เราควรรับมือกับ 'ข้อมูลที่ผิด' ในกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนอย่างไร

ไม่ใช่แค่ 'กนก-ธีระ' ที่นำเสนอข่าวบิดเบือนเกี่ยวกับยูเครน 'หมอเหรียญทอง' ก็แชร์ข่าวที่ไม่จริงว่าประธานาธิบดีของยูเครนลี้ภัยไปอยู่โปแลนด์ โดยอ้าง ส.ส. ยูเครนฝ่ายโปรรัสเซียที่มีกรณีโกงสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเพื่อนำไปขึ้นเงินเดือน และเฟซบุ๊กเพจของ 'สนธิทอล์ก' ก็แชร์ภาพโดยอ้างว่าปูตินเคยชื่นชมรัชกาลที่ 9 เป็น "กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไม่เคยสู้รบกับใคร" ทั้งที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน ยังไม่รวมคำชี้แจงที่มีการบิดเบือนหลายจุดของทูตรัสเซีย

แม้การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารจะฟังดูเป็นปัญหาที่มาจากฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่ข่าวเหล่านี้ก็อาจมาจากฝ่ายสนับสนุนยูเครนได้เช่นกัน ปัจจุบันประเทศใดมีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยูเครนแพร่สะพัดที่สุดในโลก สื่ออิสระกำลังปรับตัวอย่างไรในยุคที่แนวรบดิจิทัลสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้อ่านควรตรวจสอบอย่างไรไม่ให้ตกหลุมพราง ประชาไทนำเสนอสถานการณ์ภาพรวมของการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยูเครนเพื่อไม่ให้ "ความจริง" เป็นเหยื่อรายแรกในสงคราม

กนก-ธีระ ขอโทษแล้ว ไม่ผิดข้อบังคับสื่อฯ

3 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา 'กนก รัตน์วงศ์สกุล' และ 'ธีระ ธัญไพบูลย์' ผู้ประกาศข่าวรายการ 'เล่าข่าวข้น' ของโทรทัศน์ ททบ. 5 ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีนำเสนอข่าวบิดเบือนเกี่ยวกับยูเครน โดยเปิดวิดิโอให้ผู้ชมดูแล้วอ้างว่าเป็นการจัดฉากผู้เสียชีวิตในยูเครน 'ธีรนัย จารุวัสตร์' ผู้สื่อข่าวภาคภาษาอังกฤษ กรรมการสมาคมนักข่าว และอุปนายกฝ่ายปฏิรูปสื่อตรวจสอบพบว่าที่จริงแล้วเป็นการนำข่าวประท้วงของนักกิจกรรมที่ออสเตรียเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 64 เกี่ยวกับนโยบายความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมาบิดเบือน ก่อนหน้านี้ วิดิโอดังกล่าวเคยถูกนำไปบิดเบือนโดยนักทฤษฎีสมคบคิดในต่างประเทศว่าเป็นการจัดฉากผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ด้วย

กนก รัตน์วงศ์สกุล (ซ้าย) และ ธีระ ธัญไพบูลย์(ขวา)

หลังจากธีรนัยออกมาเรียกร้ององค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หรือสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ให้ตรวจสอบเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวบิดเบือนกรณีนี้ตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส. พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ออกมาระบุว่ากรณีนี้ "ทำให้เกิดข้อกังวลถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปราะบางสับสน" และ "เตรียมเชิญ พล.ท. รังษี กิตติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ช่อง ททบ.5 มาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แนวทางรับผิดชอบ พร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อหาทางออกในอนาคต"

วันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์ระบุว่า ผู้ประกาศข่าวทั้ง 2 คนได้ออกมาขอโทษผู้ชมในรายการ "เล่าข่าวข้น" ในวันต่อมา ซึ่งถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนแล้ว และผู้บริหารของช่อง 5 ก็ได้ดำเนินการตักเตือนก่อนผู้ประกาศข่าวให้ออกมาขอโทษแล้ว โดยผู้บริหารยืนยันว่า ททบ.5 "ยึดมั่นในหลักจริยธรรมในการนำเสนอข่าวและรายการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข้อเท็จจริง และความถูกต้อง"

แต่ในขณะที่ชาติตะวันตกร่วมกันแบนสื่อสัญชาติรัสเซียอย่าง RT และ Sputnik ททบ.5 ก็สวนกระแสทั้งที่เพิ่งเกิดเรื่องนำเสนอข่าวบิดเบือนไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ในการพบปะกันระหว่างพล.อ.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของช่อง และเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยที่สถานทูตรัสเซีย พล.อ.รังษีก็ได้ประกาศให้ความร่วมมือกับทางการรัสเซียในการแลกเปลี่ยนข่าวสารกับสำนักข่าวของรัสเซีย โดยทั้งฝ่ายไทยและรัสเซียก็อ้างว่าเป็นความร่วมมือเพื่อให้เกิดการรายงานข่าวอย่างรอบด้านและถูกต้องแม่นยำในสภาวะปัจจุบันที่มีการทำ “สงครามข่าวบิดเบือน”

