Skip to main content
sharethis

มอบข้าวสาร ชุดตรวจโควิดช่วยแรงงานบรรเทาค่าครองชีพกลุ่มไรเดอร์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานมอบข้าวสารและชุดตรวจโควิด-19 (Antigen Test Kit) จำนวน 1,000 ชุด แก่นายพรเทพ ชัชวาลอมรกุล นายกสมาคมไรเดอร์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายสันติ ปฏิภาณรัตน์ เลขาสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย และพนักงานกลุ่มไรเดอร์ จำนวน 200 คน ร่วมรับมอบ โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ร่วมส่งมอบด้วย ณ บริเวณด้านหน้า ชั้น 1 อาคารกระทรวงแรงงาน

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน – รัสเซีย รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ กระทรวงแรงงาน กำกับดูแลโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงานทุกท่าน จึงให้แต่ละหน่วยงานกำหนดมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในเบื้องต้น ในวันนี้กระทรวงแรงงาน จึงได้มอบข้าวสารขนาด 5 กิโลกรัม พร้อมด้วยชุดตรวจโควิด-19 รวมจำนวน 1,000 ชุด ให้แก่พนักงานกลุ่มไรเดอร์ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือกันในยามเดือดร้อนทุกข์ยากและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อีกทางหนึ่งด้วย

ขณะที่ นายพรเทพ ชัชวาลอมรกุล นายกสมาคมไรเดอร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในวันนี้ตนและเพื่อนพี่น้องพนักงานไรเดอร์รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากและฝากขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่ท่านเล็งเห็นความสำคัญและความเดือดร้อนของพนักงานกลุ่มไรเดอร์ เพราะช่วงโควิดที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบตามๆ กัน ข้าวสารและชุดตรวจโควิดที่ท่านมอบให้ในวันนี้ถือเป็นขวัญกำลังใจสำคัญที่อย่างน้อยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวของพวกเราให้สามารถต่อสู้กับสถานการณ์เช่นนี้ต่อไปได้

ที่มา: ข่าวสด, 25/3/2565

แรงงาน จ.กาฬสินธุ์ ยอมลดค่าจ้างเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังสวนทางราคาน้ำมันแพงหวังช่วยเจ้าของไร่ลดต้นทุน

กลุ่มผู้ใช้แรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลัง ในตำบลเขาพระนอน อ.ยางตลาด เห็นใจเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูงถึงไร่ล่ะกว่า 7,000 บาท จากภาวะค่าน้ำมันแพง ค่าแรงสูง จึงรวมกลุ่มรับจ้างรายวันละ 200 บาทจากเดิมคิด300 บาท โดยให้เจ้าของไร่เลี้ยงอาหารมื้อเช้ากับมื้อเที่ยง

จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของเกษตรกร ชาว จ.กาฬสินธุ์ ที่ทำการปลูกมันสำปะหลัง และอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ในยุคราคาน้ำมันพุ่ง ค่าแรงงานและค่าขนส่งปรับตัวขึ้นสูงเป็นเงา พบว่ามีกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ใน ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด ตั้งทีมรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลัง ได้ขอปรับลดค่าจ้างรายวันเหลือวันละ 200 บาท จากเดิมยืนราคาวันละ 300 บาทมาเป็นเวลากว่า 10 ปี

นางปริญญา อินทร์ศิริ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง กล่าวว่า อาชีพปลูกมันสำปะหลังก็เหมือนกับอาชีพทั่วไป ที่แบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยการผลิต และทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยมีผลสืบเนื่องจากราคาน้ำมันแพง ร้านขายปุ๋ยเคมีก็อ้างว่าค่าขนส่งแพงขึ้น จึงต้องปรับราคาขายปุ๋ยเคมี ทำให้มีราคาสูงถุงละ 1,200-1,300 บาท รวมค่ารถไถพรวนดิน ยกร่อง แรงงานปลูก ดายหญ้า เฉลี่ยไร่ละ 7,000 บาท ค่าจ้างตัดลำต้นมันสำปะหลัง รถขุดหัวมัน ค่าแรงคนงานตัดหัวมันอีกต่างหาก

ขณะที่ตอนเอาไปขายก็ยังมีค่ารถขนส่งเที่ยวละ 2,000 บาท ทั้งนี้ ลานมันรับซื้อให้เพียง ก.ก.ละ 2.50 บาท บวกลบค่าใช้จ่ายแล้วแทบจะไม่เหลือกำไรเลย หากให้ปุ๋ยบำรุงไม่เพียงพอหรือประสบภัยแล้ง ขาดทุนยับเยิน

