Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศจำนวนราว 800 คนรวมกลุ่มเดินขบวนจากบ้านมนังคศิลาไปหน้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรียกร้องให้หยุดการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … ย้ำชัด หากผ่าน จะกระทบการรวมกลุ่มสารพัด และรัฐจะทำลายการรวมกลุ่ม

24 มี.ค. 2565 ที่บ้านมนังคศิลา ถนนพิษณุโลก กลุ่มขบวนการประชาชนรวมกลุ่มต่อต้านการร่างฯ ที่กลุ่มเรียกว่าเป็น “พ.ร.บ ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน” จำนวนราว 800 คนรวมตัวเดินขบวนไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายทำลายสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ พร้อมทั้งยื่นหนังสือ ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งยุติกระบวนการร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับผ่าน จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

หลังผู้ชุมนุมเดินทางเข้าไปในพื้นที่ลานหน้ากระทรวง พม. เมื่อราว 10.00 น. ในเวลาราว 14.50 น. จุติ รมว. พม. ได้ลงมารับเรื่องและกล่าวว่า “จะเรื่องไว้พิจารณาและจะให้คำตอบในภายหลัง” ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประชาชนที่ไม่พอใจต่อการร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชนฉบับนี้ อยากให้มีการยกเลิกการร่างโดยเร็วที่สุดแล้วไม่ให้มีการบังคับใช้

ห่วง กฎหมายอาจถูกใช้ในทางที่ผิด

พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร เป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นให้องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรภาคประชาชน มูลนิธิ และสมาคมต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะเข้าถึงข้อมูล วัตถุประสงค์การจัดตั้ง แหล่งที่มาของเงินทุน รายชื่อผู้รับผิดชอบการดำเนินงานให้ทางรัฐและบุคคลทั่วไปได้เข้าถึง (มาตรา19) กรณีที่ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ จะต้องระบุวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้จ่าย จำนวนเงิน บัญชีธนาคารที่รับเงินต่อนายทะเบียน (มาตรา21) หากไม่เปิดเผยข้อมูลหรือบัญชี โทษปรับไม่เกิน50,000บาทและปรับวันละ 1,000 บาทตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืน

มาตรา 20 ห้ามองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรให้ดำเนินกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจหรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทบต่อความเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม กระทบต่อสาธารณะรวมทั้งความปลอดภัยของสาธารณะ กระทำผิดต่อกฎหมาย และละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นหรือกระทบความเป็นอยู่โดยปกติสุขของผู้อื่น  ข้อบังคับเหล่านี้ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีข้อห้าม และตีความการรวมกลุ่มไว้อย่างกว้างขวางหาก อาจจะเปิดโอกาสให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อกลุ่มประชาสังคมในหลายระดับ

'แอมป์' ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือที่เอาไว้สกัดขัดขาการออกมาแสดงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน เขาขอให้ รัฐบาลและหน่วยงานรัฐต่างๆ ทราบว่า การที่ประชาชนออกมาทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลไม่ใช่ ‘กบฏ’

นัท (นามสมมุติ) ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชน เขาเหล่าใหญ่- ผาจันได ออกมาเแสดงความคิดเห็นจากมุมมองผู้ที่ได้รับผลกระทบ เล่าว่า หากกฎหมายนี้ผ่าน การรวมกลุ่มเรียกร้องของประชาชนจะทำได้ยากขึ้น

เราได้รับผลกระทบอย่างมากที่สุดเพราะเขาจะออก พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่ม ซึ่งเราเนี่ยเกิดการรวมกลุ่มเพราะว่าเราเดือดร้อน เราต้องรวมกลุ่มกันเพื่อออกมาเรียกร้องให้เห็นว่า เราเดือดร้อนมากนะ เช่น เรื่องรถไฟถ้าเราไม่รวมกลุ่ม เราก็อาจจะไม่มีที่อยู่ ก็ต้องแยกย้ายกันไป คนไร้บ้านก็ไม่มีที่อยู่ ถ้าไปคนเดียว เขาจะฟังเราไหมล่ะ ก็ไม่”   