ขณะที่ต้องจับตาดูต่อไปว่าผู้อำนวยการช่อง 5 จะเข้ามาชี้แจงผ่านทางรัฐสภาหรือไม่และอย่างไร สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือการกำกับควบคุมสื่อเป็นทางออกที่ไม่ครอบคลุมและยั่งยืนในการแก้ปัญหา ไม่ครอบคลุมเพราะใครก็แชร์ข้อมูลที่ผิดทางโซเชียลมีเดียได้ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับสื่อกระแสหลัก ในกรณีนี้เอง กนก-ธีระ ก็นำเสนอข่าวโดยอ้างจากผู้ใช้โซเชียลมีเดียซึ่งผู้ประกาศข่าวทั้ง 2 เห็นว่าน่าเชื่อถือ ไม่ยั่งยืนเพราะเราอยู่ในยุคที่ข้ออ้างในการกำกับสื่ออาจถูกเอามาใช้เพื่อลิดรอนเสรีภาพสื่อและการแสดงออก หรือฉวยโอกาสเพื่อนำเสนอโฆษณาชวนเชื่อทางเดียวโดยปราศจากข้อเท็จจริงจากรัฐได้ โดยเฉพาะเมื่อสงครามทางจิตวิทยาถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้นในความขัดแย้งทั้งภายในรัฐและระหว่างรัฐ

หมอเหรียญทองก็แชร์ข่าวเท็จ

อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือข่าวที่ ดร. เหรียญทอง แน่นหนา แชร์มาจากเพจชื่อว่า World Update เมื่อประมาณวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมาโดยอ้างว่า "ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เชเลนสกี้ ของยูเครนได้ตัดช่องน้อยหลบหนีเอาตัวรอดทางช่องทางธรรมชาติไปหลบซ่อนตัวอยู่ในสถานทูตสหรัฐ ฯ ประจำโปแลนด์เรียบร้อยแล้ว แต่สั่งการอย่างห่วงๆ อยู่ห่างๆ ทางไกลเข้ามาในประเทศผ่านวิดิโอคอล ทำให้เขาไม่สามารถเห็นสถานการณ์จริงกับตาตนเองว่าประชาชนจะต้องเผชิญความทุกข์อย่างไรในภาวะสงคราม"

ข่าวดังกล่าวอ้างว่าข้อมูลนี้มาจาก "นาย Kiva ส.ส. ของยูเครน" เรื่องนี้มีปรากฎอยู่ในสื่อภาษาอังกฤษบางแห่งโดยอ้างว่ามาจากบุคคลดังกล่าว แต่ก็น่าตั้งคำถามเกี่ยวกับวาระแอบแฝงอย่างมาก ผู้สื่อข่าวประชาไทตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าชื่อเต็มของ ส.ส. ที่ว่านี้คืออิเลีย คีวา (Ilya Kiva) อายุ 44 ปี เป็นนักการเมืองยูเครนที่มีประวัติโชกโชน เขาเคยสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ให้เขตแห่งหนึ่งของกรุงเคียฟ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในปี 2013 หลังเริ่มมีชื่อเสียง เขาจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าของเขตโดเนสก์ (ที่ปัจจุบันรัสเซียประกาศให้เป็นรัฐอิสระ) และกองปราบปรามยาเสพติดของกระทรวงมหาดไทยของยูเครน คีวาเคยบอกด้วยว่าเขาพร้อมใช้วิธีการนอกกฎหมายในการปราบปรามยาเสพติด

ในปี 2019 เขาเคยสมัครเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคสังคมนิยมยูเครน และได้คะแนนเพียง 5,569 เสียงหรือ 0.03 เปอร์เซ็นต์ของผู้ออกมาใช้คะแนนเสียงทั้งหมด ในปี 2021 เขามีประวัติโกงสอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เพื่อนำไปใช้ขึ้นเงินเดือน นอกจากจะสอบป้องกันวิทยานิพนธ์แบบงูๆ ปลาๆ นักข่าวยูเครนยังจับโกหกเขาได้ว่าเขาไม่ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสำเร็จการศึกษา (งานวิจัยของเขาอยู่ในหน้า 152-154 แต่วารสารตีพิมพ์ประกอบการจบมีเพียง 144 หน้า) สุดท้ายกระทรวงศึกษาธิการของยูเครนก็ไม่รับรองตำแหน่งปริญญาเอกให้กับเขา เพราะกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อตัวเขา ระบบการศึกษาของยูเครนในภาพรวม และคุณภาพชีวิตของนักวิจัยที่ทำงานอย่างหนักแต่ทำงานหาเลี้ยงตัวเองอย่างยากลำบาก

อิเลีย คิวา มีเรื่องน่าตั้งคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถืออีกหลายอย่าง เมื่อ ส.ค. 2021 ตอนที่เขาเป็น ส.ส. ให้กับพรรค Opposition Platform - For Life พรรคฝ่ายค้านของยูเครน เขาถูกศาลปราบปรามการทุจริตของยูเครนสั่งยึดทรัพย์ 1.2 ล้านฮริฟเนีย (สกุลเงินของยูเครน) เนื่องในข้อหายักยอกหลุมของเสียจากการผลิตน้ำตาล ซึ่งนับเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยูเครน และหลังรัสเซียประกาศรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เขาก็ถูกขับออกจากพรรค Opposition Platform - For Life ในข้อแทรกแซงการเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซีย นอกจากนี้ อัยการสูงสุดของยูเครนยังฟ้องเขาในข้อหากบฎ ข้อหาล่วงล้ำบูรณภาพดินแดนของยูเครน ข้อหามีส่วนร่วมในการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซีย และข้อหาครอบครองอาวุธผิดกฎหมายจากวีรกรรมต่างๆ ของเขาอีกด้วย

