Skip to main content
sharethis

‘สกลธี’ แถลงเปิดตัว 6 นโยบายพัฒนา กทม. ภายใต้แคมเปญ ‘กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้’ สู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ชูจุดเด่นเข้าใจปัญหาเมืองกรุง พร้อมขอ ปชช.ให้ดูที่ผลงาน ไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมือง 

สกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. (ภาพจากไลฟ์สดเฟซบุ๊ก สกลธี ภัททิยกุล)

25 มี.ค. 65 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Voice TV รายงานวานนี้ (24 มี.ค.) สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในนามอิสระ จัดงานแถลงข่าวเปิดแนวนโยบาย ภายใต้สโลแกน “กรุงเทพดีกว่านี้ได้” โดยระบุว่าที่ผ่านมา กทม. มีสิ่งที่ทำมาแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ดีหลายอย่าง แต่ในสิ่งที่ดีอยู่แล้วเหล่านั้นสามารถที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยการบริหารจัดการที่ดี และการนำเทคโนโลยีเข้าไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ในช่วงตอบคำถาม ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่เคยเป็นรองผู้ว่า กทม. ทำไมในช่วงเวลาที่ดำรงอยู่ในตำแหน่งถึงไม่สามารถทำให้กรุงเทพดีกว่านี้ได้ตามสโลแกน 

สกลธี ระบุว่า ตนเป็นแค่รองผู้ว่าฯ และงานที่ได้ทำในแต่ละด้านก็เป็นงานที่ท่านผู้ว่าฯ มอบหมายให้ หรือเป็นงานในส่วนที่ตนกำกับดูแลอยู่เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่าทุกงานตนได้ทำไปนั้นเป็นการทำงานอย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ ส่วนสิ่งที่ไม่มีโอกาสได้ทำในระหว่างที่เป็นรองผู้ว่าฯ ก็ได้เก็บมาพัฒนาเป็นนโยบาย และหากได้เป็นผู้ว่าก็พร้อมที่ผลักดันทั้งหมด

อยากให้ดูที่ผลงาน

ต่อมา ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองคืออะไร สกลธี ระบุว่า จุดแข็งคือตนเป็นคนที่รู้ระบบงานการทำงานของ กทม.พอสมควร รู้จักข้าราชการทุกฝ่าย เป็นคนที่สามารถประสานงานได้ดี และเป็นคนที่ลุยทำงานทุกวัน 

ขณะที่จุดอ่อนคือปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทยที่มีความขัดแย้งมายาวนาน บางครั้งมีคนเข้ามาต่อว่าตนเป็น 'สลิ่ม' โดยไม่ได้ดูผลงานที่ตนได้ทำไปเลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่อยากให้คนกรุงเทพฯ ลองเปิดใจดูตนที่ผลงาน ไม่ใช่ตัดสินกันที่อุดมการณ์ทางการเมือง

เข้าใจปัญหาคน กทม.

เมื่อถามต่อว่า ในเวลานี้มีว่าที่ผู้สมัครเปิดตัวหลายคน และเมื่อดูจากสเปมตัมทางการเมืองก็พอทราบว่า หลายคนอาจจะมีฐานเสียงเดียวกัน กังวลหรือไม่ที่ในกลุ่มว่าที่ผู้สมัครมีทั้ง อัศวิน ขวัญเมือง และสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 

สกลธี มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สำหรับ กทม. เป็นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ถือว่าสนุก และเป็นผลดีกับคน กทม. เพราะแต่เดิมการเลือกตั้งผู้ว่าจะมีผู้สมัครอยู่เพียง 2-3 คนที่มีความโดดเด่น แต่ครั้งนี้มีมากถึง 7-8 คน และต้องยอมรับว่าคะแนนเสียงจะตัดกันเองโดยธรรมชาติ

สกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. (ภาพจากไลฟ์สดเฟซบุ๊ก สกลธี ภัททิยกุล)

"ถ้าแบ่งฐานแฟนคลับกัน แฟนคลับผมส่วนใหญ่อาจจะทับกับแฟนคลับของพี่เอ้ (ผู้สื่อข่าว - สุชัชวีร์) หรือทับกับท่านผู้ว่าฯ ซึ่งมันก็ต้องมีตัดกันบ้าง แต่เชื่ออย่างหนึ่งจากการที่ผมเป็น ส.ส. หรือจากที่ดูการเลือกตั้งผู้ว่าในครั้งที่ผ่านๆ มา ผมเห็นว่า คนกรุงเทพเวลาเขาเลือก เขาเลือกอย่างฉลาด และเลือกแบบพลิกความคาดหมาย และเซอร์ไพรส์เสมอ ถึงเวลาเขาอาจจะตัดสินใจเลือกคนเดียวเพื่อส่งขึ้นไป ผมว่ามีโอกาสเป็นอย่างนั้น" สกลธี กล่าว 