ด้านนายทองใบ บุญสมบัติ อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 หมู่ 1 บ้านหนองกุง ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด บอกว่า ตนเองก็ปลูกมันสำปะหลัง โดยมีพื้นที่ปลูก 5 ไร่ เห็นว่าต้นทุนการผลิตสูง เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเสี่ยงขาดทุน หรือได้กำไรน้อย ไม่คุ้มทุน เพราะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน 7 เดือนกว่าจะได้เก็บเกี่ยว ทั้งนี้หลังเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังของตนเองเสร็จ

จึงได้ชักชวนญาติพี่น้องกลุ่มผู้ปลูกมันสำปะหลังในหมู่บ้าน ออกรับจ้างเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลัง ให้เพื่อนเกษตรกรที่ปลูกพื้นที่หลายไร่ โดยขอค่าจ้างเพียงวันละ 200 บาท

แต่ขอให้ทางเจ้าของไร่มันที่ไปรับจ้างเลี้ยงอาหาร 2 มื้อ คือมื้อเช้ากับมื้อเที่ยงก็พอ ขณะที่ตนและกลุ่มเพื่อนผู้ใช้แรงงานที่ออกรับจ้าง ก็นั่งรถกระบะคันเดียวกัน ไปด้วยกัน เพราะประยัดน้ำมัน การลดค่าแรงลงอีก 100 บาท จึงสวนทางกับราคาน้ำมันแพง เพราะเห็นใจกันและกัน ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตที่สูงในปัจจุบัน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 25/3/2565

ก.แรงงาน แจงลดเงินสมทบประกันสังคม ม.33 - ม.39 - ม.40 ไม่กระทบเสถียรภาพของกองทุน

ภายหลังจาก ครม.เห็นชอบในหลักการมาตรการลดค่าครองชีพ และมาตรการลดภาระราคาพลังงาน เคาะ "10 มาตรการลดค่าครองชีพ" ให้กับประชาชนจากสถานการณ์สงครามระหว่างยูเครน - รัสเซีย ในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. - ก.ค.2565 หนึ่งในมาตรการนั้นคือการลดเงินสมทบ "ประกันสังคม" ผู้ประกันตน ม.33 ม.39 และ ม.40

ล่าสุด นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม พร้อมร่วมดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งช่วยเหลือพี่น้องผู้ประกันตนในยามเดือดร้อนในสถานการณ์ดังกล่าว ที่จะส่งผลให้ผู้ประกันตน สามารถนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้เพิ่มกระแสเงินสดให้ผู้ประกันตนมีสภาพคล่องมากขึ้น

หากลูกจ้างผู้ประกันตนติดเชื้อต้องรักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ทำให้ขาดรายได้ อีกทั้งมาตรการดังกล่าวจะเป็นการ ลดปัญหาทางการเงินของผู้ประกันตน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นช่วยแบ่งเบาลดภาระต้นทุนที่สูงขึ้นและเพิ่มสภาพคล่องให้กับนายจ้าง เพิ่มศักยภาพในการรักษาการจ้างงานส่งผลให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

เงินสมทบ ที่ลดลงมากกว่า 30,000 ล้านบาท จะกลายเป็นเม็ดเงินที่นำมาใช้จ่ายช่วยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ต่อไป

สำหรับประเด็นของการลดเงินสมทบ จะมีผลกระทบเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมในระยะยาวนั้น ตนขอเรียนว่า กองทุนประกันสังคม มีเงินสำรองสามารถนำมาบริหารสภาพคล่องได้ในระยะยาว และที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาการลงทุน โดยนักลงทุนมืออาชีพอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่พี่น้องผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของเงินกองทุนร่วมกัน และได้มีการเปิดเผยข้อมูลผลตอบแทนของกองทุนฯ ให้ทราบทั้งรายปีและรายไตรมาส ผ่านทางเว็บไซต์ สปส. www.sso.go.th

โดยการลงทุนมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งผลการบริหารกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2564 มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ดอกผลสะสมจากการลงทุนกว่า 8.34 แสนล้านบาท จึงขอให้พี่น้องผู้ประกันตนทุกท่านเชื่อมั่นในเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมว่ามีเพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนในระยะยาวอย่างแน่นอน รวมถึงไม่กระทบกับบำนาญที่จะได้รับในอนาคต