นอกจากแหล่งข่าวจะมีประวัติน่าตั้งคำถามแล้ว ข้ออ้างเรื่องการหนีไปอยู่โปแลนด์ของประธานาธิบดีเชเลนสกี้ของยูเครนที่เผยแพร่ออกมาโดยคีวา ยังตรงกับข้ออ้างของวลาเชสลาฟ โวโลดิน โฆษกรัฐสภาของรัสเซียด้วย จากข้อมูลของ Ukraine Facts ระบุว่าเรื่องนี้ปราศจากหลักฐานยืนยันใดๆ และคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากใครจะวิเคราะห์ว่านี่เป็นกลยุทธ์การโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียในการบั่นทอนขวัญกำลังของชาวยูเครน ประธานาธิบดีเชเลนสกี้เองก็ยืนยันด้วยการโพสต์วิดิโอตัวเองในที่ทำงานเพื่อยืนยันว่าตัวเองไม่ได้หนีไปไหน แม้ว่าจะตกเป็นเป้าของการลอบสังหารหลายครั้ง และได้รับข้อเสนอจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ลี้ภัยออกไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในโปแลนด์ก็ตาม

เว็บไซต์ข่าว MALDITA ในสเปนสร้างหน้าเว็บสำหรับตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวในสงครามรัสเซีย-ยูเครนขึ้นมาในชื่อ #UkraineFacts

ข่าวที่หมอเหรียญทองแชร์มีจุดน่าสงสัยอีกหลายอย่าง เช่น การอ้างว่ากองทัพรัสเซียจับมือกับกองทัพยูเครนเพื่อถล่มกองทัพ Azov ข้อมูลนี้ยังไม่พบหลักฐานรองรับใดๆ ในด้านหนึ่ง ข้อมูลชุดนี้มีเจตนาเพื่อทำให้กองทัพยูเครนไขว้เขว ถอดใจในการป้องกันประเทศ และเข้าร่วมกับฝ่ายรัสเซีย สอดคล้องกับที่วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียเคยเรียกร้องให้กองทัพยูเครนรัฐประหารเพื่อให้เจรจาสันติภาพได้สะดวกขึ้น อีกด้านหนึ่ง แม้กองทัพ Azov มีอุดมการณ์แบบนาซีบางส่วนจริงและมีพฤติกรรมบางอย่างน่าแคลงใจ เช่น การชุบกระสุนด้วยน้ำมันหมูเพื่อต่อสู้กับทหารมุสลิมเชชเชน แต่กองทัพ Azov ได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพประจำการยูเครนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 แล้ว และดูจะไม่ได้มีความขัดแย้งกับกองทัพยูเครนอย่างมีนัยสำคัญ

หากจะพูดถึงอิทธิพลของลัทธินีโอนาซีในยูเครน ผู้นำกองทัพ Azov เคยออกมายอมรับว่ามีสมาชิกเป็นลัทธินาซีอยู่ประมาณ 15-20% แม้ฟรีดอมเฮาส์จะระบุในรายงานว่ากลุ่มนีโอนาซีจัดกิจกรรมทางการเมืองและก่ออาชญากรรมเกลียดชังบ่อยครั้งในยูเครน แต่ในทางการเมือง พรรคขวาจัดที่สุดในยูเครนอย่างพรรค Svoboda กลับได้คะแนนเพียง 4-5 เปอร์เซ็นต์ในการเลือกตั้งปี 2557 และในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2019 พรรคดังกล่าวพร้อมกับแนวร่วมขวาจัดก็ได้คะแนนเพียง 2.15% เท่านั้น และเคยมีประวัติขับไล่สมาชิกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นนาซีออกจากพรรคด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้พรรคเสียภาพลักษณ์ หากมีอะไรส่งเสริมลัทธินีโอนาซีในยูเครนได้ดีที่สุด ก็คงเป็นการรุกคืบเข้ามาของรัสเซียตั้งแต่ครั้งรุกรานแหลมไครเมีย ซึ่งก่อให้เกิดกระแสชาตินิยมเพิ่มมากขึ้นในยูเครน แต่ต่อให้กระแสความนิยมลัทธินาซีจะเพิ่มมากขึ้นจริง ปัญหาก็ไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นที่ประเทศถูกปกครองด้วย "แก๊งนาซีติดยา" อย่างที่วลาดิมีร์ ปูติน กล่าวอ้าง โวโลดีมีร์ เชเลนสกี้เป็นชาวยิว และหลังขึ้นเป็นประธานาธิบดี เชเลนสกี้ก็มีนโยบายบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดขึ้นเพื่อจัดการกับอาชญากรรมโดยกลุ่มขวาจัดอย่างเห็นได้ชัด