ต่อคำถามว่า เมื่อมีว่าที่ผู้สมัคร 3 คน ที่อาจจะมีฐานเสียงใกล้เคียงกัน แล้วอะไรคือสิ่งที่สกลธี มีความพิเศษ หรือเป็นที่จดจำมากกว่าว่าที่ผู้สมัครคนอื่นๆ 

สกลธี ระบุว่า สิ่งที่ตนมีคือ ความรู้ ประสบการณ์ และความเข้าใจปัญหาของคน กทม. แม้ว่าจะมีอายุน้อยสุดในกลุ่มว่าที่ผู้สมัครทั้งหมด แต่ก็เกิดและเติบโตใน กทม. มาตั้งแต่เกิด จึงเชื่อว่ามีความตั้งใจไม่น้อยกว่าใคร

"ผมไม่อยากให้มองว่า เราเลือกตั้งตัวแทนอุดมการณ์ทางการเมือง อยากให้มองว่าเป็นการเลือกคนเข้าไปทำงานแทนคน กทม. ซึ่งผมคิดว่าผมมีคุณสมบัติส่วนนี้ และถ้าเลือกผม ผมสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้"

เมื่อถามว่า วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทยแบ่งเป็น 2 ขั้ว และสกลธี เคยสังกัดอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ และก่อนที่จะประกาศลงสมัครผู้ว่า กทม. ก็ได้เดินทางไปพบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จะชี้แจงอย่างไรในเรื่องนี้ 

สกลธีระบุว่า ตนเป็นคนที่เป็นลูกผสมระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ แต่ถือคติอยู่อย่างหนึ่งว่าในการทำงาน เราต้องไปลามาไหว้ และตอนที่ตนลาออกก็ไม่ได้ลานายกฯ คนเดียว แต่ไปลาผู้ว่าฯ ลา พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชา รวมทั้งตอนออกจากพลังประชารัฐ ก็ลา พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

"เมืองไทยมันขัดแย้งมานาน และสนาม กทม. เองที่ผ่านมาก็ใช้อุดมการณ์ทางการเมืองในการเลือก แต่ครั้งนี้ผมอยากให้คนกรุงเทพเลือกตัวแทนคนที่อยากให้เข้าไปทำงานจริงๆ ส่วนเรื่องอุดมการณ์ฺทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมาหลายอย่างมันเปลี่ยนไม่ได้อยู่แล้วเพราะมันเป็นสิ่งที่เราทำในช่วงนั้น เราก็ต้องยอมรับมัน" สกลธี ระบุ 

เมื่อถามว่า การลงในนามอิสระ แล้วถ้าได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า มีความกังวลหรือไม่เรื่อง ส.ก. ที่จะเข้ามาสนับสนุนการทำงาน 

สกลธี ระบุว่า การไม่มี ส.ก. อยู่ในทีมเลย ไม่น่าเป็นปัญหา เพราะผู้ว่าก็มาจากการเลือกตั้ง ส.ก. ก็มาจากการเลือกตั้ง ฉะนั้น ทั้งคู่ต่างก็ต้องทำงานเพื่อตอบสนองประชาชน คิดว่าจะไม่มีปัญหาในการทำงาน

สุดท้าย เมื่อถามว่ายินดีให้พรรคพลังประชารัฐสนับสนุนหรือไม่ เพราะพรรคพลังประชารัฐประกาศส่ง ส.ก. 50 เขต แต่ไม่ส่งผู้ว่าฯ ขณะที่สกลธี เตรียมลงผู้ว่าฯ แต่ไม่มี ส.ก. อยู่ในทีม สกลธีระบุว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น หากพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล จะมาสนับสนุนตนก็ยินดี และการที่ตนลงในนามอิสระ ก็เป็นไปเพื่อเปิดโอกาศให้คนหลายฝ่ายสามารถเข้ามาสนับสนุนได้ และทีมงานที่มาทำงานกับตนบางคนก็มีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่เหมือนตน แต่เขาอยากเข้ามาแก้ไขปัญหา กทม. และมีมุมมองในการแก้ไขปัญหาเหมือนกันก็เป็นสิ่งที่สามารถคุยกันได้

6 นโยบายพัฒนา กทม. 