“เพราะมันเป็นสิทธิของเรา ที่เราสามารถจะรวมกลุ่มกันได้ เพราะเราไม่ได้สร้างความเดือดร้อน ไม่ได้เอาเงินเขามาออก  เราเอาเงินของพวกเรามาเอง  ไม่มีหน่วยงานไหนช่วย เราก็ต้องมีเงินของพวกเรา ที่เราหาเช้ากินค่ำ  เรามารวมกลุ่มเราก็ต้องชื้อน้ำชื้อข้าวมากินเอง แต่เขาจะเข้ามาดูการเงินเราว่าเราเอาเงินมาจากไหนถึงจะเกิดการรวมกลุ่ม มันบีบเราเกินไป เราไม่เห็นด้วยใน พ.ร.บ. ชุดนี้ ” นัทกล่าว

ชัย (นามสมมติ) ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากกลุ่มสมัชชาคนจน เล่าว่า หากกฎหมายนี้ผ่าน การรวมกลุ่มของชาวบ้านที่มาร่วมกลุ่มคงจะทำไม่ได้     

“ถ้า พ.ร.บ ตัวนี้ออกมามันได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างมากเพราะกลุ่มพวกพี่ ชาวบ้านที่เข้ามารวมกลุ่มออกมาเรียกร้องสิทธิพื้นที่ทำกินมันจะทำไม่ได้ ” ชัยกล่าว

จิตรณวัชริ พะนัด ประธานสหภาพแรงงานไทยอัมพ์ มองว่า พ.ร.บ นี้เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนในการรวมกลุ่ม จะทำให้การที่เรียกร้องรัฐบาลมาช่วยเหลือไม่สามารถทำได้ในเรื่องเงินชดเชย เพราะว่านายจ้างลอยแพ จะไปติดตามอย่างไรถ้าไม่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลมาดูแล

“พี่เป็นองค์กรของผู้แทนแรงงาน ตอนนี้คือพวกพี่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีค่าชดเชย เราเป็นแรงงานการที่เราจะต่อสู้กับนายจ้างเราต้องมีการรวมกลุ่ม เพื่อจะเรียกร้องสวัสดิการ ค่าแรง  พ.ร.บ. นี้คือเราไม่สามารถทำอะไรได้เลย เคลื่อนไหวอะไรไม่ได้เลยในมีผลกระทบต่อชีวิตการงาน และสิทธิประชาชนที่เราจะมีการรวมกลุ่มเรียกร้องต่อรัฐบาล”

“รัฐบาลมาจำกัดสิทธิของพวกเราและเราไม่มีสิทธิเสรีภาพเลยมันไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ” จิตรวัชริกล่าว

สมชาย กระจ่างแสง ผู้ประสานงานประชาชนเพื่อรัฐสวัดิการระบุว่า NGO คือองค์กรที่ไม่ใช่ของรัฐแต่ว่าทำงานพัฒนาที่มีองค์กรพวกนี้ขึ้นมาเพื่อให้การทำงานพัฒนาประเทศกระชับขึ้น ที่ผ่านมาไม่เคยมีมาในการออกกฎหมายในลักษณะนี้ เมื่อมีการร่างขึ้นมา เราคาดว่ามันจะเป็นการควบคุมการทำงานเพราะ NGO และจะทำให้เขาทำงานได้ยากมากขึ้น  สมชาย กระจ่างแสง กล่าว  

“เราคือกลุ่มคนจนเมืองที่มีปัญหาจากการถูกไล่จากที่ดินอยู่แล้ว เราเรียกร้องทั้งเรื่องของการอยู่ในที่ดินเดิม การแลกเปลี่ยนที่ดินมันมีทั้งที่ดินเอกชน ที่ดินสาธารณะ ที่ดินรถไฟ นากจากคนจนที่อยู่ในเมืองเรามองว่ามีสิทธิขั้นพื้นฐานในเรื่องของที่ดินต้องได้ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดีนี้คือสิ่งที่พวกเราทำมาตลอด”

เนืองนิช ชิดนอก ตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ระบุว่าว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และร่างกฎหมายนี้แทบแทบไม่ได้มีความแตกต่างกัน เป็นความตั้งใจออกมาเพื่อต้องการควบคุมการทำงานของประชาชนซึ่งไม่ได้สามารถแก้ไขปัญหาให้เราได้ทุกเรื่องแต่ในขณะเดียวกัน รัฐไม่ได้เห็นภาคประชาชนเป็นฟันเฟืองในการแก้ไขปัญหาในจุดที่รัฐลงไปไม่ถึง

