนี้มันก็คือสิทธิ์นะครับ นิสิตนักศึกษาสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าหรือไม่เข้า (พิธีพระราชทานปริญญาบัตร) อย่างน้อยก็ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เราไม่บังคับแน่นอน แต่ขอให้ชัดเจน ขอให้แจ้งมา ไม่เข้าร่วมก็ไม่เป็นไร เราแค่ต้องการจะเช็กยอดว่าคุณเข้าหรือไม่เข้า เขาจะได้ไปตัดชื่อออกเวลาคณบดีขานชื่อคนที่เข้าไปรับ” สิทธารถ กล่าว

'แก่นสาร' ที่แท้จริงของพิธีรับปริญญา

สิทธารถบอกว่าลูกศิษย์หลายคนของตนเคยถามว่าแก่นสารของพิธีรับปริญญาคืออะไร หลายคนอาจบอกว่าคือการที่กษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้พระราชทานให้ แต่หากมองว่าแก่นสารของพิธีรับปริญญาคือเรื่องนี้ แล้วการรับพระราชทานสิ่งของอย่างอื่นจากสถาบันกษัตริย์ถือเป็นลักษณะเดียวกันกับการรับพระราชทานปริญญาบัตรใช่หรือไหม ซึ่งส่วนตัวของสิทธารถมองว่าไม่ใช่ สิทธารถมองว่าแก่นสารของ ‘พิธีรับปริญญา’ อยู่ในช่วงท้าย นั่นคือตอนที่ใบปริญญาอยู่ในมือบัณฑิตทุกคน และประธานในพิธีประกาศต่อหน้าสักขีพยานว่าคำว่า ‘บัดนี้ ท่านได้เป็นบัณฑิตโดยสมบูรณ์แล้ว’

“คำถามคือของไทย ถ้าเราจะนับว่าแก่นสารของพิธีมันคือสิ่งนั้น มันมีกี่เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่เราเริ่มซ้อมมาจนถึงการกล่าวคำว่า ‘บัดนี้ ท่านเป็นบัณฑิตโดยสมบูรณ์แล้ว’ ถ้านับจากองค์ประกอบของพิธีกรรมทั้งหมด แก่นสารของมันมีไม่ถึง 1% ของพิธีกรรมทั้งหมด แต่นั่นแหละคือแก่นสาร ซึ่งแก่นสารที่ผมว่าไป ผมเทียบเคียงกับสากลนะ เทียบเคียงกับต่างประเทศนะ ว่าเขาใช้ตรงนี้ เท่าที่เห็นมา” สิทธารถ กล่าว

“การสำเร็จการศึกษามันเป็นเนื้อนาจากการผลิตของใคร มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่ในประเทศของเรามันเป็นภาษีของประชาชนใช่ไหม ที่ดินมันเป็นของประชาชนใช่ไหม วันนี้เราสำเร็จการศึกษาแล้ว อยู่บนการผลิตของสามัญชนคนธรรมดา เพราะฉะนั้นในทางสังคม เรามีอะไรติดค้างอยู่กับสังคม ถ้าหากเราจะคิดในแบบเก่าว่าเรามีบุญคุณต่ออะไรสักอย่าง คนที่เราควรจะต้องกลับไปคืนบุญคุณให้มันก็คือสังคมของเราที่มีแต่สามัญชนนี่แหละ” - ศรายุทธ นาคมณี

สิทธารถยกตัวอย่างพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีพิธีอย่างเรียบง่าย หรือบางที่ไม่มีพิธีเลย มีเพียงวันเฉลิมฉลองซึ่งในบัณฑิตมารวมตัวกันเพื่อแสดงความยินดีกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน และหากมีพิธี ทุกที่ก็จะมีลำดับขั้นตอนที่คล้ายกัน คือ ในตอนสุดท้ายอธิการบดีจะมาประกาศว่า ‘บัดนี้ ท่านเป็นบัณฑิตโดยสมบูรณ์แล้ว’ ถือเป็นอันเสร็จสิ้น แต่ในพิธีรับปริญญาแบบไทยๆ คนมักมองข้ามแก่นสารที่แท้จริงซึ่งเป็นส่วนเล็กๆ อยู่ตรงจุดนี้

“การเข้าร่วมในพิธีกรรมใดๆ ให้รู้ว่าแก่นสารที่เราเข้าไปอยู่ในนั้นคืออะไร คนที่เห็นแก่นสารนั้น และเข้าร่วม รวมถึงคนที่ไม่ได้เข้าร่วมแต่ก็เห็นแก่นสาร ก็ไม่ควรจะถูกเปรียบเทียบกัน มันเป็น ‘สิทธิ์’ อันชอบธรรมทุกประการที่คุณจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม แต่ขอให้ตระหนักร่วมกันว่าแก่นสารของพิธีนี้กรรมนี้คืออะไร คนที่ไม่เข้าร่วมเขาก็ตระหนักได้ และเพราะเขาตระหนักได้ เขาถึงไม่เข้าร่วมไง ถ้าแก่นสารมันคือความรู้ เข้าหรือไม่เข้า ความรู้มันก็อยู่กับเราไม่ใช่เหรอ แต่ถ้าเข้าแล้วมันตอบสนองต่อคุณค่าทางสังคม ทั้งกับตัวเอง ครอบครัว หรือคนอื่น ถ้าคุณเข้าแล้วทำให้เขามีความสุข ก็ต้องแล้วแต่การตกลงกัน ทุกอย่างอยู่ที่การพูดคุย รับฟัง และการประนีประนอม” สิทธารถ กล่าว

เวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน มุมมองต่อพิธีรับปริญญาก็เปลี่ยน

ในฐานะคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ สิทธารถมองว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เขาจึงมองว่าการเหนี่ยวรั้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ให้คงอยู่โดยไร้ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องยากเต็มที

“ตอนนี้สังคมมันก็เปลี่ยนไป คนเราก็มองเรื่องพิธีการไม่เหมือนเมื่อก่อน ทุกวันนี้คนมองที่แก่นสารของความรู้มากกว่าอย่างอื่นที่มันฉาบทาอยู่ภายนอกอย่างพวกพิธีกรรม เขามองว่าแก่นสารมันอยู่ที่ความรู้ พิธีกรรมมันเป็นตัวที่มาประกอบ” สิทธารถ กล่าว

สิทธารถกล่าวว่าพิธีรับปริญญาเกิดขึ้นครั้งแรกในยุโรปช่วงยุคกลางและกลายเป็นรากฐานสำคัญของระบบมหาวิทยาลัยทั่วโลกในปัจจุบัน หากมองย้อนกลับไปในอดีต สังคมตะวันตกก็มองว่าพิธีรับปริญญาคือการเลื่อนชนชั้นทางสังคมเช่นเดียวกับสังคมไทย แต่ด้วยกรอบเวลาที่เปลี่ยนไป แนวคิดเรื่องพิธีรับปริญญาในปัจจุบันจึงเปลี่ยนแปลงตาม โดยเฉพาะในสังคมตะวันตกที่ลดความสำคัญของพิธีการลงมากจนใช้เวลาสั้นๆ และส่วนใหญ่มักตัดพิธีกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อทิ้งไป