ส่วนเรื่องทหารรับจ้าง เราสามารถเห็นได้จากรายงานภาพรวมในเวลาต่อมาว่าเป็นสิ่งที่คู่ขัดแย้งทำกันทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่ยูเครนมีชาวยูเครนกว่า 60,000 คนเดินทางกลับมาช่วยรบในประเทศ และมีชาวต่างชาติอาสาร่วมรบกว่า 20,000 คน มีบริษัททหารเอกชนในโลกตะวันตกเปิดรับสมัครทหารมืออาชีพเพิ่มขึ้นโดยประกาศว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพาพลเรือนอพยพจากพื้นที่ปะทะ และมีการยอมรับว่าบางครั้งเส้นแบ่งระหว่างภารกิจช่วยเหลือและภารกิจสังหารข้าศึกอาจคลุมเครือเมื่อสถานการณ์บังคับ แต่รัสเซียก็นำทหารรับจ้าง 16,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียมาสมทบ หลังจากที่ทหารมืออาชีพและทหารเกณฑ์ของรัสเซียเองไม่ประสบความสำเร็จในการสู้รบเช่นกัน

การแชร์ข่าวจากทางการไม่เคยเป็นคำตอบ

จากกรณีของ 'กนก-ธีระ' และกรณีของหมอเหรียญทองจะได้เห็นได้ว่า บ่อยครั้งการเผยแพร่ข่าวที่ไม่จริงเกิดขึ้นโดยทางการเข้ามามีส่วนร่วมเสียเอง ทั้งโดยตั้งใจ (ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า disinformation เช่น กรณีของ ส.ส. ฝ่ายโปรรัสเซีย และโฆษกรัฐสภาของรัสเซียมีแนวโน้มเพื่อบั่นทอนขวัญกำลังใจยูเครนค่อนข้างชัดเจน) และโดยไม่ตั้งใจ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า misinformation เช่น กรณีของ ททบ. 5 ที่เรียกผู้ประกาศข่าวมาตักเตือนในทันที ซึ่งดูเหมือนจะเป็นอุบัติเหตุจากการเชื่อโดยไม่ตรวจสอบก่อนมากกว่า)

ในประเทศไทยเองยังมีการเผยแพร่ข่าวที่ไม่จริงหรือยังไม่มีหลักฐานยืนยันอีกหลายอย่าง เช่น แฟนเพจรายการ 'สนธิ ทอล์ก' อ้างว่าปูตินเคยชื่นชมในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็น "มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ไม่เคยรบกับใคร แต่สามารถทำให้ทุกคนยกย่องสรรเสริญได้ ทั่วโลกยอมแพ้ได้มีแค่คนเดียวคือ คิงภูมิพล" เรื่องนี้ 'พูติกาล ศายษีมา' บล็อกเกอร์สืบสวนสอบสวนตรวจสอบและประมวลความเห็นของหลายฝ่ายชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุน ฟังดูเป็นโวหารที่แปลกประหลาดอย่างมากในแง่ธรรมเนียมทางการทูต และมีความเชื่อมโยงกับการเผยแพร่ข้อมูลของกรมประชาสัมพันธ์

อีกหนึ่งกรณีตัวอย่าง เช่น หลังการแถลงข่าวของสถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ประชาไทได้หยิบยกข้อมูลขึ้นมาตรวจสอบทั้งหมด 12 ประเด็น พบว่าถูกต้องตามข้อเท็จจริง 2 ประเด็น บิดเบือน 4 ประเด็น เป็นข่าวเท็จ 3 ประเด็น ไม่มีหลักฐานสนับสนุน 2 ประเด็น และขาดความชัดเจนอีก 1 ประเด็น กรณีนี้สะท้อนประเด็นที่ใหญ่กว่าเกี่ยวกับการรับฟังความเห็นจากทั้ง 2 ฝ่ายโดยให้น้ำหนักเท่าๆ กันแบบปราศจากการแยกแยะ

แม้ 'ไตรรงค์ สุวรรณคีรี' อดีตรองนายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ จะเคยออกมาแสดงความเห็นว่า "คนไทยโชคดี ที่เราสามารถจะรับฟังข่าวทางทีวีได้ทั้ง 2 ด้าน คือฟังข่าวได้ทั้งช่อง CNN และช่อง RT (ของรัสเซีย)" แต่คริสโต โกรเซฟ จาก Bellingcat องค์กรสื่อสืบสวนสอบสวนแบบโอเพนซอร์ส ผู้เปิดโปงเจ้าหน้าที่ที่พัวพันการลอบวางยาพิษอเล็กซี นาวาลนีย์ ผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซีย อาจจะไม่เห็นด้วยนักกับความเห็นดังกล่าว หากฟังที่เขาพูดในงานเสวนาของ Reuters Institute เมื่อ 2 มี.ค. ที่ผ่านมาว่ารัสเซียคือสนามที่เต็มไปด้วยกับระเบิดของข่าวที่ไม่จริง