ด้านนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ในฐานะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณและติดตามการใช้งบประมาณประกันสังคม กล่าวถึงการลดเงินสมทบ "ประกันสังคม" เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนพี่น้องแรงงานจากสถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนที่ออกมานั้นว่า

มาตรการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมแต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละประมาณ 9,000 ล้านบาท จ่ายเงินบำนาญประมาณ 3,000 ล้านบาท ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.8 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันในปี 2564 ที่ผ่านมา "ประกันสังคม" ได้ดอกเบี้ย และผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท จึงขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจได้ว่ามาตรการดังกล่าว ไม่กระทบต่อเงินชราภาพของผู้ประกันตนอย่างแน่นอน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 24/3/2565

โควิด-19 ทำคนตกงานหันทำอาชีพออนไลน์ เกิด “แรงงานแพลตฟอร์ม” วิจัยพบขาดหลักประกันสุขภาพ เสนอออกนโยบายคุ้มครองเทียบเท่าแรงงานในระบบ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อทำรายงานการวิจัยข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานแพลตฟอร์ม (Platform worker) ผลักดันให้เกิดกฎหมายและนโยบายคุ้มครอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างหลักประกันสุขภาพให้แรงงานนอกระบบ ที่ทำอาชีพอิสระรูปแบบออนไลน์ สู่การมีอาชีพที่เป็นธรรมยั่งยืน

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานในระบบจำนวนมาก ต้องตกงานกะทันหัน จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้ประกอบการและร้านค้าจำนวนมากต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือปิดถาวร เพราะขาดทุน ประกอบกับการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดส่งผลให้เกิด “อาชีพอิสระรูปแบบใหม่” ที่ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” (Digital Platform) ในทางการค้าและบริการ เพื่อหารายได้แบบชั่วคราวและถาวร ขณะที่เจ้าของธุรกิจเริ่มใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มจ้างงานระยะสั้น ทำให้เกิดแรงงานนอกระบบรูปแบบใหม่ เรียกว่า “แรงงานแพลตฟอร์ม” (Platform Worker) จำนวนมาก ที่ใช้อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือในการประกอบอาชีพ “แพลตฟอร์ม” ในโลกออนไลน์ถูกนำมาใช้หารายได้มากขึ้น เช่น กลุ่มขับขี่รถรับจ้าง รับส่งเอกสาร อาหาร แม่บ้าน ฯลฯ

“สสส. มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อทุกคนในสังคมไทย “แรงงานนอกระบบ” ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 20 ล้านคน ที่ต้องได้รับความเป็นธรรมทางสุขภาพ ทั้งในสถานการณ์ปกติและวิกฤติโควิด-19 เพราะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ที่ลักษณะของการทำงานอาจทำให้มีความเสี่ยงสูงจากโรคต่างๆ ทำให้ สสส.ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และภาคีเครือข่ายผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย ให้เกิดเป็นหลักประกันทางสังคมและสุขภาพที่เป็นธรรมต่อแรงงานทุกคน ผ่านการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย และการขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และสิทธิสวัสดิการต่างๆ เทียบเท่ากับแรงงานในระบบ อีกทั้งมีความร่วมมือกับ “ไลน์แมน” พัฒนาไกด์ไลน์สร้างเสริมสุขภาพไรเดอร์ ใน 4 ประเด็น ได้แก่ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย สุขภาพจิต กิจกรรมทางกาย และบรรจุเป็นหลักสูตรสำหรับฝึกอบรม “ไรเดอร์” ของทางไลน์แมน ตั้งเป้าแรงงานนอกระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี” นางภรณี กล่าว

ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัย โครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานแพลตฟอร์ม (Platform Worker) กล่าวว่า มีการจัดทำงานวิจัยเพื่อศึกษาสภาพการทำงานของแรงงานแพลตฟอร์ม ที่ทำเป็นอาชีพหลักและเสริม ในกรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล และต่างจังหวัด 1,000 ตัวอย่าง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ถึง มีนาคม 2564 จำนวน 3 กลุ่ม 1.กลุ่มขับขี่ยานพาหนะรับจ้าง 2.กลุ่มบริการรับ-ส่งอาหาร 3.กลุ่มรับจ้างทำงานบ้าน ปัญหาที่พบคือ แรงงานแพลตฟอร์มจำนวนมาก ไม่ได้รับการจ้างงานเป็นธรรม ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นธรรม และไม่มีสิทธิสวัสดิการเทียบเท่าแรงงานในระบบ จากการศึกษาจึงเกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ประเด็น 1.งานที่เป็นธรรม (Fair work) ผลักดันแนวทางการบังคับหรือทำสัญญาที่ชัดเจนระหว่างผู้ประกอบการแพลตฟอร์มกับแรงงานแพลตฟอร์ม 2.ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม (Fair Reward) กำหนดและเผยแพร่เกณฑ์มาตรฐานของค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นกลาง โดยคิดเงินตามหลักสากลเพื่อประกันรายได้ 3.การแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition) ส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องการทำงานและทำเงิน (Operational and Financial Literacy) กับแรงงานแพลตฟอร์ม เพื่อให้รู้วิธีการออมเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยง ขณะนี้อยู่ระหว่างทำข้อสรุป เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นธรรมต่อไป

“สาเหตุที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะการจ้างงานแพลตฟอร์มเป็นรูปแบบใหม่ ที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองชัดเจน ประกอบกับโควิด-19 ทำให้แรงงานนอกระบบผันตัวมาเป็นแรงงานแพลตฟอร์มมากขึ้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงแรงงานและภาครัฐ ต้องออกนโยบายคุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์ม การมีงานวิจัยที่มีน้ำหนักและเชื่อถือได้ จะช่วยผลักดันให้สิทธิสวัสดิการด้านต่างๆ ที่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ขณะที่คนทำงานก็คาดหวังให้การทำงานในแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถเป็นรายได้หลักหล่อเลี้ยงชีวิตระยะยาวได้ ฉะนั้นการมีหลักประกันชีวิตเพื่อสุขภาวะที่ดี จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้” ผศ.ดร. ธานีกล่าว

ที่มา: บ้านเมือง, 24/3/2565

ดึง 4 หน่วยงานยกระดับกำลังแรงงาน ป้อนบริการด้วยยานยนต์ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2565 ที่กระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาบุคลากรด้านงานบริการ นายสุชาติ กล่าวว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและมีนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน การส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากน้ำมัน ปัจจุบันประเทศไทยมีความตื่นตัวและหันมาใช้ ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้น การเตรียมความพร้อมให้แก่กำลังแรงงานให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะที่เกี่ยวข้องจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องในด้านดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการมีงานทำ

“การดำเนินโครงการและการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชนและภาคการศึกษา ระหว่าง กระทรวงแรงงาน บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด บริษัท อี สมาร์ททรานสปอร์ต จำกัด และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเป็นความร่วมมือของหน่วยงานที่อยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มาทำงานร่วมกัน ประโยชน์จึงเกิดกับประชาชนอย่างเต็มที่ ช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน ลดปัญหาการว่างงานให้แก่นักศึกษาจบใหม่ ให้ได้รับโอกาสการพัฒนาทักษะที่จำเป็นและมีความพร้อมเข้าสู่การทำงาน กลุ่มแรงงานที่อยู่ในระบบได้รับการพัฒนาทักษะ มีความรู้ความสามารถที่สูงขึ้น เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้ง ผู้ประกอบกิจการมีแรงงานที่มีคุณภาพ สุดท้ายคือประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณค่า” นายสุชาติ กล่าว

ด้านนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ บริษัท ไทยสมายล์ บัส จำกัด บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานของบริษัท และเตรียมความพร้อมจัดฝึกอบรมให้แก่แรงงานใหม่ เพื่อบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถโดยสารไฟฟ้า

“ซึ่งต่อจากนี้จะยกระดับให้เป็นกัปตัน และพนักงานต้อนรับบนรถโดยสารไฟฟ้า จะยกระดับให้เป็นบัสโฮสเตส เพื่อยกระดับตำแหน่งงานให้สอดคล้องกับคุณค่าของงาน อาชีพ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ของการใช้รถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งมีความต้องการกำลังแรงงานมากกว่า 7,000 คน ในระยะ 3 ปี” นายบุญชอบ กล่าว

