Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนจังหวัดขอนแก่นร่วมยื่นหนังสือผู้ว่าราชการ ค้าน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม ปชช. ชี้ลิดรอนสิทธิ ด้านภาคี Saveบางกลอย ประกาศจุดยืนไม่เอาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย เพราะปิดกั้นการเข้าถึงสิทธิคนชายขอบ

 

สืบเนื่องจากวันนี้ (24 มี.ค.) ที่ จ.กรุงเทพฯ ขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มประชาชน และเครือข่ายอีก 800 คน มีการจัดกิจกรรมเดินขบวน และชุมนุมที่หน้าสำนักงานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ ตั้งแต่เวลา 9.30-16.00 น. 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในวันเดียวกัน แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ กลุ่มสาธารณะ ‘กป.อพช.ภาคอีสาน’ รายงานวันนี้ (24 มี.ค.) เวลา 10.00 น. เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ เครือข่ายชุมชนเมือง เครือข่ายชุมชนรถไฟจังหวัดขอนแก่น และเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน เดินทางที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินการองค์ไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. …. หรือบางคนเรียกว่า ‘ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน’ เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะจำกัดสิทธิการรวมกลุ่มของประชาชน มีเจตนาที่ต้องการลิดรอนสิทธิประชาชน

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชนดังกล่าว อยู่ระหว่างขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยกระทรวง พม. และจะปิดรับฟังความเห็นในวันที่ 25 มี.ค.นี้ 

ตัวแทนยื่นหนังสือแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ค้าน พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่มของประชาชน (ที่มา กป.อพช.ภาคอีสาน)

รายละเอียดหนังสือของกลุ่มเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์

ด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเห็นชอบหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้รับร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …. ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมทั้งความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปประกอบการยกร่างกฎหมายก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ วันที่ 12 มีนาคม 2564 ได้มีการเผยแพร่ร่าง พ.ร.บ. ที่จัดทำขึ้นมาตามมติ ครม.ดังกล่าว 

ในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ....โดยเป็นการคัดลอกเนื้อหาบางส่วนจาก ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ.... มากำหนดไว้ในหมวด 1 การส่งเสริมและพัฒนาองค์กรไม่แสวงหากำไร และในหมวด 2 การดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร เป็นการปรับปรุงจากร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน พ.ศ. ... 

เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ มีความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งกำลังจะเร่งรัดให้เป็นกฎหมายมาควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ดังนี้

เนื้อหาของร่างกฎหมาย มีเนื้อหาบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิ เสรีภาพขององค์กรไม่แสวงหากำไรและประชาชนที่ทำงานด้านประโยชน์สาธารณะ งานจิตอาสา โดยปราศจากเหตุผลสมควร มีการกำหนดโทษอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืน มีมาตรการควบคุมในลักษณะเดียวกับกฎหมายป้องกันการฟอกเงินที่ใช้บังคับกับองค์กรที่ให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้าย สะท้อนถึงเจตนาที่ต้องการควบคุมองค์กรภาคประชาสังคมมิให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และไม่สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตย 

ร่างกฎหมายนี้ไม่สอดคล้องกับรากฐานของระบอบประชาธิปไตย อาทิเช่น ขัดขวางการใช้เสรีภาพในการรวมกลุ่ม เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีเจตนารมณ์มุ่งประกันให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิมีส่วนร่วมในการปกครองอย่างมีความหมายและทรงประสิทธิภาพ  ประชาชนที่รวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ จึงสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและนโยบายสาธารณะ ถือเป็นการสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมในการจัดสรรทรัพยากรของสังคม  ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม

เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ มีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... จะทำลายรากฐานของระบอบประชาธิปไตย สร้างผลเสียหายต่อองค์กรประชาชนทุกรูปแบบ ตลอดถึงประชาชนโดยทั่วไปด้วย รวมทั้ง ขัดต่อหลักนิติธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เกินสมควร ทำให้การดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะได้รับผลกระทบไปด้วย ดังนั้นท่านนำเรื่องร้องเรียนของเครือข่ายฟื้นฟูฯ ส่งต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อระงับการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ ตามเหตุผลดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

Saveบางกลอย ประสานเสียง ไม่เอา พ.ร.บ. 