“ในฐานะนักประวัติศาสตร์ เราก็มองว่าวิธีคิดที่ออกมามันย่อมตั้งอยู่บนฐานของสังคมที่เปลี่ยนไป ฐานของสังคมยุคกลางที่มันมีสิ่งนี้ เขาคิดแบบนี้เมื่อ 800 ปีก่อน เมื่อ 1,000 ปีก่อน มันอาจจะเข้าใจได้ สมเหตุสมผลในกรอบของสังคมยุคนั้น แต่พอช่วงเวลาที่มันผ่านมา พิธีกรรมและพิธีการเหล่านี้มันน่าจะต้องเปลี่ยนไปตามความคิดของสังคม” สิทธารถ กล่าว พร้อมระบุว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคนมองพิธีรับปริญญาเปลี่ยนไปคือจำนวนคนเข้าร่วมพิธีที่ลดลงเรื่อยๆ ยุคหนึ่งคนอาจจะมองว่าการได้รับพระราชทานปริญญาจากสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นแก่นสารของการเรียนจบ แต่ว่าคนรุ่นหลังๆ อาจจะไม่ได้มองอย่างนั้น

“(คนรุ่นหลัง) เขาอาจจะมองว่าการจบมันเป็นเรื่องที่เขาต้องพยายาม ลงทุนลงแรงอ่านหนังสือ แลกมาด้วยเลือดด้วยน้ำตา ดังนั้นถ้าเขาอยากจะแชร์ความสุขอันได้มาอย่างยากลำบากกับใครสักคน หลายคนก็อาจจะมองว่าสถาบันกษัตริย์ที่มาพระราชทานปริญญาบัตรให้ไม่ได้มีส่วนในความรู้สึกเหล่านั้น เขาจึงไม่ได้เห็นว่าเขาจำเป็นต้องไปเข้าร่วมในพิธีกรรมตรงนี้” สิทธารถ กล่าว

“ถ้าเรามองจริงๆ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่าเป็น Commencement มันมาจากคำกริยาภาษาฝรั่งเศส commencer (อ่านว่า กอมมองเซ) แปลว่าเริ่มต้น (begins) เริ่มต้นของอะไร เริ่มต้นของชีวิตใหม่ จบปริญญาไปทำมาหากิน ต่อไปนี้คุณจะเข้าสู่อีกช่วงหนึ่งของชีวิต อันนี้คือที่มา น้อยคนจะทราบหรือสังเกต ผมว่าในแก่นสารของต่างประเทศ การรับปริญญามันคือการก้าวเข้าสู่อีกขั้นหนึ่งของช่วงชีวิตมากกว่าการเข้าไปสู่อีกชนชั้นหนึ่งของสังคม ผมมองว่าอย่างนั้นนะ” สิทธารถกล่าว

สิทธารถกล่าวว่าตนไม่ได้ปฏิเสธพิธีการหรือพิธีกรรม แต่ทุกอย่างควรดำเนินไปอย่างเหมาะสมกับทุกฝ่าย พร้อมบอกว่าในต่างประเทศที่ต่อให้เป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยมากแค่ไหน มหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศนั้นๆ ก็ไม่ได้เลิกพิธีเหล่านี้ เพียงแต่ปรับวิธีการเพื่อให้ทุกคนมีความสุข ใช้เวลาไม่นาน และไม่เคร่งเครียดเท่าที่ไทย

สิทธารถกล่าวว่าจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและได้เป็นคณะกรรมการจัดพิธีพระราชทานปริญญา เขามีโอกาสพูดคุยกับลูกศิษย์ถึงเหตุผลและความจำเป็นเรื่องการเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร คนเข้าร่วมพิธีรับปริญญาก็มีหลายเหตุผล ทั้งสมัครใจเข้ารับเพราะความต้องการของตัวเอง หรือเข้าร่วมพิธีเพราะเหตุผลด้านครอบครัว หรืออื่นๆ ส่วนคนที่ไม่เข้าร่วมมีเหตุผลหลักๆ คือติดเรียนต่อต่างประเทศ ติดธุระ หรือติดงาน เพราะการรับปริญญาต้องมีพิธีซ้อม และซ้อมกันหลายวัน บางคนที่เรียนจบและทำงานแล้วจึงไม่สะดวกที่จะลางาน โดยเฉพาะคนที่ทำงานอยู่คนละจังหวัดกับที่ตั้งของมหาวิทยาลัย จะต้องเสียค่าเดินทางและค่าที่พักเพิ่มเพื่อมาซ้อม จึงตัดสินใจไม่เข้าพิธี แต่ในวันงานซึ่งเป็นวันแห่งความสำเร็จเพียงหนึ่งเดียว เขาก็เห็นลูกศิษย์บางคนที่ไม่เข้าพิธี แต่งตัวในชุดครุยเพื่อมาถ่ายรูปกับเพื่อนและครอบครัว ซึ่งเขามองว่าก็เป็นบรรยากาศที่ดูอบอุ่นและมีความสุข

“ที่สำคัญก็คือเขามองว่าการที่เขาอยากจะร่วมยินดีในงานรับปริญญา เขาอยากจะร่วมยินดีกับใคร แล้วถ้าเขาตอบตัวเองได้ว่าเขาอยากจะยินดีกับคนใกล้ชิด ญาติสนิท พ่อแม่ เพื่อนพ้อง บุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ได้ขึ้นไปอยู่บนอาคารหอประชุมแน่นอน แล้วเขาจะขึ้นไปทำไม แต่เขาก็เช่าครุยมานะ เขาก็มีความสุขกับการออกไปเดินถ่ายรูปตามสวนหย่อม ตามป้าย เดินทั่วมหาวิทยาลัยเลยครับ เที่ยงก็ไปกินข้าว ตกเย็นก็ไปร้านอาหารที่นัดหมายกันไว้ ก็ดูมีความสุขดีหนิครับ ผมก็ไม่เห็นว่าเขาจะขาดอะไรไปตรงไหน” สิทธารถ กล่าว

“ถ้าพิธีจะยังมีอยู่ควรจะเรียบง่าย ประหยัด และลดความเป็นทางการกับศาสนาให้น้อยลง อยากให้ทุกคนมีความสุขตลอดงาน” สิทธารถ ระบุ