นายบุญชอบ กล่าวว่า นอกจากนี้ ได้วางแผนจัดฝึกอบรมเพื่อบรรจุแรงงานใหม่เข้าทำงานในตำแหน่งอื่นๆ ด้วย วันนี้ การบูรณาการความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้การพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถของแรงงานตรงกับความต้องการและมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนตระหนักและเห็นความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ลดมลพิษ เพิ่มคุณภาพชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า ความร่วมมือในวันนี้เป็นการส่งเสริมการมีงานทำด้วยการให้บริการจัดหางานด้วยระบบสารสนเทศของกรมการจัดหางาน (กกจ.) ในส่วนของ กพร. ได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมฝีมือแรงงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในหลักสูตร มาตรฐานการปฏิบัติงานของพนักงานขับรถโดยสารไฟฟ้า และหลักสูตร มาตรฐานการปฏิบัติงานของพนักงานต้อนรับรถโดยสารไฟฟ้า เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรให้ปฏิบัติงานในด้านดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับตำแหน่งพนักงานขับรถโดยสารไฟฟ้า จะได้เรียนรู้การใช้งานเกี่ยวกับอุปกรณ์และระบบควบคุมของรถโดยสารระบบไฟฟ้า กฎ ระเบียบ มารยาท บุคลิกภาพ โครงสร้างอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกของรถโดยสารไฟฟ้า รวมถึงมาตรการการปฏิบัติกรณีฉุกเฉินได้ ส่วนตำแหน่งพนักงานต้อนรับรถโดยสารไฟฟ้า จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ เทคนิคการให้บริการด้วยใจ การคิดเงิน ทักษะเกี่ยวกับการใช้งานเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ E Payment รวมถึงการดูแลความเรียบร้อยภายในรถขณะเดินทาง

“การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะทำให้พนักงานได้เรียนรู้ทักษะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการการันตีทักษะและความรู้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่แรงงานที่ทำงานในตำแหน่งดังกล่าว ช่วยเพิ่มโอกาสการมีงานทำและเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพ ในส่วนของนายจ้างจะรับทราบและมั่นใจได้ว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีความรู้และทักษะฝีมือตรงตามตำแหน่งงานที่ต้องการอีกด้วย” นายประทีป กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/3/2565

ครม.เคาะลดเงินสมทบ “ประกันสังคม” ม.33 - ม.39 - ม.40

ครม.เห็นชอบในหลักการมาตรการลดค่าครองชีพ และมาตรการลดภาระราคาพลังงาน ให้กับประชาชนจากสถานการณ์สงครามระหว่างยูเครน - รัสเซีย ในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค. - ก.ค.2565 หนึ่งในมาตรการนั้น ที่ประชุมได้ปรับลดอัตราเงินสบทบ ของผู้ประกันตน 3 มาตรา คือ มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ดังนี้

นายจ้าง และลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ลดจ่ายเงินสมทบจากอัตราที่เท่ากัน 5% ต่อเดือน เหลือเป็น 1% ต่อเดือน เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป

ประกันสังคม ม.39 ผู้ประกันตนมาตรา 39 ลดอัตราเงินสมทบจาก 9% ต่อเดือน เหลือเป็น 1.9% เดือน

ประกันสังคม ม.40 ผู้ประกันตนมาตรา 40 ลดอัตราเงินสมทบ ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือนดังนี้

1. เดิมจ่ายในอัตรา 70 บาท/เดือน เหลือเป็น 42 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย

2. เดิมจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน เหลือเป็น 60 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพ

3. เดิมจ่ายสมทบ 300 บาท/เดือน เหลือเป็น 180 บาท/เดือน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 22/3/2565

ครม. ควักงบกลาง 331 ล้าน จ่าย ตชด. คุมโควิด แรงงานต่างด้าว-หนีเข้าเมือง

22 มี.ค. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 331.59 ล้านบาท สำหรับจัดทำโครงการการบริหารจัดการ Organizational Quarantine (OQ) สำหรับแรงงานต่างด้าว และผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-ก.ย. 2565

โดยงบประมาณวงเงิน 331.59 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในส่วนของอาคารกองร้อยหน่วยกำลังในหน่วยตชด.จำนวน 14 แห่ง วงเงิน 142.11 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในส่วนของอาคารเต็นท์สนาม ขนาด 250 เตียง จำนวน 14 แห่ง วงเงิน 189.48 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด 19) ทางกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนได้จัดทำโครงการ OQ โดยใช้พื้นที่ของตำรวจตระเวนชายแดน เป็นสถานที่ควบคุมโรคติดต่อ และเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย

โดยที่ผ่านมาช่วงเดือน พ.ค.-ก.ย. 2564 มีคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ารับการกักตัวแล้วจำนวน 2,999 คน ข้อมูล ณ วันที่ 14 มี.ค. 2565

สำหรับอัตราการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่มี ดังนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เจ้าหน้าที่ประสานงาน อัตราผลัดละ 420 บาท ผลัดละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง และเจ้าหน้าที่ล่ามแปลภาษา อัตราวันละ 420 บาท

ส่วนอัตราเบิกจ่ายค่าอาหารและน้ำดื่มสำหรับแรงงานต่างด้าวในอัตรามื้อละ 50 บาท จำนวน 3 มื้อ/คน/วัน และค่าตรวจหาเชื้อโรคโควิด 19 คนละ 2 ครั้ง ในอัตราครั้งละ 1,500 บาท/คน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 22/3/2565

'พนักงานท้องถิ่น' ร้องทุกข์ไม่ได้รับความเป็นธรรมสอบสายการบริหาร

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 ตัวแทนพนักงานท้องถิ่น ซึ่งได้รับผลกระทบจากการจัดสอบสายงานบริหาร ประมาณ 60 คน ได้เดินทางไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนให้กระทรวงมหาดไทย สั่งการไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ตรวจสอบถึงความโปร่งใสของการจัดสอบ เนื่องจากพนักงานท้องถิ่น ทั้งในส่วนขององค์กรบริหารส่วนตำบล เทศบาล และเมืองพัทยา มีความสงสัยว่าการจัดสอบไม่สุจริต โปร่งใส เพราะจากการตรวจสอบบางคนยืนยันว่า ไม่ใช่กระดาษคำตอบของเรา บางคนยืนยันว่า มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกระดาษคำตอบ และสลับข้อสอบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการจัดสอบครั้งนี้ยังมีปัญหาอีกมากที่น่าสงสัย จึงอยากให้มีการตรวจสอบ และระงับการทำลายเอกสารการสอบ เพื่อรอคำสั่งศาลปกครอง ที่พนักงานท้องถิ่นไปยื่นฟ้องไว้ทั่วประเทศ

มีตัวแทนฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของมหาดไทยมารับหนังสือ และถูกซักว่า จะรู้คำตอบเมื่อไหร่ เพราะเคยยื่นมาแล้วสองครั้ง แต่ไม่มีคำตอบใดๆกลับมา เวลาผ่านมาแล้วถึงสองเดือน ซึ่งได้รับคำตอบว่า จะให้คำตอบใน 15 วันจากนั้น กลุ่มพนักงานท้องถิ่น เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อให้ตรวจสอบการสอบสายงานบริหารพนักงานท้องถิ่น พร้อมกับนำเค้กมาอวยพรเนื่องในวันคล้ายวันเกิด นายกรัฐมนตรี21 มีนาคม ครบรอบ 68 ปีด้วย

กลุ่มพนักงานท้องถิ่นได้ตั้งข้อสังเกตว่าจากการขอเข้าไปตรวจสอบกระดาษคำตอบ และกระดาษคำถามพบว่า กระดาษสอบมีปัญหา เนื่องจากกระดาษคำตอบอัตนัยเป็นฉบับจริงไม่มีการระบุคะแนนรวมที่ชัดเจน มีเพียงตัวเลขที่เขียนไว้เป็นดินสอ เท่าที่เห็นจะมีตัวเลข 10 และ 7 รวมถึงตัวอักษรไม่สามารถระบุได้ว่าเขียนอะไร นอกจากนี้ กระดาษคำตอบปรนัย ไม่มีร่องรอยการตรวจทางระบบคอมพิวเตอร์ ไม่มีบาร์โค้ด ไม่มีก็ลงคะแนนใดๆ รวมไปถึงการตั้งข้อสังเกตว่าการเฉลยข้อสอบปรนัยจะเป็นกระดาษ A4 หัวกระดาษเขียนว่าเฉลยชุด B01 เท่านั้น หลังจากที่ได้มีการยื่นหนังสือถึงสภาผู้แทนราษฎรแต่ไม่มีความก้าวหน้า และได้มีการสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ว่าชุดข้อสอบ A ถึง C มีวิธีการสลับชุดข้อสอบอย่างไร จึงได้คำตอบว่าข้อสอบหน้าแรกของชุดเอจะเอาไปต่อใช้ชุด B และข้อสอบหน้าแรกของชุดบีเอาไปต่อท้ายชุด C