“รัฐกลับมองว่าภาคประชาชนที่เข้าไปช่วยคนที่มีปัญหาเป็นปัญหา” เนืองนิชกล่าว

ห่วง กฎหมายให้อำนาจรัฐสูง ลิดรอนอำนาจประชาชน

ในช่วงที่ผู้ชุมนุมอยู่หน้าลานกระทรวง พม. มีการผลัดกันขึ้นปราศรัยถึงปัญหาของร่างกฎหมายดังกล่าว

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ขึ้นปราศรัยว่า ที่ผ่านมามี พ.ร.บ. หลายตัวที่รัฐบาลร่วมกันกับภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนภาคประชาสังคม แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ตระบัดสัตย์ ออก พ.ร.บ. มาควบคุมพี่น้องประชาชน นี่คือรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าไม่มีการรวมกลุ่มจากประชาชน การแก้ปัญหาก็ไม่เกิด ประเด็นปัญหาสังคม เช่นเรื่องที่ดินหรือที่อยู่อาศัย เขาก็ต้องรวมกลุ่มกันเพื่อต่อสู้และเรียกร้อง รัฐบาลต้องยอมรับควมจริงว่าการรวมกลุ่มคือหนทางการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้าหยุดยั้งด้วย พ.ร.บ. นี้ การเริ่มแก้ปัญหาก็ทำไม่ได้ พม. โดยจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. จะสร้างความมั่นคงของมนุษย์ได้อย่างไรถ้าส่งเสริม พ.ร.บ. หยุดยั้งการรวมกลุ่มของพี่น้องประชาชน

จำนงค์ กล่าวต่อไปว่า มีหลายกฎหมายที่หยุดยั้งการรวมกลุ่มของประชาชน อย่าง พ.ร.บ. ชุมนุม พรก. ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า และล่าสุดก็คือ พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงหากำไร ถามว่าท่านคิดได้อย่างไรกับการรับฟังความคิดเห็นฝ่ายเดียว เอาพวกพ้องตัวเองมา แล้วบอกว่ามีคนเห็นด้วย 65 เปอร์เซ็นต์ ถ้า พ.ร.บ. นี้ออกมา การรวมกลุ่มต่างๆ จะโดนควบคุม ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงวัดวาอาราม ถามว่า รัฐบาลได้ให้กลุ่มอื่นตรวจสอบบ้างไหม อยู่แต่ในค่ายทหาร ใช้น้ำใชัไฟฟรี อยู่ในทำเนียบไม่ออกไปไหน แน่จริงนายกฯ ก็ออกมาเติมน้ำมันเอง จ่ายค่าน้ำค่าไฟเอง จะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้

จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ กล่าวปราศรัยผ่านรถเครื่องเสียง หน้า พม. ระบุว่า ที่ออกมาคัดค้านที่ พม. วันนี้ เนื่องจากถ้าร่าง พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่มประชาชน ออกมา จะทำลายความเป็นมนุษย์ และเสรีภาพการแสดงออกอย่าง ‘สุดลิ่มทิ่มประตู’ 

จีรนุช แนะนำกลุ่มขบวนประชาชนวันนี้ว่า ตนเองมาในนามกลุ่มขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน แต่ว่าชื่ออาจไม่สำคัญเท่ากับว่า เรามาเรียกร้องในฐานะประชาชนที่มาจากทั่วประเทศ

จีรนุช ขอให้ประชาชนเรียก พ.ร.บ.ตัวนี้ว่า พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ไม่เรียกตามชื่อทางการของรัฐบาล เนื่องจาก พ.ร.บ.นี้พยายามจะจำกัดการรวมกลุ่มของประชาชน

เธอกล่าวว่า ในช่วงที่รัฐบาลประยุทธ์อยู่มา 8 ปี (ผู้สื่อข่าว - รวมช่วงที่ยังเป็น คสช.) สิ่งที่ประยุทธ์พยายามทำมาตลอด คือ ทำลายเสรีภาพการแสดงความเห็น และจำกัดสร้างเงื่อนไขต่างๆ ต่อการรวมกลุ่มของประชาชนให้เป็นไปโดยยาก ผ่านทางกลไกการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เช่น ถ้าจะรวมกลุ่มกันต้องแจ้งก่อน ถ้าไม่รายงานจะมีกฎหมายมาลงโทษ ทำให้ชีวิตลำบาก ทั้งที่นี่คือเสรีภาพและสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย

“ประเทศประชาธิปไตยแบบไหนที่มีการใช้กฎหมายแบบนี้ และ 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามทำลายประชาธิปไตยผ่านการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และผ่านกระบวนการยุติธรรม กฎหมายปิดปากไม่ให้พูด และไม่ให้ร่วมชุมนุม” จีรนุช กล่าว

จีรนุช ระบุว่า พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายของการพยายามทำลายการรวมกลุ่มและเสรีภาพประชาชน มันคือเครื่องมือของรัฐที่จะปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายการเมืองไหน หรือทำงานประเด็นสังคมอะไรก็ตาม

จีรนุช เผยว่า ปัจจุบัน ร่างกฎหมายยังอยู่ในขั้นรับฟังความเห็น และจะหมดเขตในวันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.) และที่ผ่านมา พม. ที่เป็นหน่วยงานหลักในการรับฟังความเห็น ไม่เคยเลยที่จะลงไปรับฟังความเห็นของประชาชนตัวต่อตัว ทำกันแบบออนไลน์ วันนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนอย่างเรา ทุกเพศ วัย ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ต้องมาให้ พม.เห็นตัวเป็นๆ ว่าทุกคนรับไม่ได้กับร่างกฎหมายฉบับนี้ และจำเป็นต้องมา

“นี่เป็นการมาปักหลักประกาศจุดยืนว่าเราไม่ยอมต่อกฎหมายกินรวบประชาธิปไตย เราไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ และนี่คือการปักหลักปักธงวันแรก …และเราจะไม่หยุดอยู่เท่านี้ ถ้ารัฐบาลยังไม่ฟัง ถ้าประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเอาแต่ใจ และผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน เจอกันแน่” จีรนุช ทิ้งท้าย

ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ปราศรัยบนเวทีว่า แรงงานมีกฎหมายที่อนุญาตการรวมกลุ่ม ก็คือ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ เมื่อก่อน แรงงานทั้งภาคเอกชน ถาครัฐวิสาหกิจ สามารถรวมกลุ่มกันได้ แต่อำนาจเผด็จการมาแยกพวกเราออกจากกัน มีกระบวนการแยกย่อยมาแยกการรวมกลุ่มของคนทำงานหลายระดับ ประชาชนคนทำงานเป็นคนสำคัญ เราสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ ถ้ากลุ่มทุนหรือปรสิตหนึ่งเปอร์เซ็นต์ไม่มีเรา เขาลำบากแน่นอน กฎหมายการรวมกลุ่มของประชาชนที่ พม. เป็นเจ้าภาพไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ไม่เห็นกระทรวงแรงงานเอาไปรับฟังความเห็นจากสหภาพแรงงานเลย เพราะ รมว. แรงงานมัวแต่ไปกินข้าว ไปดีลการเมืองกันอยู่ พรรคไหนที่ยกมือเห็นด้วยกับกฎหมายนี้ในรัฐสภา เราต้องไม่เลือกเข้ามาบริหารประเทศอีก เราเจ็บมาเยอะแล้ว ผิดหวังมาเยอะแล้ว เผด็จการไม่ช่วยอะไรเราเลย การรวมกลุ่มของประชาชนจะต้องมี ต้องมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง วันนี้พี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ มีปัญหาที่เกิดจากโครงการของรัฐที่มาเหยียบย่ำพวกเรา  ราคาปุ๋ยก็แพง พ่อแม่อยู่ต่างจังหวัด ใช้หนี้ ธกส. ไม่ไหวแล้ว เลห่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยฟังพวกเรา

ธนพร กล่าวด้วยว่า เพราะรัฐกลัวเรารวมกลุ่มกัน ถ้าคนรวมกลุ่มแล้วเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเข้ามา รัฐบาลนี้ก็ไม่มีหน้าไปมีอำนาจที่ไหน วันนี้ประเทศไทยไม่มีใครด่ารัฐบาลบ้าง ไม่ใช่แค่ตน อยากเรียกร้องไปยังพี่น้องประชาชนว่า รัฐบาลส้นตีนแบบนี้เราจะยังไปเชียร์อีกเหรอ ออกกฎหมายยึดที่ต่างๆ ไปเสือกอะไรกับเขา เราจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นได้ ก็ไปออก พรบ อีอีซีแล้วไปยึดที่ชาวบ้านเขา ใช้มาตรา 44 เป็นยาครอบจักรวาล ใช้กระทั่งมาควบคุมบอร์ดประกันสังคม