พิธิรับปริญญา ชุดครุย และยกเลิก ม.112

จากประสบการณ์การทำงานเป็นคณะกรรมการจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสิทธารถพบว่าการไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วยเหตุผลด้านความไม่สะดวกต่างๆ ตามที่ได้กล่าวไปนั้นถือเป็นเรื่องปกติ และผู้ที่ไม่เข้าร่วมพิธีไม่จำต้องออกมาชี้แจงต่อสังคม อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่กระแสทางการเมืองและข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบนเวทีปราศรัยจนขยายตัวออกไปสู่การพูดในวงกว้าง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเมื่อมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่ต้องการเข้าร่วมพิธีเพราะต้องการเรียกร้องทางการเมือง พวกเขาเหล่านั้นจะถูกเพ่งเล็งโดยมหาวิทยาลัย สังคม และรัฐ จึงอาจนำมาสู่การตั้งคำถามถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกว่าการชี้แจงจุดประสงค์ที่เรื่องการเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรนั้นบ่งชี้ถึงอะไรได้บ้าง

“(คนรุ่นหลัง) เขาอาจจะมองว่าการจบมันเป็นเรื่องที่เขาต้องพยายาม ลงทุนลงแรงอ่านหนังสือ แลกมาด้วยเลือดด้วยน้ำตา ดังนั้นถ้าเขาอยากจะแชร์ความสุขอันได้มาอย่างยากลำบากกับใครสักคน หลายคนก็อาจจะมองว่าสถาบันกษัตริย์ที่มาพระราชทานปริญญาบัตรให้ไม่ได้มีส่วนในความรู้สึกเหล่านั้น เขาจึงไม่ได้เห็นว่าเขาจำเป็นต้องไปเข้าร่วมในพิธีกรรมตรงนี้” - ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร

ศรายุทธ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่แสดงออกชัดเจนว่าไม่ต้องการเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเพราะเขามองว่าแก่นสารของการสำเร็จการศึกษาคือความรู้ และมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นและคงอยู่เพราะภาษีประชาชน ดังนั้น พื้นที่ความสำเร็จของบัณฑิตจึงไม่ควรถูกสถาบันจารีตประเพณีมาช่วงชิงไป เพราะสถาบันนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในการเรียนของเขาและนิสิตนักศึกษาคนอื่นๆ ศรายุทธจึงตัดสินใจแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวันพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ด้วยการ “เผาชุดครุย” เพื่อปักเป็นหมุดหมายสำคัญว่าเขาคือหนึ่งในผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ระบอบศักดินาเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ความสำเร็จของคนหนึ่งคน และมอบเครื่องหมายแห่งการ ‘เลื่อนชนชั้น’ ให้เป็นการตอบแทน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

“ถ้าต้องการต่อสู้กับจารีตและวัฒนธรรมพวกนี้ ต้องทำยังไงก็ได้ให้คนช็อกและสนใจ เลยไปหาความหมายของครุยที่เชื่อมโยงกับอำนาจ ครุยเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บอกว่าเราหลุดพ้นจากชนชั้นเดิมของเรา เป็นคนที่ไม่รู้อะไรเลย เป็นคนที่ดิ้นรน อาจจะเป็นลูกตาสีตาสา เป็นชนชั้นแรงงานทั่วไป แต่พอคุณเรียนจบปุ๊บ คุณก็ได้รับการสถาปนาจากอำนาจใหม่ว่าคุณเป็นปัญญาชน วิธีคิดทางการพวกนี้มันไม่สามารถที่จะลอยตัวอยู่โดดๆ ได้ มันจำเป็นต้องมีแบบแผน จะต้องมีพิธีกรรม จะต้องมีประธานหรือประมุขในพิธี ที่สำคัญคือต้องมีเครื่องแบบ ผมรู้สึกว่าสิ่งที่มันเชื่อมโยงกับเราได้ตรงๆ และหาได้ง่ายก็คือเครื่องแบบ ผมก็เลยปิ๊งไอเดียนี้ (เผาครุย) ขึ้นมา นอกเหนือจากการตั้งคำถาม เราจะต้องทำลายสัญลักษณ์ที่มีการสถาปนานี้ขึ้นมาด้วยเพื่อที่จะแสดงออกว่าเราไม่ยอมรับไม่ยอมรับเขาในทางกฎหมาย ไม่ยอมรับเขาในทางจารีต” ศรายุทธ กล่าว

ภาพกิจกรรมการเผาชุดครุยของศรายุทธในวันที่ 13 ธ.ค. 2564 (ขอบคุณภาพจาก The Isaan Record)
 

ศรายุทธบอกว่าในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรไม่ได้มีแค่เครื่องแบบและพิธีกรรมบนหอประชุมเท่านั้นที่ยึดโยงกับอำนาจชนชั้นนำ แต่ยังมีการปักป้าย ‘เขตพระราชฐาน’ ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งเขามองว่าพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนั้นควรเป็นของทุกคน และไม่ควรถูกปิดกั้นให้ใครคนใดคนหนึ่ง ศรายุทธบอกว่าในกรณีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปี 2564 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดนั้นมีการขยายเขตพระราชฐานออกไปถึงบริเวณสำนักงานอธิการบดี ซึ่งกินพื้นที่ของคณะนิติศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น และพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ ซึ่งนักศึกษาจำเป็นจะต้องใช้ แต่การขยายเขตพระราชฐานนั้นทำให้นักศึกษา บุคคลากร หรือบุคคลอื่นๆ ไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าที่มหาวิทยาลัยประกาศเช่นนี้เพราะกลัวว่ากลุ่มนักศึกษาจะจัดกิจกรรมแสดงออกเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือเปล่า ซึ่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจนถึงทุกวันนี้

“คือตัวผมเองไม่ใช่มนุษย์ขวางโลกที่ไม่ยอมรับอะไรทั้งหมดนะครับ แต่ว่าจารีตประเพณีหรือวัฒนธรรมอะไรที่มันเป็นของประชาชนจริงๆ ถึงจะคุยกับผมได้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่มาจากที่มาจากธรรมเนียมปฏิบัติ มาจากการสถาปนาขึ้นโดยรัฐหรือโดยอำนาจเหล่านั้น เราสามารถที่จะปฏิเสธได้ แล้วผมเองก็ยืนยันที่จะปฏิเสธมันในวันนั้น” ศรายุทธ กล่าว

ศรายุทธบอกว่าทุกวันนี้สังคมไทยตกผลึกเรื่องสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น รวมถึงมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ทำให้เห็นภาพการเคลื่อนไหวในประเด็นที่แหลมคม เช่น การเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ศรายุทธบอกว่าพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เพราะเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์โดยตรง และสมควรถูกตั้งคำถาม ทั้งเรื่องความเหมาะสมด้านงบประมาณและความเคร่งครัด ซึ่งสะท้อนไปยังปัญหาภาพใหญ่ของสถาบันฯ ได้ ศรายุทธยอมรับว่าภาพการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในวันพระราชทานปริญญาบัตรอาจเห็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่เป็นเสียงส่วนน้อย แต่เขาคิดว่าการรณรงค์ไม่เข้าพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจะมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆ และจำนวนคนก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อต้านพิธีพระราชทานปริญญาบัตรนั้นทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมตามมา

“เรื่องของการเมืองในประเทศตอนนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยจำนวนเสียงส่วนใหญ่อีกต่อไปแล้ว เราพูดกันถึงหลักการข้างในเลยดีกว่า ที่คุณอ้างว่ามันเป็นความชอบธรรม มันชอบธรรมจริงหรือเปล่า มันเป็นสากลจริงหรือเปล่า” ศรายุทธกล่าว พร้อมเสริมว่า “การเคลื่อนไหวของการไม่รับปริญญาหรือว่าใดๆ ในประเทศเราตอนนี้มันจึงเป็นการแสดงออกที่ในขณะนี้มันเป็นเสียงส่วนน้อยแต่ผมคิดว่าเสียงส่วนน้อย พวกเขาเข้าใจแก่นของเสรีภาพของเขาได้แล้ว ถ้าฉันไม่รับปริญญาแล้วฉันทำไมต้องนอนอยู่ที่บ้าน ถ้าหากว่าฉันมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากันกับพวกคุณที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ออกมาไชโยโห่ร้องให้พิธีกรรมเหล่านั้นโดยที่ไม่ต้องอาย แล้วทำไมฉันจะต้องอายว่าฉันไม่รับปริญญา ฉันควรพูดได้เหมือนที่พวกคุณหัวเราะดีใจแบบนั้น”

'ชุดครุย' ในมิติโลกตะวันตก: ความรู้ อำนาจ ศาสนา

สิทธารถบอกว่าชุดครุยมีความเชื่อมโยงกับความรู้ อำนาจ และชนชั้นมาตั้งแต่อดีต หลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าการเชื่อมโยงชุดครุยเข้ากับความรู้ อำนาจ และชนชั้น ถือกำเนิดขึ้นในยุโรปยุคกลางช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดระบบมหาวิทยาลัยขึ้น และมหาวิทยาลัยยุคแรกๆ เกิดขึ้นในโบสถ์ เพราะในยุคนั้น บุคคลที่อ่านออกเขียนได้และมีความรู้คือบาทหลวง หรือนักบวชในศาสนาคริสต์ เพราะมีเวลาว่างมากพอในการอ่านตำรับตำรา ไม่ต้องออกไปทำไร่ทำสวนเหมือนชาวบ้านทั่วไป จึงกล่าวได้ว่าการมีความรู้เป็นสิทธิพิเศษ (privilege) อย่างหนึ่ง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้

“ถ้าเราดูตั้งแต่โบราณมา มีลักษณะที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือชนชั้นที่ว่างพอจนได้ร่ำเรียน ว่างพอที่จะไม่ได้ทำมาหากิน แต่ก็มีลาภสักการะ มีเงินมีทองมาให้อยู่ตลอด ชนชั้นนั้นจะเป็นชนชั้นนักบวช ของไทยก็เป็น ศาสนาพุทธ เมื่อก่อนใครจะเรียนต้องบวช เพราะคุณไม่ต้องกังวลเรื่องทำมาหากิน ไม่ต้องห่วงเรื่องถูกเกณฑ์ไปทัพ เรียนอย่างเดียว ดังนั้นคนที่อยู่ในแวดวงศาสนาในหลายอารยธรรมทั่วโลกเขาจึงเป็นคนที่มีความรู้” สิทธารถ กล่าว

สิทธารถอธิบายต่อไปว่าระบบมหาวิทยาลัยในยุโรปเกิดขึ้นเพราะโบสถ์ต้องการหาเงินเพื่อนำมาทำนุบำรุงศาสนา เมื่อบาทหลวงพอมีความรู้ก็เปิดสอนเพื่อเก็บค่าเล่าเรียน ซึ่งถือว่าไม่ผิดหลักศาสนา ช่วงแรกๆ ที่เริ่มมีการเรียนการสอนก็ใช้โบสถ์เป็นสถานที่เรียน ก่อนจะค่อยๆ ขยับขยายเป็นอาคารเรียนแยกออกมาแบบเป็นกิจจะลักษณะ ดังนั้น ในช่วงแรกที่คนที่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในยุคกลางจึงต้องสวมเสื้อคลุมสีดำแบบเดียวกับที่บาทหลวงใส่เพราะต้องเรียนในโบสถ์ โดยสิทธารถยกตัวอย่างชุดครุยของมหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่เป็นชุดครุยแบบตะวันตก มีสีดำเป็นพื้น แต่แตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร สวมชุดครุยของมหาวิทยาลัยศิลปากร
 

สิทธารถเล่าต่อไปว่าในช่วงแรกยังไม่ได้มีการบังคับในผู้เรียนในมหาวิทยาลัยต้องใส่ครุยหรือแต่งกายเหมือนนักบวช จนกระทั่งช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 สภามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษออกข้อกำหนดให้นักศึกษาและอาจารย์ต้องแต่งกายโดยสวมชุดครุยสีดำ เพื่อให้เป็นแบบแผนเดียวกัน ชุดครุยจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนที่มีความรู้ และข้อบังคับการสวมชุดครุยของอาจารย์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดยังคงมีอยู่จนถึงยุคปัจจุบัน แต่มีการปรับเปลี่ยนลักษณะเครื่องแต่งกายของนักศึกษาปริญญาตรีบางส่วนให้ต่างจากเดิม

ภาพวาดคณาจารย์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเดินสวมชุดครุยเดินเข้าร่วมพิธี (ไม่ทราบศิลปิน, ค.ศ.1852)
ภาพเครื่องแบบนักศึกษาปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดซึ่งดัดแปลงมาจากชุดครุยเต็มตัวในอดีต และมีข้อบังคับให้นักศึกษาต้องแต่งเครื่องแบบเพื่อเข้าเรียน (ในบางสาขาวิชา) และเพื่อเข้าสอบ ในกรณีเข้าร่วมพิธีทางการของมหาวิทยาลัยจะต้องสวมชุดครุยและเครื่องแบบเต็มเสมอ (ที่มา: เว็บไซต์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด)
ชุดครุยของนักศึกษาปริญญาโท (ซ้าย) และปริญญาเอก (ขวา) ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด นักศึกษาทุกคนจะต้องสวมชุดครุยเพื่อเข้าพิธีทางการของมหาวิทยาลัย (ที่มา: เว็บไซต์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด)
 

ถึงแม้ว่าบุคลที่สวมใส่ครุยในยุคกลางจะไม่ใช่นักบวช แต่เพราะเป็นเครื่องแต่งกายลักษณะเดียวกัน จึงทำให้ผู้ที่ใส่ครุยถูกมองว่าเป็นบุคคลที่มีสัมพันธ์อันดีกับศาสนจักร ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในโลกยุคกลาง ด้วยความสัมพันธ์ที่ยึดโยงกับอำนาจของศาสนจักรนี้ ต่อมาจึงมีพิธีกรรม ‘ประสาทชุดครุย’ ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าผู้ที่สวมใส่เป็นคนมีความรู้ และความรู้นั้นได้ถูกมอบให้โดยฝ่ายศาสนจักร นอกจากนี้ พิธีประสาทชุดครุยโดยศาสนจักรยังมีนัยสำคัญทางอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ ‘ศักดิ์’ หมายถึงบุคคลนั้นไม่ใช่ชาวไร่ชาวนาแต่เป็นคนที่มีความรู้ ได้เลื่อนชนชั้นขึ้นมาเป็นปัญญาชน ส่วน ‘สิทธิ์’ หมายถึงสิทธิในการให้คำแนะนำสั่งสอนคนอื่น หรือติเตียนการทำงานของผู้มีอำนาจ การสวมชุดครุยจึงมีความหมายโดยนัยให้ผู้มีอำนาจรู้สึกเกรงใจเมื่อพบเห็น