ตัวแทนพนักงานท้องถิ่นระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการการกระจาย อำนาจฯสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้มีการตรวจข้อสอบใหม่ แต่กลับไม่มีความคืบหน้า อีกทั้ง เมื่อกรรมาธิการฯให้ผู้จัดสอบนำกระดาษคำตอบและคำถามมาตรวจข้อสอบ มีคนท้องถิ่น 54 คน ขอเข้าไปตรวจสอบต่อหน้ากรรมาธิการฯ แต่สามารถตรวจสอบได้เพียงแค่ 18 คน จาก 54 คน ทั่วประเทศทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม

“อยากให้มีการตรวจข้อสอบใหม่ และเยียวยาผู้ที่เข้ารับการสอบ โดยให้นำข้อสอบจริงมาตรวจ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีเรื่องการทุจริต การสอบโดยการซื้อตำแหน่ง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่สอบผ่าน และประกาศผล เป็นผู้ที่ทำข้อสอบชุด A ส่วนคนที่ได้ข้อสอบชุด B และ C นั้นส่วนใหญ่ไม่ผ่าน ซึ่งทำให้ ผู้ที่เข้าสอบในชุด B และ Cขาดโอกาสในการเข้ารับการบรรจุ”

บรรยากาศระหว่างการยื่นหนังสือ กลุ่มพนักงานท้องถิ่นผู้เรียกร้องได้มีการตั้งขบวนเพื่อจะเดินเข้ามาภายในทำเนียบรัฐบาล บริเวณประตู 5 แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการปิดประตูในทันทีจึงทำให้เกิดเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้น และมีการเจรจา โดยตกลงลงส่งมอบเค้กผ่านเจ้าหน้าที่

ส่วนการยื่นหนังสือนั้นนายมงคลชัย สมอุดรปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีลงมารับหนังสือร้องเรียก และกล่าวยืนยันว่าจะเร่งตรวจสอบกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมให้

ที่มา: คมชัดลึก, 21/3/2565

กสร. จับมือกลุ่มธุรกิจ TCP ลงนามยกระดับการบริหารแรงงานด้วย GLP

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) และ นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจ TCP ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การยกระดับการบริหารแรงงานด้วยแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP)” ในกลุ่มธุรกิจ TCP ที่มุ่งยกระดับการบริหารจัดการแรงงานที่ดีด้วย GLP

ทั้งนี้ แนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติต่อแรงงานที่แสดงออกถึงการประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม และมีความรับผิดชอบทางสังคม ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมมือกันพัฒนาระบบการบริหารจัดการแรงงานที่ดีและขยายผลการพัฒนาสู่ห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเป็นการยกระดับสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน โดยแสดงถึงจริยธรรมทางธุรกิจ ปลอดการค้ามนุษย์ อันจะส่งผลให้เพิ่มโอกาสการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลก

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 21/3/2565

รมว.แรงงาน เผยความคืบหน้าการแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ "3 ขอ" หรือสิทธิประโยชน์ชราภาพ 3 ขอ ช่วย ผู้ประกันตน ใกล้ความจริงแล้ว

19 มี.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ "3 ขอ" ได้แก่ ขอเลือก ขอกู้ และขอคืน ว่าตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นห่วงพี่น้องผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ของลูกจ้าง และมีผู้ประกันตนบางส่วนได้ออกมายื่นข้อเสนอขอ "เงินชราภาพ" คืนก่อนอายุครบกำหนด หรือที่รู้จักกันในชื่อ "สิทธิประโยชน์ชราภาพ 3 ขอ" จึงได้ให้กระทรวงแรงงานไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณานั้น ในเรื่องนี้ตนได้ขานรับนโยบายดังกล่าวและให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ชี้แจงความคืบหน้าเป็นระยะ

ซึ่งล่าสุด สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอให้กระทรวงแรงงานไปดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นว่า สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับนี้ในประเด็น 3 ขอ เป็นการเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุนประกันสังคม จึงต้องนำเรื่องดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ซึ่งมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานก่อน จึงจะเสนอคณะรัฐมนตรีได้

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ล่าสุดได้รับรายงานว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีกำหนดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน ในวันที่ 1 เมษายน 2565 นี้ โดยขั้นตอนต่อไป หลังจากกระทรวงการคลังประชุมแล้วเสร็จจะได้นำผลการประชุมคณะกรรมการดังกล่าว รายงานให้คณะรัฐมนตรี รับทราบ จากนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในหลักการ ตามขั้นตอนของการเสนอกฎหมายต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 19/3/2565

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net