"เป็นไปไม่ได้เลยในการเข้าถึงทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กในรัสเซีย ดังนั้น ชาวรัสเซียจึงต้องใช้ VK ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กเวอร์ชั่นของรัสเซียไปโดยปริยาย ซึ่งมันถูกแทรกซึมโดย FSB [หน่วยข่าวกรองรัสเซีย] และโพสต์ทุกๆ วินาทีเป็นโพสต์บิดเบือน" โกรเซฟกล่าวเกี่ยวกับข่าวไม่จริงที่มาจากทางการของรัสเซียเสียเอง หรือที่ไทยรู้จักกันดีในชื่อเรียก "ไอโอ" หรือปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร

เนื่องจากข้อมูลเท็จถูกเผยแพร่ออกมาจากทางการรัสเซีย ผ่านโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสหลักของรัสเซียอย่าง RT และ Sputnik เสียเอง ความผิดพลาดของสื่อตะวันตกในช่วงแรกๆ ของการรุกรานยูเครนจึงไม่ใช่การฟังความด้านเดียว แต่เป็นการรับฟังความทั้ง 2 ด้านราวกับว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือเท่าๆ กัน ทั้งที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจมีเจตนาบิดเบือนหรือนำเสนอข้อมูลเท็จอย่างชัดเจน

"ในวันแรกๆ เราเห็นข้อมูลเท็จแบบเดียวกันในการนำเสนอข่าวของยุโรป และมันอันตราย สำนักข่าวหลายๆ แห่งรายงานข้ออ้างของทั้ง 2 ฝั่งราวกับว่ามันมีคุณค่าเท่าๆ กัน เราเห็นปรากฎการณ์แบบนี้ในบัลกาเรีย ฮังการี และอิตาลี" โกรเซฟกล่าว พร้อมระบุว่าปัญหาแบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นแล้ว และสื่อของยุโรปค่อนข้างทำได้ดีขึ้นในการรายงานข่าวเกี่ยวกับสงคราม

แต่ขณะที่การให้น้ำหนักกับข่าวของทั้ง 2 ฝ่ายเท่ากันเป็นปัญหา การคว่ำบาตรสื่อที่โหมกระแสด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ เช่น RT และ Sputnik โดยสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และก็อาจเป็นปัญหาเช่นกัน ในเรื่องนี้โกรเซฟให้ความเห็นว่า "การบล็อกพวกเขาที่จริงแล้วไม่ได้บรรลุผลลัพธ์ใดๆ เลย นอกจากทำให้รัสเซียตอบโต้แบบผิดๆ ด้วยการบล็อกบีบีซีและดอยช์เวลล์เช่นเดียวกัน"

ทีมผู้บริหาร ททบ.5 เข้าหารือกับสถานทูตรัสเซีย เมื่อ 21 มี.ค. 65 (ภาพจาก เฟซบุ๊ก สถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย)

ที่ผ่านมา รัสเซียเพิ่งออกกฎหมายใหม่กำหนดให้การนำเสนอ "ข่าวเท็จ" เกี่ยวกับ "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" ถือเป็นความผิดมีโทษสูงสุดทั้งหมด 15 ปี ซึ่งเทียบเท่ากับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย การปิดปากสื่อเพื่อตอบโต้มาตรการของตะวันตก หมายความว่าประชาชนรัสเซียจะเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ยากยิ่งขึ้น และดังนั้นจึงมีแนวโน้มตัดสินใจทางการเมืองด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเพิ่มขึ้นอีก

บทบาทของสื่อที่เปลี่ยนไป

แม้ข่าวที่ปราศจากหลักฐานรองรับเรื่องปูตินเทิดทูนรัชกาลที่ 9 จะเป็นข่าวที่ผลิตขึ้นจากภาคพื้นประเทศไทย แต่ข่าวที่ผิดหลายๆ อย่างที่แพร่กระจายในประเทศไทยก็มาจากการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในต่างประเทศ จากข้อมูลของ Ukraine Facts โครงการความร่วมมือของภาคีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติ (IFCN) ที่มีสำนักข่าวเข้าร่วมกว่า 63 แห่งจาก 52 ประเทศ พบว่าข้อมูลเท็จเรื่องการหนีออกจากประเทศของประธานาธิบดีเชเลนสกี้ที่หมอเหรียญทองเอาแชร์เป็นข้อมูลเท็จที่มีเผยแพร่อยู่ใน สเปน บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา และมอนเตเนโกร ขณะที่ข่าวบิดเบือนเรื่องการจัดฉากผู้เสียชีวิตของกนกและธีระมีปรากฎอยู่ในสเปน กรีซ เซอร์เบีย อินเดีย สโลวาเกีย บังกลาเทศ อิตาลี จอร์เจีย บัลกาเรีย ฮ่องกง ตุรกี อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โปรตุเกส เนเธอแลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์

ภาคีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติระบุว่า ณ เวลาที่ทำการรายงาน (21 มี.ค. 65) มีข่าวที่ไม่จริงเกี่ยวกับยูเครนทั้งหมดกว่า 736 เรื่องแล้ว โดยประเทศที่มีข่าวไม่จริงมากที่สุดคืออินเดีย (220 เรื่อง) ตามมาด้วยสเปน (163 เรื่อง) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี 3 ประเทศที่มีข้อมูล ได้แก่ พม่า (4 เรื่อง) กัมพูชา (14 เรื่อง) และฟิลิปปินส์ (6 เรื่อง) ขณะที่ไทยไม่มีสื่อใดเป็นภาคีเครือข่ายจึงไม่มีข้อมูลปรากฎบนแผนที่ด้านล่าง แม้จะมีคนตรวจพบข่าวที่ไม่จริงแล้วจำนวนหนึ่ง