ภาพวาดห้องเรียนในมหาวิทยาลัยโบโลญญาในอิตาลี วาดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 14
(ที่มา Wikipedia)
 

“มันเหมือนเป็นเกราะกันภัยเวลาที่คุณแบบ ‘เห้ย เนี่ยรัฐบาลบริหารไม่ดีนะ’ ถ้าเกิดคุณไม่มีครุยน่ะ เผลอๆ หัวขาดนะครับ ในสมัยนั้นน่ะ แต่ถ้าเกิดคุณใส่ครุย มันไม่มีกฎหรอกครับว่ากษัตริย์จะตัดหัวคุณไม่ได้ แต่กษัตริย์จะเกรงใจว่าคนๆ นั้นอยู่ในร่มเงาของศาสนจักรซึ่งมีอำนาจเหนืออาณาจักร ดังนั้นจึงกลายเป็นว่ากษัตริย์ก็ไม่อยากมีปัญหา คนที่ใส่ครุยเลยได้สิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์และสั่งสอนได้ นี่คือศักดิ์และสิทธิ์” สิทธารถกล่าว พร้อมย้ำว่านี่คือตรรกะหรือแนวคิดในยุโรปยุคกลางช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 เทียบเท่าสมัยสุโขทัย

สิทธารถเล่าต่อไปว่าที่อังกฤษ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ทรงประกาศให้ผู้พิพากษาในศาลต้องสวมเครื่องแบบคือชุดครุยด้วยเหตุผลที่ว่าบุคคลที่จะเป็นผู้พิพากษาต้องเป็นคนที่มีความรู้ แม้อาจจะไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัย แต่โดยประสบการณ์ก็ถือว่าเป็นคนที่มีความรู้ อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างระหว่างผู้พิพากษากับนักศึกษาและอาจารย์ในยุคกลางคือผู้พิพากษาห้ามสวมครุยออกนอกศาลโดยเด็ดขาด ขณะที่นักศึกษาหรืออาจารย์สามารถสวมใส่ออกไปนอกมหาวิทยาลัยได้ตามปกติ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะผู้พิพากษามี ‘อำนาจ’ ในการสั่งเป็นสั่งตาย แต่การใช้อำนาจนั้นจะต้องอยู่บนหลักการแห่งความรู้ตามหลักวิชา และต้องอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมเท่านั้น

“พูดง่ายๆ ว่าบัณฑิตไม่มีอำนาจ แต่อันนี้คุณมีอำนาจ ถ้าคุณใส่ครุยแล้วใช้อำนาจในสถานะและพื้นที่ที่ถูกที่ควร คุณก็ยังรักษาเกียรติของความรู้ได้ แต่ถ้าคุณมีความรู้แล้วคุณใส่ครุยไปใช้อำนาจที่มันบาทใหญ่ มันก็จะเสื่อมเสียมาถึงองค์กรและความรู้ที่คุณมี ดังนั้น ผู้พิพากษาจนถึงทุกวันนี้จะไม่ใส่ครุยเดินออกนอกศาล” สิทธารถ กล่าว พร้อมชี้ให้เห็นว่าการสวมครุยเฉพาะปฏิบัติหน้าที่ในศาลหรือเป็นธรรมเนียมของผู้พิพากษาในโลกตะวันตก ซึ่งสืบทอดมาถึงปัจจุบัน และส่งต่อธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้ให้กับผู้พิพากษาในประเทศอื่นๆ ที่รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้ รวมถึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงของชุดครุยกับอำนาจศักดินาในโลกตะวันตกเมื่อครั้งอดีต

“ครุยของไทยเป็นเครื่องบ่งศักดิ์ที่อาจจะไม่ได้สัมพันธ์กับความรู้ จริงๆ คือไม่สัมพันธ์เลย แต่ของตะวันตกมันคือเสื้อที่บ่งว่าคนผู้นั้นมีความรู้จึงทำให้มีศักดิ์ แต่ของไทยเป็นเครื่องบ่งศักดิ์เพราะคนที่ใส่จะเป็นขุนนางที่ต้องเข้าเฝ้าเท่านั้น” - ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร

สิทธารถเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์เพิ่มเติมเรื่องครุยในโลกตะวันตกว่าในช่วงปฏิวัติอเมริกา โทมัส เจฟเฟอร์สัน หนึ่งในผู้ก่อตั้งสหรัฐอเมริกามองว่าครุยเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นศักดินา และต้องการจะยกเลิก ให้ผู้พิพากษาแต่งกายด้วยชุดอื่น แต่จอห์น อดัมส์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งอีกคนเห็นแย้งและต้องการรักษาธรรมเนียมนี้ไว้ สุดท้ายจึงมีการโหวตกันในกลุ่มผู้ก่อตั้งประเทศเรื่องธรรมเนียมของศาลและผู้พิพากษา โดยความคิดจอห์น อดัมส์ชนะโหวต ทำให้ผู้พิพากษาของสหรัฐฯ ต้องสวมชุดครุยตามแบบอังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้ แต่สิ่งที่ต่างคือผู้พิพากษาสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องสวมวิกเหมือนกับอังกฤษ

“ถ้าไม่นับวงการการศึกษาแล้วก็จะมีศาลที่ใส่ชุดครุย เพราะความรู้คืออำนาจ ดังนั้นศาลที่พิพากษาเขาก็ต้องมีความรู้ ศึกษากฎหมายมาเพื่อจะใช้อำนาจ[ในการตัดสินคดี] แต่เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ว่าอำนาจที่เขามีนั้นกอปรด้วยความรู้และหลักวิชา ไม่ใช่สั่งตามอำเภอใจ นั่นเป็นเหตุผลที่จอห์น อดัมส์ ยังอยากให้ใส่ครุยอยู่ เพราะโดยหลักแล้วครุยคือเครื่องแบบของผู้มีความรู้ สามารถวิจารณ์รัฐบาลได้โดยที่หัวยังอยู่บนบ่าโดยสมบูรณ์ ไม่โดนลงโทษเสียก่อน” สิทธารถ กล่าว