พม. มีหน้าที่อะไร เราเรียกร้องให้มีการจัดรัฐสวัสดิการ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต แต่กลับมาทำ พ.ร.บ.ควบคุมประชาชน เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าที่เราบอกว่าน้อย ก็ยังไม่ให้ เงินผู้สูงอายุที่เราเรียกร้องเดือนละ 3,000 บาท ประยุทธ์เซ็นนิดเดียวก็ปัดตกแล้ว พม. ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราอยากจะสื่อสารว่า ถ้ารัฐบาลหรือพรรคการเมืองไหนยังไม่ยุติกฎหมายฉบับนี้ ก็ต้องเจอกับประชาชน

ก่อนนี้มีพรรคเพื่อไทยออกมาพูดว่า เราไม่ทิ้งประชาชนคนรากหญ้า เรารับไม่ได้เพราะเราไม่ใช่รากหญ้า แต่เป็นคนสำคัญ เวลาหาเสียงอย่าเหยียดเลย อย่าสื่อสารในทางที่เหยียดชนชั้น เครือข่ายแรงงานให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม เพราะเป็นพื้นที่ของการเรียกร้องและต่อรอง ไม่ควรมองว่าเป็นภัยคุกคาม

ธนพร ทิ้งท้ายว่า วันนี้เรามารวมกันเพื่อคัดค้านกฎหมายนี้  ขอให้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น

'เยล’ สุริยา แสงแก้วฝั้น ประชาชนผู้พิการจากเชียงใหม่ แดนล้านนา ระบุว่าวันนี้เขาขอมาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน

เยล มองว่า กฎหมายฉบับนี้ถ้าผ่านไปได้ จะทำให้มีปัญหาโดยเฉพาะการรวมตัวกันของภาคประชาชน เพราะเขาเชื่อว่า สังคมขับเคลื่อนไปได้เพราะภาคประชาชน แต่หน่วยงานของรัฐพยายามควบคุมไม่ให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการทหาร

เยล มองว่า รัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่มาออก พ.ร.บ.ซึ่งขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และวันนี้ประชาชนมารวมตัวกันคัดค้าน ก็อยากให้หน่วยงานรัฐฟังเสียง และความเห็นของประชาชน

“คุณต้องฟังเสียงประชาชน ถ้าคุณอ้างว่า คุณมาจากการเลือกตั้ง คุณต้องฟังเสียงประชาชน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ถ้ากฎหมายใดขัดกับเจตนารมย์ของประชาชน กฎหมายนั้นก็ไม่ชอบธรรม”

“เพราะฉะนั้น กฎหมายต่างๆ ที่จะออกมาบังคับใช้กับประชาชน ต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชนก่อน กฎหมายใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน กฎหมายเหล่านั้นก็ไม่ใช่กฎหมาย แต่มันเป็น ‘กฎหมา’” เยล กล่าว

เยล มองว่า ประชาชนไม่อยากออกมาหรอก ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย เดินทางไกล แต่มันเป็นเรื่องจำเป็น และปล่อยไปไม่ได้ เพราะถ้ากฎหมายผ่าน ประชาชนไม่รู้จะอยู่ยังไง พร้อมขอให้ภาครัฐมาร่วมฟังความเห็นประชาชนที่มารวมตัวหน้า พม.วันนี้

“อันนี้ขอฝากไปยังผู้มีอำนาจทั้งหลายว่า คุณควรจะฟังเสียงประชาชนได้ไหม เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์… ผู้มีอำนาจทั้งหลายอย่าลืมว่าคุณกินภาษีจากพวกเราอยู่ เพราะฉะนั้น คุณไม่ควรนิ่งนอนดูดาย” เยล กล่าว

สำหรับ กาญจนาภรณ์ ที่รัก ผู้รายงานชิ้นนี้ เป็นนักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันเป็นนักศึกษาฝึกงานประจำกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net