แม้โกรเซฟจะเห็นว่ารัสเซียเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยกับดักระเบิดของข้อมูลที่ผิด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโลกตะวันตกเป็นเขตปลอดข้อมูลที่ผิดแต่อย่างใด ที่สหรัฐอเมริกาพบว่ามีการเผยแพร่ข่าวไม่จริง 59 เรื่อง ฝรั่งเศส 22 เรื่อง เยอรมนี 18 เรื่อง และโปแลนด์ 47 เรื่อง และแม้ข่าวไม่จริงหลายเรื่องจะมีเนื้อหาแบบสนับสนุนรัสเซีย แต่ข่าวบางข่าวก็มีเนื้อหาสนับสนุนยูเครนเช่นกัน เช่น วิดิโอและภาพต่างๆ ของ "ผีแห่งเคียฟ (Ghost of Kiev)" นักบินนิรนามที่ยูเครนอ้างว่ายิงเครื่องบินรัสเซียตกถึง 6 ลำด้วยตัวเอง ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการตัดต่อ และยังไม่มีหลักฐานอื่นๆ ยืนยัน

ในเวลาเดียวกันกับที่สื่อมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใต้ภาวะสงคราม โกรเซฟเห็นว่าเรื่องนี้สะท้อนปรากฎการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสงครามอื่นๆ มาก่อน นั่นคือการทำให้สงครามเป็นดิจิทัล (digitalisation of the war) ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของศตวรรษที่ 21 ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนถูกนำเสนอในแพลตฟอร์มดิจิทัลเกือบทั้งหมดและมีกลุ่มผู้ฟังคอยติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อยู่ทั่วโลก ปรากฎการณ์เช่นนี้ทำให้สื่ออิสระและตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมีบทบาทขึ้นมาเทียบเคียงกับตัวแสดงรัฐได้มากขึ้น

"หนึ่งในสิ่งที่ทำให้สงครามนี้แตกต่างไปจากครั้งอื่นๆ คือการทำให้สงครามเป็นดิจิทัล และข้อเท็จจริงที่ว่าสงครามส่วนใหญ่เป็นดิจิทัลและส่วนข้อมูลของสงครามเป็นดิจิทัลทั้งหมด มันทำให้รัฐอธิปไตยที่เคยครอบครองจักรกลโฆษณาชวนเชื่อมีสถานะเทียบเท่ากับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอธิปไตย เช่น Bellingcat หรือคู่กรณีที่มีอคติในแต่ละฝ่ายที่มีขีดความสามารถจริงๆ มีความซับซ้อนและข้อมูลในการเสนอความจริงหรือความจริงที่บิดเบือน" โกรเซฟ กล่าว

นอกจากนี้ ปรากฎการณ์นี้ยังทำให้บทบาทของนักข่าวมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

"นี่ทำให้บทบาทของนักข่าวมีความสำคัญมากขึ้นกว่าสงครามครั้งก่อนๆ นับพันเท่า เมื่อก่อนคุณเพียงแค่ต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และแค่ต้องหาว่าการโฆษณาชวนเชื่อชิ้นนี้ออกโดยรัฐบาลนี้หรือออกโดยรัฐบาลอื่นๆ ตอนนี้เรากำลังพูดถึงเกี่ยวกับข้อความการโฆษณาชวนเชื่อจากทุกทิศทุกทาง ที่มาจากตัวแสดงฝ่ายร้ายในด้านหนึ่ง และจากตัวแสดงฝ่ายดีที่ก็นำเสนอบิดเบือนเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราในฐานะนักข่าวจะต้องเป็นยามเฝ้าประตูและเรียบเรียงข้อมูลให้เข้าใจง่ายสำหรับผู้ฟัง" โกรเซฟกล่าว

นอกจากสื่อจะมีหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงมากขึ้น สื่อยังสามารถทำบทบาทอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้ในสถานการณ์ความขัดแย้งเช่นนี้ด้วย เช่น การบันทึกอาชญากรรมสงครามเพื่อนำไปเป็นหลักฐานบนชั้นศาลในอนาคต

การบันทึกอาชญากรรมสงคราม

หลักการที่ Bellingcat ให้ความสำคัญภายใต้ภาวะเช่นนี้คือการให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับข้อมูล (strong focus on data) มากกว่าให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของข้อมูล (source) เนื่องจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ล้วนมีวาระแอบแฝงของตัวเอง โกรเซฟให้ความเห็นว่า "ข้อมูลบ่อยครั้งมีประโยชน์ แต่คุณต้องกรองมันออกจากวาระ เสียงรบกวน และหาข้อมูลที่มีประโยชน์" แม้ข้อมูลจากแหล่งข่าวหลายๆ ครั้งจะไม่สามารถพิสูจน์หรือนำมารายงานได้ แต่สามารถนำมาเป็นเบาะแสเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้