ประวัติ 'ชุดครุย' แบบไทยและความศักดิ์สิทธิ์ที่ยึดโยงกับชนชั้นนำ

สิทธารถกล่าวว่าชุดครุยแบบไทยที่เห็นในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มักเรียกกันแบบภาษาปากกว่า ‘ครุยเทวดา’ หรือ ‘ครุยมุ้ง’ เพราะใช้ผ้าแก้วบาง แม้ว่าลักษณะชุดครุยแบบไทยและแบบตะวันตกจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่มักษณะการใช้งานของชุดครุยทั้งแบบไทยและตะวันตกนั้นเหมือนกันคือเครื่องแต่งกายที่บ่งถึงอำนาจและความรู้

สิทธารถอธิบายว่าตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ครุยแบบไทยมีลักษณะทรงคล้ายเสื้อคลุมของชาวเปอร์เซีย ประมาณราชวงศ์ซาฟาวิยะห์หรือซาฟาวิด (ค.ศ.1501-1722) ราชวงศ์ซาฟาวิดเข้ามาติดต่อกับอาณาจักรอยุธยาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งตรงกับสมัยของพระนารายณ์มหาราช เครื่องแต่งกายของชาวเปอร์เซียนี้เป็นที่ถูกใจชนชั้นนำอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระนารายณ์ มีเอกสารทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่าพระองค์ทรงโปรดเครื่องแต่งกายแบบเปอร์เซียมาก แต่ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ว่าทำไมถึงโปรด อย่างไรก็ตาม ความโปรดของพระองค์นั้นนำไปสู่ ‘พระราชนิยม’ หรือ ‘เทรนด์’ ชนชั้นนำและขุนนางอยุธยาในยุคนั้นจึงสวมใส่ตามกษัตริย์

ส่วนคำว่า ‘ครุย’ นั้นมีที่มาจากภาษาใดยังไม่แน่ชัด แต่สิทธารถกล่าวว่านักวิชาการบางส่วนคาดว่าคำนี้น่าจะมีที่มาจากภาษาเปอร์เซีย ซึ่งก็สมเหตุสมผลและอาจเป็นไปได้ เพราะรูปแบบเสื้อที่พบครั้งแรกๆ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาจากชาวเปอร์เซีย แต่นักวิชาการบางคนอาจไม่เห็นด้วย ซึ่งเรื่องที่มาของคำว่า ‘ครุย’ ยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงวิชาการ

สิทธารถกล่าวว่าภาพที่คุ้นตาที่สุด หากไม่นับภาพที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงสวมเองก็จะมีภาพคณะทูตของอยุธยาที่ไปฝรั่งเศสและวาติกัน ที่สวมชุดนี้พร้อมกับลอมพอก และเหน็บกริช ซึ่งเป็นการแต่งกายลักษณะเดียวกับชาวเปอร์เซีย แต่กริชของขุนนางอยุธยานั้นเป็นกริชมลายู นอกจากนี้ สิทธารถยังตั้งข้อสังเกตุว่าเสื้อครุยหรือเสื้อคลุมเปอร์เซียที่คณะทูตอยุธยาใส่ขณะไปเยือนฝรั่งเศสนั้นมีวิธีสวมทับแบบ ‘เสื้อป้าย’ คล้ายกับการสวม ‘ฮั่นฝู’ ซึ่งหรือเสื้อคลุมในสมัยราชวงศ์หมิงของจีน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะอากาศหนาวจึงต้องปรับวิธีการสวมใส่ หลักฐานเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ‘ครุย’ เป็นเครื่องแต่งกายทางเป็นทางการในราชสำนักอยุธยา อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นต้นมา

พระวิสุทสุนทร (โกษาปาน) หัวหน้าคณะทูตกรุงศรีอยุธยาที่เดินทางเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กษัตริย์ของฝรั่งเศส (ที่มา: นิตยสารศิลปวัฒนธรรม)
 

การสวมชุดครุยในราชสำนักถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยานานหลายร้อยปี แต่เหตุใดในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีหมายรับสั่งให้ขุนนาง ‘เลิกถอดเสื้อเข้าเฝ้า’ แสดงว่าช่วงระยะเวลาระหว่างนี้จะต้องเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น จนทำให้ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ราชสำนักมีคำสั่งให้ขุนนางหรือคนที่จะเข้าเฝ้ากษัตริย์ต้องถอดเสื้อ เพราะเกรงว่าจะพกอาวุธเข้ามาเพื่อทำร้ายกษัตริย์ ซึ่งต้องไปศึกษาต่อว่าจากเสื้อคลุมผ้าทึบในสมัยพระนารายณ์กลายเป็นเสื้อคลุมผ้าโปร่งและการถอดเสื้อในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ได้อย่างไร

สิทธารถสันนิษฐานว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวงที่ปราบดาภิเษกขึ้นมาโดยต้นราชวงศ์คือสมเด็จพระเพทราชา ทำให้เกิดมีแรงเสียดทานเยอะ เกิดกบฎอยู่บ่อยครั้ง จึงอาจเป็นไปหรือไม่ว่าในช่วงราชวงศ์บ้านพลูหลวงอาจจะยังให้ใส่ครุยได้ แต่เปลี่ยนให้ผ้าโปร่งจะได้มองเห็นว่าไม่มีอาวุธ หรือข้อสันนิษฐานที่ 2 อาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องการทำร้ายกษัตริย์ แต่อาจเกี่ยวกับเรื่องอากาศร้อน ถ้าผ้าโปร่งก็อาจจะทำให้เย็นสบาย หรืออาจเป็นไปได้ทั้ง 2 ข้อสันนิษฐาน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นผลเด่นชัดจากความเปลี่ยนแปลงนี้ คือ การสวมชุดครุยยังมีมาจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่เป็นครุยผ้าโปร่ง ยกเว้นครุยของกษัตริย์เท่านั้นที่ยังเป็นครุยผ้าทึบ และเสื้อครุยแบบไทยที่มีมีมายาวนานนี้ คนที่มีสิทธิได้ใส่คือขุนนางหรือคนที่มีอำนาจ ไม่ใช่คนทั่วไป

“ครุยของไทยเป็นเครื่องบ่งศักดิ์ที่อาจจะไม่ได้สัมพันธ์กับความรู้ จริงๆ คือไม่สัมพันธ์เลย แต่ของตะวันตกมันคือเสื้อที่บ่งว่าคนผู้นั้นมีความรู้จึงทำให้มีศักดิ์ แต่ของไทยเป็นเครื่องบ่งศักดิ์เพราะคนที่ใส่จะเป็นขุนนางที่ต้องเข้าเฝ้าเท่านั้น” สิทธารถ กล่าว

สิทธารถกล่าวว่าการสวมเสื้อครุยในราชสำนักยังมีให้เห็นต่อมากระทั่งช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ไม่มั่นใจว่าการสวมเสื้อครุยเพื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์หายไปในยุคใดกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองอภิวัฒน์สยาม พ.ศ.2475 ธรรมเนียมการใส่ชุดครุยของข้าราชการและขุนนางเพื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์มีเพียงใส่สวมใส่ในงานพระราชพิธีขนาดใหญ่บางงานเท่านั้น และผู้ที่ใส่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนในงานรัฐพิธีได้ตัดธรรมเนียมการสวมชุดครุยออกไป ให้ข้าราชการใส่เฉพาะชุดปกติขาวเท่านั้น

“แน่นอน ความรู้ย่อมนำมาซึ่งอำนาจ แต่อำนาจอันกอปรด้วยความรู้เท่านั้นถึงจะทำให้คนๆ นั้นมีความสุขและประสบความสำเร็จในสังคม แต่อย่ามีอำนาจ โดยไม่ได้ใช้อำนาจนั้นประกอบกับหลักวิชาความรู้ ไม่งั้นสังคมจะยิ่งแย่ อำนาจต้องกอปรด้วยหลักวิชา มันถึงจะเป็นอำนาจที่เป็นธรรม” - ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร

ต่อมา ครุยได้เข้ามาในระบบการศึกษาครั้งแรกในโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน (ปัจจุบันคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือนนี้เป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างบุคลากรไปเป็นข้าราชการที่ประจำการตามที่ต่างๆ ในระบบราชการแผนใหม่ช่วงปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่จะต้องออกไปประจำตามหัวเมืองต่างๆ เมื่อมีโรงเรียนลักษณะนี้ขึ้นมา ก็จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องประกอบยศให้แก่คนที่จะไปเป็นข้าราชการ ซึ่งเทียบเท่ากับขุนนางในสมัยก่อนหน้านั้น

“ดังนั้น คนที่เขาสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนี้ ปลายทางเขาย่อมจะเป็นข้าราชการ และ/หรือขุนนางอยู่แล้ว (ในสมัยรัชกาล 6) เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาเขาจึงได้ครุยไงครับ เพราะมันเป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจ จนตอนหลังมีการจัดระเบียบใหม่ สถาปนาใหม่จากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนให้กลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สิ่งนี้จึงยังติดมา เหมือนเป็นจารีตว่ายังต้องใส่อยู่ เป็นธรรมเนียมของขุนนาง แต่ปัจจุบัน คนที่เรียนจบ (จุฬาฯ) ก็ใช่ว่าจะต้องไปเป็นขุนนางหรือข้าราชการกันทุกคน แต่มันมีรูปแบบนี้อยู่แล้วก็เลยใส่ต่อไป ดังนั้น ครุยในระบบการศึกษาจึงเริ่มในจุฬาฯ และสถาบันอื่นๆ ก็รับไม้ต่อ” สิทธารถ กล่าว

ภาพบัณฑิตสวมชุดครุยในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

'ครุย' เครื่องหมายแห่งระบอบอำนาจนิยม

ศรายุทธบอกว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ทุกคนจึงต้องพยายามดิ้นรนไต่เต้าเพื่อเลื่อนชนชั้นให้สูงขึ้น จะได้ยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมตามไปด้วย ซึ่งหนึ่งในวิธีคิดแบบเดิมคือการได้ประกอบอาชีพที่สวมเครื่องแบบ โดยเฉพาะเครื่องแบบราชการ หมายถึงการยกระดับสถานะทางสังคม แล้วการที่จะได้ประกอบอาชีพที่สวมเครื่องแบบเหล่านั้น ขั้นตอนแรกคือต้องได้รับใบปริญญา และสวมชุดครุย ชุดครุยจึงเป็นเครื่องแต่งกายที่บอกลำดับศักดิ์ในระบอบอำนาจนิยมอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ ความคิดของคนเปลี่ยนไป คนที่สวมชุดครุยอาจจะไม่ได้อยากทำงานที่ต้องสวมเครื่องแบบ หรือคนที่สวมเครื่องแบบในการทำงานอาจจะไม่ได้อยากสวมชุดครุยเสมอไป ดังนั้น แนวคิดเรื่องการแต่งเครื่องแบบจึงควรถูกนำมาตีความและตั้งคำถามใหม่ โดยเฉพาะในวงการการศึกษาไทยที่บังคับให้ผู้เรียนต้องสวมเครื่องแบบตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย

“จริงๆ วิธีคิดแบบเครื่องแบบเนี่ยมันควรที่จะสวมไว้เฉพาะเฉพาะเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐครับให้มันมีการแสดงตัวเพื่อจะได้รู้ว่าคุณคือเจ้าหน้าที่รัฐ คุณมีอำนาจทางกฎหมายมหาชน มีอำนาจที่มากกว่าประชาชนทั่วไป เพราะฉะนั้นคุณควรจะต้องสวมเครื่องแบบเพื่อแสดงให้รู้ว่าคุณคือใคร หน่วยงานคุณคือใคร จะได้รู้ว่าอำนาจคุณมีอยู่เท่าไหน” ศรายุทธ กล่าว

ศรายุทธ นาคมณี
 

ศรายุทธบอกว่าเขาไม่ได้ต่อต้านการสวมเครื่องแบบทุกประเภท แต่ต้องขึ้นอยู่กับหน้าที่ ความจำเป็น และความเหมาะสม เช่น การทำงานในโรงงาน ต้องมีกฎเกณฑ์เรื่องการสวมเครื่องแบบเพื่อความปลอดภัย หรือการทำงานในบริษัทเอกชนที่ต้องแต่งเครื่องแบบเพื่อแสดงตนว่าเป็นคนของบริษัทนี้ ซึ่งก็เป็นหลักคิดเดียวกับการแต่งเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานะนักศึกษานิติศาสตร์ ศรายุทธบอกว่าคณะที่เขาเรียนมีความเคร่งครัดเรื่องเครื่องแต่งกายมาก โดยอาจารย์ให้เหตุผลว่าเพื่อการประกอบอาชีพในสายงานวิชาชีพทางกฎหมายในอนาคต และการแต่งกายที่เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของการศึกษา ซึ่งส่วนตัวศรายุทธมองว่า ‘มันไม่ใช่’ การแต่งกายควรเป็นสิทธิเสรีภาพของผู้เรียน สถานศึกษามีหน้าที่สอนว่าควรแต่งกายแบบไหน แต่ไม่ควรบังคับและนำมาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของผู้เรียน นอกจากนี้ ศรายุทธบอกว่าการบังคับใส่นักเรียนนักศึกษาสวมเครื่องแบบยังเป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์หรือความคิดเห็นอื่นๆ ของเด็กไม่ให้เติบโต

“ไปเรียนรู้เรื่องเครื่องแบบตอนที่คุณจะเป็นผู้พิพากษาดีกว่า ในวันนี้เราเป็นนักศึกษา เราเป็นคนที่จะต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมาย ผมไม่เชื่อหรอกว่าคนเป็นพันที่เรียนคณะนี้ เขาอยากจะเป็นผู้พิพากษากันทั้งหมด คุณจะเอาความฝันของคุณคนเดียวมาครอบงำสังคมทั้งหมดคงไม่ได้” ศรายุทธกล่าว