เฟซบุ๊กกลุ่มสาธารณะ ‘ภาคีSaveบางกลอย’ ของภาคีSaveบางกลอย ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาชนที่ทำงานประเด็นสิทธิที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โพสต์ข้อความ ประกาศจุดยืนไม่เอา ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน “หยุดปิดปากคนชายขอบเรียกร้องสิทธิ”

ทุกรูปธรรมการรับรองสิทธิอันพึงมีของประชาชน ล้วนมาจากการรวมตัวเรียกร้องบนท้องถนน กว่าที่ประเด็นของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ในฐานะประชาชนที่ถูกรัฐไทยกดทับให้เป็นกลุ่มคนชายขอบ จะเข้าสู่พื้นที่ทางสาธารณะและนำไปสู่การเรียกร้องเพื่อการรับรองสิทธิได้นั้นก็เกิดขึ้นมาจากการรวมกลุ่มเคลื่อนไหว

ประชาชนแบบพวกเราไม่มีเครื่องมืออื่นใดอีกแล้วนอกจากการต้องรวมพลังกันเท่านั้น โดยเฉพาะในสมับรัฐบาลเผด็จการพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พวกเราต่างประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างหนัก ทั้งจากปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น การละเมิดสิทธิโดยกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่ทำให้สิทธิในเนื้อตัว ร่างกาย ตลอดจนสิทธิชุมชนต้องถูกลิดรอน นอกจากนั้น ยังมีการยกระดับมาตรการในการจำกัดสิทธิในการรวมกลุ่มชุมนุมของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ เมื่อพวกเราออกมาเรียกร้องไม่ว่าจะเพื่อตนเอง สังคมโดยรวม หรือกลุ่มคนชายขอบอย่างกลุ่มชาติพันธุ์ ก็กลับต้องถูกข่มขู่และดำเนินคดี ปิดปากเสรีภาพในการที่จะออกมาเปล่งเสียงแห่งความคับแค้นของพวกเรา

ในวันนี้ รัฐบาลยังมีความพยายามจะผลักดันกฎหมายเพื่อควบคุมการรวมกลุ่มขึ้นมาอีก นั่นคือร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีเนื้อหาตีขลุมทุกการรวมกลุ่ม ทุกขบวนการเคลื่อนไหวที่รัฐและชนชั้นนำไทยมองว่าไม่พึงประสงค์ โดยการระบุเรื่องภัยความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และศีลธรรมอันดีไว้เป็นเครื่องมือในการใช้ดุลยพินิจปิดกั้นพวกเรา รวมถึงอาจนำไปสู่การตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างเข้มข้น ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะนำไปสู่การใช้ดุลยพินิจของของรัฐบาลในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนโดยไร้มาตรฐาน และจากการบังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีในลักษณะของการรวมกลุ่มเคลื่อนไหวที่มาก็ประจักษ์ชัดแล้วว่า เป็นไปเพื่อควบคุมกลุ่มประชาชนผู้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐและเรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชนเท่านั้น 

เมื่อพวกเรา ภาคี Saveบางกลอย ได้ต่อสู้ยืนหยัดเพื่อสิทธิของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ เรายังยืนยันว่าการรวมตัวแสดงออกของพวกเราไม่ใช่ภัยความมั่นคง แต่คือสิทธิ เสรีภาพอันชอบธรรมอันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น ท่ามกลางรัฐบาลเผด็จการที่ไม่เห็นหัวประชาชนและนโยบายสาธารณะที่ไม่ได้สอดคล้องกับทุกปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนั้น การออกกฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการรวมกลุ่ม จึงมีค่าเท่ากับการปิดกั้นหนทางเข้าถึงสิทธิของกลุ่มคนชายขอบด้วย และพวกเราจะซวยกันหมด

เราขอยืนยันว่า ประเทศนี้จะเดินหน้าไปได้ก็ด้วยการเปิดกว้างให้ประชาชนได้รวมกลุ่ม เรียกร้อง ส่งเสียง และเข้าถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และขอแสดงจุดยืนคัดค้านกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มแสดงออกของประชาชนทุกฉบับหลังจากนี้ต่อไป

 

สถาบันแรงงานไม่เอา พ.ร.บ. 

สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม หรือ Just Economy and Labor Institute - JELI ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานวิจัยและรณรงค์สิทธิแรงงาน โพสต์เฟซบุ๊กวันนี้ (24 มี.ค.) แสดงจุดยืนไม่เอาร่าง พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่มของประชาชน 

JELI ระบุในโพสต์ว่า "การรวมตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่ม สมาคม องค์กร และสหภาพแรงงาน ถือเป็นเสรีภาพที่ช่วยเสริมสร้างอำนาจให้ภาคประชาสังคมเกิดความเข้มแข็ง แต่รัฐบาลกำลังทุบทำลายด้วยการเสนอร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ... หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน ต่อไปประชาชนจะเคลื่อนไหวได้ยากลำบาก โดยเฉพาะปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจ

"สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) ขอเป็นอีกเสียงที่เรียกร้องให้รัฐบาล #หยุดพรบควบคุมการรวมกลุ่ม #NoNPObill และคืนเสรีภาพกลับสู่ประชาชน" โพสต์ของ JELI ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net