ทั้งนี้ สกลธี เปิดภาพกว้างของแนวนโยบายด้วยว่ามีทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านการขนส่งและการจราจร ด้านดิจิทัล ด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและผังเมือง และด้านเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้

สกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. (ภาพจากไลฟ์สดเฟซบุ๊ก สกลธี ภัททิยกุล)

1.การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้คนหันมาใช้บริการมากขึ้น ได้แก่ จัดรถโดยสารไฟฟ้ามาวิ่งบริการเพื่อขนคนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า, นำระบบ AI เข้ามาช่วยในการจัดการจราจรให้สัมพันธ์กับปริมาณรถเพื่อแก้ปัญหารถติด นำเรือโดยสารไฟฟ้ามาให้บริการขนคนเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าในเส้นทางใหม่เพิ่มเติม สร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเติม เช่น บางนา-สุวรรณภูมิ วัชรพล-ทองหล่อ การบังคับใช้กฎหมาย เช่น จัดระเบียบซากรถที่จอดทิ้งกีดขวางทางจราจร

2.การพัฒนางานด้านสาธารณสุขให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น เช่น การยกระดับศูนย์สาธารณสุข 69 แห่งให้เป็นสมาร์ทคลินิก โดยนำระบบเทเลเมดิซีนมาใช้งาน สามารถขอรับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ และจัดส่งยาให้ถึงบ้านได้ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนศูนย์สาธารณสุขให้ได้สัดส่วนกับจำนวนประชากร ยกระดับโรงพยาบาล 11 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง จากปัจจุบันที่มีโรงพยาบาลบางขุนเทียนที่เป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุเพียงแห่งเดียว นำระบบโฮมมอนิเตอริ่งมาช่วยในการดูแลผู้สูงวัย เพื่อลดภาระให้กับลูกหลาน

3.การพัฒนางานด้านการศึกษา ยกระดับคุณภาพให้มีความเท่าเทียมกัน เพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงได้และวางใจที่จะส่งลูกหลานมาเรียน เพิ่มหลักสูตรอย่างน้อย 2 ภาษา เพิ่มหลักสูตรตามความถนัด การจัดอาหารตามหลักโภชนาการ การปรับทัศนคติของครูให้สอนเด็กรู้จักคิดแทนการท่องจำ เพื่อให้เด็กสามารถไปศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเองได้

4.การพัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ระบายน้ำ และผังเมือง ได้แก่ เพิ่มการติดตั้งกล้องวงจรให้เพียงพอเพื่อลดจุดบอด การเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมีมาตรการจูงใจภาคเอกชน, ปรับปรุงระบบดับเพลิงให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้สูงอายุและคนพิการ ปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมเพิ่มเติม ปรับปรุงสวนสาธารณะให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานอย่างคุ้มค่า เช่น บึงหนองบอนที่สามารถทำเป็นศูนย์กีฬาทางน้ำได้ ปรับสภาพที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กกระจายตามชุมชนอย่างทั่วถึง สถานีดับเพลิงทางน้ำ เพื่อแก้ปัญหารถดับเพลิงไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุริมน้ำ การสร้างศูนย์ควบคุมและบัญชาการที่สามารถตรวจสอบการเคลื่อนไหวในพื้นที่ทั้งหมด เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้น เสาอัจฉริยะที่ติดตั้งสัญญาณไวไฟ เครื่องวัดระดับมลพิษ ติดตั้งกล้องวงจรปิด จัดระเบียบหาบเร่ แผงลอย ห้ามรถจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้า

5.ระบบบริหารจัดการที่มีความโปร่งใส เช่น การขออนุญาตจะต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน สามารถรับรู้ได้ว่ามีความคืบหน้าไปถึงไหน

และ 6.การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และท่องเที่ยว เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนกรุงเทพ สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์ที่ไม่พัฒนา แปลงสินทรัพย์เป็นทุน จัดระบบงบดุลใหม่ ตั้งกองทุน Social Impact Fund โดยชักชวนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนเพื่อผลตอบแทนทางสังคม จับมือเอกชนสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่แปลงให้เป็น BOT (Build Operate Transfer) และจัดกิจกรรมท่องเที่ยวถนนคนเดิน 50 เขตตามอัตลักษณ์ของชุมชน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net