“ไม่จำเป็นที่จะต้องมาฝึกกันตั้งแต่ในโรงเรียน การที่สังคมเรามีเครื่องแบบมันมันทำให้วิธีคิดอื่นๆ ที่เป็นเสรีภาพมันไม่เติบโต เรื่องนี้คือประเด็นสำคัญมาก นี่คือเหตุผลเหตุผลที่ทำให้ผมตัดสินใจเผาครุยได้อย่างไม่ลังเล เพราะการคิดว่าทุกอย่างมีแบบแผนและไม่สามารถตั้งคำถามได้ เพราะคำว่าศักดิ์สิทธิ์ แม้กระทั่งเรื่องเครื่องแบบ ความคิดนี้มันทำลายผลผลิตอื่นๆ ที่มันควรจะงอกงามในสังคมไปอย่างราบคาบ”

ด้านสิทธารถกล่าวว่าชุดครุยเป็นเครื่องแบบที่บ่งชนชั้นและอำนาจนิยม เพราะในยุคหนึ่งเรามองว่าการรับปริญญามันเป็นเหมือนการเลื่อนสถานะทางสังคม ซึ่งปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้เพราะมีวิธีคิดเหล่านั้นจริงๆ และยิ่งมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยด้วยค่านิยมทางสังคม ยิ่งทำให้ชุดครุยของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง แลดูดีหรือแลดูสูงส่งกว่าสถาบันใดสถาบันหนึ่ง แต่ส่วนตัว สิทธารถมองว่าไม่ค่อยเป็นธรรมนักเพราะคนมีหลายแบบ ไม่ว่าจะในมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับสูงๆ หรือมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับรองลงมาก็มีทั้งคนที่ตั้งใจเรียนและไม่ตั้งใจเรียน

“นี่พูดในฐานะอาจารย์เพราะเจอคนมาทุกรูปแบบ” สิทธารถ กล่าว พร้อมกล่าวเสริมว่า “ถ้ามันจะมีการเกรดดิ้ง (จัดอันดับ) ผมว่าไม่ใช่เป็นการเกรดดิ้ง แบ่งระดับกันในเชิงสถาบัน แต่ (ควร) เป็นการแบ่งระดับในเชิงทักษะความรู้ที่คุณได้จากการเรียนมากกว่า”

สิทธารถอธิบายเพิ่มเติมเรื่องระบอบอำนาจนิยมที่แสดงออกผ่านระบบการศึกษา ซึ่งนอกจากชุดครุยแล้ว คำเรียกชื่อวุฒิปริญญาในภาษาไทยยังบ่งลำดับศักดิ์ (hierachy) ของผู้เรียน เพราะคำว่า ‘ตรี โท เอก’ ใช้เพื่อบอกลำดับชั้นยศของขุนนางในอดีต แต่ในภาษาอังกฤษ ชื่อเรียกวุฒิปริญญาจะแบ่งการตามใช้งานหรือลักษณะการนำความรู้ไปใช้

"...การคิดว่าทุกอย่างมีแบบแผนและไม่สามารถตั้งคำถามได้ เพราะคำว่าศักดิ์สิทธิ์ แม้กระทั่งเรื่องเครื่องแบบ ความคิดนี้มันทำลายผลผลิตอื่นๆ ที่มันควรจะงอกงามในสังคมไปอย่างราบคาบ" - ศรายุทธ นาคมณี

สิทธารถอธิบายคำว่า Bachelor’s degree แปลตรงตัวว่าปริญญาคนโสด เป็นปริญญาระดับเริ่มต้นสำหรับนำความรู้ไปประกอบอาชีพ ส่วน Master’s degree แปลตรงตัวว่าปริญญาของเจ้านาย สื่อให้เห็นว่าเมื่อมีประสบการณ์มากพอในอาชีพแขนงใดแขนงหนึ่ง จึงได้รับปริญญาระดับนี้เพื่อเลื่อนระดับการทำงานให้สูงขึ้น ขณะที่ Doctor’s degree แปลตรงตัวว่าปริญญาของหมอ ซึ่งหมอคนที่มีความรู้สูงสุด ที่สามารถสั่งสอน ให้คำแนะนำ และบำบัดรักษาข้อผิดพลาด มีสถานะเป็นอาจารย์ผู้ให้ความรู้ จากคำอธิบายนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าในมุมของตะวันตก การมีใบปริญญาและการสวมชุดครุยหมายถึงบุคคลจะต้องมีความรู้เสมอ และความรู้นั้นจะนำมาซึ่งอำนาจในภายหลัง

“ถ้าถามว่า ‘คนหนึ่งคนจะเป็นนายของอีกคนได้อย่างไรครับ’ ถ้าเป็นประเทศแถวนี้ก็คงตอบว่า ‘ชาติกำเนิด’ ไง เขาเกิดเป็นลูกขุนนางเขาก็เป็นนายคนแล้ว ‘อ้าว ไม่ต้องมีความรู้เหรอ’ ไม่ต้อง (เสียงสูง) แต่ต่างประเทศไม่ได้นะ คุณต้องมีความรู้มากพอ คุณถึงมีศักดิ์ที่จะเป็นนายคนได้” สิทธารถ กล่าว

ภาพวาดการประชุมของผู้ได้รับปริญญาเอก (Doctor's Degree) ในห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยปารีส สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 (ที่มา Wikipedia)
 

“การที่เรามาเรียนคือการพัฒนาตัวเอง พัฒนาให้ตัวเรามีความรู้ความสามารถ  มีทักษะที่นำไปใช้ในชีวิตได้ หรือสามารถไปใช้บังคับบัญชาคนอื่น หรือนำไปแก้ไขปัญหาให้คนอื่นได้ คุณไม่จำเป็นจะต้องเป็นหมอทุกคน คุณไม่จำเป็นจะต้องเป็นนายทุกคน มันต้องมีบางคนเท่านั้นที่เป็นนาย และไม่ใช่ว่านายจะสูงส่งกว่าลูกน้อง ถ้ามีแต่นาย ไม่มีลูกน้อง มันไม่มีทางสำเร็จ” สิทธารถ กล่าว

“แน่นอน ความรู้ย่อมนำมาซึ่งอำนาจ แต่อำนาจอันกอปรด้วยความรู้เท่านั้นถึงจะทำให้คนๆ นั้นมีความสุขและประสบความสำเร็จในสังคม แต่อย่ามีอำนาจ โดยไม่ได้ใช้อำนาจนั้นประกอบกับหลักวิชาความรู้ ไม่งั้นสังคมจะยิ่งแย่ อำนาจต้องกอปด้วยหลักวิชา มันถึงจะเป็นอำนาจที่เป็นธรรม” สิทธารถ กล่าว

“เครื่องแบบมันเป็นตัวภายนอกก็จริง แต่มันก็สะท้อนความคิดอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งเสื้อผ้า (ครุย) มันอาจจะเป็นเครื่องแต่งกายฉาบฉวยที่ใส่เพียงไม่กี่วัน แต่ว่ามันก็บอกวิธีคิดและการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เยอะเหมือนกัน” สิทธารถ กล่าว

ผศ.สิทธารถ ศรีโคตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net