ภาพอาคารเรียนในเมืองซูโตเมียร์ที่ถูกถล่มโดยกองทัพรัสเซีย (อ้างอิงจากสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษ)

โกรเซฟเล่าว่า เขาเคยได้รับข้อมูลที่ฟังดูน่าเชื่อถือว่ารัสเซียจะเปลี่ยนแปลงกลายเป็นระบอบเผด็จการแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนใน พ.ศ. 2565 และได้รับเบาะแสเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนเมื่อปลายปีที่แล้ว โกรเซฟกล่าวว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถนำมารายงานได้ในทันที แต่ทำให้พวกเขาหาหลักฐานเพื่อสนับสนุนหรือหักล้างข้อมูลดังกล่าว และเมื่อการรุกรานยูเครนเริ่มขึ้น Bellingcat ก็เริ่มทำงานสืบสวนสอบสวนทันที โดยภารกิจที่ Bellingcat ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือการบันทึกอาชญากรรมสงคราม

สำหรับขั้นตอนของ Bellingcat ในการบันทึกอาชญากรรมสงคราม ได้แก่

1. ใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลต่างๆ เพื่อค้นหาข้อมูลของกลุ่มเฉพาะบางกลุ่ม เช่น บทบาทของ FSB หรือกองทัพในการเตรียมตัวเพื่อก่อสงคราม

2. ใช้บอทอัตโนมัติเพื่อรวบรวมข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย เช่น Tiktok และ Twitter เพื่อค้นหาเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดการเสียชีวิตของพลเรือนในยูเครน

3. นำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบสถานที่และเวลาของเหตุการณ์โดยใช้เครื่องมือโอเพ่นซอร์สต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นเหตุการณ์ในปัจจุบันเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนจริง

4. ตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวมาจากฝ่ายยูเครนหรือฝ่ายรัสเซีย

"ณ จุดนี้ สิ่งสำคัญที่สุดที่เราสามารถทำได้ด้วยทีมที่ค่อนข้างเล็กของเราคือการบันทึกหลักฐานของอาชญากรรมสงครามสำหรับอนาคตอันใกล้" โกรเซฟกล่าว แต่ละกรณีจะได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างระมัดระวัง และถูกนำมาจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล เพื่อนำไปใช้ที่ศาลต่างๆ ในอนาคต สิ่งที่ Bellingcat เริ่มนำมารายงานต่อสาธารณะแล้ว ได้แก่ การใช้ระเบิดลูกปรายโดยกองทัพรัสเซีย ซึ่งเป็นอาวุธที่หลายๆ ประเทศและกลุ่มทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อต้านเพราะมักนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของพลเรือน การทำลายโรงพยาบาลและที่พักอาศัยของพลเรือน และการสืบที่มาจากป้ายทะเบียนของรถถังรัสเซีย เป็นต้น

เมื่อ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพิ่งออกมาตรการชั่วคราวให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครนโดยทันที ตามอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นอนุสัญญาฉบับเดียวกับที่ใช้ในกรณีโรฮิงญา ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังไม่ได้พิจารณาว่ามีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ก็เพิ่งเริ่มสอบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติของวลาดิมีร์ ปูติน แม้จะยังดูไม่มีความหวังมากนักในการเอาผิดและลงโทษได้เลย แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงระบอบหรือรัฐบาลในรัสเซีย กลไกเหล่านี้อาจเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเอาผิดกับผู้ก่อสงครามได้ และกรณีเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วในอดีต

ตามข่าวอย่างไรไม่ให้โดนแกง

ขณะที่สื่อกำลังปรับตัว ผู้อ่านก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อไม่ให้ติดกับดักของข้อมูลบิดเบือนเช่นกัน มารีอานนา สปริง ผู้สื่อข่าวและผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจจับข้อมูลที่ผิดของบีบีซี แนะนำเคล็ดลับในการตรวจสอบข่าวที่ไม่จริงเกี่ยวกับยูเครนง่ายๆ ผ่าน 3 ขั้นตอนด้วยกัน

1. ระวังวิดีโอเก่าและมีเนื้อหาบิดเบือน

แม้วิดิโอเหตุการณ์สะเทือนใจหลายๆ อย่างในยูเครนจะเป็นเรื่องจริง แต่หลายๆ วิดิโอที่ไวรัลก็มาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในอดีต บ่อยครั้งหลายๆ คนแชร์วิดิโอดังกล่าวเพราะตกใจหรือต้องการช่วยเหลือ แต่การแชร์ดังกล่าวกลับยิ่งสร้างความโกลาหลให้กับรัฐบาลและพลเรือนในยูเครนแทน วิธีการง่ายๆ คือการดูสภาพอากาศ ป้ายถนน และภาษาที่คนในวิดิโอกำลังพูด เป็นต้น

ที่ผ่านมา วิดิโอการรุกรานไครเมียของรัสเซีย และเหตุการณ์ระเบิดที่เบรุตถูกแชร์ออกไปจำนวนมาก โดยอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่มาจากยูเครน เรื่องเหล่านี้สามารถพิสูจน์ได้ง่ายๆ ผ่านการใช้เครื่องมือค้นหาภาพย้อนกลับของเว็บไซต์ต่างๆ ที่ให้บริการ เพื่อดูว่าวิดิโอเหล่านี้เคยมีการแชร์มาก่อนหรือไม่ บางครั้งการใช้ Google Maps ก็สามารถทำให้เห็นได้เช่นกันว่าวิดิโอมาจากยูเครนจริงหรือไม่

2. ตรวจสอบว่าใครเป็นผู้แชร์ และแชร์เพราะเหตุใด

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการตรวจสอบว่าใครเป็นผู้แชร์โพสต์ดังกล่าว เพื่อดูว่าโพสต์ดังกล่าวสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้หรือไม่ และแหล่งที่มาดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือไม่ หลายๆ ครั้งผู้โพสต์วิดิโอบิดเบือนอาจทำเช่นนั้นเพื่อยอดไลค์และยอดแชร์ หรืออาจทำเพราะเข้าใจผิด คนอื่นๆ อาจแชร์ข้ออ้างเท็จเพื่อผลักดันเรื่องเล่าบางแบบ และสนับสนุนวาระทางการเมืองของตัวเอง หรือสร้างความสับสนให้กับสาธารณชน

มารีอานนาเล่าว่าเธอเคยสัมภาษณ์ชายคนหนึ่ง ชายคนดังกล่าวเล่าว่าแม้แต่รูปภาพซากบ้านปรักหักพังของเขาในกรุงเคียฟก็ยังไม่สามารถทำให้ผู้ใช้โซเชียลบางคนเชื่อเขาได้ เพราะกลุ่มผู้ใช้ดังกล่าวเป็นเกรียนบนอินเตอร์เน็ตของฝั่งรัสเซีย การตรวจสอบโปรไฟล์ง่ายๆ บนเฟซบุ๊กอาจทำให้เห็นเบาะแสหลายๆ อย่าง เช่น หลายๆ คนอาจมีผู้ติดตามน้อยหรือไม่มีผู้ติดตามเลย ใช้รูปโปรไฟล์จากแหล่งอื่นๆ บนโลกออนไลน์ และไม่ใช้ชื่อจริงเป็นชื่อบัญชี เป็นต้น

การตรวจสอบที่มาของแหล่งข่าวไม่ได้มีไว้เพื่อหาแหล่งข่าวเพียงแหล่งเดียวที่น่าเชื่อถือ เพราะแม้แต่ทางการก็อาจโกหกประชาชนได้ และสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือก็อาจนำเสนอข่าวผิดพลาดได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบที่มาเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อเท็จจริงควบคู่กับขั้นตอนอื่นๆ ยิ่งแหล่งที่มาสามารถตรวจสอบได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีแนวโน้มจะน่าเชื่อถือ หรืออย่างน้อยที่สุดก็น่าจะมีโอกาสถูกพิสูจน์ผิดโดยสาธารณชน หรือออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาดได้มากขึ้น

3. ตั้งสติก่อนแชร์

เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามเป็นเรื่องน่าวิตกกังวล และมักก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์ ดังนั้น บางครั้งประชาชนจึงแชร์ข่าวก่อนตรวจสอบว่าข่าวดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ ข้อมูลที่ผิดแพร่กระจายออกไปกว้างขวางส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องเล่าเหล่านี้กระตุ้นปฏิกิริยาทางอารมณ์และอคติของผู้อ่าน ปฏิกิริยาทางอารมณ์เหล่านี้ไม่ใช่ปฏิกิริยาเชิงลบเท่านั้น บางเรื่องก็อาจสร้างความหวังแบบผิดๆ ด้วย แม้เรื่องเล่าดังกล่าวจะสร้างขวัญกำลังใจ แต่มันก็ทำให้เกิดความโกลาหลบนโลกออนไลน์ บดบังเราจากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริง และนำไปสู่การตัดสินใจที่อาจผิดพลาดถึงชีวิตของคนที่ได้รับผลกระทบจริงจากสงครามได้ ดังนั้น การตั้งสติก่อนแชร์จึงเป็นเรื่องสำคัญ

สิ่งที่ผู้สื่อข่าวตระหนักเป็นประจำเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงคือ ยิ่งเรื่องเล่าหนึ่งๆ ก่อให้เกิดความรู้สึกตรงใจ สร้างโกรธแค้น หรือปฏิกิริยาอื่นๆ มากขึ้นเท่าไหร่ เรื่องดังกล่าวก็อาจยิ่งมีโอกาสเป็นเรื่องเท็จหรือเรื่องบิดเบือนมากขึ้นเท่านั้น เพราะความเป็นจริงมักไม่เป็นดั่งใจหวัง และบ่อยครั้งซับซ้อนคลุมเครือกว่าจะด่วนสรุปหรือตัดสินได้ง่ายๆ การติดตามข่าวอย่างระมัดระวัง ตรวจสอบที่มาของแหล่งข้อมูล และเปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แห่ง เป็นวิธีการง่ายๆ ในการตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อไม่ให้ความจริงเป็นเหยื่อรายแรกของสงคราม คุณก็สามารถมีส่วนช่วยในการปกป้องความจริงได้เช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท